ช่วงแรกของเล่ม "จารชนในสายฝน"

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนมกราคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  แล้วอย่างที่ท่านต้องการคืออะไรครับ ?
      ตอบ:   คือกำลังใจที่ว่า หลับและตื่น ความรู้สึกมันจะเท่ากัน เคยได้ยินเขาแปลบทสวด อิติปิโสฯ มั้ย ? อิติปิโส ภะคะวา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้น อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบ มันไปสำคัญตรง พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จริง ๆ ทุกอย่างก็คือ เป็นความสำคัญเป็นพระนามของท่านทั้่่งหมด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงตรงจุดคำว่า "พุทโธ" ผู้รู้ ผู้ตื่น ก็เห็นท่านนอนเหมือนคนอื่น ตื่นได้อย่างไร ? คือกำลังใจของท่านจะทรงตัวอยู่เสมอ มีสติอยู่ตลอด จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง กำลังใจทรงอยู่ในสติตลอด หลับก็เหมือนตื่น
      ถาม :  ถ้าอย่างนี้ผมก็ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ?
      ตอบ:   ไม่แน่ บางทีก็ได้แค่นั้นไปตลอด มันต้องซ้อม ตั้งใจทำ ทำอย่างไร เราจะไม่หลับ สังเกตมั้ยว่า พอกำลังใจเราพลาดในองค์ภาวนาปุ๊บ มันวูบหลับไปเลย นั่นแหละ ห้ามพลาด! ถ้าเราไม่พลาด กำลังใจมันก้าวสู่ปฐมฌานละเอียด คราวนี้ปีติมันเกิด มันจะโพลงอยู่ คราวนี้มันไม่หลับ สติมันจะรู้ตลอด ทำอย่างไรจะให้กำลังใจของเรา ก้าวข้ามไปเป็นปฐมฌานละเอียดได้เลย โดยไม่ต้องไปผ่านตัวหยาบ ให้มันหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้มากกว่านี้หน่อย ตั้งใจให้มากกว่านี้หน่อย สติต้องตามให้มั่นคงกว่านี้
      ถาม :  แสดงว่าไม่ได้นอนทั้งคืน ?
      ตอบ:   นอนทั้งคืน แต่จิตตื่นอยู่ ตัวเองกรนยังได้ยินตัวเองกรนเลย แต่จิตมันไม่ได้หลับ ธรรมชาติของจิตของเรา เขาไม่ได้หลับอยู่แล้ว แต่เนื่องจากความหยาบของนิวรณ์มันกดอยู่ มันก็เลยหลับ เพราะว่าสติมันขาด
      ถาม :  แล้วนอนไม่รู้สึกตัว ?
      ตอบ:   ไม่รู้สึกตัวนี่แหละ จิตมันหยาบไป ถ้าหากว่าจิตมันละเอียด นอนอยู่มันรู้ว่านอน จะตื่นยังต้องถามตัวเองว่า พร้อมจะตื่นหรือยัง
      ถาม :  ถูกทางแต่ยังไม่ถูกที่ ?
      ตอบ:   ก็บอกว่าทำถูก แต่ยังไม่ได้อย่างที่หลวงพ่อท่านต้องการ อาตมาเอง สมัยก่อนก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็หลับ ๆ ก็ช่างมัน เราก็ถือว่าเรากำไร แต่พยายามที่จะฝึก เพื่อให้มันไม่หลับ แล้วในที่สุด พอวันที่ทำได้ แหม...มันมีความสุข ตอนนี้พอจะลุ้นกับกิเลสได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ตอนตื่นอยู่ มันสามารถที่จะควบคุม บังคับกิเลสให้อยู่ในกรอบได้ หลับอยู่ โอ้โห ! มันฝันไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว บางทีฆ่าเขาทีทั้งกองทัพเลยอะไรอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่ตอนกลางวัน แหม...คุมอารมณ์ใจ ทรงฌานได้แจ๋วเลยนะ ยังไงกูก็ไม่รัก โลภ โกรธ หลง กับใคร กลางคืนเผลอฝันหน่อยเดียว ฆ่ากระจายเลย (หัวเราะ)
              นั่นแหละ มันกินเราตอนกลางวันไม่ได้ มันก็กินเราตอนกลางคืน เพราะฉะนั้นหลับกับตื่น กำลังใจต้องเท่ากัน ถึงจะสามารถรบกับกิเลสได้ ไม่อย่างนั้นเสียท่ามันตลอด สรุปว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ของเรา ผู้รู้ ผู้ตื่น ยังไม่ถึงเลย เพราะฉะนั้น อย่าไปหวังเลยว่ามันจะเบิกบาน
      ถาม :  แล้วอย่างนี้ผมควรจะเปลี่ยนเป็นลุกขึ้นนั่้งหรือเปล่าครับ หรือว่าจะนอนอย่างนี้ต่อไป?
      ตอบ:   ก็แล้วแต่ ถ้ากลัวหลับก็ลุกนั่ง นั่งเสร็จก็หัวทิ่มต่อ (หัวเราะ)
              สมัยที่เริ่มหัดอยู่ อาศัยอยู่ ๓-๔ เล่ม จะมี คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน, กรรมฐาน ๔๐, มหาสติปัฏฐานสูตร แล้วก็ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า มาตอนหลังก็เพิ่ม ธรรมะปกิณกะเข้าไปด้วย ธรรมะปกิณกะ แปลว่า ธรรมะเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช่มั้ย ที่ไหนได้หลวงพ่อยันเอาออรหันต์ทุกบทเลย(หัวเราะ) อ่านจนจำได้ทุกหน้าเลย บางทีที่คนถาม เราบอกให้ไปอ่านบทนั้นหน้านั้น ไปเปิดดูเถอะตรงตามนั้น ถ้าไม่อ่านจนเปื่อยเป็นเล่ม ๆ จำไม่ได้ขนาดนั้นหรอก
              แต่สมัยที่อ่าน อ่านเพื่ออาศัยโยงใจให้เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นเวลาอ่านก็เท่ากับภาวนาไปด้วย จับลมหายใจเข้า-ออกตามไปทุกคำพูด บังคับตัวเองแทบแย่กว่าจะอ่านจบเรื่องได้ เพราะว่ามันอยากจะวางไปภาวนาเดี๋ยวนั้นเลย ก็เลยใช้วิธีอ่านหนังสือ เพื่อโยงใจให้เป็นสมาธิ
      ถาม :  ฟังในเทป ?
      ตอบ:   ก็ได้ อะไรก็ได้ให้ใจเขา ได้เห็น ได้ยิน ในสิ่งที่เป็นบุญ เป็นกุศล เพื่อให้จิตมันเยือกเย็น มันน้อมเข้าหาบุญ เข้าหากุศล ได้ง่าย
      ถาม :  เวลาฟังนี่ ฟังจนกว่าจะไม่ได้ยินเสียงหรืออย่างไรครับ ? เวลาฟังแล้วนั่งสมาธิไปด้วย
      ตอบ:   ตั้งใจฟัง พิจารณาตามไปทุกคำพูด อันไหนที่ทำได้ ให้คิดเดี๋ยวนั้นเลยว่าเราจะทำ
      ถาม :  แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะนิ่งไปไหน ?
      ตอบ:   แล้วจะนิ่งไปทำอะไร ถ้านิ่งมันเด็กหัดใหม่ จำไว้ ถ้าหากว่าคนที่เขาคล่องตัวชำนาญแล้ว เขาพิจารณาทำ แล้วก็ตัดสินตามไป ตรงไหนทำได้ ก็ตัดสินว่า กูเอาแล้ว ตรงไหนที่ท่านพิจารณาแยกแยะให้เราก็มองตามไปว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงมั้ย ต้องทำอย่างนั้น ถ้าจะเอาแต่นิ่งมันเท่ากับเราหัด นิ่งส่วนใหญ่สติมันขาดแล้ว หรือไม่ก็เข้าถึงฌานระดับสูง แต่จะไม่ละเอียดพอ พอเข้าฌานระดับสูงอย่างฌาน ถ้าจิตไม่ละเอียดพอ มันเหมือนกับหลับไปเฉย ๆ ความรู้สึกมันจะขาดไปเฉย ๆ แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ขาดหรอก เพียแต่จิตของเราหยาบ มันตามลมไม่ทัน ที่บอกว่าฌาน ๔ ไม่หายใจ จริง ๆ แล้วมันหายใจอยู่ แต่ลมหายใจมันเละเอียดเหลือเกิน มันเหมือนกับเส้นด้ายเล็ก ๆ ใส ๆ ละเอียดนิดเดียวเท่านั้นเอง วิ่งอยู่ระหว่างจมูกกับท้อง ถ้าเส้นนี้ขาดเมื่อไหร่ คือตาย แต่ว่าอาการภายนอก ถ้ามีคนมาจับชีพจร มันว่าเราตายไปแล้ว เพราะลมหายใจมันไม่มี มันเป็นลมละเอียด ฉะนั้นจริง ๆ แล้วมันยังหายใจอยู่ เพียงแต่ว่าเครื่องมือวิทยาศาสตร์มันสัมผัสไม่ถึง
      ถาม :  เวลาฟังไปด้วย ภาวนาไปด้วย ?
      ตอบ:   ก็ภาวนาไปด้วย กำลังใจจะได้มั่นคงหน่อย กำลังใจถ้ามีฌานควบคุมอยู่ อย่างต่ำปฐมฌาน ถ้าตั้งใจจะติดกิเลส หรือตั้งใจจะทำกรรมฐานกองไหน อารมณ์ใจมันตัดเข้าหาความเป็นอริยเจ้าได้ง่าย ๆ เพราะกำลังมันพอ ปฐมฌานอย่างน้อยเป็นกำลังของพระโสดาบันกับสกิทาคามี ถ้าอนาคามีนี่ต้องฌาน ๔ ไม่ได้ฌาน ๔ เป็นพระอนาคามีไม่ได้หรอก กำลังมันไม่พอที่จะดับรักดับโกรธได้
      ถาม :  อย่างบางคน เขารู้สึกว่าพุทโธ ไปแค่ ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้งเอง แต่ดูนาฬิกาปรากฎว่าไปตั้งชั่วโมงแล้ว ?
      ตอบ:   อาตมาเองแค่ครั้งเดียว ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ก็มี คือสมาธิมันลึกมาก ละเอียดมาก ทุกอย่างมันเหมือนกับว่า เพิ่งจะผ่านไปนิดเดียว แต่จริง ๆ แล้วมันผ่านไปนานมาก
              มีอยู่วันหนึ่ง ตอนนั้นอาตมายังอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเกาะพระฤๅษี ตื่นขึ้นมาดูนาฬิกา ก็ อ๋อ ตี ๓ ก็ลุกขึ้นมาล้างหน้า ล้างตาภาวนาไป พอตี ๔ ก็ลุกขึ้นไปเปิดเทป จะมีการเปิดเสียงตามสายตอนตี ๔ ตี ๕ ก็เริ่มทำวัตรเช้า พอทำวัตรเช้าเสร็จ มาดูนาฬิกา ตี ๔ พอดี นาฬิกาตอนนั้นทุกเรือนมันบอกว่า ตี ๕.๓๐ ตั้งนานแล้ว แต่พอเรากลับเข้ากุฏิเมื่อไหร่ มันตี ๔ พอดี เราก็ อ๋อ! ถ้ามีเหตุอย่างนี้ ก็แปลว่าต้องมีเรื่องสำคัญแน่ ก็จริง ๆ พอกลับเข้าถึงกุฏิ หลวงพ่อท่านก็มา ท่านดึงพรวดเดียวไปนิพพานเลย เฮ้ย! ขึ้นมาคุยกันหน่อย ท่านว่า คุยกันไม่กี่ประโยคสว่างโร่แล้ว
              ดังนั้น ถ้ากำลังใจมันยิ่งลึกมากเท่าไหร่ เวลามันจะผ่านไปเร็วเท่านั้น แต่สติเราไม่ได้ขาดนะ มันรู้อยู่ตลอด อาตมาเคยตื่นมาตี ๒.๕๕ เตรียมพร้อมที่จะภาวนาตอน ตี ๓ ก็กะภาวนาคาถาเงินล้านซักจบ แล้วค่อยลุกไปล้างหน้ าแล้วค่อยเจริญกรรมฐาน ปรากฎภาวนาคาถาเงินล้านจบ ลืมตาขึ้นมาฟ้าสว่างโร่ เพื่อนเดินบิณฑบาตแล้ว คว้าบาตรไล่เขาแทบไม่ทัน ก็คิดดูแล้วกันว่า ตี ๓ ยันบิณฑบาตกี่ชั่วโมง คาถาจบเดียว!
      ถาม :  แล้วอย่างนี้ไม่ใช่สติขาด ?
      ตอบ:   ไม่ใช่ สมาธิมันลึกไป ยิ่งสมาธิลึกเท่าไหร่ เวลามันผ่านไปไม่รู้ตัว ดังนั้นท่านที่เข้านิโรธสมาบัติ ท่านรู้สึกว่าแป๊บเดียวของท่าน แป๊บเดียวของท่านล่อไป ๗ วัน (หัวเราะ) ลองดูมั้ย จะได้แก่ช้าหน่อย ความรู้สึกว่าแป๊บเดียวไง ในเมื่อรู้สึกว่าแป๊บเดียวร่างกายก็ใช้งานหน่อยเดียว
              สมัยที่บวชก็ไม่พร้อม ไม่ได้คิดว่าจะบวช คราวนี้หลวงพ่อท่านขอ เพราะว่าท่านต้องการพระบวชแก้บน ก็ยังถามท่านว่าเอาซักกี่วันครับ หลวงพ่อก็หัวเราะ บวชแก้บนใครเขาเอาเยอะกัน ๗ วันก็พอ เราตอนนั้นก็เป็นโรคกลัวนรก คือมันเห็นนรกมาตั้งแต่ยังไม่ครบ ๒๐ ปีแล้ว มันก็สยองซิ มีแต่นักบวชไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ สถิติน่าจะประเภทบวช ๑๐๐ ลงไป ๙๙ กว่า (หัวเราะ) ก็เลยกลัวไม่กล้าบวช
              คราวนี้พอหลวงพ่อท่านขอ ท่านไม่เคยขออะไรเลย แล้วก็มาคิดว่า สมัยก่อนศีลมันครบ ๆ ๒๒๗ ข้อ พระท่านก็ยังกลายเป็นพระอริยะเจ้าเยอะแยะไป สมัยนี้ศีลที่เราต้องรักษา มันเหลือไม่ถึง ๒๒๗ คำว่าเหลือไม่ถึง ๒๒๗ เพราะว่าศีลเกี่ยวกับภิกษุณีก็ดี เกี่ยวกับการทำข้าวของเครื่องใช้อะไรเองก็ดี ส่วนใหญ่ระยะนี้ไม่ต้องแล้ว โยมเขาถวายเพียงพอ เท่ากับเรามีกำไรอยู่ตั้ง ๕๐-๖๐ ข้อ ในเมื่อกำไรขนาดนั้น ถ้าหากว่ามันยังเอาดีไม่ได้ ก็ให้มันตายไปเลย ว่าแล้วก็รับปากหลวงพ่อว่าบวช แต่ว่าก็ตั้งใจอยู่นั่นแหละว่า ๗ วัน บังเอิญว่าเข้าไปแล้วก็ไปเจอเรื่องสนุกเยอะแยะไปหมด ก็เลยอยู่ไปเรื่อย ๆ จนบัดนี้
              พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราจะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็แสนยาก เป็นมนุษย์แล้วจะได้เป็นผู้ชายก็แสนยาก เป็นผู้ชายแล้วจะมีอาการครบ ๓๒ ก็แสนยาก ครบ ๓๒ แล้วจะได้ฟังธรรมก็แสนยาก ฟังธรรมแล้วจะเลื่อมใสก็แสนยาก เลื่อมใสแล้วจะออกบวชก็แสนยาก ล่อไปกี่แสนแล้วล่ะ ?
              เพราะฉะนั้นไม่แปลกหรอก ปล่อยเขาเถอะ ถึงวาระ ถึงเวลา พอเขาไปก็ขี้มูกโป่งเอง เขารู้ว่าเรายังตัดเขาไม่ขาด เขาเลยไม่ไป ไม่ใช่เขาตัดเราไม่ขาด (หัวเราะ) จำไว้ว่า การที่คนเราเกิดมาเป็นครอบครัวเดียวกัน จะเป็นพ่อ เป็นลูก เป็นแม่ เป็นสามีภรรยา อะไรก็ตาม เรื่องจะตัดกันได้จริง ๆ มันไม่มีหรอก มันต้องมีความรัก ความผูกพัน เป็นปกติธรรมดา
              พระพุทธเจ้าถ้าหากท่านไม่รักครอบครัวของท่าน ท่านจะไปโปรดพุทธมารดาทำไม ? จะไปโปรดพุทธบิดา จะไปโปรดพระประยูรญาติ ไปโปรดพระนางพิมพา ไปโปรดพระราหุลทำไม ? เพียงแต่ว่าของท่านเมื่อทำถึงระดับนั้นแล้ว กำลังใจของท่านอยู่ตรงที่ว่า ท่านทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สดุ ถ้าทำดีถึงที่สุดแล้ว ไม่สามารถสงเคราะห์ได้ ท่านจะปล่อยวาง จิตใจท่านไม่ไปกังวลอยู่ตรงนั้น ได้ทำเต็มที่แล้ว
              ดังนั้นท่านเองท่านก็มีรัก เพียงแต่ว่าท่านรักแบบประเภทเมตตา กรุณา หวังการสงเคาราะห์ ถ้าสงเคราะห์แล้ว สงเคราะห์ไม่ได้ ท่านก็จะอุเบกขา เพราะฉะนั้นประเภทคิดว่าจะรอให้ตัดได้ก่อน บอกได้ว่าฝันไปเถอะ อาตมาเคยหวังมาเหมือนกัน คิดว่าปฏิบัติในตอนเป็นฆราวาสให้มันดีไปเลย ให้ได้พระอนาคามียิ่งดี ถึงเวลาบวชไปจะได้สบาย ญาติโยมก็ไหว้ได้เต็มมือ ปรากฏว่าทำไปเท่าไหร่ มันก็คาอยู่แค่นั้น ไม่มีซักที (หัวเราะ) มัน อะ-นา-คา จริง ๆ อะ แปลว่า "ไม่มี" มันคาอยู่อย่างเดียว ไม่มี
              คราวนี้พอบวชไปนี่ สิ่งที่เคยหวังว่าจะได้ ไม่ได้นี่ มันไหลมาเทมา บังเอิญตอนนั้นอยู่กับหลวงปู่มหาอำพันพอดี ก็กราบเรียนถามท่านว่า ทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะครับ ? ตอนผมเป็นฆราวาส ผมขยันกว่านี้หลายเท่านะ ทำแบบหัวไม่วาง หางไม่เว้น บางทีทรงฌานเดือนกว่า สองเดือนติดต่อกัน ไม่ยอมหลุดเลย แต่มันไมได้ แล้วทำไมมาได้ตอนบวช ? หลวงปู่ท่านบอก ตอนนี้เธอเป็นเนื้อนาบุญด้วยตัวเองแล้ว บุญใหญ่ที่เกิดขึ้นเสริมส่วนที่ขาดให้เต็ม เป็นพระนี่นะ พระนี่ทำดีก็คูณด้วยแสน ทำชั่วก็คูณด้วยแสน ส่วนที่ขาดอยู่คูณแสนก็เลยเต็ม สิ่งที่อยากได้ ก็ได้ สิ่งที่อยากมีก็มี เพราะฉะนั้นถ้ารอให้ดีก่อน ถ้าดีแล้วไม่ต้องบวชหรอกจ้ะ (หัวเราะ) ดีไม่ต้องบวชหรอกจ้ะ ไปได้เลย
      ถาม :  นักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง โดยใช้เท้าทำมาหากิน เขาทำบุญอะไรเป็นอานิสงส์พิเศษ ?
      ตอบ:   (หัวเราะ) เราไปสรุปอย่างนั้นเอง มันไม่ได้ บุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในด้านไหนก็ตาม ส่วนใหญ่บุญเก่าของเขา จะมาในทางด้านของพุทธบูชา คือการตั้งใจบูชาต่อพระพุทธเจ้าโดยตรง ส่วนความสามารถพิเศษ มันเป็นวิสัยเฉพาะตัวของแต่ละคน เกิดจากการฝึกหัดก็ได้ ที่เรียกว่า "พรแสวง" และขณะเดียวกันเกิดจากบุญเก่า ที่เรียกว่า "พรสวรรค์" ก็ได้ แล้วเราจะไปสรุปว่า นักฟุตบอลเก่งด้วยเท้า จะต้องทำบุญมาโดยตรง อย่างนั้นไม่ใช่ ถ้าถามว่าทำบุญอะไรมา ? ส่วนใหญ่บุญก็คือ การบูชาพระพุทธเจ้า
      ถาม :  การแช่งกันมีผลหรือไม่ ?
      ตอบ:   มี มีผลมากเลยนะ ยิ่งถ้ากำลังใจคนแช่งเป็นสมาธิสูงเท่าไหร่นี่ ยุ่งมากเลยล่ะ เพราะฉะนั้นอย่าเผลอ โดยเฉพาะคำพูดของคนทรงศีล ทรงธรรม ถ้าหากว่าท่านเผลอหลุด แล้วเราก็ซวยไปรับเข้าจังหวะนั้นพอดีนี่ ยุ่งเลย เพราะว่าบางทีเราก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่เราทำไปรบกวนท่านขนาดไหนใช่มั้ย ? แล้วยิ่งสมัยก่อนจะถือมาก พ่อแม่อย่าด่าลูกสาดเสียเทเสีย เพราะว่าคำพูดของพ่อแม่ เขาถือว่าเป็นพรหมของลูก เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถ้าหากว่าไปด่าลูกหลานขนาดนั้น เดี๋ยวมันจะเป็นไปตามปากว่า เขาเลยห้ามพ่อแม่ ด่าลูก แช่งลูก ให้พูดแต่สิ่งที่ดี ๆ
      ถาม :  อย่างที่เขาเผาพริก เผาเกลือแช่ง หรือว่าเผาหุ่นคนที่โดนแช่ง หรือเผาจะมีผลหรือไม่ ?
      ตอบ:   การเผาหุ่นนี่ ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง เผาหุ่นถ้าทำถูกวิธี เขาเรียกว่า "คุณคน" คุณคน เกิดจากการใช้อำนาจไสยศาสตร์ แล้วก็อาจจะมีวันเดือนปีเกิดของคนหรือไม่ก็อาจจะเป็นประเภท ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายคน ๆ นั้น หรือว่าเสื้อผ้าของคน ๆ นั้น ถ้าทำตามกรรมวิธีของไสยศาสตร์นี่ มันจะมีการฝังหุ่นอย่างหนึ่ง เผาหุ่นอย่างหนึ่งมันมีผล แต่ว่าเรื่องของการแช่ง มันเป็นการใช้กำลังใจอย่างแน่วแน่ คนเราถ้ามันไม่โกรธกันเกลียดกันขนาดนั้น ถึงขนาดจะไปตั้งกระทะ เผาพริกเผาเกลือแช่งกัน มันก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นกำลังใจที่มุ่งร้ายเขาขนาดนั้นนี่ ถ้าหากว่าเขาอยู่ในช่วงที่กฎของกรรม มันมาถึงพอดีนี่ อย่างที่เขาเรียกง่าย ๆ ว่า "ช่วงดวงตก" เป็นเรื่องเลย
      ถาม :  เวลาบูชาพระ หรือสวดมนต์ มีจิตใจสงบ ถ้าหากเราเกิดคิดฟุ้งซ่านเรื่องในทางโลก จิตฟุ้งซ่านมีผลต่อการปรามาสพระรัตนตรัยหรือไม่ ?
      ตอบ:   จะเรียกว่าปรามาสพระรัตนตรัยก็ไม่ถูกต้อง เพราะเจตนาไม่มี แต่ถือว่า เป็นมโนกรรมก็แล้ว แต่ว่ากำลังใจในระดับนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเอามันดีตลอดอย่างเดียว มันย่อมไม่ได้ ในเมื่อมันเอาดีตลอดอย่างเดียวย่อมไม่ได้ สูงที่สุดแค่ไหนเอาแค่นั้น นี่ตกลงว่าท่านเมตตามากเลยนะ ตอนที่มันลดลงมาท่านไม่นับ นี่เป็นความเมตตาปรานีของพระยายม ท่านเคยบอกเอาไว้ ถ้าหากว่าเป็นของท่าน ท่านจะบันทึกตอนกำลังใจดีที่สุด ได้เท่าไหร่ก็ลงเอาไว้ว่า วันนี้เขาทำความดีกำลังใจสูงสุดแค่นี้ ตอนชั่วไม่นับ ชั่วส่วนชั่ว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะบันทึกไปเอง