ช่วงแรกของเล่ม "กลางดงควันปืน"

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ลอยได้ขนาดนั้น ผ้าห่มเปียกไม่เอาไปโชว์ทำให้มันแห้งครับ
      ตอบ:   อย่าลืมว่าเขาเพิ่งจะเริ่มภาวนาโสตัตตะภิญญา ซึ่งเป็นการรวมอภิญญาทั้งหมด ถ้าคล่องจริง ๆ ถึงจะอธิษฐานใช้กสิณอะไรก็ได้ คราวนี้ยังไม่คล่องตัวแค่เริ่มขนาดเอาเตียงไปมันยังลอยสูงไม่ได้ เราไป ๆ แค่ตัวทุกที ไปทำใหม่ง่ายออก รู้วิธีแล้วไม่ยากหรอก คราวนี้จะเห็นว่าท่านที่ทำจริง ๆ มันเดินซ้ำรอยกัน เมื่อกี้พูดถึงหลวงพี่อาจินต์ใช่ไหม อาตมาพูดถึงตรงนี้ คนหนึ่งพูดตั้งนานเนกาเลแล้ว อีกคนหนึ่งพูดตรงนี้แล้วมันไปคล้าย ไปเหมือนกันอีท่าไหนใช่ไหม เพียงแต่ตอนนั้นของเรายังไม่ได้ไปเล็งตรงจุดนั้น ก็เลยฟังแล้วผ่าน ๆ หูไป พอมาฟังใหม่ก็บอกเหมือนกัน ถ้าคนทำเหมือนกัน ก็เหมือนกันนั่นแหละ
      ถาม :  แสดงว่าหลวงพี่อาจินต์ ก็เจ๋งจริงสิครับ
      ตอบ:   ไม่รู้เหมือนกัน จริงไม่จริงไปไล่ถามท่าน บีบคอเอาเองก็แล้วกัน อย่าลืมว่าท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายกรรมฐาน อาตมาก็เป็นลูกศิษย์ท่านเอง ลูกศิษย์มันยังไม่ได้ขนาดนี้ อาจารย์ท่านคงพูดได้ดีกว่าเยอะ
      ถาม :  ใครมีเทปบ้างครับ ?
      ตอบ:   เสียใจด้วย คราวนี้พกมาเอง หรือไม่ก็จำเอา หลวงพ่อท่านสอนเสมอว่านักปฏิบัติที่ดีกระดาษกับปากกาให้ใกล้มือไว้เสมอ ถึงเวลามีอะไรจะได้จดทัน
      ถาม :  การถือศีล ๘ เวลาทำงานต้องผัดหน้าทาปาก ทำตัวให้ดูดี
      ตอบ:   การผัดหน้าทาปากเขาไม่ถือว่าผิดศีลนะจ๊ะ ศีล ๘ ที่เขาห้ามแต่งตัว ความหมายที่แท้จริงก็คือ แต่งเพื่อไปยั่วกิเลสฝ่ายตรงข้ามเขา ในเมื่อเราเองเจตนาอย่างนั้นไม่มี เคยแต่งตัวมาจนชิน หรือว่าถ้าหากว่าไม่ได้แต่งตัวการเข้าสังคมจะเก้อเขินก็แต่งไปเถอะ เพราะเจตนามันคนละเรื่องกัน เพียงแต่เรารู้ก็แล้วว่าเราเองมันแย่เต็มทีแล้ว ถึงขนาดต้องอาศัยเครื่องสำอางมาช่วย เพราะฉะนั้นในเมื่อเรามีสติรู้อยู่ว่าร่างกายมันไม่ดีแต่งไปเถอะ
      ถาม :  แล้วเรื่องนอนที่สูงล่ะคะ คือเคยฟังว่าหลวงพี่บอกว่าคืบหนึ่งใช่ไหมคะ ?
      ตอบ:   ที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี บาลีท่านตีความว่าคืบหนึ่งนั้นจริง ๆ แล้วมันไม่เกี่ยวหรอก จะเกี่ยวตรงที่ว่าเรานอนแล้วติดในสัมผัสนั้นไหม บางทีเรื่องของที่นอนเรื่องของหมอน เรื่องของอะไร ก็ตาม บางทีเวลาเรานอนแล้วมันจะไปนึกถึงสัมผัสของเพศตรงข้าม อย่างเช่นถ้าหากว่าเจอที่นอนนิ่ม ๆ เข้า ผู้ชายอาจจะนึกถึงเนื้อผู้หญิงอะไรอย่างนี้
              สำคัญอยู่ตรงจุดนี้ เรื่องของการแต่งตัวก็ดี เรื่องของที่นอนสูงที่นอนใหญ่ก็ดี ถ้าหากว่ามีศีลข้อนี้บกพร่องลงไปมันไม่มีโทษลงนรก ต้องเรียกว่าธรรมะพร่อง ไม่ต้องเรียกว่าศีล ตั้งแต่ข้อที่ ๖ ขึ้นไปคือมันพร่องไปแล้ว ส่วนของธรรมะมันจะหยาบ ถ้าเราสามารถที่จะทำได้โดยที่จิตของเราไม่มีการยึดติด สละปล่อยทิ้งไปเลยก็ดี หรือว่าขณะเดียวกันเรานอนที่นอนสูงหรือที่นอนใหญ่ บางคนถ้าหากว่านอนพื้นอาจจะเจ็บเนื้อเจ็บตัว บางคนกระดูกเยอะไปหน่อย ถ้าไม่มีที่นิ่ม ๆ บ้างจะเจ็บ โดยเฉพาะกระดูกสะโพกกดดกับพื้น ถ้าเป็นประเภทนี้นอนไปเถอะไม่มีปัญหาอะไร บอกแล้วส่วนของธรรมะมันพร่อง แต่ไม่ใช่ศีลขาด
      ถาม :  แล้วดวงจิตกับดวงใจล่ะคะ ?
      ตอบ:   “จิต” กับ “ใจ” จริง ๆ แล้วเป็นตัวเดียวกัน แต่บางตำราเขาว่า “จิต” กับ “ใจ” เป็นคนละอย่างกัน ก็จะแปลว่า “ใจ” หมายถึง จิตแท้ดั้งเดิม ส่วน “จิต” ในความหมายของเขาคือ อาการเคลื่อนไปของมัน อันนั้นมันยุ่ง เราก็แค่ดูว่าความคิดของเรา คิดดีคิดชั่วอย่างไร แล้วควบคุมมันก็เท่านั้นเอง
      ถาม :  แล้ววิธีควบคุมทำอย่างไรคะ ?
      ตอบ:   อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ควบคุมได้ดีที่สุดเลย หลุดเมื่อไหร่เจ๊งเมื่อนั้น
      ถาม :  ไม่ต้องไปดูความเคลื่อนไหวอะไร ?
      ตอบ:   ไม่ต้องเลย เสียเวลา ถ้าใจยังเกาะอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก สติจะอยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า จิตมันก็ไปไหนไม่รอดหรอก มันก็ติดอยู่ตรงนั้นแหละ
      ถาม :  ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติจริงต้องขอขมาทุกวันหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ:   จริง ๆ ก็คือว่าทุกอย่างที่เราทำนี้เราไม่รู้ว่ามันเป็นโทษ ตราบใดที่จิตเรายังหยาบกับส่วนนั้นอยู่ เราอาจจะคิดว่ามันดีและถูกแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นการกราบขอขมาพระทุกวันควรทำ
      ถาม :  หลวงพี่เป็นพระถือศีลหลายข้อ สมมุติว่าเคยไปเห็นมาบางครั้ง ฆราวาสเวลาทำบุญกับพระเยอะ บางครั้งเขาจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเขาบงการพระได้ เห็นอย่างนี้แล้วไม่ชอบใจ หลวงพี่มีวิธีจะวางจิตวางใจหรือพูดกับคนพวกนี้อย่างไร ?
      ตอบ:   สำหรับอาตมาก็จะว่าตรง ๆ เลย ถ้าเราเป็นพระเห็นว่าโยมเขาทำแล้วไม่ถูกต้อง ถ้าเราต้องการจะแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดโทษกับเขามากกว่านั้น เราก็บอกเขาไปตรง ๆ แต่ถ้าเราเป็นฆราวาสก็อย่าไปแตะได้ล่ะดี ถ้าหากว่านักบวชยังไม่รู้ตัวยอมให้ฆราวาสบงการ ก็ไปด้วยกันนั่นแหละ อย่าไปยุ่งกับเขาเลย
      ถาม :  มีบางทีที่เราปฏิบัติ นั่งสมาธิไปอะไรก็ตาม แต่เหมือนกับคุยกับตัวเอง เป็นทั้งด้านธรรมะบ้า งบางทีก็เป็นเสียงหลวงพี่บ้าง หรือเสียงที่เคยฟังจากเทปบ้าง แล้วเวลาเรามีคำถามเสียงอันนี้จะกลับมาเตือนเรา ๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้ถูกหลอก
      ตอบ:   จำไว้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพก็ดี เป็นเสียงก็ดี รับรู้เอาไว้แต่ว่าอย่าเพิ่งเชื่อ ถ้าหากว่ามันมีผลดี หรือว่าเป็นไปตามที่เขาบอก หรือเป็นไปตามที่เห็นก็เชื่อแค่ตอนนั้น ถ้าหากว่าเสียงหรือภาพที่ปรากฎเกิดขึ้นอีกในครั้งต่อไป ต่อให้อยู่ลักษณะอารมณ์เดียวกันก็อย่าเพิ่งเชื่อ ถ้าเราน้อมใจเชื่อเลยจะมีโทษ
      ถาม :  คาใจจังเลยค่ะหลวงพี่ ผู้หญิงในพุทธศาสนานี่ต่ำต้อยด้อยค่ามากเลยหรือ ?
      ตอบ:   ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเรื่องของพุทธศาสนา ระยะแรกพระพุทธเจ้าท่านห้ามบวชภิกษุณี เพราะท่านรู้ว่าถ้าหากว่ามีผู้หญิงอยู่ด้วยพระศาสนาจะตั้งอยู่ไม่นาน เราสังเกตไหมว่านี่ขนาดท่านห้ามแล้วนะ ปัจจุบนี้ภิกษุณีก็ไม่มีอยู่ในวัดแล้ว แต่ยังไปลากเอาฆราวาส ลากเอาแม่ชีมา จนกระทั่งเป็นข่าวเป็นคราวไปขนาดนั้น แล้วถ้าหากภิกษุกับภิกษุณีบวชอยู่ด้วยกัน อยู่ในอาวาสเดียวกัน โอกาสที่จะเสียหายมันมีมหาศาล ถ้าต่างฝ่ายต่างยังเป็นปุถุชนอยู่
              ในเรื่องของการบำเพ็ญบารมีจริง ๆ บุคคลที่เกิดเป็นผู้หญิงจะอยู่ในระหว่างอุปบารมีเท่านั้น ถ้าเป็นอุปบารมีขั้นปลายจะเริ่มเกิดเป็นผู้ชาย แสดงว่าการบำเพ็ญบารมีมันห่างกันอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ว่ามีผู้หญิงบางประเภท ประเภทแรกก็คือ คู่บารมีของพระโพธิสัตว์ หรือบุคคลที่เกิดมาเพื่อเป็นพระมารดาพระโพธิสัตว์ที่จะจุติเป็นพระพุทธเจ้า และอีกประเภทหนึ่งก็คือ ผู้ชายที่ทำผิดในเรื่องกาเมสุมิจฉาจารเอาไว้มาก ก็จะโดนบังคับให้เกิดเป็นผู้หญิง ประเภทนั้นท่านจำเป็นต้องเป็นผู้หญิง ต่อให้เป็นปรมัตถบารมีก็ต้องเป็น แต่ประเภทสุดท้ายนี้กรรมมันจะบังคับให้เป็น เพื่อที่จะได้รู้เสียบ้างว่าเป็นผู้หญิงแล้วเป็นอย่างไร คราวนี้จะเรียกว่า ต่ำต้อยอะไรมันก็ไม่ใช่ แต่ว่ามันเป็นไปตามกรรมเท่านั้น
      ถาม :  แล้วในส่วนของพระนิพพาน ผู้หญิงก็ไปได้ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ:   ไปได้เยอะกว่า มหาศาลเลย
      ถาม :  อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องกาย อย่างดีคงไม่ไปทุบใคร อาจจะขวางไปบ้าง ธรรมดาปากก็ระวังได้บ้าง แต่ใจนี่มันจะทวนของเก่าอยู่เรื่อย ๆ แม้ว่าคน ๆ นั้นเขาก็ดีกับเราแล้ว แต่เราก็มีความรู้สึกเหมือนกับมันทวน มันอึดอัดอะไรไปหมด
      ตอบ:   อันนี้เขาเรียกว่า วิหิงสาวิตก ยังนึกตรึกอยู่ในการที่จะเบียดเบียน เป็นตัวโทสะตัวหนึ่ง แต่มันเป็นส่วนละเอียด จริง ๆ แล้วเราน่าจะดีใจว่าตอนนี้ส่วนหยาบที่ออกมาทางกาย ออกมาทางวาจาของเราเหลือน้อย มันก็จะเหลือแต่ส่วนละเอียดทางใจเท่านั้น ส่วนละเอียดทางใจตัวนี้เหมือนกับว่าเราตัดต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งล้มลงไปได้แล้ว เราจะไปประมาทว่าเราสามารถโค่นมันได้แล้วไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้ขุดรากถอนโคนของมัน ถ้าขุดลงไปแล้วจะรู้ว่าบางรากของมันมากกว่ากิ่งข้างบนอีก และยิ่งขุดไปรากมันก็ยิ่งเส้นเล็กลง ๆ เท่ากับว่ามันละเอียดขึ้น เบาบางขึ้น
              แต่ขณะเดียวกันสภาพจิตของเราละเอียดก็เลยคิดว่ามันหนักหนาสาหัสเหมือนเดิมนั่นแหละ จริง ๆ แล้วมันดีขึ้นมากแล้ว ถ้าตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป ก็ถอนมันไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวรากมันก็หมด ตั้งใจแผ่เมตตาให้ ถ้ากำลังใจตีกลับก็ให้คนที่เรารักมากก่อน พอให้คนที่เรารักมาก จนกำลังใจมั่นคง ก็ให้คนที่เรารักน้อย แล้วก็ให้คนที่ไม่รักไม่เกลียด แล้วให้คนที่เราเกลียดน้อย แล้วให้คนที่เราเกลียดมาก ไล่ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวใจมันมั่นคงเอง
      ถาม :  ในทางโลกกับทางธรรมนี่ สมมติว่าบางทีทางธรรมจะมาเตือนเหมือนกันว่าอะไรที่เป็นของเราก็เป็นของ ๆ เราวันยังค่ำ แต่ว่าเป็นคนที่คิดช้า ผู้ใหญ่เรียกไปถามว่าอยากอยู่ที่ไหน หรืออะไรอย่างนี้ บางครั้งถ้าเราไม่ได้คิดก่อนก็คิดไม่ได้
      ตอบ:   ก็คิดไปสิ ใครจะว่าอะไร แต่ให้คิดแค่นั้นอย่าไปฟุ้งซ่านต่อ อย่างเช่นว่าเราคิดเป็นการเตรียมการไว้ก่อน พยายามควบคุมจิตให้มันจบลงแค่การคิดตรงช่วงนั้น ถ้าหากว่ามันจบแล้วก็ให้จบเลย มีคำตอบแล้วก็โน้ตไว้ในสมองเรา หรือโน้ตเอาไว้ในกระดาษก็ได้ ส่วนหลังจากนั้นแล้วเราก็ไม่ต้องเสียเวลาไปคิดอีก เอาเหตุผลอะไรที่เตรียมไว้ให้พร้อม ถ้าเกิดท่านถามขึ้นมาอีกว่าเป็นเพราะอะไรที่อยากไปอยู่ตรงนั้น
      ถาม :  แล้วทุกอย่างมันมีบวกมีลบล่ะคะ ?
      ตอบ:   ก็ใช่น่ะสิ ก็ถึงบอกว่าต้องหยุดให้เป็น คิดได้แต่หยุดคิดให้เป็น ถ้าคิดแล้วหยุดคิดไม่เป็น เราเองจะลำบาก
      ถาม :  หลวงพ่อคะ พิจารณาคำภาวนา และภาวนาคำว่า รูปัง พิจารณารูปเป็นอารมณ์ แล้วก็พิจารณาสังขารอย่าไปยึดติดสังขาร
      ตอบ:   ถ้าหากว่าความเป็นทิพย์ของใจตอนนี้มันบอกว่าเราควรทำอย่างไร ก็ทำตามนั้น เพียงแต่ว่าให้พยายามเอาสติสังเกตอยู่ด้วย ว่ามันออกนอนกแนวทางของพระพุทธเจ้าท่านไหม ถ้าหากว่ามันภาวนาแล้วตอนนั้นจิตใจมันสงบดี พิจารณาแล้วปัญญามันเกิดดีก็ทำตามนั้นไป แต่ถ้าหากว่าทำแล้วรู้สึกว่ามันจะออกนอกลู่นอกทางมากเกินไป ก็เลี้ยวมาเอาของเก่าเราต่อ จำไว้ว่าต้องของเก่านะ เรื่องของอธิษฐานแปลว่า ตั้งใจให้มั่นคง เพราะฉะนั้นรู้ว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็เปลี่ยนได้ ก็แค่เปลี่ยนความตั้งใจแค่นั้นเอง
      ถาม :  ทันทีที่จิตเรากำหนดไปบนพระนิพพานแล้ว เห็นเป็นดวงแก้วทั้งตัวเราด้วย เหมือนกับพระพุทธเจ้าท่านให้เราลงมาดูในแต่ละชั้นจนถึงนรกแล้ว แผ่ส่วนกุศล ทำให้ตัวเองบางช่วงอยู่ ๆ ก็ไม่รู้สึกตัวเหมือนกัน ทำไมเราถึงไม่มีแรงไปช่วงสองสามวัน
      ตอบ:   บางทีเราใช้กำลังสมาธิสูงเกินไปจะมีผลกับร่างกายเหมือนกัน บางทีกำลังของเรายังไม่มีพอที่จะทำอย่างนั้น เหมือนกับคนไปโหมงานหนักซะทีเดียว
      ถาม :  มันไปเองนะคะ
      ตอบ:   จ้ะ มันไปเอง เพราะฉะนั้นถึงเวลาบอก พอ ๆ ๆ ขืนไปต่อเดี๋ยวฉันแย่
      ถาม :  การทำงานกับผู้มีปัญญามาก เราตามไม่ทันล่ะคะ ?
      ตอบ:   ถ้าปัญญามากยังไม่พอ ถ้ากำลังท่านสูงนี่ยิ่งหนักใหญ่
      ถาม :  เจ้านายค่ะ กิจที่ท่านทำบางทีเราตามไม่ทันค่ะ
      ตอบ:   ให้ถาม บอกว่าอันนี้หนูไม่ไหวค่ะ ขอคำอธิบายหน่อย
      ถาม :  แล้วเราต้องทำตัวไหนเพิ่มไหมคะ นอกจากเอาสติมาควบคุม
      ตอบ:   สำคัญที่สุดขาดสติ ปัญญาก็ไม่มี สติกับปัญญาต้องสม่ำเสมอ ถ้าปัญญาเกินสติจะบุ่มบ่ามทำอะไรโฉ่งฉ่างไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง แต่ถ้าสติเกินปัญญาเมื่อไหร่เหมือนกับคนขี้กลัว ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ไม่ค่อยกล้าทำอะไร กลัวผิดพลาด ฉะนั้นสองอย่างต้องให้สมดุลกัน ต้องให้พอเพียงกัน
      ถาม :  แทนที่ปัญญาเกิด เราไม่มีสติไปคุยกิจการงานให้คนที่ต้องประสานงานได้
      ตอบ:   เจ๊งไปเลย เดี๋ยวคนเขาว่าเราเพี้ยนด้วย
      ถาม :  จะให้เร็วกลายเป็นช้า พอมันละเอียดขึ้นนี่เราต้องโจทย์โทษตัวเอง พิจารณาทุกวันใช่ไหมคะ บางทีสติมันเหมือนหลุดค่ะ
      ตอบ:   มีใครบ้างที่ไม่หลุด แม้กระทั่งพระอรหันต์ท่านก็หลุด แต่ท่านจะหลุดด้านอื่น ท่านจะไม่หลุดในด้านระมัดระวังดูจิตดูใจ แล้วก็ไม่หลุดในด้านความมั่นใจเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของท่านแน่
      ถาม :  สังขารที่มันกำลังเจ็บป่วย มันก็ทำให้เราพิจารณาว่าเรายิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่นกับตัวร่างกาย ไม่ยึดติดในกายและสังขาร
      ตอบ:   การเจ็บป่วยจริง ๆ มันเป็นอย่างไรล่ะ ต้องใช้คำว่าเป็นลาภอันประเสริฐ
      ถาม :  ให้เราได้พิจารณาใช่ไหมคะ ?
      ตอบ:   ใช่ ฉะนั้นที่บอกว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนั้นไม่ใช่นักปฏิบัติ ถ้าเป็นนักปฏิบัตินี่ความมีโรคภเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ดีแล้วเกิดกับเรา ในแง่ของธรรมะเป็นส่วนที่ดีที่สุด ดีตรงที่ว่าอย่างไร ๆ เราก็จะได้รู้ว่าโลกนี้ ร่างกายนี้ มันไม่จริงแท้แน่นอน ไม่ต้องให้ใครมาตอกย้ำ มันแสดงให้เห็นชัด ๆ เลย เรื่องอย่างนี้หาซื้อด้วยเงินเท่าไรก็ไม่ได้ คนไม่ป่วยลองให้หาสตางค์ไปซื้อดูสิ จะได้โรคมาสักกี่โรคล่ะ
      ถาม :  เวลาทำวัตรสวดมนต์ ถ้าเราไม่ออกเสียงได้ไหมคะ ?
      ตอบ:   ได้ ไม่มีปัญหาอะไร จะออกเสียงหรือไม่ออกเสียงอยู่ที่เรา ยกเว้นทำกับส่วนรวมก็ให้ออกเสียงตามเขาไป เพื่อคนบางประเภทที่ไม่รู้จักดูความผิดตัวเอง ดูแต่ความผิดคนอื่น เห็นเรานั่งเงียบอยู่ มันไม่รู้หรอกว่าสวดในใจ จะตำหนิอย่างเดียว ถ้าอยู่กับส่วนรวมเพื่อเขาทำไปเถอะ ถ้าอยู่คนเดียวสวดในใจไปสามวันสามคืนก็ไม่มีใครว่า
      ถาม :  ไม่ต้องแปลก็ได้ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ:   ไม่ต้องจ้ะ
      ถาม :  ที่พิจารณาจีวรนั้น เวลากลางวันไม่ต้องใช่ไหมคะ ?
      ตอบ:   ของฆราวาสไม่มี การพิจารณาเป็นของพระ เราเรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณ์ เป็นสิ่งที่พระต้องพิจารณาเนือง ๆ เป็นของพระไม่ใช่จองโยม แต่ว่าโยมสามารถทำได้ อย่างเช่น พิจารณาว่าเรากินอาหารนี้ ไม่ได้กินเพื่อความอ้วนพีของร่างกาย ไม่ได้กินเพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ ไม่ได้กินเพื่อจะยั่วราคะให้มันเกิดขึ้น กินก็เพื่อยังอัตภาพร่างกายนี้ อยู่พอให้ไม่มีทุกข์ เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น พิจารณาเรื่องของเสื้อผ้าก็เหมือนกัน เราแต่งตัวเพื่ออะไร เพื่อปิดบังความอาย เพื่อป้องกันความร้อน ความหนาว เพื่อป้องกันยุง เหลือบ ริ้น ไร ไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อจะยั่วเพศตรงข้าม เรื่องของที่อยู่อาศัย เรื่องของอะไรก็เหมือนกัน สรุปมาลงตรงที่ว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่ของเราก็จบแล้ว
              เพียงแต่ว่าจุดตรงนี้มันสรุปลงยากมากก็เลยต้องใช้วิธีที่อ้อมโลกไปเรื่อย ๆ ก่อน เหมือนกับยุทธวิธีทางทหารที่เรียกว่า ม้ากินสวน เคยรู้จักไหม ถ้าเรียนเสธมาน่าจะเคยเจอ คือค่อย ๆ เลาะ ค่อย ๆ เล็มไปทีละนิด ๆ กว่าเขาจะรู้ตัวก็ได้ไปเยอะแล้วอย่างนั้นแหละ มีกลฤทธิ์ กลสีหจักร กลลักษณ์ซ่อนเงื่อน กลเถื่อนกำบัง กลพังภูผา กลม้ากินสวน ฯลฯ อะไรพวกนั้นเป็นยุทธวิธี ๑๖ อย่าง
      ถาม :  ทางด้านการทหาร เป็นอะไรที่ไม่รับเลย เรียนหมวดอื่นยังพอรู้เรื่องบ้าง
      ตอบ:   มันต้องรุ่นของหมอนพพร รุ่นของหมอนพพรนี่เสียหายหลานแสนเลย ปกติทหารบกเขาแบ่งออกเป็น ๑๖ เหล่า เวลาเรียนเสนาธิการแล้ว เหล่าที่ควรจะสอบได้ที่ ๑ จะต้องเป็นพวกราบ พวกม้า พวกปืน คือพวกนี้ยุ่งอยู่กับการรบโดยตลอด ปรากฎว่ารุ่นของหมอนพพร หมอแกได้ที่ ๑ แกไปรบกับใคร นั่นแหละ พวกนี้บางอย่างเอามาใช้ในการปฏิบัติธรรมได้ เรื่องของม้ากินสวนก็เหมือนกันค่อย ๆ แทะ ค่อย ๆ เล็มไปเรื่อย ๆ
      ถาม :  ถ้าสมมติจิตบอกว่าเราไม่ได้ยึดตรงสังขาร แต่ถ้าผู้มีพระคุณเราก็มีความปรารถนาดี ต้องดูแลสังขารด้วยนะ ก็ถ้าปฏิบัติธรรมเมื่อรู้อดีตแล้ว ต้องดูแลหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ:   จำไว้ว่าสภาพร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา มันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น มารยาทของการยืมต้องรักษามันให้ดีที่สุด ที่รักษามันให้ดีที่สุดคือเพื่อบรรเทาเวทนาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย เพื่อไม่ให้จิตของเราไปพะวักพะวงอยู่กับมัน จะได้ปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ใช้มันให้แหลกให้พังไปเลย อย่างนั้นแหละผิด เราดูแลมันตามหน้าที่เท่านั้น ถึงเวลาได้ส่งคืนมันไปอย่างชนิดที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ในเมื่อเขาให้ยืมมาเราก็รักษาให้ดีที่สุด ถึงเวลามันจะตายจะพังไม่กเกี่ยวกับเราแล้ว เราทำดีที่สุดแล้ว
      ถาม :  แต่ถ้าเราไม่ได้สนใจ ในทางวิทยาศาสตร์จะได้ไหมคะ ?
      ตอบ:   จริง ๆ แล้ว ก็ยังผิดอยู่ เพราะในเรื่องของพรหมวิหาร เราต้องเมตตากับตัวเองก่อน ถ้ายังไม่เมตตาตัวเอง จะไปเมตตาคนอื่นไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นถ้าหากรักเมตตาตัวเอง มันก็จะรักเมตตาคนอื่นได้ รักตัวเอง สงสารตัวเอง ไม่อยากตกไปในที่ชั่ว ก็รีบตั้งหน้าตั้งตาทำดี ต้องเมตตาตัวเองก่อน อะหัง สุขิโต โหมิ นิททุกโข โหมิ เคยสวดไหม จริง ๆ แล้วเขาให้ทำไม่ได้ให้สวด อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข ถ้าไม่ทำแล้วมันจะมีไหม อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ เคยสวดไหม เรื่องของเมตตาให้ทำ ไม่ใช่ท่องจำไว้ ท่องให้ตายหากสภาพจิตไม่ยอมรับก็ยังไม่เป็นหรอก อย่างเก่งก็ได้สมาธิ ปัญญามันไม่เกิด เคยไปท่องเหลวไหลกับเขามาหลายยกแล้วใช่ไหม ไม่รู้เลยว่ามันทำอย่างไร เขาสุขิโต โหมิ เราก็สุขิโตกับเขาด้วย
      ถาม :  ปกติบทนี้ไม่ค่อยได้ท่อง เพิ่งมาท่องตอนนี้ ทำสมาธิเจอเวทนามาก ๆ ตกลงอย่างไรก็ไม่ทราบ ไปเจอ ก็เลยลองเมตตาตัวเองก่อนว่าทำอย่างไร แต่เป็นบทที่จำไม่ค่อยได้เลย แผ่เมตตาให้ตัวเอง
      ตอบ:   คนที่เขาคิดขึ้นมานี่เขาไม่ได้เข้าใจเลยว่ามันต้องทำ ไม่ใช่ท่องจำ ในเมื่อเขาคิดว่ามันสมควรจะท่องเขาก็เลยบัญญัติขึ้นมาเป็นคำ ฟัง ๆ แล้วมันตลก ๆ
      ถาม :  บางทีต้องเตือนสติตัวเองค่ะ เมื่อทำอะไรไม่ดีต้องเมตตาตัวเองก่อน
      ตอบ:   อันนั้นได้จ้ะได้ อันนั้นท่องไปเถอะจ้ะ