ถาม :  ..................
      ตอบ :  อันนั้นเขาต้องเรียนอรูปฌานที่ ๑ นะ แต่เขาเรียก “สมาบัติที่ ๕” คือการเข้าถึงขั้นที่ ๕
      ถาม :  เขาว่ามีสมาบัติ ๙ ?
      ตอบ :  สมาบัติมี ๙ เหมือนกัน อันสุดท้ายเขาเรียก “นิโรธสมาบัติ” (หัวเราะ) แต่สำหรับพระโพธิสัตว์นี่ต้องเป็นสมาบัติ ๑๐ (หัวเราะ) เพราะว่าท่านสามารถเข้าถึงฌานที่ ๕ ได้ถัดจากฌานที่ ๔ ได้ ไม่ได้เข้าจากอรูปฌานที่ ๑ แบบที่เราเข้าใจ ฌานที่ ๕ ของท่านก็คือฌานที่ต่อจาก ๔
      ถาม :  อธิบาย “พระโพธิสัตว์” ให้ฟังหน่อยครับ ?
      ตอบพระโพธิสัตว์ คือ ผู้ปรารถนาพระโพธิญาน คือต้องการจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เหตุที่ตั้งความปรารถนาอันนั้นเอาไว้เพราะว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นดาวดึงส์ไปโปรดพระพุทธมารดา ตอนกลับลงมาโดยพุทธประเพณีท่านจะเปิดตั้งแต่นิพพานลงไปยันอเวจีมหานรก ให้สัตว์ทุกหมู่เหล่าเห็นถึงกันหมด
              ในเมื่อทุกหมู่เหล่าเห็นถึงกันหมดก็จะรู้ว่านี่คือพระพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศที่สุดแล้วใน ๓๑ ภพภูมิทั้งสูงและต่ำเมื่อเป็นดังนั้นก็จะเกิดความคิดขึ้นมาว่า “ถ้าเราเป็นอย่างนั้นบ้างก็จะดี” เท่ากับตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะสามารถทำให้ถึงจุดหมายที่ตั้งความปรารถนาเอาไว้ได้ เกินกว่า ๙๐ %ท่านจะละเสียก่อน
              ส่วนที่เหลือบางทีอย่างหลวงพ่อ ขนาดของหลวงพ่อนี่เหลืออยู่หน่อยเดียว หน่อยเดียวจริง ๆ หน่อยอย่างชนิดที่ว่าน่าเสียดายมากเลย เพราะว่า ถ้าท่านอยู่จนถึงอายุ ๖๐ ปี บารมีท่านจะเต็มในชาตินี้ รอไปตรัสรู้อย่างเดียว แต่ว่าท่านก็ลา การที่ความปรารถนาจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณคือต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้า เท่ากับว่าเราต้องเป็นครูใหญ่กว่าเขาทั้งหมด
              ในเมื่อเราต้องเกิดเป็นครูใหญ่กว่าผู้อื่นเขา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้ก็ต้องละเอียดกว่าเขา เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์ ในการปฎิบัติโดยเฉพาะการปฎิบัติภาวนาทุกขั้นทุกตอนจะได้ยากกว่าคนอื่นเขาหลายเท่า เพราะว่าท่านต้องย่ำแล้ว ย่ำอีกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนทะลุประโปรงเจนจบจริง ๆ ในแต่ละขั้นท่านจะผ่านได้

              ถึงได้บอกว่าคนอื่นเขาแค่ฌาน ๔ ท่านต้องได้ฌาน ๕ ขณะเดียวกันว่าคนอื่นอาจจะเจอปีติตัวหนึ่งหรือ ๒ ตัว ๓ ตัว ๔ ตัว หรือไม่เจอเลยแต่ของท่านต้องเจอครบ ๕ ไม่อย่างนั้นแล้วถึงเวลาท่านจะไปสอนเขาไม่ได้ ของเรา ๆ เดินขึ้นบันไดมาแค่รับรู้ว่ามันมีบันได แต่ของท่าน ๆ ต้องไปเช็ครายระเอียด มันกว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ ประกอบด้วยวัสดุอะไรก่อสร้างขึ้นมาลักษณะไหน
              ถึงเวลาท่านต้องสร้างบันไดให้คนอื่นเขาได้ มันยากกว่ากันขนาดนี้ ดังนั้น ว่าบุคคลที่เคยมีเชื่อสายในการปรารถนาพระโพธิญาณมาก่อน ถึงละความปรารถนานั่นแล้ว เวลามาปฎิบัติมันก็ยังลำบากกว่าคนอื่นอยู่ดี ขอให้ภูมิใจว่าเราผ่านหลักสูตรโหดมาแล้ว
              เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวาลามันได้ลำบากกว่าคนอื่นหน่อยก็เอา แต่ว่าเนื่องจากแต่ละท่านส่วนใหญ่จะสร้างกำลังบารมีมาไว้มาก เพราะฉะนั้นท่านไม่ท้อถอยกับใครง่าย ๆ หรอก พระโพธิสัตว์นี่ สู้หัวชนฝาแล้วก็ฝาพังด้วยหัวไม่แตกหรอก
              ดังนั้นว่าถึงลำบากท่านก็เอา คราวนี้การบรรลุมรรคผล ในเมื่อท่านตั้งใจจะเป็นพระพุทธเจ้า ต้นทุนสูงมาก พอละเข้ามาหามรรคผล ส่วนใหญ่ก็จะเข้าถึงได้เร็วเพราะต้นทุนพอแล้ว เก็บเงินซักเท่าไหร่ ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท จะซื้อเบนซ์อีคลาสมาขี่สักคันหนึ่ง แต่ถึงเวลาลดลงมาซื้อแค่โตโยต้า นิสสัน มันก็ไม่ถึง ๑ ล้าน ใช่มัย ? สบายเขาซื้อได้เลย โพธิสัตตะ คือสัตว์ที่ปรารถนาจะเป็นผู้รู้ โพธิญาณะ คือเครื่องรู้ซึ่งเข้าถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ ยังเอาอีกมั้ย ? ปรารถนาพระโพธิญาณต่อมั้ย ? สะใจดี
              หลวงพ่อเคยเตือนอาตมาไว้ทีหนึ่งว่า “การละความปรารถนาในพระโพธิญาณ” หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “ลาพระพุทธภูมิ” กำลังใจมันจะตก คราวนี้ของเรานี่ก็ลาแล้วนึกอยู่ในใจว่า ไม่ตก เรายังบ้าเท่าเดิมแต่ปรากฏว่าดูไปดูมาแล้วหลวงพ่อท่านถูกเราผิด เรามันอวดรู้ กำลังใจไม่ได้ตกหรอก แต่ว่ามันตัดปัญหาจุกจิกไปเยอะเลย
              สมัยก่อนนี่ของเขาเองเดือดร้อนเราเห็นปุ๊บตะเกียกตะกายไปช่วยเขา จนกระทั่งบางทีเหมือนกับเสือก แต่ว่พอถึงสมัยนี้ถ้าไม่ได้ชักพราด ๆ ล้มทับตีนข้างหน้านี่ ไม่ช่วยหรอก มันกลายเป็นตัดปัญหาข้างนอกไปเยอะมหาศาลเลย ก็เลยเรียกง่าย ๆ ว่ากำลังใจมันตกลง คือเรื่องทั่ว ๆ ไปไม่เอาแล้วเราเอาตัวเองให้รอดไว้ก่อน
      ถาม :  เคยรู้สึกว่าจิตมันกดจนแบนหนักมาก ๆ เลยช่วงหนึ่ง แล้วก็ทำยังไงให้มันหลุดมันก็ไม่หลุด แบบพยายามทำบุญทำอะไรก็ตาม ?
      ตอบ :  ไม่ต้องจ้ะ เปิดเพลงดัง ๆ แล้วเต้นเเร็พไปเลย จิตมันทรงฌานอยู่ ถ้าเอาของที่เป็นข้าศึกกันมาล่อ มันจะหลุดออกมาเอง
      ถาม :  แล้วมีอยู่วันหนึ่งค่ะ เจอคนที่เขามีความทุกข์มากกว่า ก็เลยคิดว่าจะช่วยคนที่เขามีความทุกข์ให้พ้นทุกข์ให้หมดให้ได้เลยอะไรอย่างนี้ พอคิดเท่านั้นแล้วมันโล่งหมดเลย
      ตอบ :  อันนี้ช้าไปนิดหนึ่ง ลักษณะอาการอย่างนั้นเขาเรียกว่า ฌานค้าง อาตมาเคยค้างไม่นาน หรอก ๒ เดือนกว่าเกือบ ๓ เดือน ทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งยืนทั้งนั่ง กระแทกยังไงก็ไม่หลุด คือเข้าลึกไปหน่อย คราวป้าชอ ป้าเชิญ ท่านจะเป็นลูกศิษย์รุ่นเก่าอวุโสของหลวงพ่อ เขามีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน ป้าเชิญแกสนุกของแกนี่นิสัยของแกเป็นอย่างนี้อยู่แล้วอยากค้างใช่มั้ย ? ดูสิมันจะแน่แค่ไหน แกก็เปิด เพลงเต้นระบำอยู่คนเดียว ไม่นานหรอก....หลุด เพราะจิตไปเพลินกับอาการที่ทำ
              ส่วนของเรานี้ เราไปตั้ง ความปรารถนาไปนึกถึงคนอื่น โดยเฉพาะการนึกจะช่วยคนหมู่มากทั่ว ๆ ไปนี่ กำลังใจมันส่งออกเยอะ ในเมื่อส่งออกเยอะก็หลุดจากอาการนั้น แต่ถ้าหากว่าเราปล่อยให้มันอยู่เฉพาะหน้าตรงหน้ามันก็แน่นตึ๊กเหมือนเดิม ทำใหม่จ้ะ ตอนนั้นน่ะสังเกตไหม มันปลอดภัย รัก โลภ โกรธ หลง มันกินเราไม่ได้เลย แต่พอเราหลุดออกมาเมื่อไหร่ก็เสร็จมันน่ะ อารมณ์ราคะ โลภะ โมหะ มันเกิดใหม่ทันทีที่เราหลุดออกจากอาการนั้นเลย
              ต้องสังเกตใจของเราให้ดี รีบมุดกลับเข้าไปที่เดิมซะ ขืนช้าเดี๋ยวมันฟัดตาย (หัวเราะ) เวลาจะออกมา โผล่ออกมาด้วยความระมัดระวัง อาการทรงฌานนี้ถ้าเราคล่องแล้วนะ เหมือน กับว่าเราชักรอก จะเอาสูง เอาต่ำ เอาหนัก เอาเบา เอาแรง เอาค่อย แค่ไหน ส่งการได้หมด อยู่ในลักษณะนั้นเวลามันมีเรื่องอะไรที่ให้เราสนใจ เราก็ค่อยคลายอารมณ์ออกมาอย่างระมัดระวัง รับรู้มัน หน่อยเหมือนกับค่อย ๆ เปิดประตูระวังคนจะตีหัว พอสนใจเสร็จเรียบร้อยก็รีบปิด กลับเข้าไปสู่ความปลอดภัยของเราตามเดิม ใส่เกราะไว้ไม่งั้นหัวจะแตก ส่วนใหญ่แล้วเผลอหลุดเลย พอหลุดเลยก็....พอรับ อารมณ์เข้าไปเต็มที่กว่าจะรู้ตัวมันพาไปหลายกิโลแล้วรีบ ๆ กลับเข้ามี่เดิม
      ถาม :  ตรงชักรอกนี่ต้องฝึกด้วยใช่มัยคะ ?
      ตอบ :  ต้องฝึกจ้ะ ต้องฝึกสร้างความเคยชินกับมัน สมัยที่ฝึกใหม่ ๆ สนุกมาก คนเห็นเขาก็นึกว่าเราบ้า นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่คนเดียว พอถึงเวลาก็นั่งขึ้นมาอารมณ์มันก็คลายปรี๊ดออกมาทีละระดับ ๆ จนถึงอุปจารสมาธิพอนอนลงก็ไล่อุปจารสมาธิ ฌาน ๑,๒,๓,๔ (หัวเราะ) มันสนุกของมันนะ
      ถาม :  นี่คือวิธีฝึกใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  สำหรับคนอื่นเขาไม่ได้ฝึกอย่างนี้ แต่อาตมาฝึกอย่างนี้ เพราะว่าถ้าอารมณ์ใจมันแน่นเกิน ปฐมฌานไปมันจะบังคับร่างกายไม่ได้ แต่ว่าของเรา ๆ ต้องบังคับได้ ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ สนุกมากเลย ลองดูเถอะแล้วเขาจะว่าบ้าเอง
      ถาม :  .........................
      ตอบ :  หลวงพ่อท่านย้ำอยู่เสมอว่า จรณะ ๑๕ ถ้าใครทำจะเข้าถึงมรรคผลได้เร็วนะ แค่อินทรียสังวร ตัวเดียวนี่ พระนันทะเถระเป็นเอตทัคคะ คือผู้เลิศกว่าภิกษุอื่น เพราะว่าพระนันทะเถระท่านเป็นน้องชายพระพุทธเจ้า น้องคนละแม่ พระนันทะเถระกำลังจะแต่งงาน พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาต
              สมัยก่อนนนั้นพอบิณฑบาตท่านจะส่งบาตรให้ พอรับบาตรไปใส่อาหารเสร็จก็จะเอามาประเคนคืน แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่รับหรอก ท่านกลับหลังหันได้ก็เดินไปเลย พระนันทะเถระก็ถือบาตรตามไปเรื่อย ตามไปจนกระทั่งถึง เชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าถาม นันทะเธอจะบวชไหม ? เกรงใจพระพุทธเจ้าก็......บวชพระเจ้าข้า ๗ วันที่บวชอยู่ไม่ได้มีความสุขเลย โห........คนกำลังจะเข้าหอลากไปบวช (หัวเราะ) เป็นเราก็กลุ้มใช่ไหม
              คราวนี้พระพุทธเจ้าท่านรู้อยู่ ท่านเลยตรัสเรียกพระนันทะไปด้วยกัน ไปก็ชี้ให้ดูลิงตัวเมียแก่ ๆ ตัวหนึ่ง หางก็ด้วน หูก็แหว่ง ขนก็หลุดนั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ บอกว่า ...นันทะ ภรรยาในอนาคตของเธอ งามกว่าลิงแก่ตัวนี้หรือว่าลิงแก่ตัวนี้งามกว่า ? พระนันทะเถระบอกว่า นางชลบทกัลยาณี งามกว่าจนเปรียบไม่ถูกพระเจ้าข้า
              พระพุทธเจ้าบอกว่าดี เดี๋ยวจะพาไปดูอะไร จับมือพระนันทะได้ก็พรึบขึ้นดาวดึงส์ไปเลย ไปถึงเทวดานางฟ้าก็มากันเพียบ พระพุทธเจ้าก็ชี้ให้พระนันทะดูบอกว่า แล้วเธอเห็นเหล่านางสวรรค์เหล่านี้เมื่อเปรียบกับชลบทกัลยาณีแล้วเป็นอย่างไร ? พระนันทะบอกว่า นางชลบทกัลยาณีเมื่อเปรียบเทียบกับนางฟ้าเหล่านี้ก็เหมือนลิงแก่หางด้วนขนหลุดตัวนั้น พระพุทธเจ้าเลยถามว่า แล้วถ้าหากว่าเธออยู่ปฎิบัติต่อไปแล้วตถาคตรับปากว่าจะให้นางฟ้าเหล่านี้แก่เธอ ๆ จะรับไหม ?
              พระนันทะก็ตกลง พระพุทธเจ้าท่านก็เลยสอนกรรมฐานให้กลายเป็นพระอรหันต์ไป ตกลงพระนันทะบวชพระเพราะอยากได้เมียเป็นนางฟ้า พอท่านบรรลุมรรคผลแล้วท่านก็รู้ว่า ที่แล้ว ๆ มาท่านเห็นโทษของการไม่สำรวมอินทรีย์ คำว่าอินทรีย์คือการเป็นใหญ่ คือตาเป็นใหญ่ในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน จมูกเป็นใหญ่ในการได้กลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการได้รส กายเป็นใหญ่ในการสัมผัส แล้วก็ใจเป็นใหญ่ในการรับอารมณ์ทั้งมวล การไม่สำรวมอินทรีย์ทำให้สิ่งต่าง ๆ เข้ามาทางตา กระทบตา ชอบใจ ถูกใจ เสร็จแล้ว โดนมันตีบ้านตีเมือง ยึดไปเรียบร้อยแล้ว กระทบหูได้ยินแล้วชอบใจหรือไม่ชอบใจ ก็เสร็จแล้ว โดนมัน ยึดบ้านยึดเมืองไปเรียบร้อย
              ดังนั้นพอท่านเห็นโทษในตรงจุดนี้ ก่อนหน้านี้ท่านเจ้าชาย ได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่าง ๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านได้รับเป็นปกติ เมื่อเป็นพระอรหันต์ ท่านก็เลยระมัดระวังเรื่องทั้งหลายเหล่านี้จนกระทั่ง พระพุทธเจ้าตั้งไว้เป็นเอตทัคคะ คือผู้เป็นเลิศกว่าคนอื่นในทาวสำรวมอินทรีย์ รู้จักระมัดระวังอยู่ตลอด
              ที่หลวงพ่อท่านใช้คำว่า เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสก็สักแต่ว่าได้รส สัมผัสก็สักแต่ว่าได้สัมผัส ให้มันอยู่แค่นั้น อย่าไปคิดต่อ ตัวคิดต่อภาษาพระเขาเรียกว่าสังขารคือการปรุงแต่ง คิดเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น พอคิดปุ๊บก็แบ่งเป็น ๒ อารมณ์ คือ อิฎฐารมณ์ชอบใจ อนิฏฐารมณ์ ไม่ชอบใจ มันพาให้พ้นทุกข์ทั้งคู่ ชอบใจต้องตะเกียกตะกายไปหามาลำบากไหมล่ะ เวลาหาไม่ชอบใจก็ต้องขวนขวายหนีให้ห่างมัน ลำบากทั้งคู่ ทุกข์ทั้งคู่ ดังนั้นท่านถึงว่า รู้สักแต่ว่าให้รู้ พอเราหยุดมันลงได้ทัน มันเข้าไปในใจของเราไม่ได้เราก็ปลอดภัย
              เมื่อเราปลอดภัยจิตใจของเราผ่องใสสะอาดอยู่ กิเลสกินเราไม่ได้ ถ้าจิตสะอาดถึงที่จะไปไหนล่ะ ? ก็ไปนิพพาน
ฟังดูแล้วไม่น่ายากใช่ไหม ? เอามั้ยเดี๋ยวน้องป๊อบจะกลายเป็นลิงแก่ ๆ ขนหลุดหูแหว่งตัวนั้น แล้วเสร็จแล้วเราก็ไปหานางฟ้าแทน พระพุทธเจ้าไม่ได้โกหก เพราะถ้าหากท่านทำได้แค่ขั้นแรก ๆ เท่านั้นกำลังใจทรงตัวนี้ได้แหง ๆ อย่างน้อยนางฟ้า ๕๐๐ องค์เป็นบริวารอยู่แล้ว ไม่ได้โกหกให้จริง ๆ ให้เยอะด้วย แต่บังเอิญว่าของท่านเก่ง ท่านทำเลยขึ้นไปเยอะกลายเป็นพระอรหันต์ไปเลย ไม่ได้ซักองค์ (หัวเราะ)