ถาม:  .................................................
      ตอบ:   ก็ไม่มี ไม่ได้พูดเล่น มันสำคัญอยู่ที่เราทำใจได้ไหม การเลี้ยงสัตว์หรือการกักขังเอาไว้ ถ้าเราไม่ได้ทำความดีอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว ยกเว้นสัตว์เลี้ยงชนิดนั้น จะทำให้เราไปเกิดเป็นเวมานิกเปรต เปรตชนิดที่มีความเป็นทิพย์ มีความสวยงามเหมือนกับเทวดาทุกอย่าง แต่ออกจากวิมานไม่ได้ นี่หมายถึงไม่ได้ทำความดีอะไรไว้เลย
              แต่ถ้าเราทำความดีอย่างอื่นเอาไว้ เราเลี้ยงสัตว์ด้วยความเมตตา เลี้ยงดูเขาให้อยู่สภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขความสบายก็เป็นเมตตาบารมี เป็นการเพิ่มกุศลตัวอื่นให้เรา ถ้าเราเลี้ยงเอาไว้ขาย แต่ไม่ได้เลี้ยงเอาไว้ฆ่า ถามว่ามีโทษอะไรไหม ? ตอบว่าโทษในเรื่องของการละเมิดศีลไม่มี แต่จะมีผลในเรื่องของธรรมะและเมตตาบารมีบกพร่องเพราะอย่างน้อยถึงแม้เขาจะอยู่สุขสบายอย่างไร เขาก็ไม่ได้อยู่อย่างธรรมชาติ เขาถูกจำกัดเขต
              ส่วนการเลี้ยงเพื่อขาย ถ้าเราตั้งใจว่าขณะที่เรามีหน้าที่ดูแลเขาอยู่ เราเลี้ยงดูให้เขาสุขสบายที่สุดตามอัตภาพ เท่าที่จะพึงมีได้ ส่วนคนซื้อไปเขาจะเอาไปทำอะไร เราไม่รับรู้ ทำใจอย่างนี้ได้ก็จะไม่มีโทษ แต่ว่าถ้าตั้งใจว่าจะฆ่าให้เขาไปขายก็เป็นโทษ มันสำคัญที่ว่าเราตัดกำลังใจได้ไหม
      ถาม:  ตัดกำลังใจ หมายถึง ไม่ว่าจะเป็นปลาสวยงาม หรือเอาไปบริโภคก็เหมือนกันใช่ไหมครับ ?
      ตอบ:   คนอื่นจะเอาไปทำอะไรเรื่องของเขา แต่ถ้าอยู่กับเรา ๆ เลี้ยงเขาให้ดีที่สุด แต่จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้ากล่าวไว้ว่า “มิจฉาวณิชชา” คือ การค้าขายที่ไม่สมควร มีอยู่ ๕ อย่างคือ ๑. ขายมนุษย์ ๒. ขายอาวุธ ๓. ขายยาพิษ ๔. ขายสัตว์มีชีวิต ๕. ขายสุรา ซึ่ง ๕ อย่างนี้พระองค์กล่าวว่า ถ้าเป็นพุทธมามะกะไม่ควรทำ เพราะคนที่ไม่เข้าใจเขาตำหนิเอาได้ คุณทำใจได้แค่ไหนก็ตามแต่คนอื่นเขาเกิดโทษ ทุกครั้งที่เขาเห็นเรา เขาจะพูดได้ว่าไอ้นี่เข้าวัดเข้าวาประสาอะไร ก็กลายเป็นว่าเขาเองหาเรื่องให้ตัวเขาเดือดร้อน แต่ผลก็คือเกิดจากเรา จึงเป็นสิ่งที่เราไม่สมควรทำเพื่อป้องกันการครหานินทา จะเกิดทุกข์เกิดโทษกับเขา
      ถาม:  พี่ชายเขาเลี้ยงปลาสวยงามครับ
      ตอบ:   ก็เลี้ยงดูเขาให้ดี พี่เขยก็เลี้ยงปลาคราฟ ไฟดับแต่ละทีต้องวิ่งซื้อออกซิเจนเป็นถัง ๆ ไปช่วย ลักษณะนี้ทำด้วยตัวเมตตาและอีกอย่างเขาเลี้ยงในลักษณะที่คล้ายกับธรรมชาติคือเป็นสระน้ำหมุนเวียน และมีร่องน้ำให้ปลาว่ายไป แล้วย้อนกลับมาได้ ซึ่งก็ยังไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน แต่ดีอยู่อย่างก็คือ เขาจะมีศัตรูน้อย เพราะอยู่ใกล้การดูแลของเราและอีกอย่างคือ สัตว์เดรัจฉานเมื่ออยู่ใกล้คนแล้ว ใจมันเกาะคนก็จะเกิดเป็นคน ถ้าใจมันเกาะพระ ก็จะเกิดเป็นเทวดา เดรัจฉานที่มีโอกาสได้อยู่ใกล้คน กรรมที่เป็นเดรัจฉานก็จะหมดอยู่แล้ว แต่เราจะตัดสินว่าสัตว์ทุกตัวเหมือนกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเขาอยู่กับเรา ไม่ว่าจะเลี้ยงเป็นอาชีพ ก็ให้ดูแลมันให้ดีที่สุด เต็มสติเต็มกำลังที่เราทำได้ แล้วหลังจากนั้น คนซื้อไปเขาจะเอาไปทำอะไร ก็เรื่องของเขา
      ถาม:  ถ้าเป็นเช่นนี้ ท่านที่เป็นพระโสดาบัน จะมองเป็นอย่างไร ?
      ตอบ:   ท่านที่เป็นพระโสดาบัน จิตของท่านจะละเอียด อะไรที่จะเป็นทุกข์ เป็นโทษแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านจะพยายามเลี่ยงมัน
      ถาม:  การตั้งราคาพระให้บูชาเหมือนการซื้อขาย เป็นโทษไหมคะ ?
      ตอบ:   มองที่เจตนา ถ้าเจตนาทำเป็นการค้าจริง ๆ ก็มีโทษเหมือนกันเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย เพราะเขาตั้งใจทำเป็นอาชีพ แต่ถ้าหากว่า พวกเล่นพระนั้นว่าไม่ถูก นั่งส่องทั้งวัน นั่งมองทั้งวัน นั่นเป็นอนุสติ กำลังใจเกาะพระจริง ๆ ถ้าตายขณะนั้นเขาจะไปดีเหมือนกัน แต่ถ้าวางพระไว้อีเหละเขละขละเต็มไปหมด อยู่ว่าง ๆ ก็นั่งเล่นกำถั่ว แล้วเอาพระมาเป็นเครื่องมือ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เสร็จหมด ซึ่งก็ต้องดูใจของเขาเหมือนกันว่า ใจเขาเกาะอะไร เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องภายนอก (เรื่องของคนอื่น) เพราะฉะนั้นเราควรสนใจดูใจตัวเราเอง แก้ที่ตัวของเราเองให้ดี
      ถาม:  การทำเป็นอาชีพกับไม่ทำเป็นอาชีพต่างกันอย่างไรคะ ?
      ตอบ:   การทำเป็นอาชีพของเขาเป็นการทำมาหากิน แต่ให้ดูที่เจตนาของเขาเหมือนกัน บางรายเปิดเป็นศูนย์พระเครื่องเป็นร้านที่เปิดค้าขายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้อื่น ผู้ที่ต้องการไว้บูชาก็ไม่ต้องเดินทางไกล มีความสะดวกคล่องตัว ในการที่จะหามาไว้บูชา ก็ถือว่าเป็นการตั้งใจสงเคราะห์ผู้อื่น โดยเอากำไรจากส่วนต่างเพียงเล็กน้อย หรือได้เปอร์เซ็นต์จากต้นสังกัดที่เขาให้มาเพื่อให้ตัวเองพออยู่ได้ ถ้ามีเจตนาเช่นนี้ ก็ดีไป แต่ขณะเดียวกัน ถ้าทำเพื่อเจตนาจะหากำไรใส่ตัวฝ่ายเดียว ขนาดเอาของปลอมมาหลอกลวงขายก็เกิดโทษ เพราะเจตนาต่างกัน พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า เจตนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ (เจตนาถือเป็นกรรมตั้งแต่ต้น คิดก็เป็นมโนกรรมแล้ว คิดดีเป็นกุศลกรรม คิดไม่ดีเป็นอกุศลกรรม)
      ถาม:  มีอะไรแนะนำให้ทำไหมคะ ?
      ตอบ:   ไม่มี อยากให้ขวนขวายทำเอง ขี้เกียจยัดเยียดให้ เราทำเราต้องรู้ “การรู้” ก็คือ การทบทวนตัวเองเสมอ ๆ ว่าตอนนี้ทำแล้วมีอะไรก้าวหน้าแค่ไหน พอใจหรือไม่พอใจอย่างไร ส่วนไหนที่ดีแล้ว ส่วนไหนที่ยังไม่ดี และส่วนไหนที่ไม่ดีมาก ๆ ให้ค่อย ๆ แก้ไขไป ทีละจุด ๆ ต้องรู้จักดูตัวเอง แก้ที่ตัวเอง ประเภทที่มาถึงแล้วยัดเยียดอะไรให้นั้น เลิกทำมานานแล้ว และขอให้มาเฉพาะจุดพอจะให้ได้ บอกไปก็เหมือนกับตักน้ำรดหัวตอเปียก ๆ หน่อยเท่านั้นเอง ไม่งอกไม่เงยอารมณ์ใจขี้เบื่อ ๆอยาก ๆ อยู่ เพราะว่ายังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษอย่างแท้จริง ถ้ารู้ว่าวัฏสงสารนี้มีทุกข์มีโทษขนาดไหน เกิดความกลัวและตั้งใจที่จะหนีให้พ้นอย่างนี้จะเกิด “ฉันทะ” คือความพอใจ กระตือรือร้นที่จะทำเพื่อให้พ้นทุกอย่างจริงจังให้ตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งนั้นจริง ๆ ไม่ใช่ทำทิ้ง ๆ ประเภทที่ทำทิ้ง ๆ ตัวฉันทะยังไม่พอ พูดภาษาชาวบ้านคือมันยังไม่เข็ด งั้นให้โดนอีกสักหน่อย เดี๋ยวมันก็เข็ดเอง
      ถาม:  อธิบายได้ไหมคะ ?
      ตอบ:   ไม่ต้องอธิบาย ทำถึงแล้วจะรู้เอง เช่น ถามว่าถึงเชียงใหม่เป็นอย่างไร เขาไปถึงเชียงใหม่แล้วเรารู้ไหมล่ะ คนอื่นพูดไปก็แค่นั้นแหละ จะเก็บเอาไปฟุ้งซ่านเปล่า ๆ ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เมื่อวาระและเวลามาถึงก็จะรู้เอง ขอให้ทำให้ถึง ทำให้เป็นเท่านั้นเอง คิดไว้ก่อนล่วงหน้าก็ฟุ้งซ่านเสียเปล่า ๆ
      ถาม:  ผู้ที่ได้พระโสดาบันแล้ว จะมีสิทธิ์ลงไปข้างล่างไหมคะ ?
      ตอบ:   ไม่มีใครเขาลงไป ถ้าถึงระดับนั้นแล้ว
      ถาม:  “มรรค” กับ “ผล” ต่างกันมากไหมคะ ?
      ตอบ:   มีความต่างกันมหาศาล ซึ่งหมายความถึง มีความต่างกันในระดับของความละเอียด คำว่า “มรรค” กับ “ผล” ต่างกัน เปรียบเหมือนกับของชิ้นหนึ่ง ที่เรามองเห็นอยู่ กับของชิ้นนั้นเป็นของเรา
      ถาม:  ถ้าใครทำเป็นตอนมีชีวิต จะรับรองได้ว่า ไปได้ทุกคนไหมครับ ?
      ตอบ:   ขึ้นอยู่ที่ว่าทำเป็นไหม ? ถ้าหากว่าทำเป็นไม่มีใครเขาอยู่เป็นพระโสดาบันไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เขาจะตัดสินเข้าพระนิพพานไปเลยตอนใกล้ตาย ส่วนของเราเองทำเป็นไหม ?
      ถาม:  ที่ว่า “รักนิพพานสนิทใจ” ล่ะครับ เป็นอย่างไร ?
      ตอบ:   ทำถึงแล้วจะรู้ ขอใช้คำพูดเก่าอธิบายยาก ความรู้สึกตอนนั้นก็คือ ต่อให้เราต้องทนทุกข์ทรมานไปได้สักร้อยปีแล้ว ในชีวิตนี้ได้พระโสดาบันก็สุดแสนจะคุ้มแล้ว นี่คือส่วนหยาบที่สุดที่พูดออกมาเป็นภาษามนุษย์ได้ ที่เหลือไปควานหาเอาเอง
      ถาม:  การฝึกมโนมยิทธิให้แจ่มใส ฝึกอย่างไรคะ ?
      ตอบ:   มโนมยิทธิจะแจ่มใส ได้หรือไม่ อยู่ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ประการแรก ต้องซ้อมบ่อย ๆ ให้มีความคล่องตัวจริง ๆ ประการที่สองตัวปัญญา วิปัสสนาญาณ จะทิ้งไม่ได้ต้องพิจารณาให้เห็นจริง ๆ ว่าร่างกายนี้ โลกนี้ไม่ใช่ของเรา คำว่า “ไม่ใช่ของเรา” คือ ถ้าใจเราไม่เกาะโลก ไม่เกาะร่างกาย กำจัดออกไปได้ชัดเจนแล้วก็จะทำให้คล่องตัวมาก ซึ่งต้องซ้อมบ่อย ๆ ขณะเดียวกัน “ตัวปัญญา” ต้องมองเห็น เช่น เดินออกไปข้างนอก หรือว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องมองเห็นว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ยิ่งเห็นมากเท่าไหร่ สภาพจิตจะไถ่ถอนจากยึดถือในร่างกาย และโลกนี้มากเท่าไหร่ และยิ่งถอนจากการยึดถือมั่น ได้มากเท่าไหร่ ความชัดเจนแจ่มใส ความคล่องตัวก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น
      ถาม:  ไม่จำเป็นต้องไปถึงฌาน ใช้คำว่า “พุทโธ” เท่านั้นใช่ไหมคะ ?
      ตอบ:   มโนมยิทธินี้เกินฌานไปแล้ว ซ้อมใช้บ่อย ๆ ก็เท่ากับเราซ้อมทรงฌานอยู่แล้ว อย่าหลงประเด็น ถามว่าจำเป็นต้องซ้อมทรงฌานไหม ตอบว่า ต้อง! แต่การซ้อมการทรงฌานกับมโนมยิทธินั้นเป็นฌานสำหรับใช้งาน การใช้งานของเธอคือการเอากำลังส่วนนั้นไปใช้เลย จะไม่แน่นเหมือนกับที่เรามานั่งฝึกภาวนาเพื่อให้ทรงเป็นอารมณ์ฌานอย่างเดียวประเภทนี้ยังถือเป็นเด็กหัดใหม่ เหมือนกับให้เราไปตั้งหน้าตั้งตาเขียน ก,ข ถ้าเป็นมโนมยิทธิคุณบอกให้เขียนอะไร เขียนได้เลย มันมีความคล่องตัวขนาดนั้นแล้ว
              เพราะฉะนั้นต้องซ้อมบ่อย ๆ ใช้งานไปตลอดเวลาเลย เมื่อมีคนมาคุยกับเรา เขาพูดเรื่องอะไร เอาใจลองนึกถึงตรงนั้นนิดหนึ่ง สิ่งต่าง ๆ ความรู้สึกต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้นกับใจของเราเอง
      ถาม:  .....................................................
      ตอบ:   การสร้างพระพุทธรูปทำได้ยาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปใหญ่ ๆ และจากที่เคยสร้างพระชำระหนี้สงฆ์ หน้าตัก ๔ ศอกแบบปกติมาแล้ว เฉพาะแผ่นทองปิดองค์พระ ต้องใช้ถึงจำนวน ๒๕,๐๐๐ แผ่น และถ้าซื้อจำนวนน้อยราคาจะอยู่ที่แผ่นละ ๕-๖ บาท แต่ถ้าซื้อในปริมาณมาก ราคาจะเหลือแผ่นละ ๓ บาท รวมค่าปิดทอง ๒๕,๐๐๐ แผ่น เป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าแรงช่างปิดทอง
      ถาม:  องค์พระ หล่อเป็นไฟเบอร์หรือคะ ?
      ตอบ:   ไม่ใช่ องค์นี้หล่อเป็นปูน อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดของการสร้างพระ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำท่านบอกว่า “ข้าไม่อยากให้คนเอาพ่อเราไปตากแดดตากฝน เพราะฉะนั้นการสร้างพระไม่ยากหรอก แต่ยากตอนสร้างอาคาร อาคารแพงกว่าพระเยอะ”
              การสร้างพระชำระหนี้องค์นี้ครั้งนี้เป็นโครงการของปีหน้า (ปี ๒๕๔๗) เพราะปีนี้ (ปี ๒๕๔๖) กำลังเร่งสร้างแดนสงบข้างล่างอยู่ จะมีอาคารประมาณ ๑๕-๑๖ หลังด้วยกัน เป็นกุฏิ ขนาด ๑๕ ตารางเมตร จำนวน ๑๓ หลัง และรวมกุฏิเก่าที่มีขนาด ๒๕ ตารางเมตร อีก ๒ หลัง จะมีอาคารหอพระ ๖ เหลี่ยม จำนวน ๑ หลัง และถ้ามีพื้นที่เหลือจะสร้างเจดีย์บูรพาจารย์ ๑ ที่มีศาลาสำหรับนั่งพักผ่อน ๒ ที่ รวมแล้วเป็นตัวอาคาร ๒๐ หลังด้วยกัน
              มีบางส่วนสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วก็มี และที่กำลังสร้างอยู่ก็มี ถ้าสร้างส่วนนี้เสร็จแล้วก็จะขยายไปสร้างตรงบริเวณหน้าวัด ซึ่งอยู่ติดและต่ำกว่าแนวถนน และจะต้องถมลูกรังขึ้นมาให้เสมอแนวถนนก่อน แล้วจึงจะสร้างตัวอาคารให้ยาวเป็นเขตรั้ววัดไปในตัว แล้วจะแบ่งซอยออกเป็นห้อง ๆ แต่ละห้องจะมีความกว้าง ๒๕ ตารางเมตร เพื่อประดิษฐานพระชำระหนี้สงฆ์ ๑ องค์
      ถาม:  สร้างทั้งหมดกี่องค์คะ ?
      ตอบ:   กะว่าพื้นที่ตรงนั้นคงได้สัก ๓๐ ห้อง จะเก็บเอาไว้เป็นที่สำหรับคนอยู่เพื่อดูแลหัวและท้าย ๒ ห้องก็เหลือ ๒๘ องค์ เมื่อสร้างพระชำระหนี้สงฆ์เสร็จแล้วยังไม่ปิดทอง จะรอไว้สัก ๑ ปีครึ่ง หรือ ๒ ปี เพราะว่าสร้างด้วยปูนถ้ารีบปิดทองจะทำให้ชื้นและลอกได้ภายหลัง จากประสบการณ์ที่รีบปิดแผ่นทอง ความชื้นของปูนทำให้ลอก ต้องปิดใหม่อีก ๓ รอบ ก็เลยเข็ด การสร้างครั้งนี้จะใส่ท่อระบายอากาศที่ใต้ฐาน และด้านข้างองค์พระ และให้คนเอาของมีค่าเข้าไปใส่เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาได้ด้วย แต่จุดประสงค์หลักคือเพื่อระบายอากาศ
              จากคำถามที่ว่าฐานพระจะต้องโปร่งใช่ไหม ? คำตอบคือฐานขององค์พระไม่ได้โปร่ง แต่ใส่ท่อระบายอากาศเอาไว้ ความชื้นจะได้ไม่ไปอัดอยู่ในองค์พระ เบื้องต้นจะสร้างองค์พระขึ้นมาแล้วทาสีรองพื้นไว้ก่อน
              ขอโมทนาบุญในการสร้างพระชำระหนี้สงฆ์ ใครเขาทำบุญอะไร เราร่วมด้วยหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระ สร้างวิหาร เพราะเราไม่มีโอกาสเป็นเจ้าภาพคนเดียว บุญใหญ่ใครก็อยากทำ แต่ถ้าหากว่ายังไม่สามารถทำคนเดียวได้ อย่าไปร้อนใจ ใครทำเราก็ร่วมกับเขาก็ได้ ถ้าเราทำบุญแล้วทำให้ตัวเราและคนรอบข้างเดือดร้อน พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ
      ถาม:  ยังไม่ได้ไปวัดเลยค่ะ (จากคำถามที่ว่าได้ไปวัดหรือเปล่าตอนทอดกฐินและเป่ายันต์)
      ตอบ:   ถ้าหากได้เห็นพระพุทธรูปที่ท่านสมปองสร้างไว้ ขนาด ๔ ศอก ราคา ๒๕๐,๐๐๐ บาท จะหนักมาก เพราะว่าปิดทองประดับกระจกและเป็นไฟเบอร์ ยกเคลื่อนย้ายได้ สร้างใหญ่ขนาดนั้น อาคารจะต้องสูง ๖ เมตรครึ่งจึงจะรองรับได้ โดยปกติพระชำระหนี้สงฆ์ที่สร้างกันทั่วไป ขนาดของอาคารสูง ๔ เมตร ก็รองรับได้สบาย ลักษณะการสร้างจะไม่มีซุ้มเหมือนกับที่วัดท่าซุง เพราะช่างที่สร้างก็เป็นช่างของวัดท่าซุง คือ ช่างจำเนียร
      ถาม:  ถ้าจะวัดระดับ ถ้าเข้าถึงแล้วจะเป็น “มรรค” เป็น “ผล” ก็ไม่ลงไปข้างล่างแน่นอนใช่ไหมครับ ?
      ตอบ:   ก่อนที่จะถึงระดับนั้น จะผ่านขั้นตอนหนึ่งที่เรียกว่า “โคตรภู” คำว่า “โคตรภู” ในความหมายของพระโสดาบัน จิตจะรักพระนิพพานเป็นพิเศษ และการเข้าถึงพระนิพพานใหม่ ๆ จิตจะรักพระนิพพาน เกาะพระนิพำพานแนบแน่นมาก โอกาสจะลงไปข้างล่าง ไม่มีหรอก ประเภทกอดกันเป็นกอดกันตาย บางคนไม่ยอมขยับเลยก็มี ติดอยู่อย่างนั้น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ดีไม่ดีก็เป็นพระโสดาบันยันตายกันไปข้างหนึ่ง เพราะว่าจิตรักตรงจุดนั้น อารมณ์ตรงจุดนั้นไม่ยอมถอน ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมคลาย ก็เลยก้าวขึ้นไปอีกไม่ได้
      ถาม:  วิญญาณผู้ตายมาเข้าฝัน ๓-๔ หน ตั้งแต่เขาตาย...(ไม่ชัด)...?
      ตอบ:   ถ้าหากว่าตายแล้วฝันถึงเขาได้ในลักษณะที่เขามาหา แสดงว่าเขาไม่ลำบาก ถ้าเขาลำบากเขามาไม่ได้ ถ้ามาได้นี่สบายใจได้เลย
      ถาม:  ถ้าทำบุญไปให้เขาก็ได้ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ:   ได้ ถ้าอยู่ในลักษณะนั้นโมทนาได้แน่นอน การทำบุญไป ถ้าผู้ตายไปเป็นต่ำสุดเปรตจำพวกที่ ๑๒ ขึ้นมาเป็นอสุรกาย ๔ จำพวก เป็นสัมภเวสีคือคนตายก่อนหมดอายุ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระบนนิพพาน ท่านทั้งหลายเหล่านนี้โมทนาได้หมด ถ้าต่ำกว่านั้น คนกำลังลำบากอยู่โมทนาบุญไม่ได้ เหมือนกับคนกำลังถูกไล่ฆ่าไล่ฟันอยู่ เอาอาหารไปให้เขากิน เขาไม่มีเวลามากิน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นรกขึ้นมาจนถึงเปรต ๑๑ จำพวก การลงโทษเขาหนัก ก็เลยทำให้เขาไม่มีโอกาสมาโมทนาบุญได้ ท่านที่มาได้สบายทุกราย
      ถาม:  ที่บอกว่ากรรมใครกรรมมันที่สร้างมา แต่ถ้าคนที่เป็นอย่างบุพการีของเรา...(ไม่ชัด)...?
      ตอบ:   ใครทำใครได้ อันนี้ยืนยัน ที่มีบางส่วนมาถึงเรา อันนั้นเราทำเองคือคนเราจะเกิดมาอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วจะทำกรรมใกล้เคียงกันมา ในเมื่อทำกรรมใกล้เคียงกันมา ถึงวาระถึงเวลากรรมอันนั้นก็จะส่งผล ก็เลยกลายเป็นว่าผู้ใหญ่ทำผู้ใหญ่รับ แต่ขณะเดียวกันตัวเราไปเจอคล้าย ๆ กันก็คิดว่ารับมาจากผู้ใหญ่ แต่ความจริงไม่ใช่ ของเราเอง
      ถาม:  ถ้าเราไม่ได้ทำล่ะคะ ?
      ตอบ:   ไม่ได้ทำ แปลว่า ไม่ต้องรับ เรามั่นใจได้อย่างไรว่าอดีตเราไม่ได้ทำ
      ถาม:  (เกี่ยวกับเรื่องอาชีพกับดวง) ?
      ตอบ:   จริง ๆ แล้วอยู่ที่เรา ถ้าทำจริง ๆ ก็ได้ มีน้อยคนที่อาชีพกับดวงมันขัดกัน สำคัญกำลังใจ ความมุ่งมั่นของเราพอไหม ถ้ากำลังใจเข้มแข็ง ความมุ่งมั่นเพียงพอ อาชีพอะไรก็ทำได้ กำลังใจภาษาพระเรียกว่า บารมี ตัวเดียวกันถ้ากำลังใจดี
      ถาม:  ถ้าทำแล้วไม่สบประความสำเร็จ ก็แสดงว่าเขาไม่ได้มีความมุ่งมั่น ?
      ตอบ:   ไม่ทุ่มเท สมัยนี้คนขี้เกียจ ประเภทอยากจะรวยเร็ว ๆ ไม่มีความอดทนพอ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จในระยะอันสั้นแล้วก็จะทิ้งไปทำอันใหม่ ซึ่งก็เหมือนกับขุดบ่อแล้วไม่ได้น้ำ ขุดไปหน่อยหนึ่งพอเห็นว่าไม่ดีแล้วก็ขยับที่ใหม่ แล้วเมื่อไหร่จะได้ซะที
      ถาม:  ต้องมุ่งมั่นว่าทำได้?
      ตอบ:   ทำไปเถอะ ขอให้ทุ่มเทกับมันจริงเท่านั้นแหละ