สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ................................
      ตอบ :  คือเริ่มเห็นความไร้สาระ ความไม่มีแก่นสารของทุกสิ่งทุกอย่างคิดอยู่อย่างเดียวก็คือว่า อยากจะอยู่กับความสงบที่มีความสุขมากกว่า เวลาต้องไปกระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ ก็เลยเบื่อ ตัวเบื่อไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ดีขอให้เบื่อจริง ๆ เท่านั้น รักษาอารมณ์เบื่อนั้นเอาไว้ พยายามพิจารณาให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วการเกิดมาก็เป็นอย่างนี้แหละ มีแต่สภาพที่น่าเบื่อหน่าย ถ้าเราต้องทนอยู่กันต่อไปอีกนับชาติไม่ถ้วน ก็จะมีแต่ความเบื่อความทุกข์อย่างนี้
      ถาม :  อย่างนี้ไม่ทำให้จิตใจหดหู่หรือคะ ?
      ตอบ :  คล้าย ๆ กับจะมีจิตใจหดหู่ แต่ว่าพอเราพิจารณาต่อไปว่า ในเมื่อถ้าเราต้องกาจะตัดการเกิด เราไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดนับกัปไม่ถ้วนกับการมีชีวิตอยู่ไม่เกินร้อยปีแล้วตายลงไป แล้วไปนิพพาน ก็แค่แป๊บเดียว แค่แป๊บเดียวแค่นี้ทำไมเราจะอยู่กับอย่างมีความสุขไม่ได้ เราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำวันนี้ของเราให้ดีที่สุด พอจิตใจปล่อยวางเห็นธรรมดาปั๊บจะก้าวข้ามไปเป็นสังขารุเปกขาญาณ คราวนี้อะไรเกิดขึ้นก็ไม่แบกไว้แล้ว เห็นว่า เออ..ธรรมดาช่างมัน เห็นอะไรก็เออ...ธรรมดาช่างมัน พอไม่แบกมันปล่อยมันลง สบายอยู่อย่างไรก็อยู่ได้ ไม่ได้อยากตาย ตอนเบื่อนี่อาจจะอยากตาย แต่อันนี้ไม่ได้อยากตายแล้วก็พร้อมที่จะตาย อารมณ์ใจจะอยู่อย่างว่า เออ..อยู่เราได้สร้างบุญสร้างบารมี ตายก็ดี ตายเราก็ไปพระนิพพาน จะเหลือแค่นั้น เราก็พยายามทำแต่ละวันให้ดีที่สุด ไม่ได้คิดถึงวันถัดไป เราเอาแค่เฉพาะหน้าเท่านั้น อยากตายยังใช้ไม่ได้ ใจหมองจะเหลือแค่ว่าพร้อมที่จะตาย
      ถาม :  ...........................
      ตอบ :  เรื่องของคำภาวนา เราจะใช้บทไหนก็ได้ อยู่ที่เราชอบ อยู่ที่เราถนัดจริง ๆ แล้วสำคัญอยู่ที่ใจของเราเรื่องของคาถาหรือคำภาวนา ถ้าใจเป็นสมาธิ คิดจะให้เป็นอย่างไรเป็นได้ทุกอย่างเลย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้บทนั้น เปลี่ยนไปใช้บทนี้
      ถาม :  อย่างดิฉันชอบ อิติปิโส ล่ะคะ ?
      ตอบ :  ชอบอิติปิโส เราก็เกาอิติปิโสของเราไปเลย เพราะว่าเราจะถนัดและก็ชำนาญที่สุด ส่วนว่าที่เขาบอกอันนั้นดีอย่างนั้นจะได้ผลอย่างนั้น อันนี้ดีจะได้ผลอย่างนี้ ถ้าหากว่าจิตเป็นสมาธิ อิติปิโสเราคิดจะให้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทำไปเถอะ
      ถาม :  ลูกประคำที่ได้มา ถ้าเราไปแกะและเติมได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  จะแกะจะเติมจะตัดจะต่ออย่างไร เชิญจ้ะ พวงยาวไปจะให้สั้น ๆ เหลือแค่มือถือก็ได้
      ถาม :  ถ้าสมมติว่าภาวนาถึง ๕๖ แล้วจะเอาอะไรมาคั่นเอาไว้เพื่อจะได้รู้ได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ได้จ้ะ บอกแล้วว่าตัดได้ต่อได้จ้ะ อนุญาตจ้ะ
      ถาม :  .....................
      ตอบ :  ลักษณะของการสงสัยแบบที่เป็นวิจิกิจฉา คือสงสัยว่าทำแล้วจะได้ผลจริงไหมแต่ถ้าเราทำได้ผลแค่ขั้นแรก จะหมดความสงสัย ข้อที่ว่าสงสัยจริง ๆ แค่ลังเลนิดหน่อยเท่านั้นเอง ถ้าหากว่าสงสัยอยู่ไม่ตะกายมาขนาดนี้หรอก
              เพราะฉะนั้น...จริง ๆ ถ้าระดับอย่างพวกเรา ตัววิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยแทบจะไม่มี ทุ่มเททำให้ขนาดนี้ สงสัยอยู่จะทำไปทำเกลืออะไร ก็เหลือแค่ว่าปรับปรุงกาย วาจา ใจ ของเราให้เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง ๆ ถ้าหากว่ามีการล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ โดยไม่เจตนาหรืออะไรก็ตาม ให้ขอขมาเป็นปกติ ตั้งกำลังใจไว้เสมอว่าตายแล้วเราจะไปนิพพาน เหลืองานอยู่แค่นี้แหละ
      ถาม :  .............................
      ตอบ :  ตรงนั้นไม่ใช่สงสัยหรอก ลักษณะนั้นจำเป็น จำเป็นที่จะต้องคอยคิดคอยทบทวนอยู่เสมอ ว่าสิ่งที่เราทำไปถึงไหนแล้ว ไม่ใช่ตัวลังเลสงสัย ลังเลสงสัยจะไม่ค่อยอยากจะทำ เพราะไม่มั่นใจ ตัวนั้นขาดศรัทธาความเชื่อ ภาษาพระความเลื่อมใสยังมีไม่จริง พอมีไม่จริงก็เลยยังไม่ได้ตั้งใจทำให้จริง วิจิกิจฉาที่สงสัยเพราะขาดความมั่นใจ ขาดความศรัทธา
      ถาม :  .............................
      ตอบ :  ทำให้สม่ำเสมอ ทำ ๆ ทิ้ง ๆ ไม่ได้เรื่อง พอทำ ๆ ทิ้ง ๆ พอกำลังใจตกแล้วเราจะหมดกำลังใจ ทำแล้วดีก็ควบยาวไปเลยเป็นไหม ส่วนใหญ่ของเราเคยเปรียบว่า เหมือนกับขุดบ่อน้ำ ถึงเวลาขุด ๆ ไปจะถึงน้ำแล้วก็เลิก เลิกเสร็จแล้วเดี๋ยวก็ไปขุดที่ใหม่ ขุด ๆ อ้าวเลิก เลิกเสร็จแล้วเดี๋ยวก็ไปขุดที่ใหม่ ขุด ๆ ไปอีกหน่อยอ้าวเลิก ไปขุดที่ใหม่ ขุด ๆ ก็เลิกได้ง่ายอยู่ทุกบ่อ แต่ผลงานไม่มี เพราะฉะนั้น....ทำให้สม่ำเสมอต่อเนื่องกัน ถ้าเปิดโอกาสให้กิเลสตีกลับทีหนึ่ง เราก็รู้ว่าสาหัสแค่ไหน เพราะฉะนั้น...อย่าเปิดโอกาสให้มันอีก เปิดโอกาสให้มันเมื่อไรงานเรายากทันที...!
      ถาม :  การเปิดโอกาสหมายความว่าอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  คุณเคยกำลังใจตกไหมล่ะ ? กว่าจะงัดคืนง่ายไหม ? เออ...มันตีแทบตายเพราะว่าเก็บกดอยู่
      ถาม :  จริง ๆ แล้วเราต้องหมั่นทบทวนอยู่เสมอใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ทำให้ต่อเนื่อง ตัวทบทวนต้องทบทวนอยู่แล้ว ว่าตอนนี้เราทำไปถึงไหน ตรงตามจุดมุ่งหมายของเราไหม มีความก้าวหน้ามีความถอยหลังอย่างไร ถูกผิดอย่างไร ต้องทบทวนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าปฏิบัติถูกแล้ว ต้องรีบย่ำต่อยาวไปเลยให้ต่อเนื่องตามกันทุกลมหายใจเข้า-ออก ไม่ละเว้นได้ยิ่งดี
      ถาม :  ถ้าพิจารณาเรื่องศีล สีลานุสติทรงฌานอย่างนี้ จะเป็นอารมณ์ลักษณะไหนครับ ?
      ตอบ :  อารมณ์ลักษณะแบบไหน ก็อารมณ์ฌานสิ ขยับตัวรู้แล้วว่าศีลจะบกพร่องหรือไม่ นั่นแหละอารมณ์ของสีลานุสติที่ทรงเป็นฌาน จะมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ แค่ขยับปุ๊บ รู้แล้วศีลจะขาดไหม ก็ระมัดระวังศีลไม่ให้บกพร่อง ถ้าหากว่าจะทำอย่างนั้นได้ ก็พิจารณาใคร่คราวญศีลทุกข้อ จนกระทั่งมั่นใจว่าตอนนี้ศีลเราบริสุทธิ์แน่นอนแล้ว ก็ภาวนาต่อไปให้เป็นฌานไปเลย แล้วก็รักษาอารมณ์ฌานนั้นเอาไว้ ก็เท่ากับเราทรงสีลานุสติตลอด ตราบใดที่ยังไม่หลุดจากการภาวนา ไม่หลุดจากการระมัดระวังในสิกขาบท ตราบนั้นยังเป็นสีลานุสติอยู่
      ถาม :  แล้วการปฏิบัติจะต้องตรงอย่างนี้ใช่ไหมครับ เมื่อครู่บอกว่า สีลัพพตปรามาส ตรงจุดนั้นคือต้องเป็นขั้นถัดขึ้นไปหรือครับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ เป็นอธิศีลอยู่แล้ว คำว่า สีลัพพตปรามาสอยู่ในลักษณะว่า ทำ ๆทิ้ง ๆ ไม่จริงไม่จังคำว่าปรามาสแปลว่า ลูบคลำ ยังไม่เอาจริง ในเมื่อทำก็ทำให้จริงจัง ระมัดระวังไม่ล่วงศีลด้วยตัวเองไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทำ ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นทำ พอศีลทรงตัว สมาธิก็ตั้งมั่นได้ง่าย พอสมาธิตั้งมั่นปัญญาก็เกิด เมื่อปัญญาเกิดจะไปคุมศีลให้บริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง ศีลยิ่งบริสุทธิ์ สมาธิยิ่งตั้งมั่นสมาธิยิ่งตั้งมั่นปัญญายิ่งเกิดปัญญายิ่งเกิดไปควบคุมศีล เหมือนกับไขน็อตไปเรื่อย เดี๋ยวก็สุดเกลียวของมันเอง
      ถาม :  เพราะฉะนั้น...การที่เราทำสมาธิแล้วจิตใจเราฟุ้งซ่านก็เป็นเพราะศีลเราบกพร่องใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าศีลบกพร่องสมาธิจะหมอง โดยเฉพาะพวกได้มโนมยิทธิ สังเกตได้ชัดเลย จะมัวไปถนัดเลยไม่ชัดเจนแจ่มใสเหมือนปกติ
      ถาม :  ................
      ตอบ :  เรื่องของพระพุทธรูปถ้าเกิดเป็นเทวดาจะมีรัศมีกายสว่างมาก เทวดาเขาวัดกันด้วยรัศมีกายใครสว่างกว่า คือศักดานุภาพสูงกว่า กำลังบุญสูงกว่าการถวายสังฆทานเขาจำกัดว่า พระพุทธรูปอย่างต่ำที่สุดหน้าตักต้องไม่ต่ำกว่า ๔ นิ้ว จะใหญ่เท่าไหร่ก็ได้ คราวนี้ที่ผีเขาขอไว้ ส่วนใหญ่จะขอให้มีพระพุทธรูป ขอให้มีผ้าอย่างน้อยกว้างคืบยาวคืบขึ้นไปผ้ากว้างคืบยาวคืบขึ้นไปนี่เขาเรียกว่า จีวร แล้วขอให้มีอาหาร เป็นอาหารสดหรืออาหารแห้งก็ได้ คือถ้าหากว่ามีอาหารนี่เขาจะมีร่างกายเป็นทิพย์จะไม่หิวอีก ถ้าหากว่ามีผ้าจะมีเครื่องประดับเป็นทิพย์ เสร็จแล้วจะมีพระพุทธรูปจะมีรัศมีกายสว่างมาก ผีกี่ตัว ๆ ขอมาประเภทลงรอยเดียวกันหมด เลยต้องมีกาจัดขึ้นมาอยู่ลักษณะที่ว่าให้มีผ้าไตรมีพระพุทธรูป แล้วก็มีอาหาร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารแห้ง เสร็จแล้วที่เห็นมีร่มมีรองเท้าอะไรด้วยกัน นั่นหลวงปู่มหาอำพันท่านชอบท่านอ่านธรรมบท ในธรรมบทจะมีที่ว่า ยักษ์ตนหนึ่งได้รับพระจากท้าวเวสสุวรรณว่า มนุษย์หรือสัตว์ก็ตาม ถ้าล่วงล้ำมาบริเวณต้นไทรของเขา ก้าวเข้ามาในร่มเงาของต้นไทรเมื่อไร เขามีสิทธิ์จับกินได้
              คราวนี้ต้นไทรต้นนั้นอยู่ระหว่างกลางพอดี จะต้องเป็นทางเดินระหว่างเมืองหนึ่งไปถึงอีกเมืองหนึ่ง จะเป็นจุดตัดพอดี ใคร ๆ ก็มักจะเป๋ไปให้มันกินอยู่เรื่อย จนเดือดร้อนมาก พระราชาก็ส่งกองทหารไปปราบก็ปราบไม่ไหวสู้ยักษ์ไม่ได้ เลยประกาศอาสาว่า ถ้าหากว่าใครสามารถปราบยักษ์ได้ จะแบ่งสมบัติให้กึ่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ พอได้ยินแล้วไม่ได้อยากได้สมบัติหรอก แต่สงสารชาวบ้าน เขาเดือดร้อนก็จะไปปราบยักษ์ให้
              ท่านใส่รองเท้าแล้วก็กางร่มไป ไปถึงยักษ์โผล่มาจะจับกิน ท่านถามว่า "เอาสิทธิ์อะไรมาจับกิน ?" เขาบอกว่า "เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเขาแล้ว เขามีสิทธิ์จับกินได้" "อยู่บนพื้นที่แกเสียเมื่อไร ข้ายืนอยู่บนรองเท้า" "ถ้าอยู่ในร่มเงาต้นไทร ข้าก็กินแกได้" "นี่ถือร่มมา ไม่ใช่ร่มเงาของแกเสียหน่อย" ยักษ์เห็นมีปัญญาก็เลยยอม เขาบอก "เขาไม่อยากทำความเดือดร้อนให้หรอก เป็นยักษ์ต้องกินสัตว์ กินคนเป็นปกติอยู่แล้ว จะทำอย่างไร ? " ท่านบอกว่า "ถ้าแกตั้งใจสมาทานศีล ๕ ข้ารับรองว่าหาอาหารให้แกกินได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องเดือดร้อนอย่างนี้" ยักษ์ก็ตกลงสมาทานศีล ๕ พระโพธิสัตว์เลยพาไปหาพระราชา ตอนไปนี่แตกตื่นกันทั้งเมืองเลย พระโพธิสัตว์ท่านห้ามไว้ บอก "ไม่ต้องหนีหรอก ตอนนี้ยักษ์เป็นผู้มีศีลแล้ว" ที่พาไปหาพระราชาเพราะจะถามว่าถ้าหากว่ายักษ์ทำหน้าที่แทนทหารสักกองทัพหนึ่งนี่จะเลี้ยงยักษ์ไหม พระราชาตกลงเลี้ยง งบประมาณทหารเอามาเลี้ยงยักษ์นี่เรื่องเล็ก ยักษ์เลยไปเฝ้าประตูเมืองให้ คราวนี้กองทัพใครมาพ่อกวาดเรียบทะลึ่งเข้ามาเดี๋ยวก็จับกินเสียหรอก ใครจะกล้าล่ะ ? ก็กลายเป็นว่าดีทั้งสองฝ่าย คือยักษ์ไม่ต้องไปทำความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน พระราชาก็ส่งอาหารไปเลี้ยงเป็นปกติอยู่แล้ว เรื่องก็จบลงด้วยดี
              หลวงปู่ท่านแปลธรรมบทตรงนี้ ท่านก็ชอบใจว่า "เออ...รองเท้ากับร่มนี่มีอานิสงส์ป้องกันอันตรายได้อย่างนี้" ถึงเวลาจัดสังฆทานหลวงปู่ท่านก็เอาร่มกับรองเท้าใส่ไปด้วย พวกเราก็ใส่ไปด้วย บางคนชอบโน่นชอบนี่ก็ใส่ไปเรื่อย แต่ของหลัก ๆ คือว่า พระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร กับอาหารนี่ต้องมี อย่างอื่นเกินมาไม่ว่ากัน
      ถาม :  แล้วอย่างผ้าไตรจีวร ต้องมีผ้าสังฆาฏิพร้อมใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ไม่จำเป็นจ้ะ เป็นผ้าอะไรก็ได้ กว้างคืบยาวคืบ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าจีวรอยู่แล้ว เพราะสมัยก่อน เขาเก็บเศษผ้ามาต่อ สมัยนี้ก็ยังต้องต่อทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เศษผ้าแล้ว แต่ว่าตามพุทธานุญาติ คือต้องเป็นผ้าต่อ เขาก็ตัดแล้วมาก็มาต่อ สมัยนี้ก็ยังต้องต่อ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เศษผ้าแล้ว กลายเป็นว่าเอาของใหม่มาต่อกัน
      ถาม :  ..........................
      ตอบ :  สมัยเด็ก ๆ กลัวเขาจะคิดว่าเด็ก ต้องบอกอายุให้เยอะ ๆ พอผู้ใหญ่แล้วกลัวเขาจะว่าแก่ ต้องบอกอายุให้น้อย ๆ (หัวเราะ) อันนี้เขาเรียกว่า วิภาวตัณหาคือตัวไม่อยาก แต่เป็นความอยาก ไม่อยากแก่ จริง ๆ แล้วอยากจะไม่แก่ ไม่อยากตาย คืออยากจะไม่ตาย เป็นตัวอยาก จริง ๆ คือเป็นตัณหาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นตัณหาที่อยู่ในลักษณะที่ว่ากลับข้างเท่านั้นเองคำพูเเหมือนจะไม่ใช่ แต่จริง ๆ คือใช่
      ถาม :  การถวายพระพุทธรูปมีอานิสงส์อย่างไร ?
      ตอบ :  อันดับแรกเป็นพุทธบูชาจ้ะ พุทธบูชา มหาเตชะวันโต ท่านบอก "บูชาพระพุทธเจ้า จะมีเดชมีอำนาจมาก" ก็หมายความว่า ถ้าเราต้องเกิดใหม่ในชาติใดก็ตาม จะไม่ตกต่ำ และโดยเฉพาะถ้าหากว่าเราตั้งใจจับภาพพระเป็นพุทธานุสติ จะเข้าถึงนิพพานได้ง่าย และอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้ายังไม่เข้าถึงพระนิพพานเพียงใด บุคคลที่ยึดพุทธานุสติอยู่ จะไม่เกิดนอกเขตพระพุทธศาสนา อย่างไร ๆ ก็จะเจอพระพุทธศาสนา
              ถ้าถามว่าอานิสงส์ขนาดไหน โบราณว่าฝอยท่วมหลังช้าง ประเภทเขียนบรรยายไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกระดาษกองท่วงหลังช้างแล้วยังบรรยายไม่หมดเลย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า "ต่อให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นมา ๒ องค์นั่งถามตอบกันถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้าว่ามีอย่างไรบ้าง จนสิ้นกัปยังตอบไม่หมดเลย"
              เพราะฉะนั้น...อานิสงส์มหาศาลเหลือเกิน หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว ท่านชอบใจมากตรงอรรถกถา ท่านบอกว่า "บุคคลสร้างพระพุทธรูปจะเล็กเท่าใบคา หรือใหญ่เท่าภูเขา อานิสงส์จะส่งผลให้อย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่สามารถที่จะมองได้ตลอดว่าไปถึงไหน" พูดง่าย ๆ คือว่าเข้านิพพานไปแล้ว ผลบุญยังเหลือเฟืออยู่เลย กินไม่ไหวใช้ไม่หมด
      ถาม :  แล้วอานิสงส์ทำบุญกฐินละครับ ?
      ตอบ :  อานิสงส์ของกฐินจริง ๆ ต้องรวยอย่างเดียว เพราะว่ากฐินนี่เป็นสังฆทานอยู่แล้ว แล้วเป็นสังฆทานจำกัดด้วยเวลา เพราะว่าปีหนึ่งมีโอกาสทำได้ภายในเดือนเดียว ก่อนก็ไม่ได้ หลังก็ไม่ได้ แล้วตัวกฐินถ้าหากว่าพระที่รับกฐินแล้ว มีอานิสงส์ผ่อนผันสิกขาบทได้หลายข้อศีลที่เคยรักษาก็งดเว้นได้ แต่เป็นข้องดเว้นที่ไม่ทำให้เสียหาย พระต้องเครียดต้องตึงมาตลอดพรรษาได้รับการผ่อนคลายด้วย และยังเป็นสังฆทานจำกัดเขตอีกต่างหาก สังฆทานนี่ทำให้รวยอยู่แล้วกฐินเลยยิ่งกลายเป็นอานิสงส์พิเศษ นอกจะจะรวยแล้ว ท่านบอกว่า "บุคคลที่ทำบุญกฐิน ถ้าเกิดใหม่จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ พ้นจากพระเจ้าจักรพรรดิมา จะเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ พ้นจากพระมหากษัตริย์มา จะเกิดเป็นมหาเศรษฐี ๕๐๐๐ ชาติ จากมหาเศรษฐีมา จะเกิดเป็นอนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ จนกระทั่งเข้าถึงนิพพานแล้วอานิสงส์ของกฐินก็ยังไม่หมด"
              แล้วท่านกล่าวว่า "ถ้าหากว่าจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นได้" อานิสงส์กฐินถวายแล้วอธิษฐานขอเกิดเป็นพระพุทธเจ้ายังได้เลย หลวงพ่อท่านให้สังเกตไว้ ใครมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพกฐิน ๓ ปีติดกัน จะมีความคล่องตัวในความเป็นอยู่มาก พูดง่าย ๆ คือว่ามีความคล่องตัวในการเงินเป็นพิเศษ ให้ลักษณะเราตั้งใจเป็นเจ้าภาพสิ หาผ้าไตรไปร่วมสักไตรหนึ่ง กฐินสำคัญตรงผ้าไตร เพราะว่าผ้าไตรคือผ้ากฐินที่เขาเอาไปกราน ถ้าหากเป็นจุลกฐินมีผืนใดผืนหนึ่งผืนเดียว ถ้าหากว่าเป็นมหากฐินมีครบไตรแต่ส่วนใหญ่ปัจจุบันนี้โยมมีฐานะทางการเงินดี เขามักจะถวายทั้งวัดเลยนั่นก็ยิ่งเป็นมหากฐินพิเศษไปใหญ่ ถวายองค์ละไตรไปเลยอย่างนั้น แต่ระยะหลังคนเขาไปติดเรื่องลาภยศเงินทองเสียมาก เลยไปเน้นว่าต้องมีปัจจัยเยอะ ๆ อะไรอย่างนี้ แต่ความจริงแล้วกฐินสำคัญที่สุดตรงผ้าไตรขอให้มีผ้าไตรเท่านั้นอย่างอื่นมีไม่มีไม่ว่า อานิสงส์ก็ได้แน่นอนอยู่แล้ว
      ถาม :  อย่างวัดนั้นพระมีอยู่ ๑๐ รูป ?
      ตอบ :  เราก็เอาไป ๑๐ ไตรเลย ถ้ามีความสามารถ ถ้าไม่มีเอาไปให้ได้ไตรหนึ่ง ถ้าไม่มีจริง ๆ ผืนเดียวก็ได้ อานิสงส์อยู่ที่ผ้าไตร อย่างอื่นเขาถือเป็นบริวารกฐินทั้งหมด เราก็ตั้งใจร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย แต่ว่าโยมก็ลองสังเกตดูว่า ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร ความเป็นอยู่ทุกอย่างจะคล่องตัวขึ้น ที่เคยสะดุดก็กลายเป็นง่าย อะไรที่เคยหาไม่ได้ ก็มักจะหาได้ง่ายขึ้นอะไรอย่างนี้ ฐานะการเงินก็จะมั่นคงขึ้น ครอบครัวจะมั่นคงขึ้น อันนี้เป็นผลพิเศษซึ่งไม่ได้มีบอกไว้ในตำรา แต่หลวงพ่อท่านช่างสังเกต ท่านสังเกตบ่อยแล้วท่านก็เลยยืนยันให้
      ถาม :  .........................
      ตอบ :  ถ้าเป็นวัตถุมงคล หรือว่าพระพุทธรูปยิ่งสร้างด้วยวัตถุมีค่ามากเท่าไร เทวดาที่รักษาต้องมีศักดานุภาพมากเท่านั้น พูดง่าย ๆ ว่าบังคับเลย คนดูแลจะต้องเก่งกว่าปกติ
      ถาม :  น้ำมันชาตรีทาแล้วเย็นถึงจะหาย ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเย็นหรือปกตินี่รักษาได้ แต่ถ้าร้อนไม่หายหรอก ไปหาวิธีอื่นแทนเถอะ ถ้าทาแล้วรู้สึกปกติหรือว่ารู้สึกเย็นนี่จะหาย แต่ถ้าทาแล้วร้อนอย่างไรก็ไม่ช่วยแล้วละจ้ะ ไปหาวิธีอื่น
      ถาม :  ......................
      ตอบ :  เราจะได้รู้ว่าบุคคลที่ไม่มีมานะเป็นอย่างไร แล้วอีกอย่างหนึ่งการปฏิบัติของท่านที่ติดอยู่จุดสุดท้ายหลวงพ่อเป็นผู้แคะท่านให้หลุดได้ ท่านก็ถือว่าเท่ากับเป็นผู้นำพาชีวิตของท่านให้พ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดอีก พระคุณขนาดนี้ทดแทนอย่างไรก็ไม่หมด อยากจะทำให้ยิ่งกว่านั้นเสียด้วยซ้ำถ้าทำได้
              เพราะฉะนั้น...ถึงเวลาวันเกิดหลวงพ่อแต่ละครั้ง หลวงปู่ก็จะไปถวายความเคารพ เอาน้ำอบน้ำหอมไปสรงเท้าล้างเท้า เช็ดเท้าให้หลวงพ่อ อายุท่านมากกว่าหลวงพ่อเป็นสิบ ๆ ปี พรรษาก็มากกว่าเป็นสิบ แต่ท่านถือว่าท่านเป็นลูกศิษย์ ทำถวายครูบาอาจารย์ คนไม่มีมานะเขาทำอย่างนั้น พวกเราทำได้ไหม ? จะทำความดี อาย อยู่กับหลวงปู่ท่านให้ไปกราบเท้าพ่อกราบเท้าแม่ก่อนนอนทุกคืน บอกลูกศิษย์ให้ทำ ลูกศิษย์บอกว่า "ทำไม่ได้หรอกครับ อาย...!" แต่อีตอนกินเหล้าไม่เห็นอาย (หัวเราะ) ทำความชั่วยังไม่อาย ทำความดีอายทำไม...!