สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  .................?
      ตอบ :  อย่างที่สมัยก่อนบวชนั้น ไปเจอพี่น้องคู่หนึ่ง ตัวน้องนี่ก็อยู่ราว ๆ ๔-๕ ขวบนี่แหละ แม่เขาพาไปเราก็พยายามสอนมโนมยิทธิจนกระทั่งเขาได้ เขาได้เสร็จ ปรากฏว่ารุ่งขึ้น แม่เขาประเภทดีอกดีใจ หอบโน่นหอบนี่มาให้ บอกว่า "ลูกเขาอีกคนที่อยู่บ้านก็ได้ด้วย" ถาม "ได้อย่างไร ?" "น้องสอน" แล้วถาม "น้องเขาสอนอย่างไร ?" "น้องเขากลับบ้านก็ไปนั่งหลับตาภาวนาของเขาอยู่ พี่มาชวนเล่นก็ไม่เล่น" ถามว่า "มัวแต่ทำอะไรอยู่ ?" เขาบอกว่า "ไปเที่ยวสวรรค์อยู่" ไอ้พี่ก็บอกว่า "ไปอย่างไร ?" น้องบอก "ก็หลับตาสิ แล้วไปด้วยกัน" แค่นั้นแน่ะ พี่ทำได้ เราสอนอยู่เป็นชั่วโมงกว่าน้องจะได้ เด็กเขาสื่อสารกันเองรู้เรื่อง โน่นก็มั่นใจว่า ถ้าหลับตาแล้วไปได้ กูหลับแล้วไปบ้างก็แค่นั้นเอง แสดงว่าของเก่าเขามีเยอะจริง ๆ นั่นน่ะเขาพูดประโยคเดียวแล้วได้ เราเป็นอาจารย์อยากจะเอาหน้าไปมุดดินหนี ถ้าหากว่าสื่อสารกันรู้เรื่องเมื่อไร ได้ทั้งนั้น
              แต่ถ้าจะเอาเกณฑ์มรรคผลจริง ๆ ต้องประมาณ ๗ ขวบขึ้นไป เพราะว่า ๗ ขวบตัวปัญญาในการตัดสินใจมีแล้ว ในเมื่อตัวปัญญาในการตัดสินใจมี ถ้าหากว่าเขาถึงธรรมในจุดไหน ตัดสินใจว่าตรงนี้เราเอาแน่ ก็จะเข้าถึงได้เลย
      ถาม :  หลวงพี่รู้จักคุณแม่เกษร บ้านที่เชียงใหม่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ได้ยินชื่อมานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสเจอตัว
      ถาม :  เห็นว่าคุณป้าที่หลวงพ่อเรียกว่า "ชาโดว์" เป็นคณะที่ไปสอนตั้งแต่สมัยท่านอยู่อเมริกา เคยอ่านเจอในหนังสือบันทึกของชาโดว์ เอ่ยนามคุณแม่เกษรขึ้นมา เป็นจุดสะดวกน่ะครับ สำหรับที่ผมจะพาลูกไป ลูกผมอยู่ทางโน้น แล้ววันเสาร์เป็นวันว่าง วันเสาร์ที่แล้วขอท่านช่วยเมตตาสงเคราะห์ให้ลูก กับลูก ๆ ผมสอนเขาจับพระนิพพาน เขาก็จับ รู้สึกเขารักนะครับ เรียกว่าใครถามว่าตายแล้วไปไหน ? ท่องได้เลยว่าจะไปนิพพาน เพียงแต่ว่าอยากให้เขามีความก้าวหน้าทางจิตก็พาไปฝึก แต่ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยได้อะไร ?
      ตอบ :  คือบางครั้งอาจจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ตัวอย่างชัด ๆ คือตัวอาตมาเองฝึกครั้งแรกประมาณปลายปี ๒๕๒๑ ครูฝึกเขาถาม "เห็นอะไรไหม ?" จะไปเห็นอะไรล่ะ ? สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง "สว่างไหม ?" "ไม่สว่างครับ" "เห็นอะไรไหม ?" "ไม่เห็นครับ" ครูฝึกก็หมดกำลังท้อไปเอง
              คราวนี้เสียงอีกท่านที่อยู่ข้างหลังนั่นน่ะ ท่านถามลูกศิษย์ ตอนนั้นสอนกันตัวต่อตัว เพราะคนไม่เยอะ ถามว่า "นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารัก เราชอบซิ นึกได้ไหม ?" โอ้โฮ...เราจับภาพพระเป็นกสิณมาตั้งเป็นปี ๆ ทำไมจะนึกไม่ได้ ก็หลุดปากไปว่า "นึกได้ครับ" ครูฝึกตรงหน้าก็งง ๆ มันนึกอะไรได้ ? ก็บอกว่า "นึกถึงภาพพระได้" เขาก็ถามต่อ "ลักษณะเป็นอย่างไร ?" เราก็บรรยายได้เป็นฉาก ๆ เลย เห็นมาเป็นปี ๆ ใช่ไหม คราวนี้ครูฝึกก็มีกำลังใจขึ้นมา ก็ตะล่อมจนกระทั่งประเภทว่าตัดโน่นตัดนี่ไปเรื่อย แล้วในที่สุดก็ "อ้าว...คราวนี้ลองขอบารมีท่านดูสิ ถ้าท่านเสด็จมาจริง ขอให้ท่านเปลี่ยนภาพจากภาพท่านั่งเป็นท่ายืน" พระท่านยืนเดี๋ยวนั้นเลยนะ คราวนี้ตอนนั้นของเราจะลอยทั้งตัว ปีติตัวพองเลย นั่นน่ะคือสื่อสารผิด
              แล้วอีกตัวอย่างคือโยมแม่ เหมือนกันเลย ไอ้คนเป็นแม่เป็นลูกเป็นอะไรกันนี่ สอนกันยาก เลยไปฝากครูพรรณีให้สอน ครูพรรณีพอเข้าไปสอนได้พักหนึ่ง ก็ออกมาหัวเราะบอกว่า "ท่านเล็กสอนแม่อย่างไร ?" ถามว่า "ทำไมหรือ ?" ก็บอกว่า "ถามท่านบอกว่า เกิดมาทุกข์ไหม ?" ท่านบอกว่า "ไม่ทุกข์" ครูก็หัวเราะ เลยบอกว่า "ครูกลับไปถามใหม่ ถามว่าเกิดมาลำบากไหม ?" รับรองว่าแม่บรรยายได้สามวันสามคืน คือสื่อสารกับคนแม่ไม่เข้าใจคำว่า "ทุกข์" คนแก่เขาไม่เข้าใจหรอก ถามว่า "เกิดมาลำบากไหม ?" ลำบากแค่นิดเดียว
              เพราะฉะนั้น...การสื่อสารไม่ไปตรงใจเขา ลูกศิษย์จะไม่เข้าใจ ครูฝึกมีความสามารถแน่ เราไม่เถียง แต่คราวตอนที่จะไปสื่อกับลูกศิษย์นี่ ต้องใช้คำพูดที่ลุกศิษย์เข้าใจมันลำบาก
              แล้วอีกอย่าง เรื่องของมโนมยิทธิจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือ เราไปนิพพานได้ การที่เราไปนิพพานเป็นการตัดกิเลสโดยอัตโนมัติ เพราะจิตของเราเป็นตัวปรุงแต่ง รัก โลภ โกรธ หลง จะงอกงามไม่ได้ ถ้าจิตไม่ปรุงแต่ง คนกินอาหารถ้าไม่ใส่ชูรส ไม่ใส่น้ำปลา ไม่ใส่พริก ไม่ใส่น้ำส้ม จืดชืดไม่เป็นท่า ไม่มีอารมณ์จะกินหรอก
              เรื่องของจิตถ้าไปอยู่ข้างบน ไม่ได้อยู่กับร่างกาย รัก โลภ โกรธ หลง อย่างเก่งก็อยู่ได้ ๒-๓ นาที มันก็เจ๊งไป ถ้าทำบ่อย ๆ กิเลสจะเฉาตายไปเอง เป็นการตัดกิเลสอัตโนมัติได้ แต่ว่าปัจจุบันนี้นำมาใช้ผิดกันซะร้อยละ ๙๙ เห็นแล้วสงสาร แต่ว่าก็ยังดี เพราะว่าถึงจะใช้ผิดก็ตาม กำลังของอภิญญานี้ ถ้าตายอย่างน้อยก็ยังเป็นพรหม ของเราถ้าหากว่าผิดพลาดลืมจุดหมายเมื่อไร ก็โดนหลอกเป๋ไปเลย ของอาตมาเองมัวแต่ไปสนุกอยู่ตั้ง ๓-๔ ปี บางคนก็ชม รู้ได้ชัดเจนจัง เก่งอะไรอย่างนี้ ตัวมันพอง ก็ไปเรื่อย กลายเป็นขี้ข้าชาวบ้าน
              จนกระทั่งวันหนึ่งหลวงพ่อท่านบอกว่า "พวกได้วิชชาสอง อภิญญาห้า สมาบัติแปด หรือว่าทรงกรรมฐาน ๔๐ ได้ แต่ไม่ใช่พระอริยเจ้านะ ห่างจากนรกแค่นิ้วกั้น" กั้นตามยาว ไอ้เราเหงื่อแตกเลย แล้วกูจะรอดไหมนี่ แล้วถ้าจะรอดได้ต้องเป็นพระโสดาบัน แล้วเทศน์อารมณ์พระโสดาบันให้ฟัง ตอนนั้นเหมือนกับหลวงพ่อเทศน์ให้ฟังคนเดียวจริง ๆ รู้อย่างเดียวว่าชีวิตนี้จะไม่พยายามยุ่งกับเรื่องอย่างนี้อีกเลย เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือพยายามเอาอารมณ์พระโสดาบันให้อยู่กับเราให้มากที่สุดให้ได้ เหมือนกับรู้ต้วว่าเป็นนักโทษประหาร แล้วอยู่ ๆ มีคนเปิดคุกให้หนีนี่ เผ่นสุดชีวิตเลย อดไม่ได้ เพราะว่ารู้โน่นรู้นี่อะไรเข้าแล้วสนุก แล้วจะเพลินไปกับมัน แต่มานึก ๆ ดู ถ้าไม่มีบทเรียน ๓-๔ ปี เราอาจจะยังติดอยู่จนทุกวันนี้ก็ได้
      ถาม :  ตอนนี้กำล้งหาอุบายสอนให้ลูกมีความก้าวหน้า ได้อุบายตอนที่เขาเริ่มเรียนรู้ถึงความตาย ตอนนั้นเลยสอนเขาเรื่องพระนิพพาน ให้เขาจับพระนิพพาน พอเขาเริ่มกลัวผี ก็สอนพุทโธแบบหลวงพ่อ เอาไว้ไล่ผี (หัวเราะ)
      ตอบ :  บอกเขาเลย ก่อนนอนให้นึกถึงภาพพระพุทธรูปไว้ อธิษฐานให้ภาพพระครอบลงมา ผีที่ไหนก็ทำอะไรเราไม่ได้ แล้วก็ตั้งใจไว้เลย นี่เราหลับถ้าตายไปเลย ขอไปอยู่กับท่านก็แล้วกัน เอาลักษณะอย่างนั้น ตื่นนอนมาก่อนจะไปโรงเรียน ก็บอกให้ตั้งใจนึกถึงภาพพระครอบตัวเราไว้ ไปไหนจะได้ปลอดภัย อันตรายจะได้ไม่มี คิดว่าถ้าหากเรามีอันเป็นไปจะต้องตาย ก็ขอไปอยู่กับท่าน สรุปง่าย ๆ อย่างนี้ พูดยาวเด็กไม่ค่อยฟัง สมัยนี้เด็กสมาธิสั้น
      ถาม :  โดยเฉพาะคนโตคงมีของเขาพอสมควร รับได้ง่าย คุณแม่ผมอยู่ทางกรุงเทพฯ นาน ๆ ครั้งเข้ามาเจอท่าน ครั้งก่อนเจอ ท่านพยายามสอนให้เด็กสวดมนต์ไหว้พระ แต่เด็กเขาเกินตรงนั้นไปแล้ว ก็แสดงให้ท่านรู้ ผมก็ใช้วิธีถามตอน ถาม "ตายแล้วอยากไปไหน ?" "ไปนิพพาน" ถาม "พ่อตายเสียใจไหม ?" "ไม่เสียใจ" แม่ร้องไห้ (หัวเราะ)
      ตอบ :  ก็ลักษณะเดียวกัน คือคนถ้าไม่เข้าใจตรงจุดนี้ อาตมาเคยโดนคนเขามองเป็นลูกอกตัญญูมาแล้วอย่างไร คือพอเวลาบางครั้งแม่แกลักษณะคนแก่ แกจะบ่นจะพูดอะไรของท่านไปเรื่อย เราบอก "พอ หยุด ๆ ภาวนาพุท-โธไปห้าร้อยครั้ง ครบแล้วบอกด้วย" แกก็จะนั่งนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง เดี๋ยวสักพักก็เริ่มต้นใหม่ ครบแล้วบ่นต่อได้ ก็ลักษณะอย่างนี้ บางครั้งเราก็ถาม "แม่พูดอยู่นั่นแหละเมื่อไรจะตาย" แม่เขาก็เลยบอก "เออ...ข้าก็ไม่อยู่ให้เอ็งลำบากนานนักหรอก" "ตายแล้วจะไปไหน ?" "ก็ไปนิพพาน" แต่คนอื่นเขาไม่คิดหรอก เขาคิดว่าเราจะแช่งแม่ให้ตาย แต่ความจริงแม่เรารู้ว่า เราพยายามที่จะกระตุ้นให้แกเข้ามาทางด้านนี้ เขาเข้าใจ แต่ไอ้คนไม่เข้าใจก็เห็นเราเป็นลูกอกตัญญู (หัวเราะ)
      ถาม :  .......................
      ตอบ :  เรื่องของการปฏิบัติจะต้องมีกัลยาณมิตรที่ทำได้ใกล้เคียงกัน แล้วจะสนุก พอถึงเวลามีการสนทนาแลกเปลี่ยนหัวข้อธรรมอะไรกัน สมัยก่อนจะมีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง โอ้โฮ...นั่นสุดยอดจริง ๆ เลย เราไปถึงไหนเขาไปถึงนั่น ประเภทยันกันแค่หมดกระเป๋าทุกครั้ง มาสมัยที่อ่านหนังสือหลวงพ่อที่ว่า บางครั้งหลวงพ่อ หลวงปู่บางองค์ท่านไปเจอกัน แล้วก็ประเภททดสอบวิชากัน ท่านบอกความรู้ยันกัน มาเข้าใจตอนนั้นเลย คือเราหมดกระเป๋า เขาก็หมดเหมือนกัน เสร็จแล้วต่างคนต่างก็ตะเกียกตะกายหาใหม่ อย่างไรก็ต้องเอาให้เยอะกว่าให้ได้ แล้วพอถึงเวลาก็มาชนตรงนั้นเข้าอีกพอดีเลย อันนี้เป็นคู่ปรับทางธรรมของเราจริง ๆ เลย อยู่ในลักษณะที่ว่า อะไรที่เขาได้ ก่อนจะเจอเขาสักสี่ห้าวัน เราจะได้ด้วย พอซ้อมจนกระทั่งเริ่มคล่อง ก็จะไปจ๊ะเอ๋กันเข้าพอดี เสร็จแล้วก็ไปเจอกันตรงจุดนั้นแหละ เสร็จแล้วเราก็บอกว่าไม่มีแล้ว เขาก็จะไม่เชื่อ เพราะว่าเขาได้อะไรปุ๊บแล้วเขาถามเรา เราก็จะเข้าใจ เราก็จะตอบได้ทุกครั้งอย่างนี้
              เพราะฉะนั้น...เขาจะเชื่อว่าเรามีมากกว่าทุกครั้ง จริง ๆ ก็คือเราก็หมดกระเป๋าพอกับเขานั่นแหละ สิ่งที่เขาถามบางครั้งเขาอาจจะรู้ก่อนเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรารู้ทีหลัง แต่บังเอิญว่าพอไล่อารมณ์ทรงตัวได้ เขาก็มาพอดี เหมือนกับว่าถ้าเขาก้าวขึ้นหน้าได้อีกก้าว เราก็เสร็จ เพราะเราติดกำแพงแล้ว แต่เขาก็ไม่มีแรงจะก้าวมา เราจะถอยหลังต่อก็ถอยไม่ได้ เราก็ชนกำแพงแล้วเหมือนกัน ลักษณะอย่างนี้จะกระตุ้นให้เราแสวงหาความก้าวหน้าให้มากขึ้น แหม...คู่แข่งเขาจะแซงเราแล้ว ต้องเอาให้ได้ บางครั้งนั่งคุยกันเช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้า
      ถาม :  เพื่อน ๆ ที่เจอกันบ่อย ๆ ที่เขาปฏิบัติธรรมจริงจัง ก็จะเป็นทางสายอีสาน ปฏิบัติคนละอย่าง
      ตอบ :  ของสายนั้นท่านจะต้องเข้มข้นมาก คือคนอีสานมากพื้นฐานความลำบาก การทำมาหากิน ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย จะต้องต่อสู้ต้องดิ้นรนมาตลอด เพราะฉะนั้น...จิตใจท่านจะเข้มแข็ง ถ้าไม่ทรมานนี่ทัน ๆ กันนี่ เอากันไม่อยู่ ดังนั้นทางสายอีสาน เวลาการปฏิบัติ บางครั้งท่านนั่งกันข้ามวันข้ามคืน เดินจงกรมกันต่อเนื่องกันข้ามวันข้ามคื หรือไม่ก็ประเภทอดข้าวกันทีเจ็ดวันสิบห้าวันอะไรอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเอากิเลสไม่อยู่ เพราะจิตดื้อเป็นปกติ มันไม่ยอมอยู่แล้ว มันต่อสู้ดิ้นรนมาตั้งแต่เล็กจนโต มันถนัดแต่การสู้อย่างเดียวนี่ มันไม่ยอมลงให้ใครง่าย ๆ ก็ต้องเจอไอ้ประเภทการทรมานสาหัสสากรรจ์ พอกันถึงจะเอาอยู่
              คราวนี้ของท่านเป็นสายนั้น ของเราเองจะไปด้วยก็ไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านแบ่งการปฏิบัติออกเป็น ๔ สาย
              ๑. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่าย ๆ บรรลุเร็ว
              ๒. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติง่าย ๆ แต่บรรลุยาก
              ๓. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติยาก แต่บรรลุง่าย
              ๔. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่บรรลุยาก
              มีอยู่ ๔ สายด้วยกัน
      ถาม :  คราวนี้ต้องอธิษฐานให้ได้พระนิพพานในปัจจุบันชาติ และยังต้องแถมให้ขอได้ง่าย ๆ สบาย ๆ (หัวเราะ)
      ตอบ :  อธิษฐานเป็นการตอกย้ำความตั้งใจ อยู่ที่ความเพียรพยายามของเรา อย่าท้อถอย ถ้าประเภทอย่างเดียวแล้วไม่ตั้งหน้าตั้งตาทำ โอกาสได้ก็ยากเต็มที ถ้าจะไปนิพพานแล้วไปง่าย ๆ นี่ ไม่สมกับที่ลำบากลำบนเกิดมาตั้งนานขนาดนี้ (หัวเราะ)
      ถาม :  ประทับใจประวัติพระสีวลีครับ ?
      ตอบ :  ปลงผม ๓ ครั้งเป็นพระอรหันต์เลย คือของท่านปัญญาท่านล้นจริง ๆ ผมหล่นเป๊ะลงไป เห็นเออ...นี่มันไม่เที่ยงนี่หว่า อีกองค์ก็พนะนางปฏาจาราเถรี นั่นตักน้ำล้างเท้าขนแรก ซึมไปหน่อยก็หมด ขั้นที่สองซึมกว้างลงไปอีกหน่อยก็หมด ราดลงไปขันที่สามซึมกว้างลงไปอีกหน่อยก็หมด ท่านก็มานึกถึงชีวิตตัวเอง ผัวตายกลางทาง ลูกคนเล็กโดนเหยี่ยวเฉี่ยวไป ลูกคนโตโดนน้ำพัดไป พ่อแม่และพี่ชายตายในกองฟอนเดียวกันอย่างนี้ ท่านก็มานึกถึง เออ...ขันแรกก็เหมือนกับตายตั้งแต่วัยเด็ก ขันที่สองก็ตายวัยหนุ่มสาว ขันสุดท้ายก็ตายในวัยแก่อย่างนี้ สรุปแล้วชีวิตนี้หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลยหรือ ท่านก็หยุดพิจารณาของท่าน เป็นพระอรหันต์อยู่ตรงนั้นเลย นั่นน่ะล้างเท้า ๓ ขันเป็นพระอรหันต์แล้ว
      ถาม :  ตรงนั้นชอบ แต่วิบากก่อนหน้านั้นไม่ชอบ (หัวเราะ)
      ตอบ :  สาหัสจริง ๆ แต่ต้องอยู่ในลักษณะนั้น ถ้าไม่เห็นทุกข์ก็ไม่เข้าถึงธรรม จะเอาอีกอย่างก็โน่น พระพาหิย ทารุจิริยะเถระ พระพุทธเจ้าเทศน์สั้นที่สุด "พาหิยะเธอจงอย่าสนใจในรูป" จบแค่นั้นเลย ลักษณะคล้ายกับบัวพ้นน้ำแล้ว กระทบแสงแดดปุ๊บบานเลย แต่ท่านไม่มีโอกาสบวชเป็นภิกษุเต็มองค์แบบคนอื่นเขา คือช่วงไปหาจีวร ในอดีตไม่เคยทำบุญเกี่ยวกับผ้าไตรไว้เลย มัวแต่ไปเสาะหาผ้าบังสกุลอยู่ ยังไม่ทันจะได้จีวรครบผืน โดนวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตายเสียก่อน
      ถาม :  มานึกถึงชื่อพระราชาที่น่าจะเป็นพระราชาช้าง เทียบเคียงได้คือพระเจ้าอุเทน ที่พระมารดาพาท่านหนีไปอยู่ป่าตั้งแต่เล็ก หลวงพ่อเคยแสดงไว้ แล้วท่านก็ได้เรียนมนต์เรียกช้างมาใช้งาน ผมเลยสงสัยว่า เอ๊ะ...เห็นหลวงพ่อท่านเคยแสดง เรียกท่านเจ้ากรมเสริมว่าพระราชาช้าง ?
      ตอบ :  อันนี้ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน เพราะว่าไม่แน่ใจว่าท่านจะเอาชาติไหน พระเจ้าอุเทนนี่ท่านถามพระรัฐบาลเถระว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นคนหนุ่ม ย่อมมากด้วยกามราคะ ไฉนจึงทรงอยู่ในธรรมวินัยนี้ได้ เพราะท่านเองท่านเห็นว่า ตัวท่านเองนี่เจ๊งแน่ ๆ เลย สนมกำนัลเป็นร้อยเป็นพันอย่างนี้ อย่างไรก็ทิ้งไม่ได้ พระรัฐบาลเป็นลูกมหาเศรษฐีมีเยอะพอ ๆ กัน แล้วทำไมยังทิ้งได้
              รัฐบาลท่านก็แสดงง่าย ๆ มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาดังนี้ว่า มาตุคามนี้ควรตั้งอยู่ในที่แห่งมารดา ก็ตั้งอยู่ในที่แห่งมารดา มาตุคามนี้ควรตั้งอยู่ในที่แห่งพี่สาว ก็ตั้งไว้ในที่แห่งพี่สาว มาตุคามควรตั้งอยู่ในที่แห่งน้องสาว ก็ตั้งไว้ในที่แห่งน้องสาว มาตุคามนี้ควรตั้งไว้ในที่แห่งลูกสาว ก็ตั้งไว้ในที่แห่งลูกสาว ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาดังนี้ ก็ทรงธรรมวินัยอยู่ได้ ตัวพรหมวิหารเต็มที่เลย เห็นเขาเหมือนคนครอบครัวเดียวกัน
      ถาม :  .........................
      ตอบ :  พวกเล่นไสยศาสตร์ เขาถือวันอังคารกับวันเสาร์เป็นวันแข็ง เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่าทำก็จะขลังมาก ฉะนั้น...ส่วนใหญ่แล้วเขาก็จะปล่อยวันอังคารหรือวันเสาร์ ถ้าเล่นไปมาก ๆ แล้วไม่ได้ปล่อยออก เขาเองก็จะร้อน เขาจะต้องปล่อยอออกไปครั้งหนึ่ง แล้วเสร็จแล้วพวกที่เขาทำโดยเจตนา เขาก็มักจะเลือกเอาวันอังคารหรือวันเสาร์ ยิ่งถ้าเป็นวันอังคารหรือวันเสาร์ที่ตรงกับเดือนดับอย่างเช่นว่า แรม ๑๔ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำได้ยิ่งดี เรื่องของไสยศาสตร์จริง ๆ เหมือนกับไฟ คือเปลวทำอันตรายเราไม่ได้ เพราะเรามีวัตถุมงคลคุ้มกัน แต่บางครั้งความร้อนก็มาถึง เพราะฉะนั้น ...จะมาเอาประเภทร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ก็ต้องมีบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ
      ถาม :  ถ้าเรามีตะกรุดมหาสะท้อน ?
      ตอบ :  ก็ย้อนกลับไป เขาทำมาเท่าไร เขาก็ได้เท่านั้น ถ้าแก้ไม่เป็นก็แย่
      ถาม :  แล้วถ้าเขาทำไม่สำเร็จ ?
      ตอบ :  ถ้าเขาทำจนหมดฝีมือเขาก็เลิก แต่บางครั้งประเภทรับเงินเขามาแล้วอย่างนี้ ก็จะอาจจะไปหาคนที่เก่งกว่าเขามา เล่นกับพวกนี้ยาก ไม่ค่อยเลิกกัน เอาเถอะ...กรรมใครกรรมมัน ถ้าโดนก็ไม่ยากหรอกของเราอาราธนาพระด้วยความเคารพนะ ทำน้ำมนต์ด้วยบท "รัตนสูตร" ที่ขึ้น ยานธะภูตานิ ส่วนใหญ่สมัยนี้ตัดแค่ ยังกิญจิ วิตตัง อิธะวา หุรังวา ตั้งใจขอบารมีพระด้วยความเคารพทำน้ำมนต์รดหรือกินก็หาย คือคนที่ทำน้ำมนต์จะต้องมีสมาธิอยู่หน่อย ยิ่งทรงฌานได้ยิ่งได้ผลเยอะ กินหรือว่าอาบก็ได้ ก็ถ้าเขาโดนจะแก้ได้
      ถาม :  เราปล่อยควายตัวหนึ่ง หรือวัวตัวหนึ่ง แต่เราปล่อยปลา ๑๐ ตัว จริง ๆ แล้วถ้าคิดเป็นจิตวิญญาณล่ะคะ ?
      ตอบ :  ปลาเยอะกว่า แต่ถ้าจะเอาอานิสงส์ตัดเคราะห์ใหญ่ ปล่อยวัวดีกว่า เพราะว่าสัตว์ใหญ่ ถ้าเราจะฆ่าเขาต้องใช้กำลังใจมาก เพราะฉะนั้น..ถ้าปล่อยได้อานิสงส์สูงกว่า ถ้าจะต่ออายุเอาหลาย ๆ ปีหน่อย ก็ปล่อยปลาตัวละปี
      ถาม :  ..................?
      ตอบ :  เรือจริง ๆ ท่านแม่ตั้งจ้ะ เพราะว่าตอนนั้นมีร่างทรงร่างหนึ่งชื่อร่างทรงท่านแม่ปิยบังภัย ท่านแม่ปิยบังภัยท่านจะมาร่วมงานด้วย จริง ๆ ก็คือท่านแม่นั่นแหละส่งมา เสร็จแล้วท่านก็มาเห่เรือให้ฟัง นั่งเรือจากท่าน้ำวัดท่าซุงมาจนถึงตัวเมืองชัยนาทแล้วย้อนกลับ ท่านจะเห่เรือให้ฟังแล้วก็จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ในอดีตให้ฟัง เสร็จแล้วก็ถามว่า "เรือมาอย่างนี้แล้วจะใช้งานอย่างไรบ้าง ?" ท่านบอกว่า "เรือใหญ่เอาไว้ทำเป็นเรือพยาบาล เรือตังเกเอาไว้ขนพวกเสบียงอาหาร เพื่อไปแจกคนน้ำท่วม ส่วนเรือเร็วเอาไว้วิ่งสำรวจดูว่าเขาเดือดร้อนกันที่ไหนบ้าง" แล้วท่านก็ตั้งชื่อให้ จะมี "คนึงหา พาถวิล สินสวาท" คนึงหา คือเรือใหญ่ เรือพยาบาล เรียก "เรือแม่ใหญ่" พาถวิล คือเรือเร็ว เรือแม่กลาง แล้วก็สินสวาท คือเรือตังเกว่าเป็นกลอนว่า
              "คนึงหาใครเอย ครั้งหนึ่งคนึงใคร
              พาถวิลถวิลไป หวนให้ถวิลหวัง
              สินสวาทถึงคลาดไกล แต่ใจยัง..."
              ท่านจะบอกเป็นโคลงเป็นกลอนเลย