ถาม :  มีพระท่านหนึ่งใช้คนไปซื้อของไปตั้งศาลในวัดโดยที่ไม่ได้ให้เงินไปด้วย เสร็จแล้วก็ให้คนไปซื้อของมาถวายพระ ถ้าท่านเป็นพระอริยเจ้าจะใช้แบบนี้ได้มั้ยครับ ?
      ตอบ :  มันต้องดูด้วยเพราะของพระเขามีอยู่ว่าเป็นญาติ เป็นปวารณานี่ขอได้ ถ้าไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณานี่ไม่มีสิทธิขอ โดนอาบัติ
      ถาม :  ปวารณาคืออะไรครับ ?
      ตอบปวราณา เขายอมตัวให้ว่าให้ทำอย่างนั้นได้ อย่างเช่นว่า หลวงปู่มหาอำพัน เวลาลูกศิษย์จะสึกนี่ เมื่อสึกเป็นทิดแล้วท่านจะให้มาปวารณากับท่านว่า กระผมขอปวารณาต่อพระคุณเจ้าด้วยปัจจัยสี่และการใช้สอยทั้งปวง ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็โปรดแจ้งให้กระผมทราบด้วยขอรับ คราวนี้ก็ใช้ไปเหอะ แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้านี่จิตท่านละเอียด ท่านจะไม่ละเมิดศีล ถ้าละเมิดศีลนี่เรื่องอย่างนั้นท่านคงไม่ทำ
      ถาม :  ถึงแม้ว่าจะปวารณา ?
      ตอบ :  ถ้าปวารณานี่ได้ แต่ถ้าพูดถึงประเภทที่ว่าใช้ส่งเดชไปเฉย ๆ
      ถาม :  ก็มีพระทำพิธีจะปลุกเสกพระอยู่ แล้วมีแสง ถ่ายรูปออกมาแล้วมีแสง อันนี้เป็นอำนาจบุญบารมีของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า หรือว่าเป็น......?
      ตอบ :  เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง คือว่าพระท่านอาจแสดงให้อย่าง หรือไม่ก็พรหม เทวดา ท่านแสดงให้อย่างหนึ่ง ตอนนั้นต้องดูว่าใคร
      ถาม :  แล้วถ้าพระไปนั่งในกระทะน้ำมันเดือด ๆ แล้วก็มีคนดูเยอะ ๆ ?
      ตอบ :  อันนั้นไม่สมควร ถ้านับแล้วเป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นการปฏิบัติในทางที่ถูกเป็นสัมมาทิฏฐิถือเป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง อุปกิเลสแแปลว่าใกล้กิเลสแล้ว ถ้าทำตามหลักวิชาของครูบาอาจารย์จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ไม่ได้แสดงเพื่ออวดใคร ไม่ได้แสดงเพื่อชื่อเสียง ไม่ได้เพื่อลาภผล ไม่ได้แสดงเพราะต้องการให้คนเลื่อมใส อันนั้นไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าหากทำเพราะเจตนาอื่นมันก็ไม่ใช่อุปกิเลสคือว่าใกล้กิเลส แต่มันจะเป็นกิเลสเต็ม ๆ เลย ถ้าหากว่าลักษณะอย่างนั้นถือว่ากำลังใจของท่านยังอยู่ในด้านที่เรียกว่าอาจเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือเริ่มก้าวผิดทางแล้ว
      ถาม :  พระอริยเจ้านี่พูดคุยเรื่องยศ เรื่องตำแหน่งได้ไหม ?
      ตอบ :  ต้องดูว่าคนที่ปรารภนั้นมีอะไรเนื่องกับท่านหรือเปล่า ถ้าหากว่าคนที่ปรารภนั้นมีอะไรเนื่องกับท่านมาก็ดี มีอะไรก็ดี ไม่ว่าเป็นเรื่องตำแหน่งของท่านเอง หรือว่าตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกศิษย์ ถ้าอย่างนั้นท่านก็พูดด้วย คุยด้วยแต่ถ้าหากว่าปรารภเพื่อที่ว่าตัวเองจะได้ดิ้นรนเพื่อนตัวเองจะได้ อย่างนั้นไม่ใช่แน่ เพราะพระอริยเจ้ามีแต่จะปล่อยวาง ไม่ไปยึดถือสิ่งใดเพิ่มขึ้น
      ถาม :  คนที่ตายที่อเมริกาครับ อันนั้นเป็นการตายก่อนเวลาหรือว่าเป็นผลของปาณาติบาต ?
      ตอบตายก่อนเวลาหรือหลังเวลาเป็นผลของปาณาติบาตทั้งนั้นแหละ ถ้าตายลักษณะนั้น เพราะว่าปาณาติบาตนี่ ถ้ามันเข้ามาสนอง มันก็เป็นช่วงหนึ่งของอุปฆาตกรรม ถ้าหากว่ามันหมดอายุขัยแล้วตายในลักษณะนั้นก็คือกรรมของปาณาติบาตมันมาเหมือนกัน มันไม่ได้ตายแบบปกติทั่ว ๆ ไป ตายอย่างชนิดที่หาซากไม่เจอเสียด้วยซ้ำไป บางศพจนป่านนี้ยังหาไม่ได้เลย
      ถาม :  ถ้าหากว่าเราอุทิศส่วนกุศลให้นี่ ได้รับไหมครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าตายก่อนอายุขัยนะ เขามายินดีโมทนานี่เขาได้เลย ถ้าไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าบุญเป็นอย่างไรก็แย่หน่อย
      ถาม :  ถ้าเขาไม่รู้จักว่าบุญเป็นอย่างไร ?
      ตอบ :  บอกใ้ห้เขาโมทนา เขาไม่รู้ว่าโมทนาหน้าตาเป็นอย่างไรก็ยุ่งแล้ว (หัวเราะ)
      ถาม :  ถ้าเราเก็บเงินตามถนนได้แล้วเอามาทำบุญ คนที่ทำเงินตกนี่ได้บุญด้วยหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  เขามีส่วนด้วยมันเป็นกตัตตากรรม คือกรรมที่เขาไม่ได้เจตนาทำ ทรัพย์นั้นเป็นของเขา เมื่อเราทำเขาก็มีด้วย แต่ตัวเราเองนะได้เยอะ
              อันดับแรกเราได้ตัวเวยยาวัจจมัย คือช่วยให้งานบุญของเขาสำเร็จลง อันดับที่สองเราได้ตัวปัตตานุโมทนามัย ก็คือว่าเราต้องพลอยยินดีด้วยในผลบุญนั้นเราทำได้ทำลงไป อันดับต่อไป จาคานุสติ และทานบารมี เป็นของเราแน่ ๆ เลยเพราะว่าถึงเก็บได้มา ถือเป็นลาภลอยอยู่ก็จริง แต่เราเองแทนที่จะเอาไปกินไปใช้เองกลับคิดที่จะเอามาทำสิ่งที่ดี ๆ กับเอามาสละออก เพราะฉะนั้นตรงนี้เราได้เยอะ ของเขาเองมันเป็นกตัตตากรรมมันได้น้อยไปหน่อย
      ถาม :  หลวงพ่อท่านบอกว่าปัตตานุโมทนามัยร่วมด้วยมีผลเหมือนกัน คราวนี้อยากจะเรียนถามว่ามีผลนี่หมายถึงมีผลในสวรรค์ ?
      ตอบ :  เจ้าของบุญได้เท่าไหร่เราได้เท่านั้น ไม่ใช่แต่ในสวรรค์ต่อให้พรหมหรือนิพพานก็ได้ ดูตัวอย่างพระนางพิมพาราชเทวี พระพุทธเจ้าทำอะไรท่านพลอยยินดีด้วยทั้งหมด พอได้ยินว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกถือบวช นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์โกนศีรษะ ท่านก็นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์โกนศีรษะ คือยินดีทำตามทุกอย่างจนวาระสุดท้าย พระพุทธเจ้าบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตัวปัตตานุโมทนามัยนั้น ตัวปัตตานุโมทนามัยจะเกิดทีหลังเขาอยู่หน่อยหนึ่ง ต้องให้เขาของบุญนั้นสำเร็จผลในผลบุญเขาก่อนตัวเองถึงจะได้
              ตัวอย่างพระนางพิมพาพอพระพุทธเจ้าบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณท่านก็เป็นพระอรหันต์ไปด้วย ได้ทีหลังเจ้าของเขาหน่อย ไม่ใช่แต่เฉพาะความดีนะ ความชั่วก็มีผลเเหมือนกัน เห็นเขาทำชั่วแล้วพลอยยินดี ดีไม่ดีลงนรกพร้อมกับเขา
      ถาม :  แล้วถ้าเกิดอย่างเราโมทนาเวลาเขาทำทาน บริจาคทานอย่างนี้ผลในทางมนุษย์โลกนี่คือแบบไหน เหมือนกันใช่ไหม ?
      ตอบ :  เหมือนกัน คือว่าเขาได้เท่าไรเราได้ด้วย แต่เราได้ช้ากว่าเขาหน่อยหนึ่ง
      ถาม :  ถ้าอย่างนี้เราไปโมทนาคนทั้งหมดเลย แล้วรอให้เขา....?
      ตอบ :  ได้ ถ้ากำลังใจของเราพอจะโมทนาใครก็ว่าไปเลย พลอยยินดีกับเขาทั้งหมด เพียงแต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องเกิดกับเขาก่อน เดี๋ยวของเรา เราก็รับเป็นระยะ ๆ ไป ใครเำกิดปุ๊บเราก็ได้มั่ง (หัวเราะ)
      ถาม :  ความปรารถนาไม่สมหวังนี่ มีกรรมอะไรเป็นเหตุ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วมันคือทำไม่พอ ถ้าเราทำไว้เพียงพอสิ่งที่เราต้องการมันจะสำเร็จ อันนี้เรียกว่าบุญฤทธิ์ เพราะฉะนั้นถ้าปรารถนาไม่สมหวังจริง ๆ ก็คือบุญไม่พอ ถ้ามีอะไรเป็นเหตุก็กรรมดีมันน้อยไป (หัวเราะ)
      ถาม :  ไม่ใชว่าเราไปขัดขวางการทำดีของคนอื่น ?
      ตอบ :  มันมีอยู่ แต่ว่าถ้าถามอย่างนี้มันต้องสรุปรวบยอดเลย คือมันยังไม่พอ ถ้าทำพอมันได้
      ถาม :  แล้วส่วนหนึ่งที่มันเป็นกรรมเก่าที่เราทำไม่ดีไว้ด้วยใช่มั้ยครับ ?
      ตอบ :  คือบุญไม่พอ ในขณะเดียวกันชั่วก็เยอะ (หัวเราะ) สองอย่างรวมกันเลยเจ๊งเลย
      ถาม :  คำพูดที่ว่าชีวิตอยู่ด้วยความหวังกับอย่าไปหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อันไหนจะถูกต้องกว่ากัน ?
      ตอบ :  มันผิดทั้งคู่เลย ถ้ายังหวังนี่แปลว่าใจมันเกาะอนาคตอยู่ ใจถ้ามันเกาะอนาคตนี่มันผิดแล้ว และขณะเดียวกันก็อย่าไปหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อันนี้ความจริงแล้วมันดี แต่ขณะเดียวกันว่าบางสิ่งบางอย่างเราทำถ้าจะให้ถูกจริง ๆ คือ ตั้งต้นว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำของเราไป ไม่ต้องไปสนใจว่าผลจะเกิดเมื่อไร ? และจะเกิดอย่างไร ? ถ้าทำอย่างนี้แล้วโอเค คือว่าเราต้องมีความหวังหรือว่าตัวฉันทะ มันขึ้นมาก่อน พอมีฉันทะขึ้นมามันถึงอยากจะทำในสิ่งนั้น ตั้งใจทำในสิ่งนั้นให้สำเร็จ
              แต่เพียงแต่ว่าในช่วงขณะที่ทำไม่ต้องไปคิด แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำให้มันไปถึงจุดหมายเท่านั้นแทนที่จะคิดภารกิจให้มันฟุ้งซ่าน มันก็เหลือว่าจะบุกให้ภารกิจนั้นมันจบลง ถ้าอย่างนั้นมันจะได้เร็วกว่าได้ง่ายกว่า
      ถาม :  แสดงว่าเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจเท่านั้นเอง รัชกาลที่หกท่านได้แต่งกลอนที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดกบฏอัปลักษณ์” ไม่ทราบว่าตอนนี้่รัชกาลที่หกท่านทรงคิดยังไงกับคำสอน ?
      ตอบ :  อันนี้ท่านแปลมาจากของกรีกเขา อย่างพวก all intelligence is not gold ท่านก็แปลเป็นคำไทยเสียเพราะเชียวว่า “วาว ๆ บ่ใช่ เนื้อคำดี ทั่วนา” เห็นสิ่งที่แวววาวไม่ใช่เนื้อทองแท้ก็มี
              รัชกาลที่หกท่านเป็นอัจฉริยะมากเลย ท่านแปลพวกคำคมอะไรของปราชญ์ฝรั่งเอาไว้เยอะต่อเยอะ ตัวนี้ท่านแปลตรง ๆ มาจากของเขา แต่ว่าจริงแล้วเรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นปรัชญาที่ผ่านประสบการณ์สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานของบรรดาปราชญ์ต่าง ๆ เขา โอกาสที่ใกล้เคียงความจริงถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์เชียวนะ คือคนทั่ว ๆ ไปพอได้ยินเสียงดนตรีจะมากจะน้อย ความพอใจมันต้องเกิดขึ้น
              ยกเว้นว่าคุณอารมณ์เสียแล้วก็ดันไปบรรเลง อันนี้พูดถึงปกติของมนุษย์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป พวกที่ไม่ชอบจริง ๆ สันดานมันไม่เหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขา ตัวคิดกบฏนี้ไม่ไ้ด้หมายความคิดกบฏต่อชาติต่อบ้านต่อเมืองต่ออะไร หากว่ามันเป็นกบฏสังคม กบฏสังคมนี่คนอื่นเขาทำอะไรตัวเองตามเขาไม่ได้ ไม่เหมือนชาวบ้าน

ตะกรุดมหาสะท้อน

              มีอานุภาพในการสะท้อนกลับ ไม่ว่าใครทำดีทำชั่วกับผู้ใช้ตะกรุด ผลดีผลชั่วนั้นจะย้อนคืนไปยังผู้ทำเป็นร้อยเท่าพันทวี
              ตามตำราของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ท่านให้ใช้แผ่นทอง แผ่นนาก หรือแผ่นเงิน หนักไม่ต่ำกว่า ๑ บาท (เกินเท่าไหร่ก็ได้) ลงด้วยยันต์ปัญจพุทธามหามงคลทำการปลุกเสกแล้ว เมื่ออาราธนาติดตัวให้ใช้คาถา
              “เม สัมมุกขา สัพพา หะระติ เต สัมมุกขา”
              คาถานี้ถ้าทำถึงที่สุด ท่านว่าแม้แต่ลูกปืนที่ยิงมา ก็จะย้อนกลับไปหาผู้ยิงเอง
              ข้อควรระวัง อย่าเข้าไปในสถานที่ซึ่งคนหรือสัตว์ กำลังคลอด เพราะจะทำให้คลอดไม่ได้ และห้ามให้เด็กใช้อย่างเด็ดขาด

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ