ถาม :  อยากถามครับ เรื่องเดินจงกรม
      ตอบ :  ทำไมล่ะ ?
      ถาม :  หลวงพี่มีปฎิปทาด้านนี้ยังไง ?
      ตอบ :  นึกได้ก็เดิน
      ถาม :  แล้วเวลาเรากำหนดรู้นี่ ...?
      ตอบ :  กำหนดรู้ก็จับอิริยาบท เท้าไปทางไหน มือไปทางไหน ถ้าหากว่าจิตมันละเอียด ๆ ขนาดเส้นขนเส้นไหนมันโดนลมทางไหนมันยังรู้เลย สำคัญที่สุดก็คือว่าจับอารมณ์ภาวนาให้ได้ แรก ๆ ใครเดินจงกรมแล้วจับลมสามฐานได้นี่ยอมไหว้เลย เคยให้รุ่นน้องไปลองดูหลายองค์แล้ว พอจับลมสามฐานแล้วก้าวไม่ออก มันติดจึ๊ก เพราะว่าลมสามฐานมันเป็นกำลังของปฐมฌานเขาอย่างน้อย ปฐมฌานนี่จิตกับประสาทมันเริ่มแยกออกจากกันแล้ว ถ้าไม่คล่องตัวจริง ๆ เดินไม่ได้หรอก
      ถาม :  จะสลับกันล่ะครับ จับลมปุ๊บ แล้วก็หยุดค่อยก้าวไป
      ตอบ :  ถ้าคล่องตัว จับลมมันก็เดินได้ ค่อย ๆ ทำ
      ถาม :  เวลาที่ตรวจให้กับครูบาอาจารย์ อย่างเช่นว่าตอนนั้นตรวจให้หลวงพี่ใช่มั้ยคะ แล้วไม่พบอะไร ครั้งนี้ลักษณะเดียวกัน ก็แทบจะไม่พบอะไรที่เป็นตัวการที่จะให้เกิดเหมือนกัน
      ตอบ :  ถามท่านว่า ท่านคิดว่าเป็นโรคอะไร แล้วก็บอกมา แล้วจ่ายยาไปตามที่ท่านบอก
      ถาม :  ท่านบอกว่า ร้อน ๆ หนาว ๆ เหมือนเป็นไข้
      ตอบ :  ถามท่านว่าคิดว่าเป็นโรคอะไร ถ้าท่านบอกว่าเป็นโรคอะไรก็จ่ายไปตามนั้น
      ถาม :  ค่ะ แล้วก็ถ้าเป็นประเภทโรคเวร โรคกรรม ทำยังไงคะ ?
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นก็ต้องปล่อยท่าน
      ถาม :  เวลาคิด เวลากำหนดระยะเวลานาน ๆ ถ้า ตา หู ลิ้น กาย ใจ มันจะมีประสาทสัมผัส แล้วเวลาใจมันออกมา มันออกมาทางไหนคะ จับไม่ทันเลย
      ตอบ :  จับไม่ทัน เขาระวังตรงใจ อย่าไประวังตรงตา หู จมูก ลิ้น
      ถาม :  มันขึ้นมาเองคะ ไม่ต้องระวัง มันขึ้นมาเอง
      ตอบกำหนดใจเหมือนกับตัวเรานั่งอยู่ในห้องว่าง ๆ เรานั่งในห้องว่าง ๆ ประตูมันอยู่ตรงหน้า อะไรเข้ามามันจะรู้ นึกออกมั้ย ? เหมือนอาคันตุกะมาเยี่ยม โผล่หน้ามาก็รู้แล้ว ไอ้นี่มาทางตาล่ะนะ ต้องระวังไว้ เดี๋ยวมันจะเข้าใจเราได้ ไอ้นี่มาทางหู ต้องระวังไว้ เดี๋ยวมันจะเข้าใจเราได้ หูกับตามันมาเร็วที่สุด
      ถาม :  ยังพอทัน หูกับตา แต่ใจมันไม่ชัด
      ตอบ :  นั่นแหละ คือระวังใจตัวเดียว หกตัวระวังใจตัวเดียว แล้วอย่าให้มันเข้ามาในใจ แล้วจะไปเสียเวลากำหนดมันทำไม ภาวนาให้จิตทรงเป็นฌาน มันก็รู้รอบแล้ว ถ้าเราจับลมหายใจ เข้าออกได้ สังเกตมั้ยมันจะกินเราไม่ได้เลย มันปิดหมด
      ถาม :  ช่วงจับบางทีมันแน่น มันแน่นหน้าอก มันจุก
      ตอบ :  อาการอย่างนั้น บางทีเป็นขั้นตอนของการใบ้ให้รู้ว่าตอนนี้อารมณ์ใจทรงตัวแล้ว เราเองเราก็จับอาการนั้นเอาไว้ ถึงเวลาถ้าอาการนั้นมันแน่นขึ้นมา เราก็รู้ว่าตอนนี้อารมณ์อยู่ในระดับที่จะพึ่งตัวเองได้ แล้วเราก็ระวังได้ บางทีบางอย่างอาการในร่างกายไม่เหมือนเขา มันเกิดขึ้นเราก็ต้องรู้ไว้จริง ๆ แล้ว อาการมันแน่นเข้ามา บางทีเย็นเหมือนกับซุกน้ำแข็งในอกก็มี คอยสังเกตตัวเองว่าของเราต่างกับของเขานิดหน่อย พออารมณ์ใจถึงตรงนั้น แล้วดูซิว่า สติพร้อมมั้ย ถ้าสติพร้อมก็คือ อาการของการทรงฌาน อย่างน้อย ๆ เป็นอาการของอุปจารฌาน
      ถาม :  ช่วงนี้บางทีมันเฉย ๆ มันไม่ค่อยรับอารมณ์ใครมันไม่ค่อยคลาย
      ตอบ :  ก็ดีแล้ว ของเรา เราต้องคลายอารมณ์ให้เป็น ต้องใช้ตัวปัญญาเป็น เราต้องรู้ว่าทุกคนต้องคิดว่าสิ่งที่เขาทำน่ะดีแล้ว เขาถึงทำ ในเมื่อสิ่งที่เขาทำนั้นมันดีแค่นั้นมันถูกแค่นั้น มันยังไม่ดีจริง มันยังไม่ถูกจริง เราก็ให้อภัยเขาเถิด เพราะว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นเราเคยทำมาแล้ว
              ในเมื่อเราเป็นผู้ที่ผ่านมาก่อน เราก็คือบรรพบุรุษของเขา ต้นตระกูลของเขา เราก็คือตัวพ่อ ตัวแม่ของเขา ลูกหลานมันทำตาม มันเดินตามรอยมา เราจะไปโกรธลูกโกรธหลานได้ยังไง เราก็ควรที่จะรักจะเมตตาเขาว่า เขาไม่สามารถก้าวข้ามมาตรงนี้ ไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นทุกข์เป็นโทษต่อเขายังไง เขาก็ยังทำอยู่ เราก็อย่าโกรธเขาเลย ควรให้อภัยเขา ถ้าเราคิดเป็น เราคลายอารมณ์ ของเราเป็น มันจะไม่สะสม ถ้ามันไม่สะสมโอกาสระเบิดมันไม่มี
              แต่ส่วนใหญ่แล้วคิดไม่เป็น ทำไม่เป็น คลายอารมณ์ไม่เป็น สะสมอยู่ก็ระเบิด กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปฎิสสรโณ คือ มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย นั้นเป็นเผ่าพันธุ์ทางกรรมของเรา เราชั่วมาแล้ว เขาชั่วตาม นั่นมันเป็นทายาทของเรา เราจะไปโกรธไปเคืองทายาทตัวเองได้ยังไง เราทำเอาไว้แท้ ๆ ก่อนหน้านี้เราก็เป็นอย่างนั้น ตอนนี้เราก้าวข้ามมาแล้ว เราโชคดี เขายังไม่สามารถก้าวข้ามมาได้ ไม่น่าโกรธหรอก น่าสงสารมากกว่า
      ถาม :  ให้เฉย ๆ หรือเตือนคะ ?
      ตอบ :  คิด คิดให้เป็น ใช้ปัญญาให้เป็น มันจะปล่อยวางได้ แล้วมันจะไม่สะสมอารมณ์ไว้
      ถาม :  ไม่ต้องไปเตือน ?
      ตอบ :  ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขาเลย ดูที่ตัวแก้ที่ตัว เรื่องของคนอื่นทุกข์คนอื่นเขา
      ถาม :  คือขออะไรบางอย่าง ซึ่งคิดพอจะแก้ไขและช่วยเหลือได้แต่มันทำไม่ได้ เช่นง่าย ๆ เลย กับครูบาอาจารย์ที่รักและเคารพนับถือ (ฟังไม่ชัด.. ถามเรื่องการช่วยสงเคราะห์บุคคล)
      ตอบเราต้องยอมรับว่ากฏของกรรมมันมี อันนั้นน่ะเราทำบุญ เราตั้งใจของเราดีแล้ว ผลบุญมันมีด้วย แต่ว่าวาระกรรมของเขามันยังสูงอยู่ มันก็บังอยู่ มันก็กดอยู่ เราเองเราไม่สามารถฝืนกฏของกรรมได้ ตัวครูบาอาจารย์ท่านยิ่งต้องยอมรับกฏของกรรมยิ่งกว่าเราอีก ใครเขาจะมาเสียเวลาโกรธเสียเวลาเคืองกัน มาชี้โทษอะไรเราน่ะ มันไม่มีหรอก
              เราทำโดยเจตนาดี เพียงแต่ว่าเราทำของเราเต็มความสามารถแล้ว อย่าเก็บมากังวล ตัวเก็บมากังวลนี่แหละเป็นอารมณ์ของปุถุชนทั่ว ๆ ไป มันจะพาเราลงนรก เพราะจิตมันหมอง ดูอย่างที่พระท่านทำซิ ท่านทำก็คือทำเฉพาะหน้า ทำดีที่สุดแล้ว ถ้ามันได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น นั่นคือการยอมรับกฏของกรรม ทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้
              ถ้าหากว่ามันดีที่สุดแล้วผลมันไม่ได้อย่างใจของเรา เราก็ต้องยอมรับว่ากฏของกรรมมันมีอยู่ แก้ไขดิ้นรนทุกวิธีทางแล้วไม่สามารถที่จะทำได้แล้ว ต้องยอมรับมันบ้าง เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป ดูที่ตัวแก้ที่ตัว เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของโลกทั้งสิ้น เราแก้ไขโลกไม่ได้ เราต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง
      ถาม :  แต่บางครั้งอย่างงานทางโลกนี่ มันจำเป็นต้องทำให้เสร็จ บางทีมันก็ต้องอะไรกับคนอื่นหลาย ๆ อย่าง เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตรงนี้
      ตอบเราก็ทำแค่หน้าที่ของเรา แล้วหน้าที่นั้นก็อย่าให้ละเมิดกรอบของศีลห้าแล้วกัน เชื่อว่าหน้าที่เราทุกอย่างคงไม่ต้องฆ่าใคร คงไม่ต้องประเภทลักขโมยใคร ไม่ต้องแย่งคนรักของใคร ไม่ต้องไปโกหกใคร แล้วก็ไม่ต้องไปกินเหล้าแน่นอน
              เพราะฉะนั้นทำไป ทำเฉพาะในกรอบของเรา ถ้ามันจำเป็นต้องโกหก เราใช้คำว่าต้องจำเป็น ถ้ามันจำเป็นต้องโกหกเราก็ไม่ต้องโกหกทั้งวัน พ้นจากตรงจุดนั้นเมื่อไหร่ก็ตั้งใจรักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นยี่สิบสี่ชั่วโมงเราไม่ได้ขาดทุนตลอดแน่นอน

      ถาม :  เห็นว่าเจอกันทางจิตได้ แล้วจะเจอกันทางกายอีกทำไมล่ะครับ ?
      ตอบคือถ้าหากว่าไม่เกินกฏของกรรมก็จงตะเกียกตะกายไปด้วยกำลังร่างกายของตัวเอง พระน่ะเขายอมรับกฏของกรรมมากกว่าเรา อะไรที่ร่างกายมันยังทำได้ ก็ต้องใช้ร่างกายทำไปก่อน ไม่ใช่เอะอะก็ใช้ความเป็นทิพย์ ใช้โน่นใช้นี่ ไอ้นั่นต้องใช้ อีตอนบ้อท่าจริง ๆ
      ถาม :  แต่ถ้าไม่ฝึกใช้ ก็ไม่ชำนาญ ?
      ตอบ :  ก็มันฝึกเสียจนชำนาญแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปใช้ด้วยการฝึกใหม่ (หัวเราะ) ก็ใช้อยู่ ก็ใช้วิธีโน้นไงไปข้างบน
      ถาม :  เคยเรียนบอกหลวงตาว่าหลวงพี่เป็นมะเร็ง หลวงตาว่า หลวงพี่จะตัดช่องน้อยไปแต่พอตัว
      ตอบ :  อย่างพวกเราคงไม่ได้ตายง่าย ๆ หรอก มันรอดมากี่ดาบต่อกี่ดาบแล้วก็ไม่รู้ ตอนนี้ไม่มีซักดาบดันจะตายก็ตลกล่ะ
      ถาม :  มันเป็นได้จากไหน ?
      ตอบ :  ตอนแรกมันเป็นที่ข้อเท้า หมอเขาเจาะแล้ว เขาก็ทำหน้าพิลึก เราก็ปล่อยมันมาตั้งหลายปี ไม่ได้สังเกตอะไร เพียงแต่ว่าตอนนั้นไปเดินธุดงค์ เจ็บเสียจนจะเดินไม่ได้ แปลกใจ..... พอหมอเขาเจาะ เขาบอกว่ามันกินจนถึงประสาทขาแล้วเขาก็ไม่กล้าพูด เราเลยแค้นคอถามว่า มันใช่มะเร็งหรือเปล่า ? หมอเขาบอกว่าใช่ บอกว่าพวกหูด พวกไฝ พวกปาน โอกาสมันจะกลายเป็นมะเร็งมันมี
              เพราะฉะนั้นต้องระวังให้ดี มันท่าจะจริงตรงที่ตำราหมอแผนโบราณบอก เขาบอกว่ามะเร็งนี่มันเหมือนกับรังผึ้ง รังมด ถ้าไปตีรังมันเมื่อไหร่มันก็กระจายพรวดเลย มันถึงได้ไปขึ้นตรงโน้น ตรงนี้ให้ทั่วไปหมด เท่าที่สังเกตก็คือตรงข้อพอดีหมด ที่เท้าก็ตรงข้อเท้า ด้านนี้ก็ข้อ ตลกน่ะ มันเหมือนกับต้องกินที่ข้อยังงั้น
      ถาม :  เป็นเพราะกรรมหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  เปล่า แค่ไปวางขวากช้างเท่านั้น (หัวเราะ) หนักกว่าม้าอีก กองทัพสมัยก่อนนี่เขากลัวช้าง ถ้าช้างมานี่ค่ายพังแน่ ก็วางขวากดักมันไว้ ขวากก็คือโคนไม้ใผ่ หลาวให้แหลมเปี๊ยบ ลนไฟแข็งโป๊กเลย แล้วฝังดินไว้ครึ่งหนึ่งเหยียบไปเต็ม ๆ ตีน เมื่อไหร่ก็ไม่ต้องไปไหนเลย นี่มันเศษ ๆ แล้ว ไม่ใช่เงินต้น ไม่ใช่ดอกเบี้ย
      ถาม :  ทำคนเดียวเหรอคะ ?
      ตอบ :  คนอื่นเขาก็ทำ ก็เจออย่างอื่นไปมั่ง อาตมาไม่โดนรถปูนกระทืบก็บุญโขแล้ว (หัวเราะ) หลวงตาโดนรถปูนกระทืบ มีเยี่ยงอย่างที่ไหนปิ๊กอัพชนรถขนปูน ถังปูนดับถล่มไปทับเข้า โทรไปหาหลวงตายังขำ แกบอก....ตัดปอดไปกลีบหนึ่ง ตับส่วนหนึ่ง ม้าม ถุงน้ำดี แล้วก็ลำใส้ แหม !หลวงตา ถ้าเป็นผม ผมจะพกตะไคร้ ใบมะกูด พริก เข้าไปในนั้น หลวงตาบอก เออ! ฟื้นขึ้นมากูจะแดกด้วย (หัวเราะ) รู้กัน ไอ้เรากะจะใส่หม้อต้มยำเลย หลวงตาบอก เออ ! ฟื้นขึ้นมากูจะแดกด้วย (หัวเราะ)
      ถาม :  ก็ต้องมีถังออกซิเจน ?
      ตอบ :  ของหลวงตา ท่านก็รู้จักเตรียมท่านเอง
      ถาม :  ของท่าน ท่านบอกว่าต้องเราไปสองถัง ถังเล็กกับถังใหญ่
      ตอบ :  เผื่อไว้ เผื่อหมด เวลาวาระกรรมมันเข้ามานี่ ประเภทเหลือถังละนิดละก็ซวยเลย เพราะฉะนั้นต้องสลับถังให้ดีเผลอไปเอาประเภทจวนหมดกับจวนหมดละก็แย่แน่ หลวงปู่มหาอำพันไง หลวงปู่มหาอำพันมันเอาช่วงเข้าห้องน้ำ ของหลวงปู่มหาอำพันปกติให้ออกซิเจนอยู่บนเตียง พอตอนท่านเข้าห้องน้ำ หลวงพี่มนตรีท่านก็ไปทำความสะอาดเตียง ไม่ได้ยินเสียงหลวงปู่เรียก กว่าจะพยุงหลวงปู่มาถึงเตียงหมดลม ปอดท่านเป็นถุงลมโป่งพอง มันรับออกซิเจนได้น้อยอยู่แล้ว เตือนท่านแล้ว บอกว่าประมาณสองสามนาทีแล้วก็เอาออกให้ปอดมันทำงานเองบ้าง ปอดเราพอมันได้ออกซิเจนบริสุทธิ์ไปเรื่อยมันก็ขี้เกียจ มันก็ไม่ทำงาน
              เพราะฉะนั้นสังเกตดูว่า ถ้าหากญาติโยมของเรา ถ้ายังต้องการให้เขาอยู่ ถ้าให้ออกซิเจนพอเห็นอาการดีขึ้นเอาออกเลยถ้าไปให้อยู่ตลอด ๆ ปอดมันจะพังเร็ว ลองสังเกตดูพวกให้ออกซิเจนยาว ๆ ไม่รอดสักราย ออกซิเจนหมดเมื่อไหร่ก็เสร็จ อาตมาเฝ้าไข้มาสิบกว่าปีซาบซึ้งดี เฝ้าพ่อมาหกปี เฝ้าแม่สามปี หลวงปู่สี่ปี
              จนกระทั่งหลวงพี่มนตรีโดนโยมด่า ด่าจมดินเลยล่ะ เขาบอกว่าหลวงพี่เล็กเฝ้าเท่าไหร่หลวงปู่ไม่เป็นอะไร แกเฝ้าแป๊บเดียวตาย วาระมันมาถึงนี่คนอยู่นี่ซวยทุกรายเลย จริง ๆ มันโทษกันส่งไป ถึงเวลาหน้ามืดขึ้นมาความรักครูรักอาจารย์ใครอยู่ใกล้ก็ซวยไป หลวงพี่มนตรีแกมานั่งบ่นให้ฟัง บอกผมนี่หมาเลย
      ถาม :  แกพลาดจริง ๆ ไม่ใช่เหรอคะ ?
      ตอบ :  พลาดนั่นก็พลาดอยู่ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าโอกาสมันพลาดมันมี พอส่งหลวงปู่เข้าห้องน้ำเสร็จแกก็มาทำความสะอาดเตียง ไม่ได้ยินเสียงหลวงปู่เรียก หลวงปู่ท่านหายใจไม่ทัน เสียงท่านก็คงจะเบา กว่าจะคิดกว่าจะแก้ไขมันก็สายเสียแล้ว ในห้องน้ำก็มีครบทุกอย่างขาดออกซิเจน (หัวเราะ)
      ถามหลวงพี่ต้านี่ช่วงนั้นไปอยู่ด้วยมั้ยคะ ?
      ตอบ :  ก็ไป ทุกคนไปด้วยความปรารถนาดี จำไว้ เพราะฉะนั้น อะไรหนักนิดเบาหน่อยก็ต้องอภัยให้กัน การให้อภัยและความสามัคคีสำคัญที่สุด บรรดาครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ไม่มีปัญหาหรอก มันไปมีปัญหาตัวลูกศิษย์เสียเยอะ ต่างคนต่างเป็นนักปฎิบัติเพื่อลด ละ เลิก ในกิเลสต่าง ๆ มันต้องยิ่งทำยิ่งก้าวหน้า ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งถอยหลัง แต่เท่าที่พบก็คือว่าส่วนใหญ่ไปทะเลาะกัน เอากิเลสไปชนกัน
              เพราะฉะนั้นเราอยู่ในลักษณะนั้นมันต้องให้อภัยและรักษาความสามัคคีของหมู่คณะ อะไรพออภัย พออดทนกันได้ ก็ต้องอดทน ต้องอภัยกัน เขาทำเพราะคิดว่าสิ่งนั้นดีแล้ว เขาถึงทำ ในเมื่อเขาเห็นว่าดีแม้สิ่งนั้น ๆ ไม่ดีจริงปัญญาของเขายังไม่ถึงเราไม่ควรจะโกรธเขา มันน่าสงสารนะให้อภัยเขาเถิด ลูกศิษย์เขาไม่รู้ ยัดให้เขาไม่รับก็ปล่อยมันเถอะ ( หัวเราะ) สอนกระดานดำก็ได้ว่ะ
      ถาม :  ถ้าเราไม่สนใจเขาเลย มันถูกมั้ยคะ ?
      ตอบมันเป็นปัญญาอย่างหนึ่งนะ ถ้าเรารู้ว่ากำลังของเราไม่ถึงไปปะทะกันซึ่ง ๆ หน้า ไม่ว่าจะเเค่ตาเห็น หูได้ยิน หรือว่าต้องพูดต้องคุยกันอะไรก็ตาม รู้ว่าจะทำอะให้เราอารมณ์เสียก็อย่าไปยุ่งกับเขาเลย มันเป็นตัวปัญญาเหมือนกัน หลวงปู่หล้าท่านบอกว่า หัดเป็นนักหลบซะบ้างอย่าเป็นนักรบอย่างเดียว รู้อยู่ว่ารบไม่ชนะแล้วไปรบ ท่านถือว่าไม่ฉลาด
      ถาม :  ถ้าจำเป็นต้องชน ?
      ตอบ :  ถ้าจำเป็นต้องชน ก็พยายามอย่าชนจัง ๆ แล้วกัน ยังไง ๆ รักษาชีวิตเขาไว้บ้าง