สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนตุลาคม ๒๕๔๖
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  เวลาเราเห็นนิมิตอย่างนี้ เมื่อไรเราถึง คือต้องทำไปเรื่อย ๆ จนเรามั่นใจในสิ่งที่เราเห็นคือของจริงหรือของไม่จริง ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ จะนิมิตอะไรก็เรื่องของมัน คืออย่าเสียเวลาตีความ เพราะถ้ามันอยากจะบอกเราจริง ๆ ก็บอกชัด ๆ ตั้งแต่ต้นยันปลายเลย นี่อยู่ ๆ ก็มา อยู่ ๆ ก็ไป ห้ามก็ห้ามไม่ได้ บังคับก็บังคับไม่ได้ เออ...เรื่องของมึงถึงเวลากูก็รู้เองแหละ
      ถาม :  ถ้าทิพจักขุญาณนิมิต คือนิมิตไหมครับ ?
      ตอบ :  คนละอย่างกัน นิมิตจะเป็นเรื่องของเทวดา หรือว่าบุญกรรมที่เราทำมาแสดงเหตุให้รู้ เพราะฉะนั้น...เขาจะแสดงหมดไม่ได้ เกินกฎของกรรม ลักษณะเหมือนอย่างกับใบ้หวย จะมาฉลาดตอนหวยออกแล้วทุกครั้งเลย น้อยคนที่จะตีความถูกตั้งแต่แรก
      ถาม :  ทำไมต้องบังคับด้วย เวลาจะรวยต้องรวยอย่างนี้ ทำไมรวยแบบอื่นไม่ได้ ?
      ตอบ :  เราทำมาอย่างนั้นเองนี่ คุณเล่นผูกเหล็กเข้าโครงตามแปลนหลังนั้น ออกมาหน้าตาเหมือนหลังนั้น สิ่งที่คุณทำอย่างนั้นก็ได้อย่างนั้น
      ถาม :  โอ้โฮ...ทำบุญมาเยอะอย่างนี้ก็รวยเร็วหน่อยสิ ไม่ต้องมาเสียเวลาทำมาหากิน ยกสมบัติให้ลูกให้เมียไปเลย ?
      ตอบ :  นั่นแหละอย่างท่านย่าด่าอาตมานั่นแหละ หน้าอย่างมึงถ้ารวยก็เลวน่ะ กำลังใจไปด้านเดียวไม่มีตรงกลาง ไม่ดีก็เลวไปเลย โอ้โฮ...ประเภทพยัคฆ์ติดปีกนี่โอกาสเลวสูง
      ถาม :  เงินหลายสิบล้านที่ต้องเป็นของผมยังไม่เป็นเลย มีเหตุต้องไปเป็นของคนอื่น ?
      ตอบ :  ถ้าต้องการให้บุญเก่ารวมตัวกันเร็ว ๆ ต้องยอมรับกฎของกรรมไว ๆ ยอมรับแบบปัญญาเห็นจริงด้วยนะ ไม่ใช่รู้ว่าถ้ากูรับปากว่าใช่แล้วจะใช่ ไม่ใช่หรอกใจยังเถียงอยู่
      ถาม :  ตอนนี้บอกว่ากลัวผีไหม ไม่กลัว อารมณ์ตอนนี้บอกว่าไม่กลัว แต่ถ้าอยู่ที่บ้านแล้วเห็นผีกลัว กลัวขึ้นมาทันทีทันใดเลย ขนาดนั่งไหว้พระอยู่ พอเคลิ้ม ๆ เฮ้ย...เห็นหลวงพ่อ เฮ้ย...หลวงพ่อเป็นผีกลัวเลย ?
      ตอบ :  เณรหนุ่มที่วัด เณรหนุ่มจริง ๆ น่าสงสาร เพราะได้รับอุบัติเหตุแล้วขาไม่มีแรง ทำกายภาพบำบัดแล้วไม่หาย อาจเกี่ยวกับพวกสันหลังต้องใช้ไม้เท้าค้ำ เสร็จแล้วบวชพระไม่ได้ก็บวชเณรให้ กลัวผีถึงขนาดน่ะ ขนาดมีคนอยู่เป็นเพื่อนนะ ต้องนอนสองข้างกุฏิ อยู่ตรงกลางต้องคนนอนขวาหลังหนึ่ง ซ้ายหลังหนึ่งถึงอยู่ได้ ถ้านนอนด้านเดียวไม่ได้หรอก เดี๋ยวผีมาด้านนั้น กลัวถึงขนาดนั้น
              คราวนี้บางวันพระเณรต้องออกไปหมดเกาะ ต้องให้ทางบ้านมารับไปอยู่บ้านจะได้มีเพื่อน วันก่อนบอกเณรจำไว้เลยนะ จิตเสวยอารมณ์ได้ทีละอย่างเดียว ถ้าเสียใจก็เสียใจได้อย่างเดีย ถ้าเฉย ๆ ก็เฉยได้อย่างเดียว ราคะส่วนราคะ โลภะส่วนโลภะ โทสะส่วนโทสะ โมหะส่วนโมหะ ไม่มาพร้อมกันหรอก อย่างน้อยมีก่อนมีหลังอยู่นิดหนึ่ง
              คราวนี้เณรตื่นเช้าขึ้นมาแทนที่เอาพระมาไว้ในใจ ลืมตาผีจะหลอก เล่นเอาผีเข้ามาเสียตั้งแต่แรกแล้วจะเหลืออะไร ลืมตาขึ้นมาพุทโธ ๆ นึกถึงพระไว้ก่อนสิ ผีที่ไหนจะมาได้ล่ะ เพราะเราเอาพระไว้ในใจเสียแล้ว อุตส่าห์ให้เคล็ดลับไปแล้วนะ ไม่รู้ป่านนี้ตีความออกหรือยัง
      ถาม :  ทำไมคนกลัวผีครับ ?
      ตอบ :  กลัวตาย ความกลัวทุกประการมาจากพื้นฐานของความกลัวตายทั้งสิ้น
      ถาม :  ทำไมเด็กตัวเล็ก ๆ ต้องกลัวด้วยครับ ?
      ตอบ :  ฝังข้ามชาติข้ามภพมา กลายเป็นสัญชาตญาณไปแล้ว
      ถาม :  พระโสดาบันกลัวตายไหมครับ ?
      ตอบ :  กลัว ทำไมไม่กลัว แต่ท่านกลัวอย่างมีสติ ของท่านเองท่านมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ
      ถาม :  พระโพธิสัตว์กลัวตายไหมครับ ?
      ตอบ :  โอ้โฮ...ยิ่งเต็มที่เลย เพียงแต่ว่าท่านรู้ว่าถ้าท่านตาย ท่านตายมีคุณค่าแบบไหน สิ่งที่แลกเปลี่ยนที่รับมาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสไว้บุคคลไม่กลัวตายมี ๔ ประเภท
              ประเภทแรก คือบุคคลที่เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้า
              ประเภทที่สอง คือช้างศึกที่ได้รับการฝึกดีแล้วเข้าสู่สงคราม
              ประเภทที่สาม คือม้าอาชาไนย เพราะช้างกับม้าจะเหมือนกัน ได้รับการฝึกมาเต็มที่ลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว เสียงดังแค่ไหนไม่กลัว ไฟแรงแค่ไหนไม่กลัว โดนอาวุธหนักแค่ไหนต้องไม่กลัว
              อันดับสุดท้าย คือพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิไม่ใช่ไม่กลัวตาย ท่านก็กลัวเพียงแต่ท่านไม่ได้ปกครองทั้งโลกเฉย ๆ ท่านปกครองสี่โลกเลย ขนาดนั้นนี่ ไม่มีใครคิดร้ายกับท่านได้แน่ ท่านเลยสบายใจไม่กลัวตาย ความจริงกลัวอยู่ แต่ไม่มีเรื่องอะไรที่จะทำให้ท่านหวั่นไหว เพราะว่าท่านรู้อยู่ว่าทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจของท่านแล้ว
      ถาม :  หลวงพี่กลัวตายไหมครับ ?
      ตอบ :  กลัว จะหลอกต้มพระ ไม่เผลอหรอก...! เรื่องโดนต้มนี่เคยแต่ต้มเขา มีองค์เดียวที่ต้มอาตมาเปื่อยคือพระองค์ที่ ๑๐ ถ้าเจอระดับนั้นนี่เจ๊งจริง ๆ เลย โอ้โฮ...อย่างกับเด็กหัดใหม่
      ถาม :  เจอได้อย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ตั้งใจจะไปหาพระที่หลวงพ่อบอก ท่านบอกว่า “พระที่ไม่มีตัวเขามาปักกลดกันหลายองค์นะ ใครตาดีก็เจอเอง”
      ถาม :  วันนั้นมาหลายองค์หรือครับ ?
      ตอบ :  มาหลายองค์ แต่ว่าทำไปทำมาเหลือพระองค์ที่ ๑๐ องค์เดียว พอไปต่อว่าท่าน “ทำไมลวงตาลาไม่มา หลวงตาบุตรไม่มา ?” ท่านว่า “อ้าว...นายใหญ่มาแล้วจะไปเกะกะทำไมเล่า”
      ถาม :  ตอนนั้นท่านมานานไหมครับ ?
      ตอบ :  เจอประมาณสี่โมงเย็น อยู่จนกระทั่งสี่โมงเย็นอีกวันหนึ่ง ตอนเย็นมีแต่อาตมากับคณะอยู่แค่เจ็ดแปดคน กลางคืนมีไปกวนท่านอยู่สามสี่คน แต่พอเช้านี่ โอ้โฮ...แถวยาวเป็นกิโลเลย
      ถาม :  ท่านรับแขกอยู่ตรงนั้นหรือครับ ?
      ตอบ :  รับไปเรื่อยแหละ
      ถาม :  เทปที่คนอัดมา บอกมีอยู่เจ็ดแปดคน พอมาเปิดฟัง มีเสียงหลวงพี่อยู่องค์เดียว
      ตอบ :  แล้วไม่ได้ยินเสียงท่านหรือ
      ถาม :  มีแต่เสียงหลวงพี่ถาม ท่านก็ตอบ
      ตอบ :  ยังดี ถ้าหากว่าอัดตั้งแต่แรก ๆ มีหวังมันจะอัดอาตมาด้วย เพราะว่าตอนนั้นคิดว่าท่านเป็นพระที่ไม่มีอะไรเลย เราเลยต้อนท่านสนุกเลย
      ถาม :  ตอนเจอกันครั้งแรกหรือครับ ?
      ตอบ :  ใช่ ท่านแกล้งทำเป็นหลวงตาไม่มีอะไรเลยอย่างนี้ โบ๋เบ๋ เราเองไล่สนุกเลย บังเอิญว่าท่านหนีเป็น ท่านหนีให้เราตามหวิด หวิด หวิด เหมือนอย่างกับจะจนอยู่แล้ว เราไล่ไปเรื่อย ที่ไหนได้ ไล่อยู่ครึ่งคืนไล่ไม่จน...!
      ถาม :  ผมก็เป็นครับ ผมเจอหลวงพี่รับแรก โอ้โฮ...
      ตอบ :  พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “อย่าดูถูกไฟว่าน้อย อย่าดูถูกพระมหากษัตริย์ว่าเด็ก อย่าดูถูกงูพิษว่าเล็ก อย่าดูถูกภิกษุหนุ่มเพิ่งบวช” อาจจะทรงความดีกว่าที่เราคิดถึงก็ได้ ไฟแม้เล็กน้อยเพียงใดก็อาจจะลุกลามไหม้ใหญ่โตได้
      ถาม :  ช่วงนี้ผมชอบเอาใจไปสัมผัสกับใจคนอื่น ผมพยายามคิดว่าใจขาคิดอย่างไร ทำแบบนี้จะก้าวหน้าหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  ก้าวหน้าแต่เสียเวลา แต่สำหรับคุณแล้วทำไว้เถอะ เพราะว่าจะเกิดอีกต้องรู้ให้จริง แต่สำหรับคนจะเข้านิพพานเสียเวลา เขาให้ดูที่ตัวแก้ที่ตัว ไปดูคนอื่นประโยชน์น้อยเต็มที ไปแอบชมสมบัติเศรษฐี ไม่ใช่ของเราสักชิ้นเดียวอย่างนี้
      ถาม :  ผมคิดผิดแล้วครับอย่างหลวงพ่อนี่แตกฉานทุกอย่างอยู่แล้วทุกอย่างยังคืนสู่สามัญแม้กระทั่งพระที่ทำมาก็ศักดิ์สิทธิ์สุด ๆอยู่แล้ว ?
      ตอบ :  ของบางอย่างมีครูตามสายถ้าหากไม่ได้รับการครอบครูที่ถูกต้องทำไม่ได้นะ เก่งขนาดไหนก็ทำไม่ได้ ต้องได้รับการครอบครูถ่ายทอดมาโดยเฉพาะครูเป็นเครื่องทดสอบถึงวิจิกิจฉาคือความลังเลสังสัยของลูกศิษย์ว่ามีหรือเปล่า
              อย่างหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ ถึงเวลาท่านเปิดสำนักเรียนนี่พระเณรเป็นร้อย ๆ อาหารไม่พอขึ้นมาเมื่อไร หลวงพ่อเรื่องขึ้นกุฏิจุดธูป ๕ ดอกแล้วท่องคาถา แต่คาถานี่คำด่าล้วน ๆ ด่าหยาบคายมากเลย ด่าพ่อล่อแม่โขมงโฉงเฉงยิ่งดังยิ่งดี พอด่าจบพักเดียวชาวบ้านแบกข้าวแบกปลาแบกผักเป็นหาบ ๆ มาถวาย พร้อมใจนึกขึ้นมาได้ว่าเออ...พระเณรเยอะ ควรจะถวายอาหารซะหน่อย ไม่ด่าไม่นึกถึง หลวงพ่อถามหลวงพ่อเรื่องว่า “หลวงพ่อครับ ทำไมต้องด่าหยาบคายขนาดนั้นด้วย ?” ท่านบอกว่า “คาถาเป็นอย่างนั้นเองนี่” ทดสอบชัด ๆ เลยว่ามีความลังเลสงสัยหรือเปล่า ถ้าคุณขาดความมั่นใจขึ้นมาเมื่อไร จะไม่ขลัง
      ถาม :  ผมรู้แล้วคาถาเงินล้านนี่แหละ ?
      ตอบ :  นั่นแหละ โดยเฉพาะ เพ็ง ๆ พา ๆ หา ๆ ฤๅ ๆ เป็นภาษามนุษย์ไหมเล่า แต่คุณต้องมั่นใจ เขาทดสอบชัดเลยว่าสงสัยไหม
      ถาม :  การตระเวณกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนานี่เป็นอย่างไรบ้างครับ ?
      ตอบ :  ถ้ากำลังใจยังไม่ทรงตัวจำเป็นมาก เพราะอย่างน้อย ๆ เป็นเครื่องช่วยพยุงกำลังใจของเรา สถานที่ดีขนาดนั้นเรามีบุญได้ไปมาแล้ว
      ถาม :  ผมเพิ่งเข้าใจว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ผมเข้าใจผิดหรือเปล่า ผมอธิบายไม่ถูกครับ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องอธิบาย เห็นในส่วนความเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เขาเรียกนามธรรม คือถ้าเข้าถึงเมื่อไรจะรู้ว่า อ๋อ...ที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้าเพราะอย่างนี้เอง เท่ากับเห็นท่านนั่นแหละ โย ธัมมัง ปัสสติ โสส มัง ปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา
      ถาม :  จะเยอะไปไหมครับ ผมคิดทุกเรื่องเป็นเรื่องธรรมะหมด ?
      ตอบ :  ไม่เยอะหรอก
      ถาม :  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ผมมองเข้าธรรมะหมด ?
      ตอบ :  นั่นแหละกำลังดี
      ถาม :  ก่อนนอนให้นึกถึงหลวงพ่อ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กำลังจะตื่นให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก่อน ?
      ตอบ :  ต้องทำกันอย่างชนิดเคี่ยวเข็ญกันเลย แรก ๆ เข็นเรือบนบกเข็นไม่ค่อยจะไปหรอก แต่พอนาน ๆ ไปจิตจะเริ่มเคยชิน ชินภาษาบาลีเขาเรียกว่า ฌาน คนไทยเรียกว่าชิน ญี่ป่นเรียกว่า เซ็น
      ถาม :  ผมไปหาหลวงตาวัชรชัย ผมรู้สึกว่าท่านสอนมโนมยิทธิดีมาก ๆ ผมรู้สึกว่าผมเข้าใจมากเลย แต่ผมไม่มีอารมณ์อยากไปหาท่านอีกเลย ทำไมเป็นอย่างนั้นละครับ ?
      ตอบ :  ไม่รู้ อย่าลืมว่าแต่ละคนชอบอาหารรสต่างกัน ถึงอย่างนั้นอร่อยแต่ไม่ใช่วิสัยของเรา ของเราชอบกินแกงเผ็ด ไปเจอแกงจืดอร่อย ก็ซดไปชื่นชมไป จะไปซื้ออีกตูก็ไม่เอา ตูจะเอาแกงเผ็ด จริตนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
      ถาม :  อย่างน้อยความรู้สึกว่าท่านเป็นครูบาอาจารย์ ทำให้เราเข้าใจขึ้นมา ?
      ตอบ :  ใช่ ส่วนนั้นเป็นความชื่นชมเทิดทูนเอาไว้ในใจ แต่จะให้ตะเกียกตะกายไปด้วยความอยากไม่มีเพราะที่ตัวเองอยากกินไม่ใช่อาหารอย่างนั้น
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  หลวงพ่อท่านให้ฝึกขอข้าวเทวดากิน ท่านบอกว่า “ต้องทรงพรหมวิหาร ๔ ต่อเนื่องกันโดยไม่บกพร่องตกหล่นเลยแม้แต่วินาทีเดีย อย่างน้อยสามวันติดต่อกันเทวดาถึงจะใส่บาตรให้แต่ได้กินแล้วทิ้งไม่ได้นะ กินแล้วต้องรักษาอารมณ์ใจต่อไป พร่องเมื่อไรอดเมื่อนั้น เราเองทำตามที่หลวงพ่อบอก เวลาฝึกให้ฝึกอยู่กับบ้าน คือให้อยู่วัดตัวเองก่อน ถ้าอดอย่างไรก็เดินไปโรงครัวได้ ไม่เหมือนหลวงพี่ศุภฤกษ์ท่านไปบึงลับแลเลย ถ้าผมไม่ไปช่วยนี่ตายไปสามรอบแล้วแต่หลวงพี่ศุภฤกษ์ท่านเด็ดเดี่ยวจริง ๆ ประเภทไม่ได้ให้ตายไปเลย ถ้าไม่ใช่อาหารที่ใส่ลงมาในบาตรจะไม่กินอะไรเลย เราทิ้งน้ำหวานน้ำผึ้งเอาไว้ท่านไม่เอาเลย ท่านปล่อยมันกองอยู่อย่างนั้น แล้วนอนหายใจพะงาบ ๆ เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เราไปถึงต้องเล่นวิตามินรวมโปรตีนสกัดยัดไปกำมือหนึ่งกรอกน้ำตาม สักพักลุกขึ้นมาสะบัดแข้งสะบัดขา นิมนต์น้องเถอะ เดี๋ยวพี่ว่าของพี่ต่อ อีกห้าหกวันไปดูเหมือนเดิมเลย คราวนี้ของเราฝึกอย่างนั้น พออารมณ์ใจทรงตัว โอ้โฮ...ร่มเย็นบอกไม่ถูก พูดง่าย ๆ คือปรารถนาดีกับคนและสัตว์ไปทั้งโลก แปลกน่ะ ขนาดได้ยินเสียงรถวิ่งมา เออ...น่ายินดีจริงนะ เขาทำบุญมาดีเขาถึงได้มีรถดี ๆ ใช้ ไปโน่นได้ หมู หมา กา ไก่ จิ้งจก ตุ๊กแก เป็นมิตรกับเขาไปหมด ไม่มีอะไรจะยิ้มก็ยิ้มกับข้างฝา เดินมองพื้นก็ยิ้มกับพื้นดินวันแรกได้เต็มที่เลยทั้งวันทั้งคืน พอมาวันที่สองมาทะล่อทะแล่อย่างกับนกปีกหักเรี่ยพื้นอย่างนั้นน่ะ พอวันที่สามพังโครมไม่เป็นท่า เราก็เอ๊ะ..ทำไมไม่ทรงตัวเสียทีวะ เมื่อไรจะได้กิน ไปถามหลวงพ่อ “หลวงพ่อครับ ทำไมถึงได้ร่วงทุกทีครับ ไม่ถึงตรงจุดนี้ ?” หลวงพ่อท่านหัวเราะ พรหมวิหาร ๔ ถ้าเองไม่ใช้กำลังของฌานสี่คลุมไว้ไม่มีทางได้กินหรอก ต้องใช้กำลังของฌานสี่ทรงตัวไปเลย เราไปเอากำลังของเขาเฉย ๆ ภาวนาเพื่อให้ทรงตัวไล่ไปถึงระดับฌานสี่ไมได้ พูดง่าย ๆ คือทำฌานให้คล่องตัวแล้วจับพรหมวิหารจะได้ง่ายกว่า ถ้าประเภทไล่ขึ้นไปเพื่อให้ทรงตัวเป็นฌานเหมือนกับกรรมฐานกองอื่น ๆ ในลักษณะพิจารณาวิปัสสนาญาณนี่ ยากเย็นแสนเข็ญเต็มที
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  บอกเขาว่า “วาระสุดท้ายให้ตั้งมั่นคิดว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่นิพพานเท่านั้น เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคืออยู่บนพระนิพพาน ถ้าหากกำลังใจต้องการแค่ภาวนาเฉย ๆ ไม่ได้จับภาพพระ พอสว่างโพลงเต็มที่แล้ว กำหนดคิดว่า ถ้าเราตายตอนนี้เราจะไปพระนิพพาน จะกลายเป็นเอาอุปสมานุสสติมาปิดท้าย
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  มีทั้งเริ่มฝึก พวกเริ่มฝึกโดยเฉพาะสายพุทธภูมิจะต้องเอาแน่ ๆ เลย คือรู้ว่ายังมีมากว่านี้อีก เราต้องทำให้ได้ เป็นครูเขาถ้ารู้ไม่ครบสอนเขาไม่ได้ ในเมื่อมีเชื้อสายฝึกมา พวกของเก่ามีถึงเวลารู้ว่าเออ...เกินจากนี่มี ตั้งหน้าทำต่อไป เพราะฉะนั้น...เป็นได้ว่าทั้งเริ่มของเก่า และของใหม่ที่มีอยู่
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  อรูปฌานใช่ไหม ใช้การพิจารณา แล้วต่อด้วยกำลังของฌานสี่คล้าย ๆ กับวิปัสสนาญาณ แต่ไม่ใช่ คือไม่พอใจในความมีรูปร่างตัวตนนี้ไปเกาะความว่างของอากาศแทน ตราบใดยังมีตัวตนอญู่ยังมีทุกข์ เออ...ถ้าหากเราเกาะตรงจุดนั้นได้ ก็ว่างก็สบาย ความทุกข์ไม่สามารถจะเกาะกินได้ ไปเกาะความว่างของอากาศแทน อารมณ์ขึ้นเต็มที่ได้แค่ฌานสี่ หลังจากนั้นพอลดลงมา ตั้งรูปขึ้นใหม่เสร็จ เมื่อครู่บอกว่าความว่างของอากาศถึงจะกว้างขวางขนาดไหนก็ตามยังมีวิญญาณความรู้สึกกำกับอยู่ ไม่อย่างนั้นเรากำหนดความว่างตรงจุดนั้นไม่ได้ ในเมื่อวิญญาณมีขอบเขตที่กว้างกว่า เอาความพอใจความก้างขวางไร้ขอบเขตของวิญญาณแทน กำหนดความรู้สึกแผ่กว้างออกไปไม่มีประมาณ แล้วจะไปตันที่ฌานสี่เหมือนกัน แต่พอทรงเต็มที่มั่นใจว่าได้แน่นอนแล้ว คราวนี้เริ่มตั้งรูปใหม่อีก เออ...ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าคนสัตว์วัตถุธาตุสิ่งของท้ายสุดเสื่อมสลายตายพังไม่เหลืออะไรอยู่เลย ก็จับความไม่เหลืออยู่เลยกระทั่งเป็นฌานสี่ไปอีก ไล่ไปทีละข้อ ๆ พอถึงตอนสุดท้ายนี่จะมึนงงนิดหนึ่งสำหรับคนทำไม่ถึง เพราะว่าคล้าย ๆ กับสังขารุเปกขาญาณ แต่ไม่ใช่ เป็นการอาศัยกำลังของฌานกดอารมณ์นั้นเอาไว้ อย่างเช่น หิวมีก็กินให้มัน ไม่มีกูไม่กินก็ได้ กระหายมีก็ดื่มให้มัน ไม่มีกูก็อยู่ของฌานของกูก็ได้ ร้อนใช่ไหมหาเครื่องผ่อนให้มันได้ก็ผ่อน ๆ ไม่ได้ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป เต็มที่กำลังของฌานสี่
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  แค่ฌานสี่ แต่วิธีการที่จะใช้ฌานสี่แยกออกได้กระทั่งกลายเป็นฌานแปด
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบสัญญาเวทยิตนิโรธ คือนิโรธสมาบัติต่างกับฌานหรืออรูปฌาน อยู่ตรงที่จิตไม่เกาะกับร่างกายเลย มีสภาพนิ่งอยู่กับที่ คือจดจ่ออยู่เฉพาะพระนิพพานอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็เคลื่อนไปตามภพต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่าเที่ยวสนุกไปเลย แต่ทั้งสองอย่างจะไม่ประหวั่นถึงร่างกายแม้แต่นิดเดียว ทิ้งร่างกายไปเลย ไปด้วยกำลังฌานสี่นั่นแหละ เพียงแต่ว่าบวกอะไรขึ้นมาหน่อย และหน่อยหนึ่งบวกอะไรไม่ค่อยจะเข้า