​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๗๕

 

              ในเรื่องของการทำบุญนั้น ถ้าเจตนาโดยตรง คือ เราทำบุญเพื่อเป็นการสละออกจริง ๆ ก็เท่ากับว่าเรามีเจตนาบริสุทธิ์
              วัตถุทานบิรสุทธิ์ คือสิ่งที่เรานำมาทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร ปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ได้มาโดยถูกต้องตามศีลตามธรรม ไม่ได้ลักขโมยหลอกลวง หยิบฉวยช่วงชิงใครเขามา
              ประการต่อมา ผู้ให้ ภาษาพระเรียกว่า ทายก เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยศีล ก่อนที่เราจะทำบุญทุกครั้งจึงมีการขอศีลพระ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า เรามีศีลบริสุทธิ์จริง ๆ
              ปฏิคาหก คือ ผู้รับ เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
              ถ้าหากบริสุทธิ์โดยทั้งสี่ส่วนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอานิสงส์จะเต็มร้อยส่วน แต่ถ้าเราไม่มั่นใจในส่วนของปฏิคาหกคือผู้รับ ก็ให้ถวายเป็นสังฆทานไปเลย
              สังฆทานนั้น ท่านแยกเอาไว้หลายประเภทด้วยกัน
              ประเภทที่หนึ่ง ก็คือ ถวายต่อหมู่สงฆ์ ที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน คือจะเป็นพระรูปใด จำนวนเท่าไร ที่อยู่กับองค์มเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในตอนนั้น
              ประเภทที่สอง ถวายต่อหมู่ภิกษุสงฆ์ที่นิมนต์มา ซึ่งมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ประเภทที่สาม ถวายต่อหมู่ภิกษุสงฆ์ที่นิมนต์มา ซึ่งมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ประเภทที่สี่ ถวายต่อหมู่ภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ที่นิมนต์มา ซึ่งมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ประเภทที่ห้า ถวายต่อหมู่ภิกษุสงฆ์ที่จำเพาะเจาะจงนิมนต์มา ถ้าหากเป็นแบบนี้แสดงว่าต้องเกิน ๔ รูปขึ้นไป
              ประเภทที่หก ถวายต่อหมู่ภิกษุณีสงฆ์ที่จำเพาะเจาะจงนิมนต์มา
              ประเภทที่เจ็ด ก็คือ ถวายต่อหมู่ภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ที่จำเพาะเจาะจงนิมนต์มา
              ประเภทที่แปด ก็คือ ถวายต่อหมู่สงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป
              สมัยนี้ถ้าภิกษุณีสงฆ์ในเถรวาท ท่านบอกว่าไม่มีแล้ว แต่ทางสายมหายานยังมีอยู่ กลายเป็นว่า ถ้าเราตั้งใจจะทำบุญกับภิกษุณีสงฆ์ในปัจจุบันก็ลำบากนิดหนึ่ง เพราะต้องหาภิกษุณีจากทางฝ่ายมหายาน
*************************

              ในส่วนของมหายาน จะมีการปรับเปลี่ยนหลายอย่างเกี่ยวกับพระธรรมวินัย เพื่อความเหมาะสมตามสภาพของสังคมและสถานที่ แต่ในส่วนของบ้านเราที่เป็นเถรวาทนั้น ถือว่าจะต้องรักษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นแก่นของพระพุทธศาสนาไว้ อาตมาเองไปพม่า พระทางด้านนั้นไม่ถือสาในเรื่องญาติโยมผู้หญิง อย่างในเรื่องการประเคนของ ถ้าเราไม่รับด้วยมือ เขาจะถือว่าเขาไม่ได้บุญ เราจะเห็นว่าพระพม่าเดินทางไปไหนมาไหนกับผู้หญิงสองต่อสอง ถ้าเราดูภาพก็เหมือนกับเดินควงกัน ไป แต่ว่าสังคมของพม่าเขายอมรับ
              โดยเฉพาะสังคมพม่าให้ความสำคัญต่อพระสูงมาก เพราะพม่าสามารถได้เอกราชคืนมาจากอังกฤษ ด้วยการที่พระนำชาวบ้านประท้วงรัฐบาล
              หลวงพ่ออูวิสาระ ท่านอดข้าวประท้วงพม่าถึง ๒๖๖ วัน จนเสียชีวิตเป็นการประท้วงที่อดจริง ๆ ไม่ใช่อดแล้วแอบไปกินทีหลัง
              แสดงว่าอย่างน้อย ๆ ในเรื่องการทรงสมาธิของท่านต้องมั่นคงจริง ถ้าไม่มั่นคง ก็ไม่สามารถที่จะอดอาหารได้นานขนาดนั้น
              ปัจจุบันนี้มีการสร้างเจดีย์ใหญ่ คือ พระมหาเจดีย์มหาวิสะยะ อยู่คนละฝั่งถนนกับ พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เพื่อเป็นการบูชาคุณของท่าน ที่เป็นผู้นำในการจุดประกายให้ประชาชนช่วยกันประท้วงทหารพม่า จนได้เอกราชคืนมา
              ดังนั้น...ในส่วนของประเทศพม่าแล้ว จะให้ความสำคัญกับพระเป็นพิเศษ พระจะมีอำนาจชนิดสั่งการชาวบ้านได้ทุกอย่าง เพราะเขาถือว่าประเทศเขาได้มาก็เพราะพระ จึงให้สิทธิแก่พระมากกว่าปกติ
              แต่ที่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่บ้านเราไม่มี ก็คือเรื่องบวช อย่างบ้านเราบวชเข้ามาตามประเพณีบ้าง บวชเข้ามาเพื่อศึกษาบ้าง แต่ปัจจุบันพระพม่าส่วนใหญ่ที่บวช ก็เพื่อต้องการจะหนีทหาร ถ้าไม่บวชก็ต้องเป็นทหารซึ่งลำบากมาก เขาจึงบวชกันมากเป็นพิเศษ ถึงเวลาก็สึกไป
              ตรงที่สึกนี่แหละ ทำให้อาตมาเห็นว่าคนพม่าเข้าถึงธรรมได้มากกว่าเรา เพราะอย่างบ้านเราถ้าบวชตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป มักจะเป็นคนแปลกแยกในสังคม แต่ถ้าพระพม่าสึกไป เขาก็คลุกคลีตีโมงกันอย่างชนิดที่ว่ากลืนกันสนิทได้ และถ้าพระรูปนั้นกลับมาบวชใหม่ เขาก็กราบไหว้บูชากันตามปกติ
              แสดงว่าคนพม่าเข้าถึงธรรมมากกว่า เพราะเขาแยกออกว่า วาระนี้คุณเป็นฆราวาส วาระนี้คุณเป็นพระ เขาเล่นได้ตามบทบาท
              แต่พระบ้านเรา อย่างอาตมาบวชมา ๒๐ - ๓๐ กว่าพรรษา ถ้าไปสึกจะกลายเป็นแปลกแยกในสังคม ชาวบ้านจะมองแปลก ๆ ไม่ยอมรับในฐานะฆราวาสของผู้ที่บวชมานาน ๆ แต่ของพม่าเขากลืนไปกับสังคมเลย พอกลับมาบวชใหม่ในวันนั้น เขาก็ให้ความเคารพนับถือเหมือนเดิม
              ถือว่าเป็นเรื่องที่หาได้ยากในบ้านของเรา และชาวพม่านั้น เขาเข้าวัดกันเป็นปกติ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ละวันในวัดจะแน่นไปหมด เหมือนกับที่บ้านเราไปเดินห้างกัน
              อาตมาเองไปเห็นแล้วชื่นชมว่า บ้านเขามีความพร้อมเพรียงกันในเรื่องของบุญของกุศล โดยเฉพาะการสร้างบุญใส่ตัว เช้าขึ้นมาก่อนจะไปทำงานเขาเข้าวัดก่อน สวดมนต์ทำวัตร ปฏิบัติสมาธิภาวนา จนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัวเยือกเย็นดีแล้วค่อยไปทำงาน กลับจากที่ทำงานมาก็เข้าวัด สวดมนต์ไหว้พระก่อน แล้วค่อยกลับบ้าน
              เขาไม่ได้ทำกันแค่คนสองคน แต่ว่าคนทั้งบ้านทั้งเมืองทำเหมือนกันหมด ฉะนั้น...ถ้าเราไปปฏิบัติสวดมนต์ภาวนาที่นั่น ก็จะไม่แปลกแยกจากสังคมของเขา
              วันนี้ถือว่าการฉลองบ้านวิริยบารมีของเรา สิ้นสุดลงตั้งแต่ถวายภัตตาหารเพลพระเสร็จ งานนี้ที่สิ้นสุดลงก็ด้วยความร่วมมือของญาติโยมหลายต่อหลายฝ่ายด้วยกัน แต่มีอยู่คณะหนึ่ง ถ้าให้อาตมาประเมิน ถือว่าตกเรียบ...! แค่เรื่องนัดไม่เป็นนัด ก็ถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว
              ใครก็ตามที่นัดแล้วไม่ตรงเวลา อย่าหวังว่าชีวิตนี้จะประสบความสำเร็จได้ ถ้าไม่เห็นความสำคัญเรื่องเวลา เรื่องอื่นก็ไม่สำคัญทั้งนั้นแหละ...!
              ประการที่สอง คือ เรื่องการทำงาน ตรงเป็นสากกะเบือเลย...! ไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวะของงาน พูดง่าย ๆ ว่าถือคำสั่งเป็นใหญ่ แต่ไม่ใช้หัวแม่เท้าตรองดูบ้าง ว่าควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะ ขนาดอาตมาบอกให้ทำอีกอ่างหนึ่ง เพื่อความสะดวกคล่องตัวก็ยังเถียงอีก
              โดยเฉพาะในเรื่องของการเจริญพุทธมนต์ ต้องนับว่าอาตมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิชำนาญการพิเศษ ขณะเดียวกันพวกเราเป็นได้แค่เด็กหัดใหม่ นอกจากไม่รู้จริงแล้ว ยังเสือกเถียงผู้ชำนาญการอีก...! โดยยึดถือคำสั่งเป็นใหญ่ว่าจะต้องยกไทยธรรมไปพร้อมกัน ถ้าลักษณะอย่างนั้น อาตมาเอาลิงสองขามา สั่งให้ทำก็ได้ผลงานออกมาเหมือนกัน...!
              เราต้องดูด้วยว่าลักษณะของงงานเป็นอย่างไร จะเห็นว่าสถานที่ไม่อำนวยให้ ในเมื่อไม่อำนวยให้ เราจะปรับอย่างไรให้ง่ายที่สุดและเร็วที่สุด ถ้าเป็นคณะญาติโยมที่อาตมาใช้งานเป็นปกติ งานนั้นแค่ ๒ นาทีก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่พวกคุณสามารถใช้เวลาไปเกือบ ๑๐ นาที และแถมออกมาทุเทรศ ดูไม่ได้เลย..!
              ดังนั้น...ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมทุกวันนี้พวกเราหาความเจริญก้าวหน้าไม่ได้ ก็เพราะว่าใช้ปัญญาน้อยเกินไป เป็นคนฉลาดแต่ขาดเฉลียวปรับปรุงตัวไม่เป็น เป็นพวกไดโนเสาร์ เคยชินกับสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนก็ตาย...สูญพันธุ์...!
              งานทุกอย่าง ไม่ว่าจะงานทางโลกหรืองานทางธรรมก็เหมือนกัน ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ
              กาละ คือ เวลา
              เทศะ คือ สถานที่
              เราต้องยึดหลักความยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อที่เราจะได้ดำเนินการไปสู่เป้าประสงค์ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะประหยัดเวลา ประหยัดทรัพยากรให้ได้มากที่สุด
              ไม่ใช่ถือหลักนิติศาสตร์ เจ้านายสั่งอย่างไร กูทำอย่างนั้น ถ้าลักษณะอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คนที่จบปริญญาอย่างพวกคุณก็ได้ ไม่ต้องใช้บุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาหลาย ๆ ปีก็ได้ เอาเด็กใหม่ที่ไหนมา ก็สั่งให้ทำแบบนั้นได้ทั้งนั้น
              ได้แต่หวังว่างานครั้งนี้ พวกเราจะได้ประสบการณ์อะไรบางอย่าง เพื่อที่จะกลับไปปรับปรุงเปลี่ยนตัวเอง ก่อนที่จะเป็นไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา เพราะปรับตัวไม่เป็น
              ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากตัวทิฐิมานะ ก็คือตัวกูของกูมีมากเกินไป ตัวกูของกูนี้อยู่ที่บ้านก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่ภายนอกหรือที่ทำงาน จะกระทบกระทั่งกับคนอื่นเขา เพราะขาดการยอมรับในผู้อื่น ประสานงานกับคนอื่นไม่เป็น เป็นแต่ประสานงาอย่างเดียว ก็มีแต่จะทำควาบรรลัยวายวอดให้กับงานตรงหน้าเท่านั้น
              เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ความจริงไม่ใช่หน้าที่ของพระ ที่จะมาตักเตือนมาสั่งสอนกัน เพราะว่าเป็นงานของโยม แต่วันนี้ดูแล้วอดรนทนไม่ได้ ขืนปล่อยต่อไปคงไม่รอดแน่ แล้วจะมาหาคนที่พูดตรง ๆ บอกตรง ๆ อย่างพระก็ไม่มี เพราะถ้าบอกไปก็เถียง
              เราอาจจะไม่รู้ตัวว่า ความประพฤติของเรานั้น ทำให้คนอื่นเขาเบื่อหน่าย และถึงกับปล่อยวางไปเลยก็ได้ในเมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่เราจะเรียนรู้ประสบการณ์จากคนอื่นก็ไม่มี ทำอย่างไร ที่เราจะรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ศึกษาเรียนรู้ให้มากที่สุด และทุ่มเทกับงานให้มากที่สุด
              ทุกคนลองมองย้อนไปว่า ตั้งแต่วันแรกที่คุณเข้าทำงานมาจนถึงปัจจุบันนี้ สิ่งที่อาตมาพูดมามีบ้างไหม ? หรือคุณรู้แต่เพียงว่า บุคคลนี้เป็นบังคับบัญชา ถึงยอมลงให้ แต่บุคคลที่เป็นเพื่อนร่วมงาน มีโอกาสเมื่อไรเป็นงับทันที...! ถ้าอย่างนั้นคุณจะอยู่กับใครได้ นอกจากคนที่ทนนิสัยคุณได้เท่านั้น...!
              ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้าน ตลอดจนวัดวาอาราม ถ้ามีแต่บุคคลประเภทนี้ นอกจากจะหาความเจริญก้าวหน้าไม่ได้แล้ว ยังมีแต่จะรอวันเสื่อมสลายและพังไปในที่สุด โดยเฉพาะความสามัคคีในหมู่คณะมีน้อย กระทบกระทั่งขัดเหลี่ยม ปีนเกลียวกันอยู่ตลอดเวลา
              เราต้องดูตัวอย่างคนญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าเกิดสึนามิขึ้นมา บ้านแตกสาแหรกขาด แม้แต่จะอยู่ที่จะกินก็ไม่มี แต่คนญี่ปุ่นมีวินัยมาก คนเอาของไปแจกก็ยังเข้าแถวเรียบร้อย
              ขณะเดียวกันอย่างบ้านเรา พอเอาของไปแจก ก็แย่งกันจนจะเหยียบกันตาย นี่คือลักษณะความต่างที่ได้รับการอบรมมา ที่กล่าวถึงมาตั้งแต่ต้นเป็นฉันใด ลักษณะบุคคลชาวญี่ปุ่นเวลาทำงานก็ฉันนั้น
              พอชาวญี่ปุ่นเข้าทำงานที่ไหน เขาจะคิดว่างานนั้นเป็นของเขาเอง จะมีการเปลี่ยนงานน้อยมาก ส่วนใหญ่ทำจนเกษียณหรือตายคาบริษัทไปเลย ชาวญี่ปุ่นติดสถิติความบ้างานสูงสุด เพราะมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยวันละ ๑๐ ชั่วโมง ขณะที่บ้านเรา มาหลังเวลา แต่กลับก่อนเสมอ
              ทำอย่างไรที่เราจะสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของในเนื้องานนั้นขึ้นมา เพื่อที่เราจะได้ทุ่มเทจริงจังใช้ศักยภาพตัวเองออกมาให้สูงสุด สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่หน่วยงานให้มากที่สุด ซึ่งเท่ากับสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตัวของเราเอง
              ถ้าเราไม่สามารถที่จะทำตรงจุดนี้ได้ ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนงานกี่ครั้ง ทุกอย่างก็จะออกมาเหมือนเดิม แล้วเราก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยว่า เกิดจากข้อบกพร่องตรงจุดไหนของตัวเอง
              ในการทำงานแต่ละโครงการ เรามีการสรุปทบทวนและประเมินผลซึ่งตรงกับหลักการของพระพุทธเจ้าในอิทธิบาท ๔ ข้อที่ว่า วิมังสา คือไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอว่า
              เราทำอะไร ?
              ด้วยวัตถุประสงค์อะไร ?
              ตอนนี้เราทำไปถึงไหนแล้ว ?
              เหลือเนื้องานอีกมากน้อยแค่ไหน ? จึงจะบรรลุวัตุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

              ในเมื่องานทั่ว ๆ ไป เรายังมีการสรุปทบทวนประเมินผล แล้วทำไมการที่เราจะสรุปทบทวนและประเมินตัวเอง เราจึงไม่ได้ทำกันบ้าง ? งานแต่ละวันผ่านไป ยอมสละเวลาสัก ๕ - ๑๐ นาที มาคิดดูสิว่า งานวันนี้ ถ้าเราประเมินตัวเองโดยไม่เข้าข้างตัวเองแล้ว เราทำได้ดีพอแล้วหรือยัง ?
              อาตมาเองไต่เต้าจากตำแหน่งพนักงานธรรมดา ของบริษัทไทยญี่ปุ่นเมตัลอุตสาหกรรม (Thai-Japan Metal Industry Co.Ltd.) ใช้เวลา ๗ เดือน ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าแผนก
              ขณะเดียวกันตอนที่รับราชการทหารอยู่ก็ฟันสองขึ้นทุกปี จนกระทั่งครบสามปี เจ้านายต้องกาง รศ. ให้ดูระเบียบว่า การได้สองขั้นต้องไม่เกินสามปีติดกัน แปลว่าต้องมีการเว้น ถ้าไม่เว้นก็ผิดระเบียบ
              นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกพวกเราว่า จริง ๆ แล้วพวกเราก็ทำอย่างที่อาตมาทำได้ เพียงแต่ว่า
              เราทุ่มเทความพยายามเพียงพอหรือยัง ?
              เรามีจิตสำนึกที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมเท่าไร ?

              และขณะเดียวกัน เราเองเมื่อทำงานไปแล้ว มีการประเมินทบทวนตัวเองบ้างหรือไม่ ?
              อย่าลืมว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกหมวด เหมาะในทุกกาลสมัย ท่านบอกว่าเป็น อกาลิโก ไม่โดนจำกัดด้วยเวลา ใครทำก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น
              พระพุทธเจ้าทรงให้พวกเราสรุปทบทวนตัวเองอยู่เสมอ จะได้รู้ว่าเป้าหมายชีวิตของเราตอนนี้ เรายังเดินไปตรงตามเป้าที่วางไว้หรือไม่ ?
              ตอนนี้เดินไปถึงไหน ?
              เหลือระยะทางใกล้ไกลเท่าไร ?
              เราจะได้รู้ว่า เราต้องทุ่มเทพากเพียรให้มากกว่าเดิม หรือว่าระยะที่เหลือนี้ สามารถที่จะลดหย่อนผ่อนปรนได้ ?

              ขณะเดียวกันการทำงานก็ต้องรู้กาลเทศะ สัปปุริสธรรม ท่านเรียกว่ากาลัญญุตา คือ การรู้กาล รู้วาระ
              กาละ ก็คือเวลา
              เทศะ คือสถานที่
              ส่วนไหนที่จะเหมาะสมกับเรา ถ้าเราสามารถทำได้ เราก็จะดำรงตนเองอยู่ได้ ท่ามกลางสังคมที่มีการแข่งขันสูงมากในปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นแล้ว คุณเองก็สักแต่เป็นขยะชิ้นหนึ่ง ที่ลอยไปตามกระแสเท่านั้น
              ถ้าหากเขาเห็นประโยชน์หยิบฉวยขึ้นไปใช้ก็ดี ถ้าเขาไม่เห็นประโยชน์เขี่ยทิ้ง ก็ลอยตามกระแสต่อไป ถ้าอยากประสบความสำเร็จในชีวิต อยากมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากจะเรียนให้สำเร็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า แค่มีอิทธิบาท ๔ ก็พอแล้ว
              อิทธิบาท ๔ มี
              ฉันทะ ยินดีและพอใจที่จะทำงานนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ เต็มใจทำ ไม่ใช่ซังกะตายทำ
              วิริยะ ทุ่มเทความเพียรพยายามอย่างเต็มที่ มีจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของ ทำงานให้ได้เนื้องาน ไม่ใช่ทำงานให้ได้วันหนึ่ง การทำงานให้ได้วันเป็นนิสัยของกรรมกร ไม่ใช่นิสัยของผู้ที่จะมานั่งทำงานในบริษัท
              จิตตะ คือ กำลังใจจดจ่อปักมั่นอยู่กับงาน พูดง่าย ๆ ว่า กัดไม่ปล่อย งานไม่เสร็จ กูไม่เลิก
              และท้ายสุด วิมังสา ไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ จะได้รู้ว่าผลงานนั้นเป้นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ ?
              เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสหลักธรรมที่เหมาะสมแก่บุคคลที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในสภาพของนักบวชหรือฆราวาส ทั้ง ๆ ที่เนิ่นนานสองพันกว่าปีแล้ว เราเองได้นำมาใช้กันบ้างหรือไม่ ?
              และขณะเดียวกันพระองค์ท่านตรัสไว้ว่า สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความสามัคคีย่อมยังหมู่คณะให้เกิดสุข พูดง่าย ๆ คือ เมื่อเป็นทีมงานเดียวกันก็ต้องรักใคร่สามัคคีกัน
              ตอนที่อาตมาเรียนปริญญาตรี รุ่นที่เรียนอยู่ด้วยกันนั้น พูดง่าย ๆ ว่าเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นเป็นตุ๊กแก แกะไม่ออกมาจนทุกวันนี้ เพราะว่าตอนที่เรียนอยู่ เรามีการแบ่งปันความรู้กัน ใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า ก็จะสรุปเนื้อหาการเรียนให้เพื่อน เมื่อเพื่อนเอาเนื้อหาไปท่องจำก็จะได้ความรู้เท่ากันกับเรา
              จะมีเพื่อนที่คอยทำหน้าที่เก็บข้อมูลและสรุปเนื้อหาอยู่ประมาณ ๔ - ๕ รายในรุ่น ดังนั้น...ถ้าข้อสอบออกมา ก็จะมีคำตอบคล้าย ๆ กัน อยู่ ๔ - ๕ คำตอบ เพราะว่าทุกคนเอื้อเฟื้อต่อกัน รักใคร่สามัคคีกัน เห็นว่าเป็นรุ่นเดียวกัน ต้องช่วยกันฉุด ช่วยกันดัน ช่วยกันผลักขึ้นไป เพื่อให้ทุกคนได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จพร้อม ๆ กัน
              เราลองมานึกดูว่า ถ้าเราก้าวไปยืนโด่เด่อยู่บนยอดเขาคนเดียว แรก ๆ อาจจะปลื้มว่ากูประสบความสำเร็จ แต่พอนาน ๆ ไป มองรอบข้างหาใครไม่ได้สักคน แล้วเราจะรู้ว่าย่ิงสูงย่ิงหนาวนั้นเป็นอย่างไร ?
              ขอยกตัวอย่าง หัวหน้าประเดิมชัย แสงคู่วงษ์ ตอนนั้นท่านเป็น หัวหน้าศูนย์จัดการต้นน้ำที่ ๑๖ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลต้นน้ำแม่กลองทุกสาย หัวหน้าประเดิมชัยผลักดันลูกน้องตัวเองให้ได้ซี ๗ ก่อนตัวเองสองคน ทั้งที่ตัวหัวหน้าเองติดอยู่แค่ซี ๖ มาตั้งหลายปีแล้ว
              อาตมาก็ถามว่า ทำไมหัวหน้าไม่เอาเสียเอง ?
              ท่านบอกว่า ถ้าตามสายงานของท่าน ต้องเป็นซี ๗ วิชาการ เพราะฉะนั้น...จึงสละตรงนี้ให้ลูกน้องไปก่อน เขาได้เพราะเรา ถึงเวลาเขาก็จะคิดถึงเรา พวกเราเคยเสียสละให้เพื่อนอย่างนี้บ้างไหม ?
              อาตมาเองได้ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งต้องใช้การสอบช่วงชิงกัน ๑๕ กองพันเขามีเพียงตำแหน่งเดียว คิดดูว่าเป็นจำนวนเท่าไรต่อหนึ่ง ? กำลังพล ๔,๕๐๐ กว่าคน มีตำแหน่งเดียวและอาตมาสอบได้
              แต่ว่าคนสอบได้ที่สอง เขามาคร่ำครวญว่า เขาอยากได้เหลือเกิน อาตมาก็สละสิทธิ์ให้เขาไปแบบหน้าตาเฉย เพราะรู้ว่าครั้งต่อไปถ้าสอบ อาตมาก็ได้อีก แต่ถ้าเพื่อนพลาดครั้งนี้แล้ว เขาจะไม่ได้อีกเลย เพราะหมดกำลังใจ เราเคยคิดเสียสละให้เพื่อนฝูงอย่างนี้บ้างไหม ?
              อะไรก็ตามถ้าเราช่วงชิงไขว่คว้ามาใส่ตัว จะไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันพอ แต่ถ้าเรารู้จักเสียสละให้คนอื่นได้ เราจะกลายเป็นคนที่มีเพื่อนฝูงมาก คนที่มีเพื่อนฝูงมาก จะไม่มีวันอับจน
              ลองคิดดูว่า ถ้าคนอื่นเขาเคยเสียสละเพื่อเรามาก่อน ถึงเวลาเขาบากหน้ามาขอความช่วยเหลือเราบ้าง เราจะปฏิเสธเขาได้ลงหรือ ?
              ดังนั้น...สิ่งที่พูดในวันนั้นก็คือ หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีอยู่มากต่อมากด้วยกัน ขณะเดียวกัน หลักการปฏิบัติตนในชีวิตฆราวาสองเราก็มี เพียงแต่ว่าเรานำมาประยุกต์ใช้ได้แค่ไหน ?
              ไม่ใช่เจอสถานการณ์จริง ก็เดินทื่อเป็นเถรตรงไปเลย ถ้าอย่างนั้นก็จะเหมือนกับที่เขาเดินไปชนต้นไม้ หัวแตกเสียเปล่า ๆ เพราะไม่รู้จักหลบหลีก เอาแต่ตรงไปตรงมาอย่างเดียว
              ขณะเดียวกัน เราลองพิจารณาดูว่า เราพลาดโอกาสที่ดีไปมากต่อมากด้วยกัน ก็เพราะตัวกูของกูที่ลงให้คนอื่นไม่เป็นหรือเปล่า ?
              เรื่องบางเรื่องถ้าไม่พูดก็ไม่ขาด แต่ถ้าพูดออกไปจะเกินมาก
โดยเฉพาะถ้าเข้าหูผู้ที่มีอำนาจเหนือตน จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนได้มากกว่าที่เราคิด
              โบราณท่านถึงได้บอกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง มาตราโบราณเขาว่า
              ๔ ไพ เป็น ๑ เฟื้อง
              ๒ เฟื้อง เป็น ๑ สลึง
              ๔ สลึง เป็น ๑ บาท
              ๔ บาท เป็น ๑ ตำลึง
              ๒๐ ตำลึง เป็น ๑ ชั่ง
              ๕๐ ชั่ง เป็น ๑ หาบ
              พูดไปได้แค่ ๒ ไพ แต่ถ้าเรานิ่งเสีย มีคุณค่าเท่ากับทองคำหนึ่งตำลึง ก็คือ มีค่าเป็นทองคำหนักตั้ง ๔ บาท แล้วก็เป็นบาทโบราณด้วย ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะเป็นทองคำ ๔๐ บาทมากกว่า
*************************