สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ….............................
      ตอบ :  ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจัดถูกแหง ๆ เลย ไม่มีอะไรเกิน ๔ ประเภทนี้ จะต้องอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่ง เพียงว่าตามหลักการของชีววิทยา กำหนดออกไปเป็นหมวดเป็นหมู่เป็นชั้นเป็นสกุล เพื่อที่จะแบ่งแยกสัตว์แต่ละชนิดขึ้นมา มาระยะหลังยิ่งยุ่งเข้าไปอีก มีการแบ่งแยก DNA พูดง่ายคือเจาะลึกถึงรหัสพันธุกรรม เพื่อที่จะได้แบ่ง ก็กลายเป็นเรื่องอัศจรรย์มากเลยว่าตัวไฮแร็กซ์ หนูชนิดหนึ่งลักษณะคล้าย ๆ กระต่ายเป็นญาติกับช้าง (หัวเราะ) ตัวกระจึ๋งหนึ่งเป็นญาติกับตัวหนักห้าหกตัน เลยกลายเป็นเรื่องที่ยิ่งยุ่งไปใหญ่ อันนั้นปล่อยเขาจัดเถอะ เอาอย่างพระพุทธเจ้าท่านง่ายดี อย่างไร ๆ ก็ ๔ ประเภทนี่แหละ ไม่เกินนี้หรอก อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพราะว่าทุกอย่างสกปรกเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องมองให้เห็น ไม่อย่างนั้นจะไปมืดหน้าตามัวกินด้วยความอร่อย กินเพื่อความอ้วนพีของร่างกาย เพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ เพื่อกระตุ้นกำหนัดให้เกิด เหล่านี้เป็นต้น เดี๋ยวก็หาประเภทนอแรด เขากวางอ่อน อุ้งตีนหมี สัตว์เดือดร้อน อีกเยอะ
      ถาม :  เรื่องของหนุ่มมาดเซอร์ เซอร์คำนี้ย่อมาจากคำว่า surrealistic ที่แปลว่าเหนือจริง หมายความว่า หนุ่มคนนี้มีอารมณ์เหนือจากความจริง ตัวอย่างของอารมณ์เพลงเหนือจริง
              ๑. เราเริ่มฟังเพลงนั้น
              ๒. เมื่อเราฟังเพลงนั้นแล้ว เริ่มท่องจนจำได้ทุกคำ
              ๓. เมื่อจำได้ทุกคำและร้องได้ จิตใจมีอารมณ์คล้อยตามเพลงนั้น
              ๔. เนื้อเพลงนั้นหายไป เหลือแต่อารมณ์ในเพลงและอารมณ์สุขในเพลง
              ๕. ยามใดเกิดเหตุการณ์หนึ่งเฉพาะหน้า จิตใจนึกถึงอารมณ์ขึ้นมาเฉพาะหน้าให้ตรงกับเพลงนั้น
              ๖. ขณะอยู่ในอารมณนั้นจิตใจนึกอารมณ์เพลง ก่อเกิดเป็นจินตนาการเกิดภาพทั้่่งเหตุการณในอดีตและอนาคต
              ๗. เมื่อเห็นภาพแล้วเกิดอาการทางร่างกาย เป็นการระบายอารมณ์ตามความต้องการของอารมณ์เพลงนั้น
              ๘. เมื่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าจบลง ขั้นตอนจบลงในข้อหนึ่งถึงข้อเจ็ด เมื่อเจอเหตุกาณณ์ใหม่ก็จะนำมาคิดใหม่ให้เป็นเหตุการณ์เหนือจริง การที่พระคุณเจ้าได้กล่าวถึงสัมมาสมาธินั้น เหตุใดอารมณ์ของเพลงเป็นสมาธิจึงไม่ถือว่าเป็นสัมมาสมาธิ ?
      ตอบ :  เพราะว่าไม่ใช่ทางออกจากกาม ไม่ใช่ทางเพื่อคลายกำหนัด ไม่ใช่ทางเพื่อความหลุดพ้น เป็นการยึดติดเสียด้วยซ้ำไป ถ้าไม่มีพวกนี้อยู่ไม่ได้ วันไหนเจ้าพวกนี้ไม่ได้ไปเขย่าอยู่ละก็ตายแหง ๆ เลย จริง ๆ แล้วตามหลักการนี้ ถ้าเอามาฝึกสมาธิได้กสิณ ได้ทิพจักขุญาณ ทรงฌานสบาย ๆ เพียงแต่นำมาใช้ผิด แหม...โดยเฉพาะตอนไปนึกตามเพลง ถ้านึกจับภาพพระได้อย่างนั้นเยี่ยมไปเลย สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นของเขาจะเป็นการกระตุ้นยิ้มจิตใจให้หมกมุ่นอยู่ ไม่ใช่ปล่อยวาง ก็เลยไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิ
      ถาม :  รายการโทรทัศน์เขานำคน ๒ ฝ่ายมาถกปัญหาอย่างเคร่งเครียดเรื่องชื่อหนังคนบาปพรหมพิราม ประชาชนเขากล่าวว่า “เป็นการทำให้เกิดปัญหาจากชื่อเรื่อง ทำให้เกิดความเสียหาย และคนนำไปล้อเลียนในอดีต” คนทำหนักงเขาเลยถามว่า “จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ? แล้วจะเปลี่ยนชื่อว่าอย่างไรดี ?” ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ มีชาวบ้านคนหนึ่งเขาพูดออกมาว่า “ให้เปลี่ยนเป็น คืนบาปพรหมพิราม” จากสระอือตัวเดียวเหตุการณ์ก็เปลี่ยนกลายเป็นการหัวเราะอย่างสนุกสนานกัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือบุคคลได้นำพุทธพจน์ ความว่า “บุคคลผู้มีมือเป็นบาดแผลไปจับยาพิษ พิษก็ย่อมเข้าสู่บาดแผล บุคคลผู้มีไม่มีบาดแผล เมื่อจับยาพิษ พิษนั้นไม่เข้าสู่บาดแผลได้” ตามความนี้พระพุทธพจน์มีความหมายเป็นประการใด ?
      ตอบ :  ชัดอยู่แล้ว จริง ๆ คือว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “เราไม่ควรพูดเรื่องที่เป็นเหตุเถียงกัน” เรื่องอันเป็นเหตุให้เถียงกันย่อมจำเป็นที่จะต้องพูดมาก ผู้ที่พูดมากจิตใจจะต้องฟุ้งซ่าน ผู้ที่ฟุ้งซ่านย่อมห่างจากสมาธิ เจ๊ง...ตั้งแต่ยกแรกเลย ตายไหม ? เสร็จเลย แต่จะว่าไปว่ามาจะเปลี่ยนชื่อหรือไม่เปลี่ยนก็ตามนะ โดยหลักการแล้วมันสามารถสร้างความสนใจให้กับคนหมู่มากได้ ทั้ง ๆ ที่หนังไม่ทันจะฉาย คราวนี้คุณจะเปลี่ยนเป็นชื่ออะไร ก็ตะกายไปดูกันทั้งนั้นแหละ (หัวเราะ)
      ถาม :  เรื่องของอปจายนมัย ที่ท่านพระคุณเจ้าได้กล่าวว่า “เป็นเหตุให้เกิดบุญได้ง่าย” สำหรับท่านผู้มีมโนมยิทธินั้น เขาอาจจะบอกว่า “ถ้าได้พบคนมีอายุสูงวัย เขามีเจโตปริยญาณ ยถากัมมุตาญาณ สามารถเห็นได้ว่าบุคคลท่านนี้มีอทิสมานกายเป็นมนุสสเปโต มนุสเนรยิโก อยากจะยกมือไหว้เหมือนกันก็ไหว้ไปตามธรรมเนียม แต่ในใจก็ไหว้ไม่ลงเหมือนกัน” เรื่องของมานะในสังโยชน์ ๑๐ อปจายนมัยกับผู้ที่มีมโนมยิทธิ เรื่องนี้คิดอย่างไรดีครับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ คือว่าถ้าหากว่ายังไหว้เขาไม่ได้ แปลว่าตัวเองยังมีมานะถือตัวถือตนอยู่ เราก็อย่าไปคิดว่าเขามีกายในเป็นเปรต อย่าไปคิดว่าเขามีกายในเป็นสัตว์นรกสิ ไหว้เขาเพราะเห็นว่าไม่ว่าใครก็ตามท้ายสุดแล้วล้วนแต่เข้านิพพานเหมือนกันนะ ต่อให้ตอนนี้เขาเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่เขาก็มีเวลาสั่งสมบุญของเขามากขึ้น ๆ ไปทุกที จนท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องนิพพานกันหมด เราไหว้พระอรหันต์ในอนาคต (หัวเราะ) ชิงไหว้ล่วงหน้าเอาบุญไว้ก่อน
      ถาม :  เขาบอกว่า “พวกทรงเจ้าเข้าผี ถ้าเราเกิดเผลอไปไหว้เขา จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เดี๋ยวมันจะเข้าตัว ?
      ตอบ :  อ๋อ...ก็ตั้งภาพพระครอบเอาไว้แล้วก็ไหว้มันให้เต็ม ๆ เลยสิ ดูซิมันจะเข้าได้ไหม
      ถาม :  …..................
      ตอบ :  ไปที่ทุ่งใหญ่ เดินผ่านก็เห็นคนเข้าไปเซ่นพ่อปู่ฤๅษีทุ่งใหญ่ อย่างไม่มี ๆ อะไรก็จุดธูปเทียนบอกกล่าว เราเองเดินผ่านไปก็เลยเข้าไปจุดธูปเทียนบ้างตามมารยาท พอจุดปั๊บ ท่านบอกว่า “อย่าไหว้ผมนะครับ” เราเป็นพระ ท่านเป็นเทวดา ท่านไม่ยอมให้เราไหว้ท่านหรอก
      ถาม :  …..........................
      ตอบ :  จริง ๆ ก็คือว่ากำหนดแยกให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ การจะดูอสุภกรรมฐาน เราต้องแยกออกเป็นส่วน ๆ พระพุทธเจ้าท่านบอก “เปรียบเหมือนนายโคฆาต” คือผู้ฆ่าวัว ผ่าวัวออกเป็นชิ้น ๆ อย่างนั้นแหละ คราวนี้ของเราเองเราก็ต้องประเภทนึกย้อนเข้าไปในร่างกายของเรา ดูว่ามีอะไรบ้าง อันดับแรกถลกหนังออก
      ถาม :  ….....................
      ตอบ :  นานลงอารมณ์ใฝ่ต่ำ คือ รัก โลภ โกรธ หลงมาก เพราะว่าเราเกิดมาจนนับชาติไม่ถ้วน ทุกชาติก็ฝึกหัดมันอยู่ ไม่ได้เจตนาก็ทำ เลยคล่องตัวมาก ถ้าเราไม่ฝึกหัดอารมณ์ฝ่ายดีฝ่ายสูงเอาไว้ให้คล่องตัว ถึงเวลาจะสู้กำลังของฝ่ายต่ำไม่ได้ กว่าจะร้ตัวมันลากเราไปไกลแล้ว ต้องซ้อมให้ชำนาญใช้ได้ทุกเวลา อย่างเมื่อครู่ที่เล่าให้ฟังว่าแค่เราคิดแค่นั้นเอง มันตีเราเสียเกือบตาย เอาอย่างนั้นเลย
      ถาม :  ใช้กสิณสีแดงได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ คือทำให้ได้ผลเต็มที่ไปเลย ชนิดที่ว่าต้องการให้ใครแดงให้แดงโร่ไปต่อหน้าเราได้เลยอย่างนั้น ถ้าคล่องตัวขนาดนั้นแล้วจะตัดตัวโทสะลงไปได้เยอะ เหตุที่ตัดตัวโทสะลงไปได้เพราะว่าต้องสนใจอยู่กับดวงกสิณ ไม่มีเวลาที่จะไปสนใจอย่างอื่น เลยไม่รู้จะไปโกรธใคร
      ถาม :  …..........................
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วตัดได้เหมือนกัน เพราะว่าอย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า “กรรมฐานทุกกองสามารถไปนิพพานได้ทั้งนั้น” อย่างที่ของเราเองไม่ได้เจตนาแท้ ๆ แต่ดันไปเอาตัวพรหมวิหาร ๔ มาตัดกามราคะ อุสภกรรมฐานจริง ๆ สำหรับอาตมากับใช้ไม่ได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น...ทุกอย่างมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องทำให้ต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้อารมณ์ไม่ดีขึ้นมา ถ้าเผลอปล่อยมันขึ้นมา ลักษณะที่ไปกดมันเอาไว้ ถึงเวลาประเภทตีกลับมันจะรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า เพราะฉะนั้น...อย่าเผลอโอกาสให้มันเป็นอันขาดเลย ตีต้องตีให้ตาย อาตมาเองประเภทที่เรียกว่า หกล้มหกลุกมาเป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง จนกระทั่งเข็ดมันเต็มทีแล้ว กว่าจะเข้าใจคำว่ารักษาอารมณ์ต่อเนื่องเป็นอย่างไรนี่เป็นสิบ ๆ ปี
      ถาม :  แล้วอย่างตามปกติคนเราพิจารณาคิดเห็นเป็นพระพุทธรูปขณะหลับตา แต่ขณะที่ลืมตาจะชัดกว่าการหลับตา ?
      ตอบ :  เขาไม่ได้บังคับให้หลับตา ถ้าลืมตาชัดกว่าก็ลืมตา การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นสมถะ หรือวิปัสสนาไปพระนิพพานได้ทั้งคู่ สมถกรรมฐานเป็นการใช้กำลังของฌานของสมาบัติกดอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลงเอาไว้ ถ้าเราสามารถกดมันได้ต่อเนื่องยาวนานพอ มันก็ตายไปเอง เหมือนกับเอาหินหรือเอาไม้ท่อนใหญ่ ๆ ทับหญ้าเอาไว้ ถ้าทับนานไปหญ้าก็ตาย เขาเรียกว่า “บรรลุด้วยเจโตวิมุตติ” คือใช้กำลังใจข่มไว้ ส่วนการพิจารณาวิปัสสนาญาณ พอรู้แจ้งเห็นจริง สภาพจิตยอมรับปล่อยวางได้ก็บรรลุเหมือนกัน เขาเรียกว่า “บรรลุโดยปัญญาวิมุตติ” คือรู้แจ้งเห็นจริงตามนั้น
              เพราะฉะนั้น...ของเราถ้าหากว่าสามารถทำ ๒ อย่างรวมกันได้ก็จะได้ผลเร็ว แต่ถ้าหากว่าทำได้เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งก็เอาเถอะ เพียงแต่ทำให้ต่อเนื่องก็แล้วกัน อย่าปล่อยให้ขาดช่วง ขาดช่วงกิเลสจะฉวยโอกาสตีเอา
      ถาม :  มีคนเขาบอกกันว่ายุคนี้คนหูทิพย์ตาทิพย์ มีหูทิพย์คือการมีโทรศัพท์มือถือ ตาทิพย์เพราะเรามีโทรทัศน์ดูได้ทั่วโลก เรื่องนี้เท็จจริงเป็นประการใดครับ ?
      ตอบ :  เป็นความจริง อย่างนี้เขาถือเป็นฤทธิ์อย่างหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเป็นฤทธิ์แบบวิชชามัยฤทธิ์ คือฤทธิ์ที่เกิดจากการประกอบจากวิชาการที่เราเรียนรู้มา พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้หมดนะ เพียงแต่ว่าไม่ใช่ฤทธิ์ในประเภททิพโสต ทิพจักขุญาณของอภิญญาจริง ๆ ในวิกุพนาฤทธิ์ เป็นฤทธิ์คนละตัวกัน ขนาดตำรานักธรรมเขายังเอาเลย เล่นอภิญญาหกราคาเป็นล้านเหลือสลึงเดียว เขาเปรียบเทียบอย่างนี้ ทิพจักขุ คือบุคคลที่เห็นได้ดี เห็นได้ไว เห็นได้ไกล แล้วอย่างสมัยนี้มีแว่นตาใส่ ทิพโสต คือคนหูดี ฟังได้ ได้ยินแม้แต่เสียงที่เบา เสียงที่ไกล หรืออย่างสมัยนี้มีโทรศัพท์ใช้ แหม...เล่นอภิญญาของราคาเป็นล้านเหลือสลึงเดียว (หัวเราะ)
      ถาม :  …............................
      ตอบ :  เพราะว่าตอนนั้นตัวรัก โลภ โกรธ หลง ทำให้ท่านคิดจะทำสิ่งเฉพาะหน้าเท่านัั้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากการชักจูงของมารเข้าไปด้วย ต่อให้คิดมองก็จะมองเห็นแต่ที่ดีแก่ตัว เพราะว่าไปตัั้งกำลังใจไว้ผิดซะแล้ว คิดจะปกครองพระเแทนพระพุทธเจ้า เลยโดนมารครอบงำได้ง่าย
      ถาม :  บางครั้งเรากระทำผิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็เกิดความเสียใจไม่น่าทำเลย แล้วก็คร่ำครวญ ในการทำบุญเราตั้งใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดทำไม่ได้ ควรจะเสียใจหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  ไม่ควร แต่ให้ตั้งใจว่ามีโอกาสเมื่อไรแล้วเราจะทำ จะได้มีตัวอุเบกขา ถ้าไม่มีตัวอุเบกขาก็จะไปตะเกียกตะกายเกินพอดี สร้างความลำบากให้แก่ตัว แต่ขณะเดียวกันก็จะมีปัตตานุโมทนามัย เห็นคนอื่นเขาทำความดีที่เราไม่ได้ทำแล้วเราพลอยยินดีกับคนอื่นเขา ไม่ต้องเหนื่อยมากก็ได้เหมือนกัน
      ถาม :  เรื่องของฝาแฝดอินจัน ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าอัศจรรย์หรือแปลกประหลาดอย่างไร แต่พอรู้ตอนหลังว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือเขานอนกับเมียสองคนอย่างไร เรื่องปลิโพธ เราควรทำอารมณ์อย่างไร ?
      ตอบ :  คนละเรื่องกัน ปลิโพธ คือความกังวลจะมาแทรกตอนเราทำความดี ทำกรรมฐานอยู่ เพราะฉะนั้น...เราต้องคิดว่าตอนนี้เราทำความดีอยู่ นั่งอยู่อย่างนี้ เรื่องอื่นเกิดขึ้นเราไม่มีทางไปแก้ไขอยู่แล้ว เราควรจะทำเรื่องเฉพาะหน้าเราให้ดีที่สุด
              ส่วนเรื่องฝาแฝดอินจัน นอนกับเมียคนละคน เรื่องของมันเถอะ “ตัณหาราคะนั้นสาหัส ถ้าใครตัดเสียได้ฉันให้ถอง อุตส่าห์เรียนวิชาหาเงินทอง ก็เพราะของสิ่งเดียวมันเกี่ยวกวน” อันนี้สุนทรภู่ท่านว่าเอง คนเราหน้ามืดก็ไม่สนใจหรอกว่าใครจะอยู่ข้าง ๆ บ้าง มีของมันอยู่
              มีระยะหนึ่งที่เด็กแฝดตัวติดกันเกิดเยอะมาก ก็มีคนถามหลวงพ่อว่า “เกิดจากสาเหตุอะไร ทำกรรมอะไรไว้ ?” ปรากฏว่าคำตอบของหลวงพ่อน่าทึ่งมาก ท่านบอกว่า “ไอ้พวกนี้ชาติดก่อนมันรักกันมาก มันอธิษฐานว่ามันจะไม่พรากจากกัน” ไม่น่าเชื่อว่าคำอธิษฐานจะทำให้เกิดผลพิลึกพิลั่นขนาดนั้น พระพุทธเจ้าท่านถึงได้บอกว่า “กรรมวิบาก” การส่งผลของกรรม คือสิ่งที่เรากระทำ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรคิด ผู้ใดคิดพึงมีส่วนของความเป็นบ้า เป็นอจินไตย เพราะเราจะนึกไม่ถึงหรอกว่าบุญบาปจะส่งผลอะไรพิสดารได้ขนาดนั้น อธิษฐานว่าจะไม่พรากจากกัน
      ถาม :  อาการปีติ เป็นอาการของฌานที่ ๒ หรือ ๑ ครับ ?
      ตอบ :  ปีติยังไม่ถึงฌานแค่ใกล้ฌานเท่านั้น ถ้าข้ามปีติเป็นสุขก็ยังไม่ถึงฌาน ต้องเป็นเอกัคคตารมณ์ถึงจะจัดเป็นฌานใดฌานหนึ่งได้ เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์ใจตั้งมั่น ปีติกับสุขยังไม่ตั้งมั่นจริง ต้องเป็นเอกัคคตารมณ์ถึงจะเป็นฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปต้องมีเอกัคคตารมณ์อยู่ ปีติต้องเรียกว่าเริ่มเข้า ป.๑ (หัวเราะ)
      ถาม :  สภาพของฌานทั้ง ๔ จะเหมือนกับการขึ้นบันได ๔ ขั้นหรือประตู ๔ บานที่เราจะเปิดบานไหนก็ได้ครับ ?
      ตอบ :  ถ้ามีความคล่องตัวก็เหมือนประตู ๔ บาน จะเปิดบานไหนก็ได้ แต่ถ้ายังไม่มีความคล่องตัวก็ต้องค่อย ๆ ขึ้นบันไดไปก่อน เพราะขึั้นบันไดไปจะเจอประตูอยู่ ๔ บาน เปิดบานไหนก็เข้าห้องนั้นแหละ
      ถาม :  เหตุใดพระเดชพระคุณหลวงพ่อถึงกล่าวว่า “พระที่เข้าปีติเป็นผู้มั่นคงในศาสนาแล้ว” ?
      ตอบ :  ตัวปีติเป็นความอิ่มอกอิ่มใจ เป็นอารมณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ทำให้ไม่อิ่มไม่เบื่อในการทำบุญ บุคลที่สร้างบุญเป็นปกติ โอกาสที่จะก้าวหน้าในทางปฏิบัติก็มีอยู่แล้ว เลยกลายเป็นว่าถ้าหากว่าถึงปีติเมื่อไร ส่วนใหญ่ก็จะมีความมั่นคงอยู่ แต่ต้องระวังอยู่นิดหนึ่ง ระวังตรงจุดที่ว่าพอปีติแล้ว มารจะแทรกได้ง่าย เพราะว่าตอนนั้นจะไม่ลืมหูลืมตาแล้วละสิ อะไร ก็พร้อมเต็มใจที่จะทำ เพราะฉะนั้น...โอกาสจะโดนแทรกได้ง่าย เพราะฉะนั้น...ต้องระมัดระวังให้ดี ไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะโดนมารเขี่ยกระเด็นออก บางคนพอเกิดปีตินั่งกรรมฐานเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่ยอมเลิก
              อาตมามีลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ อยู่คนหนึ่งไม่มากหรอก ๒ เดือนเต็ม ๆ ไม่กินไม่นอน เดินจงกรมภาวนาอย่างเดียว เสร็จแล้วร่างกายทนไม่ไหวเลยเดี้ยง น่าเสียดายถ้าไม่ใช่กำลังของฌานค้ำไว้ตายแหง คนเราอดข้าวอดน้ำนานขนาดนั้นไหวหรือ แต่บังเอิญว่าของเขาทรงฌานอยู่ ลักษณะของผู้ทรงฌานร่างกายจะทำงานเองอัตโนมัติ จะดึงเอาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม รอบข้างเข้ามา ถ้าถามว่าทำงานอย่างไร ทำให้ถึงแล้วจะรู้เอง ไม่ต้องกินก็อยู่ได้ที่เขาเรียกว่า อยู่ด้วยธรรมปีติอย่างไร รูขุมขนทั่วร่างกายสามารถรับได้หมด มันดึงเอาธาตุ ๔ รอบข้างเข้ามาใช้ได้หมด แต่ว่าต้องทำให้ถึง
      ถาม :  การที่เรายินดีจ่ายสตางค์ค่ารถ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า บางคนมีรถยนต์ก็ต้องเติมน้ำมันรถยนต์เพื่อมาบำเพ็ญกุศลบริจาคทานทั้งที่บ้านสายลมก็ดี ที่วัดก็ดี เรามาแล้วเราได้อะไรกับไปบ้างครับ ?
      ตอบ :  อันดับแรก สิ่งที่ได้ไปก็คือบุญ จิตใจที่ทรงความดีอยู่เป็นบุญ เป็นการสั่งสมความดี เมื่อถึงเวลาแล้วผลบุญนี่จะส่งให้เราก้าวถึงภพภูมิที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ประการถัดไปต้องดูว่าบุญนี้เกิดจากอะไร บุญเกิดจากการที่เราได้ละรัก ละโลภ ละโกรธ ละหลงได้ การที่เราได้ทำบุญเป็นการละในตัวโลภ เพราะเป็นการสละออก รักกับโลภเป็นตัวเดียวกัน เพราะรักถึงอยากได้ ตัวโลภถึงอยากได้ ตัวข้าศึกใหญ่ ๓ ตัว คือรักกับโลภที่รวมกันแล้วเป็นโกรธเป็นหลง เขาเรียกว่า โลภ โกรธ หลง ถ้าตัวใดตัวหนึ่งขาดลง อีก ๒ ตัวจะหมดแรง ถ้าเราพยายามที่จะละโลภอย่างเดียว แสดงว่าตัวหลงอ่อนกำลังลงไปแล้ว แล้วสามารถละโลภได้เด็ดขาดตัวหลงหมดไปด้วย ตัวโกรธก็ไม่รู้จะเหลืออยู่ได้อย่างไร ก็เป็นการที่เราสามารถก้าวถึงความเป็นพระอริยเจ้าตามที่เราต้องการได้ เสร็จแล้วก่อนที่เราจะไปถึงจะต้องลำบากยากเข็ญ เริ่มตั้งแต่ทำงานหาเงินใช่ไหม เลี้ยงดูครอบครัว ซื้อหาสิ่งที่จำเป็นในปัจจัยสี่จนกระทั่งแบ่งสรรปันส่วนเงินทองที่เหลือเพื่อไปทำบุญ ระยะทางของการเดินทางก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องสะดวกต้องเสียค่ารถเสียค่าน้ำมันอะไอย่างที่ว่ามา เราเองมีกำลังใจที่เข้มแข็งขนาดนั้นก็จริง แต่ระหว่างนั้นตั้งแต่ต้นยันจบมีความทุกข์ไหม ? ถ้าสามารถเห็นว่าตลอดทั้งของการกระทำทุกอย่างเป็นทุกข์เป็นปกติอยู่แล้ว เรายังต้องการจะเกิดมาทุกข์แบบนี้อีกไหม ? ถ้าสามารถดูเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ให้เห็นต้นยันปลายได้ ถอดถอนความยินดีในการเกิด ความยินดีในโลกนี้เสียได้ การจะไปนิพพานก็เป็นเรื่องง่าย
              เพราะฉะนั้น...ถ้าถามว่าได้อะไร ได้ตั้งแต่ต้นยันปลายเลย การทำบุญที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญคือตัวเราและคนรอบข้างต้องไม่ลำบาก แต่ว่ามีบางประเภทอย่างกำลังใจของพระโพธิสัตว์ ถึงตัวตายก็ไม่ว่าขอให้ได้ทำบุญ ถ้าอย่างนี้ว่าท่านไม่ได้ แต่ว่าถ้าสำหรับคนทั่ว ๆ ไปแล้ว บุญนั้นเกิดจาก ๑. เจตนาบริสุทธิ์ ๒. วัตถุทานบริสุทธิ์ ๓. ผู้ให้บริสุทธิ์ ๔. ผู้รับบริสุทธิ์ ถ้าเป็นอย่างนี้สิ่งที่เราทำนั้นได้บุญร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ต้องไม่เป็นที่เดือดร้อนของตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะที่ว่าการทำบุญนั้นไม่ใช่ว่าจำเป็นจะต้องทุ่มจำนวนมาก ๆ ถึงจะได้บุญมาก สำคัญตรงสละออก ตีเสียว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ถ้าเกิดควักเงินไปทำบุญซักล้านหนึ่ง เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินของเขา แต่เราเองเราควักเงินไปทำบุญ ๑๐๐ เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเรา ลองเปรียบเทียบดูว่าการสละออกของใครยิ่งใหญ่กว่ากัน การสละออกจำนวนมากไม่ใช่ไม่มีอานิสงส์ มีเหมือนกัน สมมติว่าเราถวายสังฆทานก็เป็นมหาเศรษฐีเหมือนกันต่ำสุดมีทรัพย์แปดสิบโกฏิใช่ไหม ก็ประมาณแปดร้อยล้าน
              สมมติง่าย ๆ แต่ว่าคุณทักษิณแกอาจจะมีเป็นหลายหมื่นล้านเพราะว่าจำนวนทรัพย์ที่สละมากกว่า แต่ถ้าหากว่านับถึงเรื่องกำลังใจในการเสียสละ ตีเปอร์เซ็นต์ออกมาเราอาจจะเยอะกว่าก็ได้
              เพราะฉะนั้น...การทำบุญไม่จำเป็นต้องมาก ทำน้อย ๆ ทำบ่อย ๆ จิตใจเคยชินกับการสละออก ต่อไปก็สามารถที่จะสละในส่วนที่มากกว่าได้ง่ายขึ้น