​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๓๗

 

เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒

      ถาม :  เรื่องการถ่ายทอดความรู้หลายคนมีความสามารถ เรียนรู้ได้เก่งมาก ผ่านการทดสอบด้วยคะแนนที่สูง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ของตนเองให้คนอื่นเข้าใจได้ ตรงนี้ขาดอะไรไปใครรู้บ้าง ?
              สมัยก่อนเวลาบรรยายร่วมกับ ดร.โกมล แพรกทอง อาตมาต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที เพราะท่านจะบรรยายในแบบที่ท่านรู้ โดยไม่ได้ดูว่าคนฟังเป็นใคร ท่านขึ้นสูงแล้วลงไม่เป็น ถามว่าดร.โกมล เก่งไหม ? เก่งมาก...ความรู้แน่นเลย ประเภทพูดได้หลาย ๆ ชั่วโมงโดยไม่ต้องเปิดตำราดูแม้แต่นิดเดียว แต่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยมักจะมีปัญหา
              ทำอย่างไรที่เราจะถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นรู้ ในลักษณะที่ว่าง่ายสำหรับเขา ตรงจุดนี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำของลึกให้ตื้น ทำของยากให้ง่าย ส่วนพวกเรานี่ถนัดในการทำของยากให้ยากยิ่งขึ้น

—————————————


      ถาม :  ในกรณีที่พระยืมเงินฆราวาสหรือยืมเงินพระด้วยกัน แล้วมีการรับปากว่าจะใช้หนี้ ปรากฎว่าหายไปไม่ได้ติดต่อกัน ตรงนี้จะเป็นอย่างไร ?
      ตอบถ้าหากท่านเจตนาโกง แต่ญาติโยมยังไม่ทอดธุระ คือยังติดตามอยู่ ท่านยังไม่โดนอาบัติ แต่ถ้าหากญาติโยมทอดธุระ ตัดใจว่าไม่เอาแล้ว ถ้าหนึ่งบาทขึ้นไป ก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระไปเลย
              จริง ๆ แล้วพระไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินขนาดนั้น แต่ก็แปลกใจที่มีการกู้ยืมอยู่ตลอดเวลา อาตมาไปอยู่ที่เกาะพระฤๅษีไม่นาน ก็มีคนมาขอกู้เงิน รายแรกเป็นผู้ใหญ่บ้าน รายถัดไปเป็นเจ้าแม่เงินกู้อยู่แถว ๆ นั้น เขาจะเอาเงินไปปล่อยให้ชาวบ้าน เขาบอกไว้เสร็จสรรพเลย จะเอาไปปล่อยร้อยละ ๗ เขาจะให้อาตมาร้อยละ ๓ ก็บอกเขาไปว่าให้กู้ไม่ได้หรอก เป็นพระแล้วมาปล่อยเงินกู้ได้อย่างไร เขาบอกว่า พระนี่แหละที่หนูยืมมาเยอะแล้ว...!
              ตั้งแต่นั้นมาใครมาขอกู้เงิน อาตมาไม่เคยปฏิเสธเลย มาเลยจะเอาเท่าไร ทำสัญญามาเลย คิดดอกร้อยละ ๑๒๐ หักดอกไว้เลย ปรากฎว่าไม่เห็นมีใครมาเอาสักคน...! ถ้าเขายืมเราสักหมื่นหนึ่ง เราก็ได้หมื่นสองแถม เขายังต้องติดหนี้เราอีกหมื่นหนึ่งด้วย
              ไม่อยากปฏิเสธเดี๋ยวเสียน้ำใจ ยินดีให้กู้ทุกราย

—————————————


              อีกห้าปีข้างหน้าจะมีงาน ๑๐๐ ปีหลวงปู่สาย ครั้งนี้จะมีศิษย์เก่าคืนสู่เหย้า วันก่อนตอนประชุมคณะกรรมการวัด บอกว่างาน ๑๐๐ ปีหลวงปู่สายพวกลูกศิษย์เก่าจะแก่แค่ไหนต้องมา ถ้ารวมกันบวชได้ไม่ถึง ๑๐๐ รูปถือว่าไม่รักหลวงปู่จริง เพราะว่าอาตมาตั้งใจจะบวชพระถวายหลวงปู่สัก ๑๐๐​ รูป

—————————————


      ถาม :  มีฌานใช้งานแล้ว มีวิปัสสนาแบบใช้งานหรือไม่คะ ?
      ตอบ :  มี
      ถาม :  รู้สึกอารมณ์ใจเบากว่าเมื่อก่อนไม่หนัก...แต่ว่าก็ยังกระเพื่อมอยู่ ?
      ตอบ :  กระเพื่อมไม่เป็นไร รู้ตัวก็รีบหนี เหมือนกับโผล่หัวออกมาจากรู เห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีก็ผลุบกลับไปใหม่ รู้จักเต่าใช่ไหม ? นั่นเลยโผล่หัวมาเจออันตรายก็ผลุบเข้ากระดองไป ใส่เกราะเอาไว้ก่อนจะได้ไม่เจ็บตัว

—————————————


              การปฏิบัติจริง ๆ เขาเอาแค่เพียงอย่างเดียว บางทีเราไปทำหลายอย่างก็ทำให้ช้าได้ ถ้าหากว่าทำอย่างเดียวจนกำลังใจทรงตัวแล้ว เอากำลังนั้นไปใช้ในการพิจารณาตัดกิเลสก็จะง่าย ถ้าทำถึงที่สุดแล้ว วิสัยเดิม ๆ จะกลับมา ไม่ต้องไปเสียเวลาฝึกหลายอย่าง
              อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว
              แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล

              เวลาทำอะไรอย่าทำแบบเป็ด เพราะเป็ดทำได้ทุกอย่าง แต่ทำดีได้ยาก โบราณเขาบอกว่า
              แม้นจะขันขันได้ไม่เหมือนไก่ บินก็ได้แต่ไม่ทันพันธุ์ปักษา ว่ายน้ำได้ก็ไม่ทันเหล่าพันธุ์ปลา เหมือนวิชารู้หลายสิ่งไม่จริงจัง
              เคยได้ยินเป็ดขันไหม ? ขันไม่ได้เรื่องเลยทีเดียว เขาบอกว่า อย่าเอาเป็นไปขันประชันไก่ เพราะอย่างไรก็สู้ไม่ได้ ก็หมายความว่าอย่าเอาคนที่ไม่ถนัดไปทำงานแข่งกับคนที่ถนัด
              ส่วนเป็ดที่บินแต่ก็บินสู้นกไม่ได้ เพราะว่าเป็ดต้องบินเป็นช่วง ๆ แล้วต้องพัก แต่นกนี่บินยาวได้เลย ส่วนเป็ดนี่ดำน้ำได้ แต่ดำได้ครึ่งค่อนตัวเท่านั้นแหละ เขาถึงได้บอวก่า ทำอะไรอย่าทำแบบเป็ด เพราะเป็ดทำเป็นทุกอย่าง แต่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
              ในเรื่องกรรมฐานเหมือนกันเอาให้จริงให้ได้สักกองหนึ่ง แล้วใช้กำลังนั้นไปตัดกิเลส แต่ถ้าไปหยิบหลาย ๆ กองแล้วจะเป็นแบบเป็ด
              การเลี้ยงลูกอย่ารักลูกมาก ปล่อยให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองให้เร็วที่สุด ถึงเวลาเกิดปุ๊บปั๊บเขาไม่มีเรา เขาจะได้อยู่ได้ ไปตามปกป้อง ไปตามดูแล ไปตามสงเคราะห์ ถ้าหากเราตายก่อน เขาจะทำอะไรไม่เป็น เราซวยหนักเข้าไปอีก เคยอ่านเรื่องพ่อแม่รังแกฉันบ้างไหม ? ที่เขาว่า.... มีซินแสแก่เฒ่าได้เล่าไข ถึงเรื่องงิ้วว่าเล่นกันเช่นไร มีข้อใหญ่นั้นเป็นเช่นละคร แต่ข้อหนึ่งแกเล่าเขาประสงค์ มุ่งจำนงในข้างเป็นทางสอน ชี้ทางธรรม์มรรยาทแก่ราษฎร เหมือนละครสุภาษิตไม่ผิดกัน เราบวชนาคโกนจุกในยุคก่อน มีกล่าวกลอนเพราะพริ้งทำมิ่งขวัญ การขันหมากยุคเก่าท่านเล่ากัน มีสวดฉันท์เรียกว่าสวดมาไลย์ เค้าก็คือท่านหวังจะสั่งสอน แต่ผันผ่อนตามนิยมสมสมัย มีเฮฮาพาสนุกเครื่องปลุกใจ สมกับได้มีงานการมงคล ฯลฯ
              ลองไปหาอ่านดู เรื่องพ่อแม่รังแกฉัน ของพระยาอุปกิตศิลปสาร

*************************


              ในเรื่องของการปฏิบัติ ต้องวางอารมณ์ให้พอดี ถ้าไม่พอดี เกินหรือขาด โอกาสที่จะเข้าถึงเป้าหมายก็ยาก แล้วที่ทุกคนจะต้องเจออยู่จุดหนึ่งก็คือ พอทำ ๆ ไปช่วงหนึ่งแล้วตัน ไปต่อไม่ได้ อันนั้นไม่ได้หมายความว่าเราทำแล้วไม่ได้ผล หากแต่เกิดจาก สติ สมาธิ ปัญญาของเราที่สั่งสมมายังไม่พอที่จะก้าวพ้นจุดนั้นได้ ดังนั้น...จึงไม่ใช่เลิกทำ แต่ต้องย้ำแล้วย้ำอีก ทำแล้วทำอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ในลักษณะนั้น เบื่อไม่ได้
              พอถึงเวลาแล้วไม่ได้อย่างใจ ความต้องการที่จะให้ได้อย่างใจจะทำให้เราหงุดหงิด เบื่อ เซ็ง บางคนก็ประชดชีวิตไปเลย เราเบื่อไม่ได้ ให้รู้ไว้ด้วยว่าเกิดจากการสั่งสมของศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ได้ในระดับหนึ่ง ต้องซักซ้อมใหม่ ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตอกหัวตะปูเข้าไป เดี๋ยวก็จมมิดไปเอง เมื่อกำลังพอ ถึงเวลาเมื่อเราก้าวล่วงไปแล้วหันไปดู อ้าว...คราวที่แล้วโง่ฉิบหายเลย ก็เสือกโง่เอง
              เหมือนกับว่า นักโทษเจาะกำแพง เจาะไป ๆ มุดเข้าไปทั้งตัวแล้วยังไม่ทะลุสักที เบื่อ ถอยกับ หมดกำลังใจ ท้อถอย แล้วเมื่อไรจะหนีพ้นคุกไปได้ ?

*************************


              กรรมฐานให้เริ่มจากที่เราถนัด พอเราทำที่ถนัดจนอารมณ์ใจทรงตัวสูงสุดแล้ว เราค่อยถอยลงมาเริ่มของใหม่ที่เราจะทำ แต่เรามาถึงแล้วก็ไปเริ่มใหม่ มาถึงก็ไปเริ่มใหม่ ก็เลย ก.ไก่ ข.ไข่อยู่เรื่อย

*************************


              ในการจารตระกรุดมหาสะท้อน กำลังใจต้องได้ชนิดที่ว่าจารเสร็จใช้งานได้เลย

*************************


              เท่าที่เจอมา บางทีสิ่งที่อาตมาสอนก็เป็นดาบสองคม ดังนั้น...เรื่องการปฏิบัติสำคัญที่สุดก็คือเป้าหมาย เราต้องทบทวนไตร่ตรองอยู่เสมอ ๆ นี่คือ ตัววิมังสาในอิทธิบาท ๔
              เราทำเพื่ออะไร ? ตอนนี้ทำถึงไหน ? ยังตรงเป้าหมายหรือเปล่า ? เหลืออีกใกล้ไกลเท่าไร ? ถ้าหากเราไม่ทวนตรงนี้บ่อย ๆ ก็จะหลุดเป้า แล้วเดี๋ยวจะเติลดเปิดเปิงไปตามที่เขาหลอก

*************************


              เรื่องความกลัวนั้น ถ้าหากเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องปกติแล้ว เราจะหมดความกลัวทุกอย่างเลย
              อาตมาตามดูมาเป็นปี ๆ เรื่องกลัวตาย เช่น กลัวผี ผีหลอกแล้วจะบีบคอเรา แล้วเราจะเป็นอย่างไร เราก็ตาย หรือเข้าป่ากลัวงูกัด กัดแล้วเป็นอย่างไร ก็ตาย ท้ายสุดจะมาลงที่ตายหมดเลย เพราะฉะนั้น...อาตมาเลยสรุปว่าความกลัวทั้งหมด ไม่ว่ากลัวจากภายในหรือภายนอก เกิดจากกลัวตายอย่างเดียว
              กลัวแล้วมักจะไปปรุงแต่ง อาตมาไปนั่งกรรมฐานในป่าช้า พอดึก ๆ เสียงอะไรดังจะได้ยินชัดมาก อาตมาก็ฟัง...เสียงดังอย่างนี้เหมือนเสียงงูเลื้อย ตัวไม่ใหญ่หรอก แต่ใจไปแวบว่า “ตัวขนาดนั้น ถ้ามีพิษเราโดนกัดก็ตายนะ” คราวนี้คิดไปใหญ่เลย “อาจจะใหญ่ากว่าขนาดที่เราคิดไว้นะ” คิดไปเรื่อย ประมาณชั่วโมงเดียวงูตัวนั้นใหญ่เท่าเสาเลย ก็คือใจเราปรุงเพิ่มไปเรื่อย
              ในสถานการณ์จริงสิ่งที่เราซ้อมมายังใช้ไมไ่ด้ ยังเป็นแค่เราจำได้ ยังไม่ใช่ทำได้ เพราะฉะนั้น...ทำอย่างไร เราก็สมมติสถานการณ์แล้วก็ไปซ้อมบ่อย ๆ เขาถึงได้บอกว่าต้องออกธุดงค์ ต้องเข้าป่า ต้องนอนป่าช้า ซ้อมให้จิตเคยชินเอาไว้ พอมาเจอสภาพแบบนั้นจริง ๆ จะได้ไม่กลัว
              อาตมาก็อยากรู้ที่โบราณเขาบอกว่า เข้าป่าธุดงค์อย่าไปปักกลดขวางทางสัตว์ ก็ปักเลย อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คราวนี้ขวางทางเดินประจำของเขา ก็เป็นเรื่องสิ เสือจะลงกินน้ำ อาตมาอยู่ก็ลงไม่ได้ เสือก็กลัวเป็นนะ ไม่ใช่ไม่กลัว ก็เดินวน ๆ เดี๋ยว ๆ ก็คำรามที เห็นอาตมาไม่ไปแน่ก็ไปตะกุยต้นไม้แคว่ก ๆ รุ่งเช้าไปดู โอ้โห...แหกต้นไม้อย่างกับเราซอยมะละกอทำส้มตำ
              ต้องหัดให้ได้อย่างนี้ก็คือ ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ไหนให้สติอยู่ตรงหน้า รู้อยู่ความตายเป็นของธรรมดา ร่างกายที่เรารักนักรักหนานี้ไม่ใช่ของเราหรอก เป็นเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง เราเหมือนกับคนขับรถ เวลารถพังเราเปิดประตูได้ก็ลงไปหารถคันใหม่ ถ้าเห็นเป็นธรรมดา ก็จะไม่กลัวตาย แต่ถ้าเราไปเห็นว่าเราไม่ใช่คนขับรถ ตัวเราเป็นรถยนต์ ทีนี้จะกลัวเป็นบ้าเป็นหลังเลย ใครเข้าใกล้นี่ก็กลัว เดี๋ยวใครจะชนจะเฉี่ยว
              กว่าจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา ต้องมานั่งแยกรูปแยกธาตุ กว่าจะเห็นว่าเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลมได้ แยกแล้วสลายออก แยกแล้วแยกอีก แยกแล้วรวมเข้า จนยอมรับจริง ๆ ว่าไม่ใช่ของเร าความกลัวตายจะลดลงจนหายไปเอง
              ตอนเด็ก ๆ อาตมากลัวผี แล้วห้องน้ำไม่ได้อยู่ข้างในเป็นส้วมหลุมอยู่ข้างนอกบ้าน ต้องอยู่ไกล ๆ จะได้ไม่เหม็นมาถึงบ้าน ต้องเดินผ่านป่าไปด้วย มืดตื๋อเลย ต้องอั้นอึอั้นฉี่อยู่จนสว่าง แต่พอเข้าใจแล้วก็สามารถไปได้เพราะไม่กลัว

*************************


              ในการปฏิบัติธรรมเราต้องรู้จักสังเกตอารมณ์ตัวเอง
              การสังเกตแยกแยะก็คือ ตัวธัมมวิจยะในโพชฌงค์ ๗ ต้องแยกแยะได้ ว่าเกิดจากอะไร ถ้าสิ่งที่ดีเกิดขึ้นก็พยายามทำต่อไป จะได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าสิ่งที่ชั่วเกิดขึ้น ต้องดูว่าเกิดจากอะไร แล้วพยายามเลิกทำสิ่งนั้น
              เพราะฉะนั้น...เราต้องสังเกต สังเกตไปสังเกตมา จะเป็นตัวมหาสติปัฏฐานสูตร จิตในจิต ธรรมในธรรม จะเข้าใจขึ้นไปเรื่อย ๆ

*************************


      ถาม :  อารมณ์ปีติ ?
      ตอบต้องปล่อยให้เต็มที่ ถ้าปีติเกิดต้องปล่อยให้เต็มที่ไปทีเดียวเลย อาการจึงจะเลิก แต่ถ้าเราไปรั้งเพราะอายคน เพราะกลัวคน ก็ยังจะเป็นอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเราสังเกตดู แม้ว่าจะดิ้นตึงตังโครมคราม น้ำตาไหล หรือลอยไปทั้่งตัว อะไรก็ตาม ใจเราก็ยังนิ่ง
              ในเมื่อใจเรานิ่ง ตัวอยากจะดิ้นก็ปล่อยให้ดิ้นไป ถ้าเต็มที่แล้วก็จะเลิกไปเอง แต่ถ้าหากเราไปห้ามไว้ ใจถึงตรงนั้นเมื่อไร กำลังใจได้ที่เมื่อไร ก็จะเป็นอย่างนั้นทุกที จะเป็นไม่เลิกหรอก เพราะเราไม่ยอมก้าวผ่าน ฉะนั้น...ถ้าหากเป็น ต้องปล่อยเต็มที่ไปเลย เราแค่ตามดูเฉย ๆ
              อาตมาเองดิ้นตึงตังโครมครามมาสองเดือนกว่า ก็ตามดูไปเรื่อย อ๋อ...ใจเรานิ่ง ถ้าใจนิ่ง อยากจะดิ้น ก็ดิ้นไปเถอะ...

*************************


              สำคัญที่สุดก็คือ อย่าทิ้งอานาปานสติ เรื่องของการดูลมหายใจเข้าออก ถ้าหากเราไม่ทิ้งตรงนี้ กำลังใจจะทรงตัวจะมีกำลังพอ ถึงเวลารัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมา จะมีกำลังในการยั้งคิดแล้วแรก ๆ ก็อาจจะอกแตกตาย พอโกรธขึ้นมาก็อยากด่า แต่เราจะมีกำลังพอที่ห้ามกิเลสได้
              หลังจากนั้นพอฝึกซ้อมมากขึ้น ๆ จะเจอวิธีลดความโกรธนั้นเอง ลดความโลภลง ลดราคะลง ทำไปท้ายสุดก็จะมีความแตกฉาน แล้วก็จะคว้าขึ้นมาใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ๆ ที่อยู่ตรงหน้า แต่กว่าจะเป็นอย่างนั้นหกล้มหกลุกทุกราย พูดง่าย ๆ ถ้าเป็นนักรบก็แผลทั้งตัว
              กิเลสไม่ปรานีเราหรอก เห็นเราจะหนีก็ตีตายเลย เพราะฉะนั้น...มีทางเดียวคือต้องสู้กันจริง ๆ

*************************


              จริง ๆ ถ้าทำไปถึงจุดหนึ่งแล้ว หลับกับตื่นจะเท่ากันหมด ถ้าหากหลับกับตื่นอารมณ์ใจเท่ากัน กิเลสจะกินเราไม่ได้ แต่แรก ๆ จิตจะไม่ละเอียดพอ เมื่อสติขาด ก็จะตัดหลับไปเลย
              บาลีท่านว่า พุทโธ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็คือหลับกับตื่นรู้เท่ากัน หลับก็รู้อยู่ว่าหลับ จะตื่นก็บอกตัวเองว่าพร้อมจะตื่นหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วต้องทำอะไรบ้างจะบอกทีละขั้นเลย เหมือนกับหุ่นยนต์ บอกช้ามาก แต่คนอื่นเขาจะเห็นเรายันตัวลุกขึ้นนั่งเลย แต่ความละเอียดและความไวของจิตจะเห็นตอนนั้นช้ามาก ๆ แล้วถ้าเกิดขั้นตอนไหนผิดพลาด ก็จะแก้ไขระหว่างนั้นได้ทัน
              ถ้าจิตมีความเร็วขนาดนี้ ถึงจะสู้กิเลสได้ ไม่เช่นนั้นกิเลสเกิดเร็วแล้วเราระวังไม่ทัน อาตมาเองทำมายาก แล้วก็รู้ด้วยว่าถ้าเขาทำแบบอาตมา บางทีเขาอาจจะท้อและเลิกไปเลย เพราะฉะนั้น....ใครมาถามอาตมาจะไม่ปิดบังเลย บอกหมด...ขอให้เขาทำได้จริง ๆ เถอะ
              ญาติโยมเขามาตรงนี้ เขาถามอะไรอาตมาบอกหมด บางขั้นตอนใช้เวลาเป็นปี ๆ ต้องซ้อมแล้วซ้อมอีก ย้ำแล้วย้ำอีก จนกว่าจะเกิดความชำนาญแล้วก้าวผ่านไป ถ้าคนถาม...ถามแล้วเอาไปปฏิบัติ และมีความเชื่อตามนั้น เดี๋ยวเดียวเขาก็ได้แล้วไม่ต้องไปเสียเวลานาน ๆ คนเสียเวลานานมักจะท้อหมดอารมณ์

*************************


              จริง ๆ แล้วทุกท่านได้เปรียบคนอื่น เราเรียนบาลี โอกาสที่จะเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ตรงกว่าคนอื่นจะมีมาก เพราะสามารถที่จะแปลได้เอง
              แต่ว่าการแปลเป็นในส่วนที่เป็นภาษาหนังสือ การปฏิบัติมีส่วนที่เป็นภาษาใจ ส่วนของภาษาใจนี่แหละ ที่เราไม่สามารถที่จะพูดออกมาได้ เพราะว่าภาษาเขียน ภาษาหนังสือนั้นหยาบเกินที่จะอธิบายได้ ท่านถึงได้ใช้คำว่า ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน
              อย่างเช่นไฟร้อน เราก็เขียนคำว่าร้อน ทุกคนก็รู้หมดว่าไฟร้อนแต่ก็แค่รู้ตามหนังสือ จะรู้จริง ๆ ก็ตอนไหม้แล้วร้องโอ๊ย อ๋อ...ที่เขาบอกว่าร้อนอาการเป็นอย่างนี้เอง แต่ก่อนหน้านี้เราพูดว่ารู้ ก็แค่ตามหนังสือ ยังไม่ใช่รู้จริง ๆ
              เพราะฉะนั้น...สิ่งที่เราศึกษานั้นเป็นพื้นฐาน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แปลได้ไม่ผิดพลาด แต่หลังจากนั้นแล้วต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ๆ โดยเฉพาะเรียนบาลีอย่าท้อ ถ้าหากว่าทำสมาธิได้ก็ควรที่จะทำ ถ้าสมาธิไม่ทรงตัว เรียนไปแล้วยาก เราจะท้อ...หมดกำลังใจ
              ถ้าสมาธิทรงตัว จิตที่กระเพื่อมตลอดเวลาก็จะนิ่ง เหมือนกับน้ำนิ่ง ตอนั้นกระเพื่อมเราใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ตอนที่น้ำนิ่งสะท้อนให้เราเห็นได้ทุกอย่าง เวลาที่ใจนิ่ง สมาธิได้ที่ ฟังอาจารย์แค่ครั้งเดียวก็จำได้หมดแล้ว