ถาม:  บางคนที่บอกว่า "ฉันจะไปนิพพานน่ะ" แค่พูด ?
      ตอบ :  ไอ้นั่นพูดแต่ปาก ถ้าหากว่าเป็นพระพุทธเจ้าสร้างบารมีก็อ่วมเลย พระพุทธเจ้าสร้างบารมีนี่ท่านคิดว่าเราจะเป็นพระพุทธเจ้า ๗ อสงไขย พระพุทธเจ้าอย่างต่ำสุดคือ ปัญญาธิกะ พูดว่าเราจะเป็นพระพุทธเจ้าอีก ๙ อสงไขย รวมเป็นสิบหก แล้วตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าอีก ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป รวม ๆ แล้วยี่สิบแสนมหากัป
      ถาม :  นับเป็นชาติหรือคะ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ นับเป็นกัป แต่ละกัปอาจจะเกิดเป็นล้าน ๆ ชาติ...!
      ถาม :  คนเราเกิดได้เยอะขนาดนี้เลยหรือคะ ?
      ตอบ :  ก็มันเกิดมาแล้วนะ ลองย้อนหลังไปดูสิ เดี๋ยวก็เข็ดไปเองนั่นแหละ ตอนนี้เริ่มย้อนได้แล้วนี่ ของเราถ้าหากคิด เออ...สมาธิมันแป๊บ ๆ ตัวนี้จะช่วยให้อยู่ได้นาน เพราะมีเรื่องให้น่าสนใจ ดูย้อนไปเรื่อย แต่อย่าลืมนะ อย่าลืมว่านั่นเป็นอดีตผ่านมาแล้ว เราแก้ไขไม่ได้ เรายินดียินร้ายกับมันไม่ได้ เอาไว้เป็นบทเรียนอย่างเดียวว่า เกิดมาขนาดนี้แล้ว ก็ยังโง่เกิดอยู่ ควรที่จะเลิกโง่ได้แล้วหรือยัง ?
      ถาม :  ก็เลิกยากนะคะ เพราะว่าเกิดเป็นคนแล้ว เจอทุกวันเลย
      ตอบ :  เขาถึงว่า ผู้ที่สามารถทำได้ เขาเรียก "พระอริยะ" ผู้เจริญแล้ว เจริญในทางธรรมโดยส่วนเดียว หมายความว่ามีแต่ก้าวหน้าขึ้น ไม่มีการถอยหลังลง ส่วนทั่ว ๆ ไปก็คือ "ปุถุชน" ผู้ยังหนาแน่นด้วยกิเลสอยู่
      ถาม :  แสดงว่าพระอริยเจ้าที่ท่านทำได้ หมายถึงว่าท่านก็ทำใจให้เพิกเฉยกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ เรื่องของท่านที่ท่านเฉยน่ะ ไอ้เฉยนั่นเป็นคำพูดของเรา แต่ว่าการกระทำของท่านจริง ๆ ไมใช่อย่างนั้น ทุกอย่างท่านยังคงทำหน้าที่ตามปกติ และดีกว่าปกติด้วย เพราะว่าสติท่านสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกัน ประสบเรื่องที่เป็นสุข ท่านก็ไม่ยินดีกับมัน ประสบเรื่องเป็นทุกข์ ท่านก็ไม่ยินร้ายกับมัน กำหนดรู้แล้วก็ทิ้งไป กองมันไว้ตรงนั้นแหละ ไม่ได้แบกมันขึ้นมา
              แต่ส่วนใหญ่ของพวกเราคือ พอเรารู้สึกว่าสุข เราก็กอบโกยมันให้เยอะ พอเรารู้ว่าทุกข์ เราเองก็ไปแบกมันไว้ โอ้โฮ...หนักเหลือเกิด ลำบากเหลือเกิน แต่ของท่านไม่เอาเลย จะสุขจะทุกข์ท่านกองไว้ตรงนั้นแหละ กำหนดรู้แล้ววาง เห็นว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้น เกิดมาเจออย่างนั้นมันก็ต้องสุข เอจอย่างนี้มันก็ต้องทุกข์ จะสุขจะทุกข์ก็ไม่สามารถที่จะช่วยอะไรเราได้หรอก ติดสุขอย่างเก่งก็เป็นโลกีย์ เป็นโลกีย์อยู่ ติดทุกข์ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ดีไม่ดีเจออบายภูมิไปเลย เพราะฉะนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ "วาง"
      ถาม :  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรคล้าย ๆ กับว่าต้องทำใจ ?
      ตอบ :  ลักษณะคล้าย ๆ กับทำใจ แต่ว่าพระอริยเจ้าท่านมีปัญญา ท่านจะดิ้นรนจนสุดความสามารถก่อน หมดกำลังกาย หมดกำลังใจ หมดกำลังสติปัญญา หมดกำลังคน หมดกำลังทรัพย์ แก้ไขไม่ได้แล้ว ท่านจะวางยอมรับว่าเป็นกฎของกรรม แต่ถ้ายังมีความสามารถแก้ไขได้ แม้แต่ ๐.๐๑ เปอร์เซ็นต์ ท่านจะดิ้นดูก่อน ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ปล่อยไปเฉย ๆ ของท่านยังมีการกระทำอยู่ เพียงแต่ท่านไม่ได้ยินดียินร้ายต่อการกระทำนั้นเท่านั้น คำพูดเขาใช้ว่า ยังมีกิริยาอยู่เป็นปกติ เพียงแต่ไม่มีมายา ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อหลอกใครแล้ว
      ถาม :  ถ้าทำไม่ได้เพราะว่ากฎของกรรมหรือคะ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่จ้ะ ทำไม่ได้แปลว่ายังทำไม่พอจ้ะ ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป คือถ้าหากว่าเป็นพระอริยเจ้าอย่างเช่นว่า เรื่องไหนที่ท่านแก้ไขไม่ได้ จนกระทั่งหมดความสามารถจริง ๆ แล้ว ท่านจะปล่อยวาง แต่ท่านวางอย่างคนมีปัญญา รอระยะเวลาที่สมควร ถ้าระยะเวลาที่สมควรมาถึง เห็นว่าพอมีช่องทางได้ ท่านก็ดิ้นใหม่ ท่านไม่ได้อุเบกขาเฉย ๆ จ้ะ ยังมีอุเบกขาในเมตตา อุเบกขาในกรุณา อุเบกขาในมุทิตา ถ้าอุเบกขาในอุเบกขาอย่างเดียว มันเบกแน่นไป
      ถาม :  อุเบกขาจริง ๆ ช่วยไม่ได้ แต่ว่าถ้ามีจังหวะช่วย ท่านจะช่วยได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ใช่ เขาเรียกว่า "อุเบกขาในเมตตา" พร้อมที่จะสงเคราะห์เขาเหมือนเดิม อย่างเช่นคนบางคนสมมุติว่าเขากินเหล้าอยู่ เราแนะนำเขาแล้วมันไม่ดี ไม่สมควร นอกจากเป็นโทษกับปัจจุบันแล้ว ตายแล้วยังมีโทษในอนาคต คือโลกหน้าด้วย ถ้าหากว่าคนยังมีอกุศลกรรมหนาแน่นอยู่ เขาจะไม่ฟังเรา ดีไม่ดีด่ามาซะด้วย ท่านก็ยอมรับว่า เออ...ในเมื่อแก้ไขไม่ได้ก็ปล่อยมันก่อน แต่ถ้ามีโอกาสเดี๋ยวเผลอ ๆ ก็โฉบเข้าไปแนะมันใหม่ ไม่ได้ทิ้งไปเฉย ๆ
      ถาม :  พูดถึงงานสมัยนี้ยากที่จะทำนะคะ อย่างกินเหล้า เราต้องเข้าสังคม เราก็ต้องกินอะไรอย่างนี้ ?
      ตอบ :  ยากตรงไหน ? ใครเขาบังคับว่าเข้าสังคมแล้วต้องกินเหล้า เป็นระเบียบของใคร ?
      ถาม :  ก็เป็นค่านิยมอย่างนี้ค่ะ ?
      ตอบ :  เป็นค่านิยม แล้วเราต้องนิยมตามเขาด้วยหรือ ? ลองดูสิว่าถ้าเราไม่กิน ใครจับเราง้างปากกอรกไปหรือเปล่า ? อยู่ที่เรา คนเราอยู่ในโลกไม่จำเป็นต้องติดในโลกและคล้อยตามดลกไป เคยสังเกตหยดน้ำบนใบบัวไหมล่ะ ? มันกลิ้งไปกลิ้งมาบนใบบัวนั่นแหละ ไปได้ทั่วเสียด้วยซ้ำ ไปแบบไม่ได้เกาะใบบัวเลย เพราะว่ามันมีอะไรล่ะ? มันมีตัวป้องกันตัวอยู่ของคนเรากรอบของการป้องกันตัวคือ "ศีล" ถึงเวลาทุกอย่างเราสามารถคล้อยตามได้หมด แต่ไม่จำเป็นต้องไปตามเขาเพราะเรามีศีล ไปถึงติดกรอบคือศีล เราก็ถอยกลับ เชื่อเถอะอาตมาทำมาแล้ว และทำในสภาพที่คนอื่นเขาทำไม่ได้ด้วย เพราะเราเป็นทหารอยู่ ไอ้ทหารกับเหล้ามันเป็นของคู่กัน ไม่จำเป็นต้องไปกินเลยก็อยู่ได้ เพื่อนมันต้องง้อเราด้วย เพราะว่าไอ้วงเหล้าถ้ามีคนมีสติอยู่ไม่มีเรื่องหรอก ถึงเวลามันเสียงดังก็ขอโทษโต๊ะข้าง ๆ ถ้ามันกลับไม่ไหวเราก็แบกมันกลับ ไปกับมันได้ มันกินเหล้าเราก็กินกับ สนิทสนมดีซะด้วย ดีไม่ดีมันถังแตกเราก็เลี้ยงมันอีกต่างหาก
      ถาม :  แล้วคิดว่าในอนาคตจะมีการยกเว้นอะไรบ้างไหมคะ ?
      ตอบ :  ยกเว้นอย่างไร ?
      ถาม :  หมายถึงว่า ศีล กฎของศาสนาพุทธกำหนดไว้นี่มีมานานแล้ว
      ตอบ :  สิ่งใดก็ตามที่พระพุทธเจ้าท่านกำหนดขึ้นมา สมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว บาลีท่านว่า "เกวะละปะริปุณณัง ประสุทธัง" บิรสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว ตัดออกก็ขาด เติมเข้าก็เกิน ไม่ต้องไปแก้ไข ไม่ต้องไปยกเลิก เราทำตามอย่างเดียวพอ ไม่ใช่งมงาย พิสูจน์มาแล้ว ตัดออกก็ขาดเติมเข้าก็เกิน โดยเฉพาะข้อกินเหล้าทำให้สติสัมปชัญญะบกพร่อง คนที่ขาดสติสัมปชัญญะ ศีลอีก ๔ ข้อรักษาไม่ได้หรอก มันก็ขาดไปด้วย
              ตอนไปเป็นทหารกินเหล้าเสร็จ มันก็ไปเที่ยวซ่อง ศีลข้อที่ ๓ ไปอีกแล้วใช่ไหม ? เออ...กลับมาไม่ทันโกหกผู้บังคับบัญชาอีก เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ข้อที่ ๔ ไปอีกข้อหนึ่งแล้ว เงินไม่พอขโมยเพื่อนไป ยืมไม่ได้ ไม่ให้นี่หว่า ขโมยเอาไปกินเหล้า โดนศีลข้อที่ ๒ ไปอีกข้อหนึ่งแล้ว ทะเลาะกันตีกันหัวแตกไม่พอ บางคราวถึงขนาดฆ่ากันเลย ศีลข้อที่ ๑ ก็ไปด้วย สรุปแล้วมาจากศีลข้อ ๕ ข้อเดียว แล้วคิดว่าถ้าตัดออกจะเป็นอย่างไร ? กินได้ ๔ ข้อก็ไม่เหลือแล้ว กินแต่น้อย บอกว่ากินอย่างมีสติ ไม่มีทาง กินเหล้าสติขาดทันที เพียงแต่ว่าขาดมากขาดน้อย ฝรั่งเขาทดลองแล้ว เขาให้กินไวน์ ๒ แก้ว หรือไม่ก็เบียร์กระป๋องหนึ่ง แล้วให้คนขับรถเก่ง ๆ ถอยรถเข้าซองที่เขาเอากรวยวางไว้ ชนกระจายมาเยอะแล้ว มันทำให้กะระยะผิดหมด ทั้ง ๆ ที่สติสมบูรณ์
              เพราะฉะนั้น...ใครว่ากินเหล้ายังมีสติ ไม่น่าจะมีโทษ ไม่มีทาง ลงไปเมื่อไรสติเริ่มขาด ตัวอย่างยายแมวบ้า กินไวน์ไป ๒ แก้ว วันนั้นบิดมอเตอร์ไซค์ ๑๒๐ ฝ่าไฟแดงอีกต่างหาก มันบอกแหม...มันจริง ๆ เลย นั่นแหละสติเริ่มขาดแล้ว มัน ๆ ไปตามอารมณ์เขา เหล้ามันไปย้อมให้ ไอ้นั่นแค่ไวน์นะ แอลกอฮอล์มันหน่อยเดียวใช่ไหม ? ยังทำให้ไปได้ขนาดนั้น พระพุทธเจ้าท่านห้ามแม้แต่น้อยก็ไม่ได้ เพราะว่าศีลเหมือนกับเขื่อน เขื่อนที่กักปริมาณน้ำอยู่จำนวนมหาศาล ถ้าเกินก็คือกิเลส ถ้าเราไม่กั้นขอบไว้ให้กิเลสอาละวาดได้ตามใจมัน ก็กลายเป็นอุทกภัย ท่วมเราจมตายไปตาม ๆ กัน คราวนี้ถ้ามีรูรั่วแม้แต่นิดหนึ่ง อนุญาตให้บกพร่องได้อย่างนี้ พอมีช่องทางออก แรงดันของน้ำมันดันมากขึ้น ๆ เขื่อนมันแตก เพราะฉะนั้น...ห้ามต่อรอง ทำไปเถอะ สิ่งทีท่านสอนสมบูรณ์อยู่แล้ว บอกแล้วว่า "ต่อไปก็เกิน ตัดออกก็ขาด" ไม่ต้องเสียเวลาคิดมาก ทำอย่างเดียว
      ถาม :  อย่างนี้แสดงว่าเป็นข้อนี้หรือเปล่าคะ ? ที่บอกว่า "ท่านจงเชื่อในท่าน" อย่างนี้ค่ะ
      ตอบ :  ไม่ใช่ ที่กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำเพราะทำแล้วเห็นผล ไม่ใช่เชื่อเฉย ๆ เราพิสูจน์ได้นี่ ปกติธรรมชาติของเรา ๆ อยากให้คนอื่นมาฆ่าเราไหม ? มาทำร้ายเราไหม ? ในเมื่อเราไม่อยากให้คนอื่นฆ่าเราทำร้ายเรา แล้วเราจะไปฆ่าเขาทำร้ายเขาทำไม ? เราอยากให้คนอื่นมาลักขโมยหยิบฉวยข้าวของของเราไหม ? ถ้าเราไม่ต้องการ เราก็ไม่ควรทำอย่างน้นกับคนอื่น คนที่เรารักอยากให้คนอื่นมาล่วงละเมิดแย่งชิงเราไปไหม ? เราไม่ต้องการเราก็ไม่ควรไปทำกับคนอื่นเขา เราอยากจะฟังแต่เรื่องดี ๆ เราก็ไม่ควรไปโกหกเขา เราอยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จะได้ประกอบหน้าที่ต่าง ๆ ให้ดีพร้อม เราก็ไม่ควรทำให้สติสัมปชัญญะขาดลงด้วยสุราเมรัย เราแค่ดูก็รู้ว่า "สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านไม่ได้สอนเพื่อใครเลย เพื่อตัวเราเอง" เราทำเราได้ล้วน ๆ ท่านไม่ได้บอกว่า "ทำแล้วต้องไปเคารพ ไปกราบไหว้" ท่านมิได้พูดถึง สอนเพื่อความสุขปัจจุบันของเรา และความสุขใอนาคตของเรา ปัจจุบันถ้าเราสามารถรักษาศีลได้อย่างน้อย ๆ ท่านบอกว่า "สีเลนะ สุคะติง ยันติ" ศีลทำให้คนไปสุคติได้ คือตายแล้วไม่หลง "สีเลนนะ โภคะสัมปะทา" รักษาศีลได้ โภคทรัพย์คือสมบัติต่าง ๆ ก็จะสมบูรณ์ คือคนถ้าไม่กินเหล้า เงินมันเหลือเอาง่าย ๆ แค่นั้น "สีเลนะ นิพพุติง ยันติ" ศีลเป็นเครื่องส่งให้ถึงพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้น...ก่อนจะเชื่อทำเสียก่อน ทำแล้วเห็นผลเราจะได้ยืนยันกับคนอื่นได้
              เมื่อครู่บอกแล้วว่า "ธัมมัสสวนมัย" ฟังธรรมแล้วนำไปปฏิบัติเสร็จแล้ว "ธรรมเทศนามัย" ปฏิบัติได้ผลแล้วสอนคนอื่น เป็นบุญทั้งนั้น
      ถาม :  ไม่สบายใจเรื่องที่ทำงานค่ะ คือเราทำงาน เราว่าเราทำงานตั้งใจแล้วค่ะ แต่ทำไมหัวหน้างานซึ่งเขาอายุมากกว่า เขาเหมือนว่าเขาไม่ค่อยชอบหน้าเรา ทั้งที่ว่าเราทำงานทุกอย่าง ?
      ตอบ :  เออ...เอาอย่างนี้ ไม่ต้องอธิบายจ้ะ บางคนเราเห็นหน้าแล้วเราชอบเขาเลยมีไหม ? แล้วบางคนพอเห็นหน้าแล้วไม่ชอบเลยมีไหม ? คนที่เราชอบเขาเลยน่ะ เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน อาจจะเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง ครูบาอาจารย์หรือคนที่เรารัก ไอ้คนที่เห็นแล้วไม่ชอบหน้าเลยน่ะ ส่วนใหญ่เป็นศัตรูกันมาก่อน ก็มาตั้งแง่ต่อในชาตินี้ จริง ๆ จะว่าไปแล้วคือเขาก็ไม่รู้ เพียงแต่เขารู้อยู่อย่างเดียวว่า เจอหน้าเราแล้วเขาไม่ชอบใจ ในเมื่อสภาพเป็นอย่างนั้น ต่างคนต่างตกอยู่ในสภาพความไม่รู้ ในเมื่อบัดนี้เรารู้แล้วเราควรจะให้อภัยเขาไหม ?
      ถาม :  ให้อภัยอย่างเดียว ?
      ตอบ :  เออ...ให้อภัยเขา ให้เห็นว่าคนที่ทำอะไรผิดแล้วมันยังไม่รู้ มันน่าสงสาร
      ถาม :  ................................
      ตอบ :  เอาเป็นว่าหัวหน้าเขาไม่ยุติธรรม เอาอย่างนี้ทำอย่างอาตมาสมัยที่เป็นทหารอยู่ ได้สองขั้นทุกปี จนกระทั่งปีที่สี่เจ้านายต้องหอบระเบียบมาชี้แจงว่า ตามระเบียบข้าราชการกลาโหมแล้วคุณจะรับสองขั้นต่อเนื่องกันเกินสามปีไม่ได้ อย่างน้อยปีที่สี่ต้องสละให้คนอื่นเขาก่อน เพราะฉะนั้น...ปีที่สี่ต้องขอให้คนอื่นเขาก่อน แล้วปีหน้าคุณค่อยเอา แต่คราวนี้ที่ทำงานน่ะทำอย่างไร ? ทำประเภทที่เรียกว่า ดีกว่าคนอื่นเขาทั้งหมด แล้วทำมากกว่าเขาทั้งหมด เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่าเราทำได้ขนาดนั้นจริง ๆ แล้วถ้าเขาไม่ให้แปลว่า อยุติธรรม อาตมากล้าชนนะ ประเภทจับคอเสื้อถามเลย "ทำไมผมถึงไม่ได้ ?" เรากล้าไหม ? ถ้ากล้าทวงสิทธิ์อย่างนั้นมันต้องได้ เพียงแต่ว่าผลงานของเรามันต้องดีจริง ๆ
      ถาม :  ทุกวันนี้ไม่อยากไปทำงาน
      ตอบ :  จำไว้ว่าที่ไหนที่มีปัญหาที่นั่นเป็นที่น่าสนุก ถ้าเราแก้ปัญหาได้จะเกิดความภูมิใจ ไอ้เรื่องที่คนอื่นเขาทำไม่ได้แล้วเราทำได้ ปัจจุบันนี้ในวงการพระของกาญจนบุรีเขาเห็นเป็นของสนุก อะไรที่เขาแก้ไม่ได้ เขาก็ส่งอาตมาไป มันเป็นบ้าเลย
      ถาม :  ............................
      ตอบ :  อะไรเป็นตัวบอกว่าเป็นจริง คุณเคยอยากไหม ? เคยอยากอะไรไหม ? พอคุณอยากปั๊บ เพราะว่าสิ่งที่คุณต้องการนั่นน่ะ ทำให้เราเลือกเฉพาะอย่างนั้นอย่างเช่นว่า คุณอยากได้เย็น พอได้ร้อนคุณก็ไม่เอา ก็เลือกแต่เย็น ถ้าคุณอยากได้อ่อน ได้แข็งมาคุณก็ไม่เอา คุณเลือกแต่ที่อ่อน นั่นคือลักษณะของการยึดติด พอคุณยึดติดปั๊บ มีที่ยึดนี่ ในเมื่อมีที่ยึดสถานที่ของการเกิดก็มีแล้ว เขาเรียกว่า "ภพ" หรือ "ภว" คุณก็พร้อมที่จะเกิด ในเมื่อคุณเกิดแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์โศกร่ำไรเสียใจปรารถนาไม่สมหวัง กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจเป็นปกติ แล้วคุณคิดย้อนหลังไปจะรู้ว่าเป็นจริงหรือเปล่า ? จริง ๆ เขาไล่กันมาจากอวิชชาโน่น ความไม่รู้ รู้ไม่ครบ เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คือจิตคิดปรุงแต่งเป็นปกติ ปรุงแต่งอะไร ? เห็นแล้วชอบใจ ไม่ชอบใจใช่ไหม ? ชอบใจเป็นราคะ ไม่ชอบใจเป็นโทสะ เจ๊งทั้งคู่ "สังขารา ปัจจะยา วิญญาณัง" สังขารในการปรุงแต่ง ทำให้เกิดวิญญาณในความรู้สึก ก็คือ รู้สึกรัก ชอบ เกลียดชัง
      ถาม :  ............................
      ตอบ :  อันนั้นของเขาเขาไม่ได้เจตนาไป แต่ว่ากรรมที่เขาทำ ทำให้เขาไป "ภพ" หรือ "ภว" ที่ประกอบด้วยการยึด ไล่ตั้งแต่พรหมลงมา ยกเว้นอย่างเดียวคือนิพพาน ปล่อยแน่ เพราะฉะนั้น...ที่ทำให้เกิดคือยังมีการเคลื่อนไปอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เทวดา มาร พรหม ล้วนแล้วแต่เป็นภพที่เรายึดทั้งนั้น เพียงแต่เรายึดแบบไหน ? อย่างเช่นว่า เป็นรูปพรหมก็ยึดในฌานสมาบัติ อรูปพรหมก็ยึดในอรูปฌานอย่างนี้จุดยึดอยู่ตรงไหน ? อย่างของเทวดานี่ก็ยึดในกาม คือกามาวจร ยังเป็นไปเพราะกามอยู่คือลักษณะยังปีติ ยังยินดี ยังรักชอบเกลียดชังอะไรอยู่อย่างนี้ถ้าหากว่าโกรธ ถ้าหากว่าเกลียด ก็ลงนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายอย่างนี้ถ้าหากว่ายินดี ดีใจ มีความสุขก็เป็นเทวดาไป ตั้งมั่นในฌานก็เป็นพรหมไป จุดยึดต่าง ๆ ต่างกันไป
      ถาม :  แสดงว่าจุดยึดต่าง ๆ คลายได้?
      ตอบ :  หลายอย่างด้วยกันตอนนั้นคว้าอะไรได้ก้ไปอันนั้น
      ถาม :  ................................
      ตอบ :  จริง ๆ ก็คือการละ อย่างเช่นว่า ทานบารมีอย่างนี้ ละอะไรล่ะ ? ละโลภ ศีลบารมี ละโกรธ เพราะไม่ฆ่าเขาไม่เบียดเบียนเขา ปัญญาบารมี ละหลง ไล่ไปเรื่อย แต่ละข้อก็อยู่ใน รัก โลภ โกรธ หลง นั่นแหละ ทำได้เต็ม คือละได้หมด
      ถาม :  ...........................
      ตอบ :  การที่เรารู้จักคนมันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรับรองความประพฤติของเขาได้ แล้วโดยเฉพาะสายหลวงพ่อนี่จะโดนแอบอ้างเยอะมากปัจจุบันนี้จะไปเยอะเลย ล่าสุดเมื่อสองสามวันก่อนไปถึงก็ดุ่ย ๆ มาหา บอกหลวงพี่ครับ หลวงพ่ออยู่ไหนครับ เราก็นั่งตาปริบ ๆ ถามว่ารู้จักกุฏิท่านไหมล่ะ บอกไม่รู้จักครับ ถ้าอย่างนั้นอยู่ก็ได้ ถามว่ามีธุระอะไร จะมาถวายสังฆทานครับ เออ! เข้ามาถวายสังฆทานเสร็จ แจกผ้ายันต์ให้เสร็จ บอกว่ากลับไปได้แล้ว จำไว้เลยนะวันนี้อารมณ์ดี ถ้าอารมณ์ไม่ดีคุณได้ขี่จักรยานหาหลวงพ่อรอบวัดแน่ เพราะปกติไปในลักษณะที่เราไม่รู้จักเขาหรือเขาไม่รู้จักเรานี่จะไม่สนใจเลย ถือว่าเรารู้จักคนน้อยเท่าไร เราก็เหนื่อยน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เขาได้ยินคำร่ำลือมา เขาก็ตีความผิด พอเขาตีความผิดเขาก็จะมาถามหาหลวงพ่อ เอากับหลวงพี่ อะไรอย่างนี้ พอเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็ยังไปถามท่านกอล์ฟเข้าพอดี จ๊ะเอ๋ท่านกอล์ฟ ถามว่าอาจารย์สมพงษ์อยู่ไหม บอกว่าอาจารย์สมพงษ์ไปปริวาส แล้วถามว่าพระรูปเล็ก ๆ ผอม ๆ นั่นใคร บอกว่า อ๋อ นั่นอาจารย์ของอาจารย์สมพงษ์อีกทีหนึ่ง เล่นเอาโยมเอ๋อไปเลย เขาคิดว่าอาจารย์สงพงษ์ก็คือเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลด้วย แล้วถ้าหากว่าอาจารย์ของอาจารย์อีกทีก็น่าจะประเภทแก่งั่กแล้ว แต่ความจริงอาตมาก็แก่ เพียงแต่เปลือกแก่น้อยหน่อย ในเมื่อเปลือกแก่น้อยหน่อยมันเป็นความผิดด้วยหรือ นั่นแหละประเภทนี้แหละเยอะเลย บางรายก็มาเฝ้าหน้ากุฏิเลย พอเราเดินออกมาเขาก็มอง ๆ แล้วก็มองกุฏิต่อ พออีกไม่นานก็วิ่งอ้าวตามมา ไปถามคนอื่นแล้วว่าใช่แน่ มาระยะหลังพวกนี้จะมาเยอะ เพราะว่าบางคนอ่านเอาในอินเตอร์เน็ทบ้าง บางทีก็ได้ยินคำร่ำลือบ้าง
              วันก่อนที่ขนเอากระเบื้องไปให้ทางวัดหนองบัวที่พม่าผ่านด่านทหารไทย โผล่หน้าออกไปมีคนรู้จักอีกเกือบซวยแล้ว ต้องบอกให้เขารีบเหยียบเลย อยู่ช้าไม่ได้เพราะพวกทหารจะเอาวัตถุมงคล ที่พี่ชายผู้พันติ่งเขาไปโดนยิงที่ชุมพร ๔๖ นัด ยิงไม่เข้าเลย และอะไรก็ไม่ว่าเขาดันแขวนพระที่เราให้ไปอยู่องค์เดียว เราเลี่ยงไปก็เลี่ยงไม่ได้เพราะว่าถ้าเขามีหลายองค์เรายังโบ้ยว่า เออ! ของวัดโน้น ของวัดนี้ ไม่ใช่จองเราใช่ไหม ดันแขวนไว้องค์เดียว เถียงไม่ได้เขาสายทหารเขาก็บอกกันหมด พวกไปนั่งล้อมกุฏิหาหลวงพ่อ นั่นแหละเขาหาไม่เจอหรอก เดินไปต่อหน้าต่อตาเขาก็ไม่รู้หรอกเพราะว่า เวลาอยู่วัดนี่ไม่ต้องไปหาเจ้าอาวาส หรืออาจารย์เจ้าอาวาสหรอก มีแต่กรรมกรทำงานงก ๆ อยู่ทั้งวัน วันที่เขาไปหลวงพ่อครับ หลวงพ่ออยู่ไหนครับ ? เรากำลังเช็ดรถอยู่ เขาก็เห็นเราเป็นเด็กล้างรถใช่ไหม ? ก็แค่นั้นเอง
      ถาม :  หลวงพ่อเริ่มไปวัดใหม่ช่วงไหนเจ้าคะ ?
      ตอบ :  ก็กลับจากที่นี่ไปนั่นแหละ เพียงแต่ว่าต้องรอจนกว่าเขาจะกั้นห้องเสร็จ มีที่พักถาวรถึงไปได้ ก็คงวิ่งไปวิ่งมา ฉันเช้าที่นี่ ฉันเพลที่โน่น อะไรอย่างนี้
      ถาม :  ไปมาระหว่างวัดท่าขนุนกับวัดทองผาภูมิหรือเจ้าคะ ?
      ตอบ :  จ้ะ ก็กะว่าพอเข้าพรรษาก็ไปอธิษฐานพรรษาที่เกาะ ถึงเวลาก็ขอสัตตาหะจากที่เกาะไป คำว่า สัตตาหะกรณียะ นี่คือเหตุจำเป็นไปได้ไม่เกิน ๗ วัน ในช่วงพรรษาเขาอนุญาไว้ว่า พ่อป่วย แม่ป่วย ครูบาอาจารย์ป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาลได้ สหธรรมิกคือเพื่อนพระที่อยู่ต่างวัดจะสึกไปเพื่อห้ามปรามเขาได้ วัดพังไปหาทัพสัมภาระมาเพื่อซ่อมวัดสร้างวัดไปได้ ได้รับกิจนิมนต์ไปเพื่อเจริญศรัทธาไปได้ การมารับสังฆทานที่นี่ ถือว่าได้รับกิจนิมนต์ไปเจริญศรัทธาใช่ไหม ขณะเดียวกันถ้าเราขออนุญาตสัตตาหะไปที่วัดทองผาภูมิ ก็คือไปช่วยเขาบำรุงวัด อยู่ในลักษณะไปซ่อมสร้างวัดนั่นแหละ จะสงเคราะห์เข้าข้อเดียวกัน แต่สมัยนี้มีหลายวัดที่เขาใช้ลักษณะที่ว่าจะไปก็ขออย่างเดียวเลย แต่ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าท่านอนุญาต ถึงเวลาไม่ว่าขี้หมูราขี้หมาแห้งขอสัตตาหะยันเลย อันนั้นจริง ๆ ขาดพรรษานะ ขนาดของหลวงพ่อนี่เพื่อนต่างวัดจะสึก หลวงพ่อปล่อยเลย ท่านบอกว่าห้ามลา สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าท่านอนุญาตไว้เพราะท่านรู้ว่าพระที่จะสึก ถ้าอยู่ต่อจะเป็นพระอรหันต์ก็เลยให้ไปห้าม สมัยนี้ท่านบอกว่าปล่อยให้สึกไปเถอะ