สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  สมัยก่อนมีมนุษย์ต่างดาวด้วยหรือ ?
      ตอบ :  สมัยนี้ก็มี ปัญญาเขาสูงมาก ขณะนางภิกษุณีเลี้ยงนกแขกเต้าไว้ นกแขกเต้าเป็นนกแก้วประเภทหนึ่ง ภาษาไทยเราเรียกว่า นกแก้วหัวแพร คราวนี้นกแขกเต้าเขาไม่ได้กักไม่ได้ขัง มันก็บนเล่นอยู่ในอาราม วันนั้นเหยี่ยวมันโฉบมาฉกเข้าให้ ภิกษุณีเห็นก็ตกใจตบมือร้องเสียงดัง เหยี่ยวก็ตกใจเหมือนกันมันก็เลยปล่อย นกแขกเต้าก็เลยบินกลับมาหาภิกษุณี ภิกษุณีก็ถามว่าเธอรู้สึกอย่างไรตอนนั้น นกแขกเต้าเป็นนกแก้วมันก็เลยพูดได้ บอกว่าร่างกระดูก กำลังเอาร่างกระดูกไปกิน ขนาดนกยังเก่ง แล้วคนจะไม่เก่งได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ามหาสติปัฏฐานสูตร จริง ๆ แล้วละเอียดมากยากแก่การปฏิบัติ เพราะว่าท่านเทศน์สอนเฉพาะ ถ้ากำลังใจไม่ได้ขนาดชาวแคว้นกุรุ ตรงนั้นแหละก็เป็นอื่นว่าเข้าถึงได้ยาก
      ถาม :  ชาวแคว้นทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ?
      ตอบ :  ไม่ทราบเหมือนกันจ้ะ
      ถาม :  เป็นไปได้หรือที่ปัจจุบันเขาจะให้มีภิกษุณีขึ้นมา ?
      ตอบ :  เป็นไปไม่ได้ แต่เขาอยากจะมีก็ให้เขามีเถอะ ก็ไม่ใช่ภิกษุณีหรอก
      ถาม :  แล้วจะกราบไหว้ได้อย่าง ในเมื่อไม่ใช่มาจากต้นของพระพุทธศาสนา ?
      ตอบ :  จะไปยากอะไรเล่า ไม่วาคนดีหรือคนเลวก็ตาม ท้ายสุดก็เข้านิพพานทั้งหมด เราก็ไหว้อนาคตพระอรหันต์ไปสิ มองข้ามไปโน่นเลย ในที่สุดก็ต้องเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว เราก็ชิงไหว้เสียตั้งแต่ตอนนี้เอากำไรไว้ก่อน ง่าย ๆ ดี
      ถาม :  เขาก็ไม่ได้บวชที่เมืองไทย บวชที่ศรีลังกา ?
      ตอบ :  ทางด้านโน้นเขาคือสายมหายานยังไม่ขาดช่วงลง แต่ถ้าหากว่าตามสายเถรวาทขาดช่วงไปนานแล้ว เพราะภิกษุณีเขาต้องมีครุธรรม ๘ ประการ ที่สาหัสสากรรจ์มาก อย่างเช่น ภิกษุณีแม้บวชเป็นร้อยปีก็ต้องรับคำสั่งสอนจากภิกษุ ไม่ใช่สั่งสอนภิกษุ ภิกษุณีแม้บวชเป็นร้อยปีก็ต้องรับคำสั่งสอนจากภิกษุ ไม่ใช่สั่งสอนภิกษุ ภิกษุณีแม้บวชเป็นร้อยปีก็ต้องไหว้ภิกษุที่เพิ่งบวชไปวันนั้น ภิกษุณีจะต้องปวารณาต่อสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายของตนและฝ่ายของภิกษุด้วย ภิกษุณีจะต้องได้รับการญัตติจากสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือบวชในฝ่ายภิกษุณีและจะต้องมาบวชในฝ่ายของภิกษุด้วย ซ้ำอีกจึงจะสมบูรณ์แบบ ก่อนจะเป็นภิกษุณีเขาต้องเป็นนางสิกขมานา มาก่อนคือถือข้อห้ามต่าง ๆ อยู่ ๖ ข้อ ถ้าหากว่าใครบกพร่องภายใน ๒ ปี ที่ถืออยู่ ห้ามบวชเลย
              ในเมื่ออยากขนาดนี้ พอนาน ๆ ไปในระยะหลังช่วง ๒ ปี บางทีอาจารย์ที่เป็นพระอุปชฌาย์ตายเสียก่อน ก็เลยไม่มีที่จะบวชให้ ก็ค่อย ๆ สลายขาดช่วงไป คราวนี้ทางด้านโน้นเขาถือว่าของเขายังมีอยู่ ก็ให้ถือไปเราเองก็อย่าไปคิดไปค้านอะไร เจอหน้าก็กราบไหว้ไปเลย ถือว่าไหว้อนาคตพระอรหันต์ไปก็แล้วกัน กี่วันท่านจะดีจะชั่ว ต่อไปจะรับผลอย่างไร เราไม่ต้องไปคิด เพราะคิดไปก็ลำบากเปล่า ๆ
      ถาม :  เขามาออกโทรทัศน์ ดูแล้วไม่รู้จะไหว้ดีหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ไหว้ไปเลยจ้ะ ไหว้ไปเลย มีแต่กำไรล้วน ๆ อปจายนมัยการอ่อนน้อมถ่อมตนมีปกติ กราบไหว้ผู้อื่นกำไรทั้งนั้นแหละ
      ถาม :  ปกติคนที่มีมิจฉาทิฐิมามาก เราจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาอย่างไร ?
      ตอบ :  ช่วยเหลืออย่างไร คุณต้องรู้จริง ลำบากตรงนี้ ต้องรู้จริงว่าของเขาเองในอดีตทำบุญทำกรรมอะไรมา แล้วก็จี้จุดอ่อนเขาตรงนั้น ในเมื่อจี้จุดอ่อนเขาเองตรงนั้นเขาจะเกิดความสนใจขึ้นมา และเมื่อถึงวาระถ้าเขาสนใจขึ้นมาแล้วก็ค่อย ๆ วางยา วางยาแบบนี้ถ้าเขาได้ดีแล้ว เขาจะขอบใจเราเสียด้วยซ้ำไป
      ถาม :  ที่บอกว่าเอาตัวอย่าง....(ไม่ชัด)..............
      ตอบ :  ก็เอาตัวอย่างในธรรมบทที่อาจารย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชที่อดีตเคยเป็นงูเหลือมแก่ ทำนายเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราชตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นแล้วเป็นจริงตามนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชก็ให้คนไปควานหาตัว พอเจอแล้วก็ให้อัญเชิญมาเพื่อแต่งตั้งเป็นราชครู ในลักษณะสังฆราชอย่างนั้นแหละ คราวนี้ท่านผ่านสำนักของพระภิกษุสงฆ์เข้า เราเป็นอเจลกะชีเปลือยแท้ ๆ ยังจะได้เป็นราชครูเลย เดี๋ยวต้องเข้าไปคุยอวดพระเสียหน่อย ปรากฎว่าไปเจอของดีเข้า เจอพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณเป็นเจ้าอาวาส
              คราวนี้ในวัดของท่านสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยเป็นศัตรูก็กลายเป็นมิตรกัน เสือเป็นเพื่อนกับกวาง แมวเป็นเพื่อนกับหมา ท่านเองก็แปลกใจมาก เดินไปจนกระทั่งเข้าไปถึงกุฏิก็กราบพระ แล้วก็ถามว่าตัวอะไร ตัวอายตนะอย่างไร พ่อคุณ แล้วนี่ตัวอะไร ตัวอายตนะอย่างไรไงพ่อคุณ พอได้ฟังแค่ ๓ อายตนะเท่านั้นระลึกชาติได้ เพราะว่าสมัยที่ท่านเป็นงูเหลือมแก่ท่านท่านได้ฟังบทที่เขาเรียกว่า ปัญจักขันธาใหญ่ จะขึ้นต้นด้วย ปัญจักขันธา รูปักขันโธ แล้วก็จะมี รูปายตนัง โสตายตนัง ฆานายตนังอะไรพวกนั้นแหละ จะขึ้นด้วยว่า อายตนะ พอบอกอายตนะ คือสิ่งที่สัมผัสทั้งภายนอกทั้งภายใน ท่านระลึกได้เดี๋ยวนั้นเลย ก็เกิดความอายขึ้นมาว่าเราเสียทีที่บวชมาแต่ดันกลายเป็นพระที่แก้ผ้า พระท่านเห็นว่ารู้ตัวก็เลยโยนผ้าให้นุ่ง แล้วก็เทศนาให้ฟัง ท่านก็เลยกลายเป็นอรหันต์ อันนั้นกระทุ้งของเก่านิดเดียว เรารู้ได้ขนาดนั้นไหม ? ถ้าไม่ได้ขนาดนั้นก็แนะนำแต่ขั้นแรก ๆ หรือไม่ก็อยู่ลักษณะว่าอาตมาเคยแนะนำเพื่อนคนหนึ่งสมัยนั้น ยังไม่ได้บวช ๗ ปีเต็ม ๆ ไม่ได้แนะนำในลักษณะสอนแม้แต่คำเดียว แต่ทำตัวเป็นตัวอย่างให้ดู คือเวลาปกติเราก็กินด้วย เที่ยวด้วย เล่นด้วย จะไปดูหนัง ฟังเพลง เดินห้าง อะไรไปทั้งนั้นแหละ แต่พอถึงเวลาหลวงพ่อมาซอยสายลมหรือว่าที่วัดท่าซุงมีงานจะบอกเขาว่า ตอนนี้ไม่ไปด้วยนะต้องไปช่วยงานหลวงพ่อก่อน แล้วเราก็หายหัวไป ๓ วัน ๕ วัน กว่างานจะเสร็จถึงจะกลับมาใหม่
      ถาม :  ตอนนั้นยังไม่ได้บวช ?
      ตอบ :  ยังไม่ได้บวช ตอนนั้นกำลังวัยรุ่นกำลังคะนองอยู่ แต่ว่าของเราพื้นฐานตั้งแต่เด็กมันแน่นกว่านั้นเยอะ ตอนนั้นเกาะหลวงพ่อชนิดที่ตีก็ไม่ไปไล่ก็ไม่หนีแล้ว แล้วรู้จักหลวงพ่อได้อย่างไร ? อันนั้นเอาไว้ก่อน คราวนี้พอเราทำอย่างนั้นปีแล้วปีเล่าเขาก็เฉย ๆ ก็เป็นเรื่องของเขา เราต้องรอจังหวะให้ดีเพราะถ้าไม่ถูกจังหวะประเภทยัดไปแล้วเขาคายทิ้งเสียด้วยซ้ำไป รอไป ๆ เรื่อย ๆ จนถึงปีที่ ๗ วันนั้นบอกว่าตอนนี้ไปด้วยไม่ได้แล้วนะ วัดมีงานนัองไปช่วยงานที่วัดก่อน เขาถามว่าหลวงพ่อมีอะไรถึงได้ไปทุกครั้ง คราวนี้ถามแล้วก็บรรยายเป็นฉาก ๆ ไปเลย ท่านมีอย่างนี้ ๆ ท่านสอนแบบนี้ ๆ สนใจไหม เขาก็สนใจก็เลยพาไปฝึกมโนมยิทธิ เขาก็เก่งอีก ฝึกครั้งเดียวได้เลย วาระบุญเขามาถึงจริง ๆ เราทนรออยู่ ๗ ปี พอฝึกครั้งเดียวได้เลย คราวนี้ไม่ต้องแล้วเขาไปเอง
              เพราะฉะนั้น บางอย่างต้องรอระยะ รอเวลาที่ถูกต้องและสมควร ถ้าหากรู้ได้ขนาดนั้นก็สบาย ตัวนี้จะเป็นยถากัมมุตาญาณ รู้ว่าแต่ละคนทำอะไร ผลเป็นอย่างไร ให้ผลวาระไหน แล้วก็โฉบไปตอนช่วงนั้น ไหวไหม ๗ ปีเท่านั้นไม่นานหรอก ตายก่อนก็เจ๊งเลย บังเอิญบุญเขาก็ยังดี ๗ ปี ยังอุตส่าห์ถา
      ถาม :  ตัวเองอยากจะไปฝึก รู้จักหลวงพ่อมาประมาณก็ไม่เกินปี ๒๖ ไม่เคยฝึกมโนเลย วันนี้ได้ไปฝึกก็ยังงงว่าทำไมอย่างหนูก็ ?
      ตอบ :  วาระถึงแล้วของอาตาแรก ๆ ก็เหมือนกันตอนนั้นโยมพ่อตายเราดูแลท่านทั้งกลางวันทั้งกลางคืนตลอด๖ ปีเต็ม ๆ พี่ชายกลับไปแล้ว พี่ก้องเอาคู่มือปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อมาให้อ่าน ถ้าทำได้ก็ทำจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจความจริงพ่อตายเราดีใจ โอ้โห! เด็กวัยรุ่นกำลังกินกำลังนอนต้องมานั่งถ่างตาทั้งกลางวันกลางคืน ตกนรกชัด ๆ พ่อตายเราดีใจจะตาย แหม! มาว่าเราเสียใจ คราวนี้ชอบสิ เรื่องการปฏิบัติมีพื้นฐานตั้งแต่เด็กแล้ว พออ่านแล้วทำไมง่ายอย่างนี้ล่ะ ก็เลยเร่งทำใหญ่ ยิ่งทำจะยิ่งได้ผล หลวงพ่อรูปนี้ต้องเก่งแน่ ก็เลยเชิดชูหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์อยู่ในใจ พอดีว่าเรียนจบมัธยมต่างจังหวัดก็เข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้เรียนต่อหรอกมาทำงาน ตอนทำงานก็รู้ว่าหลวงพ่อมาซอยสายลม แต่ไม่ไปหรอก ถึงเวลาที่หลวงพ่อมาพี่ชายเขาชวนจะไปไหม ไม่ไปหรอกฝากแต่เงินไปทำบุญ ฝากไป ๆ ก็สงสัยว่ามีอะไรดีเขาไปกันทุกเดือน ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นปฏิบัติแล้วนะ ก็ดีอย่างเดียวว่าหลวงพ่อเก่ง แต่ไม่รู้ว่าหลวงพ่อดีอย่างไร ไปดูเสียหน่อย ไปดูก็ไปนั่งรอ ๆ จนเวลา ๘.๓๐ น. หลวงพ่อลงรับแขก กราบทำบุญสังฆทานกับท่านเสร็จก็กลับ ทำบุญสังฆทานเสร็จก็กลับ คราวนี้ไปกลับตอนฉันเพล ทำบุญสังฆทานเสร็จก็นั่งดูหลวงพ่อรับไป ๆ พอเพลหลวงพ่อขอตัวขึ้นไปฉันเพลก่อนนะลูก เราก็กลับ เป็นอย่างนั้นทุกวัน ไป ๆ มา ๆ เกิดนึกขึ้นมา แล้วตอนบ่ายเขาทำอะไรกันบ้าง อยู่ต่อ ๆ จนถึง ๔ โมงเย็น หลวงพ่อขึ้นไปเราก็กลับ ก็เป็นอยู่อย่างนั้นหลายเดือน เป็นปี เกิดนึกว่าแล้วกลางคืนเขาทำอะไรกันล่ะ แล้วก็อยู่ต่อ หลังจากนั้นแทนที่จะไปแค่วันเดียวก็ไปทุกวันเลย ค่อย ๆ ขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็กลายเป็นติด หลังจากนั้นก็ไม่แคร์เรื่องงานแล้วอยากจะไล่ออกก็เชิญ ถึงเวลางานหลวงพ่อก็ต้องไปช่วย ไปก่อนงาน จัดงานให้เรียบร้อย หลังงานเก็บเสร็จเรียบร้อยถึงกลับ หลวงพ่อมาซอยสายลมท่านมาถึงวันศุกร์ เช้าวันศุกร์เราก็หายจ้อยจากที่ทำงาน กลับไปอีกทีเช้าวันอังคาร
      ถาม :  เคยฟังเทศน์ธรรมาสน์หลวงพ่อสด ไม่เข้าใจ ปวดหัว พอมาฟังของหลวงพ่อแล้วชอบ ?
      ตอบ :  คือบางท่าน ของเราทำบุญกับท่านมาน้อยเรียกว่าร่วมบุญกับท่านมาน้อย เราฟังจะไม่ได้ใจหรือเข้าใจยาก
      ถาม :  อย่างวิชาธรรมกาย กระทบที่ว่า ๗ จุดมาถึงระหว่างอก ฟังแล้วไม่เข้าใจ แล้วสับสนวุ่นวาย ?
      ตอบ :  ของเราก็แค่นึกตาม หายใจเข้า ผู้หญิงก็จับช่องจมูกซ้าย ผู้ชายก็จับช่องจมูกขวาใช่ไหมล่ะ ฐานที่ ๒ เพลาตาอยู่ตรงข้างในใช่ไหมล่ะ จอมกระหม่อมก็อยู่ตรงกึ่งกลางหัวเขาเรา เพดานปาก รู้ ๆ อยู่ว่าอยู่ตรงไหน กึ่งกลางอกลงไปที่ศูนย์เหนือสะดือ
      ถาม :  ฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่มาถึงหลวงพ่อทำไมท่านไม่เห็นสอนกระทบ
      ตอบ :  เรื่องของการปฏิบัติ โดยเฉพาะอานาปานสติ ผุสสนา อผุสสนา ปริสุทธา ฯลฯ ภาษาบาลีจะยากเขาแยกเป็นหลายประเภท ผุสสนาก็คือ จับสัมผัส มีสัมผัสจุดเดียว สัมผัส ๓ จุด สัมผัส ๗ จุด อผุสสนา ไม่เอาสัมผัส รู้ลมตลอดสายไปเลย อย่างปริสุทธาที่เรียกว่า พิจารณาวิปัสสนาญาณควบกับลมหายใจเข้า-ออก ท่านจะแยกเป็นประเภท ๆ ไว้ ทีนี้เราชำนาญอันไหนก็เอาอันนั้น จะมีคำภาวนาหรือไม่มีคำภาวนาก็ได้ ให้รู้ลมไว้ก็แล้วกัน
      ถาม :  ถ้าภาวนาอยู่แล้วหยุดทุกอย่างเลย หยุดเองไม่มีคำภาวนา ไม่รู้ลมหายใจเข้า-ออก
      ตอบ :  จ้ะ
      ถาม :  อันนี้เป็นอาการอย่างไร ?
      ตอบ :  ก็ต้องประมาณฌานที่ ๒ คือปฐมฌานลมหายใจจะรู้สึกว่าเบาลง มันจะภาวนาของมันเป็นอัตโนมัติ แต่ถ้าหากถึงฌานที่ ๒ ลมจะละเอียดจนเราจับความรู้สึกไม่ได้ คำภาวนาก็หยุดลงโดยอัตโนมัติ เอาจิตตามดูตามรู้ไปเฉย ๆ
      ถาม :  แล้วจะขึ้นฌานที่ ๓ และ ๔ ได้อย่างไร ?
      ตอบ :  ก็ตามดูตามรู้ไปเรื่อย ถึงเวลาแล้วพอฌาน ๓ เข้ามา ตามที่หลวงพ่อท่านว่ามันแน่นตึงเป๋ง เหมือนกับใครมัดติดกับหลัก อาตมาอยากจะใช้คำพูดเหมือนกับเรากลายเป็นหิน ความรู้สึกทางปลายมือปลายเท้ามันจะหมด มันรวมเข้ามา ๆ บางทีเริ่มจากจุดแถวริมฝีปากหรือจมูก จะรู้สึกว่ามันแข็งตรงนั้น แล้วขยายกว้างออก ๆ จนตัวเหมือนว่ากลายเป็นหินไป เสร็จแล้วถ้าเราตามดูไปเรื่อย ความรู้สึกเหมือนจะรวบเข้า ๆ จะรวบเหลือจุดเดียว อาจจะอยู่กึ่งกลางศีรษะ อยู่กึ่งกลางอก อยู่กึ่งกลางท้อง ก็แล้วแต่ว่าเราจะจับจุดไหน จะสว่างโพลงเจิดจ้าอยู่อย่างนั้น ตอนนี้ไม่รับรู้อาการภายนอกหรอก ฟ้าผ่าหรือยิงปืนข้างหูก็ไม่ได้ยิน จิตเป็นสุขแนบแน่นอยู่กับสมาธิตอนนั้น อาการที่คนภายนอกดูคือตายแน่ ๆ เพราะลมหายใจไม่มี แต่จริง ๆ แล้วมีลมละเอียดอยู่ ลมละเอียดนี่ทางการแพทย์เขาจับไม่ได้ แต่ของเราสภาพจิตละเอียดมากก็เลยเห็นเป็นเส้นด้ายเล็ก ๆ ใสแจ๋วอย่างกับเส้นเอ็นอย่างนั้น วิ่งอยู่ระหว่างจมูกกับท้อง เส้นนี้ขาดเมื่อไรตายเมื่อนั้น คราวนี้ แหม! ประเภทตอนนั้นเส้นเล็ก ๆ ขนาดนั้นเกาะง่ายเหลือเกิน คือจิตละเอียด ของเล็กก็เห็นเป็นของใหญ่
      ถาม :  ............(ไม่ชัด)...........?
      ตอบ :  เขาให้รู้ไว้เฉย ๆ ถ้าตายตอนนี้เราก็ไปดีเพราะเราภาวนาอยู่ จะเป็น ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรกอาจจะเป็นขันธมาร คือร่างกายมันเห็นว่าเราจะได้ดี มันจะพยายามจะขวางเพื่อดึงความสนใจให้เราไปอยู่กับมัน ไม่ใช่ดึงความสนใจอยู่กับการภาวนาหรือการตามดูตามรู้ ถ้าเราให้ความสนใจกับมันเมื่อไรก็เสร็จเมื่อนั้น ถ้าเราคิดว่าเอ็งจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ตายไปตอนนี้เราก็ไปดีอยู่แล้ว มันก็ไม่ยุ่งกับเรานานหรอก มันเป็นอยู่ครู่เดียวก็จะคลายตัวไป ส่วนใหญ่แล้วมันสำเร็จ คือมันสามารถดึงความสนใจเราไปอยู่กับมันได้ทุกทีเลย
      ถาม :  มิใช่เราสำเร็จ ?
      ตอบ :  เราไม่สำเร็จหรอก มันสำเร็จ
      ถาม :  ที่เขาฝึกกรรมฐานอยู่ แล้วแม่ก็อยู่ ตัวเขาก็ลอยขึ้นมาเกิดจากอะไร ?
      ตอบ :  อันนี้เป็นกำลังของอุพเพงคาปีติ ตัวปีตินี้เริ่มจะเป็นฌาน เป็นขั้นตอนเท่านั้นยังไม่เป็นฌาน ยังห่างฌานอยู่ ๒ ขั้น คือจะมีวิตก คิดอยู่ว่าจะภาวนา วิจารณ์ รู้อยู่ว่าตอนนี้ภาวนาอย่างไร ลมหายใจแรง เบา ยาว สั้น ปีติมีความอิ่มเอิบใจ ปีติมี ๕ อย่าง จะมีขณิกาปีติ ปีติเล็กน้อย คือขนลุกซ่าเป็นระยะ ๆ ขุททกาปีติ น้ำตาไหล บางทีไลพราก ๆ ไหลเป็นวัน ๆ เลย โอกกันติปีติ ตัวโยกไปโยกมา บางทีก็ดิ้นตึงตัง ๆ เหมือนเขาปลุกพระ ผีเข้า แล้วก็จะไปเป็นอุพเพงคาปีติ ลอยขึ้นทั้งตัว บางทีก็ลอยรอบ ๆ ห้อง บางทีก็ลอยไปไกล ๆ ผรณาปีติรู้สึกตัวพอง ตัวใหญ่ บางทีตัวรั่วเป็นรู มีอะไรไหลมาซู่ซ่าไปหมด บางทีระเบิดตูมตามเหมือนกับเป็นผงไปเลยแล้วถ้าหากลอยไปไม่ต้องห่วงหรอก ประคองจิตให้มั่นคงแล้วค่อย ๆ ลืมตาดู แล้วจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วมันลอย อาตมาเคยลอยตอนนั้นตะครุบกบเพราะว่าภาวนาอยู่ ๆ ตอนลอยไม่รู้หรอก มารู้สึกตัวก็มีอะไรวูบ ๆ อยู่ข้างเอว ก็ลืมตาดู พัดลมเพดาน ตัวลอยขึ้นไปห่างพัดเลมนิดเดียว แล้วพัดลมก็หมุนอยู่ เราก็รู้สึกตกใจมีอะไรวูบ ๆ อยู่ข้างเอวก็ตกใจ ตกใจสมาธิก็คลายก็ร่วงตึง แหม! ก้นแทบพัง หลังจากนั้นทุกครั้งต้องปิดพัดลมเพดาน อันนั้นยังดีไม่ได้นั่งตรงพอดีพัดลม ไม่เช่นนั้นหัวขาด แต่จริง ๆ แล้วกำลังฌานป้องกันอันตรายได้ เราไม่แน่ใจว่าเรานั่งตรงหรือมันขยับให้หรือเปล่า แต่ความรู้สึกเหมือนว่ามีอะไรมาวูบ ๆ อยู่ข้างเอว ก็เลยเหลือตาดู พัดลมเพดาน
      ถาม :  อรูปฌานกับรูปฌานเป็นอย่างไร ?
      ตอบ :  อรูป คือไม่อาศัยรูป รูปฌาน คือยังอาศัยรูปอยู่ อย่างเช่นว่าเรายึดภาพกสิณเป็นรูปฌาน อรูปฌานเขาไม่ยึดภาพกสิณ ไม่ยึดรูป ยึดความรู้สึกแทนคือ ไม่เอารูป อย่างเช่นว่า พอรูปกสิณอยู่ตรงหน้าเราก็เพิกก็คือไม่สนใจมันเสีย ไปจับความว่างของอากาศแทน ตราบใดที่มีรูปคือร่างกายนี้อยู่ ตัวเราก็ทุกข์ไม่รู้จบ แต่ถ้ามันว่าเหมือนกับอากาศ เราก็ไม่ทุกข์เหมือนอย่างนี้หนอ ความจริงความคิดนี้มันถูกไม่หมด แต่ว่าช่วงนั้นเขาจะคิดอย่างนั้น พอก้าวข้ามตรงจุดนั้นไปเต็มที่ก็ตั้งรูปขึ้นมาใหม่ แล้วก็ไม่สนใจในรูปอีก ก็ไปคิดว่า เออ! ถึงแม้อากาศจะกว้างขวาง ไร้ขอบเขต ก็ยังมีความรู้สึก คือวิญญาณคอยควบคุมได้ วิญญาณไม่มีขอบเขตมากกว่า ก็ไปสนใจความไม่มีขอบเขต ความว่างของวิญญาณแทน พอขึ้นเต็มที่เต็มอารมณ์ก็ตั้งรูปขึ้นมาใหม่ แล้วก็ไปพิจารณาว่าแม้กระทั่งรูปนี้ก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ทุกสิ่งทุกอย่าง คน สัตว์ วัตถุธาตตุ สิ่งของ ในที่สุดก็สลายพังไปหมด ไม่มีอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว ในเมื่อเขาไม่ยึดรูปเป็นหลักคือ อรูป ไม่มีรูป
      ถาม :  รูปฌานก็คือยึดรูป อรูปฌานก็คือไม่ยึดรูป รูปทุกอย่างใช่ไหมเจ้าคะ ?
      ตอบ :  ลักษณะของการภาวนาทั่ว ๆ ไปเขาเรียกรูปฌาน เพราะว่าส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องด้วยนิมิตต่าง ๆ แต่อรูปฌานเขาไม่เอาแล่วนิมิต เขาจะทิ้ง เขาถึงได้เรียกว่า อรูปฌาน
      ถาม :  .........(ไม่ชัด)...................
      ตอบ :  ตอนนั้นพอพิจารณาไปเต็มที่แล้วก็จะก้าวเข้าไปถึงอารมณ์ทรงตัวของฌาน ๔ เหมือนกำลังขออรูปฌานนั่นแหละ พอเต็มที่ พอรู้ว่าเต็มแล้วเราก็คลายกำลังใจออกมา แล้วจับตัวใหม่ต่อ กำลังของอรูปฌาน ก็เท่ากับฌาน ๔ ทุกอัน เพียงแต่ว่าเปลี่ยนลักษณะของการคิด เปลี่ยนลักษณะของการยึดเกาะ ก็กลายเป็นอรูปฌานไปก็เท่านั้นเอง กำลังก็เท่ากับฌาน ๔ ทุกอย่าง ฟังแล้วมึน ขอบอกว่ายาก อาตมาปล้ำกรรมฐาน ๔๐ กองมา กรรมฐาน ๘ กองคือ พรหมวิหาร ๔ กอง และอรูปฌาน ๔ กอง โอ้โห! เขี้ยวลากดินเลย แทะกันฟันบิ่นก็ยังเอาไม่อยู่ รูปราคะ อรูปราคะอยู่ในสังโยชน์ ๑๐ ก็เลยสนใจคำว่ารูปฌาน อันนั้นเขาหมายถึงว่าไปยึดติดกับมันคือ เวลาที่เราทำได้จะสุขเยือกเย็นอย่างบอกไม่ถูก แต่กำลังปฐมฌานพอเราเข้าถึงมันจะกดกิเลสคือ รัก โลภ โกรธ หลง ๔ กอง ที่เป็นไฟใหญ่เผาเราอยู่ให้ดับลงชั่วคราว คนที่โดนไฟเผาตลอดเวลาอยู่ ๆ ไฟดับนี่สุขขนาดไหนมันบอกไม่ถูก
              คราวนี้ปฐมฌานยังสุขขนาดนี้ แล้วฌาน ๒ จะสุขแค่ไหน ฌาน ๓ จะสุชกว่าแค่ไหน และฌาน ๔ จะสุขแค่ไหน ทำให้ถึงแล้วจะรู้ ในเมื่อมันสุขขนาดนั้นส่วนใหญ่ยึดอยู่ตรงนั้น แค่นี้ก็พอแล้วสบาย อรูปฌานยังละเอียดเข้าไปอีก เพราะว่าบวกวิปัสสนาญาณกลาย ๆ คือ มีลักษณะที่ไม่เอารูปใช่ไหม ? ในเมื่อกำลังยังเหนือมากขึ้นไปอีกก็ยิ่งน่ายึดมากกว่า ถามว่าทำอย่างไรถึงจะหลุด ไม่ต้องทำหรอก ยึดให้มันมากเข้าไว้ เพียงแค่เปลี่ยนที่หน่อยเดียว ใช้กำลังของมันเกาะนิพพานยิ่งได้มโนมยิทธิยิ่งดีเลย ใช้กำลังทั้งหมดเกาะนิพพาน กราบพระอยู่ตรงหน้านั่น ตายเมื่อไรก็อยู่ตรงนั้นหละ ไม่เสียเวลามายึดรูปฌาน อรูปฌานหรอก ถ้าหากกลัวจะยึดติดในรูปฌาน อรูปฌาน สังโยชน์ใหญ่ทำให้เราเกาะวัฏสงสาร ก็เอากำลังของฌานไปเกาะพระนิพพานก็เป็นอันว่าจบ