ถาม: ลัทธิ Romanticlism หรือแนวคิดแบบอุดมคติ หรือความเพ้อฝันแนวคิดที่ว่าความรักคือสิ่งสวยงาม มาจากภาษาอังกฤษ Love is beautiful และการมีลูกเติมเต็มให้ชีวิตครอบครัว Fill แปลว่า เติม Full แปลว่า เต็ม รวมกันเป็น Fulfill เติมเต็ม ถ้าอะไรคิดว่าเป็นสิ่งสวยงามก็น่าจะเกิดความรัก ภาวะของการครอบงำผิดกับอารยธรรมต่างชาติที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของคน และการแตกสลายของความคิดในด้านต่าง ๆ ของความรักก็มีปรากฏอยู่มากในสังคมของเรา
๑. เหตุใดการที่เราทุ่มเททุกอย่างเพื่อความรักและการแต่งงานกัน จากนั้นก็มีลูกและต้องอดทนเลี้ยงดูลูก ดึก ๆ เที่ยงคืนตีหนึ่งตีสองต้องมาชงนมให้ลูก จากนั้นก็หาเงินส่งให้ลูกเรียนจนลูกโต เขาก็แต่งงานกันไป เหมือนที่เราเคยทำมา ด้วยเหตุนี้ เหตุใดท่านจึงกล่าวว่าลูกไม่ใช่ของเรา
๒. บรรดาทรัพย์สินบ้านรถยนต์ที่เราเคยฝันว่า เราจะร่วมกันสร้างอนาคตให้กับคราอบครัว ต้องผ่อนส่งจนหมด และโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน และมีชื่อเป็นของเรา เหตุใดจึงได้ชื่อว่าไม่ใช่ของเรา
๓. ตัวของเราที่เราเฝ้าถนอมให้เกิดความสวยงามด้วยความรัก และให้คู่ครองชื่นชมต่อการบำรุงทุกอย่าง เพื่อให้ร่างกายนี้คงอยู่ให้ครองรักจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร เหตุใดท่านจึงกล่าวว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา
ตอบ : สรุปว่าลูก โห...กว่าจะหาเมียได้หาผัวได้แทบแย่ แต่งงานขึ้นมามีลูกเลี้ยงดูจนกว่าจะใหญ่กว่าจะโต กว่าจะส่งเรียนจบลำบากลำบนแทบตาย อุตส่าห์มอบทรัพย์สมบัติมรดกให้ อะไร ๆ ก็ทุ่มเทให้ ทำไมลูกไม่ใช่ของเรา ทรัพย์สินทุกอย่างตะเกียกตะกายหามา บ้าน รถยนต์ ที่ดิน จดทะเบียนเป็นชื่อของเราแท้ ๆ ทำไมถึงไม่ใช่ของเรา สรุปสุดท้ายแล้วตัวของเรานี่ยังไม่ใช่ของเราอีก เป็นเพราะอะไร ?
เอาง่าย ๆ ว่า ถ้าเราตายลูกไปกับเราไหม ทรพัย์สินขนไปได้ไหม อันนี้จะบ่งชัดได้เลยว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา อย่างลูกนี่เกิดมาจากกรรมที่เนื่องกันมา เลยเกิดมาเป็นครอบครัวเดียวกัน ทรัพย์สินทั้งหลายที่เราอุตส่าห์ดิ้นรนหามา ก็เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวก อำนวยความสุขแค่ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไปคนละทิศคนละทาง ลูกอาจจะตายก่อนเรา เราอาจจะตายก่อนลูก ทรัพย์สินอาจจะพังไปก่อนที่เราจะสิ้นชีวิต หรือว่าเราสิ้นชีวิตก่อนที่ทรัพย์สินจะพัง สรุปมาตัวสุดท้ายตรงร่างกาย
ส่วนใหญ่ทุกคนไม่อยากตาย แต่เราบังคับบัญชามันไม่ได้ สิ่งไหนก็ตามที่บังคับบัญชามันไม่ได้ มันไม่ใช่ของเราแน่ ๆ อย่างเช่นว่า เราไม่อยากแก่มันก็แก่ ไม่อยากป่วยมันก็ป่วย ไม่อยากตายมันก็ตาย ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาเขาจึงเห็นได้ชัดว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จริง ๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเร าแม้กระทั่งร่างกายนี้เราก็ยืมโลกเขามาใช้ชั่วคราว ถึงเวลามันก็ตายกลับคืนเป็นของโลกไปตามเดิม
ส่วนที่บอกว่ารักใช่ไหม สิ่งที่สวยงามต่าง ๆ เห็นแล้วก็รัก อันนั้นถ้าเป็นักปฏิบัติถูกต้องแค่ครึ่งเดียว แสดงว่าสภาพจิตยังไม่กว้างขวางพอ ถ้าหากว่าตามแบบของนักปฏิบัติที่ดีที่ถูกต้อง เขาจะต้องมีอัปปมัญญา คือความไม่มีประมาณ เห็นว่าทั้งหมดล้วนแล้วไม่ว่าจะคนจะสัตว์ ก็คือเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายทั้งหมด ทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์ รักสวยงาม ชิงชังอัปลักษณ์ ต้องการความรวยไม่มีใครปรารถนาความจน ทุกคนปรารถนาแต่ในสิ่งที่ดี ๆ ทั้งนั้น ถ้าเราสามารถมอบสิ่งที่ดีให้เขาได้ บรรเทาความทุกข์ของเขาได้ เราก็ควรจะทำ ถ้าสามารถทำได้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังอย่างนี้ ถึงจะเป็นความรักที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากว่า เออ...สวยแล้วรัก ดีถึงจะรัก อย่างนี้ไม่ใช่ไม่ว่าจะดี จะสวย จะชั่ว จะเลว จะรวย จะจนอย่างไร ก็ตามจะต้องมีจิตหวังสงเคราะห์เขาอยู่เสมอ สงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ เขามีสุขก็ยินดี ช่วยเขาเต็มที่ ช่วยไม่ได้ก็ปล่อยวาง ไม่อย่างนั้นไม่ใช่รักที่แท้จริง
ถาม : ผมให้หมอดูลายมือของผม เขาบอกว่า “ดวงของผมเป็นดวงมฤตยู” ฟังดูแล้วก็น่ากลัว แต่หมอดูเขาอธิบายว่า มฤตยูเป็นอย่างไร และเขาบอวก่า “ดวงผมต้องทำธุรกิจมืดจึงจะดี” ผมก็เลยบอกว่า “ถ้าธุรกิจมืดก็ต้องเปิดไฟ...!” รวมความว่า การดูหมอดู เราควรจะยึดถือเป็นสรณะของชีวิตเลยจะดีหรือไม่ ?
ตอบ : ก็ไม่ดี เพราะว่าหมอดูนี่ ถ้าหากว่าดูทั่ว ๆ ไปตามตำรา จะเข้าถึงความเป็นจริงได้ประมาณ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าใช้ความเป็นทิพย์ประกอบอย่างเช่นว่า ใช้ทิพจักขุญาณที่เขาเรียกว่าตาในตาทิพย์ดู ก็ได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังมีส่วนผิดพลาดอย่างน้อย ๒๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ เกิดจากคนที่กำลังใจเข้มแข็งเกินไป คำว่าเข้มแข็งเกินไปก็คือ แข็งกว่าคนปกติ เขาเหล่านั้นมั่นคงในทาน ศีล ภาวนา ทำอยู่เป็นปกติ ไม่ว่าเรื่องของลายมือ เรื่องของดวง คือวันเดือนปีเกิด เกิดจากบุญกรรมเก่าที่เราทำมา ทางพราหมณ์เขาเก็บสถิติต่อเนื่องกันมาเป็นพัน ๆ ปี จนกระทั่งสรุปได้ว่า คนที่เกิดวันเดือนปีอย่างนี้ ๆ ถึงวาระนั้นเวลานั้น เรื่องต่าง ๆ อย่างนี้ดีหรือไม่ดีจะเกิดขึ้น อย่างนั้นเราสรุปได้ง่าย ๆว่า คนที่ทำบุญทำกรรมมาใกล้เคียงกัน วันเวลาการเกิดก็จะใกล้เคียงกัน จัดเป็นดวงขึ้นมาได้ แต่ถูกไม่หมด
ดังนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งมั่นใจว่าเราเป็นผู้ทาน มีศีล มีภาวนาเป็นปกติแล้ว เราอาจจะเป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์สุดท้าย ที่สามารถพลิกไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับดวงมากนัก แต่ว่าระยะแรกนี่ดวงมันเกี่ยว ถ้าเราสามารถก้าวข้ามตรงจุดนั้นไปได้ด้วยความเข้มแข็งของกำลังใจ กลายเป็นคนเหนือโลกนอกเหตุเหนือผลไปแล้ว เรื่องแบบนี้ใช้ไม่ได้จัดเป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์สุดท้ายที่เหลืออยู่
ถาม : การบัญญัติว่า พุทธพาณิชย์กิจสาระธรรม ได้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของหมู่นักวิชาการที่ถือตนเป็นอันดี จนเลยเถิดบัญญัติศัพท์คำว่า พุทธทูเดย์ ถ้าท่านซื้อภายใน ๑๕ นาทีนี้ จาก ๔ องค์แถมฟรีพระอีก ๑ องค์ นำมาพูดเล่นจนสนุกปาก และท่านก็ยังกล่าวย้ำว่า การนับถือรูปเหรียญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเพียงแค่พวกเปลือก แต่ความรู้ในพระพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กล่าวว่า สิ่งนั้นจะเป็นพุทธานุสติ มีผลทำให้วิมานและนางฟ้าเป็นบริวารเป็นต้น คำถามคือสติในการฟัง หรือบางเสียงที่เข้ามากระทบกับโสตกระสาท และเสียงนั้นมาเป็นเครื่องวิจารณ์สิ่งต่าง ๆ เราควรตั้งอารมณ์อย่างไร ?
ตอบ : อย่าไปถือมงคลตื่นข่าว ถ้าเรามีความมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง ๆ ไม่ว่าใครจะจาบจ้วงล่วงเกินอย่างไร เราก็ไม่หวั่นไหวตามไปอยู่แล้ว จริง ๆ แล้วคือว่า คนเราที่เกิดมาสร้างบุญสร้างบารมีมาไม่เท่ากัน มีตั้งแต่สามัญบารมีขั้นต้น อุปบารมีขั้นกลาง ปรมัตถบารมีขั้นปลาย ต่อให้คนที่บัญญัติศัพท์ขึ้นมาว่าเป็นพุทธพาณิชย์กิจสาระธรรม อะไรก็แล้วแต่มันเถอะ พวกทั้งหลายเหล่านั้นก็ตาม ถ้าหากว่าเอาธรรมะเนื้อแท้ให้มัน มันรับไหวไหม มันผิดธรรมชาติ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป นับตั้งแต่ก้าวแรก บันไดสมมติมีอยู่ ๑๐ ขั้น เราจะไปก้าวขั้นที่ ๑๐ เลยไหวไหม ก็ต้อง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ แล้วค่อย ๑๐ ใช่ไหม โบสถ์วิหารมีช่อฟ้าอยู่สูงสุด หรือไม่ก็มียอดฉัตรอยู่ยอดสุด ฉัตรกับช่อฟ้าลอยอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีฐาน ก็เป็นไปไม่ได้
ดังนั้นท่านทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้มองในลักษณะอย่างสมัยนี้นักวิชาการใช้คำว่า บูรณาการ เออ...มองไม่รอบด้าน ในเมื่องมองไม่รอบด้าน จะเอาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีจริง ๆ น่ะไม่ใช่ คนเราจำเป็นต้องมีสิ่งยึดเกาะ เพื่อที่จิตใจของตัวเอง เมื่อมีสิ่งยึดเหนี่ยวแล้วจะได้มั่นคงแน่นแฟ้น สิ่งที่ยึดที่เขาเกาะนั่น ถ้าเป็นความดีเป็นมงคลอย่างน้อย ๆ ก็ดีกว่าสิ่งที่เป็นอัปมงคลเยอะ เพราะฉะนั้น....ถ้าติดในวัตถุมงคลให้มันติดไปเถอะ อย่าไปติดวัตถุอัปมงคลเลย แล้วสิ่งที่ติดเป็นวัตถุมงคลก็ไม่ใช่แค่เปลือกอย่างที่ว่า ถ้าเรายึดมั่นแขวนเอาไว้เตือนตัวเองเป็นพุทธานุสติ เออ...เรานับถือพระพุทธเจ้า
ถาม : ….............................
ตอบ : ถ้าหากว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่ หรือว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่หวั่นไหวคล้อยตามข่าวลือต่าง ๆ ตามที่ภาษาพระท่านว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่มีปัญหาอะไรอะไรหรอก
ถาม : สภาพของจิตใจที่ถูกพรากออกจากความดีอันเกิดจากตัณหาอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในเรื่องความจำเป็นทางโลก และการหลงจาก การทำผิดด้วยแรงของโลกธรรมทั้ง ๘ เมื่อจิตใจเรารู้อยู่ว่าเราถูกตัณหาอุปทานครอบงำเสียแล้วด้วยจากคำถามความเข้าใจคือ
๑. การฟื้นฟูจิตใจสภาพจิตที่ทรุดโทรม เราควรแก้ไขด้วยวิธีใด
๒. สภาพของอาการรู้อยู่ในจิตทั้งสภาพกุศลและอกุศลจะมีข้อดีหรือไม่อย่างไร
ตอบ : ถ้าหากว่าการฟื้นฟูจิตใจจากส่วนของอกุศล คือไม่ดีมาอยู่ในส่วนของกุศล ก็มีแต่พาความเจริญกับเราโดยฝ่ายเดียว ส่วนถามว่าฟื้นฟูอย่างไร ต้องดูสภาพจิตของเราตอนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นผู้มักโลภก็ต้องมีการให้ทานเป็นปกติ ถ้าเป็นผู้มักโกรธ ก็ต้องรักษาศีลเจริญพรหมวิหารเป็นปกติ ถ้าเป็นผู้มักหลง ก็ต้องพยายามจับลมหายใจเข้า-ออก พยายามพิจารณาให้เห็นความเป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ยึดถือมั่นหมายไม่ได้ เริ่มย้อนเข้ามาในทาน ศีล ภาวนา โดยเฉพาะเอาศีลเป็นหลัก ตั้งใจว่าเรารักษาศีลเพราะเราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีลเพราะเราจะไปนิพพาน ดูศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์ อย่าล่วงศีลด้วยตัวเอง อย่ายุยงส่งเสริมคนอื่นให้เขาล่วงในศีล อย่ายินดเมื่อเห็นคนอื่นเขาล่วงในศีล ต้องดูสภาพจิตใจของเขา หนักด้านไหนแก้ด้านนั้น แต่จริง ๆ ก็อยู่ในรัก โลภ โกรธ หลง นั่นแหละ
ถาม : เมื่อครั้งก่อนพระเดชพระคุณท่านได้กล่าวถึงภาพยนตร์ที่เป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นของสังคมและกฎของกรรม ด้วยเหตุผลนั้นเราจะสรุปได้หรือไม่ว่า การร้องเพลงโดยการใช้คำแต่ละคำมาเรียบเรียงให้คล้องจองมีเสียงสูงต่ำต่างกันไป แสดงความหมายของเพลงนั้น เปรียบเสมือนการขี่ม้าเลียบค่ายอ้อมไปอ้อมมา ผมสงสัยว่าทำไมไม่พูดกันตรง ๆ ไปเลยหมดเรื่อง สิ่งนี้จะเป็นบทสะท้อนของแนวคิดของคนในสังคม ที่ไม่นิยมในสัจจะหรือความจริงได้หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่ใช่ อะไรก็ตามที่ตรงเกินไป บางครั้งก็แรงจนภาษาสมัยนี้เขาเรียกว่า รับไม่ได้ เพราะฉะนั้น...ก็ต้องมีการอ้อม ๆ ค้อม ๆ บ้าง คนเราจำนวนมากด้วยกันถึงผิดแต่ก็ไม่ชอบให้ใครตราหน้าว่าตัวเองผิด เป็นคนไม่ดีไม่อยากให้คนเขาว่าเราไม่ดี เลยต้องมีการสอนโดยทางอ้อม ให้เขารู้ตัวแล้วก็ค่อย ๆ ทำด้วยตัวเอง แต่ถ้าไปตราหน้าเขา เขาอาจจะทำด้วยการประชดชีวิตซึ่งจะผิดหนักยิ่งกว่าเดิม และส่วนประเภทชักม้าเลียบค่ายอะไรนั่น เป็นแค่หนึ่งในทำนองสารพัดเท่านั้น
ถาม : การตั้งอารมณ์อุปจารสมาธิตอนอานาปานุสติ ?
ตอบ : อุปจารสมาธิของอานาปานุสติ คือตอนนี้ แต่ถ้าหากว่าเป็นช่วงภาวนาคือตอนตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจ
ถาม : แล้วผลสมาบัติกับอภิญญาผลสมาบัติ ?
ตอบ : ผลสมาบัติ คือผลที่เราเข้าถึง จะเป็นอภิญญาหรือไม่เป็นก็ได้ เรียกว่าผลสมาบัติ แต่ถ้าคนที่ได้อภิญญา เขาเรียก อภิญญาผลสมาบัติ ส่วนอุปจารสมาธิจริง ๆ ยังไม่เป็นสมาธิที่แท้จริง อุปจาร แปลว่า อยู่ในขอบเขตหรือใกล้เคียง ใกล้เคียงที่จะเป็นสมาธิ ดังนั้นถ้าถามอุปจารสมาธิคือตอนไหน คือตอนนี้แหละ อย่างเช่นเราตั้งใจฟังพระ นี่คืออุปจารสมาธิ แต่ถ้าหากว่ารู้ลมหายใจไปด้วย ก็เริ่มเป็นปฐมฌาน ก็ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ คราวนี้ว่าอานาปานุสติ คือการตามนึกถึงลมหายใจเข้า-ออก เพราะฉะนั้น...อุปจารสมาธิของอานาปานุสติ คือตอนที่เราตั้งใจกำหนดรู้ลม รู้ว่าตอนนี้มันเป็นอย่างไร จะแรงจะเบาจะยาวจะสั้น อันนั้นแหละอุปจารสมาธิ แต่ถ้ารู้อัตโนมัติเมื่อไรก็เป็นฌานแล้ว
ถาม : การแน่นของสมาธิล่ะคะ ?
ตอบ : อัปปนาสมาธิ สมาธิแบบแน่น ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปก็ถือว่าเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าหากว่าเผลอก็มีหลุด ต่อให้เป็นฌาน ๔ หรือสมาบัติ ๘ เผลอก็มีหลุด สำคัญตรงที่ว่าเราต้องทรงฌานให้เกิดความคล่อง พอเกิดความคล่องขึ้นก็อยู่ในลักษณะรู้อัตโนมัติ พอรู้อัตโนมัติแล้วถึงเวลาเราก็ระวังรักษาสติให้กำหนดรู้นั้นอยู่ตลอดอย่าให้มันเคลื่อน ถ้าเคลื่อนเดี๋ยวมันก็หลุดหายไปอก แล้วใช้กำลังของฌานนั้นไปพิจารณาธรรม เพื่อเอากำลังของฌานนั้นไปตัดกิเลส
ถาม : แล้วจังหวะของอภิญญาผลสมาบัติ ผลสมาบัติที่อยู่ในระหว่างฌานล่ะคะ ?
ตอบ : สมมติว่าเราได้ปฐมฌาน เขาเรียกผลสมาบัติ สมาบัติที่หนึ่ง คือปฐมฌาน สมาบัติที่สอง คือฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ จนถึงฌานที่แปดเรียกว่าสมาบัติที่แปด ถ้าหากว่าเราได้แค่ปฐมฌาน ถึงเวลาเราภาวนาทำกำลังใจสูงสุดได้เท่าไร เขาก็เรียกผลสมาบัติของฌานนั้น ๆ ส่วนอภิญญาผลสมาบัติเราต้องมีความคล่องตัวในอภิญญาเลย ทำให้ถึงแล้วอธิษฐานให้เป็นไปตามนั้น เขาเรียกอภิญญาผลสมาบัติ แค่นั้นเองต่างกันนิดเดียว
ถาม : การเปรียบเทียบระหว่างสองอันนี้มีความแน่นใกล้ ๆ กันหรือคะ ?
ตอบ : อ๋อ...ไม่ใกล้เลยจ้ะ ผลสมาบัตินี่ถ้าในความหมายของพระจริง ๆ ส่วนใหญ่เป็นของพระอริยเจ้าท่าน อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่าท่านได้ปฏิสัมภิทาญาณ ได้สมาบัติ ๘ ถึงเวลาท่านเป็นพระอนาคามีขึ้นไป สามารถเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธได้ เขาเรียกว่านิโรธสมาบัติ แต่สำหรับพระทั่ว ๆ ไป ถ้าหากท่านเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านทรงฌานขึ้นมา เขาจะเรียกว่า ผลสมาบัติ
ถาม : เมื่อเดือนที่แล้วเข้าปริวาสกรรม ๗ วัน ๗ วันนี้ก็ไม่พูดไม่กิน ครั้งแรกคิดว่าจะทำไม่ได้ ตอนหลังพอวันสองวันแล้วก็เงียบไปเลย ในช่วงที่อยู่ของวันที่ ๔ วันที่ ๕ เริ่มศึกษาเรื่องนิโรธสมาบัติ ได้อ่านพออ่านแล้วก็ลองส่งจิตถึงหลวงพี่ หนูไม่รู้ว่าหลวงพี่มีตัวตนจริง ๆ หรือเปล่า ไม่รู้ว่าหลวงพี่มาพูดกับหนูจริงหรือเปล่า หรือหลวงพ่อมาพูดกันแน่ แต่พอพูดไป พอถามไปศึกษาไปก็มีเสียงตอบมา ก็คิดว่าสักวันหนึ่งจะถามหลวงพี่ว่าหลวงพี่มาตอบเองหรือเปล่า (หัวเราะ) กำลังสับสนเรื่องพลังของพระโสดาบัน การที่เข้าเป็นพระโสดาบันในช่วงขณะหนึ่งในนิวรณ์ ๕ กับศีล ๕ ในขั้นของพระโสดาบัน ?
ตอบ : นิวรณ์ ๕ ต่อให้เป็นผู้ทรงฌานปกติก็ยังเข้าไม่ได้เลย เพราะนิวรณ์ก็คือตัวกั้นอยู่ แต่ถ้าหากว่าศีล ๕ สามารถทรงบริสุทธิ์ได้ อันนี้เป็นพระโสดาบัน
ถาม : ตั้งใจมาถามก็แปลกใจว่า เอ๊ะ...ตอบแล้วหรือ และก็ชี้แจงให้เห็นจังหวะหรือลักษณะของพระโสดาบันเกิดขึ้นได้อย่างไร มาอย่างไร ?
ตอบ : เหนื่อยว่ะ...! เดี๋ยวต้องคิดค่าเหนื่อยกับมันหน่อย (หัวเราะ) อะไรก็ตามถ้ารู้แล้วเสร็จแล้วนะ ให้ตั้งกำลังใจไว้นิดหนึ่งว่า ถ้าเราทำตามแล้วมีผลตามนั้นจริง แล้วค่อยเชื่อนะ อย่าเพิ่งเชื่อเสียทีเดียว เพราะนิมิตบางอย่างก็หลอกกันได้
ถาม : วิเคราะห์ดูแล้ว ?
ตอบ : วิเคราะห์ไม่ได้จ้ะ พระพุทธเจ้าท่านบอกในกาลามสูตรแล้ว วิเคราะห์ดูแล้วเขากับทิฏฐิของเราแล้วเชื่อ ใช้ไม่ได้ (หัวเราะ) นิโรธสมาบัติมีอาการอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ จิตจดจ่ออยู่ที่พระนิพพาน อย่างที่สองคือใช้จิตท่องเที่ยวตามภพต่าง ๆ แต่ว่าทั้ง ๒ ประการนี้สภาพจิตจะไม่เกาะร่างกายเลย
คราวนี้บุคคลที่เข้าสมาบัติได้จริง ๆ ต้องเป็นพระอนาคามีปฏิสัมภิทาญาณขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าของเราจะหมดหวังไปเสียทีเดียว ของเรา ๆ ก็ซ้อมความคล่องตัวไปก่อน โดยเฉพาะพวกได้มโนมยิทธินี่ใกล้เคียงนิโรธสมาบัติอยู่แล้ว ถึงเวลาเราส่งจิตออกไปใช่ไหม เราเองก็เอาจิตไปจดจ่ออยู่เฉพาะพระนิพพาน หรือไม่ก็เอาไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ อะไรก็ตาม ซ้อมไปให้คล่องตัวพอถึงเวลา ถ้าเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ปุ๊บ ตัวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติจะเกิดขึ้นเอง ซ้อมได้จ้ะไม่ผิด
ถาม : อย่างนี้เราก็ไม่ต้องไปเที่ยว ?
ตอบ : ไม่ต้องจ้ะ อยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าได้แหละดี ประกันความเสี่ยงว่าไม่พลาดแน่
ถาม : แต่ก่อนไปโน่นไปนี่ไปจนรำคาญ เลยมีความรู้สึกว่า ทำไมเราไม่อยู่นิ่ง ๆ บ้าง ?
ตอบ : พวกเดียวกัน ก่อนหน้าอาตมาก็ช่างเที่ยวเลาะ ๆ ไปเรื่อย ๆ เลาะไปเลาะมาเหนื่อย เบื่อขึ้นมาไปนิพพานที่เดียว บางครั้งเผลอ ๆ ก็ลืมกราบพระที่จุฬามณี ก็เผ่นไปแล้ว
ถาม : แต่พอออกนิโรธสมาบัติก็กลับมาวุ่นวายต่อกับเรื่องปกติ ?
ตอบ : คราวนี้ของเราไม่นิโรธจริง พอไม่นิโรธจริงก็ฟุ้งซ่าน ถ้าหากว่านิโรธสมาบัติที่แท้จริงของท่าน ได้แล้วได้เลย จะไม่ฟุ้งซ่านกับเรื่องอย่างนี้ เพราะฉะนั้น...ของเราก็แค่ซ้อมเป็น
ถาม : แต่พอเข้าห้องพระแล้วนี่จบ ไม่อะไรทั้งนั้น แต่ถ้าลงมาข้างล่าง
ตอบ : พยายามรักษากำลังใจที่ไม่ยุ่งกับอะไรแบบนั้นให้ได้บ่อย ๆ จดจ่ออยู่กับพระพุทธเจ้าอย่างเดียว จดจ่ออยู่กับพระนิพพานอย่างเดียว
ถาม : ตอนนี้หนูพยายามจะให้สองเรื่องนี้รวมเป็นเรื่องเดียวกัน จะได้ไม่มีเรื่อง ?
ตอบ : ค่อย ๆ ทำไป จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ ระวังว่าโลกอย่าให้ช้ำ ธรรมอย่าให้เสีย บางอย่างแรงเกินไปคนรอบข้างไม่เข้าใจจะเป็นโทษกับเขา นักปฏิบัติที่ดีอย่างไร ๆ ก็ระวังหน่อย ถ้าโลกช้ำธรรมเสียนี่ยุ่ง คนที่ไม่เข้าใจนี่มันเกิดโทษ ส่วนใหญ่แล้วถ้าเขาปรามาสขึ้นมา โทษลงอวเจีมหานรก เขาลำบากนาน สงสารเขาเถอะ
ถาม : เข้าฌานแล้วออกไม่ได้ ?
ตอบ : เอาอย่างป้าเชิญสิ สมัยก่อนพอเข้าฌานแล้วฌานค้าง คำว่า ฌานค้างนี่ถ้าหากาเราไม่ไปดิ้นรนไม่ไปอะไร ก็ดี สงบอยู่ อาตมาก็เคยทำบางครั้งก็สองเดือน สามเดือน สังเกตง่ายเพราะเสียงจะระดับเดียวกันไปตลอด ไม่ยินดียินร้ายกับอะไรกับใคร ตายด้านเลย แต่คราวนี้ป้าเชิญแกอยากจะทำอะไรที่เหมือนชาวบ้านเขาบ้าง ไม่อย่างนั้นผิดปกติในสายตาเขา แกก็อยากจะหลุดออกมา ทำอย่างไรถึงจะหลุด แกเลยเปิดเพลงฟังแล้วก็เต้นแร็พ (หัวเราะ) โดนเพลงดึงหลุดจนได้
ถาม : (ไม่ชัด)
ตอบ : คือกำลังใจที่จะง่วงนี่จะอยู่ช่วงก่อนเป็นฌานนะ ถ้าหากว่าถึงปีติขึ้นไปแล้ว ถึงไม่เป็นฌานก็จะโพลงอยู่อย่างนั้น เลิกง่วงแล้ว คราวนี้ถ้าหากว่าอยากจะนอนใหม่ ต้องมาจับลมหายใจเข้า-ออกใหม่
ถาม : หนูก็อ่านหนังสือไปแล้วครึ่งเล่ม ทำไมถึงไม่ง่วงเวลาตีสองแล้ว หนูได้ยินเสียงรู้สึกจะเสียงท่านย่าบอกว่า “ให้นอนภาวนาพุท-โธ” หนูเลยดับไฟ
ตอบ : มาจับลมหายใจใหม่ พอหลุดเป็นปฐมฌานหยาบก็น็อกไปเองแหละ
ถาม : ถ้าออกแล้วก็ภาวนาใหม่ ?
ตอบ : จริง ๆ ก็คือช่วงนั้นกำลังมันสูง กำลังสูงถ้าเราไม่ลดต่ำลงมา กำลังฌานจะค้ำอยู่
ถาม : หลวงพี่บอกว่า “นั่งกรรมฐานแล้วให้พิจารณา” ?
ตอบ : ถ้าหากว่าจะใช้วิธีอัตโนมัติไม่ต้องพิจารณาก็คือไปนิพพานเลย อันนั้นจะตัดอัตโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลาพิจารณา เพราะว่าตรงนั้น รัก โลภ โกรธ หลง ไม่มี
ถาม : ถ้าขึ้นไปแล้วกลับลงมา ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อแล้วค่ะ ?
ตอบ : ไม่ต้องหรอกจ้ะ รักษาอารมณ์ตรงนั้นให้นานที่สุด กำชับเรื่องรักษาอารมณ์ เราไม่ค่อยรักษากัน พอถึงเวลาหลุดก็ต้องไปบู๊กับเขาต่อ
ถาม : หลวงพี่ช่วยแนะนำข้อเสียหนูหน่อยค่ะ ?
ตอบ : ข้อเสียคือ ยังไปนิพพานไม่ได้จ้ะ (หัวเราะ) เรื่องของสมาธิสมาบัติเป็นเแค่เครื่องมือเท่านั้น เครื่องมือที่จะส่งผลให้เราเข้าสู่พระนิพพานได้ ทำแค่ที่เราสามารถทำได้ ไม่ต้องไปดิ้นรนมากมายอะไรหรอก สำคัญที่สุดคือ การมาพิจารณาตัดสังโยชน์ ๑๐ ข้อนั่นแหละ
๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าตัวตนเป็นเราเป็นของเรา
๒. วิจิกิจฉา ลังเลสงสัยในผลปฏิบัติ ไม่แน่ใจเลยไม่อยากจะทำ
๓. สีลัพพตปรามาส รักษาศีลไม่จริงจัง ลูบ ๆ คลำ ๆ หลุด ๆ หล่น ๆ ให้กลับมาตั้งใจพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นอย่างไร มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราตรงไหน ดูให้เห็นจนใจยอมรับว่าไม่ใช่ของเราแน่ ดูให้เห็นว่าทุกอย่างที่เราทำอยู่มีแต่ความทุกข์ ความสุขที่แท้จริงไม่มี จริง ๆ แล้วความสุขคือทุกข์ที่น้อยลงเท่านั้นเอง แล้วก็พยายามตั้งความมั่นคงในพระนิพพาน ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้แน่นแฟ้น ว่าเราจะเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นปกติ พิจารณาศีลทุกสิขาบทให้บริสุทธิ์ คิดว่าตายแล้วเราจะไปนิพพาน ซ้อมอารมณ์ตัวนี้ให้มาก ๆ ไว้ เรื่องของฌานสมาบัติพอเข้าไปเต็มที่ แล้วเราถอยออกมาก็ซ้อมอารมณ์นี้แทน
|