​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๓๕

 

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ (ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม :  ..........................?
      ตอบ :  คราวนี้เขาเคยชิน อย่างนี้เขาก็กินของเขา แล้วเขาก็เห็นว่าของเขาดี เขาก็เอาไปฝากครู ครูก็อุตส่าห์ปั้นหน้ายิ้มรับไว้ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากได้ เห็นครูเป็นลิงหรืออย่างไร ถึงได้เอากล้วยมาฝาก วันที่หนึ่งก็อยู่ตรงนั้น วันที่สองก็อยู่ตรงนั้น วันที่สามกล้วยเริ่มดำ แล้ว เด็กย่องกลับมา “ถ้าครูไม่กินหนูขอคืนนะคะ” หน้าแตกไหม ? เขาสอนได้ขนาดนั้น
              เพราะฉะนั้น...สำคัญอยู่ที่ตัวเราเอง เด็กไม่ดีจะไปโทษเด็กไม่ได้ ต้องโทษผู้ใหญ่ อย่าลืมว่าบุพการีคือผู้ที่ทำคุณก่อน แล้วก็เป็นครูบาอาจารย์คนแรก เป็นบุรพาจารย์คนแรก ก็พ่อแม่นี่แหละ ไม่ใช่ใครที่ไหนรหอก พ่อแม่ครูบาอาจารย์นี่จะต้องปั้นเขาให้ได้ดีให้ได้ ถ้าไม่ดีไม่ได้อาตมาตมาไม่เคยโทษเด็กด้วยประการทั้งปวง นั่งอยู่ตรงนี้ถ้าพ่อแม่มาพูดถึงปัญหาของลูก อาตมาว่าพ่อแม่ผิดไว้ตะบันเลย ถ้าพ่อแม่สอนถูก เด็กจะไม่ทำผิดหรอก
      ถาม :  มีคนเขาไปเห็นคนรวยมีความทุกข์ เพราะต้องทะเลาะกันและฆ่ากัน ด้วยเหตุนี้เขาจึงตั้งเจตนาว่า ชาติหน้าขอเกิดเป็นคนจนจะดีกว่า เพราะเป็นคนรวยมีความทุกข์ การรำพึงรำพันและการตั้งใจแบบนั้น จะมีผลตามที่เขาตั้งใจ คือไม่เกิดเป็นคนรวยสมใจหรือไม่ ?
      ตอบ :  คงจะยาก การที่เราตั้งเจตนาอะไรแล้วจะให้ได้ผล เราต้องสร้างบุญใหญ่ก่อน เพื่อให้บุญนั้นเป็นกำลังนำส่งเราไปสู่จุดนั้น ไปนั่งรำพึงรำพันเฉย ๆ โอกาสจะเป็นนั้นยาก ถ้าได้สร้างทานบารมีมาทุกชาติ ๆ แล้วชาตินี้ก็ทำจนล้นเหลือเลย หวังว่าจะเกิดมาจนนะหรือ ? คงจนสักแบบมีเงินสี่หมื่นห้าหมื่นล้าน แต่ไม่ถึงแสนล้านอะไรทำนองนั้น
              เพราะฉะนั้น ....ถ้าไม่มีการทำบุญใหญ่ก่อน แล้วตั้งเจตนาว่าจะให้ผลบุญที่ทำส่งผลอย่างไร ก็ไม่มีทางได้รหอก อยากจะจนหรือ เงินทับตายพอดี อย่างกำนันเป๊าะ เคยมีคนถามว่า “กำนันมีเงินเท่าไหร่ ?” ไม่รู้เหมือนกัน ผมก็นับไม่ไหว ทั้ง ๆ ที่แกก็ไม่ใช่คนรวยมาก แล้วลองคิดดูว่าถ้าเป็นคุณทักษิณจะนับไหวไหม ?
      ถาม :  รถทัวร์สายกรุงเทพฯ - บ้านนอกไม่มี มีแต่รถกรุงเทพฯ-จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ดูเหมือนว่าคนเราจะรู้สึกไม่มั่นใจ เมื่อรู้สึกว่าเงินในกระเป๋ามีน้อย หรือยอู่ในจังหวัดที่ไม่เจริญ คำถามคือ เราจะสร้างความมั่นใจให้ตัวเองได้อย่างไรบ้าง ? และที่พึ่งของคนทั่วไป ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนเข็ญใจคือสิ่งใด ?
      ตอบ :  การที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ตัวเองได้ อันดับแรกต้องมีศรัทธาคือความเชื่อมั่นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้แก่ การเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย การเชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเชื่อมั่นในผู้นำ การเชื่อมั่นในตนเอง เป็นต้น ข้อที่ ๒ ต้องเป็นผู้มีศีล ถ้าศีลเราทรงตัวจะมีความกล้าหาญไม่ว่าอยู่ในสังคมไหนก็ไม่หวั่นไหว ข้อที่ ๓ ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก ถ้าเคยผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มามาก ความมั่นใจจะเกิดขึ้นแก่ตัวเอง และข้อสุดท้ายต้องเป็นผู้มีปัญญา คนมีปัญญาอยู่ที่ไหนก็มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งนั้น
              ถามว่าเราควรจะยึดอะไรเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งใหญ่ของเราคือ ทาน ศีล ภาวนา แต่คราวนี้ ทาน ศีล ภาวนานั้น เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แล้วหลวงปู่หลวงพ่อนำมาถ่ายทอดต่อ ดังนั้น...ที่พึ่งที่แท้จริงของเราคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งไหนที่ท่านสอนมาเราทำตามนั้น จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงได้ เหมือนกับเขียนกระทู้นะคุณ หัวข้อเยอะอย่างไรต้องลากมาลงเรื่องเดียวกันให้ได้ ใครเรียนนักธรรมมาจะต้องเจอ....ใช่ไหม ? กระทู้แล้วตั้งข้อหัวให้เทศน์ แล้วก็เทศน์บนหน้ากระดาษ ทำอย่างไรจะลากมาลงจุดจบของเราให้ได้
      ถาม :  ท่านลกุลฑกภัททิยเถระ ท่านว่าเห็นฟันเพียงซี่เดียวของหญิงสาวแล้วเอามาคิดเป็นกรรมฐาน จัดอยู่ในหมวดใดของกรรมฐาน และใช้อารมณ์คิดอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  อัฐิกอสุภะ คือเป็นอสุภกรรมฐานในจุดที่เพ่งกระดูกเป็นอารมณ์ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วร่างกายนี้ที่มีความสวยงามอยู่จริง ๆ แล้วที่ทรงอยู่ได้ เพราะมีกระดูกเป็นแกน ถ้าถอดกระดูกออกเสียอย่างเดียว ทุกอย่างก็คงรูปอยู่ไม่ได้
              สภาพที่แท้จริงของเรา มีแต่กระดูกนี้เท่านั้นที่ทรงตัวอยู่ แต่ก็ทรงตัวเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าผ่านกาลเวลานานไป ขนาดกระดูกก็ผุเปื่อยสลายไป ไม่มีอะไรหลงเหลือเหมือนกันไม่ว่าจะตัวเขาหรือตัวเราก็มีสภาพดังนี้ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด เกิดมาเมื่อไรก็ทุกข์อย่างนี้ อีก เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ แล้วเราจะเกิดมาทุกข์ทำไม ท่านวางกำลังใจอย่างนี้แหละจ้ะ
              พระลกุลฑกภัททิยเถระมีเรื่องตลกอยู่อย่าง คือคนเห็นท่านเป็นเณรอยู่เสมอ ท่านตัวเล็กนิดเดียวพระต่างจัดหวัดมาไม่รู้หรอกว่านี่พระอรหันต์เขกหัวเล่น พระพุทธเจ้ากลัวจะเป็นโทษต้องแกล้งไปถามว่า “เห็นพระเถระไหม ?” พระท่านทูลว่า “ไม่เห็น” ตรัสว่า “ที่นั่งอยู่ตรงข้างหน้านั่นอย่างไร” พระท่านว่า “เห็นแต่เณรตัวเล็ก ๆ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นั่นแหละ พระเถระ” พระอื่นถึงจะรู้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าจะเรียกพระอรหันต์ทุกองค์ว่าพระเถระ
              ในบาลีบอกว่า ในอดีตชาติท่านเป็นนายช่าง รับจ้างสร้างแต่วัดวาอาราม คราวนี้ท่านเป็นคนค่อนข้างช่างต่อรอง เขาจะสร้างเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ ท่านบอกว่าครึ่งโยชน์ก็พอ เขาจะสร้างปราสาทสูงครึ่งโยชน์ ท่านก็บอกว่าหนึ่งส่วนสี่โยชน์ก็พอ ต่อลดไปเรื่อย
              อานิสงส์ตัวนี้ทำให้เกิดชาติใหม่ตัวท่านเล็กนิดเดียว แต่ความจริงก็น่ารักดี ไปไหนไม่เกะกะเขาด้วย ...ใช่ไหม ทำให้คนเรียกว่าท่านลกุลฑกภัททิยะ คือท่านภัททิยะร่างเล็ก เล็กนิดเดียว คนเห็นเป็นเณรอยู่เสมอเลย
      ถาม :  ท่านพระกุมารกัสปะเถระ ในเรื่องท่านว่าเป็นผู้เลิศในทางตอบปัญหาธรรม (ถ้าผิดขอขมาด้วยครับ) การมีปัญญาที่ว่านั้นอาศัยอานิสงส์ใดเป็นเหตุครับ ?
      ตอบ :  ท่านเลิศในทางยกอุปมาด้วยถ้อยคำอันวิจิตรพิสดาร อานิสงส์ที่จะทำให้มีปัญญาเกิดจากอันดับแรก อานิสงส์การภาวนา ถ้าใครภาวนาจิตสงบอยู่เสมอ ปัญญาจะเกิดได้ง่าย เกิดชาติใหม่จะมาก
              ข้อที่สอง ต้องเป็นผู้ที่มีการให้ธรรมทาน ธรรมทานนี่ทั้งที่เราปฏิบัติได้ แล้วนำไปสั่งสอนคนอื่นเขาก็ดี ให้เป็นหนังสือหนังหาหรือพระไตรปิฎกก็ดีจัดเป็นธรรมทานทั้งนั้น ถ้าเป็นธรรมทานแท้คือหนังสือธรรมะ ก็ยิ่งมีอานิสงส์มาก จะมีปัญญาฉลาดมากมาย ต้องมีการภาวนาอย่างหนึ่ง และให้ธรรมทานอย่างหนึ่ง
              พระกุมารกัสสปะทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายในสังฆมณฑล ชนิดที่พระเทวทัตเกือบ ๆ จะจับแม่ท่านสึก เพราะแม่ท่านเป็นภิกษุณีแล้วก็ท้องป่อง ให้พระเทวทัตไปตัดสินก็จะจับสึกท่าเดียว คณะสงฆ์ต้องมอบหมายให้พระอุบาลีและนางวิสาขาเข้าไปจัดการ
              พระอุบาลีท่านให้นางวิสาขาไปซักไซ้ไล่เรียง นับวันย้อนหลังกันเลย เกิดเมื่อไร ไล่ไปปรากฎว่า ไปครบ ๑๐ เดือนตอนก่อนท่านบวช แสดงว่าติดท้องมาโดยที่แม่ไม่รู้ ตั้งแต่ตอนบวชมานี่ศีลของแม่ท่านครบทุกสิกขาบทแน่นอน กลายเป็นว่าทั้งภิกษุและภิกษุณีต้องช่วยกันเลี้ยงเด็ก จนพระราชาต้องขอไปเลี้ยงเอง พอโตขึ้นมาหน่อยก็ให้บวชเณร แล้วท่านก็เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ น่าทึ่งนะ
      ถาม :  ในตำราท่านว่าไว้เกี่ยวกับเรื่องพระนารทะ ว่าบรรดาวรรณะกษัตริย์และสมณชีพราหมณ์ต่างพากันทิ้งบ้านทิ้งเมืองเพื่อมาปฏิบัติธรรมกันหมด ท่านแสดงธรรมหัวข้อใดเป็นพิเศษ ?
      ตอบ :  ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทุกองค์หรือพระอริยเจ้าทุกองค์ท่านแสดงจะรวมลงในทุกขอริยสัจ คือเรื่องของความทุกข์ของโลกนี้และร่างกายนี้ คราวนี้แตกแขนงออกไปได้เป็นต่าง ๆ นานา อย่างพระพุทธเจ้าของเราสอนเอาไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อด้วยกัน สำคัญอยู่ตรงที่ว่าหัวข้อไหนใครเป็นผู้ชอบใจอย่างไร ก็จะบอกกันปากต่อปาก จนกระทั่งคนเขาร่ำลือกันกว้างไกลออกไป คนก็มามากขึ้นทุกที ๆ ถ้าอย่างของท่านนี่เรียกว่ามากันแทบหมดเมืองเลย ไปกันชนิดเรียกว่าเมืองร้างกันไปข้างหนึ่งเลย
      ถาม :  เพลง Rhythm & blue. Blue คำนี้เข้าใจว่าไม่ได้แปลว่าสีฟ้า แปลกันว่าพร่ำเพ้อ เพลงลักษณะนี้จะมีการโหยหวนและเอื้อนเสียงในเรื่องความรักและอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือดนตรีประเภทใด เราจะหาประโยชน์ของดนตรียากหน่อย แต่จะพบประโยชน์ของเพลงในเรื่องพระอภัยมณี เมื่อพระบิดาท่านถามว่า “ประโยชน์ของปี่ ท่านเรียมาทำอะไรได้บ้าง ?” ก็ได้รับคำตอบว่า “เป่าปี่แล้วสามารถทำให้คนเป็นอะไรก็ได้ หรือเอาไว้ฆ่าคนก็ได้” ซึ่งประโยชน์ของเพลงในด้านหนึ่งยังพอจะมีประโยชน์โดยประการใดหรือไม่ ?
      ตอบ :  ประโยชน์ก็มี แต่ถ้าขาดสติโทษก็มาก Blue ของเราที่ว่าน่ะ ถ้าแปลเป็นไทยชัด ๆ เขาเรียกว่า เพลงโศก ในเมื่อเป็นเพลงโศกก็มีการคร่ำครวญกันเป็นปกติ อย่างที่สุนทรท่านว่า “อันดนตรีมีคุณทุกสิ่งไป ย่อมใช้ได้ดั่งจินดาค่าบุรินทร์”
              ดนตรีจริง ๆ แล้วมีคุณมหาศาล เพราะอย่างน้อย ๆ ก็ทำให้จิตใจของเราเบิกบานแจ่มใสได้ แต่ถ้าเราไปยึดติดก็จะเกิดโทษ สำหรับคนทั่ว ๆ ไปมีประโยชน์ใช้ในการจรรโลงชีวิต แต่สำหรับนักปฏิบัติ ถ้าไม่รู้จักคิดไม่รู้จักพิจารณา ไปหลงยึดติดก็ทำให้ทุกข์อีก
              เคยเห็นดนตรีที่เขาเก่งจริง ๆ ไหม ? เอาอย่างในเรื่องมังกรหยก ที่สามปราชญ์คุนหลุน เขาเป็นเซียนกระบี่ เซียนหมากรุก เซียนพิณ สามารถดีดพิณให้นกทั้งหมดมารวมกันได้ เลียนเสียงธรรมชาิตได้ จริง ๆ แล้วเสียงดนตรีที่เราฟังหยาบมาก ถ้าดนตรีทิพย์ของเทวดาของนางฟ้าเขานี่ ฟังแล้วไม่อยากเลิก เพราะจริง ๆ
              แต่ทุกสิ่งทุกอย่างในความเป็นทิพย์ โอกาสที่เราสัมผัสมีน้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะใครเคยเห็นนางฟ้ามานี่จะหมดอยากไปเลย ภาษิตจีนเขาว่า “ผ่านทะเลเห็นน้ำไร้ความหมาย” ทะเลกว้างขนาดไหน บ่อน้ำเล็กนิดเดียวจะไปสู้ได้หรือ ? ถ้าเห็นสวยขนาดนางฟ้ามา ขนาดพระนันทะกำลังจะแต่งงานอยู่แท้ ๆ ยังหมดอยากเลย
              ท่านเปรียบเทียบว่าถ้านางชนบทกัลยาณีที่จะแต่งกับตัเวอง เปรียบกับนางฟ้าแล้ว นางชนทบกัลยาณีเหมือนอย่างกับลิงขี้เรื้อน หูแหว่งจมูกวิ่น หมดท่าเลย อาตมาเอง แหม...เห็นแล้วอยากได้ สวยจริง ๆ เดี๋ยวต้องเอาอย่างท่านนันทะบ้าง
              พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อน...นันทะ ถ้าเธอปฏิบัติธรรมตามที่ตถาคตบอก ตถาคตรับรองว่าจะได้นางฟ้าเป็นชายา” พระนันทะเถระว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ยอมปฏิบัติธรรม ถึงเวลาตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติจนกลายเป็นพระอรหันต์
              ตอนนั้นพระท่านร่ำลือกันว่า พระนันทะเถระนี่ท่านปฏิบัติธรรม เพราะต้องการแลกกับนางฟ้า คราวนี้อยู่ ๆ ท่านก็เหมือนอย่างกับเงียบไปเฉย ๆ เลิกไปเฉย ๆ ก็ไปแซวท่านว่า “ไม่เอานางฟ้าแล้วหรือ ?” ท่านบอกว่า “ขึ้นชื่อว่าความอยากแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว”
              แหม...พระสมัยนั้นก็ร้าย ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า “พระนันทะเถระ พยากรณ์มรรคผลตัวเอง ต้องอาบัติปาราชิก” พระพุทธเจ้าต้องยืนยันให้ ว่าท่านพูดความจริง ไม่ถือว่าเป็นปาราชิก
              มีเพลงไทยอยู่เพลงหนึ่ง ถ้าใครเคยฟังดนตรีไทย ชื่อเพลงบุหลันเลื่อนลอยฟ้า บางคนเรียกว่าเพลงทรงสุบินนิมิต รัชกาลที่ ๖ นิมิตว่า มีเทวดามาเล่นเพลงนี้ให้ฟัง เสร็จแล้วพระองค์ท่านตั้งใจจำไว้ พอตื่นขึ้นมารีบเรียกนักดนตรีมาบอกทางเพลงให้ สมัยก่อนเขาเรียกว่าต่อเพลง คือมาบอกให้ว่าต้องเล่นอย่างไร จังหวะอย่างไร เสียงอย่างไร เลยเป็นเพลงบุหลันเลื่อนลอยฟ้า ลอง ๆ ไปหาฟังดูเถอะ
              เท่าที่เคยฟัง ๆ มา มีสองสามคนเป่าขลุ่ยเก่ง สีซอเก่ง เล่นแคนเก่ง เก่งขนาดที่ว่าเขาเล่นแล้วเราไม่อยากให้เลิก แต่คนเล่นจะเหนื่อยตายเอา โดยเฉพาะเครื่องเป่า ดนตรีนั้นไม่เกินอะไรไปกว่า ดีด สี ตี เป่า เขย่า เคาะ มีอยู่แค่นั้นแหละ
              แหม...คน ๆ หนึ่งเล่นได้ถึงขนาดที่เราไม่อยากให้เลิกนี่ ก็เหนือมนุษย์เหมือนกัน แต่ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน การเล่นดนตรีต่าง ๆ เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง เพราะไม่ว่ามือไม้ก็ดี อะไรก็ดี จะต้องไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกที่กำหนดไปด้วยว่า ต้องเล่นโน้ตไหน ต้องเล่นอย่างไร สมาธิต้องดี ไม่ดีก็พลาด
              แล้วยิ่งโบราณนี่เขาเล่นต่อกันปากเปล่า ไม่มีโน้ตไม่มีอะไร มาสมัยนี้ฝรั่งเขาพยายามจะทำดนตรีของเราให้เป็นสากล มีการใส่โน้ตลงไป ใส่โน้ตเมื่อไรก็เดี้ยงเมื่อนั้น ดนตรีสมัยก่อนเขาจะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ลักษณะที่เรียกว่าเป็นลูกไม้ประจำสายดนตรีของเขาอยู่ ถ้าทุกอย่างโดนจับไปลง block เดียวกันก็จะหมดไปเลย
              คนสมัยก่อนเขาเล่นพวกนี้แหละทำให้จิตใจเขาสงบเยือกเย็น เวลาเข้าไปศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมก็เข้าถึงธรรมได้ง่าย ถึงฌานสมาบัติได้ง่าย เพราะใจเย็นใจนิ่งอยู่แล้ว พอไปเจอของที่หยุดเลย ก็ไม่ต้องใช้กำลังมาก แต่สมัยนี้ใจเตลิดเปิดเปิงอยู่ตลอดเวลา พอไปเจอของหยุดเข้า กลายเป็นคนละทิศ สุดโต่งไปคนละข้างเลย สมัยนี้จึงทำสมาธิได้ยาก
      ถาม :  ถ้าอย่างนี้คนฟังเพลงแล้วรู้สึกเศร้า ๆ ล่ะครับ แล้วนึกถึงไม่เที่ยงอย่างนี้จะเป็นธรรมะได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ยาก...ถ้าจะนึกให้เป็นธรรมะจริง ๆ ต้องนึกตั้งแต่เขาเล่น เสียงทุกอย่างก็ไม่เที่ยง เคาะก็ดังปิ๊งเดียว ถ้าไม่เคาะต่อเนื่องทำนองก็ไม่ออกมา แสดงว่าไม่เที่ยงเป็นปกติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป คนเล่นทั้งหลายก็เหนื่อย คนเหนื่อยทุกข์ไหม ? เขาต้องมาเล่นดนตรีเพราะอะไร ? เพื่อปากท้องตัวเอง เพื่อครอบครัว ถ้าไม่ได้เล่นก็ไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่มีทรัพย์สินไปจุนเจือครอบครัวตัวเอง ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์ยาก ลำบาก และท้ายสุดทั้งตัวคนเล่นก็ดี เครื่องดนตรีก็ดี ในที่สุดก็พังทั้งคู่ แต่ถ้าเรารู้จักคิดรู้จักพิจารณาอย่างนี้ ดนตรีก็จะจืดไม่เป็นท่าเลย