​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๕๙

 

              “ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็น หนังสือศิลปวัฒนธรรม เขาขึ้นปกว่า ครูบาบ่มแก๊ส
              สมัยก่อน คำว่า “ครูบา” หมายถึง พระเถระอาวุโสที่ทรงคุณความดีอย่างสูง เป็นที่เคารพของคนทั้งบ้านทั้งเมือง
              พอรุ่นหลัง ๆ ตั้งแต่ครูบาเทือง ครูบาบุญชุ่มขึ้นมา เป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่อายุน้อย ๆ กลายเป็นรูปแบบครูบารุ่นใหม่ขึ้นมา เขาก็เลยใช้คำว่า “ครูบาบ่มแก๊ส” คือ สุกไม่ทัน ก็เลยต้องบ่มด้วยแก๊ส
              แต่ถ้าจะเอาคำว่า “ครูบา” ตามความหมายแบบโบราณ ก็จะขาดช่วงไปเลย คำว่าขาดช่วงไป คือ หาบุคคลที่มีคุณความดีความงาม ระดับเดียวกับหลวงปู่หลวงพ่อครูบาในอดีตนั้นยังไม่ได้ ตั้งแต่รุ่นครูบาอิน วัดฟ้าหลั่ง มรณภาพไปแล้ว รุ่นหลัง ๆ ไม่ได้อย่างนั้น จึงต้องเป็น “ครูบาบ่มแก๊ส” ไปก่อน
              แต่ก็ดีใจว่า “ครูบาบ่มแก๊ส” ตามที่เขาวิพากษ์วิจารณ์นั้นมีเยอะ รุ่นนี้ถ้าสามารถรักษาตัวรอดได้ เป็นพระเถระสัก ๒๐ พรรษาขึ้นไป วงการสงฆ์ของภาคเหนือจะมั่นคงเป็นหลักเป็นฐาน เพราะว่าท่านเริ่มเป็นที่เคารพนับถือของคนอื่นตั้งแต่พรรษายังน้อย
              โดยเฉพาะทางเหนือกับพม่า ในเรื่องของศาสนามาแนวเดียวกัน ก็คือ เคารพศรัทธาบุคคลที่บวชตั้งแต่เป็นเณร บรรดาครูบาอายุน้อย ๆ มักบวชตั้งแต่ยังเป็นเณร
              พอไปเจอหนังสือระดับนั้นกระทุ้งเข้า ก็แปลกนะ...เหมือนกับยิ่งตียิ่งดัง...!
              ตอนนี้รุ่นของครูบาเทือง ครูบาบุญชุ่ม ก็ถือว่าเร่ิมอาวุโสแล้ว เพราะอายุกาลเข้าระดับ ๔๐ เศษ ๆ แล้ว รอบรรดาท่านรุ่นหลังทั้งหลายเข้าสู่ ๔๐ กว่าพร้อม ๆ กัน วงการสงฆ์ทางเหนือก็จะมั่นคง
              ปัจจุบันนี้ในสายตาของพระเณรด้วยกัน วงการสงฆ์ภาคเหนือตกต่ำมาก ตกต่ำตรงที่มีบรรดาพระตุ๊ดเณรแต๋วมีเยอะเป็นพิเศษ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้มีมากเป็นปกติอยู่แล้ว
              พอพวกเขาเข้าไปบวช ในความรู้สึกของฆราวาสไม่ค่อยรู้สึกเท่าไร แต่ในวงการสงฆ์สัมผัสใกล้ชิดกว่า จึงรู้สึกว่าวงการสงฆ์ของภาคเหนือในปัจจุบัน ถ้าไม่ได้บรรดาครูบาบ่มแก๊สที่เขาเสียดสีกัน คอยค้ำจุนเอาไว้บ้าง จะเละกว่านี้อีกเยอะ
              พูดถึงครูบาบ่มแก๊ส ทำให้นึกถึงท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ บรรดาพราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ ที่ได้รับเชิญเข้าไปเพื่อทำนายมหาปุริสลักขณะของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ท่านโกณฑัญญะพราหมณ์อายุน้อยที่สุด
              สมัยก่อนเขามักใช้คำว่า จบไตรเพทตอนอายุ ๑๖ ตีเสียว่าตอนนั้นท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ ๑๖ แต่ความสามารถของท่านเกินอายุ เราจะเห็นว่าสังคมของฮินดูหรืออินเดียโบราณ เขาเชื่อความสามารถของคน ไม่ได้เชื่ออายุอย่างเดียว
              นอกจากจะมีความสามารถ ได้รับการคัดเลือกตัวเข้าไปแล้ว ยังมีผลงานที่โดดเด่นอีกต่างหาก ก็คือ พราหมณ์ ๑๐๗ คน ทำนายมหาปุริสลักขณะของเจ้าชายสิทธัตถะออกเป็นสองทางว่า ถ้าออกบวชจะเป็นศาสนาเอกของโลก ถาอยู่ครองราชย์จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชปกครองโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุด อาวุสโสน้อยที่สุด ฟันธงว่าต้องการบวช และเป็นศาสนาเอกของโลกเท่านั้น..!
              ดังนั้น...พอมีข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะออกมหาภิเนษกรมณ์ โกณฑัญญะพราหมณ์จึงชักชวนลูกหลานของบรรดาพราหมณ์ที่ไปทำนายลักษณะออกบวชตามด้วย ได้มา ๔ ท่าน ก็คือ ท่านวัปะ ท่านภัททิยะ ท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ
              ทั้งห้าท่านอยู่ปรนนิบัติรับใช้เจ้าชายสิทธัตถะ ด้วยหวังว่า ถ้าเจ้าชายบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเมื่อไร โอกาสก็เป็นของเรา ปรากฎว่าพระพุทธเจ้าบรรลุมรรคผลตอนอายุ ๓๕ ปี
              เราลองเอา ๓๕ + ๑๖ แสดงว่า อย่างน้อยท่านอัญญาโกณฑัญญะก็อายุ ๕๐ เศษ ๆ แล้วตอนนั้น ส่วนพราหมณ์อีก ๑๐๗ คน ตายหมดไม่มีใครเหลือ เหลือท่านโกณฑัญญะพราหมณ์คนเดียวและได้ลูกหลานของคณะที่ทำนายมาอีก ๔ รวมเป็นคณะ ๕ เรียกว่า ปัญจวัคคีย์
              ด้วยความที่ท่านสั่งสมความรู้ และเวลาบรรลุมรรคผลก็บรรลุก่อนใคร ถือว่าเป็นพี่ใหญ่สุดในพระพุทธศาสนา เป็นพระสงฆ์องค์แรกของโลก พระพุทธเจ้าจึงตั้งให้ท่านเป็นเอตทัคคะทางรัตตัญญู
              รัตตัญญู แปลตามศัพท์ว่า รู้ราตรีนาน แปลความหมายเป็นไทยก็คือ อยู่นานมีประสบการณ์มาก
              พระพุทธเจ้าใช้ชีวิตในเพศฆราวาส ๒๙ ปี ใช้ชีวิตในเพศนักบวชเพื่อแสวงธรรมอีก ๖ ปี บรรลุมรรคผลแล้วทรงความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ๔๕ ปี
              อีกสองปีข้างหน้าจะครบ ๒,๖๐๐ ปี การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อาตมาจะหาโอกาสสร้างวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกงานนี้สักชุดหนึ่ง”
*************************

      ถาม :  การว่าคาถาต้องใช้สมาธิระดับไหนจึงจะได้ผล ?
      ตอบ :  ตำ่สุดต้องเป็นอุปจารสมาธิขึ้นไป ยิ่งเป็นสมาธิสูงเท่าไรก็ยิ่งมีผลมากเท่านั้น
              การใช้คาถาต้องการพื้นฐานสมาธิมาก โบราณเขาสอนให้กลั้นใจว่า เพราะตอนที่เรากลั้นใจจิตจะนิ่ง ความนิ่งใระดับนั้นจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้ว
              แต่ว่าคนที่กลั้นใจเพื่อสร้างสมาธิต่อไปจะเสีย เสียตรงที่ว่า พอถึงเวลาภาวนาตามดูลมแล้วจิตจะไม่นิ่ง เพราะชินกับการกลั้นใจไปแล้ว เพราะฉะนั้น...ถ้าไม่ใช่ฉุกเฉินจริง ๆ อย่าไปกลั้นใจ
*************************

      ถาม :  ควรจะมีการตั้งศาลหรือไม่คะ ?
      ตอบ :  ถ้าไม่มีศาลควรจะตั้ง ที่ใช้คำว่า “ควรจะ” เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ในแต่ละเขตจะมีพระภูมิเจ้าที่หรือภูมิเทวดารักษาอยู่แล้ว เราตั้งศาลเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือ ถ้ามีอะไรไม่เกินวิสัยท่านก็ช่วยสงเคราะห์ให้
              แต่ถ้าเราไม่ตั้งศาล เหมือนกับเราไม่ได้ให้ความเคารพท่าน ไม่ได้ให้ความนับถือท่าน ถึงเวลาสิ่งที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ พอกรรมมาถึง แทนที่จะมีการผ่อนหนักเป็นเบาหรือทำให้เบาเป็นหาย เราก็ต้องรับไปเต็ม ๆ
      ถาม :  ถ้าแถวบ้านมีศาลใหญ่ เจ้าที่ใหญ่ แล้วเรากราบไหว้ ?
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นได้ ถือว่าเราบูชารวมกับเขาไป
      ถาม :  เวลาตั้งมีฤกษ์ยามไหมคะ ?
      ตอบส่วนใหญ่การตั้งศาล เขาใช้ฤกษ์วันพฤหัสข้างขึ้น เดือนคู่ ก็คือเดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนแปดข้างขึ้นและเดือนสิบสอง เดือนแปดและเดือนสิบข้างแรม เขาไม่นิยมเพราะถือว่าอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ไม่ควรที่จะตั้งศาล
*************************

              “สมัยนี้ถ้ามีที่มีทางต้องรักษาไว้ให้ดี ทุกอย่างเราสร้างได้ แต่ที่ดินเราสร้างไม่ได้ ปลูกก็ไม่งอก รดน้ำก็ไม่งอก ยกเว้นใครอยู่ริมน้ำ ตะกอนที่น้ำพัดพามา อาจจะทำให้พื้นที่งอกเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง
              ในปัจจุบันจำนวนคนมากขึ้นทุกที แต่ที่ดินไม่ได้งอกเพิ่มขึ้นเลย เพราะฉะนั้น...เรื่องของที่ดินหรือบ้านควรจะรีบมีไว้ก่อนเลย อย่างเช่นระหว่างผ่อนรถกับผ่อนบ้าน ให้เลือกผ่อนบ้านไว้ก่อน ยอมลำบากโหนรถเมล์ไปก่อน เพราะว่ากว่าจะผ่อนรถเสร็จก็เหลือแต่ซากรถ ต้องหาคันใหม่อีกแล้ว แต่ถ้าผ่อนบ้านเสร็จ บ้านก็ยังเป็นของเรา
              ต่อไปที่ดินจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจำนวนประชากรจะมากขึ้นทุกที แต่ที่ดินยังมีอยู่เท่าเดิม รุ่นหลาน รุ่นเหลนจะเจอที่ดินราคาแพงโหดร้ายมาก สมัยอาตมาเข้ากรุงเทพฯ มาใหม่ ๆ บ้านจัดสรรพร้อมที่ดินขนาด ๖๐ ตารางวา ราคาสองแสนบาท เดี๋ยวนี้ บ้านจัดสรรพร้อมที่ดินขนาด ๖๐ ตารางวา ราคาอย่างต่ำก็สามสี่ล้านขึ้นไปแล้ว”
*************************

              “ไฟดับก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง ทำให้เรารู้ว่า บางทีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากจนเกินไปก็ไม่ดี โดยเฉพาะการสร้างบ้านสร้างเรือนสมัยนี้ ไม่ได้ดูความเหมาะสมของภูมิประเทศ บ้านเราเป็นเมืองร้อน แต่มักจะไปสร้างตึกตามแบบของยุโรปที่เป็นเมืองหนาว
              พอถึงเวลาถ้าขาดไฟ เครื่องปรับอากาศไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถที่จะอยู่กันได้ แล้วการที่เราพึ่งพาทุกอย่างมากจนเกินไป ถึงเวลาขาดไปก็จะทำอะไรไม่ได้ ลองนึกดูว่าในปัจจุบัน อย่างในกรุงเทพฯ ถ้าไฟดับแล้ว เรายังไม่ได้หุงข้าว จะมีสักกี่คนที่ไม่ต้องใช้หม้อไฟฟ้า แล้วหุงข้าวได้ ?
              นึกถึงตอนไปบึงลับแลครั้งแรก ๆ ครั้่งนั้นพาพระวัดท่าซุงท่านไปด้วย มีท่านโย เป็นต้น มีญาติโยมตามไปเกือบ ๒๐ คน พอไปถึงอาตมาบอกว่า “ใครหุงข้าวเป็นช่วยหุงหน่อย จะได้เป็นมื้อเย็นของพวกคุณ” ปรากฎว่าโยมเขาถามว่า “เสียบปลั๊กตรงหน ?” นั่นอยู่กลางป่านะ...ท้ายสุดพระอย่างอาตมาต้องไปหุงข้าวเลี้ยงโยม...!”
*************************

      ถาม :  สวดมนต์แผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรทุกคืน แต่ทำไมฝันร้ายทุกคืนคะ ?
      ตอบ :  การแผ่เมตตาแล้วยังฝันร้าย แสดงว่าจิตยังไม่เป็นสมาธิ ถ้าไม่อยากฝันต้องภาวนาให้สมาธิทรงตัวแล้วค่อยนอน แต่ก็ยังไม่แน่ เพราะความฝันบางอย่างไม่ได้เกิดจากจิตที่ฟุ้งซ่าน
              ฝันร้ายนั้น เกิดจากเราเก็บความเครียดจากตอนกลางวัน เอาไปฝันในตอนกลางคืน
              ความฝันจะมี ธาตุวิปริต กรรมนิมิต จิตนิวรณ์ เทพสังหรณ์
              ธาตุวิปริต
คือ กินมาก ท้องไส้ไม่ดี ธาตุไม่ปกติ จะฝันไปเรื่อยเปื่อย
              กรรมนิมิต คือ ความดีความชั่วที่เราทำมา แสดงเหตุให้รู้
              จิตนิวรณ์ คือ เก็บความเครียดจากหน้าที่การงานที่วุ่นวายตอนกลางวันเอาไปฝัน
              เทพสังหรณ์ คือ เทวดาท่านสงเคราะห์ให้
      ถาม :  การแผ่เมตตาทุกคืน ทำถูกใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ทำถูกแล้ว ให้ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องไปกังวลกับฝัน แผ่เมตตาบ่อย ๆ เดี๋ยวชำนาญแล้ว จิตเป็นสมาธิทรงตัวก็จะเลิกฝันไปเอง ยกเว้นกรรมนิมิตหรือเทพสังหรณ์ที่นาน ๆ จะมาสักครั้ง ถ้าไม่อยากฝันจริง ๆ ให้ท่อง “กรณียเมตตาสูตร” ให้ได้ แล้วภาวนาบทนี้ก่อนนอน จะไม่ฝันร้ายอีก
*************************

      ถาม :  ทำอย่างไรจะยอมรับกฎแห่งกรรมได้ ?
      ตอบ :  เป็นพระอรหันต์สิครับท่าน ...!
      ถาม :  ตอนนี้จิตยังดิ้น ๆ อยู่ครับ ?
      ตอบ :  เป็นธรรมดา ถ้ายังไม่เข็ดก็ยังดิ้นอยู่ ถ้าเข็ดแล้วจิตก็จะยอมรับและปล่อยวางไปเอง ที่ยังไม่เข็ดเพราะเรายังไมเ่ห็นโทษอย่างแท้จริง ถ้าเห็นบ่อย ๆ เดี๋ยวก็เข็ดไปเอง
*************************

      ถาม :  คนในที่ทำงาน เขาหน้าดำคร่ำเครียด ขี้โมโห และชอบด่า ?
      ตอบ :  นั่นเป็นเรื่องปกติ ก็เขาเครียดกับงานนี่
      ถาม :  เขาเป็นมากเกินไป ?
      ตอบ :  เรารู้...แต่คนที่เป็นอยู่จะไม่รู้ เวลาเครียดขึ้นมา กระทบอะไรก็ปึงปังไปเลย
              จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าสงสารมาก ถ้าเราเห็นก็ดูเอาไว้เป็นตัวอย่าง ว่าเราจะไม่เป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ตั้งตาตั้งตาปฏิบัติธรรมเพื่อรักษากำลังใจของเรา
              คนที่เขากำลังใจไม่มั่นคง ถึงเวลาเขาเป็นอย่างนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะผู้ชายก็มีวัยทอง แต่วัยทองของผู้ชายไม่ชัดเจน ถ้าเกิน ๔๐ ขึ้นไปแล้ว ประเภทขี้หงุดหงิด ขี้โมโห แปลว่าถึงวัยทองแล้วนะ...!
              ถ้ารู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้นก็หลบ ๆ ไป ถ้าตอนไหนอารมณ์เขาดี ๆ ค่อยเข้าไปหา ต้องรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง
*************************

      ถาม :  ครูบาวิฑูรณ์เข้านิโรธกรรม ผู้ที่ทำบุญเป็นคนแรก จะได้รับอานิสงส์ไปทั้งหมดหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ลักษณะอย่างนี้ท่านตั้งใจสงเคราะห์เป็นส่วนรวม ก็เฉลี่ยกันไป ยกเว้นว่าตั้งใจสงเคราะห์ใครคนเดียว แล้วคนนั้นได้มีโอกาสทำก่อนเขา
      ถาม :  ไม่ได้จำกัด ?
      ตอบ :  งานลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่สงเคราะห์ใครคนเดียว เพราะประกาศเป็นสาธารณะ ในเมื่อเป็นสาธารณะ ใครทำก็มีส่วน ต่อให้ย่องไปทำคนเดียวก่อน คนทำตามหลังก็ได้เท่ากับเรา
*************************

      ถาม :  ทำกรรมฐานกองไหนจึงจะได้ฌานครับ ?
      ตอบ :  กองไหนก็ได้ถ้าทำเป็น เพียงแต่ให้ทำจริง ๆ เท่านั้นเอง และอย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก ชอบกองไหนทำไปเลย ถ้ามัวแต่ถามอยู่ ชาตินี้ก็ไม่ด้หรอก
      ถาม :  ไม่แน่ใจครับ ?
      ตอบ :  ไม่แน่ใจแล้วจะไปได้อะไร คนทำกรรมฐานต้องมั่นใจตัวเอง ขาดความมั่นใจก็ไม่ต้องทำ ไปนอนตีพุงดีกว่า
      ถาม :  จะทำกสิณก็ไม่แน่ใจครับ ?
      ตอบ :  ถ้าอยากก็ทำ ถามคนอื่นเสียเวลาไปตั้งนาน ถ้าลงมือทำเอง ป่านนี้คงจะเห็นหน้าเห็นหลังแล้ว มัวแต่ไปไล่ถามคนอื่นอยู่เลยไม่ได้อะไรสักที
      ถาม :  กสิณกองไหนก็ได้หรือครับ ?
      ตอบ :  เอาหนังสือคู่มือปฏิบัติกรรมฐาน ของหลวงพ่อวัดท่าซุงมาอ่าน ชอบกองไหนก็ทำกองนั้น ความชอบแปลว่าของเดิมต้องมีอยู่แล้ว ถ้าชอบหลายกองก็เลือกกองที่ชอบที่สุด หรือไม่ก็กองที่หาองค์กสิณได้ง่ายที่สุด
              อาตมาเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ ๆ สมัยเพิ่งจะเรียนมัธยม ไม่เคยสงสัยปัญหาเหล่านี้เลย คิดจะทำก็ลุยเลย ไม่เคยไปถามใคร ถ้ามัวแต่ถามอยู่เกิดไม่มีคนให้ถาม แล้วจะทำอย่างไร ?
              นึกถึงเณรของหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนเณรให้ถักขาบาตรเณรก็ซน ดูบ้างเล่นบ้าง ถึงเวลาหลวงปู่ก็โยนตอกให้ถัก เณรจำวิธีทำได้นิดหน่อย ทำแล้วไปต่อไม่ได้ ก็เลยถาม “หลวงปู่ ...ทำอย่างไรต่อครับ ?” เงียบ... “หลวงปู่ตรงนี้ทำอย่างไรครับ ?” เงียบ...
              พอตอนเย็น หลวงปู่บอกกับเณรว่า ​ “พรุ่งนี้บิณฑบาตด้วยกัน” รุ่งขึ้นเณรออกบิณฑบาตตามหลวงปู่ ออกบิณฑบาตแต่เช้า จึงมีบ้านที่เขายังทำกับข้าวไม่เสร็จ ลูกสาวตะโกนถามแม่ว่า “แม่ ๆ แกงส้มใส่กะปิหรือเปล่า ?” แม่ก็เงียบ
              “แม่แกงส้มใส่กะปิหรือเปล่า ?” แม่เลยตะโกนตอบไปว่า “โคตรแม่มึง ...ถ้ากูตายห่าแล้วมึงจะถามใคร...!” พอแม่ด่าเสร็จ หลวงปู่หันมายิ้มกับเณร ยิ้มในความหมายว่า “ถ้าหลวงปู่ตายแล้วเณรจะถามใคร ?”
              ต้องอย่างนั้นจึงจะเรียกว่ารู้จริง รู้ขนาดว่าจะไปเอาคำตอบให้เณรจากไหน ฉะนั้น...ไม่ต้องเสียเวลาถาม ไปลงมือทำได้เลย
      ถาม :  มีผลไหมครับ ?
      ตอบ :  ถ้ายังมัวแต่ถามอยู่แบบนี้ ชาตินี้ก็ไม่มีผลหรอก...!
*************************

              มีคนอ่านหนังสือเรื่อง สาส์นลับที่สาบสูญ ของแดน บราวน์ พระอาจารย์จึงถามว่า “ได้อ่านผลงานของแดน บราวน์ ครบทุกเล่มหรือเปล่า ?
              เราจะเห็นว่ารหัสลับดาวินชีดังมาก ดังไปทั่วโลก ทำให้คนตั้งความหวังกับเขามาก พอมาเป็นล่ารหัสมรณะ กับ แผนลวงสะท้านโลก ปรากฎว่าไม่ได้อย่างนั้น กระแสเขาก็เลยเบาไประยะหนึ่ง ชื่อเสียงเขาก็ผ่อนลงไประยะหนึ่ง
              ลองมานึกถึงว่า เราที่เป็นนักปฏิบัติ ถึงขนาดมีนักปฏิบัติบางสายเขากล่าวเลยว่า “ถ้าคุณเคยทำความดี โดยเฉพาะสมาธิในระดับสูง ๆ ได้ครั้งหนึ่ง ต่อไปคุณอย่าหวังเลยว่าจะทำได้อีกเพราะไปอยากได้อย่างนั้นเสียแล้ว”
              แบบเดียวกับหนังสือ พอเขาเขียนเรื่องสนุกมาก เราก็ไปตั้งความหวังว่าเรื่องอื่นจะต้องสนุกแบบนี้ ซึ่งปกติแล้วนักเขียนจะรักษามาตรฐานได้ยาก ที่เห็นก็มีผลงานของหวงอี้ ที่เขียนแล้วมีแต่มาตรฐานสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ต้องตกสักวันหนึ่ง
              ฉะนั้น...จำไว้ว่า ถ้าหากทำอะไรได้แล้ว อย่าอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นก็ได้ แต่ตอนภาวนาอย่าให้อยากแบบนั้น ต้องวางกำลังใจสบาย ๆ ว่าเรามีหน้าที่ภาวนา จะเป็นหรือไม่เป็นก็ช่างมัน
              ถ้าสามาถทำกำลังใจแบบนี้ได้ ต่อไปภาวนาเมื่อไรก็ก้าวหน้า แต่ถ้าเราไปตั้งใจอยากจะให้ดีเหมือนครั้งที่แล้ว ไม่มีทางได้รับประทาน เพราะจะกลายเป็นฟุ้งซ่านไปเลย
              ไปเจออาจารย์บางสายท่านบอกว่า “ลูกศิษย์ทำได้ถึงนั่นถึงนี่ พอมาผมฟันธงเลยว่า คุณไม่มีวันทำได้อีก” ถามว่าแล้วเป็นไปอย่างที่อาจารย์ว่าไหม ? ท่านบอกว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นแบบนั้น ก็คือไปอยากจะได้ อยากจะเป็นอย่างนั้นอีก ทำให้เสียผลการปฏิบัติไป
              ฉะนั้น...ในเรื่องของการปฏิบัติทุกระดับ จำเป็นจะต้องมีอุเบกขา ตัวอุเบกขาก็คือตัวช่างมัน เรามีหน้าที่ทำ ผลจะกิดหรือไม่เกิดก็ช่างมัน เรามีหน้าที่ตามดู ตามรู้ จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน
              ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็ก้าวหน้าเร็ว กว่าอาตมาจะคลำเจอตรงจุดนี้ได้ ก็เสียเวลาไปสามปีเต็ม ๆ ต้องการแค่ปฐมฌานตัวเดียว ภาวนทุกวันเอาตัวอยากนำหน้าก่อนทุกวัน
              ตามดูว่าลักษณะนี้คือวิตกนะ ลักษณะนี้คือวิจารณ์นะ ตอนนี้ปีตินะ ขนลุกซ่า ๆ เดี๋ยวต้องเป็นอย่างนั้น เป็นขั้นตอนที่เคยผ่านมาก่อน ก็เลยตามจี้อยู่ตลอด จิตจึงฟุ้งซ่านไม่รวมตัวเสียที วันที่ได้เป็นวันที่หมดอารมณ์แล้ว เบื่อแล้ว ทำมาตั้งสามปีไม่ได้เสียที เราจะภาวนาก็แล้วกัน จะเป็นหรือไม่เป็นช่างมัน ผัวะเดียวได้เลย”
*************************

              “หลังจากที่อาตมาเลี้ยงหมา แล้วหมารักอาตมามากเกินไป จึงไม่ยอมเลี้ยงสัตว์แบบใกล้ชิดอีกเลย
              ตอนนั้นไม่ได้นึกว่าหมาเขาจะซื่อสัตย์กับเราขนาดนั้น อาตมาไม่อยู่วัดสิบวัน เขาอดเกือบตาย เพราะเขาไม่ยอมกินอะไร คนอื่นเอาอาหารให้ไม่กิน ไปนอนซุกอยู่ที่ผ้าเช็ดเท้าหน้ากุฏิ พออาตมากลับไป เขาค่อยมีชีวิตชีวากินข้าวกินน้ำได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงไม่เลี้ยงแบบใกล้ชิดอย่างนั้นอีก
              ตอนช่วงที่อาตมาอยู่ตึกกองทุน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศาลาหลวงพ่อสี่องค์ ตอนนั้นจะมีหมาอยู่ ๔-๕ ตัว มีโป๊ยก่ายเป็นหัวหน้า ถึงเวลากินเจ้าพวกนี้จะไปกินกับคนอื่น เพราะว่าอาตมาไม่เลี้ยงแล้ว แต่พอกินอิ่มเขาก็จะกลับมานอนตรงขั้นบันได ตัวละขั้น ๆ นอนเฝ้าหน้ากุฏิ
              หลวงพ่อท่านบอกว่า หมาที่มีขนใต้คาง ๑ เส้น ๒ เส้น หรือ ๓ เส้น ส่วนใหญ่มาจากพรหมหรือเทวดา จะเป็นหมาแสนรู้ พูดรู้เรื่องทุกตัว แต่ถ้า ๔ เส้นขึ้นไปแล้ว ไม่ค่อยฟังใคร ถ้าขนเส้นเดียวจะเป็นราชาหมา เวลาไปไหนหมาอื่นจะยอมลงให้
              ในชีวิตอาตมานี้เจออยู่แค่ ๒ ตัวเท่านั้น อีกอย่างก็คือ หมาที่มาจากพรหมหรือเทวดา ถ้าเจ้าของมาจากที่ต่ำกว่า เขาจะไม่อยู่ด้วย เขาจะหาทางหนีไปอยู่กับคนอื่น
              สมัยที่อาตมาเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานใหม่ ๆ นั้น ยังไม่มีหมาสักตัวหนึ่ง อยู่ไปประมาณสองปีได้หมามา ๑๑ ตัว มีบางตัวสวยมาก ๆ เป็นหมาใหญ่ขนยาว หุ่นเหมือนหมาป่า เจ้าของเขาหวง พอเขาเห็นหมามาอยู่กับอาตมา เขาก็ล่ามโซ่ลากกลับไป แต่ถ้าหลุดจากโซ่เมื่อไร เขาก็จะวิ่งมาอยู่กับอาตมาเมื่อนั้น
              เพราะฉะนั้น...ถ้าใครเลี้ยงหมาแล้วหมาหนี ต้องพิจารณาตัวเองว่าบารมีเรายังสู้หมาไม่ได้ ถ้าหากเราต่ำกว่า เขาไม่อยู่ด้วย หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกเอง ท่านว่าเขาจะหนีไปหาคนที่เสมอกันหรือสูงกว่า