สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ ฯ

      ถาม :  .........(ไม่ชัด)..................
      ตอบ :  เณรภาคฤดูร้อนบวชกันอยู่เรื่อย มานั่งร้องไห้อยู่ในป่าส่งเข้าบึงไป บอกว่า ผมคิดว่าผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว เด็กอายุ ๑๘ แล้วน่ะ ปีนี้เข้ามหาลัย บอกว่ามั่นใจว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ที่ไหนได้ไปอยู่ป่าเข้าไปจริง ๆ ร้องไห้คิดถึงบ้าน
              อาจารย์โหดร้ายมากบวชเสร็จเข้าป่าเลย มันต้องเคี่ยวกันให้ได้ ไม่งั้นเขายืนด้วยตัวเองไม่ได้สักทีหนึ่ง และอีกอย่างเป็นพระเป็นเณรถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่ เราปกครองแบบผู้ใหญ่ใช่มั้ย ? ขนาดเณรอาร์ตเพิ่งอยู่ชั้น ป. ๕ –ป. ๖ เท่านั้นเองยัดเข้าป่าไปตั้งแต่วันแรกบวชเลย คนเราถ้าหากไม่ได้ไปเจอกับสภาพของธรรมชาติที่แท้จริงก็มักคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่นัก
              แต่พอไปเปรียบเทียบกับป่าทะเลเข้ามันกลายว่าเป็นผงเดียวเท่านั้นเอง เหลียวหน้าไปทางไหนก็ป่าทั้งนั้น เณรอาร์ตร้องไห้เพราะหลวงน้ากอล์ฟหลอกมัน ...ไม่ได้หลอกเขาบอกความจริงแต่เณรรับไม่ได้ เณรบอกเสียงเสือมันต้องมากินเราแน่ ๆ เลย หลวงน้าไม่กลัวเหรอ ? (หัวเราะ ) ท่านกอล์ฟบอกว่าไม่กลัวหรอก ทำไมหลวงน้าไม่กลัวล่ะ ? ผมวิ่งเร็วกว่าไง ผมก็วิ่งหนีก่อน (หัวเราะ) มันวิ่งเร็วกว่าจะเหลือใคร ก็เหลือเณรให้มันกิน (หัวเราะ) เณรร้องไห้เลย ไม่มีหรอกไอ้ที่ต้องไปปลอบเด็กน่ะ
              เณรคิมมาเดินป่าเสียงล้มครืนท่านกอล์ฟจ้ำอ้าวเลย ถามว่าทำไมวะ ? หยุดไม่ได้หรอกครับ ถ้าขืนหยุดแล้วมันเจ็บนานว่าอย่างนั้น มันกลัวป่า มันล้มลงไปแล้วพอมันเห็นเราไม่หยุดแล้วมันต้องวิ่งตาม ลองดูมั่งมั้ย ออกป่ามาเล่าให้ฟังมันสนุกไปเจอเองแล้วจะรู้ว่ามันทุกข์ขนาดไหน
      ถาม :  แล้วออกป่าจริง ๆ นี่ เวลาไม่เจอหมู่บ้าน ไม่เจอคนเลย ?
      ตอบ :  ดูสิมันมีของพวกของป่าอะไรก็อย่างนั้น ถ้าหากว่าสามารถขอข้าวจากเทวดาก็ขอไป ถ้าหมดสภาพทุกอย่างแล้วก็อดเอา
      ถาม :  อยู่ป่านี่ผักผลไม้ที่ทานได้ ?
      ตอบ :  ครูบาอาจารย์ที่ออกป่าแต่ละสายล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์อดหน้าเขียวกันมาแล้วทั้งนั้นเลย กระทั่งหลวงพ่อเราว่าเก่งนักเก่งหนาเทวดาเขาแกล้งไม่ให้กินอดซะ ๔ วัน หลวงพ่อ ๓ องค์ท่านไปบิณฑบาตรแล้วไปสงสัยไง แล้วหลวงพ่อเล็กท่านก็สงสัยว่าเด็กที่ไหนมันเดินมาใส่บาตรกลางป่า ก็ถามว่าหนูบ้านอยู่ไหนจ๊ะ (หัวเราะ) เปิดไปเลย (หัวเราะ) คราวนี้อดไปเหอะอยากขี้สงสัยดีนัก
              มีวิธีเก็บทุเรียนข้ามปี ที่วัดมีทุเรียนกินข้ามปีทุกปีเลย แกะแล้วใส่ถ้วยใส่จานให้ดี เอาถุงพลาสสติกผูกไว้แล้วยัดเข้าช่องฟรีชไปเลย ถึงเวลาเอามากินเหมือนกินไอติมทุเรียน อยู่ได้ข้ามปีจริง ๆ เก็บไว้นานเท่าไหร่ก็ได้ถ้ามันอยู่ในสภาพที่แช่แข็ง แล้วมันแปลก..... ถ้าโดนความเย็นขนาดนั้นแล้วไม่มีกลิ่นไอ้ที่มันมีกลิ่นเพราะมันโดนความร้อน ความร้อนมันทำให้น้ำมันระเหยของมันแตกตัวออกมา กลิ่นมันก็ออก ถ้าโดนความเย็นมันหดหมด
      ถาม :  พระพุทธเจ้าสมัยบำเพ็ญปัญญาบารมีระยะแรกท่านชื่ออะไรคะ ?
      ตอบมโหสถบัณฑิตอันนั้นเป็นปรมัตถบารมีนะ ตอนอื่น ๆ ยังมีอีกเยอะ อย่างท่านเป็นโสมทัตมานพไง ตอนที่ท่านเป็นโสมพัตมานพท่านมีพ่อเป็นพรามหณ์ที่ตอนหลังเกิดเป็นโลลุทายี โลลุทายีเป็นพระที่เหลวไหลมาก เป็นต้นกำเนิดศีลสาระพัดข้อนั่นแหละว่าอะไรไปก็จำได้แป๊บเดียว
              ปรากฏว่าพอพระนินทา พระพุทธเจ้าท่านก็เลยเล่าเรื่องให้ฟังว่าท่านเกิดเป็นโสมทัตมานพนี่ท่านเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน พ่อก็ทำมาหากินไปตามแบบของตัว ปรากฏว่าวันหนึ่งวัวตายไปหนึ่งตัวก็ส่งข่าวให้ลูก ลูกมาดู เออ... มันตายจริง ๆ พ่อบอกว่า เจ้าเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดขอพระราชทานพระเจ้าแผ่นดินสิ เราจะได้มีวัวไว้ทำนาต่อ
              ท่านก็บอกว่าท่านเป็นคนใกล้ชิดถ้าขออะไรจากเจ้านายคนอื่นเห็นแล้วเขาจะเอาเยี่ยงอย่าง ให้พ่อไปขอเอง อุตสาห์สอนวิธีให้นะ เอาหญ้าผูกเป็น ๒ ฟ่อน ฟ่อนนี้เป็นตัวพระราชา ฟ่อนนี้เป็นพ่อนะ ต้องนั่งอยู่ท่านี้ แล้วไปถึงท่านจะตรัสถามว่าเป็นใครมาจากไหน ให้บอกว่าข้าพเจ้าชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นพ่อของโสมทัตมานพ ข้าพเจ้ามีวัวอยู่ ๒ ตัว บัดนี้ได้ตายไปตัวหนึ่ง แล้วขอพระราชทานอีกตัวหนึ่งพระเจ้าค่ะ
              สอนอยู่ ๓ วัน แค่ประโยคไม่กี่ประโยคนี้ ปรากฏว่าพอไปถึงจริง ๆ ท่านก็กราบทูลบอกว่าท่านเป็นพ่อของโสมทัตมานพ มีวัวอยู่ ๒ ตัว บัดนี้ตายไปแล้วตัวหนึ่งเลยขอถวายอีกตัวหนึ่งพระเจ้าค่ะ มันก็เกลี้ยงเท่านั้นสิ พระเจ้าแผ่นดินท่านฟังอยู่มันแปลก ๆ ก็เลยหัวเราะ ท่านบอกว่า โสมทัตบ้านของเธอมีวัวมากหรือถึงจะเอามาถวายพระเจ้าแผ่นดิน โสมทัตมานพท่านฉลาดท่านบอกว่าถ้าพระองค์จะพระราชทานให้ก็จะมีมากพระเจ้าค่ะ คนฉลาดซะอย่าง ปากดีเป็นศรีแก่ตัว ท่านเลยให้ไปฝูงหนึ่งเลย นั่นแหละปัญญาบารมีขั้นต้น ๆ เอง
      ถาม :  อยากถามว่าปฎิปทาของหลวงปู่สดที่ว่า เมื่อสิ่งใดยังไม่สำเร็จยังไม่ควรบอกแก่ผู้ใด ในยุคนี้จะสามารถใช้ต่อไปได้ ?
      ตอบ :  ใช้ได้ ยืนยันว่าใช้ได้ แต่ว่าขณะเดียวกันคำว่า ไม่ควรบอกแก่ผู้ใดนั้นหมายถึงบอกทั้งหมดและถ้ามันเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังของเราเอง เราต้องบอกคนอื่นแต่บอกแค่ไหนสิ่งที่เขาต้องทำแค่นั้น คือ เขาต้องให้ความร่วมมือเราแค่ไหนเราบอกรายละเอียดเขาแค่ไหนเราบอกรายละเอียดเขาแค่นั้น
      ถาม :  สมมุติว่าเราต้องการที่จะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าเรายังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ เราควรถือปฎิปทาของท่าน ?
      ตอบ :  บอกว่าใช้ได้เลยไง ถ้าคุณจะพาคนไปประท้วงรัฐบาลอย่าบอกว่าพามันไปประท้วง บอกว่าจะพาไปเที่ยวทำเนียบ คือ ให้มันรู้เท่าที่มันควรรู้แค่นั้นเอง (หัวเราะ) เข้าใจหรือยัง เปรียบเทียบง่าย ๆ (หัวเราะ) ขืนไปบอกตั้งแต่แรกไอ้คนใจไม่ถึงมันก็ถอนตัวหมด คุณไม่มีพวกไปประท้วงหรอก
              ท่านโลลุทายีนี่จริง ๆ ปัญญาท่านเยอะนะ เหตุที่ต้องใช้คำว่า ปัญญาท่านเยอะเพราะว่าท่านหัวหมอแบบทนายความ เลี่ยงกฏหมายเก่ง พระพุทธเจ้าเราสมัยก่อนไม่มีศีลข้อห้ามลักขโมย ก็ไปขโมยของคนอื่นเขา ถามว่าขโมยมาจากไหน บอกว่าขโมยมาจากในป่า คนเข้าไปทำงานทำการในป่าเสร็จมีห่อข้าวห่อของก็วางไว้แล้วไปตัดไม้ ทำไร่ อย่างนั้นนะ ไปขโมยเขา ไปขโมยเขาเสร็จ
              พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าต่อไปนี้อย่าไปขโมยนะ เขาเองถือว่าห้ามเฉพาะที่ในป่าก็เลยไปขโมยในบ้าน พระพุทธเจ้าท่านเลยบัญญัติเพิ่ม ห้ามขโมยในบ้านนะ ก็เว้นแต่ในบ้านแต่ในป่าไปขโมยในลานตากผ้าเขา มันจะมีโรงย้อมผ้า ถึงเวลาจะมีลานตากผ้าอยู่ ส่วนใหญ่พวกนี้อยู่ลึกหน่อย ให้ห่างจากชุมชนเพราะว่าบางทีพวกไม้ที่เอามาต้มมาย้อม พอเวลามันบูดเน่าแล้วกลิ่นมันแรง อยู่ใกล้ชุมชนไม่ได้จะอยู่ในป่าก็ลำบากอีกมันจะไม่มีแสงแดด ต้องทำเป็นลานเฉพาะ ตัดต้นไม้ออกทำเป็นที่กว้างมากเลย
              เขาถือว่าไม่ได้ขโมยในป่าไม่ได้ขโมยในบ้าน เพราะขโมยในลานตากผ้าอย่างนี้..... เอาไปเรื่อยแหละ ฉลาดเป็นบ้าเลย ใครว่าท่านโง่ไม่ได้นะ (หัวเราะ) ฉลาดจริง ๆ เพียงแต่ว่าท่านเลี่ยงบาลีประเภทจับจดโลเลเอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างนี้ เลยเรียก โลลุทายี คือ อุทายีโลเล เพราะว่าท่านอุทายีมีองค์หนึ่งที่เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ อันนั้นท่านผิวดำหน่อย เขาเรียกว่า กาฬุทายี คือ อุทายีผิวดำ พระเจ้าสุทโธทนะส่งราชทูตไป ๑๐ ชุด ด้วยกัน ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้มาโปรดท่านบ้าง
              ปรากฏว่าทั้ง ๑๐ ชุด พอไปฟังเทศน์ปุ๊บกลายเป็นพระอรหันต์เสร็จเรียบร้อยลืมงานเดิม มีความสุขแล้วจบ (หัวเราะ) จนถึงท่านอุทายีองค์นี้ อุทายีองค์นี้ท่านไปถึงท่านจะเป็นอรหันต์แล้วท่านยังจำงานเก่าได้ว่าได้รับคำสั่งมาอย่างนี้ เลยทูลขออาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปโปรดพระประยูรญาติบ้าง พระพุทธเจ้าท่านเห็นความสามารถของท่านอุทายี ก็บอกท่านว่า ท่านไปก่อน ไปสงเคราะห์เขาก่อนล่วงหน้า ๓ เดือน เพื่อให้เขาหมดทิฐิมานะหรือลดทิฐิมานะลง
              คราวนี้ท่านอุทายีท่านไปท่านมีอะไรที่อัศจรรย์ให้เขาเห็น คนนับถือเลื่อมใสมาก ท่านก็ประกาศบอกเขาว่านี่เป็นเพราะว่าเราเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าซึ่งเคยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน คนจำนวนมากก็รู้แล้วว่าพระพุทธเจ้าเก่งขนาดไหน เพราะว่าขนาดลูกศิษย์เล็ก ๆ ยังเก่งขนาดนี้เพิ่งบวชไม่นาน คราวนี้ท่านสามารถยังความเลื่อมใสให้แก่มหาชนทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของศากยะและชาวบ้านทั่ว ๆ ไปด้วย ก็เลยเป็นเอตะทัคคะทางผู้ที่ยังตระกูลให้เกิดความเลื่อมใสได้ง่าย คนละอุทายีกันนะ
              สมัยก่อนท่านจะมีฉายาอยู่ไง ใช้แทนนามสกุล จะได้รู้ว่าเป็นใคร ไม่ซ้ำกัน โลเลทายี คือ อุทายีผู้โลเล กาฬุทายี คือ อุทายีที่ผิวดำ ถ้าชื่อซ้ำกันจะมีฉายาต่อ
      ถาม :  และพระที่..........ต้องอาบัติ ?
      ตอบ :  ท่านยกให้ ท่านเรียก อาทิกัมมิกะ แปลว่า บุคคลคนที่เป็นต้นบัญญัติในอาบัตินั้น ถือว่าเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นเขา ไม่นับว่าผิดเพราะยังไม่มีข้อห้าม แต่คนที่สองปุ๊บนี่ปรับเลย เพราะถือว่าห้ามแล้วยังทำ
      ถาม :  สงสัยว่าอย่างท่านอุทายีจะผิดหลายข้อ แล้วอย่างนี้อย่างที่ท่านอธิษฐานมาเพื่อที่จะมาเพื่อเกิดบัญญัติ ?
      ตอบ :  ไม่ทราบว่าท่านอธิษฐานมาหรือเปล่า แต่ แหม .... ท่านยอดฝีมือทางนี้จริง ๆ โดยเฉพาะอาบัติหนัก ๆ อย่าง สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อนี่ ท่านอุทายีไปแล้วเกินครึ่ง ท่านไปของท่านได้เรื่อยเลย
      ถาม :  ถึงตัวท่านเองก็ไม่ผิดใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ไม่ผิด เพราะถือว่าเป็นต้นบัญญัติ ต้นบัญญัติให้อาทิกัมมิกะ บุคคลใช่มั้ย บุคคลที่เป็นต้นบัญญัติศีลข้อนั้นยังไม่มีข้อห้ามอยู่ ไม่ถือว่าผิดถ้าทำ หลังจากนั้นแล้วโดนแน่ แต่ท่านเองท่านฉลาดท่านรอดของท่านไปได้เรื่อยล่ะ ในเมื่อรู้ว่าห้ามก็ออกไปทางอื่นต่อ
      ถาม :  สุดท้ายก็เป็นพระอรหันต์ หรือเปล่าคะ
      ตอบ :  สุดท้ายเราก็เป็นพระอรหันต์ไม่ใช่ท่าน (หัวเราะ) ทั้งหมดไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิใดก็ตาม เมื่อถึงวาระสุดท้ายจะเข้านิพพานทั้งหมด เพียงแต่ว่าช้าเร็วต่างกันตามบารมีที่สร้างมา ตามความดีความชั่วที่สร้างมา ทำดีเอาไว้มาก บารมีมากก็เข้าเร็วหน่อย ทำดีไว้น้อยก็เข้าช้าหน่อย ทั้งหมดก็เข้าทั้งหมดเหมือนกัน
              จำไว้ว่าบางทีประเภทหมาเห่าเข้าหน่อยโกรธหมาแล้ว เราลองนึกดูซิว่านั่นเป็นอนาคตพระอรหันต์ละ แหม.... อุตสาห์ทักทายด้วยความยินดีไปโกรธเขาทำไม (หัวเราะ) ถ้าคิดเป็นจริง ๆ มีประโยชน์เยอะ ไอ้โน่นมันทำให้เราไม่พอใจลองคิดดู เออ.... ในอนาคตท่านก็เป็นพระอรหันต์เราก็ไหว้ท่านล่วงหน้าไปซะเลย ท่านเองท่านอุตสาห์สอนให้เรารู้ว่ากำลังใจเรามันยังใช้ไม่ได้กระทบแล้วมันยังสะเทือน มันยังฟุบ มันยังฟูอยู่ ควรจะขอบคุณท่านมากกว่า คิดเป็นมันสนุกนะ
      ถาม :  อารมณ์ฟูยังใช้ไม่ได้ใช่ไหมคะ ?
      ตอบจะฟุบจะฟูยังไม่ได้ทั้งนั้น มันต้องเป็นอารมณ์ทรงตัวที่เขาเรียกว่า อัพยากฤติ อัพยากฤตินี่ประเภทไม่ทุกข์ไม่สุข รู้ว่าสุขเป็นอย่างไรรู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร แต่ไม่เกาะทั้ง ๒ ฝ่าย แล้วไม่ติดสุขแล้วก็ไม่กังวลในทุกข์ วางเฉยเป็น สังขารุเปกขาญาณ ที่บอกไปแล้วนั่นแหละ
      ถาม :  ในเรื่องของพระมหาชนก ที่ว่าท่านอยู่ในทะเล ๗ วัน ๗ คืน อยากจะเรียนถามว่าเป็นไปได้ไหมคะ ที่ว่าในปัจจุบันที่มีความเพียรแล้วแต่ว่าทำอะไรก็ทำไม่สำเร็จ ?
      ตอบ :  มี ถึงมีความเพียรแต่ทำไม่แน่ว่าจะสำเร็จ เพราะว่าความเพียรเฉย ๆ บางทีมีเหนื่อยเปล่า มันต้องเป็นความเพียรที่ประกอบไปด้วยปัญญาด้วย ถ้าไม่มีปัญญา เห็นช่องทางตั้งหน้าตั้งตาทำ เห็นเขาทำเราก็ทำด้วย แต่ความสามารถของเราไม่มีอย่างเขา มันก็จะไม่สำเร็จอย่างนั้น หรือ ถึงจะสำเร็จก็ยากกว่าคนอื่นเขา
              อย่างท่านพระมหาชนกท่านเตรียมของท่านตั้งแต่ทันทีที่รู้ว่าท่านไม่รอดแล้วนะ เอาน้ำมันทาตัว เอาผ้านุ่งชุบน้ำมันซะก่อน อย่างนี้ มันป้องกัน.... นอกจากจะกันน้ำได้มันยังกันหนาวได้ด้วย แล้วเสร็จแล้วก็เอาน้ำตาลกรวดคลุกน้ำมันเนยกินเต็มที่เลย เข้าไปขนาดนั้นพลังงาน ๗ วันยังเหลือเฟือเลย ของท่าน ๆ มีปัญญารอบคอบจริง ๆ ท่านทำทุกอย่างเห็นว่าไม่รอดแน่ก็เตรียมพร้อมที่จะถอย
              วันก่อนมีคนเขาถามเรื่องบางระจันว่าเป็นยังไง มันตายหมดอย่างที่เขาว่ามั้ย ? บอกว่าที่เขาแสดงมันตาย ๆ ตามในหนังมัน เรื่องจริง ๆ รู้ว่าสู้ไม่ได้ใครจะอยู่เล่า การถอยไม่ใช่เรื่องน่าละอาย หลวงปู่หล้า วัดภูจ้อก้อ ท่านบอกว่าเราต้องเป็นนักหลบบ้าง อย่าเป็นนักรบอย่างเดียว รู้ว่ายังสู้กิเลสไม่ได้ก็อย่าไปชนกับมัน
              ท่านสอนพระใหม่ ๆ หรือโยมที่หัดปฎิบัติใหม่ ๆ รัก โลภ โกรธ หลง ยังแรงอยู่อย่าไปหาไอ้ที่ไปกระทบได้ง่าย มันต้องหัดหลบก่อน พออารมณ์ใจเริ่มทรงตัวก็ไปลองแหย่ ๆ ดูซะนิดหนึ่ง ไหวมั้ย ? ไม่ไหวก็หลบอีก ถ้าสู้อย่างเดียวมันตาย ๓๖ แผนยุทธศาสตร์ซุนวู นี่แหม.... แผนหนีอยู่อันดับแรกเลย จะหนีในภูมิประเทศยังไง (หัวเราะ) บรรยายซะละเอียดยิบเลย (หัวเราะ) เขาบอกแล้ว บอกชนะโดยไม่ต้องรบถือว่าเก่งที่สุด ให้ใช้กำลังเข้าหักถือว่าขั้นสุดท้ายเลย
      ถาม :  ที่อ่านประวัติหลวงพ่อท่านเคยเล่าว่าเราหนีไปอยู่พระเจ้าตากสินจริงหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ตอนหลังไปเข้ากับกองทัพของพระเจ้าตากทั้งหมด คือเหตุการณ์ตอนนั้นเรารู้อยู่ว่ามันไม่มีทางได้ปืนใหญ่จากเมืองมาช่วยแล้ว ก็ปรึกษากันว่าอยู่ต่อนี่ตายหมด เหนียวแค่ไหนก็ตายมันช่วยกันทุบน่ะ มันมีวิธีเดียวต้องหนี แล้วหนียังไง ตัวเองชนะมาตลอดไช่มั้ย ก็เอาหุ่นฟางมาผูกเป็นคน เอาผ้าคลุม ๆ ก่อไฟเอาไว้กลางค่าย คนมันไปโผล่ ๆ อยู่ใกล้ ๆ ตัวหุ่น ไปโผล่อยู่แถวรอบ ๆ รั้วค่าย มันเหมือนยังกับคน เพราะมันส่องหลังวูบ ๆ วาบ ๆ อยู่ ก่อไฟทิ้งเอาไว้แล้วก็ไปเหอะ กว่าไฟจะดับมันก็ยังไม่กล้าเข้ามามาดู กว่าฟ้าจะสว่างมันไปซะค่อนคืนแล้ว (หัวเราะ) ที่รบกันจริง ๆ เราชนะตั้ง ๗-๘ ครั้ง
              แต่ว่าครั้งสุดท้ายต้องถอยหนี คนชนะมาตลอดอยู่ ๆ หนีนี่คนเขาคิดไม่ถึงหรอก รู้ว่าสู้ไม่ได้เพราะกำลังเขามาก ถึงเวลาเขาเล่นระดมกองทัพใหญ่เลย ส่งไปส่งเล็กส่งน้อยไปเท่าไหร่ก็ไม่เหลือซักทีใช่ไหม
      ถาม :  กายกับจิต ถึงเวลาแล้วคือกายส่วนกาย จิตส่วนจิตใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ใช่ กายส่วนกาย จิตส่วนจิต จิตจะคุมกาย แต่คนส่วนใหญ่จะไปยึดถือว่ากายเป็นของจิต เราต้องตัดตัวยึดถือตัวนั้นให้ได้ จิตคือเรา ส่วนใหญ่แล้วจะไปคิดว่าร่างกายนี่เป็นเรา ตัวเรานั้นมันเหมือนว่ารถหรือว่าบ้าน รถหรือว่าบ้านหลังนี้เราอาศัยมันอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลามันพังเราก็ต้องหาบ้านใหม่หรือว่ารถใหม่
      ถาม :  แล้วถ้าสมมุติว่าเราไม่สบาย เราต้องดูแลเขาใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ต้องดูแลรักษาเขาไปตามสภาพ ร่างกายนี้เรายืมโลกมาใช้ มารยาทในการยืมก็คือต้องดูแลรักษาให้ดีที่ดูแลมันก่อน ทำจนเต็มความสามารถแล้วถ้าไม่สามารถรักษาได้ถึงตายก็ต้องปล่อยมัน ถ้ามีช่องทางแม้แต่ ๑% ก็ต้องดูแลมันก่อน ไม่ใช่ทิ้งให้มันพัง ถ้าทิ้งให้มันพังน่ะผิด
      ถาม :  อย่างสมมุติว่ากำหนดไม่ได้แล้วนี่คือเรื่องหนึ่งใช่ไหมคะ ?
      ตอบถ้าหากว่ามันหมดสภาพถึงขนาดนั้นนะใจเราเกาะความดีเอาไว้ซะอย่างหนึ่งก็พอ อย่างเช่นว่า เกาะพระ หรือเกาะพระนิพานอะไรเหล่านี้เป็นต้น หรือว่าถ้าหากว่ายังมีกำลังพออยู่เกาะลมหายใจเข้าออกก็ได้ แต่ถ้าเวทนามันมาก ๆ ลมหายใจเข้าออกมันยังไม่อยากจะเกาะเลย มันก็เหลือแต่สติสัมปชัญญะกับปัญญาของเราเท่านั้นเองว่าเราจะเลือกอะไร