ถาม:  คนไทยเด็กวัยรุ่นผู้หญิง ผู้ชาย มีเรื่องความสัมพันธ์กัน ในเรื่องที่ยังไม่ถึงโอกาส เพราะยังไม่ได้แต่งงานหรือมีความสัมพันธ์ก่อนแต่งอะไรอย่างนี้ ?
      ตอบ :  ถ้าถามว่าผิดไหม ? ตามหลักของศีลธรรมแล้วผิด การล่วงละเมิดบุคคลที่มีคนปกครองอยู่ ถ้าหากว่าผู้ปกครองไม่อนุญาตผิดแน่นอน แต่ถ้าถามว่าสมควรหรือไม่สมควร อันนี้พูดยาก เพราะวาระต่าง ๆ ของโลกเปลี่ยนไป คนสมัยก่อนไม่ต้องไกลหรอก แค่อาตมาใกล้ ๆ ๕๐ นี่ อายุ ๑๒-๑๓ ยังแก้ผ้าโดดน้ำอยู่เลย สมัยนี้ ๑๒-๑๓ โตเบ้อเร่อกันหมดแล้ว คำว่าผิดศีลต้องได้รับการลงโทษ คำว่า "บาป" แปลว่าชั่ว เหมาเอาว่าบาปก็ได้ แต่จริง ๆ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องสมมติ เราทำในสิ่งที่ผิด กระแสที่ไม่ดีก็ชักนำให้ไปสถานที่ผิด ๆ สถานที่ผิด ๆ ก็คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถ้าเราทำสิ่งที่ถูก กระแสถูกชักนำไปด้านที่ถูก ก็จะเป็นเทวดา เป็นพรหม หรือหลุดพ้นเข้านิพพานไป
              เพราะฉะนั้น...ทั้งผิดทั้งถูกเป็นเรื่องสมมติทั้งคู่ แต่ว่าเป็นสมมติอันหนึ่งทำให้เราลำบาก อีกอันหนึ่งทำให้เราสบาย เพราะฉะนั้น...เราต้องเลือกเอาว่าจะเอาอันไหน
      ถาม :  การทำใจว่าเวลามีเฮไปไหน บางคนเห็นหน้าไม่อยากจะคุย ไม่ต้อนรับ ไม่ดีกับเราแล้วใจเราเศร้าค่ะ รู้สึกไม่สบายใจ ?
      ตอบ :  แล้วทำไมต้องไปเศร้าด้วยล่ะจ๊ะ ทำอะไรยิ้มไว้ก่อน เจอหน้าใครยิ้มไว้ก่อน ใครจะว่าเราบ้าช่างมันเถอะ หน้ายิ้มไปไหนเขายินดีต้อนรับทั้งนั้นแหละ เมื่อครู่บอกพวกนี้เขาว่า เราไม่สบายใจเพราะเราคิด ถ้าเราหยุดคิดได้ เราก็จะสบายใจเป็นปกติ เพราะฉะนั้น...ให้อยู่กับลมหายใจเข้า-ออกดีกว่าดึงอารมณ์อยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า คนที่ทำสมมติว่าเมื่อเช้าใช่ไหม เออ...นี่ผ่านมาตั้ง ๑๐ ชั่วโมงแล้ว เรายังจะไม่สบายใจอยู่อีก นี่มันเรื่องอดีตแล้ว เสร็จแล้วเรามาคิดต่อว่า เออ...แล้วพรุ่งนี้ไปเจอมัน อ้าว...นั่นเป็นเรื่องของพรุ่งนี้ อนาคตอีก เอาตอนนี้สิจ๊ะ ถ้าเราอารมณ์ทรงตัวอยู่กับปัจจุบันนี้ เราจะทุกข์น้อย จะไม่ไปเศร้าหมองกับใครจ้ะ อยู่กับตัวภาวนาดีที่สุด อยู่กับลมหายใจเข้า-ออกปลอดภัยที่สุด
      ถาม :  บางครั้งหนูทำสมาธิก็ไม่อยากจะภาวนา อยากจะรู้แค่ลมหายใจเข้า-ออก ?
      ตอบ :  เอาแค่นั้นก็พอจ้ะ เพราะว่าการรู้ลมหายใจเข้า-ออก เป็นหลักยึดมั่นสำคัญที่สุดเลย ถ้าอยู่ตรงนั้น รัก โลภ โกรธ หลงจะเข้าไม่ได้
      ถาม :  เมื่อครั้งท่านพระมโหสถได้กล่าวแก่พระราชาว่า "ม้าอัสดรที่เกิดจากลาที่มีค่าแปดกษาปณ์ และให้บิดาลุกขึ้นเมื่อตนมา" ท่านกล่าวความว่า ตามธรรมดาบิดามารดาย่อมอยู่ในฐานะที่สูงกว่าบุตร แต่ในบางสถานะบุตรมีฐานะอยู่เหนือด้วยบิดามารดา เปรียบเหมือนม้าอัสดรที่มีค่ามากมาย อาจะเกิดจากลามีค่าแปดกษาปณ์ ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ที่สำคัญมากกว่าก็คือ เมื่อครั้งมารดาถามแก่พระมโหสถว่า "เดี๋ยวนี้ลูกเก่งกล้าสามารถจึงไม่ฟังคำของมารดา" ท่านพระมโหสถกล่าวตอบว่า "ตัวของท่านเองไม่เคยคิดสักนิดเดียวว่าท่านอยู่สูงกว่าบิดามารดา" เหตุใดท่านเป็นพระมหาโพธิสัตว์ใหญ่ ท่านจึงกล่าวเช่นนั้นครับ ?
      ตอบ :  เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นว่า สมมติว่าบิดาเป็นสามัญชน แต่ว่าลูกมีบุญวาสนาบารมีได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างนี้จะถามว่าลูกเลิกเคารพบิดามารดาไปเลยไหม ? ก็คงไม่ใช่ ก็แบบเดียวกันเพราะว่าพระโพธิสัตว์ด้วยแล้ว ท่านยิ่งเป็นผู้ที่มากด้วยความกตัญญู รู้อะไรควรอะไรไม่ควรอยู่
              เพราะฉะนั้น...ของท่านเองท่านก็ต้องเคารพในบิดามารดาเป็นปกติ ถึงตัวเองจะเก่งขนาดไหนก็ตาม ก็ยังเรียกว่าพ่อแม่ต้องมาก่อน ม้าอัสดรอย่างที่ว่าสมัยนี้คนไทยน่าจะเรียกว่า "ล่อ" ผสมระหว่างม้ากับลา จริง ๆ เขาเรียก ม้าอาชาไนย
      ถาม :  การอ่านข่าวโทรทัศน์คำพูดที่ใช้บ่อย ๆ และได้ยินมากคือคำว่า "อ้าง" ใช้ทั้งทางด้านดีและด้านไม่ดี ตามความรูู้เล็กน้อยของผม "อ้าง คำนี้มาจากภาษาต่างประเทศว่า "Claim" หมายถึงการอ้างสิทธิ แต่ว่าคำ ๆ นี้ภาษาไทยจะใช้ลักษณะเป็นแง่ลบมากกว่า เมื่อข่าวได้นำเสนอความเสียหายในวงการสงฆ์ของไทยเป็นจำนวนมาก คำพูดข้างต้นก็ทำให้ดูเสื่อมเสีย เป็นการสะกดจิตโดยดูข่าวกันทุกวัน และการวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดา และคิดว่าตนมีค่าสูงกว่าพระสงฆ์ สามารถวิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ ได้ คนธรรมดาอย่างเรานี้จะปฏิบัติจนเป็นพระอริยเจ้าได้หรือไม่ ?
      ตอบ :  ได้แน่นอน แล้วได้ง่ายด้วยเพราะว่าฆราวาสถือศีลห้าหรือศีลแปด เหมือนกับเดินบนถนน ถนนนั้นอาจมีหลุมอยู่ห้าบ่อแปดบ่อ หลีกซ้ายหลีกขวาก็จะพ้น แต่ว่าพระนี่ ๒๒๗ บ่อเป็นอย่างน้อย จะตกตายเมื่อไรก็ไม่รู้
              ส่วนเรื่องของการดูข่าว การรับทราบข่าวสาร ถ้าหากว่าเรารับทราบด้วยจิตใจที่ปล่อยวาง คือสักแต่รู้ว่าข่าวเป็นอย่างไรเท่านั้น ถ้าสามารถทำอย่างนั้นได้ แทบไม่มีปัญหาอะไรกับเรา เคยเตือนพระเตือนเณรอยู่บ่อย ๆ ว่า "คุณอ่านหนังสือพิมพ์ คุณอย่าไปใส่อารมณ์ตามนะ" คำว่า "ใส่อารมณ์ตาม" ก็คือไปนึกคิดคล้อยตาม จริง ๆ ถ้าเรารับรู้สักแต่ว่ารับรู้ เห็นสักแต่ว่าเห็นได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ไม่ไปปรุงแต่งตาม ไม่มีปัญหาอะไรหรอก รู้เอาไว้ให้ทันโลกเท่านั้นว่าโลกเป็นอย่างไรแล้ว แค่นั้นเอง แต่ว่าส่วนใหญ่ที่มีปัญหาคือไปใส่อารมณ์ตาม
      ถาม :  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยแห่งชาติ ได้มีความเห็นว่า "ปัจจุบันคนไทยพูดภาษาไทยคำอังกฤษคำ ทำให้วัฒนธรรมทางด้านภาษาถดถอย" เรื่องนี้คิดว่าคงไม่เท่าไร เพราะน่าจะเป็นความจำเป็นบางกรณี แต่ผมว่าที่น่าจะหนักกว่านั้นก็คือ การพูดภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันอิงลิชที่ไม่ใช่แบบริติชอิงลิช อีกทั้งยังพูดภาษาไทยให้เป็นสำเนียงอเมริกันอิงลิช
              ตัวอย่างภาษาดีเจวิทยุในบ้านเรา คงจะเห็นชัดคำว่า in a part of ซึ่งแปลว่าในส่วนของ จริงหรือไม่ ที่นักวิชาการเขากล่าวกันว่า "ชาติจะคงอยู่ไม่ได้ถ้าไร้ซึ่งวัฒนธรรม" ?
      ตอบ :  ชาติจะคงอยู่ได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ที่วัฒนธรรม แต่อยู่ในจิตสำนึกของคนในชาติที่มีส่วนร่วมกัน ว่าจะรักษาความเป็นชาติของเราอยู่อย่างไร
              ส่วนเรื่องที่จะเป็นสำเนียงบริติช หรือสำเนียงอเมริกันไม่สำคัญเท่าไรหรอก ปัจจุบันนี้คนไทยไม่นิยมศึกษาที่อังกฤษเหมือนสมัยก่อนแล้ว อาตมาเรียนสำเนียงบริติช พอไปพูดกับเขา ๆ ไม่ค่อยเข้าใจ เราก็ต้องบ้าไปตามสไตล์อเมิรกันเขาถึงจะได้
              คราวนี้เรื่องของภาษาบางอย่างจำเป็นอย่างคุณว่า จริง ๆ สมัยนี้เราใช้คำว่า software ให้ความรู้สึกเข้าใจและครอบคลุมได้หมดเลย แต่ภาษาไทยราชบัณฑิตบัญญัติว่า ละมุนภัณฑ์ ฟังแล้วจะบ้า...! แล้ว mouse ตัวควบคุมคอมพิวเตอร์ คือสมองกล รู้ไหมว่าราชบัณฑิตบัญญัติว่าอะไร ? เขาบัญญัติว่า หนูกล ฟังแล้วประสาทกลับไปเลย ตกลงจะใช้ภาษาอะไรที่สามารถครอบคลุมลักษณะว่าอธิบายความที่แท้จริงได้ ก็ต้องใช้ภาษาทับศัพท์ของเขา
              แต่จริง ๆ รากฐานภาษาของเรามีอยู่แล้ว ถึงเราจะคล้อยตามเขาไป แต่ถ้าจิตสำนึกของคนในชาติเรายังมีจิตสำนึกที่ดีอยู่ ยังรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร สมควรจะปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร สมควรจะปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์อย่างไร สมควรจะปฏิบัติต่อผู้ใหญ่อย่างไร สมควรทำตนเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติอย่างไร ถ้าทำอย่างนั้นได้ ต่อให้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติแทนภาษาไทยก็ไม่เจ๊งหรอก ชาติไทยน่ะ
      ถาม :  กิจกรรมงานลอยกระทง พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กล่าวว่า เมื่อถึงงานลอยกระทงให้เรานึกถึงว่า หากเราได้ขี้รดตดใต้น้ำ ก็กราบขอขมาด้วย การขอขมานี้ ที่ถูกต้องเราขอขมาผู้ใดครับ ?
      ตอบ :  ให้ตั้งใจขอขมาต่อพระรัตนตรัย ขอขมาต่อพรหมเทวดา ตลอดจนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหมด หมดเรื่องไป เหมาโหลเอาให้เยอะเอา เอาให้สูงไว้ใช้ได้ จริง ๆ แล้วแม่พระคงคา แม่พระธรณีทั้งหลายทั้งปวง บรรดาแม่ ๆ นั่นมีจริงนะ คือในเมื่อคนเราคิดว่ามีเทวดารักษา ตั้งใจบูชาเทวดานั้น ๆ เลยเดือดร้อนเทวดาที่แท้จริง เขาต้องหาท่านที่มีบารมีใกล้เคียงแบบนั้น มีความสามารถใกล้เคียงแบบนั้นมารับหน้าที่ไป ดังนั้นถึงเวลาเราก็ตั้งใจขอขมาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พรหมเทวดามีแม่พระคงคาเป็นที่สุดอะไรก็ว่าไป
      ถาม :  เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนทนาธรรมกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ความว่า "เมื่ออยู่คนเดียว ให้ทำความรู้สึกเหมือนอยู่หลายคน เมื่ออยู่หลายคน ให้ทำความรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว" การทำสมาธิดังกล่าว อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ของฌาน ๒ หรือเป็นของฌาน ๔ ครับ ?
      ตอบ :  ลักษณะอย่างนั้นเป็นการทรงสติให้ตั้งมั่นเอาไว้ มีความระมัดระวังอยู่เสมอ เกรงกลัวว่าจะทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง ดังนั้นถ้าเราอยู่คนเดียว ให้รู้สึกกลัวความผิดกลัวความชั่วเหมือนกับอยู่ในท่ามกลางคนหมู่มาก เดี๋ยวเขาจะรู้ว่าเราทำผิดทำชั่ว แต่ถ้าอยู่ในท่ามกลางคนหมู่มาก ให้รักษาความสงบของจิตใจเอาไว้ ให้นิ่งให้สงบเหมือนกับอยู่ตัวคนเดียว
              ลักษณะอย่างนั้นจริง ๆ ต้องเป็นฌานใช้งานอย่างน้อย ๆ ระดับปฐมฌานละเอียดขึ้นไปถึงทำได้ อย่างน้อยนะ ต้องเป็นปฐมฌานละเอียดขึ้นไป กำลังใจถึงจะทรงตัวระดับนั้นได้ ปฐมฌานหยาบอยู่ทำอะไรไม่ได้หรอกจะป๊อกเงียบท่าเดียว
      ถาม :  เรื่องของการอ่าน เรื่องนี้นักวิชาการหลายท่านเขาให้ทฤษฎีของการรักการอ่านว่า ให้คนรักการอ่าน อ่านอะไรก็ได้ หนังสืออะไรก็ได้ บางท่านเขาก็บอกว่า การอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง ทำให้เขาถึงจินตนาการถึงตัวตนของผู้แต่งได้ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ก็ให้อ่านทุกหน้าทุกคอลัมน์ รวมความว่าการอ่านเราต้องเลือกหรือไม่ ?
      ตอบ :  ต้องเลือก แรก ๆ ต้องเอาที่เราชอบก่อน บางคนชอบอ่านกำลังภายในก็ต้องกำลังภายใน ชอบอ่านการ์ตูนก็ต้องการ์ตูน เอาวิชาการมาให้อ่านก็สลบพอดี แต่เรื่องของหนังสือสมควรที่ทุกคนต้องอ่านและค้นคว้าให้มากไว้ นักปฏิบัติถ้าหากว่าได้ค้นคว้าในหนังสือธรรมะต่าง ๆ ก็จะเกิดความรู้แตกฉานขึ้น เพราะว่าบางท่านอธิบายมาอาจจะไม่ตรงกับความรู้สึกของเราที่แท้จริง พอไปเจออีกท่านหนึ่งก็ไม่ตรงที่แท้จริง แต่เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง พอมาสองแง่มุมรวมกันอาจจะตรงกับความรู้สึกของเราเข้าพอดีอย่างนี้เป็นต้น ขณะเดียวกันถ้าเป็นหนังสือทั่ว ๆ ไป บางคนใช้เวลาและประสบการณ์ทั้งชีวิต เพื่อเขียนหนังสือเล่มนั้นขึ้นมา เราใช้เวลาอ่านไม่นานเราก็รู้เท่าเขาแล้ว
              เพราะฉะนั้น...แทนที่จะต้องไปลำบากตรากตรำสั่งสมประสบการณ์เป็นเวลา ๕ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี เราอาจจะใช้เวลาอ่านแค่ครึ่งวัน หนึ่งวัน สองวัน เรารู้เท่ากับคน ๆ นั้น เพราะฉะนั้น..ไม่ว่าจะหนังสือตำรับตำราอะไรอ่านให้มากเข้าไว้ พระพุทธเจ้าท่านก็สนับสนุน ท่านใช้คำว่า พหูสูตร คือฟังมามากเก็บเอาไปใช้ประโยชน์ได้มาก แต่ว่าสมัยนี้ไม่ใช่สุตตัง คือการฟังแบบนั้นแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการค้นคว้าด้วยการอ่าน ด้วยการหาจากคอมพิวเตอร์ อย่างนี้ก็จำเป็นที่จะศึกษาให้มากเข้าไว้ โลกก้าวหน้าเข้าไปทุกที ๆ ถ้าเราไม่ศึกษาหาความรู้ใส่ตัว ย่ำเท้าอยู่กับที่ ก็เท่ากับถอยหลังนั่นแหละ
      ถาม :  เวลาไปไหนมาไหนคนมักจะทักทายและถามผมว่า "เรียนจบหรือยัง ?" "ทำงานหรือยัง ?" ซึ่งจริง ๆ ผมอายุสามสิบแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไรมุมมองการชื่นชอบดาราสวยหล่อ ทำอะไรก็ถูกไปหมด ผมพยายามหาคำตอบอยู่นานก็ไม่ทราบ ก็คิดเอาเองว่าเกิดจากความเชื่อว่าเขาเหล่านั้น ทำบุญมามาก จึงได้เป็นคนหล่อ สวย และรวย จึงบังเกิดความชื่นชอบเป็นพิเศษว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนที่เคยได้สร้างผลความดีมาแต่ชาติก่อน ซึ่งนั่นก็ไม่ผิด แต่ก็มีเรื่องน่าคิดว่า พระสามเณรอรหันต์ที่มีอายุเพียง ๗ ปี และเป็นพระอาจารย์ของผู้สูงวัย ซึ่งได้ฉายาว่าท่านขรัวใบลานเปล่าในขณะนั้น เรื่องของการดูคนหรือนับถือคน เขาดูคนจากรูปร่างหน้าตาหรือดูจากอะไรดีครับ ?
      ตอบ :  อันดับแรกวัยวุฒิ อันดับที่สองคุณวุฒิ อันดับที่สามความประพฤติที่แสดงออก คราวนี้ความประพฤติที่แสดงออกนี่ ต้องดูว่าเขามีทาน มีศีล มีภาวนาไหม โดยเฉพาะปัจจุบันต้องวัดกันตรงศีล เรื่องของทานกับภาวนาวัดกันไม่ได้ เพราะว่าภาวนาถ้าหากว่าไม่ใช่คนที่มีทิพจักขุญาณจริง ๆ ก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรได้ขั้นไหน เรื่องของทานก็มีการทำบุญเอาหน้ากัน เลยมีทั้งทำบุญเอาหน้า ภาวนากันตาย
              เพราะฉะนั้น...ต้องดูตรงศีล มีโอกาสที่จะล่วงละเมิด แต่ว่าเขาพยายามที่จะระงับจิตระงับใจไม่ละเมิด เพราะตัวเองเป็นผู้ทรงศีลหรือเปล่า เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่าจะเคารพนับถือกัน ก็ดูที่วัยวุฒิ คือประกอบไปด้วยอายุ คุณวุฒิ คือความรู้ แล้วก็มาความประพฤติที่ตนมีทาน มีศีล มีภาวนาเป็นปกติหรือไม่ ส่วนเรื่องของรูปร่างหน้าตา สวยไม่สวย หล่อไม่หล่อนั้น เกิดจากบุญในอดีตที่ทำจริง ๆ คนที่เกิดมารูปร่างหน้าตาสวยงาม แปลว่าในอดีตของตัวเองมีศีล มีพรหมวิหารเป็นปกติ เกิดมาร่ำรวย แปลว่าเป็นผู้ที่มีทานเป็นปกติ เกิดมามีปัญญา แสดงว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติภาวนาเป็นปกติ หรือว่าได้ทำในสิ่งที่เป็นธรรมทาน
      ถาม :  คุณยายท่านหนึ่งได้ถ่ายทอดการปฏิบัติของท่านตอนหนึ่ง หลังจากการเจริญในพุทธานุสติ และต่อมาปรากฏเป็นภาพของร่างกาย และโครงกระดูกในอิริยาบถต่าง ๆ อารมณ์ที่ว่านั้นเป็นอารมณ์ของอะไร และจัดเป็นฌานใดหรือไม่ ?
      ตอบ :  จะเป็นอารมณ์อัฏฐิกัง ปฏิกุลังของอสุภกรรมฐาน คือการพิจารณากระดูกเป็นปกติ ถ้าเห็นได้ขนาดนั้นต้องเป็นอารมณ์ของฌาน ๔ แล้วจะเห็นภาพได้ชัดเจนแจ่มใสมาก นึกเมื่อไรก็มาเมื่อนั้น ต้องการให้ไปก็ไปต้องการให้ใหญ่ก็ใหญ่ ต้องการให้เล็กก็เล็ก อันนั้นแสดงว่าของเก่าเขาเยอะมาก พอทำไปถึงของเก่าตีคืนมาเอง
      ถาม :  เมื่อครั้งที่พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาเกิดอาการประชวร และเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาถึง และใช้พระหัตถ์แตะที่หน้าผากจนพระพุทธบิดาเกิดปีติ บรรเทาทุกขเวทนา สิ่งนั้นสามารถจะทำได้เพียงพระองค์เดียวหรือไม่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งผู้ที่เจริญฌานสมาบัติ จะสามารถมีร่างกายอันศักดิ์สิทธิ์ในบางประการได้หรือไม่ ?
      ตอบ :  ได้อยู่ แต่สำคัญอยู่ที่คนรับ ๆ ได้ไหม ครั้งนั้นไม่ใช่แค่พระพุทธเจ้านะ พระอานนท์อยู่ข้างขวา พระอนุรุทธอยู่ข้างซ้าย พระราหุลอยู่ข้างหลัง พระพุทธเจ้าวางพระหัตถ์ลงบนพระเศียร อาการเวทนาเจ็บปวดที่เบื้องบนก็สิ้นสุดลง พระอานนท์กับพระอนุรุทธจับพระหัตถ์ซ้ายขวา อาการเจ็บป่วยด้านซ้ายด้านขวาก็หมดลง พระราหุลท่านลูบพระปฤษฎางค์ คือลูบหลังให้ อาการเวทนาที่เกิดขึ้นเบื้องหลังก็หายไป จริง ๆ คือว่าลักษณะเหมือนกับคนแก่ ลูกหลานมาก็ดีใจ และยิ่งลูกหลานที่ทรงความบริสุทธิ์ล้วน ๆ อย่างนั้นด้วยแล้ว จิตท่านเปิดรับความดีของลูกหลานอยู่แล้ว ยินดีกับลูกหลานอยู่แล้ว เมื่อท่านที่ทรงความดีขนาดนั้นแตะ ก็ต้องมีพลังงานส่วนหนึ่งเคลื่อนเข้าไป แต่เข้าไปในลักษณะที่ว่าในเมื่อจิตรับเอาความปีติยินดีเข้าไปแทนเวทนา คืออาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ สภาพจิตจะเสวยอารมณ์รับเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นแหละ รับหลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ คนกำลังร้องไห้อยู่จะให้หัวเราะดีใจก็ไม่ได้ ในเมื่อท่านรับเอาอารมณ์ของความปีติยินดีเข้าไปแทน อาการเวทนาก็ถอยไปอยู่ไม่ได้โดนไล่ไปแล้ว แขกคนใหม่มาก็ไล่คนเก่าออกไปก่อน
      ถาม :  พระนางพิมพาท่านได้ตามโมทนาความดีจากเจ้าชายสิทธัตถะมาทุกชาติ เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าพระนิพพาน ท่านก็บรรลุธรรมและเข้าสู่พระนิพพานเช่นเดียวกัน การโมทนาความดีมีผลเหมือนกับเราทำเองหรือไม่ ?
      ตอบ :  ถ้าพูดถึงผลลัพธ์ได้เท่ากัน แต่ว่าได้ทีหลังตราบใดที่ผลนั้นยังไม่บังเกิดกับคนทำก่อน ตราบนั้นคนโมทนาจะยังไม่ได้ผลนั้น ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่เป็นพุทธเจ้าเข้าพระนิพพานตราบใด พระนางพิมพาก็เข้านิพพานไม่ได้ตราบนั้น เพราะฉะนั้น...ถ้าถามว่าเหมือนไหมผลน่ะเหมือนแต่ได้ทีหลัง
              เพราะฉะนั้น...เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงก็ควรจะทำเองบ้าง แต่รายนั้นท่านเป็นคู่บารมีกันจริง ๆ พลอยยินดีมาด้วยตลอดทุกชาติ ไม่ว่าจะทำอะไรไม่เคยค้าน ทราบว่าพระพุุทธเจ้าโกนพระเศียร ท่านก็โกนบ้าง ทราบว่าพระพุทธเจ้านุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ท่านก็นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดบ้าง ทราบว่าพระพุทธเจ้าไม่แต่งองค์ทรงเครื่องประดับตกแต่งด้วยเครื่องหอม เครื่องย้อมเครื่องทา ท่านก็ทิ้งหมด ทราบว่าไม่นอนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ ท่านก็เอาอย่างบ้าง ทำตามหมดทุกอย่าง ถ้าจิตไม่ยินดีจริง ๆ ทำไม่ได้หรอก นั่นเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดของปัตตานุโมทนามัย พอมาวาระสุดท้าย พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า ท่านเองท่านก็เป็นพระเถรีอรหันต์เหมือนกัน
      ถาม :  จริงหรือไม่ที่คนเขาบอกกันว่า "ถ้าสวมพระห้อยคอเป็นจำนวนเลขคู่ แล้วพระจะตีกัน ?"
      ตอบ :  ไม่จริงหรอกจ้ะ พระ แปลว่าผู้ประเสริฐ คนที่ทรงความดีขนาดที่เขายกย่องว่าประเสริฐ จะไปทะเลาะกับใคร เอากิเลสตัวเองไปปนกับพระ แล้วก็คิดว่าพระเหมือนกับมัน มันคิดว่า "เออ...ถ้าไปหลายคนต้องทะเลาะกันแน่ ต้องกัดกันแน่" มันก็เลยคิดว่าพระเป็นอย่างนั้นด้วย