​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๖๓

 

      ถาม :  ศีลข้อลักทรัพย์ เราไม่ได้ตั้งใจขโมย แต่เขาให้เกินมา แล้วเราตั้งใจเก็บเอาไว้ ก็ถือว่าผิด ?
      ตอบ :  ถ้าไม่มีเจตนา โทษก็ไม่เต็มอยู่แล้ว
              ทรัพย์นั้นมีเจ้าของ เจ้าของไม่ได้ให้ เราตั้งใจลัก เราลงมือลัก ลักได้สำเร็จ ถ้าอย่างนั้นขโมยร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม
      ถาม :  ศีลข้อกาเมฯ อยู่กินก่อนแต่ง ผิดศีลหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ผิดแน่นอน ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเช่นกัน
      ถาม :  ถ้าแต่งงานแล้ว จะถูกโดยอัตโนมัติหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ไม่ถูก ถ้าตราบใดที่พ่อแม่เขายังไม่ได้อนุญาตให้ ตราบนั้นก็ยังผิดอยู่ ไม่ใช่วิ่งไปจดทะเบียนแล้วจบกัน ทางธรรมไม่ใช่อย่างนั้น
      ถาม :  ต้องไปสู่ขอให้เรียบร้อย ?
      ตอบ :  ไปสู่ขอให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าอยู่กินกันก่อนแต่ง ตอนไปสู่ขอ ก็ขอขมาทางพ่อแม่ฝ่ายนั้นก่อน
*************************

      ถาม :  มีคนบอกว่ากินเหล้าแก้วเดียว นอนอยู่บ้านไม่เดือดร้อนใคร จะให้เหตุผลแย้งเขาอย่างไร ?
      ตอบ :  เขื่อนมีรูรั่วแม้เพียงนิดเดียว ก็มีโอกาสที่จะทำให้น้ำดันออกมา และเขื่อนทั้งหลังพังทลายลงมาใได้ ส่ิงใดที่ทำแม้เล็กน้อย ก็เป็นความผิดเช่นกัน เหมือนกับเรากินยาพิษ จะกินมากกินน้อยตัวเราเดือดร้อนแน่ ถ้ามากได้ระดับก็ตาย ถ้าไม่มากก็อาจจะดิ้นทุรนทุราย
      ถาม :  รักษาศีลโดยไม่มีพรหมวิหารสี่ ?
      ตอบ :  เป็นไปได้ยากมาก เพราะศีลต้องประกอบด้วยพรหมวิหารเป็นปกติ
              เราต้องมีความรักความเมตตาเกิดขึ้นในจิตเรา เราจึงจะละเว้นการฆ่าได้ เราต้องมีความรักความเมตตาเขา จึงจะไม่ไปหยิบฉวยสิ่งของ หรือไปแย่งคนที่เขารัก เพราะฉะนั้น...ศีลทุกข้อต้องมีพรหมวิหารมาก่อน
      ถาม :  อุเบกขา ต้องผ่านเมตตา กรุณา มุทิตา มาก่อนหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ต้องผ่านเยอะมาก จนกว่าปัญญาเกิดจึงจะอุเบกขาได้
      ถาม :  แปลว่าเราไม่สนใจชาวบ้าน ?
      ตอบอย่างนั้นคือช่างหัวมัน แต่ไปวางไว้บนหัวคนอื่นแทน...!
*************************

      ถาม :  อุปกิเลส ๑๐ กับอุปกิเลส ๑๖ ทำไมชื่อเหมือนกัน ?
      ตอบ :  อุปกิเลส ๑๖ เขาเรียกว่า มลทิน ๑๖ บาลีเขาเรียก มละ มลทินจะมีตั้งแต่ตระหนี่ มายา โอ้อวด เห็นผิด ฯลฯ
              ส่วนอุปกิเลส เขาหมายถึงอุปกิเลสในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาโดยตรง จะมีอยู่ ๑๐ อย่าง
              เป็นคนละตัวกัน แต่มีคนไปตั้งชื่อหัวข้อว่าอุปกิเลส ทั้งที่บาลีเขาเรียกว่ามลทิน
      ถาม :  ท่านจิตโตเขียนเรื่องการขาดพรหมวิหารสี่ว่า ถ้าขาดพรหมวิหาร แสดงว่าโดนอุปกิเลสกินแบบเต็ม ๆ เลย ถ้าโดนต้องแก้ไขอย่างไร ?
      ตอบ :  ต้องถามท่าน เพราะเป็นเรื่องที่ท่านพูดถึง ใครเป็นเจ้าของ เราถามคนนั้น ท่านจะอธิบายได้ดีกว่า
      ถาม :  ตัวมานะ กรรมฐานคู่ปรับมีอะไรบ้าง ?
      ตอบ :  มานะเป็นสังโยชน์เต็ม ๆ เลย และเป็นสังโยชน์ชั้นสูงด้วย ต้องกำลังใจละเอียดมาก ๆ จึงจะคลำเจอและแก้ไขได้
              ควรใช้มรณานุสติกรรมฐานให้เป็นปกติ รู้ตัวว่าต้องตายแน่อยู่เสมอ ในเมื่อต้องตายเหมือนกันแล้วจะเอาอะไรไปดีกว่าคนอื่นเขา
      ถาม :  หลวงพ่อฤๅษีเปรียบกิเลสเหมือนกับช้างสี่ขา ตัดกิเลสตัวไหนได้ก่อน ตัวอื่นก็จะเบาลงไป แต่ควรจะทำตรงนี้ก่อนค่อยไปจัดการอุปกิเลสหรือควรจะจัดการอุปกิเลสก่อน ?
      ตอบ :  เวลาเราทำไปเรื่อย ๆ ปัญญาจะรู้เห็นว่าตอนนี้นิวรณ์ กิเลส หรือสังโยขน์ ตัวไหนที่เป็นอยู่เฉพาะหน้า เราก็แก้ไขตัวนั้น พูดง่าย ๆ ว่า สิ่งไหนโผล่มาตอนนั้นก็จัดการตัวนั้นก่อน เอาเรื่องเฉพาะหน้าเป็นหลัก
      ถาม :  อย่างตัวผม โลภอาจจะตัดง่ายมาก ?
      ตอบ :  เราก็ตัดโลภด้วยการให้ทานไปเรื่อย ๆ พอตัวอื่นโผล่หน้ามาก็ต่อสู้ไปด้วย เพียงแต่ว่าต้องงัดกรรมฐานคู่ศึกมาดวลให้ทันก็แล้วกัน
      ถาม :  แต่พอทำไป รู้สึกว่าไม่สนใจคนที่บ้าน กลายเป็นว่าโดนกิเลสกิน เรานึกเสียใจ ?
      ตอบ :  มีอะไรให้เสียใจ ถ้าเราไม่ได้เริ่มทำ เราอาจจะไม่มีปัญญารู้เท่าทันเลยก็ได้ แต่นี่เราทำไปแล้ว บารมีที่เราสั่งสมมาในทาน ในศีล สมาธิ ปัญญาของเรา ก็เร่ิมส่งผลให้เรามีปัญญา รู้เห็นว่าสิ่งนี้ยังไม่ดีจริง เราค่อยเอาไปปรับปรุงแก้ไข ถ้าไม่ได้ลงมือทำ ก็ไม่รู้ว่าผิดถูกอยู่ที่ไหน
      ถาม :  ตอนทำทาน ไม่ได้มีเมตตากรุณาเลย หวังจะตัดความโลภอย่างเดียว อานิสงส์จะมีไหม ?
      ตอบ :  ในสิ่งที่เราทำ อันดับแรก ต้องมีปัญญาก่อน รู้ว่าดีเราจึงทำ อานิสงส์นี้ได้แน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ถ้าจะเอาให้กว้างไกลขึ้น ก็ควรจะให้อยู่ในลักษณะของพรหมวิหาร มีเมตตากรุณา มุทิตา แล้วถึงจะมีอุเบกขา
              พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำทั้งทีให้ได้มากที่สุด ลงทุนทำทั้งทีก็อย่าให้ได้บุญน้อย
*************************

      ถาม :  ทำสมาธิแล้วไม่กำหนดลมหายใจ ไม่กำหนดภาพ ไม่ภาวนา ไม่พิจารณาอะไรเลย จะถือว่าทำสมาธิหรือเปล่า หรือเรียกว่านั่งหลับตาเฉย ๆ ?
      ตอบ :  คงจะนั่งหลับตาเฉย ๆ ยกเว้นอย่างเดียวว่า มีความเคยชิน สามารถเข้าฌานระดับใดระดับหนึ่งได้คล่องมาก ถ้าอย่างนั้นเราสามารถจะดิ่งไปสู่ระดับนั้นได้เลย
              แต่ถ้าเราไม่มีการกำหดนใด ๆ เลย ไม่มีทางที่จะทรงตัวเป็นสมาธิได้ เพราะจิตเราต้องคิดเป็นปกติ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง
      ถาม :  จะต้องย้อนมาปฏิบัติเหมือนเดิม จับลมหายใจเหมือนเดิม ?
      ตอบ :  ลมหายใจเป็นพื้นฐานของกรรมฐานทุกกองเลย คุณจะทิ้งลมหายใจไม่ได้
      ถาม :  นั่งสมาธิไม่เคยเห็นแสงสี ไม่เคยเห็นภาพ ?
      ตอบ :  ถือว่าโชคดีที่สุดในโลก ไม่อย่างนั้นคุณจะติดอีกเยอะ
*************************

      ถาม :  สังโยชน์ข้อรูปฌานกับอรูปฌาน เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ก่อน ?
      ตอบ :  ต้องทำให้ได้เพื่อความเป็นสุขของจิตเรา เพราะกำลังของฌานสมาบัติจะกดกิเลสให้นิ่งได้ก่อน เมื่อกิเลสสามารถที่จะนิ่งสงบลงได้ ปัญญาจะเริ่มเกิด จะทำให้เราเห็นว่า เราควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ถ้าเกรงว่าจะเป็นการติดในรูปฌานกับอรูปฌาน เราก็ใช้กำลังนั้นไปเกาะพระนิพพานแทน
      ถาม :  เราคิดว่ารูปฌานก็ดี แต่จะผ่านไปเกาะพระนิพพานแทน ?
      ตอบ :  ถ้าคุณผ่านไปเลยโดยไม่มีกำลังของฌาน คุณก็ตัดกิเลสไม่ได้ คนไม่มีกำลังจะไปแบกดาบแบกขวานขึ้นมาไหวได้อย่างไร จะมากจะน้อยก็ต้องมีกำลังของฌานอยู่บ้าง
      ถาม :  ถ้าไม่รู้จักพระนิพพาน มโนมยิทธิก็ไม่ได้ ศีลสมาธิก็ไม่ค่อยดี จะไปพระนิพพานอย่างไร ?
      ตอบ :  อีกหลายชาติ ถ้าทำในศีล สมาธิ ปัญญาไปจนถึงระดับหนึ่งแล้ว ถ้าหากสิ่งที่เราทำนั้นดี ทำถูกจริง จะสามารถสัมผัสพระนิพพานได้เลยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องรู้ชัดเจน เพราะอารมณ์พระนิพพานจะมาสัมผัสกับใจของเราเอง
              เพราะฉะนั้น...บรรดาท่านทั้งหลายที่เป็นสุกขวิปัสสโก ไม่ได้รู้เห็นอะไรเลย แต่ทำไมมั่นใจนักหนาว่านี่คือพระนิพพาน เราสามารถไปพระนิพพานได้ เพราะว่าพอทำถึงะรดับหนึ่ง ก็จะสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง
              จะเรียกว่าอุปกิเลสเกิดขึ้นก็ได้ ญาณเครื่องรู้บังเกิดขึ้น อุปกิเลสแค่ว่าใกล้กิเลส ยังไม่ใช่กิเลส จะใช่กิเลนก็ต่อเมื่อเราไปยึด
*************************

      ถาม :  ตอนเช้าไหว้พระ ไหว้หลวงพ่อฤๅษี ขอหลวงพ่อว่าเวลาเราตาย ท่านเมตตามารับด้วย ?
      ตอบ :  ขอได้ แต่เหมือนกับว่าคุณขออย่างเดียว แต่คุณไม่เปิดประตูรับ ท่านจะมารับเราได้อย่างไร ต้องอาศัยกำลังใจของเรามีจุดที่เกาะที่มั่นคง หรือไม่ก็อาศัยปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงว่าโลกนี้สภาพนี้ไม่มีอะไรดี แล้วเราต้องการสลัดตัดทิ้งไปเลย เราจึงจะสามารถไปได้
              แต่ถ้าเราเอาแต่ขออย่างเดียวไม่มีการดำเนินวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะไปได้ ก็รอไปอีกนาน
*************************

      ถาม :  บางทีฟังธรรมะก็พอเข้าใจ แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ดับไป ทำไมอารมณ์ตรงนี้จึงไม่ติดอยู่ในใจ ?
      ตอบ :  เพราะนั่นยังเป็นแค่สัญญา คือ จำได้เท่านั้น ยังไม่เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง เข็ดกลัวและเบื่อหน่าย คลายกำหนัดแล้วปล่อยวาง ยังต้องทำอีกหลายขั้นตอน
*************************

      ถาม :  เวลาคุยกับคนอื่น แล้วเรียกหลวงพ่อว่าหลวงพี่ ถือว่าเป็นการปรามาสไหมครับ ?
      ตอบ :  แล้วแต่สะดวก สื่อให้รู้ว่าเป็นท่านเท่านั้นก็พอ
      ถาม :  ผมอ่านหนังสือซึ่งเขียนว่า ติดรูปให้แก้ที่รูป ติดนามให้แก้ที่นาม หมายความว่า ?
      ตอบ :  จริง ๆ น่าจะไปถามคนเขียนท่านเองนะ เรารู้เฉย ๆ อย่างเดียวก็ไม่เป็นไร แต่เรารู้แล้วไปปรุงแต่งด้วย ก็จะเป็นโทษหนัก อย่างเช่นติดรูป เราสักแต่ว่าเห็นเฉย ๆ โทษยังไม่เกิด แต่เราไปคิดเพิ่มเติมว่า สวย ไม่สวย ชอบ ไม่ชอบ ก็จะปรุงเป็น รัก โลภ โกรธ หลงขึ้นมา จึงต้องมีสติรู้เท่าทัน อย่าไปปรุงแต่งเพิ่มถึงจะแก้ได้
              ส่วนนามก็คือเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญา เป็นส่วนประกอบของร่างกายนี้แหละ แต่เป็นส่วนที่ไม่สามารถจะสัมผัสได้ แต่สามารถกำหนดรู้ได้ด้วยใจหรือด้วยปัญญา ในเมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็แก้ไขตามลักษณะของใจ ก็คือใช้ปัญญาประกอบ อะไรเกิดขึ้นก็เพียงสักว่ารับรู้ไว้ แต่ไม่ไปปรุงแต่งด้วย สิ่งนั้นก็จะดับไปเอง
*************************

              “ในความรู้สึกส่วนตัวของอาตมานั้น ตัดเมียง่าย แต่ตัดลูกยากกว่ามาก ไม่แน่ว่าผู้ชายทุกคนจะเป็นแบบนี้
              เราลองนึกถึงพระพุทธเจ้าของเรา พระองค์ท่านมีพระชายาที่เป็นนางแก้ว คำแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่เคยทำให้สะเทือนใจ มีลูกหัวแก้วหัวแหวนที่เพิ่งจะคลอดวันนั้นเลย เพื่อประโยชน์และความสุขของคนหมู่มาก พระองค์ก็ยังอุตส่าห์ตัดใจไปได้
              เพิ่งพูดไปเมื่อหลังเพลว่า
              มหากรุณิโก นาโถ พระผู้เป็นที่พึ่ง ซึ่งประกอบด้วยพระกรุณาอันยิ่งใหญ่
              หิตายะ สัพพะปาณินัง สร้างประโยชน์สุขแก่สรรพชีวิตทั้งหลาย
              อย่างที่พระองค์ท่านตรัสบอกแก่พระภิกษุรุ่นแรกที่ส่งไปประกาศพระศาสนาว่า
              จรถ ภิกฺขเว จาริกํ ดูก่อน...ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงเที่ยวไป
              พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก เพื่อความสุขของคนหมู่มาก โลกานุกมฺปาย เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก
              ไม่มีเพื่อตัวเองเลย เราจะได้เห็นว่า ที่พระองค์ท่านยิ่งใหญ่ ท่านยิ่งใหญ่ด้วยความดีจริง ๆ ทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น
              กินเนสบุ๊คได้บันทึกถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ ในฐานะบุคคลที่มีอนุสาวรีย์รูปเคารพมากที่สุดในโลก แค่ประเทศไทยประเทศเดียวก็นับไม่ถ้วนแล้ว ลองนึกถึงวีรบุรุษต่าง ๆ ของโลกดูสิ มีอย่างเก่งก็คนละแค่ไม่กี่รูป”
*************************

              “ที่กาญจนบุรีมีไม้กาหลงอยู่ต้นหนึ่ง อยู่บริเวณใกล้ ๆ กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว ตอนช่วงนั้นคนเขาก็สงสัยกัน เขาสงสัยว่าทำไมแถวนั้นนกตายเยอะจริง ก็คือพอนกบินไปจับต้นไม้ตรงนั้นแล้วก็ไปไหนไม่ได้ จนกระทั่งอดตายไปเอง
              ตอนหลัง ท่านอาจารย์บูรพา ซึ่งเป็นเจ้าของโรงลิเก และเป็นพระเอกลิเกด้วย เขาไปเจอแล้วเขารู้จักไม้ต้นนั้น เขาเลยใช้วิธีพลีต้นไม้ แล้วก็สร้างศาลขึ้นมาถวายให้ จากนั้นก็ขอเอาต้นที่เหลือไปทำเป็นวัตถุมงคล ปัจจุบันนี้ท่านคือ พระครูวินัยธรบูรพา วัดถ้ำเสือดาว”
*************************

              “อาตมามีมีดจ่าตุ่มอยู่เล่มหนึ่งเป็นเหล็กลาย ด้ามเป็นงาช้างค่อม ตอนนี้ยังเก็บไว้ใช้ส่วนตัวอยู่
              ช้างค่อมเป็นช้างเล็ก ๆ ตัวใหญ่กว่าควายหน่อยเดียว สมัยก่อนภาคใต้แถวพัทลุง สงขลา จะมีมาก เมืองนครศรีธรรมราชก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองช้างค่อม”
*************************

              “อยากให้ดูครอบครัวตัวอย่างในปัจจุบัน ก็คือ ครอบครัวคุณสมบัติ เมทะนี เราจะเห็นว่าเขาสามารถรักษาความดีสม่ำเสมอมาตั้งแต่ต้นยันปลาย ไม่มีอะไรเสียหายเลย
              ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งก็คือ ครอบครัวของคุณชรินทร์ นันทนาครกับคุณเพชรา เชาวราษฎร์ มีคนถามคุณชรินทร์ว่า ในแต่ละวันต้องคอยดูแลภรรยาที่ตาบอดอยู่ตลอดเวลา ลำบากยากเข็ญขนาดนี้ ทำไมไม่หาคนใหม่เพื่อให้เขามาดูแลเราบ้าง ?
              คุณชรินทร์บอกว่า สมัยนั้นเขาแทบจะไม่มีความหวังเลย ในบรรดาหนุ่ม ๆ ที่ไปจีบคุณเพชรา เขามีคุณสมบัติด้อยที่สุด เพราะฉะนั้น...เขาต้องสู้ฟันฝ่าจึงจะได้มา ของที่ได้มายากขนาดนี้ เขาจึงเห็นคุณค่า ทิ้งไม่ลง
              เพลงหยาดเพชร คุณชรินทร์เขาแต่งให้คุณเพชราโดยเฉพาะ
              “เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า หยาดเพชรเกล็ดแก้วแววฟ้า ร่วงมาจากฟ้าหรือไร ...”
              เพลงสมัยก่อนเขาสวย เห็นภาพพจน์ ได้อารมณ์ก็ติดหูคน ไม่เหมือนสมัยนี้ บางทีตั้งใจฟังยังไม่รู้เรื่อง”
*************************

      ถาม :  การปล่อยวางจะมีความลึกเป็นระดับขั้น ๆ บางเรื่องเราปล่อยแล้ว แต่ไปถึงอีกจุดหนึ่ง จะรู้ว่าที่ปล่อยนั้นยังไม่จริง ยังมีที่มากกว่านั้นอีก จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ถูกต้องแล้วครับ...!
      ถาม :  เป็นไปได้ไหมที่เราปล่อยวางจนถึงที่สุดของเรื่องนั้นแล้ว แต่เรื่องอื่นยังปล่อยไม่ถึงที่สุด หรือว่าจะต้องเท่ากันทุกเรื่อง ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วต้องเท่ากันทุกเรื่อง แต่ว่าในแต่ละเรื่อง บางทีความยินดียินร้ายและอารมณ์ปรุงแต่งบางส่วนของเรายังมีอยู่ จึงทำให้เราปล่อยได้ไม่เท่ากัน
      ถาม :  บางครั้งสมาธิพร้อม ปัญญาและสติก็มาพร้อม เหมือนมารวมกัน เราบังคับให้อยู่ในอารมณ์สมาธิอย่างเดียว ก็แค่ระวังป้องกัน แต่บางช่วงที่กิเลสไม่เข้า ก็ต้องซ้อมไปเรื่อย ๆ ?
      ตอบ :  ซ้อมไปเรื่อย ๆ สติ สมาธิ ปัญญา นั้น จริง ๆ แล้วมาพร้อมกัน แต่สมาธิจะเป็นตัวข้อกลางที่เชื่อมระหว่างสติกับปัญญาอยู่ ถ้าสมาธิทรงตัว สติตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดได้ง่าย ถึงเวลาเราก็เอาสมาธิไว้ก่อน และซ้อมเข้าซ้อมออกให้คล่อง หลังจากนั้นก็ซ้อมในการสู้กับกิเลส
              แรก ๆ ก็อาจจะเป็นการจินตนาการอะไรขึ้นมาก่อน หลังจากที่เรามีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาตามข้อกิเลสนั้น ๆ ถึงเวลาจริงก็จะแก้กิเลสได้ง่ายขึ้น จะเห็นช่องทางมากขึ้น
*************************

      ถาม :  สัมผัสความรู้สึกที่ไม่มีอะไร พอรู้ว่าไม่มีอะไร ก็ไม่คิดจะเอาอะไร กลายเป็นว่าสิ่งที่คิด พูด ทำ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ความเป็นตัวเองจะหยุดไปเลย ?
      ตอบ :  จะว่าไปแล้วก็คือ รู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ แต่ในส่วนของเราที่ว่ามาจริงๆ แล้วจะอธิบายลักษณะอย่างนั้นได้ ในเมื่อเราเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีสาระไม่มีแก่นสาร ทั้งหมดที่เราาทำไปก็สักแต่ว่าทำ แต่ทำในลักษณะที่รู้ว่าสิ่งนี้ดี​ โลกเขานิยมว่าดี เราก็ทำสิ่งนั้น แล้วสิ่งไหนที่ชั่ว คนส่วนมากเขาเห็นว่าไม่สมควร เราก็ละเว้นในสิ่งนั้น
              โดยเฉพาะต้องดีของพระพุทธเจ้า และสิ่งที่ท่านว่าไม่ดี ถ้าเราทำดีของพระพุทธเจ้า และละในสิ่งที่ท่านว่าไม่ดีได้ โดยที่สักแต่ว่าทำ ก็กลายเป็นกำลังใของเราจะก้าวเข้าสู่จุดสุดท้ายได้ง่าย
      ถาม :  การสักแต่ว่าทำ ถ้าเป็นเรื่องการปฏิบัติ คือ รู้ว่าสิ่งที่ทำตรงนี่ผลที่ได้คืออะเไร แต่ไม่ใช่รู้ขณะที่ทำเท่านั้น ก่อนที่จะทำหรือหลังทำแล้ว ก็ไม่ได้คิดถึงผลตรงนั้น คือหยุดแค่ตรงนั้น ?
      ตอบ :  ใช่
*************************

      ถาม :  เราเข้าใจเขาเหมือนเป็นคนเดียวกัน พอเห็นอย่างนั้นก็จะรู้และเข้าใจในความเป็นเขา ตรงนี้ใช่พรหมวิหารหรือเปล่า ?
      ตอบ :  หลาย ๆ ส่วนรวมกัน เช่น มีทิพจักขุญาณร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ
      ถาม :  แสดงว่ามีวิปัสสนาเข้าไปช่วย ?
      ตอบ :  โดยเฉพาะมีปัญญา รู้ว่าตรงไหนพอดีสำหรับเขา เราก็ทำ ไม่อย่างนั้นเขาต้องการเพียงแค่นี้ แต่เราให้มากเกิน เขาก็รับไม่ได้
      ถาม :  เมื่อก่อนมองไม่เห็นว่าการปรุงแต่งเป็นอย่างไร ตอนนี้มองเห็นทันแล้ว ?
      ตอบการรู้เห็นนั้นไม่ใช่เห็นเฉย ๆ พอเห็นแล้วเราต้องหยุดตั้งแต่สาเหตุแรก กิเลสถึงจะสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เราไม่ได้
              ถ้าเราเห็นเฉย ๆ แล้วหยุดไม่ได้ บางทีก็ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าเดิมอีก เหมือนกับคนไข้รู้ว่าเจ็บตรงนี้ แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้เสียที
      ถาม :  พอล้มทีไรก็ได้อะไรกลับมาทุกครั้ง ?
      ตอบ :  ต้องให้ได้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นล้มแล้วเสียเวลาเปล่า ไม่ได้เก็บของเก่าเอามาเป็นบทเรียน โบราณเขาบอกว่าผิดเป็นครู เพราะฉะนั้น...ก็เอามาเป็นครูเพื่อแก้ไขตัวเรา แต่ถ้าผิดบ่อย ๆ เดี๋ยวก็เป็นศาสตราจารย์...!
      ถาม :  เมื่อก่อนทำอานาปานสติ เพื่อให้สมาธิรวมตัว แต่พอตั้งใจเอาแต่อานาปานสติ คือพิจารณาอนุสติไปเรื่อย ๆ อารมณ์กลับต่างจากเมื่อก่อน คือทำอานาปานสติก็จริง แต่เห็นว่าเราทรงอารมณ์อานาปานสติ เหมือนกับอานาปานสติมีอยู่รอบตัวเราตลอด นี่คือ...?
      ตอบ :  นั่นเป็นส่ิงที่เราทำได้แล้ว แค่มาทบทวนใหม่ โดยการกำหนดเวลาเท่านั้นเอง เมื่อทวนบ่อย ๆ ก็จะเกิดความชำนาญ ทำให้สังเกตอารมณ์ใจได้มากขึ้น จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมาก แต่บางทีรู้มากไปก็ลำบาก รู้มากก็ยากนาน ยิ่งรู้ก็ย่ิงยาก ไปเจอคนรู้น้อยก็จะพลอยรำคาญไปด้วย
              ดู ๆ ไปแล้วจะเห็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านมอบสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้แก่เรา เราจึงได้มีอาวุธไว้ใช้ในการต่อสู้กับกิเลส ถ้าตั้งใจทำจริง ๆ ถึงแม้ยังเอาอชนะไม่ได้ แต่ก็ไม่แพ้อย่างน่าอนาถนัก
              ส่วนใหญ่แล้วเราไปแพ้อย่างน่าอนาถ ฉะนั้น...ถ้าเรามั่นคงในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริง ๆ จะมากจะน้อยผลก็เกิดขึ้น ถึงแม้ไม่สามารถจะช่วยคนอื่นได้ อย่างน้อย ๆ ก็สามารถรักษาตนเองได้ ถ้ารักษาตัวเองได้นี่ถือว่าดีมากแล้ว
              กำลังใจคนนั้น ถ้าแบ่งอย่างหยาบ ๆ ก็มีอยู่สามระดับด้วยกัน
              ระดับที่หนึ่ง เอาตัวไม่รอด ช่วยคนอื่นไม่ได้
              ระดับที่สอง เอาตัวรอดได้ ช่วยคนอื่นไม่ได้
              ระดับที่สาม เอาตัวรอดได้ ช่วยหมู่คณะให้รอดได้ด้วย

              ฉะนั้น...อย่างน้อยถ้าจะแพ้ก็ให้ชนะใจคนดู ลูกเจนนี่ขึ้นไปแข่งเทควันโด เนื่องจากตัวเองเก่งเกินวัย คู่ต่อสู้รุ่นท้าย ๆ มีแต่ตัวใหญ่กว่า เพราะอายุของตัวเองยังน้อยอยู่ ถึงเวลาต้องอาศัยความเร็วต่อสู้เอา พอพลาดโดนคู่ต่อสู้เตะทีก็กระเด็น พอโดนเข้าหลายที กรรมการถามว่าจะยอมแพ้ไหม ? ลูกเจนนี่ไม่ยอม บอกว่า “สู้...!” สู้ทั้งน้ำตา คนดูปรบมือกันเกรียวเลย ใจสู้จริง ๆ
              ถ้าจะแพ้ก็ต้องแพ้ในลักษณะนั้น คือแม้แต่ชนะใจนดู แต่ถ้าชนะได้ก็ดีกว่า เพราะโลกนี้เขาจดจำแต่ผู้ชนะเท่านั้น อย่างเอเชี่ยนเกมส์ที่ผ่านมา การวิ่งแข่ง ๑๐๐ เมตร คนชนะก็ชนะไป ส่วนคนแม้ก็แค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้นเอง แต่คนจำเฉพาะคนได้เหรียญทอง คนได้เหรียญเงินที่วิ่งจี้ตามติดมากลับไม่จำ
              เพราะฉะนั้น...ในเมื่อโลกเขานิยมอย่างนั้น ก็อย่าพยายามแพ้​ โดยเฉพาะถ้าแพ้กิเลส เราไม่ได้แพ้ชาติเดียว แพ้กิเลสก็ต้องเกิดอีกหลายชาติ น่ากลัวมาก พิจารณาแล้วจะเกิดภยตูปัฏฐานญาณ เห็นการเกิดเป็นโทษเป็นภัยเป็นของที่น่ากลัวมาก
*************************

      ถาม :  ถ้าให้เพื่อนลอกข้อสอบหรือลอกข้อสอบเพื่อน ผิดศีลข้อไหนคะ ?
      ตอบ :  ไม่ผิด ไม่มีศีลข้อไหนระบุว่าห้ามลอก แต่ในส่วนของสามัญสำนึก เราจะรู้ว่าควรหรือไม่ควร ดังนั้น...ในส่วนที่ผิดจะเป็นผิดมโนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสามัญสำนึกของเราเอง
              ถ้าเรามัวแต่ไปลอกเขาอยู่ ไม่มีความรู้ที่แท้จริง เมื่อมีสถานการณ์ที่ต้องใช้ความรู้อย่างนั้น เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ถ้าเรารู้จักคิดอย่างนี้ เราก็จะพากเพียรเรียนให้รู้จริง ๆ
      ถาม :  ถ้าเพื่อนมาขอลอก ?
      ตอบ :  ถ้าเพื่อนมาขอลอกก็ให้ลอกไปเถอะ ถือว่าเป็นเมตตา แต่บอกเขาหน่อยว่า ลอกแล้วต้องแปลงข้อความด้วยนะ อย่าให้เหมือนกันทุกคำ
              ที่จริงแล้วนี่จัดเป็นการทุจริต ทุจริต ก็คือ ประพฤติมิชอบ ไม่ถูกต้องตามกฎ ระเบียบที่เขาบังคับเอาไว้ ถ้าเราละเมิดในเรื่องแค่น้ได้ ต่อไปเรื่องที่หนักกว่านี้เราก็จะละเมิดได้ จะเป็นต้นเหตุให้เราทำความชั่วที่หนักกว่านี้ได้ ถ้าละเว้นได้ก็ให้ละเว้นเสีย
*************************

              “คำว่า พุทธะ ในพระไตรปิฎก และอรรถกถาแบ่งเป็น
              สัมมาสัมพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง
              ปัจเจกพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่สั่งสอนผู้อื่นเป็นการทั่วไป
              อนุพุทธะ เป็นผู้ที่ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็คือพระอรหันต์ทั้งหลาย
              สุตตะพุทธะ เป็นผู้รู้โดยการศึกษามาก ฟังมามาก
              สามอย่างแรกหมดกิเลสแน่นอน แต่อย่างสุดท้ายไม่แน่ อย่างสุดท้ายได้คำว่าพุทธะ (ผู้รู้) มา เพราะว่าท่านเรียนรู้ไว้มาก แต่อาจจะเป็นแค่รู้ทฤษฎีเฉย ๆ”
*************************

      ถาม :  เมื่อก่อนจะฝันเหมือนทดสอบจิต แต่ช่วงหลังฝันว่ากลัวตาย ?
      ตอบ :  ความกลัวตายจะหมดได้ก็ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น...ต่อให้เป็นพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี ก็ยังมีความกลัวตายอยู่ เพียงแต่กลัวมากกลัวน้อยต่างกันเท่านั้นเอง
      ถาม :  ถ้าคิดถึงพระ ?
      ตอบ :  หมั่นคิดถึงบ่อย ๆ ไม่ใช่รอให้เหตุเกิดแล้วค่อยมาคิด
*************************

      ถาม :  คนที่ไม่ได้ตั้งใจละกิเลสสักอย่าง แต่เชื่อว่าถ้าคิดถึงพระนิพพานก่อนตาย เขาต้องได้ไปพระนิพพานแน่เลย เขาจะได้ไปไหมคะ ?
      ตอบ :  ถ้าไม่ทำความชั่วอื่นไปได้คือ เลิกความชั่วทุกอย่างตั้งแต่บัดนั้นเลย อาจจะรักษาศีล ความดีอย่างอื่นไม่ได้ทำ เพียงแต่นึกว่าจะไปพระนิพพานอยู่ตลอดเวลาก็ไปได้
              เพราะการนึกว่าจะไปพระนิพพานตลอดเวลา เป็นการทรงสมาธิอยู่แล้ว และสมาธิที่ทรงในระดับนั้น จะตัดรัก โลภ โกรธ หลงโดยอัตโนมัติ เพราะคิดถึงแต่พระนิพพานอย่างเดียว ความชั่วอย่างอื่นเกิดขึ้นไม่ได้เลย ในเมื่อมีศีลเป็นเครื่องประกอบ กำลังใจมุ่งมั่นจริง ๆ ก็ไปได้ แต่ถ้าทำความชั่วอื่นด้วย อาจจะพังตั้งแต่กลางคัน
      ถาม :  ทำความชั่ว คือผิดศีลห้า ?
      ตอบ :  ทั้งผิดศีลห้า หรือผิดธรรม กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ถ้าหากไปละเมิดอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตไม่บริสุทธิ์เพียงพอ มีโอกาสข้องติดอยู่กับวัฏฏะต่อไป
      ถาม :  ถ้าตลอดวันเขาทำงาน ฟุ้งซ่านไปเรื่อย เพียงแต่ว่าคิดจะไปพระนิพพานแน่ ?
      ตอบ :  ก่อนนอนและตื่นนอนตั้งเป้าเอาไว้ให้แน่นอน ภาวนาเกาะพระนิพพานให้แน่ ๆ ไว้สัก ๓-๕ นาที
              ก่อนจะลุกไปทำงาน ก็ตั้งใจว่าวันนี้เราจะไปทำงานแล้ว ถ้าตายลงไปเพระาหมดอายุขัย หรือเพราะอุบัติเหตุใด ๆ เราขอไปอยู่กับพระพุทธเจ้าที่พระนิพพาน ให้ตั้งเป้าไว้ก่อนอย่างนี้
              พอถึงเวลาก่อนนอน ก็ลักษณะเดียวกัน ให้คิดก่อนว่า
              ตอนนี้เราจะนอนแล้ว ถ้าไม่ได้ตื่นขึ้นมาเห็นตะวันขึ้น จะตายลงไป เพราะหมดอายุขัยหรือสาเหตุอะไรก็ตาม เราขอไปอยู่พระนิพพาน
              ทรงกำลังใจมั่นคงสัก ๓ - ๕ นาทีแล้วก็นอน ถ้าทำอย่างนี้ก็ไปได้ ถ้าไม่ได้ทำอย่างนี้ก็ยาก
      ถาม :  เพราะประมาทไป ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ประมาทไป แต่ประมาทมากเลย คนที่เขาทำแทบล้มประดาตายยังไม่ได้ อย่างที่พระองค์ที่สิบท่านบอกว่า
              พระนิพพานไม่ใช่ภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน เป็นภาษาใจ ใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้
              บาลีบอกไว้ชัดว่า
              สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
              นาญโญ อัญญัง วิโสทะเย บุคคลหนึ่งจะทำให้อีกบุคคลหนึ่งบริสุทธิ์หาได้ไม่
*************************

      ถาม :  การที่ใจเราเปิดกว้างมาก ๆ เป็นดาบสองคมหรือไม่ ?
      ตอบ :  ถ้าไม่คำนึงถึงศีลธรรมก็เจ๊ง เพราะฉะนั้น...ต้องเอาศีลธรรมเป็นกรอบ ไม่ใช่ว่าเขาจะชั่วเท่าไร เราก็เปิดใจกว้างยอมรับได้ อย่างนี้ก็เจ๊งสิ...!
      ถาม :  ถ้าเราพร้อมอภัย ?
      ตอบ :  อภัยให้เขา แต่ไม่ใช่เราไปทำอย่างนั้นบ้าง
      ถาม :  ข้อดีของการเปิดใจมีอะไรบ้างคะ ?
      ตอบ :  อย่างน้อย ๆ เรื่องที่เราเคยแบก เราก็วางได้
      ถาม :  ความเปิดกว้างของจิตใจจะช่วยอะไรเราได้บ้าง ?
      ตอบ :  ต่อไปจะทำอะไรก็ง่ายขึ้น เพราะเห็นคำว่าธรรมดามากขึ้น ใจที่เปิดกว้างได้เพราะเห็นคำว่าธรรมดา ธรรมดาของเขาเป็นอย่างนั้น อย่าไปว่าเขาเลย
*************************

              “ตอนที่ไปรับการอบรมเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ท่านลงมาช่วยการอบรม ท่านเปิดโอกาสให้ทุกคนซักถามปัญหาต่าง ๆ ได้
              มีคนถามปัญหาที่คิดไม่ถึง แทนที่จะเป็นปัญหาด้านการปกครอง เขากลับถามท่านว่า “ผมสร้างกุฏิทรงไทย น้ำฝนไหลเข้าไปข้างใน แล้วหยดลงมาบนเพดาน ควรแก้อย่างไรครับ ?”
              หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านบอกว่า “ควั่นหัวแปแล้วจะไม่เป็น..”
              สำหรับเรือนทรงไทยจะมีลักษณะเฉพาะอย่างนั้น คือมีหัวไม้แปยื่นออกมา เราไปดูตรงใต้จั่ว จะมีไม้ที่ยื่นออก เขาเรียกว่าแป
              ท่านเล่าให้ฟังว่า เคยเกิดปัญหานี้กับท่านมาก่อน ท่านถึงขนาดไปนอนดูอยู่ข้างบนเพดานตอนฝนตก พอฝนหยดรวมกันมากเข้า ๆ ก็จะไหลมาใต้แป พอมากเข้าก็ไหลเข้าไปอยู่ข้างใน แล้วหยดลงบนเพดาน
              ท่านบอกให้ควั่นหัวแป ควั่น ก็คือ บากให้เป็นรอยเพื่อสกัดน้ำเอาไว้ พอเราควั่นหัวแปแล้ว น้ำที่ไหลมาถึงตรงนั้นก็จะตกงไป ไม่สามารถที่จะไหลต่อเข้าไปข้างในได้
              อาตมาก็เพิ่งจะรู้ว่า พระกว่าจะขึ้นมาถึงระดับนี้ได้ ท่านผจญมาแล้วทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องแบบนี้ท่านยังไปนอนสังเกตอยู่เป็นวัน ๆ ท่านจึงจะแก้ปัญหาได้