สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนธันวาคม ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม :  มันไม่โกรธไม่อะไร แต่ว่ามันเข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์แล้วนั่งคอยความตาย เอ๊ะ วันแรกก็ยังไม่ตาย วันที่สองก็ยังไม่ตาย ก็นั่ง...มันจะแบบไม่โกรธไม่นึกอยากได้ ไม่อะไร ไม่มีความอะไรกับใครเลย คิดว่าสงสัย เอ่ย เราได้แล้ว ก็ไปนั่งรอความตาย เอ๊ะ ปกติวันหนึ่งต้องตาย ก็ไม่ตาย วันที่สอง พอวันที่สาม ปุ๊บ อารมณ์ตก ?
      ตอบ :  มันตก มันก็คืนกลับสภาพเดิมของมัน ลักษณะนั้นโทษโยมไม่ได้นะ พระสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าอยู่ ท่านก็คิดว่าท่านสำเร็จอรหันต์แล้ว ท่านก็พยากรณ์ว่าตัวท่านเองเป็นพระอรหัตน์แล้ว พระพุทธเจ้าถึงได้ไปเตือนว่ายังไม่ใช่ สังเกตุอารมณ์จะเห็นว่ายังต้องใช้การกดมันอยู่ ไม่ใช่ได้แบบปล่อยวาง ถ้าหากว่าปัญญาถึงมันจะปล่อยไปเลย ฉะนั้นพออารมณ์คลายตัวลง ท่านก็ตกใจว่า เอ๊ะ เราโดนอาบัติปาราชิก คือ ขาดความเป็นพระซะแล้วมั้ง ? พระพุทธเจ้าท่านตัดสินให้ว่าไม่โดน เพราะพยากรณ์โดยความสำคัญผิด ที่อวดอุตริมนุสธรรมเพื่อต้องการลาภ ยศ ชื่อเสียง ต้องการให้คนเขาสรรเสริญเยินยอเราอะไรเหล่านั้นถึงจะเป็นต้องอาบัติปาราชิกขาดความเป็นพระ เพราะอวดในสิ่งที่ตัวเองไม่มี แต่อันนี้ตัวเองเข้าใจผิดไป ดังนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะอวดเพื่อผลประโยชน์ใด ๆ ดังนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นอาบัติปาราชิก อันนั้นอย่างหนึ่ง
              อีกอย่างหนึ่งเกิดกับตัวอาตมาเองเหมือนกัน มีอยู่วันหนึ่งปีนั้นรู้สึกนอนในเรือทั้งปีเลยตอนที่ตีกับชาวบ้านเขาเรื่องเรือหาปลา นอนในเรือทั้งปีเลย ก็ภาวนาไปเรื่อย กลางคืนไม่ค่อยได้นอนหรอกเพราะว่าต้องคอยออกตรวจอยู่ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นนอนคืนหนึ่งไม่เกินสองชั่วโมงเท่านั้นแหละ พายเรือทั้งคืน อันนี้ก็มันทำได้ มันอยู่ได้เพราะว่าอารมณ์ใจมันทรงตัวภาวนาอยู่ วันนั้นอารมณ์มันดีเป็นพิเศษ มันรู้สึก.. มันปล่อยวาง มันวาง ไม่เอาอะไรกันใครไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับใครเลย เอ๊ะ นี่เราจะไปซะแล้วมั้ง ? ใช่มั้ย ? ก็ถึงนึกอย่างนั้นอยู่เหมือนกัน คราวนี้หลวงพ่อท่านเคยให้เอาไว้ว่า ทุกวันตอนเช้าให้เรายกจิตขึ้นเปรียบกับสังโยชน์อยู่ตลอดเวลา ว่าสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ มีข้อไหนที่เรายังติดอยู่บ้าง ก็ไม่ต้องรอเช้า เราฟาดมันตอนนี้แหละ เผื่อถ้าหากว่ามันหลุดจริง ๆ เราจะได้สบายใจซะทีหนึ่ง ว่า เออ... ตอนนี้เราเป็นพระอริยเจ้าแล้วใช่มั้ย ? ไล่ไปมาติดครบ ๑๐ ข้อเลย การไล่สังโยชน์นี่เราต้องไม่เข้าข้างตัวเองนะ
              ถึงได้ต้องบอกว่า เราต้องหาจุดผิดหาจุดตำหนิเตือนตัวเองให้ได้
ที่เมื่อครู่นี่ที่มีรายหนึ่งเขาบอกว่าเขาไม่ผิด บอกว่าเอ็งผิดตั้งแต่เกิดมาแล้ว ต้องหาข้อผิดให้ได้ นั่นแหละไล่ไปไล่มาติดครบ ๑๐ ตัวเลย เราเข้าใจผิด อารมณ์มันยังแบกอยู่ เพราะว่ามันใช้กำลังสมาธิกดมันอยู่ เพียงแต่ว่าวันนั้นนี่มันนิ่งสนิทจริง ๆ เราก็เลยเข้าใจผิดคิดว่าใช่ แต่ความจริงมันไม่ใช่
      ถาม :  แล้วตอนนี้ ๑๐ ข้อนี่ ติดครบมั้ยคะ ?
      ตอบ :  ก็ยังครบ ๑๐ เหมือนเดิม
      ถาม :  (หัวเราะ)
      ตอบ :  สามารถเขียนให้โยมอ่านได้ทุกข้อ (หัวเราะ) อย่าไปจับปลาไหลเลยเสียเวลาเปล่า
      ถาม :  ท่านยังไม่เผลอ ?
      ตอบ :  เรื่องอย่างนี้เผลอไม่ได้หรอก สติมันต้องมากกว่าคนทั่ว ๆ ไปซะด้วยซ้ำ โอกาสเผลอมันมี แต่จะเผลอเรื่องอื่น เรื่องนี้ห้ามเผลอ มีคนมากระทุ้งจะเอาเรื่องหวยบ่อย บอกไม่ได้กินหรอก ถ้าหลวงพ่อสั่งห้ามก็คือห้าม เขาจะรอเราเผลอ ใช่มั้ย ?
      ถาม :  อธิบายให้เข้าใจอีกนิดหนึ่ง กลัวแต่ว่าจะเป็นการว่าเพ้อเจ้อค่ะ บางครั้งฝันถึง ใจคิดถึงหลวงพ่อ คือคิดถึงหลวงพ่อ คิดถึงหลวงพ่อใจจะขาด แต่เวลาคิดถึง แต่ช่วงหลังนี้ไม่ได้เป็นนะ ช่วงก่อนนี้ ประมาณเมื่อ ๒ ปีก่อน เวลาคิดถึง ....คิดถึงท่านแล้วเหมือนใจจะขาด แบบพูดไม่ออกเหมือนกัน คิดถึง สุด ๆ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องพูดไง คำพูดอธิบายไม่ได้ เพราะว่าอารมณ์ใจมันเป็น ปัจจัตตัง รู้เอง คราวนี้ต่อไป มันข้องใจตรงไหน
      ถาม :  ที่นี่ก็มาคิดว่า ปกติถ้าเราคิดถึงหลวงพ่อ คือเราเห็นหลวงพ่อเป็นเรื่องปกติใช่มั้ย ? .....
      ตอบ :  ไม่หรอก เราควรจะคิดอย่างนั้นทุก ๆ วัน คิดอยู่สม่ำเสมอซะด้วยซ้ำไป เพราะเป็นสังฆานุสสติ โดยเฉพาะตอนนี้หลวงพ่ออยู่บนพระนิพพาน ต่อท้ายไปนิดหนึ่งว่าถ้าตายตอนนี้เราขอไปอยู่กับหลวงพ่อก็แล้วกัน ได้ประโยชน์มหาศาล คนที่เคยทันหลวงพ่อได้เปรียบคนอื่นเขาหลวงพ่อพูดกับเราอย่างไร ? หัวเราะอย่างไร ? เป่ายานัตถุ์อย่างไร ? สั่งน้ำมูกอย่างไร ? เรานึกภาพออกหมด ชัดเจนมาก สังฆานุสสติ อย่างไรเสียถ้าหากว่าเราใช้ฌาน ๔ ควบกสิณเข้าไปด้วย มันก็ยังต้องอาศัยภาพโยงมาภาวนาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานสมควร แต่เนื่องจากว่าเราสัมผัสกับหลวงพ่อมาตลอด ภาพหลวงพ่ออยู่ในจิตอยู่ในใจของเราตลอดแล้ว พวกคล่องกสิณขนาดไหนก็เห็นไม่ชัดเท่าเราหรอก เพราะฉะนั้นตัวนี้เป็นสังฆานุสสติเต็มระดับ แล้วก็ถ้าหากเราจับเอาไว้อยู่ตลอดเวลาใจของเราจะอยู่กับบุญอยู่กับกุศลตลอดโดยเฉพาะตั้งใจว่าหลวงพ่ออยู่บนพระนิพพาน ถ้าตาย เราขอไปอยู่กับท่าน เราขออยู่บนพระนิพพานด้วย ตัดปิดท้ายจบไปเลย ยิ่งจับภาพท่านอยู่ได้นานเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น
      ถาม :  ตอนนี้มีความรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพหลวงพ่อจะเห็นภาพหลวงพ่อที่อยู่ ๑๐๐ ร้อยเมตร คือเป็นภาพหลวงพ่อที่เป็นซากศพ แล้วจะรู้สึกว่าเห็นภาพนั้นตลอด ต้องแก้หรือไม่คะ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องแก้ คือลักษณะของพุทธานุสสติก็ดี สังฆานุสสติก็ดี ถ้าเรานึกถึงแล้วท่านมาในลักษณะอื่น อย่างเช่นว่า เราตั้งใจว่าจะเอาภาพตอนท่านนั่ง เห็นท่านนอนแทน อันนี้จับเอาไว้ได้เลย เพราะว่าเป็นตรงตามกองกรรมฐานนั้น แต่หากถ้าอย่างเช่นว่า เรานึกภาพกสิณ แล้วภาพอื่นมาปรากฎแทน อันนั้นต้องทิ้งไป เพื่อหันมาจับภาพกสิณใหม่ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะไปแก้ เราก็นึกต่อเลยว่า ผู้ที่ประเสริฐสุดอย่างหลวงพ่อแล้วก็ยังไม่สามารถพ้นความตายไปได้ ตอนนี้ศพของหลวงพ่อก็อยู่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยงจริง ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมายไม่ว่าจะท่านหรือว่าเรา เราก็ต้องทุกข์ เพราะฉะนั้นสุดท้ายมันไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ตัวเราก็ต้องเสื่อมสลายตายพังไปเช่นเดียวกับหลวงพ่อเพราะฉะนั้นเราควรจะไปอยู่ที่ไหนก็เอาตรงจุดนั้นส่งต่อไปเลย ตอนนี้หลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว ท่านไปอยู่บนพระนิพพาน เราก็ขอไปอยู่กับท่านด้วย เอาภาพนั้นเป็นอนุสสติต่อไปเลย สิ่งที่มาในนิมิตนี้ ถ้าหากว่าเราจับมันจะชัดเจนกว่าใคร
      ถาม :  .................................
      ตอบ :  จับไว้บ่อย ๆ นึกถึงเสมอ ๆ ไว้ ยิ่งเห็นภาพนั้นชัดเท่าไหร่ ถ้าเราจะใช้ทิพจักขุญาณ เราก็จะใช้ได้ชัดเจนเท่าภาพที่เราเห็น ถ้าทำเป็นนี่ทุกอย่างมีประโยชน์หมด
      ถาม :  จะเป็นคนที่.......... มันจะหลงทางอยู่เรื่อย ?
      ตอบ :  ไม่เป็นไร หลงไม่ไกลหรอก อย่างพวกเรานี่ ออกนอกทางหน่อยมันจะรู้ตัว เพียงแต่ว่ารู้ตัว แล้วจะยอมกลัวมั้ย? เท่านั้นเอง
      ถาม :  อย่างลมหายใจค่ะ ตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ ไท้เก๊กมันจะลมหายใจไม่เหมือน เพราะปกติเราก็ภาวนาหายใจเข้าหายใจออกก็ตามปกตินะคะ ๓ ฐาน แต่พอเป็นไท้เก๊กเนี่ย มันจะอีกเรื่องหนึ่ง ?
      ตอบ :  บอกแล้วไงว่าอาตมาก็เจอปัญหานี้มาก่อน คราวนี้มันไม่ใช่อีกเรื่องหนึ่งหรอกมันเรื่องเดียวกัน ถ้าเราทำถึงจริงๆ จะรู้ตัวเลยว่าทุกส่วนสัดของร่างกายของเราสามารถใช้หายใจแทนจมูกได้ทั้งหมด อาตมามีอยู่ระยะหนึ่ง เลิกใช้จมูกหายใจอยู่หลายปีเลย คือมันสนุกน่ะ เอาส่วนอื่นหายใจแทน มันดี ลองทำดู ถ้าทำถึง แล้วมันทำได้จริง ๆ อันนี้ไม่ได้พูดเล่นนะ เราจะใช้ส่วนไหนของร่างกายหายใจก็ได้ รูขุมขนตามผิวหนังทุกส่วนใช้ได้หมด เพราะฉะนั้นเราเองปัญหาลมหายใจแค่นี้มันเรื่องเล็ก มันจะหายใจยังไงก็ได้ ขอให้ใจเรามันอยู่กับที่แล้วกัน อย่างเช่นว่าเราจับภาพพระอยู่ก็จับไป แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง มันอยากจะรำอีท่าไหนตามที่มันเคยมาก็ทำไป แต่ส่วนหนึ่งซัก ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์จับภาพพระ จับภาพพระนิพพานเอาไว้เป็นปกติของมัน
      ถาม :  ช่วงที่เราไม่ได้เล่น เราไม่ได้รำ เราก็จะ...เวลาเราหายใจเข้ามันก็จะ...?
      ตอบ :  มันเลย มันแทนที่จะอยู่แค่ศูนย์กลางกาย มันเลยลงไป เพราะว่าตามการฝึกกำลังภายในเขาจะเอาจุดใต้สะดือลงไปเป็นหลัก
      ถาม :  เขาจะแค่ดึงสุดลงไป ?
      ตอบ :  มันมากเลย ตอนบังคับให้หยุดนี่ ถ้าหากว่าเราไปฟุ้งซ่านกันมัน มันนาน ก่อนหน้านี้ก็ไปบังคับให้มันหยุด บังคับอยู่ตั้งหลายปีกว่ามันจะหยุดอยู่ได้ แต่พอมาฝึกมโนมยิทธิเสร็จถึงได้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว จะให้มันอยู่ส่วนไหนของร่างกายก็ได้ สนุกดี
      ถาม :  ไม่เข้าใจค่ะ ถ้าบอกว่า ถ้าเราดึงให้มันสุดไปข้างล่างเนี่ยเราต้องการจับฐานอยู่ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องไปจับฐาน รู้ตามไปเฉย ๆ ก็ได้ คือว่าถ้าตามวิสุทธิมรรคเขาจะมีแบบที่ว่าผุสนา คือจับการกระทบของมัน จะเป็นแบบฐานเดียว สามฐาน เจ็ดฐานแล้วแต่เราอผุสนาไม่จำเป็นต้องจับการการทบก็ได้ เรารู้ลมตลอดไปเลย เพราะฉะนั้นอันนี้ของเราไม่ต้องไปจับจุดกระทบมันแล้วรู้ลมตลอดไปเลย มันไปถึงไหน ก็รู้ตามไป มันเคลื่อนไปทั่วร่างกายก็เคลื่อนตามมันไป
      ถาม :  ถ้าอย่างนั้นก็ไม่นิ่งน่ะสิคะ ?
      ตอบจริง ๆ ตัวมโนมยิทธินี่มันเป็นส่งออกอยู่แล้ว แต่เพียงแต่ว่าลักษณะของการส่งออก เราส่งอย่างมีสติด้วยการที่ว่าเรายึดจุดใดจุดหนึ่ง คือแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งเอาไว้เสมอ อย่างเช่นว่า แบ่งความรู้สึกเกาะนิพพาน แบ่งความรู้สึกเกาะภาพพระไว้ ส่วนลมมันจะไปตรงไหนก็ดูตามมันไปเฉย ๆ
      ถาม :  เอ๊ะ อย่างนี้จิตเราไม่นิ่ง เดี๋ยวเราก็จิตเกาะพระ แล้วจิตเราเกาะลมหายใจด้วย ?
      ตอบ :  แบ่ง จ้ะ แบ่ง แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเกาะพระเอาไว้เป็นปกติ อีกส่วนหนึ่งก็ตามดูไป บางทีมันไปทุกส่วนของร่างกายเลย เส้นเลือดเล็ก ๆ มันก็เห็นยังกะอุโมงค์ใหญ่เบ้อเร่อขนาดรถไฟลอดได้เดินสบายเลย
      ถาม :  ทีนี้ มันจะเป็นอย่างนี้ค่ะ ส่วนหนึ่งก็รู้ลมหายใจ ส่วนหนึ่ง...อีกส่วนหนึ่งมันจับแสงอยู่ตรงนี้เอง ?
      ตอบ :  จับไปเถอะ แบ่งออกมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่ว่าความรู้สึกสุดท้ายของเราอย่าให้หลุดจากพระแล้วกัน ยังไง ๆ ก็ต้องคิดอยู่เสมอว่าภาพนี้คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านไม่อยู่ไหน นอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านก็คืออยู่กับท่าน คือเราอยู่บนพระนิพพาน ความรู้สึกนี้ อย่าคลายมันซะอย่าง อยากจะจับอะไร จับไปเถอะ
      ถาม :  แต่นี่ไม่ใช่ฟุ้ง ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ มันสามาถแยกจิต แยกกาย ทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้
      ถาม :  ก็เข้าใจว่าตัวเองฟุ้ง ?
      ตอบ :  ฟุ้งแบบนี้ฟุ้งไว้บ่อย ๆ แหละดี จะสังเกตว่าฟุ้งแบบนี้นี่นิวรณ์ ๕ มันเข้าไม่ได้
      ถาม :  โง่ ....ฉลาดน้อยไปหน่อย ?
      ตอบ :  ไม่เป็นไร ไม่มีใครฉลาดตั้งแต่ในท้องแม่หรอก
      ถาม :  ทำไมจิตเราไม่รวมเป็นหนึ่ง ?
      ตอบ :  เขาเองเขาฝึกกับแทบตายกว่าจะแยกมันได้ อันนี้มันแยกได้แล้วยังจะไปดึงมันกลับอีก
      ถาม :  ......................
      ตอบ :  ต่อไปเราจะทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันได้ มันคิดทีหนึ่ง ๓ เรื่อง ๔ เรื่องก็ได้
      ถาม :  ทุกทีทำงานพร้อมกันสบาย ขายลูกชิ้นค่ะ คนมาสั่งก๋วยเตี๋ยวก็ คิดอยู่.... คิดสตางค์เสร็จก็คิดจะนับลูกชิ้น นับไปคุยไป ๆ ลูกค้าเก่า ๆ ก็เชื่อใจ มีอยู่วันหนึ่งลูกค้าใหม่มาถึง อุ้ย นับอย่างนี้ฉันไม่เอาหรอก ก็จะเอากะละใบหนึ่งบอก ถ้าเกินแม้แต่ลูกหนึ่ง ขาดแม้แต่ลูก ถุงนี้เอาไปเลย มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้ก็เลยคิดว่า เราเนี่ย คือเวลามันนั่งมันต้องรวมจิตให้เป็นหนึ่ง
      ตอบแรก ๆ มันก็จำเป็น พอเสร็จแล้ว พอมั่นคงแล้ว เราก็หัดมันในระยะแรกมันเป็นการฝึก ระยะหลังนี่มันเป็นการใช้งานเคยได้ยินหลวงพ่อพูดบ่อย ๆ มั้ยว่าฌานใช้งาน คือลักษณะนี้คือมันทรงฌานอยู่ด้วย ขณะเดียวกันก็ทำอะไร ๆ ทุกอย่างไปพร้อมกันได้ด้วยกว่าจะถึงบางอ้อ อ้าว ผ่านตาไปไม่รู้เท่าไรเเล้ว นั่นแหละ คำว่าฌานใช้งานเขาเป็นอย่างนั้น สังเกตมั้ยที่หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังในประวัติหลวงปู่ปานหลวงปู่ปานก็นั่งหัวเราะอยู่ คุยกับโยมเขาไป ไม่ได้ทำอะไรหรอก บอกว่า รดเข้าไปลูก รดให้หนักเข้าไว้ เราเป็นต่อแล้ว รดน้ำมนต์เข้าไป หลวงพ่อก็ราดไปเรื่อย ไม่เห็นหลวงปู่ปานนั่งเสกคาถา เข้าชงเข้าฌานอะไรเลย ทำไมยังต้องไปนั่งอีก ก็ทำยังไงอารมณ์มันก็ทรงตัวเป็นปกติ อย่างเช่นว่า เราคุยอยู่ตรงนี้ เราคุยไปเราคิดตามไปด้วยอะไรไปด้วยลองจับอารมณ์ข้างในเราสิ มันก็นิ่งของมันอยู่อย่างนั้นแหละ ในเมื่อมันนิ่งของมันอยู่อย่างนั้น อาการภายนอกมันเป็นน้ำปากบ่อ คือ มันกระเพื่อมไปตามกระแสนภายนอกได้ แต่น้ำก้นบ่อมันจะนิ่งอยู่ตลอด รักษาใจตัวนี้เอาไว้ให้ได้ ถ้าหากว่ากำลังใจเราอยู่อย่างนี้ได้ ตัวนิวรณ์กินเรายากเต็มที
      ถาม :  .....................
      ตอบ :  อ๋อ.. ใกล้ตายแล้วจ้ะ รับรองได้ ไม่เกิน ๑๐๐ ปีเสร็จแน่ ๆ
      ถาม :  สอง สามวันก็ฝันเห็นคนตายคะ ?
      ตอบ :  ฝันเห็นคนตายนี่เลข ๔ จ้ะ เสียดายมันไม่ยอมเล่น ไม่งั้นรวยไปแล้ว
      ถาม :  สงสัยว่า ถ้าเกิดเขามาขอบุญ เราสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลไปเขาไม่ได้หรือเปล่า ?
      ตอบ :  ไม่ใช่หรอกนักปฏิบัติอย่างเรา พอเห็นมันต้องพิจารณาแล้วว่าต่อไปเราก็เป็นอย่างนั้น ในเมื่อต่อไปเราก็เป็นอย่างนั้น เราพร้อมจะตายหรือยัง ? ถ้าหากว่าพร้อมแล้วเราตายแล้ว เราจะไปไหน ? พอตอบคำถามสุดท้ายตัวเองได้เสร็จ ก็เอาใจเกาะตรงจุดนั้นไว้ไม่ต้องปล่อยเลย แล้วก็รักษาอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ต่อไปมันก็จะเคยชินกับการอยู่ที่นั่น ถึงเวลามันไม่ต้องเสียเวลา อาจจะไปก่อนก็ได้แล้วปล่อยร่างกายมันปะแหง็บ ๆ ซักพักหนึ่ง กว่ามันจะตาย เหมือนยังกะรถ เครื่องมันยังติดอยู่ เพราะน้ำมันมันยังมี แต่คนขับไปนานแล้ว
      ถาม :  ........................
      ตอบ :  ลักษณะของการพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพความเป็นจริง ๔ อย่าง คือว่า มันประกอบด้วยดิน ด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ เป็นปกติของมันอย่างนั้น ส่วนที่แข็งเป็นแท่งเป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จับได้ต้องได้ คือธาตุดินมีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในใหญ่น้อยทั้งหลายทั้งปวงพวกนั้นนะ ส่วนที่เหลวไปไหลมา เรียกว่าธาตุน้ำ คือ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ เหล่านี้เป็นต้น ส่วนที่พัดไปมาในร่างกายก็คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ตกค้างในท้องในไส้ ที่เรียกว่าแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ที่เรียกว่าความดันโลหิตส่วนที่ให้ความอบอุ่นในร่างกาย เรียกว่าธาตุไฟได้แก่ไฟธาตุที่ช่วยสันดาปย่อยอาหาร ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายของเราให้ทรุดโทรมลง
              พอลักษณะ ๔ อย่างนี้ แยกออกมา ต่างคนต่างอยู่ กองนี้เป็นดิน กองนี้เป็นน้ำ กองนี้เป็นลม กองนี้เป็นไฟ เราจะเห็นชัดเลยว่าไม่มีส่วนไหนเป็นเรา เป็นของเราเลย แต่ถ้าเอา ๔ ส่วนนี้รวมกันเข้าไปใหม่ขยำ ๆ ปั้นขึ้นมา ใส่หัวหูหน้าตาลงไป พอจิตคือตัวเราเข้าไปจับปุ๊บ เราก็ไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา เพราะฉะนั้น สภาพแท้จริง ๔ อย่างของมันมีดังนี้ว่า มันเป็นปกติ ดิน น้ำ ไฟ ลม เราอาศัยมันอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลามันก็เสื่อมสลาย ตาย พังไป ถ้าเราอยู่กับมัน วัตถุทั้งหลายเหล่านี้เรายืมโลกมาใช้ มารยาทของการยืม ก็ดูเลรักษาเขาให้ดี เขาหิวก็หาให้กิน เขากระหายก็หาให้เขาดื่ม เขาร้อนก็หาเครื่องบรรเทาให้มัน เขาหนาวก็หาผ้าให้มันห่ม เขาเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาพยาบาลเขา เพื่อถึงเวลาจะได้คืนเขาไปในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะพึงมีพึงเป็น แต่ถ้าหากว่ามันพังลงไปเมื่อไร เราก็พร้อมที่จะไปพระนิพพานของเรา อยู่กับมันอย่างมีสติ รู้อยู่เสมอ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
              มันเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่งที่เราเป็นคนขับมันไปเรื่อย พอถึงเวลาเราก็ทิ้งรถคันนั้นไปเพื่อเปลี่ยนรถคันใหม่ ถ้าทำความดี ก็ได้รถยี่ห้อดี ๆ ใหม่ ๆ อย่างเช่นเทวดา เป็นพรหม หรือดีที่สุดก็เข้าพระนิพพานไปเลย ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดีไว้มากก็ได้รถโปเก พัง ๆ ผุ ๆ ก็อย่างเช่นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น
              ต้องมีสติรู้อยู่ตลอดเวลาว่าสภาพแท้จริงของร่างกาย ลักษณะแท้จริงของร่างกายมันเป็นอย่างนี้ แล้วเสร็จแล้วก็ถามตัวเองว่าร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนอย่างนี้ มีแต่สภาพเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอันอย่างนี้ เรายังอยากได้มันมั้ย เรายังรัก ยังปรารถนามันมั้ย ถ้าตัวเรา เราไม่รักไม่ปรารถนามันแล้ว จะไปต้องการคนอื่นไว้ทำอะไร ในเมื่อต่างคนก็ต่างเกิด ต่างคนก็ต่างเจ็บ ต่างคนก็ต่างตาย ถึงเวลาก็ต่างคนต่างไป ดังนั้น เราก็ควรที่จะยึดเกาะในสิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะพึงมีพึงได้ตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือพระนิพพานไว้แทน ร่างกายนี้เราอาศัยมันอยู่เท่านั้น เพื่อประกอบความดี ถึงเวลาถ้ามันตายเราขอไปนิพพาน ก็ตั้งใจไว้อย่างนี้ พยายามพิจารณาดูบ่อย ๆ แรก ๆ เราบอกร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันพูดยาก ไม่ค่อยยอมรับ
              แต่ถ้าเราแยกมันออกเป็นส่วน ๆ อย่างนี้ แยกเข้า แยกออก แยกออก แยกเข้าอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งเห็นชัดเจน มันจะยอมรับเองว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แรก ๆ ต้องใส่รายละเอียดให้มากที่สุด ค่อย ๆ ดูไปทีละส่วน ๆ หลังที่ดูจนจิตเรามันยอมรับแล้ว เราบอกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรามันยอมรับเลยโดยมันไม่เถียงอีกโดยไม่ดื้ออีก ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ก็พยายามทบทวนรักษาอารมณ์นั้นไว้เรื่อย ๆ
ยากไปมั้ย ? ไม่ยากกรรมฐาน ๔๐ ปล้ำกันแทบตาย
              สมัยก่อนทำได้ทีก็วิ่งอวดหลวงพ่อที ทำได้ทีก็วิ่งไปอวดหลวงพ่อที มีงวดหนึ่งหลังจากที่ซ้อมอนุสสติ ๑๐ จนคล่องปรื๋อแล้ว ไปถึงก็กราบเรียนท่านว่า หลวงพ่อครับ ตอนนี้อนุสสติ ๑๐ ของผมสามารถไล่อารมณ์เต็มได้ภายในครึ่งชั่วโมง หลวงพ่อบอกใช้ไม่ได้ลูก สมัยที่พ่อทำอยู่กรรมฐาน ๔๐ กองนี่ ถ้าต้องใช้เวลาถึง ๒ นาทีนี่แย่มากแล้ว โอ้ย...เราแค่ ๑๐ เดียว ถ้า ๔๐ นะ ไอ้ ๑๐ เดียวของเรานี่ ๓๐ นาที ไอ้ ๔๐ ท่านบอก ๒ นาทีนี่แย่มากแล้ว มาตอนหลังพอไล่ไปไล่มา อ้อ ที่แท้จริง ๆ เพราะว่าถ้าเราต้องการจะทำในลักษณะที่หลวงพ่อว่าจริง ๆ ตั้งอารมณ์ขึ้นมาให้ทรงฌานสูงสุดที่เราทำได้ เสร็จแล้วก็แค่เปลี่ยนกองเปลี่ยนวิธีคิดเเป็บเดียวเอง อารมณ์ใจมันเต็มอยู่แล้ว ฉะนั้น ๒ นาทีนี่คิด ๔๐ อย่างเนี่ย มันช้ามากเลย