ถาม :  เวลาเราไปวัดนี่ เราไปเข้าห้องน้ำหรือเข้าไปใช้ของในวัด ทีนี้ถ้าเกิดเราไม่ได้ชำระหนี้สงฆ์มันจะมีผลติดมามั้ยคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากเขาเปิดเป็นสาธารณะก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าติดใจก้ชำระหนี้สงฆ์ไปซะหน่อย ตั้งใจหยอดไป ๕ บาท ๑๐ บาทก็ได้ โบราณนี่จิตของเขาจะละเอียดมากถึงขนาดว่าเราเดินเข้าไปในวัดนี่เป็นเศษเป็นผงติดรองเท้ามา โบราณเขาจึงมีการชำระหนี้สงฆ์โดยขนทรายเข้าวัด สมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้ว สมัยก่อนเขาไปงมทรายจากแม่น้ำกันเลย เล่นกันสนุกสนานช่วงสงกรานต์นี่
      ถาม :  สงสัยที่พูดว่าผู้ที่อยู่ในนรกภูมิ พอดีนึกขึ้นมาได้ว่าถ้าเราเลี้ยงสุนัขหลายตัว สุนัขพวกนี้มีถือว่า มันมีบุญมั้ยคะ ?
      ตอบ :  จำเอาไว้เลยว่า สัตว์เดรัจฉานที่อยู่ใกล้คน กรรมของการเป็นเดรัจฉานของเขาจวนหมดแล้ว ดังนั้นจะเรียกว่ามีบุญก็เรียกได้ ถ้าจิตของเขาเกาะคน เขาจะไปเกิดเป็นคน ถ้าจิตของเขาเกาะพระเขาจะเกิดเป็นเทวดา หรือว่าจิตของเขาเกาะความดีส่วนหนึ่งส่วนใดที่เขาทำเอาไว้ซึ่งเป็นบุญ เขาก็จะเกิดเป็นเทวดาก็ได้
              ดังนั้นสัตว์เดรัจฉานได้เปรียบเราก็ตรงที่ว่า สัตว์เดรัจฉานลงอบายภูมิที่ต่ำกว่าเดรัจฉานนั้นมีน้อยกับน้อย แต่ว่าสัตว์เดรัจฉานที่ไปอย่างแย่สุด ส่วนใหญ่ไปเกิดเป็นเหมือนเดิมหรือไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาไปเลย บางรายก็เกิดเป็นพรหมไปเลย
      ถาม :  เคยมีความรู้สึอย่างหนึ่งค่ะ เคยไปมองหมาตัวหนึ่งคือเป็นหมาที่คนเลี้ยงไว้ แล้วมันก็นอนเฉย ๆ ใจเราก็คิดว่าวันทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปีทั้งชาติมันเกิดที่มันไม่มีโอกาสทำบุญทำอะไรเลย เวลาของเขาสูญเปล่าอย่างนั้นเป็นการคิดที่ถูกหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าคิดในสภาพของหมาตัวนั้นก็ใช่ แต่ถ้าหากว่าเป็นที่อื่น ๆ เขาอาจจะได้ทำบุญอยู่ อย่างเช่นในวัดอย่างนี้ ในวัดท่าซุงหรือวัดที่อาตมาอยู่จะมีการเปิดเสียงตามของหลวงพ่อ เขาได้ยินอยู่ตลอดโดยเฉพาะที่ ๆ อาตมาอยู่นี่เวลาที่เปิดเสียงตามสายคือเวลาที่เขาจะได้กินขนม จิตมันจะเกาะมาก รอเวลานี้ด้วยความกระวนกระวายเลย เขาก็จะเกาะความดีของเขาอยู่ตลอด
              แล้วอีกอย่างหนึ่งคือว่ามีความชำนาญในการทรงฌานขนาดตั้งเวลาได้ เราเป็นคนต้องอายเขา่เลยนะ ตัวอย่างมีชัด ๆ แล้วที่วัดท่าซุงสมัยก่อนโน้นไม่ทราบว่าช่วงนี้จะมีบ้างหรือเปล่า ? เพราะฉะนั้นจะว่าเขาไม่มีโอกาสทำบุญนั้นไม่ใช่ โอกาสทำบุญของเขามีเยอะ
      ถาม :  ก็เป็นเฉพาะหมาบางตัวเท่านั้น ?
      ตอบ :  บางตัวที่เขาอยู่ในสถานที่ ๆ เหมาะสม อย่างเช่นว่า อยู่วัด เฝ้าวัดก็เท่ากับว่าดูแลของสงฆ์
      ถาม :  ที่บ้านบูชาหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าไว้ อยากจะทราบประวัติของท่านค่ะ ?
      ตอบหลวงปู่ศุขก็ถือว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่อยู่คาบเกี่ยวในสมัยรัชกาลที่ ๕,๖,๗ เหล่านี้ ท่านเองเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมาในสายของพระโพธิสัตว์ หลวงปู่ศุขก็ต้องไปเกิดใหม่อีก ตอนนี้ท่านเป็นพรหมอยู่ ท่านจะต้องเกิดใหม่อีก ในช่วงนั้นท่านเองท่านก็เป็นผู้มีฤทธิ์อภิญญา สามารถแสดงสิ่งแปลก ๆ ให้คนเห็นโดยทั่วไป อย่างเสกหัวปลีเป็นกระต่ายเอามาเล่นกันสนุกน่ะ
      ถาม :  หมายความว่าท่านมีชื่อในจังหวัดชัยนาทนี้เป็นเรื่องของ.....?
      ตอบ :  ในเรื่องเกียรติคุณของท่าน ทั้งความสามารถในอภิญญา แล้วก็การปฏิบัติของใจ ความเมตตาสงเคราะห์คนอะไรเหล่านี้ คนเคารพมากก็คือท่านเป็นอาจารย์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จในกรมองค์นี้ท่านสนใจในเรื่องของฤทธิ์ของอภิญญา ของเครื่องลางของขลังมาก ท่านสามารถปฏิบัติได้ถึงขนาดอย่างเช่นว่า ย่อตัวให้เล็กลงไปอาบน้ำในขวดโหล หรือว่าเสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตนอะไรได้ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นฆราวาส
              อาจารย์แต่ละองค์ที่ท่านจะกราบเป็นครูบาอาจารย์นี่ต้องเป็นผู้ที่มีความลำบากจริง ๆ เพราะท่านไปลองเขาเลย ถ้าอาจารย์ไม่เก่งจริงโดนท่านลองก็เสร็จเหมือนกัน แล้วท่านจะเคารพนับถือ หลวงปู่ศุขอย่างชนิดที่ว่าสุดจิตสุดใจ เพราะว่าสิ่งใดที่ท่านข้องใจหลวงปู่ศุขท่านสามารถสอนได้ทั้งนั้น ทดสอบกันซึ่ง ๆ หน้าโดยเอามหาดเล็กของท่าน ท่านบอกว่าหลวงพ่อสามารถสาปคนให้เป็นสัตว์ได้มั้ย ? หลวงพ่อบอกว่า สาปไม่ได้ แต่เสกได้ ท่านก็ถามว่าทำอย่างไร ? ท่านก็บอกว่าให้ทหารที่ตามมาเอาเชือกผูกเอวมันไว้หน่อย พอผูกเชือกเอาไว้ถามว่าว่ายน้ำเป็นมั้ย ? บอกเป็น เออ....เอ็งกระโดลงบ่อไป มันก็กระโดดลงบ่อไปว่ายอยู่ข้างใน หลวงปู่ศุขบอกว่าให้มันเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนกลายเป็นจระเข้ แต่มีเชือกผูกเอวอยู่ แล้วท่านก็เอาน้ำมนต์ราดกลายเป็นคนตามเดิม คนจำนวนมากเห็นอยู่ด้วยกันนะ
      ถาม :  ไม่ใช่ภาพลวงตาใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะเหมือนกับปรับโมเลกุลใหม่นะ จากโมเลกุลของการเป็นคน ก็กลายเป็นสัตว์ไป
      ถาม :  แล้วลักษณะจิตของมหาดเล็กล่ะครับ เขาจะรู้สึกอย่างไร ?
      ตอบ :  เขาก็รู้สึกเป็นคนอยู่ แต่เปลือกนอกมันเปลี่ยนไปแล้ว พวกสัตว์ทั้งหมดความรู้สึกเขาก็คือ คนดี ๆ นี่เอง
      ถาม :  การรับรู้ของสัตว์กับคนนี่มันไม่เท่ากันใช่มั้ยครับ ?
      ตอบ :  มันไม่เท่ากันก็เพราะว่าเขาจะมีฤทธิ์ โดยวิบากกรรมทำให้ประสาทสัมผัสของเขาเลิศกว่าคนมาก
      ถาม :  ก็สมมติเขาเสกเป็นจระเข้ไปเลยแล้ว ?
      ตอบ :  ความที่ไม่เคยชินของเขา ทำให้เขาใส่ความรู้สึกของความเป็นคนอยู่
      ถาม :  อย่างนี้ ถ้าเคยชินเมื่อไหร่ ?
      ตอบ :  ถ้าเคยชินเมื่อไหร่ดีไม่ดีมันก็ไปเลย เพราะว่าที่ท่านต้องเอาเชือกลากเอวไว้ก็เพราะกลัวมันจะไปเลย
      ถาม :  ผมนึกว่าลากให้เป็นว่ายังไงก็เป็นคนเิดิม ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ กลัวมันจะไปเลย สมัยก่อนพวกที่อยู่ทางด้านเหนือ เวลาเขาฝึกวิชาแปลงตัวเป็นตะเข้เป็นอะไรนี่ ถ้าหลุดออกไปเมื่อไหร่นี่ อาจารย์เขาจะไปดักตรงเขื่อนชัยนาท ไปรอเอาน้ำมนต์รดกันตรงนั้น เพราะว่ายังไง ๆ มันก็ไปติดที่หน้าเขื่อน ก็มีคนข้องใจว่าอาจารย์รู้ได้ยังไงว่า อันนั้นเป็นลูกศิษย์ตัวเอง ก็บอกว่าตะเข้วิชานั่นหางมันสั้น มันไม่เหมือนตะเข้จริง ๆ ที่หางมันยาว ตะเข้วิชาเขาบอกว่าหางมันจะป้อม ๆ สั้น ๆ เหมือยังกับหัวปลี
      ถาม :  ถ้าก่อนหน้านั้นโดนสอยล่ะครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าโดนสอยก่อนก็ช่วยไม่ได้ หรือว่าถ้าไปกินคนก็ไม่สามารถกลับเป็นคนได้อีก
      ถาม :  .............เราทำดีขึ้น แต่มันแย่ลงทันที ?
      ตอบ :  มันเป็นเรื่องปกติ มันมีอยู่สองประการด้วยกัน ประการแรกการปฏิบัติที่เรารู้สึกว่าตัวเราเองแย่ลงไปทุกทีนั้น เกิดจากว่าเราทำดีขึ้น พอทำดีขึ้น กำลังใจละเอียดขึ้น พอเห็นสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้นก็เลยคิดว่าตัวเองแย่ลง
              ส่วนประการที่สองเป็นเรื่องของกิเลสมารดลใจ เขาพยายามดึงเราให้ห่างจากจุดความดีตรงนั้น ก็เลยใช้สารพัดวิธีที่จะมาหลอกล่อ เพื่อที่จะให้เราหลงผิดแล้วตามเขาไปให้ได้ คือบางคนจริตนิสัยค่อนข้างที่จะใจร้อนหน่อย ในเมื่อทำดีไม่ได้อย่างใจซักที ประชดชั่วมันไปเลยก็มี อย่างนั้นก็สมใจเขา เพราะเขาต้องการให้เราเป็นอย่างนัั้นอยู่แล้ว
      ถาม :  ยิ่งนับถือสิ่งใดมาก ๆ นับถือครูบาอาจารย์องค์ไหนมาก ๆ ใจบางทีมันจะแวบ อคติบ้างอะไรบ้าง
      ตอบ :  นี่ตัวนี้ชัดเลย ให้ขอขมาพระรัตนตรัยประจำ ๆ พอกำลังใจของเราถึงตรงจุดนี้มา เขารู้ว่าเราจะพ้นมือเขาแล้ว เขาจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เราล่วงเกินหรือปรามาสพระรัตนตรัย ด้วยกายด้วยวาจา หรือด้วยใจ ไม่ว่าวิธีใดวิธีหนึ่ง บางคนภาวนาไม่ได้เลย หลับตาลงเมื่อไร นึกถึงภาพที่ตัวเองลบหลู่ครูบาอาจารย์หรือทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่คิดจะทำอย่างนั้น มาสร้างภาพให้ปรากฎขึ้นมาชัด ๆ เลยก็มี
              เราเองให้คิดเสียว่าอันนี้เป็นการชักนำจากสิ่งภายนอก ด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมเขาชักนำให้เป็นไป ไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ถึงไม่ใช่ความผิดของเราก็เถอะ ในเมื่อเราเป็นคนคิด เป็นคนพูด เป็นคนทำ เราก็ตั้งใจที่จะขอขมา ให้ตั้งใจอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ เจ้าพวกนี้มันทนคนหน้าด้านไม่ได้ พอถึงเวลา เราตั้งใจขอขมาบ่อย ๆ ตั้งใจทำบ่อย ๆ เขารู้ว่าเขาทำอย่างนี้อยู่ เราไม่กระเทือน เขาก็เลิก
      ถาม :  พอจะเริ่มเย็นลงจะมีตัวสอบจิตอยู่คนหนึ่งที่ทำงาน พอเริ่มจะพูดด้วยหรืออะไรด้วยนี่ มาแบบเดิม อันเดิม เดิม ๆ เลย ก็รู้อยู่แล้วว่ามันซ้ำ ๆ ก็คิดว่าช่างมัน มาบ่อย ๆ จะได้ชิน มันไม่ชินนะ แต่ก็ไม่ว่าอะไรมันก็นิ่ง ๆ อยู่ซักพัก
      ตอบ :  สังเกตใจตัวเองว่า อารมณ์กระทบที่มันเกิดขึ้นนั้นมันช้าลงหรือเปล่า ? ถ้าหากว่าเราสังเกตเราเห็นว่าช้าลง ถือว่าเป็นที่น่าพอใจแล้วนะ ถ้าช้าลงนี่เราชนะนะ เพราะว่ามันกำเริบได้ช้า บางทีเราผ่านพ้นจากตรงนั้นไปแล้ว ไปคิดทบทวนใหม่ ตัวนี้มันเป็นจิตสังขารของเราไปปรุงแต่งเอง อันนี้ถือว่าเราไปเสียท่าเขา
              ถ้าหากว่าแล้ว ๆ กันไป ลับหลังจากตรงนั้น กองมันทิ้งมันเอาไว้เลย เราก็ไม่แพ้เขา แต่ถ้าหากว่าเราเอาคิดทบทวนใหม่ ตัวนี้จะเป็นจิตสังขารที่เอามาปรุงแต่งเข้ามา พาให้ฟุ้งซ่าน พาให้รัก โลภ โกรธ หลง เอง เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ต้องรักษาใจเราให้ดี ให้มันอยู่กับการภาวนา อยู่กับสติเฉพาะหน้าแล้วมันจะไม่เป็น
      ถาม :  ช่วงปฏิบัติมาก ๆ อัตตามันโตขึ้น แล้วหนูก็เห็น รู้ด้วยนะว่าเป็นอย่างนี้นะตัวเรา
      ตอบ :  ตีหัวมันซิ (หัวเราะ)
      ถาม :  ตียังไงล่ะ ?
      ตอบ :  เห็นชัดก็ทุบมันให้ตายเลย มันเป็นอยู่ แต่ให้เรามีสติรู้อยู่เสมอว่า ไม่ว่าตัวเราหรือตัวเขา มันก็ประกอบไปด้วยอาการไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเช่นกัน ไม่ว่าเราจะยึดถือมั่นหมาย หรือแบ่งแยกขนาดไหนก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราก็ยึดถือเป็นปกติ เราจะคิดเบียดเบียนเขาด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจหรือไม่ ? เขาก็ทุกข์อย่างนั้นของเขาอยู่แล้ว เราเองจะยกตัวของเราให้สูงขึ้นกว่าเขาหรือไม่? จะดูถูกเหยียดหยามเขาหรือไม่ ? จะเห็นว่าเขาเสมอเราหรือไม่? จะเห็นว่าเขาดีกว่าเราหรือไม่ ? เขาก็เกิดแก่เจ็บตายตามปกติของเขาอยู่แล้ว ในเมื่อปกติธรรมของสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นเช่นนั้นเราก็อย่าเป็นทุกข์โทษเวรภัยกับผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ของเรา แล้วคิดตรงจุดนี้เสร็จก็แผ่เมตตาต่อให้อภัยเขาไป ให้อภัยเขาไม่พอ ต้องให้อภัยเราด้วยตัวเรามันคิดเอง มันยกตัวเองขึ้นเรื่อย ต้องคอยระวัง ๆ ไว้
      ถาม :  วิธีแก้ที่สะดวก ตัวเองคืออาจยังมองไม่เห็น แต่เห็นชัด ๆ เลยนี่ โทสะ กับราคะ เป็นเยอะ
      ตอบเป็นเยอะนี่มันเกิดจากการรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยขาดสติ การป้องกันตัวเอง ตาเห็น ไม่พอใจ ฟังให้ดีนะ หูได้ยิน ไม่พอใจ จมูกได้กลิ่น ไม่พอใจ ลิ้นได้รส ไม่พอใจ กายสัมผัส ไม่พอใจ สังเกตไหมว่า มันไม่พอใจทั้งนั้นเลย มันไม่พอใจนี่ โบราณเขาใช้คำว่า ไม่ถูกใจ ความจริงถูกเข้าไปปังเบ้อเร้อแล้วมันถึงใจไปเลยล่ะ
              เมื่อมันเข้าถึงใจมันก็เป็นอันตรายกับเราได้ ถ้าเราเห็นสักแต่ว่าเห็น อย่าไปรับรู้มันเข้ามา อย่าเอาไปนึกคิดปรุงแต่งต่อ อย่าไปทำความพอใจ ไม่พอใจกับมัน วางกำลังให้เป็นกลาง ๆ หูได้ยิน จมูกได้ิกลิ่น หรือลิ้นได้รส กายสัมผัส ก็ลักษณะเดียวกันถ้าเราหยุดมันอยู่แค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้โดยระวังไม่ให้มันเข้ามาในใจได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะทำอันตรายเราไม่ได้
      ถาม :  แล้ววางใจเป็นกลาง ๆ เป็นยังไง ?
      ตอบอยู่กับการภาวนาดีที่สุด คือเราเองถ้าหากว่ายังปล่อยวางไม่ได้ ต้องมีเครื่องป้องกันตัวเอง คือใส่เกราะไว้วิธีใส่เกราะของเราก็คืออยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับการภาวนา อยู่กับสติเฉพาะหน้า ถ้าหากว่าตราบใดที่เรารู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ รัก โลภ โกรธ หลง เหล่านี้กินเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นเผลอเมื่อไหร่ หลุดจากลมหายใจเมื่อไร เขาก็ทำอันตรายได้เมื่อนั้น ใส่เกราะไว้ ไม่นั้นเดี๋ยวมันฟันเละ
      ถาม :  แล้วก็.........อันนี้อาจคิดผิดก็ได้ ช่วยแก้ให้ที ทำบุญบางครั้ง เราทำเหมือนกับไปเอง ลุยเอง เจ็บตัวมาก็หลายครั้ง กับการที่คนอื่นเขาเห็นไปวัดบ่อย ๆ เห็นทำบุญบ่อย ๆ เขาก็โมทนาบุญ หน้าตาเขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูเขามีความสุข ผิดกับตัวเราที่ไปลุยเองเสียอีก
      ตอบ :  ทำเองได้ปลอดภัย ได้เองแน่ ๆ ถ้าคอยโมทนาคนอื่นเขาผลต้องเกิดกับเขาก่อนแล้วถึงจะเกิดกับเราทีหลัง
      ถาม :  แล้วถ้าเราทำเอง แต่มันผิด มันจะ........?
      ตอบทุกอย่างที่เราทำเราไ้ด้ทั้งนั้น จำไว้ให้แม่นเลย ไม่ว่ามันจะผิดพลาด เราจะล้มเหลวอย่างไรก็ตาม นั่นมันเป็นสิ่งที่เราคิด แต่ความเป็นจริงที่เราได้ จุดที่เราได้คือเราได้บทเรียน รู้้เลยว่าตรงนั้นถ้าทำก็เป็นอย่างนั้นอีก ก็ไม่ทำตรงนั้น
              เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราทำไม่ใช่ว่าเราล้มเหลว ไม่ใช่ว่าเราผิดพลาด แต่เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่าสิ่งที่ทำไปนั้น ต่อไปอย่าได้ทำซ้ำ บทเรียนพอแล้ว เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ทำเราได้อยู่ตลอดเรียกว่าทำถูกได้กำไร ทำผิดได้ประสบการณ์ ไม่มีเสียเลย