ถาม:  คำว่า “สมถะ” มีความหมายว่าอย่างไร ?
              ก. อยู่ตามลำพัง ข. ยินดีตามมีตามได้ ค. สงบจากกิเลส ง. สงบจากนิวรณ์
      ตอบ :  สงบจากนิวรณ์
      ถาม :  คำว่า “วิปัสสนา” มีความหมายว่าอย่างไร ?
              ก. เห็นแจ้งรูปนาม ข. เห็นแจ้งอวิชชา ค. เห็นแจ้งสังขาร ง. เห็นแจ้งพระนิพพาน
      ตอบ :  จริง ๆ ต้องเห็นแจ้งในนิพพาน แต่ไม่ใช่ เพราะในนี้เขาหมายความว่าตัวปัญญาที่รู้เห็น ลักษณะของการทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั่นเป็นการเข้าถึงมรรคผล เพราะฉะนั้น...ใช้คำว่าเห็นแจ้งอวิชชา คือความไม่รู้แล้วกันง่ายที่สุด
      ถาม :  อะไรเป็นกิจของวิปัสสนา ?
              ก. ความเห็นแจ้งรูปนาม ข. ความขจัดนิวรณ์ ค. ความขจัดโมหะ ง. ความมีสมาธิ
      ตอบ :  ความเห็นแจ้งรูปนาม
      ถาม :  อะไรเป็นผลของวิปัสสนา ?
              ก. จิตถึงอัปปนา ข. จิตรู้เห็นตามความเป็นจริง ค. จิตผ่องใส ง. จิตรู้เห็นพระนิพพาน
      ตอบ :  จิตรู้เห็นตามความเป็นจริง
      ถาม :  ข้อใดไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนา ?
              ก. กสิณ ๑๐ ข. ขันธ์ ๕ ค. อายตนะ ๑๒ ง. ธาตุ ๑๘
      ตอบ :  กสิณ ๑๐ กสิณเป็นสมถะ
      ถาม :  กิเลสมาร คือเจตสิกอันเศร้าหมองจัดเป็นอะไร ?
              ก. บ่วงแห่งมาร ข. มาร ค. เสนามาร ง. มัจจุมาร
      ตอบ :  เป็นมาร เป็นกิเลสมาร ถ้าบ่วงแห่งมารเป็นวัตถุกาม
      ถาม :  คำว่า “นิพพิทา” หมายถึงข้อใด ?
              ก. เบื่อหน่ายสังขาร ข. เบื่อหน่ายการงาน ค. เบื่อหน่ายการเรียน ง. เบื่อหน่ายสังคม
      ตอบ :  เบื่อหน่ายสังขาร จริง ๆ ถ้าเบื่อหน่ายสังคมก็ใช่ แต่ที่นี่เขาให้เบื่อหน่ายสังขาร
      ถาม :  ญาณอย่างเห็นว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงจัดเป็น
              ก. สมถะ ข. วิปัสสนา ค. วิมุตติ ง. สันติ
      ตอบ :  เป็นวิปัสสนา
      ถาม :  รอบวงเขาจึงต้องมานั่งเศร้าในตะราง เป็นลักณณะของ ?
              ก. สหกตทุกข์ ข. วิวาทมุลทุกข์ ค. ขันตปทุกข์ ง. วิปากทุกข์
      ตอบ :  เอาวิปากทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากวิบาก คือผลที่ตัวเองทำจึงติตาราง ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ภาษาบาลีใช้คำว่าเสวยผล เรียกว่าวิบากทั้งนั้น สุขหรือทุกข์ การเสวยผลของสุขหรือทุกข์เรียกว่าวิบากทั้งนั้น
      ถาม :  ข้อใดไม่ใช่สภาวะทุกข์ ?
              ก. ชาติคือความเกิด ข. ชราคือความแก่ ค. พยาธิคือความเจ็บป่วย ง. มรณาคือความตาย
      ตอบ :  ต้องเป็นมรณะ เพราะความตายจริง ๆ ไม่ได้ทุกข์หรอก ทุกข์ตอนที่เวทนากำเริบ ใกล้จะตาย ถ้าตายแล้วไม่ทุกข์
      ถาม :  มีคนที่สามารถตายโดยที่ไม่เสวยทุกขเวทนาได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ได้ ...กำหนดจิตทิ้งขันธ์ไปเลย เยอะแยะไป ลองไปอ่านใน “ทิเบตวิปโยค” มีท่านริมโปเช่อยู่ท่านหนึ่งพร้อมกับเพื่อนพระอีกสองรูป พอกองทัพจีนบุกเข้าไปตีแล้วเขาสู้ไม่ได้ เขาบอกว่าเขาจะทิ้งขันธ์คืนนี้แล้ว เพื่อนพระอีกสองรูปบอกว่า ถ้าอย่างนั้นผมไปด้วย แล้วต่างคนต่างก็นั่งสมาธิไปเลย นั่นแสดงว่ากำหนดได้ว่าจะอยู่หรือตาย ทหารจีนไปเจอซากศพนั่งสมาธิอยู่ก็ถีบลงน้ำไป ปรากฎว่าศพลอยไปทั้งท่าขัดสมาธินั่นเลย
      ถาม :  ถ้าเป็นคนธรรมดา แล้วอย่ากินยานอนหลับ ?
      ตอบ :  อย่างนั้นจิตจะต้องเศร้าหมองก่อน จะไปไม่รอด คือคนที่จะฆ่าตัวตายนี่คือจิตจะต้องประกอบไปด้วยความเศร้าหมองไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
      ถาม :  ความหิว ร้อน หนาว เป็นต้น จัดเป็นทุกข์อะไร ?
      ตอบ :  นิพัทธทุกข์ ทุกข์เนืองนิตย์ เกิดอยู่เสมอ ๆ เจ็บป่วย หนาว ร้อน หิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
      ถาม :  ปัญจมหาวิโลกนะที่พระบรมโพธิสัตว์ทรงพิจารณาคือข้อใด ?
              ก. แคว้น เมือง ชนบท ตระกูล มรรดา
              ข. ประเทศ บิดา เมือง มายุ สกุล
              ค. กาล ทวีป ประเทศ สกุล มารดา
              ง. ประเทศ สกุล มารดา วรรณะ สังขาร
      ตอบ :  กาล ทวี ประเทศ สกุล มารดา ความจริงประเทศไม่ต้องพิจารณา ท่านพิจารณาอายุสัตว์ แสดงว่าข้อนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกจริง ๆ เป็นแค่ถูกที่สุด คือดูว่ากาล เวลานั้นเหมาะสมไหม ? เพราะวาระที่พระพุทธเจ้าอุบัติแต่ละช่วงมากน้อยไม่เท่ากัน อายุสักเท่าไรถึงจะเหมาะสม
              อย่างเช่น ตอนนี้อายุมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี นับว่าเหมาะสม เพราะไม่นานเกินไปบอกว่าไม่เที่ยงสามารถเห็นได้ง่าย ทวีป ต้องเป็นทวีปที่ลงไปแล้วสามารถที่จะแสดงธรรมแล้วคนเห็นได้ง่าย อย่างที่เลือกชมพูทวีปนี่เพราะอินเดียคนลำบากยากจนเยอะ ถ้าพูดถึงเรื่องทุกข์เห็นได้ง่าย สกุลส่วนใหญ่จะเลือกอยู่สองสกุล คือเป็นสกุลที่ชาวบ้านเขาเคารพนับถืออยู่เป็นปกติ อย่างพราหมณ์หรือกษัตริย์ มารดาคือผู้ที่จะเป็นพุทธมารดาปรากฏแล้วหรือยัง ปัญจมหาวิโลกนะเป็นสิ่งที่พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะมาประสูติเพื่อตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องพิจารณาก่อนว่าสมควรที่จะลงมาแล้วหรือยัง
      ถาม :  ใครทำนายลักษณะพระมหาบุรุษเป็นคนแรก ?
      ตอบ :  อสิตดาบส หรือกาลเทวินดาบส รูปเดียวกัน มีชื่อนี้ไหม ถ้ามีก็ใส่ไปเลย รายนี้แหละที่ทำนายเสร็จก็นั่งร้องไห้ เพราะตัวเองแก่เกินไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้เห็นพระมหาบุรุษบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแน่นอน
      ถาม :  สิทธัตถะกุมารทรงนับถือศาสนาใดมาก่อน ?
      ตอบ :  พราหมณ์
      ถาม :  พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญอาปาณกฌาน ?
      ตอบ :  อาปาณกฌาน คือ การกลั้นลมหายใจ เป็นวิธีทรมานตนของโยคีแบบหนึ่งในสมัยพุทธกาล
      ถาม :  มหาบุรุษได้อุปมาสามข้อ ณ สถานที่ใด ?
      ตอบ :  อุรุเวลาเสนานิคมจ้ะ ก็ที่จะตรัสรู้นั่นแหละ
      ถาม :  พระญาณอะไรทำให้พระพุทธองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
      ตอบ :  อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณนี่ทำให้กิเลสสิ้นไป ถ้าไม่มีข้อนี้ไม่หมดกิเลส จะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้
      ถาม :  ทเววาจิกอุบาสก คืออะไร ?
      ตอบ :  ทเววาจิกอุบาสก อุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเพียงสอง ทเวแปลว่าสอง ทเววาจิกอุบาสก คือท่านตปุสสะกับท่านภัลลิกะ สองคนนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ท่านได้ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผลเป็นครั้งแรก แล้วก็กล่าวขอถึงพระรัตนตรัย ตอนนี้ตอนนั้นมีแค่พระพุทธ พระธรรม เท่านั้น พระสงฆ์ยังไม่มี เขาเลยเรียกว่าทเววาจิกอุบาสก ถ้าถึงพระรัตนตรัยทั้งสามเรียกว่าเตวาจิกอุบาสก
      ถาม :  พระพุทธเจ้าทรงแสดงไตรลักษณ์ครั้งแรกแก่ใคร ?
              ก. พระยสสะ ข. ปัญจวัคคีย์ ค. สหายพระยสสะ ง. พระมหากัสสปะ
      ตอบ :  ปัญจวัคคีย์จ้ะ
      ถาม :  คืออนัตตลักขณสูตรใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  อนัตตลักขณสูตร ถ้าในธรรมจักรกัปวัตตนสูตรก็มีอยู่แล้ว คือหมวดของทุกขอริยสัจ ทุกข์ก็อยู่ในไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
      ถาม :  พระยสสะบรรลุพระอรหันตผลเพราะฟังธรรมเทศนาชื่อว่าอะไร ?
      ตอบ :  อนุปุพพิกถา และอริยสัจ
      ถาม :  จตุราอริยสัจ ?
      ตอบ :  จตุราอริยสัจคืออริยสัจสี่ อนุปุพพิกถาและอริยสัจสี่
      ถาม :  พระอริยสาวกองค์ที่ ๖ คือใคร ?
      ตอบ :  พระอริยสาวกองค์ที่ ๖ คือพระยสสะ เพราะเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์แล้วก็ไปเทศน์โปรดพระยสสะต่อ
      ถาม :  เรื่องที่กล่าวถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อยชื่อว่าอะไร ?
      ตอบ :  สีลกถา คือ อนุปุพพิกถา แปลว่า คำสอนที่เป็นไปโดยลำดับ ๆ ไป จะมี ทานกถา สอนเกี่ยวกับการสละออกเพื่อตัดความโลภ สีลกถา สอนให้รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยอย่างนี้ สัคคกถา จะบอกว่าถ้าให้ทานรักษาศีลแล้วจะได้ไปเป็นเทวดาเป็นพรหม กามาทีนวกถา การหลีกออกจากกาม แล้วก็เนกขัมมนิสังสกถา อานิสงส์ของการถือบวช เป็นเทวดา พรหม ก็ยังไปไม่รอด เบื่อ ๆ ไปเถอะ ไปเลยดีกว่า ก็แสดงเนกขัมมนิสังสกกถา ออกจากกามไป
      ถาม :  ก่อนเป็นพุทธสาวก พระสารีบุตรบวชอยู่กับใคร ?
      ตอบ :  สัญชัยเวลัฏฐบุตร
      ถาม :  คำว่า “เราจักไม่ชูงวงเข้าไปสู่สกุล” พระพุทธเจ้าสอนใคร ?
      ตอบ :  สอนพระโมคคัลลาน์ ท่านบอกว่าเราจะไม่ชูงวงเข้าไปสู่สกุล คือจะไม่ถือตัวว่า ไปถึงแล้วเขาต้องต้อนรับเรา เขาต้องกราบไหว้เรา ไม่ต้องไปคิดว่าจะได้รับอย่างนั้น
      ถาม :  พระสาวกรูปใดอุปสมบทด้วยการรับพระโอวาทสามข้อ ?
      ตอบ :  พระมหากัสสปะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
              ๑. กัสสปะ ...เธอจงตั้งอยู่ในความละอายแก่ภิกษุ ทั้งที่เป็นเถระ มัชฌมะและนวกะ อย่างแรงกล้า หมายความว่า ต้องรู้จักเกรงใจ รู้จักเคารพนอบน้อมต่อพระอื่น
              ๒. กัสสปะ...ถ้าเธอฟังธรรม จงตั้งใจฟัง เงี่ยหูลงสดับและพิจารณาในเนื้อความ
              ๓. กัสสปะ...เธอจงอย่าละสติที่ไปในกาย คือให้ทรงกายคตานุสติอยู่เสมอ แค่นี้ท่านก็ถือว่าบวชแล้ว เป็นพระที่บวชแปลกที่สุด ไม่เหมือนใครเลย เพราะตอนที่ไปพบพระพุทธเจ้า ท่านเป็นพระอริยเจ้าระดับสูงมากแล้ว แต่งงานนอนอยู่กับเมียทั้งปีทั้งชาติ ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวกันเลย เอาพวงมาลัยขั้นกลางเอาไว้พวงเดียว ไม่กล้าขัดพ่อขัดแม่ รอให้พ่อแม่ตายก่อน พอพ่อแม่ตาย ท่านบอก “น้องหญิง...ทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี่เรายกให้กับเธอ เราจะออกบวช” นางภัททกาปิลาณีบอกว่า “สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เหมือนกับน้ำลายที่ท่านถ่มทิ้งแล้ว เรื่องอะไรที่เราจะรับไว้ เราก็จะบวชบ้าง” แสดงว่าสร้างบารมีมาคู่กันจริง ๆ เสร็จแล้วเธอก็แจกทรพัย์สมบัติจนหมด เรียบร้อยแล้วก็นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อธิษฐานว่าขอบวชอุทิศแก่พระอรหันต์ที่มีอยู่ในโลกขณะนั้น แล้วเดินกันไปเพื่อหาพระอรหันต์ พอถึงทางแยกคนหนึ่งก็เลี้ยวซ้าย คนหนึ่งก็เลี้ยวขวา พระมหากัสสปะไปเจอพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตนิโครธ ระหว่างเมืองราชคฤห์กับนาลันทา ส่วนนางภัททกาปิลาณีไปเจอสำนักภิกษุณีเข้า ต่างคนต่างเป็นพระอรหันต์ ผู้หญิงผู้ชายที่จะนอนอยู่ห้องเดียวกันได้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกันเลยนี่ต่ำ ๆ ต้องเป็นพระสกิทาคามีถึงจะทำได้
      ถาม :  พระมหากัสสปะบวชที่ไหน ?
      ตอบ :  ท่านบวชเองที่บ้าน แล้วไปรับโอวาทจากพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตนิโครธ ระหว่างราชคฤห์กับนาลันทา พหุปุตตนิโครธแปลว่าต้นไทรที่มีลูกมา พหุปุตตะ = ลูกมาก นิโครธ = ต้นไทร
      ถาม :  วันจาตุรงคสันนิบาตตรงกับวันใด ?
      ตอบ :  ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ จ้ะ วันมาฆบูชา
      ถาม :  ใครเป็นผู้สร้างวัดเชตวัน ?
      ตอบ :  อนาถปิณฑิกเศรษฐี
      ถาม :  มีเจ้าเชตด้วย ?
      ตอบ :  เขาเอามาหลอก เจ้าเชตนี่แกงกที่สุดเลย อนาถปิณฑิกเศรษฐีไปเจอที่ซึ่งเหมาะสมที่จะสร้างวัด เป็นอุทยานที่เจ้าเชตซึ่งเป็นเจ้าชายที่ถือครองอยู่ สมัยนั้นบรรดากษัตริย์หรือเจ้าชาย ต่างคนต่างจะมีป่าส่วนตัวเอาไว้สำหรับล่าสัตว์หรือสำหรับพักผ่อน อนาถปิณฑิกเศรษฐีขอซื้อ เจ้าเชตแกเล่นตัวไม่ขาย ถ้าจะให้ขายต้องเอาเงินมาปูเต็มพื้นที่นี่ถึงจะให้ โอ้โฮ...ป่าบ้างเขาบ้างต้องปูให้ราบเสมอกันนี่ใช้เงินเท่าไร อนาถปิณฑิกเศรษฐีสั่งลูกน้องเลย สั่งเปิดคลังขนเงินใส่เกวียนมา กูจะปูให้ดู ....(หัวเราะ) ....เสร็จแล้วก็เทไปถมไป จนกระทั่งเกลี่ยเรียบเสมอกันขึ้นมา เหลือที่ข้างหน้าอยู่หน่อยหนึ่ง เจ้าเชตแกคงนับเงินจนเซ็งแล้ว แกก็ เออ...ตรงนี้ไม่ต้องก็ได้ ยกให้เพื่อร่วมบุญด้วย อนาถปิณฑิกเศรษฐีพอสร้างวัดเสร็จเรียบร้อย ก็สร้างซุ้มประตูตรงจุดที่เจ้าเชตเขายกให้ เลยตั้งชื่อว่าเชตะวัน ป่าของเจ้าเชต แทนที่จะตั้งชื่อวัดสุทัตตารามหรืออนาถปิณฑิกวัน
      ถาม :  ใครทูลเชิญพระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ได้สำเร็จ ?
      ตอบ :  ท่านกาฬุทายี คนอื่น ๆ ส่งไป ๑๐ คณะ ร้อยคนบวชเกลี้ยงเลย ท่านกาฬุทายีก่อนไปท่านก็ขอบวช พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุญาตบวชได้ ...แต่ต้องเชิญพระลูกเจ้ากลับมากรุงกบิลพัสดุ์ให้ได้
              ท่านกาฬุทายีนี่ท่านเป็นสหชาติ คือเกิดพร้อมพระพุทธเจ้า ที่เกิดพร้อมพระพุทธเจ้ามีพระอานนท์ พระนางพิมพาราชเทวี กาทายีอำมาตย์ นายฉันนะมหาดเล็ก ขุมทองทั้งสี่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วก็ม้ากัณฐกะ พวกนี้เกิดพร้อมกันวันเดียวกัน เลยเรียกว่าเป็นสหชาติ คราวนี้กาฬุทายีอำมาตย์นี่ท่านฉลาด พระเจ้าสุทโธทนะคิดถึงลูกชายเต็มที เมื่อไรก็ไม่มา ส่งทูตไปกี่คณะกี่คณะก็บวชหายจ้อยกันหมด กาฬุทายีอำมาตย์พอได้รับคำสั่งให้ไป ท่านขอพรว่า “ถ้าต้องการจะบวชก็ขอให้ได้บวช แต่ว่าจะไม่ลืมหน้าที่นี้” เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะอนุญาตท่านก็ไป ฟังธรรมแล้วเลื่อมใสก็บวช เป็นพระอรหันต์แล้วท่านยังรอเวลาอยู่ รอจนกระทั่งเริ่มย่างเข้าฤดูฝน ท่านจึงพรรณนาให้พระพุทธเจ้าฟังว่า ตอนนี้หนทางก็ราบเรียบแล้ว ฝุ่นก็ไม่มี ต้นไม้เริ่มเขียวชอุ่มเย็นตา น้ำท่าก็หาได้ง่าย สะดวกกับการเดินทางไกลแล้ว พระพุทธเจ้าเลยถามว่า “ดูก่อน ...กาฬุทายี เธอพรรณนาเรื่องนี้ต้องการอะไร ?” ทั้ง ๆ ที่รู้แล้วก็แกล้งถาม พระกาฬุทายีกราบทูลว่า “พระองค์เสด็จจากมาหลายปีเหลือเกิน พระประยุรญาติโดยเฉพาะพระราชบิดาคิดถึงมาก ขอให้เสด็จกลับไปโปรดด้วย” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นเธอล่วงหน้าไปก่อน ตถาคตและหมู่สงฆ์จะค่อย ๆ เดินตามไป” พระพุทธเจ้าตั้งพระทัยจะเดินทางวันละโยชน์ก็พอ พระพุทธเจ้าท่านเดินได้วันละ ๑๒๐ โยชน์ แต่ท่านก็ใช้วีธีตีกินไปเรื่อย เพราะท่านรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย พวกศากยะนี่หัวแข็ง มือไม้แข็ง ถือตัวถือตนกันสาหัสเลย ถ้าไม่มีใครไปจัดการให้อ่อนน้อมลงก่อนนี่ บางครั้งการไปของท่านจะเป็นโทษมากกว่า เลยส่งท่านกาฬุทายีกลับไปก่อน พอท่านกาฬุทายีไปถึง พระเจ้าสุทโธทนะก็รับบาตรไปถวายอาหาร ท่านกาฬุทายีบอกว่า “ขอเอาไปถวายพระลูกเจ้าก่อน” พระเจ้าสุทโธทนะตรัสว่า “นิมนต์ฉันก่อนเถิด ของพระลูกเจ้าเราได้เตรียมไว้ให้แล้ว”
              ท่านกาฬุทายีฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะก็จัดอาหารใส่บาตรให้ใหม่ ท่านนำเหาะไปถวายพระพุทธเจ้า พอรุ่งขึ้นก็กลับมาใหม่ ฉันเสร็จรับบิณฑบาตเสร็จแล้วเหาะไปถวายพระพุทธเจ้า ทำอย่างนี้ทุกวัน ทุกคนที่เห็นก็ โฮ้โฮ...ลูกศิษย์ยังเก่งขนาดนี้ พระพุทธเจ้าต้องเก่งกว่าแน่ บรรดาคนที่คิดจะแข็งข้อก็เลยอ่อนน้อมลงเยอะ แต่ขนาดนั้นพอไปถึงยังมีประเภทเข้ามากราบจริง ๆ ก็จะมีแต่พวกเด็ก ๆ แล้วก็มีพ่อคือพระเจ้าสุทโธทนะ เพราะท่านกราบมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ อยู่ คนอื่น ๆ บางคนก็แค่ยกมือไหว้ บางคนก็แค่ประเภทยืนอยู่ข้างหนึ่ง บางคนมาถึงก็บอกชื่อบอกโคตรแล้วก็ไปยืนอยู่ข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านถึงต้องเหาะขึ้นไปบนฟ้า พวกนี้ถือตัวถือตนดีนัก การข้ามหัวเขาถือว่าทำให้ฝุ่นละอองจากฝ่าเท้าหล่นใส่ศีรษะนี่ เป็นการดูถูกกันอย่างขนานใหญ่เลย ถ้าไม่ใช่เก่งจริง ๆ เขาจะไม่ให้อภัยเด็ดขาด เสร็จแล้วก็บันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตก พวกบรรดาพระญาติพระวงศ์ที่หัวดื้อถึงได้ยอมไม่อย่างนั้นก็ไม่ยอม
              ดังนั้น...การที่จะไปโปรดใคร พวกโปรดยากที่สุดคือญาติของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่แล้วเราเป็นเด็ก ๆ เขาเป็นผู้ใหญ่มากกว่า คนเป็นพี่เป็นพ่อเป็นแม่ปู่ย่าตาทวดก็ โอ๊ย...กูเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กจะเก่งได้สักแค่ไหน อะไรอย่างนี้
      ถาม :  ใครทูลขอให้บวชกุลบุตรที่มารดาบิดาอนุญาตเสียก่อน ?
      ตอบ :  พระเจ้าสุทโธทนะ เพราะตอนแรกพระพุทธเจ้าไปบวช ท่านเองท่านหมายมั่นปั้นมือจะมอบราชสมบัติให้หลานคือพระราหุล คราวนี้พระนางพิมพาราชเทวีพาลูกชายคือพระราหุลไปยืนอยู่ที่หน้าต่างปราสาทชั้นบน บอกว่า “ดูก่อน...ราหุล สมณะที่เดินอยู่ท่ามกลางสมณะทั้งหลายแวดล้อมอยู่มีอาการเหมือนกับพระจันทร์อันแวดล้อมด้วยหมู่ดาวนั่นคือพ่อของเธอ ให้เธอไปหาแล้วทูลขอราชสมบัติ” เพราะขุมทองทั้งสี่แห่งเป็นของคู่บุญของสิทธัตถราชกุมาร ถ้าท่านไม่อนุญาตใครก็แตะต้องไม่ได้ ถ้าพระพุทธเจ้ามอบให้ ราหุลราชกุมารจะได้นำมาใช้ได้ ปรากฏว่าพอราหุลราชกุมารไปถึงวัด พอเข้าไปถึงสบายใจอย่างไรบอกไม่ถูก ก็หลุดปากออกมาว่า “สมณะ...ภายในร่มเงาของท่านนี่ร่มเย็นจริงหนอ” พระพุทธเจ้าเล็งเห็นวิสัยว่าบวชได้ จึงตรัสว่า “ถ้าอยู่ในร่มเงาของพระศาสนา ก็ต้องร่มเย็นเป็นปกติอยู่แล้วแต่ว่าเจ้ามาเพื่ออะไร ?” ท่านตอบว่า “พระแม่เจ้าบอกว่าให้มาขอราชสมบัติจากสมเด็จพ่อ” พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “ทรัพย์ทั้งหลายอื่นใดที่จะสมควรแก่เจ้าเท่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี อย่างนั้นเจ้าจงบวชเถอะ” พระเจ้าสุทโธทนะลมใส่เลย จะให้ลูกรับราชสมบัติก็หนีไปบวช จะเหลือให้หลาน หลานก็บวชอีก ท่านถึงได้ขอบอกว่า “ต่อไปถ้าพระองค์จะบวชกุลบุตรใด ขอให้พ่อแม่อนุญาตก่อนด้วย” ลมใส่ไปเลย
      ถาม :  แสดงว่ามีโทษนิดหนึ่งแค่โลกวัชชะใช่ไหมคะ พ่อแม่ต้องอนุญาตอย่างนี้ ?
      ตอบ :  มีอยู่เรื่องหนึ่ง อย่างพระเรวัตตะจะบวช แต่แม่ไม่อนุญาต คราวนี้พระสารีบุตรท่านสั่งพระทั้งหมดไว้เลยว่า แม่ท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือว่าเป็นแม่ที่ปกครองโดยธรรมไม่ได้ ในเมื่อเป็นแม่ที่ปกครองโดยธรรมไม่ได้ ท่านเป็นพี่ใหญ่ ถือว่าท่านเป็นผู้ปกครองแทน ถ้ามีเด็กชื่อเรวัตตะมาบอกว่าเป็นน้องของอุปติสสะแล้วจะบวช ขอให้บวชให้ด้วย ท่านจะรับรองให้ นี่ท่านสั่งไว้ก่อนเลย ถ้าไม่อย่างนั้นรอให้พ่อแม่อนุญาตให้บวชนี่ พ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ให้ลูกบวชอยู่แล้ว