เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนกันยายน ๒๕๕๒
ถาม : ถ้าเป็นอารมณ์กระทบที่ไปในทางไม่พอใจ ก็ไปลงที่ถือตัวถือตนอยู่ดี ?
ตอบ : บวกกัน จะต้องมีมานะ เมื่อมีมานะก็ก่อให้เกิดโทสะ
ถาม : เวลาเกิดอารมณ์ปั่นป่วน คือเราเห็นพายุ กำลังมองดูพายุที่อยู่ข้างใน อารมณ์ที่เกิดปั่นป่วนตรงนั้น เป้นลักษณะที่เราปรุงไปแล้ว หรือว่าเกิดขึ้นตามสภาวะปกติธรรมชาติ ?
ตอบ : ปรุงไปแล้ว ถ้าไม่ปรุงก็ไม่เกิด เพียงแต่ว่าปรุงยังไม่พอ รสยังไม่ได้ที่ ถ้ารสได้ที่เมื่อไรจะมันกว่านี้เยอะ
ถึงได้บอกว่าการปฏิบัติของเราคือการฝึกสติ เมื่อสติทรงตัว รู้เท่าทัน เห็นต้นเหตุ ก็จะไม่ปรุงอีก เรียกง่าย ๆ ว่ารู้จักเข็ด ถ้าไม่รู้จักเข็ดก็ยังปรุงไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็อร่อยไปเรื่อย ๆ
*************************
“เรื่องพระธาตุไม่ตัองดูว่าจริงหรือปลอม ดูว่าใจเรายึดหรือเปล่า”
*************************
ถาม : จับภาพพระแล้วก็ภาวนาไปด้วยระหว่างวัน ก็มีอารมณ์แนบแน่นสบายดี แต่ยังแน่น หนัก ๆ หน่อย อย่างนี้ถือว่าเป็นอารมณ์พระนิพพานหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : จะว่าเป็นก็ได้ แต่เป็นจากการที่เราใช้สมาธิมาก พอใช้สมาธิมากกดกิเลสได้เหมือนกัน เขาเรียกว่าวิขัมภนวิมุตติ ข่มกิเลสเอาไว้ ถ้าข่มนานก็หลุดได้เหมือนกัน
ถาม : มีความรู้สึกว่าพระอยู่ตรงหน้าจริง ๆ พอเกิดขึ้นเยอะ ๆ เหมือนตัวเองหลุดไปในอีกมิติหนึ่ง จะโล่ง ๆ เบา ๆ อันนี้ดีใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ดี
ถาม : ภาวนาตอนนอน แล้วตัวหลุดออกไป แต่ก่อนจะหลุด รู้ตัวว่านอนนี้นิ่งแล้วนะ วืดไปแล้ว แล้วก็หลุดออกมา การที่เรารู้สึกตัวตลอดเวลาแบบนี้ แสดงว่าเราหลุดไปจริง ๆ ไม่ได้ฝันไปใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ถ้ารู้ทุกขั้นตอน ควบคุมได้ทุกขั้นตอน ก็ไปจริง ๆ
ถาม : แต่ตอนแรกที่ออกไป มืดตื๋อ มองไม่เห็นอะไรเลย ?
ตอบ : ขาดการพิจารณา
ถาม : เกี่ยวไหมว่าตอนนั้นยังไม่สว่าง ?
ตอบ : ไม่เกี่ยว ถ้าพิจารณาตัดร่างกาย ก็จะสว่าง
ถาม : พออกไปก็เหาะไปเที่ยวไปเล่น แล้วรู้สึกว่าตัวเองฝ่าลมฝ่าแดดเหมือนตัวไปจริง ๆ แสดงว่าไปแบบเต็มกำลังใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ไปแบบเต็มกำลัง
ถาม : แสดงว่าคงจะเคยถึงฌาน ๔ บ้างใช่ไหมคะ ?
ตอบ : น่าจะได้มาก่อน
ถาม : พอถึงจุดนี้ที่หลุดอออกไปทุกครั้ง ถ้าออกไปพิจารณาข้างนอกเปรียบกับคนที่เขาไม่ได้หลุดไปแต่พิจารณาอย่างนี้มีผลเหมือนกันหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : พิจารณาก่อนไป ถือว่าปลอดภัยกว่า เพราะว่ากำลังใจที่ไม่ยึดเกาะร่างกายจริง ๆ การรู้เห็นทุกอย่างจะชัดเจน ส่วนการออกไปพิจารณาข้างนอกง่ายกว่า ง่ายกว่าเพราะกายกับใจแยกออกเป็นคนละส่วนจริง ๆ ไม่ได้ยึดไม่ได้เกาะกันอยู่แล้ว ถนัดแบบไหนทำแบบนั้นก็แล้วกัน
ถาม : เมื่อหลุดไปแล้ว ก็อยากไปกราบพระบนนิพพาน ตั้งใจว่าไปก็พุ่งไปอย่างเร็ว เสร็จแล้วก็ค่อยช้าลง ๆ ร่วงลงไปยังที่เดิม ๕-๖ ครั้ง เป็นอย่างนี้ทุกครั้งเลย ?
ตอบ : สมาธิไม่พอ ปัญญาก็ไม่พอ วิปัสสนาญาณยิ่งแย่ใหญ่ เร่งสามอย่างนี้ใหม่
ถาม : แล้วขอหลวงพ่อฤๅษีช่วย อย่างนี้ไม่ได้หรือคะ ?
ตอบ : แล้วตอนนั้นขอหรือเปล่า ?
ถาม : ขอค่ะ ปรากฎว่าพอขอแล้วก็มีแรงดึงขาหนูไป แต่ไม่ได้ขึ้นข้างบนไปทางราบ แล้วก็ไปโผล่ที่กำแพงเมืองจีนค่ะ ?
ตอบ : ดีที่ไม่หลุดไปข้างล่าง
*************************
ถาม : ในชีวิตประจำวันพิจารณาทุกข์โดยที่ไม่รู้ว่าได้ฌานหรือเปล่า ตรงนี้จะมีผลอะไรหรือเปล่า ?
ตอบ : มี อย่างน้อยความดีที่เราทำได้จะได้ทรงตัว จะได้ฌานหรือไม่ได้ฌานช่างมัน ขอให้ได้ทำก็พอ
ถาม : ลูกสาวคนโตเป็นเด็กที่ขาดความอดทนมาก อันเนื่องมาจากการเลี้ยงดูของตัวเอง จะแก้ไขอะไรได้บ้าง ?
ตอบ : สอนให้ทำสมาธิ ถ้ากำลังใจเข้มแข็ง ก็จะมีความอดทนมากขึ้น
ถาม : แล้วหลัง ๆ จะมีความรู้สึกว่าเบื่อกิเลสมาก ๆ เลยพอกิเลสเข้ามาแรง ๆ ตัวเบื่อก็จะถีบกิเลสกระเด็นออกไป พอออกไปแล้ว ตัวเบื่อก็ยังอยู่รู้สึกว่าไม่ค่อยแจ่มใส ทำอย่างไรดีคะ ?
ตอบ : ดีและจำเป็นต้องรักษาไว้ด้วย เพราะว่านั่นเป็นเบื้องต้นเลยที่จะนำพาเราให้หลุดพ้น ตัวเบื่อเป็นนิพพิทาญาณ ถ้าไม่มีนิพพิทาญาณจะไม่เบื่อ ในเมื่อไม่เบื่อ เราก็จะหลุดพ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น...พยายามรักษาไว้ ทวนแล้วทวนอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้ากำลังพอ จะก้าวล่วงไปกลายเป็นสังขารุเปกขาญาณ คราวนี้จะปล่อยวาง ก็สบาย
ถาม : แล้วถ้าไม่ได้อะไร จะกระโดดไปถือศีล ๘ จะมีข้อดีช่วยในการปฏิบัติไหมคะ ?
ตอบ : ปรึกษาผัวก่อน เดี๋ยวเขาไม่ยอม
ถาม : จริง ๆ แล้วเขาเป็นคนชวนเองค่ะ แล้วเรื่องศีลแปด ในสมัยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านไม่ให้เด็กกินนมแม่ด้วยซ้ำ แล้วสมัยนี้กินนมได้หรือคะ ?
ตอบ : กินได้
ถาม : ก็สมัยก่อนไม่ได้คะ่ ?
ตอบ : นั่นของเขาตั้งใจจริง ๆ ทีนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเขากินน้ำผึ้งอะไรแทน เราก็คิดเสียว่ามื้อเดียวก็อิ่ม ที่เขาห้ามก็คือเขาห้ามอาหารแบบปกติ เด็กกินนมเป็นปกติก็เปลี่ยนซะ
*************************
“เครื่องใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าขาดการชั่งใจ ขาดสติ วันเวลาต่าง ๆ จะหมดไปเร็ว ไม่ต้องทำมาหากินอะไรหรอก เหมือนกับตอนมีมือถือใหม่ ๆ เด็กไปเรียนหนังสือก็คุยโทรศัพท์อยู่นั่นแหละ คุยกันทั้งวันยังไม่พอ การกระทำลักษณะนี้เขาจะรู้สึกว่าได้รับความสนใจจากคนอื่น
คราวนี้พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกสมัยใหม่ มักจะไม่มีเวลาให้ลูก พอไม่มีเวลาให้ลูกก็เท่ากับว่าเขาขาด ขาดในส่วนที่ต้องการในใจ เมื่อเพื่อนฝูงสามารถให้ตรงนั้นเขาได้ก็ไปติดเพื่อน โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น ต้องระมัดระวังให้ดี เทคโนโลยีมีคุณอนันต์และก็มีโทษมหันต์ในเวลาเดียวกัน”
*************************
ถาม : ต้องพิจารณาอะไรต่อไปคะ ?
ตอบ : อะไรก็ได้ที่ไม่อยากได้ในร่างกายนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีกให้เห็นความไม่เที่ยง ควาเมป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เบื่อ(ทำ) ไม่ได้ เลิกไม่ได้ เบื่อ(ทำ)เมื่อไรกิเลสจะตีกลับ
ถาม : ทุกครั้งที่ออกจากการปฏิบัติ ตาหูก็เห็นค่ะ บังคับทุกตัว ?
ตอบ : กำลังใจนึกถึงตลอดเวลา แบ่งความรู้สึกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งประมาณ ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ให้ภาพพระอยู่กับเราตลอด อีกส่วนหนึ่ง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ก็ทำงานของเราไป
เขาต้องการให้เห็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปกลัว แสดงว่ากลัวจะดี พอกำหนดรู้ไปเรื่อย ๆ ภาพพระจะเปลี่ยน สีก็จะจางลง จางลง จนกระทั่งค่อย ๆ ใสขึ้น สว่างขึ้น ไปทำต่อ คนอื่นเขาทำแทบล้มประดาตายกว่าจะได้ แต่นี่ได้แล้วดันกลัว
*************************
“งานอะไรที่ไม่มีอุปสรรค...ไม่มีหรอก เพียงแต่ว่าอุปสรรคหรือปัญหาเขามีไว้ให้แก้
มีคนเขาถาม คุณเทียม โชควัฒนา ว่าถ้ามีปัญหาที่แก้ไม่ได้ล่ะ ? เขาก็บอกว่าปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าแก้ไม่ได้จะเป็นปัญหาได้อย่างไร ซึ่งก็จริงของเขา”
การตักบาตรเทโว เกิดจากวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกว่า วันเทโวโรหณะ เขาจึงเรียกสั้น ๆ ว่า ตักบาตรเทโว
พระพุทธเจ้าเสด็จลงที่เมืองสังกัสนคร ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก็นำข้าวปลาอาหารไปถวาย คราวนี้คนมากเป็นแสน ๆ โอกาสจะเข้าใกล้ก็น้อย เมื่อเป็นดังนั้นก็เลยมีการพัฒนาในระยะหลังเป็นข้าวต้มลูกโยน เป็นข้าวเหนียวห่อใบตอง แล้วก็มีหางยาว ๆ ที่ทำด้วยใบมะพร้าว ถึงเวลาก็โยนไป
ถามว่าใช้วิธีอย่างนั้นถวายของพระพุทธเจ้าได้ไหม ...ได้ พรพุทธเจ้าท่านอนุญาตไว้ ท่านบอกว่าถ้าเจ้าของให้ด้วยใจเคารพ...รับได้ ระยะหลังบ้านเราก็พัฒนาไปอีก กลายเป็นประเพณีโยนบัวรับบัวกันที่พระประแดง
*************************
เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๒
ถาม : ถ้าอธิษฐาน (เสกของ) เรียบร้อยแล้ว ต้องเอาไปเข้าพิธีอีกไหมครับ ?
ตอบ : อยู่ที่เราถ้าเราไม่เชื่อ ขาดความมั่นใจก็ไปหาทางเข้าพิธีสัก ๗-๘ ครั้ง ก็อาจจะดีขึ้น
ถาม : อย่างนี้จะกลายเป็นปรามาสไหมครับ หลายรอบ หลายหน ?
ตอบ : จะเรียกว่าปรามาสโดยตรงก็ไม่ใช่ แต่คนที่ขาดความมั่นใจขนาดนั้นจะเอาดีอะไรก็ยาก
*************************
ถาม : ครั้งล่าสุดที่ติดอยู่ เมื่อภาวนาแบบไม่สนใจอะไร ก็ผ่านไปได้ไปอยู่ที่อารมณ์นิ่งสนิท เฉยสนิท ทำให้เข้าใจว่าเป็นฌานสี่ แต่พอลองเงี่ยหูฟังก็ยังได้ยิน เสียง แล้วก็ยังหายใจอยู่ด้วย แสดงว่ายังไม่ใช่ฌานสี่ใช่ไหมคะ ?
ตอบ : เราจะไปเอาฌานสี่แบบนิ่งสนิทอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่ามีฌานสี่แบบใช้งานด้วย ฌานสี่แบบใช้งานเหมือนกับอารมณ์ปกติทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ว่าเราสนใจอาการภายนอกหรือเปล่า ? ถ้าสนใจ...ก็รับรู้ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าจิตว่างจากรัก โลภ โกรธ หลง แต่ถ้าหากเป็นฌานสี่ที่เป็นสมาธิแบบเริ่มต้นฝึก จะไม่รับรู้อาการภายนอก ต้องสังเกตด้วยตัวของเราเอง สำคัญที่สุดว่าในขณะนั้นนิวรณ์ ๕ กินใจเราหรือเปล่า ถ้านิวรณ์กินใจเราไม่ได้ ถือว่ากำลังเพียงพอที่จะสู้กิเลสแล้ว แม้ว่าจะไม่มากพอตัดกิเลสก็ตาม
ถาม : พอถึงจุดนั้นก็รู้สึกว่า ถ้าพิจารณาได้จะดี แต่พอนึกอย่างนั้น แล้วก็พิจารณาไป เหมือนเฉื่อย ๆ อยากจะแช่อยู่อย่างนั้น ?
ตอบ : ต้องคลายกำลังใจออกมา หรือตั้งใจเลยว่าอีกครึ่งชั่วโมงเราจะคลายออกมา พอคลายออกมาแล้วเราค่อยมาคิด
ถาม : แล้วลืมตาลุกขึ้นมานั่งแบบนี้ จะคลายไหมคะ ?
ตอบ : ถ้ากำลังใจแน่นจริง ๆ หกคะเมนตีลังกายังไม่หลุดเลย
ถาม : การพิจารณาแล้วเหมือนละอะไรบางอย่างได้ แล้วทรงอารมณ์นั้นได้นาน ๆ ขึ้นอยู่กับสมาธิเป็นหลักใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ทำบ่อย ๆ ย้ำบ่อย ๆ จนกระทั่งใจยอมรับจริง ๆ ก็จะละได้ไปเอง แต่ว่าทั้งหมดนี่เป็นส่วนของสมาธิเกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้ากำลังสมาธิไม่พอ ก็ตัดไม่ได้ ละไม่ได้
*************************
ถาม : ถ้าเจอเรื่องตลกขำ ๆ แล้วหัวเราะก๊าก ๆ นี่เป็นกิเลสหรือเปล่า ?
ตอบ : จะหัวเราะก๊าก...ใครเขาจะว่าอะไร แต่ว่าก๊ากเสร็จแล้วมาอยู่กับอารมณ์เดิมของเราจะเรียกว่าเป็นกิเลสไหม ก็ยังมีส่วนเต็ม ๆ เพราะยังไปยินดียินร้ายอยู่
ถาม : แล้วพระอรหันต์หัวเราะกับปุถุชนหัวเราะ ต่างกันไหม ?
ตอบ : ของท่านเป็นแค่อาการที่สักแต่ว่าแสดงออก ของพวกเราใจไปด้วย ความรู้สึกเป็นไปตามนั้นเลย ปุถุชนนี่ความรู้สึกจะไหลตามอารมณ์ตลอด
*************************
ถาม : จะถึงสังขารุเปกขาญาณได้ ต้องผ่านนิพพิทาญาณใช่หรือเปล่าคะ ?
ตอบ : แน่นอน จะผ่านมากผ่านน้อยขึ้นอยู่กับปัญญาของเรา บางคนติดอยู่เป็นปี ๆ เฉาไปเลย
ถาม : สังขารุเปกขาญาณมีหลายระดับใช่ไหมคะ ?
ตอบ : มีตั้งแต่ระดับปุถุชน ก็คือคำว่าธรรมดา ธรรมดาของปุถุชนวางได้แค่ไหน ก็อาจช่างหัวโคตรพ่อโคตรแม่มัน ธรรมดาของกัลยาณชนทั่ว ๆ ไป ก็ช่างหัวมัน ธรรมดาของพระโสดาบันก็อาจจะช่างมัน ธรรมดาของพระอนาคามีก็ช่างเถอะ ธรรมดาของพระอรหันต์ ไม่ช่างกับใครแล้ว ไม่แตะเลย
ธรรมดาเหมือนกันแต่ว่าธรรมดาคนละระดับ ใครสามารถหาคำว่าธรรมดาเจอ สามารถหากินได้ตั้งแต่ต้นยันปลายเลย
*************************
“โบราณบอกว่าถึงไม่ใช่ญาติไม่ใช่เชื้อ ถ้ามีความเอื้อเฟื้อก็เหมือนกับเนื้ออาตมา ถึงเป็นญาติเป็นเชื้อ ถ้าไม่มีความเอื้อเฟื้อก็เหมือนกับเนื้อในป่า” (เนื้ออาตมา คือ เนื้อเราเอง)
“พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า วิสาสา ปรมา ญาติ ความคุ้นเคยเป็นยิ่งกว่าญาติ สังเกตสิว่าญาติธรรมรักกันยิ่งกว่าพี่น้องของตนเองเสียอีก”
*************************
ผีอำก็คล้าย ๆ กับคนที่หลอกเรานี่แหละ เพียงแต่ว่าคนอำพอหลอกเสร็จก็หัวเราะ แล้วบอกให้ฟังว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ผีอำนี่อำแล้วอำเลย ไม่ค่อยบอกหรอก
ถาม : แล้วเหตุที่ผีอำมีประการใดบ้าง ?
ตอบ : อันดับแรกต้องแยกก่อน เพราะผีอำมีสองอย่างด้วยกัน อย่างแรกเกิดจากเลือดลมไม่ดี พอเลือดลมไม่ดี การเดินของเลือดลมไม่คล่อง ความรู้สึกเหมือนกับมีอะไรใหญ่ ๆ ดำ ๆ มาทับให้เราอึดอัด ถ้าพยายามดิ้นรนสักพักก็หลุดออกมาได้ ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือผีจริง ๆ เลย
คราวนี้เรามากล่าวถึงอย่างที่สอง ว่าผีมาอำด้วยสาเหตุอะไรบ้าง สาเหตุแรกก็คือ เคยมีกรรมเนื่องกันมาในอีดต และเห็นว่าเรามีบุญ พอที่จะสงเคราะห์เขาได้ พยายามมาติดต่อ แต่เราก็ห่วยเหลือเกิน รับได้ไม่ชัด ผีไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็ต้องอำ
ประการที่สองก็คือ เขาต้องการจะบอกสิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่เรา คราวนี้สภาพจิตของเรามืดมัวจนเกินไป ไม่สามารถรับได้ชัดเจน อาการก็เลยอออกมาอย่างที่เห็น
ประการสุดท้ายเลย ผีหวงที่ ตั้งใจจะมาขับมาไล่ แต่ทีนี้ของเรารู้ไม่ชัด ก็ดีเหมือนกันนะ ถ้าหากรู้ชัด ๆ เดี๋ยวเขาไล่เราสำเร็จ ตกลงว่าผีกลุ้มทั้งขึ้นทั้งล่อง
*************************
ถาม : อารมณ์ปฏิฆะเป็นอารมณ์กระทบของโทสะ แล้วกามราคะไม่มีอารมณ์กระทบบ้างหรือ ?
ตอบ : มีตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส
ถาม : เพียงแต่อารมณ์เบากว่า ?
ตอบ : ไม่ใช่เบากว่า แต่เป็นสิ่งที่เรายินดี ไม่ไปผลักไส ก็เลยไม่รู้สึกว่ากระทบ แต่ว่าในเรื่องของโทสะนี่เราไม่ยินดี กระทบเมื่อไรก็ยันโครมออกไปเลย จึงรู้สึกว่ากระทบเอยะ
ถาม : กามราคะก็มีอารมณ์กระทบไม่มาก แต่ไม่เห็นมีอารมณ์กระทบในภาษาบาลีบ้าง ?
ตอบ : มี ท่านเรียกว่าปฏิฆะ
ถาม : กามคุณ ๕ ซึ่งประกอบไปด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นไปได้ไหมที่แต่ละคนจะติดในแต่ละตัวที่นหักแตกต่างกันไป ?
ตอบ : ใช่ มีแต่เฉพาะของตัวเอง
ถาม : คนที่ไม่ได้ฝึกในอรูปฌานแต่ไปละในอรูปราคะ ละในเรื่องของนามธรรม อย่างกลิ่น เสียง รส แล้วเป็นไปได้ไหมที่คนละกามราคะได้ จะละได้เฉพาะตัวรูปหรือตัวสัมผัส ?
ตอบ : แล้วแต่ว่าเขาติดเด่นตรงจุดไหน เราก็ละเฉพาะตรงจุดนั้น แต่ว่าจริง ๆ แล้วถ้าละตัวใดตัวหนึ่งแล้วก็เท่ากับละทั้งหมด เพราะกำลังในการตัดเท่ากัน ถ้าเราสามารถละอย่างแรกได้ สอง สาม สี่ ก็เหมือนกัน
ถาม : แล้วคำว่า ละ กับปล่อยวาง ต่างกันหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : ละ เดินจากไปเฉย ๆ ทิ้งให้กองอยู่ตรงนั้น ไปสะดุดเมื่อไรอาจจะเป็นโทษได้อีก แต่ถ้าหากวาง คือสลัดทิ้งไปเลย ไม่มีวันที่จะมาข้องเกี่ยวกันอีก แต่วาเราจะมาเอาศัพท์เรื่องนี้ไม่ได้ เพราะว่าบางคนอาจจะมีความรู้สึกว่า ละ เขาก็ทิ้งหมดเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่ากำลังใจจริง ๆ ของเราว่าเข้าถึงขนาดไหน ถ้าหากว่าเอาเฉพาะศัพท์ยังใช้ไม่ได้
ถาม : เมื่อก่อนมีความรู้สึกว่าปฏิบัติเพื่อที่จะละออกไป ตอนหลังรู้อยู่แล้วเหลือแค่ว่าจะยึดหรือว่าจะปล่อย เหลือแค่นี้ ?
ตอบ : แล้วทีนี้จะยึดหรือจะปล่อย ?
ถาม : ปล่อยแล้วค่ะ ยึดแล้วทุกข์
*************************
ถาม : อารมณ์ที่ชุ่มฉ่ำอยู่ในอก ออกมาเป็นกระแส สามารถที่จะบังคับให้ไปในทิศทางไหนก็ได้ บังคับให้ไปที่คนไหนก็ได้ ตรงนี้เป็นตัวพรหมวิหาร ๔ หรือเปล่าคะ ?
ตอบ : เกิดจากสมาธิที่ทรงตัว แล้วกดรัก โลภ โกรธ หลงให้ดับลงชั่วคราว เป็นทั้งปีติและสุขในฌาน แล้วหลังจากนั้น ถ้าเราใช้ความสามารถตรงนี้ในการแผ่ความรู้สึกออกไป ในการปรารถนาดีหวังดีต่อผู้อื่น ก็จะเป็นตัวพรหมวิหาร
ถาม : เมื่อก่อนตัวรักก็จะเป็นอารมณ์รักที่รัดรึงใจ ตอนหลังอารมณ์ตัวนี้กระแสเปลี่ยนไปเลย เป็นตัวเมตตาเฉย ๆ แล้วก็ไม่มีอะไรมกากว่านั้น ?
ตอบ : อันแรกยังเป็นราคะอยู่ อันหลังเป็นพรหมวิหารแล้ว
ถาม : สังเกตตัวเองว่าเหมือนคนบ้า บ้าในที่นี้คือทุ่ม ในลักษณะที่ว่าทำ ทำ ทุ่มสุดตัว เหมือนกับว่ากำลังใจสูง สูงจนกระทั่งบางวันไม่หลับ กำลังใจสูงก็พาให้สมาธิสูงด้วยแล้วก็วิปัสสนาด้วย ?
ตอบ : โดยหลักการปฏิบัติ ถ้าหากว่าอินทรีย์ ๕ เจริญ พละ ๕ ก็ตามมา คือ ถ้าหากศรัทธาเกิด พากเพียรทำไปแล้วมีผล ตัวสติ สมาธิ ปัญญา ก็จะก้าวหน้า ก็จะมีกำลังใจที่อยากจะทำอีก ก็กลับไปเป็นศรัทธาอีกที
แต่ตรงจุดนี้ให้ระมัดระวังว่ามีอุปกิเลสอยู่ตัวหนึ่ง คือ ปัคคาหะ มีความเพียรมากเกินไป ในปัจจุบันนี้แม้ว่าความเพียรมากเกินยังไม่มีใครเป็นตัวอย่างก็จริง แต่ให้ระมัดระวังว่า ถ้าขาดการพักผ่อนหรือว่าพักผ่อนไม่พอ บางทีร่างกายก็ไม่ไหว จะเกิดอาการกรรมฐานแตก สติแตกได้ง่าย ๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น...ผ่อนสั้นผ่อนยาว ดูจุดพอเหมาะพอดีก็แล้วกัน
*************************
|