โปรดเวไนยสัตว์ (๒)

              ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ส่งทูตไปยังเมืองจำปา แคว้นอังคะ มีรับสั่งให้ โสณโกฬิวิสะ บุตรเศรษฐีมาเฝ้า ดุจมีพระราชกรณียกิจบางประการ โสณะออกเดินทางพร้อมกับชนชาวอังคะจำนวนหนึ่ง มาเฝ้าตามพระราชดำรัส ครั้นมาถึงและถวายบังคมแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงแนะนำชนชาวอังคะเหล่านั้น ในประโยชน์ปัจจุบัน และรับสั่งให้ชนเหล่านั้น ไปเฝ้าพระศาสดา เพื่อพระพุทธองค์จักทรงสั่งสอนประโยชน์ภายภาคหน้า พวกเขาจึงพากันไปเฝ้าพระศาสดาที่เขาคิชฌกูฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุปุพพกถา และอริยสัจ ๔ ชนทั้งหมดได้บรรลุธรรม ณ ที่นั้น ได้ขอแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย
              โสณเศรษฐีบุตร มีความคิดว่าบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ดุจดังสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย เราพึงปลงผมและหนวดครองผ้ากาสาวะออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต หลังจากชาวเมืองหลีกไปไม่นานนัก โสณโกฬิวิสะ ได้เข้าไปกราบทูลพระพุทธองค์ของบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้รับบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนักแล้วไปพำนักอยู่ที่ป่าสีตวัน ท่านปรารภความเพียร เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิตดุจสถานที่ฆ่าโค
              พระโสณโกฬิวิสะคิดว่า บรรดาสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศลได้ เราละลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญดีกว่า
              พระศาสดาทรงทราบความกังวลใจของพระโสณะ จึงเสด็จจากเขาคิชฌกูฏ ไปปรากฎตรงหน้าท่านพระโสณะที่ป่าสีตวัน ตรัสว่า โสณะเมื่อเธออยู่ครองเรือน เธอเป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณ ก็สมัยใด สายพิณของเธอตึงไป หย่อนไป หรือไม่ตึงไม่หย่อน เธอย่อมรู้ในเสียงนั้น ฉันใด ความเพียรที่เธอปรารภมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ดูก่อน โสณะ เธอจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ จงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น พระโสณะกระทำตามโอวาทนั้น หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว มีความเพียร ตั้งใจแน่วแน่อยู่ในพระโอวาท ไม่นานนัก พระโสณโกฬิวิสะ ก็ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
              เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว ท่านพระโสณะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระคันธกุฎี ภูเขาคิชฌกูฏ กราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นกิเลสเครื่องประกอบในภพ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ ๑ ความสงัด ๑ ความไม่เบียดเบียน ๑ ความสิ้นตัณหา ๑ ความสิ้นอุปาทาน ๑ ความไม่หลงใหล ๑