ถาม : พระนามจริงท่านปู่ คือ สักกเทวราช แล้วท่านย่าละครับ ?
ตอบ : ตกลงนี่คุณไม่รู้จริง ๆ หรือ ? คำว่า สักกเทวราช แปลว่า ราชาของเทวดาแห่งสรวงสวรรค์ เป็นตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อ
แล้วเรื่องของผู้ใหญ่ ถ้าไม่จำเป็น เรียกปู่เรียกย่าได้ก็จะปลอดภัยที่สุด คนที่จะเรียกโดยออกชื่อได้ จะต้องอาวุโสมากกว่า
ปัจจุบันอาตมาได้ยินหลายคนเรียก “สมเด็จเกี่ยว” ได้ยินแล้วใจหายทุกที ตัวเขาเองยิ่งใหญ่ขนาดเรียกจิกหัวท่านได้เลยหรือ ? เพราะฉะนั้น...ถ้าใครรู้ตัวว่ายังเรียกลักษณะนั้นอยู่ ให้เลิกได้แล้ว อาตมาเองเรียกแบบเป็นที่เข้าใจว่า “หลวพ่อสมเด็จวัดสระเกศ”
นึกถึงคุณเต้ย (สุรจิตร) ของเรา เต้ยเขาโพสต์ในกระทู้ว่า “สมเด็จเกี่ยว” พอบอกให้เขาแก้ไข เขาก็แก้เป็น “หลวงตาเกี่ยว” อดสงสัยไม่ได้ว่า ตกลงเขาโง่หรือบ้ากันแน่ ?
อะไรที่หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใช้ อย่าพยายามไปใช้ตาม เพราะบางทีสื่อมวลชนก็ไม่ได้ให้ความเคารพในพระรัตนตรัย ได้แต่เสนอข่าวเอามันอย่างเดียว”
*************************
ถาม : อ่านหนังสือจีนกำลังาภยใน จะมีพวกงำประกาย ซ่อนฝีมือตัวเองไว้มิดชิดมาก พวกนี้เขาตั้งใจไหมคะ ?
ตอบ : ตั้งใจ
ถาม : เอาอย่างนี้ ถ้าเป็นการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาของเรา บุคคลพอเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็คือคนธรรมดาที่ยิ่งกว่าธรรมดา
ถ้าคุณแสดงความสามารถให้เขาเห็น ก็มีอยู่สองอย่าง คนที่เขาหาว่าบ้า ก็เท่ากับปรามาสพระรัตนตรัย ส่วนคนที่ไม่เห็นว่าบ้า แต่เขาเชื่อ แล้วมาหาแบบหัวไม่วางหางไม่เว้น ถ้าเป็นเราจะรับไหวไหมเล่า ? นั่นแหละที่ทำให้เขาจำเป็นต้องงำประกาย
แค่ว่าสมมติว่าเราเป็นคนเก่ง คนเขาอยากรู้จักเรา เพื่อที่จะเอาไปอ้างกับคนอื่นว่ารู้จักเรา แค่พวกนี้พวกเดียวมาก็แย่แล้ว ยังไม่ต้องคิดถึงพวกที่มาขอความช่วยเหลือนะ
ตอบ : จะต้องเป็นอย่างนี้เสมอเลยใช่ไหมคะ ?
ถาม : พอไปถึงตรงนั้นแล้ว เราจะมีความสำนึกตัวดีกว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่อย่างนั้นคุณแย่แน่
ตอบ : ใช่อารมณ์เดียวกับอารมณืที่เป็นอุเบกขาในการเข้าถึงไหมคะ ?
ถาม : จะมีบางประเภทที่ปล่อยวางได้อย่างนั้น ประเภทนี้จะไม่สนใจชื่อเสียงเกียรติยศอะรในวงยุทธจักรเลยก็มี ส่วน้อยจะเป็นอย่างนั้น
ส่วนมากจะเป็นพวกเบื่อ รำคาญเรื่องราวต่าง ๆ ประเภทขี้หมูราขี้หมาแห้งที่จะมาถึงตัวเอง จึงจำเป็นต้องปิด
ตอบ : ถ้ากรณีอย่างนี้ พอถึงคราวจะเปิด ก็ต้องอยากจะเปิด ได้จังหวะก็แสดงเลย ?
ถาม : ใช่…ต้องรองานประเภทงานชุมนุมเจ้ายุทธจักรอะไรอย่างนั้น พอแสดงให้คนเขาเห็นเสร็จแล้วก็หายหัวไปเลย
ตอบ : ถ้าถึงสุดยอดแล้วเป็นอุเบกขา ก็คือมีโอกาสจะแสดง แต่ไม่แสดง ?
ถาม : ส่วนมากจะไม่แสดงออก ต้องดูในเรื่องฤทธิ์มีดสั้น ผู้เฒ่าลิขิตฟ้าเป็นปู่หรือคุณตาของนางเอง เป็นผู้ที่ได้รับการจัดให้เป็นสุดยอดฝีมืออันดับหนึ่งในคัมภีร์ศาสตราวุธ แต่ไม่เคยแสดงฝีมือเลยตั้งแต่ต้นยันปลาย มีอย่างเดียวก็คือ คอยไปเตือนสติ หรือไม่ก็ไปนั่งให้คนเห็น เขาจะได้ไม่กล้าทำอะไร แค่นั้นเอง
แต่ท่านไม่มีโอกาสแสดงฝีมืออะไร ในสายตาคนอื่นเห็นเขายืนมองกัน แต่ความจริงก็คือ เขาหยั่งเชิงกันว่า ถ้าลงมือไปแล้วจะคุ้มค่าไหม ? ลักษณะแบบเดียวกับพวกเสือ เสือจะรักษาตัวมากที่สุด จะไม่ยอมให้บาดเจ็บด้วยเหตุใด ๆ เด็ดขาด เพราะเขารู้ว่า ถ้าบาดเจ็บขึ้นมา อันดับแรก...อาจจะถึงแก่ชีวิต อันดับที่สอง...ถ้าพิการแล้วะจหากินไม่สะดวก ทำให้อดตายได้
เพราะฉะนั้น...สัตว์จำพวกเสือ ถ้าไม่จำเป้นจริง ๆ จะไม่ปะทะกับอะไรอย่างเด็ดขาด ต่อให้ล่าเพื่อเป็นอาหาร ก็จะเลือกสัตว์ที่ล่าง่ายที่สุด ถ้าจำเป็นจริง ๆ หาอะไรไม่ได้แล้ว จึงจะยอมลงทุนล่าสัตว์ที่ล่าได้ยาก
เราเองก็อย่าไปชนกับกิเลส ต้องทำตัวเหมือนเสือ ต้องรู้จักรักษาตัวให้รอด กิเลสไม่เคยปรานีเรา ถ้ามี
โอกาสเขาตีเราตายเลย เพราะฉะนั้น...เราต้องรู้จักรักษาตัวของเราเอง
พอปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่เราทำจะไปฝืนกระแสโลก ในเมื่อฝืนกระแสโลก คนเขาจะมองเป็นสองแง่
แง่แรกก็คือเราบ้า เพราะทำอะไรไม่เหมือนคนอื่นเขา สิ่งที่เขาอยาก เราก็ไม่อยาก ส่ิงที่เขาต้องการ เราก็ไม่ต้องการ ส่ิงที่เขาเห็นเป็นของยาก เรากลับทำได้ทำดี
ส่วนอีกประเภทหนึ่ง จะเห็นเราเป็นผู้วิเศษ หวังพึ่งพา ซึ่งไม่ดีทั้งสองแง่ เพราะฉะนั้น...มีอยู่ทางดียวก็คือ ต้องทำเป็นโง่ ๆ เซ่อ ๆ ของเราต่อไป
ตอบ : มนุษย์อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรื่องในยุทธจักรของเขา ก็จะเป็นรูปแบบของเขา แต่ก็เจอ รัก โลภ โกรธ หลง ในลักษณะของเขา พวกเราดำเนินชีวิตของพวกเรา ก็เจอ รัก โลภ โกรธ หลงในรูปแบบของพวกเรา
แต่กิเลสหน้าตาจะเหมือนกันหมด ถึงเวลาเราอ่าน บางทีจะรู้สึกว่าตัวละครนี้คือเราชัด ๆ เลยนี่นา...!
*************************
ถาม : อารมณ์นิ่ง ๆ เป็นอุเบกขาหรือเปล่า ?
ตอบ : มีสองอย่าง อย่างแรก เป็นอุเบกขาในสมาธิระดับใดระดับหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์อทุกขมสุขเวทนา กำลังใจที่ยังไม่รับทั้งสุขและทุกข์แบบคนสลบ
ถาม : เป็นสังขารุเปกขาญาณหรือยัง ?
ตอบ : อาจจะเป็นสัขารุเปกขาญาณก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าปัญญายังไม่ถึง บางทีก็เหมือนกับคนที่หมดสติไปเฉย ๆ ไม่รับรู้อะไร แล้วจะไปสุขไปทุกข์อะไรได้
ถาม : อารมณ์จะนิ่ง อยู่ที่แกนกลางของร่างกาย ดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ?
ตอบ : ถ้าอย่างนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ เป็นอุเบกขาในสมาธิ
ถาม : อยู่ ๆ ก็เป็นเอง ?
ตอบ : ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ แล้วเป็น แต่มีสาเหตุ บางทีเราลืมคิดย้อนไปว่า ก่อนที่จะเป็นอย่างนั้นเราคิดอย่างไร ? เราพูดอย่างไร ? เราทำอย่างไร ? ถ้าเราคิดย้อนกลับไปแล้ว สามารถย้อนได้ชัดเจนว่า เป็นเพราะเราคิดเราพูด เราทำอย่างไร ? ถ้าเราทำใหม่ ผลนั้นก็จะเกิดกับเราใหม่อีก
พอเราซ้อมบ่อย ๆ ผลนั้นเกิดกับเราจนทรงตัว ก็ไม่ต้องไปชนกับ รัก โลภ โกรธ หลง เท่ากับว่าเราใส่เกราะไว้ ปลอดภัยหน่อย
ถาม : มองทุกอย่าง เห็นทุกอย่าง รับรู้ทุกอย่างได้ตามปกติ ?
ตอบ : แต่เราก็ไม่ไปแตะต้องด้วย ถ้าอะไรจำเป็นต้องแตะ เราก็คลายกำลังใจออกมาหน่อยหนึ่ง รับรู้ด้วยความระมัดระวัง พอรับรู้เสร็จหมดเรื่องก็ปิดทันที ไม่ยุ่งด้วยอีกแล้ว ก็จะปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าวันไหนเผลอให้เกราะหลุด ก็โดนเล่นงานไม่เลี้ยงเหมือนกัน
ถาม : อยู่อย่างนี้ และรับรู้ทุกอย่างได้ มีความคล่องตัว ?
ตอบ : นั่นเป็นฌานใช้งาน ลักษณะของฌานใช้งาน ก็คือ คุณทรงสมาธิอยู่ แต่คุณก็สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกับคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นคนที่เพิ่งฝึก จะนั่งนิ่งอย่างเดียว ทำอย่างอื่นจะไม่เป็น
ถาม : คนที่ได้สังขารุเปกขาญาณ เขาไม่เอาอะไรแล้ว อารมณ์นี้ไม่นิ่ง แต่จะเบา ?
ตอบ : อารมณ์จะเบา...นิ่ง …จะไม่ยุ่งอะไร โดยที่มีปัญญารู้เห็นว่า ถ้าหากเราทำอย่างนี้ จะมีประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ จะมีโทษอย่างนี้ แล้วก็เลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นในด้านที่เป็นโทษ
โดยเฉพาะถ้าถึงระดับนั้นจะรู้ละเอียดว่า ทำอย่างไรถึงจะออกมาดีที่สุด ความพอเหมาะพอดีจะมีอยู่ ก็จะเลือกทำในสิ่งที่พอเหมาะพอดีเท่านั้น
บางอย่างเราอาจทุ่มกำลังไปเต็มร้อย หรือเกินไปร้อยยี่สิบ แต่บางอย่างเราอาจจะใช้แค่หนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วแต่เหตุการณ์ ซึ่งตอนนั้นสภาพจิตจะรายงานว่า ควรจะทำแค่ไหนจึงจะเหมาะ
ถาม : ความเบาเกิดจากการที่เรา ?
ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นสมาธิเราดีแค่ไหน ยกเว้นว่าเป็นสังขารุเปกขาญาณที่เกิดจากการยอมรับแล้วปล่อยวาง ถ้าอย่างนั้นจะเบาตลอดไป
ถาม : ความเบาเกิดจากการที่เรา ?
ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นสมาธิเราดีแค่ไหน ยกเว้นว่าเป็นสังขารุเปกขาญาณที่เกิดจากการยอมรับแล้วปล่อยวาง ถ้าอย่างนั้นจะเบาตลอดไป
ถาม : จะเบาเป็นบางเรื่องหรือเปล่า ?
ตอบ : ถ้าเบาได้ทุกเรื่องจึงเป็นของแท้ ถ้าเบาเป็นบางเรื่องก็เกิดจากสมาธิล้วน ๆ เลย
ถาม : สมาธิทำให้เกิดปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาแท้ ?
ตอบ : ยังไม่ยอมรับจริงก็ยังไม่ใช่ปัญญาแท้ ถ้ายอมรับจริงแล้วต้องยอมรับได้ทุกเรื่อง
ถาม : ยอมรับได้บางเรื่อง แล้วเรื่องนั้นจะยอมรับได้ไปตลอด ?
ตอบ : ใช่ จนกว่า สติ สมาธิ ปัญญา จะก้าวล่วงไปในอีกระดับหนึ่ง พอไปอีกระดับหนึ่ง ก็ะปล่อยวางได้มากขึ้น เราก็เพิ่มระดับของเราไปเรื่อย ๆ
ถาม : อารมณ์นิ่งที่เป็นอุเบกขา จะรู้สึกเหมือนโผล่จากอะไรสักอย่างที่กดเราอยู่ พอโผล่มา จะรู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ความรู้สึกว่าโลกนี้เราไม่เอาอะไรสักอย่าง นั่นคือปัญญาหรือคะ ?
ตอบ : เป็นปัญญาที่เกิดจากสมาธิของเรา ที่นิ่งอยู่ในระยะเวลาที่ยาวนานพอ ความสะอาดของจิตจะมี พอคลายจากสมาธินั้น ปัญญาจึงเกิด เห็นชัดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เหมาะกับเราแล้ว เราไม่ได้มีความปรารถนา ไม่ได้มีความต้องการอีกแล้ว
อย่าลืมว่าศีลทำให้เกิดสมาธิ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ปัญญาจะไปคุมศีลกับสมาธิอีกทีหนึ่ง
คราวนี้เราอยู่ในลักษณะนิ่ง ก็คือเป็นอุเบกขาในฌาน ในเมื่อเราทรงสมาธิในระดับที่ยาวนานพอ กิเลสถูกกดนิ่งไประยะหนึ่ง ความสะอาดของจิตก็มี พอเราโผล่ขึ้นมาจากสมาธิ คลายออกมา ที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า ให้คลายออกมาแล้วพิจารณา
พอของเราคลายออกมาแล้วสภาพจิตบอกตัวเองเลยว่า เราไม่เอาแล้ว อย่างนี้ไม่ต้องพิจารณาแล้ว เห็นชัดแล้วว่าไม่ดีแน่ เราไม่เอา แต่ว่าก็เกิดจากการที่เราตอกย้ำของเก่าซ้ำแล้วซ้อีกมาจนนับครั้งไม่ถ้วน จึงเป็นปัญญาที่เริ่มคิดเองได้ว่า ไม่เอาแ้ว
ถ้าเราทำบ่อย ๆ จิตใจปลดวางได้จริง ๆ ต่อไปใจจะไม่เอาอะไรก็จะเบาสบายไปตลอด
ถาม : จำอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เอานี้ได้ ?
ตอบ : จำได้แล้วก็เริ่มทำใหม่
ถาม : ข้ามขั้นได้ไหมคะ ?
ตอบ : ถ้าสามาถทรงได้เลยก็ข้ามไปได้ สำคัญที่ว่าพอถึงเวลาแล้วจะใช่ของจริงไหม ?
ถาม : ความรู้สึกที่เป็นสังขารุเปกขาญาณ คือความรู้สึกที่เราหยุดแล้ว ?
ตอบ : ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอะไรก็ไม่ปรุงแต่งแล้ว จึงจะเป็นสังขารุเปกขาญาณ
ถาม : ได้เป็นช่วง ๆ ?
ตอบ : ไม่เป็นไร จะได้เป็นช่วงช่วง เป็นหลินฮุ่ยหรือเป็นหลินปิงก็ได้...!
ถาม : แตกต่างอย่างไรกับการกระทบแล้วไม่ปรุงแต่งต่อ คือไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ ? สมมติเราได้ยินอะไรมา แล้วไม่ปรุงแต่งกับคำพูดเขา คือไม่รับรู้ถึงคำพูดเขา เป็นความรู้สึกแบบไหนหรือคะ ?
ตอบ : ต้องสังเกตตัวเราเองว่า ตอนนั้นเป็นเพราะทรงสมาธิอยู่หรือเปล่า ? ถ้าเราทรงสมาธิอยู่ กำลังสมาธิจะกัน รัก โลภ โกรธ หลง ไม่ให้เข้ามาได้ แต่ว่ากันได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าหลังจากนั้นเราเก็บเอาไปคิดใหม่ก็แปลว่าตอนนั้น เป็นอารมณ์ที่เกิดจากอำนาจสมาธิที่กั้นไว้จริง ๆ
แต่ถ้าเป็นสังขารุเปกขาญาณ จิตจะไม่คิดต่อ สักแต่ว่าได้ยินเฉย ๆ รู้อยู่ว่าเขาว่าอะไร แต่ใจก็ช่างมัน ไม่ได้รับเข้ามาเลย ก็แค่นั้น ต้องสังเกตเอง
ถาม : จะใช่อารมณ์ที่ว่าเราโตแล้ว เห็นเด็กเล่นกันเด็กจะทำอะไรก็เรื่องของเด็ก หรือเปล่าคะ ?
ตอบ : คล้าย ๆ อย่างนั้น เราหมดสนุกแล้ว เบื่อแล้ว ไม่อยากจะไปเล่นด้วยแล้ว
*************************
“แรก ๆ อาตมาเปิดเสียงตามสายที่วัดโยมเขาโทรมาด่า นอกจากด่าแล้ว เขายังบอกว่า ถ้าไม่เลิก เขาจะแจ้งความว่าทางวัดทำเสียงดังรบกวนในที่สาธารณะ ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย อาตมาต้องรีบไปทำหนังสือขออนุญาตใช้เสียงในที่สาธารณะ
พอเขาโทรมาด่าใหม่ อาตมาก็บอกไปว่า “ตอนนี้โยมไปแจ้งความได้ตามสบาย อาตมาไปทำหนังสือขออนุญาตใช้เสียงไว้แล้ว” หลังจากนั้นมาเขาก็เงียบไปเฉย ๆ พอฟังไปฟังมาก็กลายเป็นเคยชิน และมีโยมหลายรายที่มาปรารภว่า ในระหว่างที่คนอื่นนอนสบายกันอยู่ ตอนตีสามตีสี่ พระเณรท่านแหวกกิลสขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์กันได้อย่างไร ?
ขณะเดียวกัน เขาเอาเสียงตามสายเป็นสัญญาณนาฬิกาปลุก พอพระสวด...โยโส ภะคะวา...ก็แปลว่าได้เวลาตื่นแล้ว บ้านนี้จะใส่บาตรก็เตรียมตัวหุงข้าว บ้านนนั้นจะไปทำงาน ก็เตรียมตัวอาบน้ำ หาข้าวหาปลากินกัน พอฟัง ๆ ไปก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยไม่รู้ตัว
อย่างสมัยที่อาตมาอยู่ที่เกาะพระฤๅษี พอคนงานคิดว่าจะทำงานต่อ เสียงตามสายของหลวงพ่อดังขึ้น แปลว่าหมดเวลาแล้ว ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ พอเปิดเสียงตามสายตอนเย็น เราจะเลี้ยงอาหารหมา พอหมาได้ยินเสียง...โยโส ภะคะวา...เขาก็จะวิ่งมา เพราะรู้ว่าเป็นเวลากินของเขา กลายเป็นว่าหมูหมากาไก่ทุกตัว ไม่รู้ว่าเสียงสวดนี้คืออะไร แต่เขารู้ว่า ถึงเวลานี้แล้วเขาต้องมา ก็เป็นผลที่เห็นชัด ๆ เหมือนกัน ว่าสิ่งที่เราทำเป็นความดีนั้น เมื่อตอกย้ำเรื่อย ๆ ก็จะฝังลึกลงไปในใจเอง”
*************************
“สมัยก่อนพี่ ๆ ที่วัดท่าซุง พอหลวงพ่อท่านสร้างรูปหล่อองค์ยืนในวิหารร้อยเมตร คนนั้นก็ไปอธิษฐาน คนนี้ก็ไปอธิษฐาน เช่น บางคนขอเป็นไม้เท้า บางคนขอเป็นรองเท้า ส่วนอาตมาไม่เอาอะไรเลย ...!
พออาตมาไปอยู่ที่ทองผาภูมิ วันหนึ่งกำลังนั่งรถทัวร์อยู่ ได้ยินเสียงเป่ายานัตถุ์ดัง “ฟืดดดดด....!” อยู่ข้าง ๆ หู ได้กลิ่นยานัตถุ์ รู้สึกอยากแทบน้ำลายยืดเลย ตกใจรีบบอกกับท่านว่า “หลวงพ่อครับ หมากก็ไม่เอา ยานัตถุ์ก็ไม่เอา แว่นตาก็ไม่เอานะครับ” ท่านก็บอกว่า “ไม้เท้าจะเอาไหม ?” งานนี้ตอบว่าเอาหรือไม่เอาก็โดนแน่ ก็เลยเงียบ
พี่คนนั้นก็หมาก พี่คนนี้ก็ยานัตถุ์ ะต้องมีสักอย่างที่อาตมาโดนจนได้ แต่อย่างไรชาตินี้ไม่เอาเด็ดขาด พอปี ๒๕๔๘ อาตมาเริ่มเรียนหนังสือ ปรากฎว่าเวลาอ่านหนังสือต้องยื่นไปสุดแขน อ่านหนังสือได้ไม่นาน เมื่อยมือก็เลิก จึงตัดสินใจใส่แว่น
พอไปวัดสายตา ตัดแว่นเรียบร้อย หยิบแว่นลองใส่ จำได้แม่นเลย หลวงพ่อท่านหัวเราะใส่หู “คราวนี้เอ็งรู้แล้วใช่ไหม ว่าที่ข้าใส่แว่น ข้าอยากได้มันนักนี่...!” สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถ้าแก่จึงจำเป็นต้องใส่ ไม่ใช่ใส่เพราะอยากจะใส่”
*************************
“บางคนเขาเห็นหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านป่วย เขาจึงอธิษฐานขอป่วยแทน ปรากฎว่าอาการปางตายเลย และหลวงพ่อก็ไม่ได้อาการเบาไปกว่าเดิมด้วย
เขาจึงไปถามหลวงพ่อว่า เขาป่วยขนาดนี้ ทำไมอาการหลวงพ่อยังไม่เบาลงกว่าเดิม ?
หลวงพ่อบอกว่า “เขาแค่อยากให้แกรู้ว่า ข้าเป็นอย่างไรเท่านั้น เรื่องของกรรมนั้นใช้แทนกันไม่ได้” ในเมื่ออยากป่วยแทน เขาก็แค่อยากให้รู้ว่าเวลาท่านป่วยเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นเราเองจะไหวไหม ?”
ถาม : ตอนเด็กผมทำกสิณไฟ ตอนนั้นยังทำไม่เป็น ก็จุดเทียนตั้งไว้ข้างหน้าในห้อง อยู่ดี ๆ ก็วูบไป แล้วมือไหม้ ตื่นขึ้นมาก็เป็นแผลเหวอะ อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์เซ่อหรือครับ ?
ตอบ : ไม่มีอะไรหรอก พอจิตเราทรงฌาน สภาพร่างกายกับจิตจะแยกกันเป็นคนละส่วน อะไรที่เกิดกับร่างกายจิตจะไม่รับรู้ หรือว่าถึงรับรู้แต่ก็ไม่สนใจ อาตมาเองก็เคยทำน้ำมนต์จนไฟไหม้ถึงนิ้วมือ แต่ไม่เป็นอะไรเพราะว่าสมาธิคุ้มไว้ได้
ถาม : พยายามตัดใจเรื่องกสิณไฟมาหลายรอบแล้วครับ แต่ตัดไม่ขาด ?
ตอบ : ก็ฝึกสิ...ทำให้ได้เรื่องได้ราวไปเลย พอเราทำกสิณกองหนึ่งได้ กสิณอีกเก้ากองก็จะกลายเป็นของง่าย เพราะอารมณ์ใจเท่ากัน เพียงแต่เปลี่ยนวัสดุนิดเดียวเท่านั้น ถ้ากสิณกองแรกคุณทำได้คล่องตัวจริง ๆ ที่เหลืออีกเก้ากอง คิดว่าอย่างช้าไม่เกินครึ่งเดือนก็ได้หมดแล้ว
*************************
ถาม : ผมทำคาถาเงินล้าน ครั้งหนึ่งไปถ่ายน้ำมันเครื่อง ปกติราคา ๑๐๐-๓๐๐ บาท เขาคิด ๒๐ บาท ถือว่าเป็นผลของคาถาไหมครับ ?
ตอบ : ถือว่าเป็นผลอย่างหนึ่ง อาตมาเองก็นั่งรถฟรีมาเยอะแล้ว แปลกถึงขนาดที่แท็กซี่ยังให้นั่งฟรี นั่งรถทัวร์จากอุทัยธานีมาหมอชิตเก่า นั่งแท็กซี่ไปทำธุระในกรุงเทพฯ จนกระทั่งกลับไปถึงวัดท่าซุง เสียค่ารถตั้ง ๓ บาท...!
๓ บาทนี่เป็นเงินที่ยัดให้สองแถวที่ท่ารถมโนรมย์ เขาไม่ยอมเก็บเงิน อาตมาบอกว่า “ช่วยเก็บหน่อยเถอะพ่อคุณ อยากจ่ายว่ะ..!” แล้วก็ยัดเงินให้เขา เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าไม่ได้จ่ายเลย เรื่องของคาถาให้ความคล่องตัวได้ขนาดนั้น
แต่ที่อัศจรรย์ก็คือ มีพระนั่งรถทัวร์ไปด้วยกันอยู่ ๔ รูป เขาเก็บค่ารถไป ๓ รูป พออาตมาส่งเงินให้เขากลับเดินหนี ไม่ยอมรับ เป็นเรื่องแปลกมาก จนกระทั่งพระ ๓ รูปท่านสงสัยว่า อาตมารู้จักกับกระเป๋ารถหรือเปล่า ? เขาจึงไม่เก็บ สมัยนั้นเขายังให้ไปตีตั๋วบนรถได้ ไม่ต้องซื้อจากห้องตั๋วเหมือนกับสมัยนี้
ถาม : ตอนบวชที่วัดอัมพวัน นอนภาวนาคาถาเมตตาอยู่ที่กุฏิ รู้สึกตัวหมุน แต่ไม่ทราบตัวจริงหมุนหรือเปล่า เลยรีบออกมา ?
ตอบ : เขาเรียกว่ากลัวดี...! การหมุนมีอยู่สองอย่าง อาจจะเป็นปีติในลักษณะของโอกกันติกาปีติ อีกอย่างหนึ่งหมุนในลักษณะที่จิตควบแน่นเข้า...ควบแน่นเข้า สภาพร่างกายอาจจะมีการหายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ลักษณะนั้นอย่างนั้นจิตจะดิ้นหลุดออกจากร่างกายไปแบบมโนมยิทธิเต็มกำลัง ถ้าหลุดออกไป เราจะนึกไปนรกสวรรค์อย่างไรก็ไปได้เลย...ไปทำใหม่
ถาม : ถ้าเกิดอาการนั้นอีก ?
ตอบ : ทำเฉย ๆ ไม่รู้ไม่ชี้ คิดว่าตอนนี้เราทำความดีอยู่ ถึงเราจะตายลงไป เราก็ไปดีแน่นอน ถ้าเป็นปีติ เต็มที่แล้วก็จะเลิกไปเอง แต่ถ้าหากสมาธิที่รวบรวมกำลังเพื่อสลัดให้กายในหลุดออกไป ก็จะหมุนมากขึ้น ๆ แล้วก็หลุดออกไปเลย
ถาม : ภาวนาคาถาเงินล้าน แล้วตัวแข็ง เหมือนกับตัวชา เป็นพราะ ?
ตอบ : สมาธิทรงตัวมากขึ้น ยิ่งทำไปเรื่อย ๆ สมาธิทรงตัวมากเท่าไร ผลก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้น
*************************

|