๑๖. อุปสมานุสติ


              การปฏิบัติความดีของพวกเรา กำลังใจยังไม่ทรงตัวอย่างแท้จริง ทำไประยะหนึ่ง มันเหมือนกับตัน ไปไม่ถูก ไปไม่เป็น อันนั้นอาจจะเกิดจาก ความซ้ำซากจำเจในสถานที่ และเรื่องของการปฏิบัติของเราเอง ทำให้มันไม่ก้าวหน้า
              การที่เราปฏิบัตินั้น ตัวสมถะ คือ การภาวนาให้กำลังใจมันสงบลง กับตัววิปัสสนา คือ การพิจารณาเพื่อให้ปัญญามันเกิด ยอมรับสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ทั้งสองอย่างนี้ ต้องไปด้วยกัน มันถึงจะเจริญ มันถึงจะมีความก้าวหน้า
              สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน มันเหมือนกับคนที่ถูกเชือกผูกขาติดกัน มันก้าวข้างใดข้างหนึ่งไปถึงจุดสุดแล้ว มันจะก้าวต่อไม่ได้ เพราะถ้าก้าวต่อแล้ว มันจะกระตุกกลับมาที่เดิม ต้องก้าวอีกข้างหนึ่งมันถึงจะไปได้
              ดังนั้น การภาวนาของเรา ถ้ารู้สึกว่าอารมณ์ใจของเรามันไปถึงที่สุดแล้ว มันถึงที่ตัน ไปต่อไม่ได้ มันจะถอยหลังออกมา เมื่อมันถอยหลังออกมา ถ้าเราไม่หาเรื่องดีดีให้มันคิด มันก็จะคิดฟุ้งซ่านในรัก โลภ โกรธ หลง ไปตามความถนัด ไปตามความชำนาญของมัน
              การพิจารณาในเรื่องของวิปัสสนาญาณนั้น เราพิจารณาได้หลายแนว จะดูตามแนวของอริยสัจ คือ ดูสาเหตุของทุกข์ให้เจอ เลิกสร้างเหตุนั้นความทุกข์ก็ไม่เกิด
              หรือว่าดูในเรื่องของไตรลักษณ์ ลักษณะความเป็นจริงของทุกสิ่ง ประกอบไปด้วยความไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด มีแต่ความทุกข์ ถ้าไปยึดถือมั่นหมาย มันไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์
              และไม่มีอะไรทรงตัวได้ ทุกอย่างต้องเสื่อมสลายตายพังไปในที่สุดแม้กระทั่งตัวเรา หรือจะพิจารณาตามแบบของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง คือ
              อุทยัพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ เป็นปกติของทุกสิ่งทุกอย่าง
              ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาว่าทุกอย่างต้องพัง ต้องดับ ต้องสลายไปหมด
              ภยตูปัฏฐานญาณ พิจารณาให้เห็นว่า มันเป็นทุกข์เป็นภัย เป็นของน่ากลัว เหล่านี้เป็นต้น จนไปจบลงที่ สังขารุเปกขาญาณ คือ การปล่อยวางเพราะรู้จริงเห็นจริงแล้ว
              เมื่อเราพิจารณาในลักษณะนี้ไป อารมณ์ใจมันก็จะค่อย ๆ ทรงตัว จนกลาย เป็นการภาวนาไปโดยอัตโนมัติ เราก็ภาวนาต่อไปเลย เมื่อภาวนาไปเรื่อย ๆ อารมณ์ใจมันขึ้นถึงที่สุด มันไปถึงจุดที่มันเคยตันอยู่ มันก็จะถอยหลังออกมา
              เราก็มาพิจารณาใหม่ สลับกันไปสลับกันมา เหมือนกับผลัดกันก้าวเท้าเดิน มันถึงจะก้าวหน้า กำลังของวิปัสสนาญาณนั้น ได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราพิจารณาไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นภาวนาเองโดยอัตโนมัติ
              เพราะอารมณ์จิตมันดิ่งมันลึกลงไปตามลำดับของการภาวนา มันจะเป็นของมันเอง แต่ว่าขั้นต้นของวิปัสสนาญาณนั้น ถ้าเราไม่มีพื้นฐานของการภาวนา อารมณ์ใจกว่าจะทรงตัวมันยากมาก
              ส่วนอารมณ์ของสมถภาวนานั้น ถ้าหากว่ามันทรงตัวแล้ว ไปถึงที่สุดของมันแล้ว เราพิจารณาไม่เป็น เมื่ออารมณ์ใจมันถอยหลังออกมา มันจะฟุ้งซ่านไปยังรัก โลภ โกรธ หลงของมันเอง
              ดังนั้น ทั้งสองอย่างจึงต้องไปด้วยกัน ผลัดกันก้าว ผลัดกันเดิน สมถกรรมฐานเป็นการเพาะกำลังให้แข็งแรง วิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับอาวุธที่คมกล้า เมื่อมีกำลังมีอาวุธแล้ว การจะตัดกิเลสก็เป็นเรื่องง่าย
              ในเมื่อเรารู้ว่า ทั้งสองอย่างต้องทำสลับกันไป แต่บางทีมันก็ยังไม่ไหว มันก็ยังรู้สึกว่าไปได้ไม่ดี ไม่คล่องตัว อาจจะเกิดจากอิริยาบถของเรา ที่มันซ้ำ ๆ อยู่กับที่ ไม่ใช่ว่านั่งก็นั่งมันอย่างเดียวไปตลอด
              ยืนก็ยืนมันอย่างเดียวไปตลอด เดินก็เดินมันอย่างเดียวไปตลอด นอนก็นอนมันอย่างเดียวไปตลอด มีน้อยคนที่ทำอยู่อิริยาบถอย่างเดียว แล้วอารมณ์ใจจะตั้งมั่น ให้เราเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
              เมื่อเราเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนอิริยาบถ มีสิ่งที่แปลกใหม่เข้ามา สภาพจิตก็จะไม่เบื่อหน่าย มันก็จะเริ่มปฏิบัติในอิริยาบถใหม่
              หรือว่าเริ่มปฏิบัติในสถานที่ใหม่ เพื่อที่จะให้กำลังใจ ทรงตัวเท่ากับที่เราเคยทำมา หรือว่าอาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เพราะว่ามันไม่ซ้ำซากจำเจแล้ว
              คราวนี้ การภาวนาในอิริยาบถอื่น จากที่เคยลองมาแล้ว อิริยาบถยืนก็คล้ายกับการนั่ง แต่เพียงแต่ว่าอารมณ์ใจของเรานั้น มันต้องทรงตัวจริง ๆ ไม่อย่างนั้นมันจะรู้สึกว่าตัวโยก ๆ อยู่หน่อยหนึ่ง
              ถ้ายืนไปนาน ๆ ก็เหมือนกับสภาพของการนั่ง คือว่าขาแข็ง ถ้าอารมณ์ใจไม่ก้าวเข้าไปถึงความเป็นฌาน ยังไปเกาะอยู่กับร่างกาย เราก็จะรู้สึกเมื่อยจนทนไม่ไหวเช่นกัน อิริยาบถนอนนั้น ถ้าจิตมันหยาบ สติมันขาด มันจะตัดหลับไปเลย
              ส่วนอิริยาบถเดิน คือ การเดินแล้วภาวนาไปด้วย หรือว่าเดินแล้วพิจารณาไปด้วย ในลักษณะที่เรียกว่าจงกรมนั้น ทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้ง่าย ถ้าทำได้ อารมณ์ใจก็ทรงตัวได้ง่าย
              การเดินจงกรมนั้น เริ่มตั้งแต่การกำหนดสถานที่ที่จะเดิน แนวทางจงกรม ถ้าหากว่าจะเอาให้เหมาะสม ก็คือแนวเหนือใต้เส้นหนึ่ง แนวตะวันออกเฉียงเหนือตะวันตกเฉียงใต้เส้นหนึ่ง แนวตะวันตกเฉียงเหนือตะวันออกเฉียงใต้เส้นหนึ่ง
              ส่วนแนวตะวันออกตะวันตกเขาไม่นิยมกัน เพราะว่าถ้าหากอยู่ในที่โล่ง บางวาระบางเวลา แสงแดดจะส่องหน้าพอดี สร้างความรำคาญ ทำให้เดินจงกรมไม่สะดวก
              ระยะทางการเดินจงกรม ถ้าหากว่าพื้นที่มีเหลือเฟือ เราจะกำหนดใกล้ไกลแค่ไหนก็ได้ แต่ถ้าหากจะเอาให้พอเหมาะพอดี จากการที่เคยลองมา ระยะประมาณ ๒๕ – ๓๐ ก้าว เป็นระยะที่กำลังเหมาะ
              แต่ในสถานที่ที่จำกัด อย่างสมัยที่บวชใหม่ ๆ อยู่ที่วัดท่าซุง กุฏิมันเล็กมาก กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๒ เมตรครึ่งเท่านั้น ก็ใช้วิธีเดินเป็นรูปเลข ๘ อารบิก เวลาเราเดินวนเป็นรูปเลข ๘ ระยะทางมันได้เพิ่มขึ้น
              หมายความว่า ระยะทางจะใกล้จะไกล จะยาวจะสั้นทำได้ทั้งนั้น แต่จากการที่เคยทำมา คือระยะที่เหมาะสม คือระยะประมาณ ๒๕ – ๓๐ ก้าว เมื่อเราเดินไปสุดทางแล้ว เราก็วนกลับ การเดินนั้นให้กำหนดใจ กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างหนึ่ง
              อันนี้จะเป็นอิริยาบถและสัมปชัญญะในมหาสติปัฏฐาน ๔ คือ ดูว่าตอนนี้ก้าวเท้าซ้าย ตอนนี้ก้าวเท้าขวา ตอนนี้แขนมันแกว่งไปข้างหน้า ตอนนี้แขนมันแกว่งไปข้างหลัง ไม่ต้องไปค่อยๆ ยก ย่าง เหยียบ อย่างที่ส่วนใหญ่เขาสอนกัน อันนั้นมันเด็กหัดใหม่
              อิริยาบถของเราให้เป็นไปตามปกติ ก้าวเดินไปตามปกติ เพียงแต่กำหนดสติรู้ตามไปด้วย ว่าตอนนี้ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ตอนนี้เท้ามันวางลงแตะพื้น ตอนนี้ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ตอนนี้เท้ามันวางลงแตะพื้น เหล่านี้เป็นต้น
              ถ้าอารมณ์จิตมันค่อย ๆ ละเอียดขึ้น ทรงตัวมากขึ้น มันจะรู้ทั่วทั้งร่างกาย รู้แม้กระทั่งลมหายใจที่หายใจอยู่ รู้แม้กระทั่งว่ามีอากาศมากระทบร่างกายส่วนไหน แล้วทำให้ขนของร่างกายของเรา มีการเคลื่อนไหวอย่างไร มันจะรู้ละเอียดขนาดนั้น
              อีกวิธีหนึ่ง คือ เดินไปภาวนาไป ลักษณะนี้แรกๆ จะมีปัญหา คือว่าถ้าเราจับลม ๓ ฐานเมื่อไร เราจะก้าวไม่ออก เพราะว่าลม ๓ ฐานคือ หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก จากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก อันนี้เป็นกำลังของปฐมฌาน
              จิตที่เริ่มเข้าสู่ระดับของปฐมฌานนั้น มันเริ่มแยกออกจากประสาทของร่างกาย ทำให้บังคับร่างกายไม่ได้ บางคนพอรู้ลม ๓ ฐาน ขามันก้าวไม่ออก ติดอยู่แค่นั้น ให้ค่อยๆ ทำ ผ่อนหนักผ่อนเบา ประคับประคองไปเรื่อย
              ก้าวเดินพร้อมกับรู้ลมหายใจให้ได้ ถ้าหากว่าท่านทำได้ มันก็จะเป็นสภาพของการทรงฌานใช้งาน คือ อิริยาบถต่างๆ ของเราทำไปตามปกติ ขณะเดียวกันก็ยังทรงฌานได้ตามปกติ
              อีกวิธีหนึ่งก็คือ เดินไปพร้อมกับกำหนดหัวข้อธรรม ข้อใดข้อหนึ่ง ที่เรายังไม่รู้จริง ยังไม่เห็นแจ้ง กำหนดขึ้นมา แล้วคิดพิจารณาไป ดูมันให้ละเอียด แยกแยะมันออกมา เช่น
              การพิจารณาว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ ก็ดี ร่างกายนี้ยังไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราก็ดี มันมีแต่ความทุกข์ก็ดี หรือว่าพิจารณาตามแบบของปฏิจสมุปบาท คือดูว่าอวิชชา ความเขลาเป็นเหตุให้ไม่รู้จริงนั้น มันทำให้เราเกิดขึ้นอย่างไร
              การเดินจงกรมนั้นมีอานิสงส์มาก ถ้าเราเดินจนเคยชิน การเดินทางไกลจะเหนื่อยช้า เหนื่อยยาก ครูบาอาจารย์บางท่านเดินจงกรม เช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้า จากการที่เคยทำมา มันเป็นการเดินทรงฌานไปในตัว
              แต่ว่าขณะเดียวกัน ถ้าเราจะพิจารณา ก็พิจารณาได้ ในขณะที่เราเดิน เช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้า ขณะที่ทรงฌานเดินอยู่นั้น กำลังใจของเราจะไม่ฟุ้งซ่านไปยังอารมณ์อื่น กิเลสไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้
              อานิสงส์ข้อต่อไปก็คือว่า ทำให้ท้องไม่ผูก อาหารที่ฉันเข้าไปนั้นมันย่อยได้ดี เลือดลมจะคล่องตัว ท้องไม่ผูก ถ่ายได้สะดวก
              อานิสงส์ข้อต่อไปก็คือว่า เมื่อเลือดลมดี ไม่มีเศษอาหารตกค้างในร่างกาย การเจ็บไข้ได้ป่วยก็น้อยลง และข้อที่สำคัญที่สุดคือว่า สมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ที่เราทำได้ในขณะจงกรมนั้น จะทรงตัวและเสื่อมยาก
              ส่วนใหญ่เมื่อเรานั่งอยู่ อารมณ์ใจจะทรงตัว เมื่อเราเคลื่อนไหว มันมักจะเสื่อมไป หลุดไป ถอยไป แต่ถ้าเราชินกับการเคลื่อนไหว ในลักษณะเดินจงกรมแล้ว อารมณ์ที่ทรงตัวนั้น จะคลายตัวได้ยาก เพราะว่ามันชินกับอิริยาบถอื่นแล้ว
              สิ่งเหล่านี้คือ อานิสงส์ของการเดินจงกรม คือ อานิสงส์ของการเปลี่ยนอิริยาบถร่างกาย ในการปฏิบัติภาวนาของเรา ทำให้สิ่งที่มันไม่ก้าวหน้ามันก็ก้าวหน้า สิ่งที่เคยทำไม่ได้ มันก็ทำได้ง่ายขึ้น หรือว่าบางท่านอาจจะใช้วิธี เดินไปท่องหนังสือไป หรือเดินไปท่องแบบสวดมนต์ไป มันก็จะจำได้ง่ายด้วย
              สำหรับวันนี้จะพูดถึง อุปสมานุสติกรรมฐาน ถ้าว่ากันตามศัพท์ อุปสมานุสติ คือ การระลึกถึงความสงบระงับ อันนี้หมายถึงสงบจากกิเลสทั้งปวง อย่างที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ท่านสรุปว่า เป็นการระลึกถึงพระนิพพานนั่นเอง
              การระลึกถึงพระนิพพานนั้น ถ้ากำลังใจของเรา ยังเข้าไม่ถึงโคตรภูของพระโสดาบัน เราจะไม่เข้าใจว่า กำลังใจที่เกาะพระนิพพาน ที่รักพระนิพพาน ที่เข้าถึงพระนิพพานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร เราก็ระลึกไม่ได้
              ให้ใช้วิธีง่ายๆ คือ ภาวนาจับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า หายใจออก ใช้คำภาวนาที่หลวงพ่อท่านเคยใช้ว่า นิมิตจิตติ นิมิตจิตตา นิพพานะจิตติ นิพพานะจิตตา ก็ได้ หรือจะใช้ นิพพานะ สุขัง ก็ได้ แล้วแต่เราถนัด
              แต่ถ้าบุคคลที่อารมณ์ใจ เข้าถึงโคตรภูของพระโสดาบัน อารมณ์ท่านจะเข้าถึงกระแสพระนิพพานที่แท้จริง จะรู้ว่าความเยือกเย็น ความสงบระงับของกิเลสที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ท่านเหล่านี้จะเกาะอุปสมานุสติได้ง่าย เพราะว่าเข้าถึงจริงๆ แล้ว
              อีกประเภทหนึ่งคือ ท่านที่ได้มโนมยิทธิ คือมีฤทธิ์ทางใจ สามารถถอดจิตไปยังภพภูมิต่างๆ ได้ ถ้าอย่างนั้นจะสะดวกที่สุด สบายที่สุด คือ ส่งกำลังใจขึ้นไป กราบพระบนพระนิพพานเลย
              ถ้าหากว่าส่งกำลังใจขึ้นไปในลักษณะอย่างนั้น เป็นอุปสมานุสติกรรมฐานอย่างแท้จริง เพราะว่าจิตของเราอยู่บนพระนิพพานแล้ว สภาพรัก โลภ โกรธ หลง มันเกิดขึ้นไม่ได้
              รัก โลภ โกรธ หลงเป็นสมบัติของร่างกาย ถ้าไม่มีจิตไปคอยปรุง คอยแต่งกับมัน มันก็ไม่สามารถทรงตัวได้ มันก็สลายตัวของมันไปเอง เมื่อรัก โลภ โกรธ หลง สลายตัวไป เราก็เข้าถึงอุปสมานุสติที่แท้จริง นี่คือมโนมยิทธิที่หลวงพ่อท่านต้องการ
              มโนมยิทธิที่แท้จริงนั้น เหมาะสำหรับคนฉลาด ถ้ามีความเขลาแทรกอยู่แม้แต่นิดเดียว ก็ไม่อาจหลุดพ้นได้ มโนมยิทธิที่แท้จริงก็คือ เรารู้จักพระนิพพาน เราไปพระนิพพานได้ เอาใจตั้งไว้ที่พระนิพพานได้
              ถ้าเราเอาใจเกาะที่พระนิพพานไว้เป็นปกติทุกวัน ๆ กำลังใจทรงตัวเคยชินกับความปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง ถ้าทำไปนาน ๆ อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลงมันจะสลายตัวไปของมันเอง

              มโนมยิทธิไม่ได้จำเป็นต้องรู้อดีต อดีตทุกชาติเราเกิดมา ไม่มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์ ไม่จำเป็นต้องรู้ปัจจุบัน เพราะปัจจุบันนี้ชีวิตเราเกิดอยู่ มีขันธ์ ๕ อยู่ก็ทุกข์ตลอด ไม่จำเป็นต้องรู้อนาคต เพราะว่าอนาคตถ้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก
              ไม่จำเป็นต้องระลึกชาติ เพราะว่าไม่มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์ ไม่จำเป็นต้องรู้ใจคนอื่น เพราะว่าแค่ระวังใจของเราให้พ้นจากกิเลส ก็ระวังไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคนและสัตว์ ก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน
              ถ้าเรามั่นใจ ในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนเราว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปดูมัน มโนมยิทธิที่สำคัญที่สุดคือเกาะพระนิพพานให้ได้ ใช้ในอุปสมานุสติกรรมฐานให้ได้
              ส่วนใหญ่ที่เห็นใช้กัน คือไประลึกชาติ ไปย้อนอดีต ฉันเป็นอย่างนั้นกับเธอ ฉันเป็นอย่างนี้กับเธอ แล้วแทนที่จะตัด จะละ กลับไปยึดมัน ฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ แทนที่จะสลัดบ่วงของสังโยชน์ที่มันคล้องเราอยู่ ก็กลายเป็นคล้องติดมากขึ้น
              จะว่าไม่มีประโยชน์เสียทีเดียวก็ไม่ใช่ เพราะว่าถ้าเราใช้มโนมยิทธิจนคล่อง คือเราทรงฌานอยู่ตลอดเวลา ถ้าตายเราก็เกิดเป็นพรหมได้ แต่ว่าโอกาสที่จะหลุดพ้นมันช้าลง
              ถึงได้กล่าวว่า มโนมยิทธิเป็นเรื่องของคนฉลาดเท่านั้น คือ ใช้มโนมยิทธิไปในเรื่องของอุปสมานุสติกรรมฐาน ใช้กำลังของมโนมยิทธิเกาะพระนิพพานไว้ ใหม่ๆ ก็เกาะไม่ทรงตัว เผลอนิดเดียวมันก็ลงมาแล้ว
              จากที่เคยทำอยู่แรกๆ วินาทีสองวินาทีมันก็ลงมาแล้ว เพราะอารมณ์ของพระนิพพานเป็นอารมณ์ที่ละเอียดมาก เมื่อเราเกาะไม่ได้ ทรงไม่อยู่ เราต้องหางานให้มันทำ เนื่องจากว่าเคยสวดมนต์ได้มาก ก็เลยกำหนดใจขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน
              ตั้งใจสวดมนต์ทุกบทที่เคยสวดได้ ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เมื่อจิตมีงานทำ มันรู้ว่างานยังไม่หมด มันก็จะอยู่กับงานนั้น จิตก็จะค่อย ๆ ชินกับอารมณ์พระนิพพาน เพราะรู้ว่าถ้างานยังไม่หมด มันก็จะไม่เคลื่อนลงมา
              พอมันอยู่บ่อยเข้า บ่อยเข้า เคยชินกับสภาพความละเอียด ของอารมณ์พระนิพพานมากเข้า มันก็เกาะได้นานขึ้น ถ้าทำบ่อย ๆ ทำให้เป็นปกติ ในที่สุดอารมณ์พระนิพพานก็จะทรงตัว
              ถ้าทำได้ในระยะเวลาที่ยาวนานพอ โดยไม่เผลอทิ้งกำลังใจจากจุดนั้น กิเลสจะค่อยๆ หมดไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลาไปตัด ไม่ต้องเสียเวลาไปคิด ไปพิจารณา เพราะว่ารัก โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของร่างกาย
              เราส่งใจไปพระนิพพานเสียแล้ว ไม่มีใจอยู่กับร่างกายเสียแล้ว รัก โลภ โกรธ หลงก็เกิดไม่ได้ ในเมื่อมันเกิดไม่ได้ มันไม่มีใครเลี้ยงดูมัน คือไม่ได้ไปปรุงไปแต่ง ไปสร้าง ไปเสริมมัน มันก็จะค่อย ๆ สลายตัวหมดสภาพของมันไปเอง
              อุปสมานุสติกรรมฐานที่แท้จริง จึงควรที่จะทรงมโนมยิทธิได้ ถ้าหากว่าทรงมโนมยิทธิไม่ได้ ให้ตั้งใจจับในพุทธานุสติกรรมฐาน คือจับภาพพระองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เรารักเราชอบมากที่สุด
              จะเป็นรูปพระพุทธเจ้าในลักษณะของพระสงฆ์ก็ดี ในลักษณะของพระพุทธปางไหนก็ดีที่เราชอบ หรือในลักษณะของพระวิสุทธิเทพ ตั้งใจว่านั่นคือองค์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ตรงไหน นอกจากพระนิพพาน จำไว้ให้แม่น
              ถ้าเราเจอพระพุทธเจ้าที่อื่น นั่นเป็นฉัพพรรณรังสีของพระองค์ท่าน ที่ส่ง ไปปรากฏต่อหน้าเรา ลักษณะเหมือนท่านทุกประการ แต่ว่ากายที่แท้จริงของพระองค์ท่านนั้นอยู่พระนิพพาน ได้กล่าวย้ำอยู่เสมอว่าพระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหน ๆ นอกจากพระนิพพาน
              เราเห็นที่อื่นคือฉัพพรรณรังสีเท่านั้น แต่ว่าจะใช้คำว่าเท่านั้นก็ไม่ได้ เพราะว่าโอกาสที่จะได้พบท่าน แม้ในลักษณะของฉัพพรรณรังสีนั้นยากเหลือเกิน ยากกว่าถูกรางวัลที่หนึ่งเยอะ มีโอกาสได้พบได้เห็น ถือเป็นบุญของตนอย่างยิ่ง
              ในเมื่อเราจับภาพพระ แล้วกำหนดว่า พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหน นอกจากบนพระนิพพาน เราเห็นท่านคืออยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน กำหนดใจง่ายๆ สบายๆ อย่างนี้ ก็จัดเป็นอุปสมานุสติกรรมฐานอีกแบบหนึ่ง
              เรื่องของมโนมยิทธินั้น ที่แท้จริงแล้วง่ายมาก คือคิดได้ก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยชิน และไม่ได้ซักซ้อมให้เกิดความคล่องตัว เราก็ขาดความมั่นใจ มโนมยิทธิแค่คิดก็ถึงแล้ว ไม่ได้จำกัดด้วยระยะทาง ไม่ได้จำกัดด้วยสถานที่ ไม่ได้จำกัดด้วยเวลา
              เพียงแต่ว่าเราต้องมีความมั่นใจในตนเอง มีการซักซ้อมบ่อยๆ เมื่อทำมากเข้า ประสบการณ์มากขึ้น อารมณ์ใจทรงตัวดีขึ้น เราก็จะเกิดความมั่นใจขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่ที่พบก็คือ ทำได้เฉพาะต่อหน้าครูบาอาจารย์ ลับหลังแล้วไม่สามารถทำได้ ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
              จึงขอสรุปว่า อุปสมานุสติกรรมฐาน คือ การระลึกถึงความสงบระงับที่แท้จริง หมายถึงอารมณ์ของพระนิพพานนั้น ถ้าหากว่าไม่ใช่โคตรภูของพระโสดาบันขึ้นไป เราใช้คำภาวนา ก็เข้าถึงได้แค่เพียงผิวเผิน
              ถ้าหากว่าจะจับภาพพระ กำหนดว่าท่านอยู่บนพระนิพพาน ก็ยังไม่มั่นคงจริง ๆ ถ้าจะให้มั่นคงจริง ๆ ต้องทำในมโนมยิทธิให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องขวนขวาย ต้องสร้างเสริมตัวเองให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อที่จะได้พ้นทุกข์ หมดสิ้นกิเลสอย่างแท้จริง
              สำหรับตอนนี้เวลาไม่เพียงพอ ขอให้ทุกคนวางกำลังใจ โดยการจับภาพพระให้ทรงตัวเอาไว้ แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งอยู่กับภาพพระเสมอ กำหนดใจว่านั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน
              ถ้าหากว่ามันตายลงไปเมื่อไร เราขอไปอยู่กับพระองค์ท่านที่นั่น ที่พระนิพพานแห่งเดียว กำหนดเอาไว้แบบนี้ให้ทรงตัวอยู่ตลอด ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถไหนก็ตาม ภาพพระหายไปเมื่อไหร่ โปรดทราบว่า เรามีโอกาสพลาดลงไปสู่อบายภูมิแล้ว
              ให้รีบกำหนดภาพขึ้นมาใหม่ในทันที ถ้าใครได้มโนมยิทธิ ให้ส่งใจไปกราบพระบนพระนิพพาน เพื่อที่จะได้เป็นอุปสมานุสติอย่างแท้จริง อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านต้องการ วันนี้ให้วางกำลังใจอยู่ตรงจุดนั้น ขณะเดียวกันก็ให้เตรียมตัวเพื่อทำวัตรสวดมนต์ของเราไปด้วย ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๗

๑๗. รูปฌาน ๔


              เรื่องของอนุสติ คือ การตามระลึกถึงความดีในจุดใดจุดหนึ่ง สำหรับวันนี้จะสรุปลงที่อานาปานสติ อย่าลืมว่าอานาปานสตินั้นเป็นกรรมฐานใหญ่ เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทุกกอง
              ถ้าหากว่าเราปฏิบัติในอานาปานสติไม่ได้ กรรมฐานกองอื่นๆก็ไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความทรงตัวใด ๆ ทั้งสิ้น ลำพังตัวอานาปานุสติ คือการระลึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นการกำหนดจิตตามลมหายใจอย่างเดียว หายใจเข้า หายใจออก มันกระทบตรงจุดไหนบ้าง
              โบราณาจารย์ท่านกำหนดเอาไว้หลายวิธี คือกำหนดเฉพาะปลายจมูกก็ได้ ท่านเปรียบเหมือนกับว่า เจ้าของฝูงวัวที่เลี้ยงวัว ตอนเช้าๆเปิดคอกให้วัวออก ก็จะไปดักอยู่หน้าประตู วัวออกมากี่ตัวจะได้นับทัน
              เอาเฉพาะปลายจมูกอย่างเดียว หายใจเข้า ผ่านปลายจมูกเข้าไป หายใจออกผ่านปลายจมูกออกมา หรือว่าจะเอาเป็น ๓ ฐาน หายใจเข้า ผ่านกึ่งกลางอก ไปสุดที่ท้อง หายใจออก จากท้องผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก
              หรือจะเอาเป็น ๗ ฐานตามแบบของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำท่านก็ได้ หรือว่าจะไม่กำหนดจุดสัมผัสเลย หายใจเข้า กำหนดรู้ตลอดกองลม หายใจออก กำหนดรู้ตลอดกองลมก็ได้
              การปฏิบัติในอานาปานสตินั้น เริ่มแรกต้องมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว เพราะว่าใหม่ๆ สภาพจิตของเรา มันเคยชินกับการกระโดดโลดเต้นไปสู่อารมณ์อื่น ๆ ทันทีทันใดที่มันปรารถนา ท่านกล่าวไว้ว่าเหมือนกับการผูกลิงไว้ ใหม่ๆ ลิงมันยังไม่เคยชิน ถ้าหากว่าถูกจับมัดเอาไว้ มันก็จะดิ้นรนเป็นปกติ จิตของเราก็เช่นกัน ใหม่ๆ มันยังไม่เคยชิน ในการโดนจับมัดอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันก็จะดิ้นรน แวบซ้าย แวบขวาไปเรื่อยๆ เผลอเมื่อไหร่ มันไปเมื่อนั้น
              เราก็ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ค่อยๆ ประคับประคองมัน มันจะได้เพียงเล็กน้อยแค่ไหน ก็ถือว่าเป็นกำไรทั้งสิ้น
              วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ให้หายใจเข้า หายใจออก แล้วนับจำนวนไว้ อย่างเช่นว่าตั้งใจว่า เราจะนับจำนวนให้ครบสิบ ถ้าเราใช้คำภาวนาควบไปด้วย อย่างเช่น พุทโธ เป็นต้น
              ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ลำพังอานาปานสตินั้น ไม่มีคำภาวนา แต่ที่เรากำหนดคำภาวนาก็ดี กำหนดจุดสัมผัสของลมก็ดี เป็นการสร้างสติสัมปชัญญะ เป็นการสร้างงานเพิ่มขึ้นให้กับจิต เมื่อมีงานเพิ่มขึ้น มีจุดที่ต้องระมัดระวังตามรู้มากขึ้น สติจะได้ทรงตัวง่าย ถ้าเราควบกับพุทธานุสติ โดยภาวนาว่าพุทโธ หายใจเข้า พุท ผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ไปสุดที่ท้อง หายใจออก โธ จากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก
              อันนี้ถ้าจิตไม่ได้แวบไปไหน รู้ตลอดตั้งแต่พุทเข้า โธออก ให้นับหนึ่ง พอหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ให้นับสอง ถ้าจิตคิดเรื่องอื่นเมื่อไหร่ ให้ทิ้งจำนวนที่เราทำได้ กลับมานับหนึ่งใหม่
              หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ นับหนึ่งใหม่ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสองใหม่ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสามใหม่ ถ้าจิตมันแวบไปสู่อารมณ์อื่น สู่เรื่องอื่นก่อนที่จะครบสิบ ให้ดึงกลับมาที่ลมหายใจ พร้อมกับนับหนึ่งใหม่ทันที
              แรกๆ ทำไป โอกาสจะนับได้สักหนึ่งถึงสามก็ยาก แต่พอใช้ความพยายาม ใช้สติสัมปชัญญะ ประคับประคองมันเอาไว้ โอกาสที่จะนับหนึ่งถึงสามได้ก็เริ่มง่ายขึ้น โอกาสที่จะนับหนึ่งถึงห้าก็เริ่มง่ายขึ้น แต่กว่าจะครบสิบ บางทีเกินชั่วโมง
              เพราะว่าจิตของเรา มันเคยชินกับการวิ่งไปสู่อารมณ์อื่นๆ ไปสู่ความฟุ้งซ่านตามปกติของมัน เมื่อเรามาบังคับมัน มันก็ต้องดิ้นต้องรน แต่ก็ลักษณะเดียวกับลิงนั่นเอง คือถ้าเรามัดมันแน่นจริง ๆ คอยเฝ้าดู คอยเฆี่ยนตีมัน พอมันเหนื่อยมากเข้า มันเจ็บตัวมากเข้ามันก็จะเข็ด เมื่อมันเข็ด มันก็จะอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเฉพาะหน้า
              คราวนี้การหายใจเข้า การหายใจออกนั้น เราจะกำหนดจับลมกี่ฐานก็ได้ แล้วแต่เราถนัด จะจับฐานปลายจมูกก็ได้ กึ่งกลางอกก็ได้ ที่ท้องก็ได้
              หรือจะจับเข้าทางช่องจมูกซ้าย ช่องจมูกขวา จับฐานที่เพลาตา ที่โคนลิ้น กึ่งกลางอก ที่ท้อง หรือที่ศูนย์เหนือสะดือ ตามแบบของทางสายธรรมกาย ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำก็ได้
              แต่ว่าจากที่เคยปฏิบัติมา ลมสามฐานเป็นส่วนที่จับง่าย ใช้สติพอดี ไม่ต้องระมัดระวังมากเหมือน ๗ ฐาน แล้วก็ไม่ได้จำเป็น ที่จะต้องให้สติลดน้อยถอยลงมา เหลือฐานเดียว เพราะจะทำให้พลาดได้ง่าย
              เมื่อจิตเริ่มอยู่เฉพาะหน้า ขั้นตอนต่างๆ ของการปฏิบัติ ที่จะทรงให้เป็นอัปนาสมาธิ มันก็ประกอบไปด้วยองค์อย่างต่ำที่สุด ๕ อย่าง คือ วิตก คิดอยู่ว่าจะภาวนา วิจารณ์ ตอนนี้ภาวนาอยู่ ตามรู้ลมหายใจเข้าอยู่ ตามรู้ลมหายใจออกอยู่
              ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะแรง จะเบา จะยาว จะสั้น คำภาวนาว่าอย่างไรรู้อยู่ ลำดับต่อไปตัวปีติก็จะเกิดขึ้น ปีติก็มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ขณิกาปีติ ปีติเพียงเล็กน้อย ความบันเทิงใจเริ่มเกิดขึ้นเล็กน้อย ก็จะมีผลทำให้ร่างกายขนลุกเป็นพักๆ ไหวเป็นพักๆ
              ต่อไปก็เป็นขุททกาปีติ อาการนี้จะมีน้ำตาไหล อยู่ ๆ น้ำตาไหลออกมาเฉย ๆ ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้โกรธใคร ไม่ได้เคืองใคร ไม่ได้ดีใจอะไรเลย มันไหลพรากๆ ออกมาเอง
              หรือจะเป็นโอกกันติกาปีติ ตัวโยกไหว โยกไปโยกมา บางทีก็ดิ้นตึงตังโครมคราม เหมือนกับผีเข้าเจ้าสิง หรืออุเพ็งคาปีติ ลอยขึ้นทั้งตัว
              หรือผรณาปีติ รู้สึกตัวพองตัวใหญ่ หรือรู้สึกว่าเหลือแต่ใบหน้าใหญ่โตอยู่ หรือรู้สึกว่าตัวเองรั่วเป็นรู มีสรรพสิ่งต่างๆ ไหลออกจากร่างกายซู่ซ่าไปหมด หรือบางทีก็รู้สึกว่า ตัวมันระเบิด ละเอียดแหลกเป็นผงไปเลย หรือว่าเห็นแสงเห็นสีต่างๆ วิ่งเข้ามา
              อันนั้นเป็นอาการของปีติ บางคนก็เจออาการเดียว บางคนก็เจอสองอย่าง สามอย่าง สี่อย่าง ห้าอย่าง โอกาสที่จะเจอครบน้อยมาก แต่ที่จะไม่เจอเลยก็หายากอีกเช่นกัน เมื่อจิตเริ่มเข้าถึงปีติ ตรงจุดนี้ต้องระมัดระวังให้ดี
              เพราะว่าพอเริ่มเข้าถึงปีติ มันมีความอิ่มเอิบใจบอกไม่ถูก มันจะไม่เบื่อไม่หน่าย รู้สึกอยากจะทำ อยากจะปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา
อันนี้ให้ตั้งเวลาไว้ คือกำหนดเอาไว้ว่า เต็มที่เราจะภาวนาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง หรือว่าครึ่งชั่วโมง
              แล้วเราก็เปลี่ยนอิริยาบถไปทำการทำงานอื่น โดยการประคับประคองความ รู้สึกนั้นไว้ หรือว่าเปลี่ยนอิริยาบถ ไปยืน ไปเดิน ไปนอน เพื่อที่ประสาทร่างกายบางส่วนจะได้พักผ่อน
              ไม่อย่างนั้นถ้าเราไปเร่งมันมาก ไปเครียดกับมันมาก ประสาทร่างกายรับไม่ไหว ก็จะเกิดอาการสติแตก ป้ำๆ เป๋อๆ อย่างที่เขาเรียกว่าบ้า อย่างที่เขาเรียกว่ากรรมฐานแตก เป็นต้น
              จริงๆ เรื่องของกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติยิ่งปฏิบัติ สติยิ่งสมบูรณ์พร้อม แต่ที่มีอาการดังนั้น เพราะว่าทำเกิน ส่วนอีกประเภทหนึ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผลคือ ทำขาด กลายเป็นกามสุขัลลิกานุโยค คือ ย่อหย่อนเกินไปอย่างหนึ่ง
              กลายเป็นอัตกิลมถานุโยค คือ เครียดเกินไปอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างล้วนแล้วแต่ไม่ดีทั้งสิ้น ต้องมัชฌิมาปฏิปทา คือพอเหมาะพอดี พอสมกับตัว
              คราวนี้มัชฌิมาปฏิปทา มันไม่มีมาตรฐานวัด เนื่องจากว่า มันขึ้นอยู่กับกำลังกาย กำลังใจเฉพาะของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน บางคนนั่งกรรมฐานชั่วโมงหนึ่ง สามชั่วโมง ห้าชั่วโมง สบายดีทุกประการ จิตรวมตัว ทรงตัวดีมาก
              บางคนแค่สามนาที ห้านาทีก็แย่แล้ว ดังนั้นว่า จุดพอดีของแต่ละคนอยู่ตรงไหน ต้องพยายามหัดสังเกต พยายามทำดู ถ้าเราตั้งเอาไว้ที่หนึ่งชั่วโมง รู้สึกว่าไปได้พักเดียวกำลังใจก็เริ่มแย่แล้ว
              เนื่องจากว่าพอเริ่มเกิดปีติ มารเขารู้ว่า เราจะพ้นมือเขาแล้ว ถ้าจิตเริ่มเป็นฌานเมื่อไหร่ ความรู้สึกสุขในฌานอย่างหนึ่ง การเห็นจริงในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าสอนอย่างหนึ่ง จะทำให้ตัวศรัทธาของเราแน่นแฟ้นไม่เปลี่ยนแปลง
              มารเขารู้ว่าเราจะพ้นมือเขาได้ เขาก็จะพยายามขัดขวาง ถ้าเราตั้งใจมากวันไหน มันจะฟุ้งซ่านมากในวันนั้น ยกเว้นว่าเรามีความคล่องตัว พอตั้งใจภาวนาก็ข้ามไปจนเป็นฌานเลย ถ้าอย่างนั้น พอจะหนีมันได้
              ไม่อย่างนั้น มารจะหลอกให้เราฟุ้งซ่าน อยู่กับความรัก โลภ โกรธ หลง เป็นปกติ ถ้าจิตฟุ้งซ่านอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะทรงเป็นฌานเป็นอัปปนาสมาธิ ได้ ดังนั้นว่าแค่ปีติเท่านั้น เขาก็จะลวงให้เราผิด ให้เราพลาดได้แล้ว
              บางคนอิ่มอกอิ่มใจ ทำไม่รู้จักเบื่อไม่รู้จักหน่าย เกิดปัคคาหะ คือความเพียรอย่างยิ่งขึ้นมา ทำไม่รู้จักเลิก ข้ามวันข้ามคืน ไม่กินไม่นอนก็มี ในลักษณะนั้น โอกาสที่จะเสียคน โอกาสที่กรรมฐานจะพังมีเยอะ
              เพราะว่าจิตใจก็เหมือนกับร่างกาย เราโหมทำความดีมาก ๆ รุ่งขึ้นมันก็โทรม ทำอะไรไม่ได้ ถ้าหากว่ามันโทรม มันไปไม่ไหว ทำอะไรไม่ได้ แล้วเราฟุ้งซ่าน ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าสติแตก หรือกรรมฐานแตก
              แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราย่อหย่อนเกินไป ไม่พยายามบังคับมันให้ทำความดี มันก็จะทรงตัวได้ยากเช่นกัน อารมณ์ของเราในแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน มันขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกาย ถ้าเหนื่อยมาก ๆ หิวมาก ๆ เจ็บไข้ได้ป่วย มันก็ไม่เอากับเราเช่นกัน
              แต่ขณะเดียวกัน บางวันมันก็ทรงตัวดีมาก ภาวนาปุ๊บอารมณ์ใจลงตัว มีความสงบเยือกเย็น อยู่ในสมาธิเลย อย่างนั้นก็มี ดังนั้น ให้เรากำหนดใจสบายๆ ว่า ถ้าหากว่าอารมณ์ใจมันทรงตัว มันภาวนาแล้วดี เราก็จะทำไม่เกินหนึ่งชั่วโมงแล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
              ถ้าหากว่าอารมณ์ใจมันไม่ทรงตัว มันฟุ้งซ่าน เราก็จะไม่เอาเกินนี้ ให้ทุกคนเปรียบเทียบกับน้ำฝน ที่หยดลงไปในตุ่ม วันนี้ได้ ๕ หยด ๑๐ หยด พรุ่งนี้อาจจะได้ครึ่งตุ่ม แต่ว่ามันจะได้มากได้น้อยก็ตาม มันไม่ได้หายไปไหน มันยังคงรวมตัวอยู่เป็นปกติ
              พุท..โธ หายใจเข้า หายใจออก ตามรู้แค่คำเดียว อานิสงส์ก็มหาศาลกล่าวกันไม่หมดแล้ว ถ้าเรายิ่งทำได้ ห้าครั้ง สิบครั้ง ยี่สิบครั้ง ห้าสิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง ทำได้ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง อานิสงส์ก็ยิ่งมาก
              ดังนั้น มันจะได้มาก เราก็พอใจกับมัน มันจะได้น้อย เราก็พอใจกับมัน ไม่พยายามบังคับมัน ฝืนมัน จนมากเกินไป ขณะเดียวกัน ก็ไม่ยอมปล่อยมันไหลตามสบาย ทำมันมากจนเกินปกติ ให้มันพอดีพอเหมาะพอควร
              ถ้าเราผ่อนสั้นผ่อนยาวอย่างนี้ได้ อารมณ์ใจก็จะทรงตัว จากปีติ มันก็จะกลายเป็นสุข มีความเยือกเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่ากิเลสใหญ่ คือ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เผาผลาญเราอยู่นั้น มันโดนกำลังของสมาธิกดดับลง
              จากนั้นก็จะก้าวขึ้นสู่เอกัคตารมณ์ คืออารมณ์ใจที่ทรงตัวเป็นหนึ่งเดียว ถ้าหากว่าจิตของเราหยาบ จะรู้สึกว่า วิตก มันก็นึกอยู่ว่าจะภาวนา วิจารณ์ ตอนนี้มันภาวนาอยู่ ลมหายใจแรงหรือเบา ยาว หรือสั้น คำภาวนาว่าอย่างไรก็รู้อยู่
              ปีติ มันเกิดอาการทั้ง ๕ อย่างขึ้นก็รู้อยู่ สุข เกิดความเยือกเย็นใจอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนก็รู้อยู่ เอกัคตารมณ์ ลมหายใจตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกก็มีอยู่ แต่ถ้าจิตละเอียด เราจะแยกออกได้ว่า มันเกิดขึ้นทีละขั้น ทีละขั้นตามลำดับไป
              เหมือนกับคนที่ก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น รู้อยู่ทุกขั้น แต่ถ้าจิตหยาบ มันก็ก้าวขึ้นไปพรวดเดียว ๕ ขั้นเลย ทรงตัวอยู่สุดท้ายคือเอกัคตารมณ์ที่เดียว
              เมื่อจิตเข้ามาถึงตรงจุดนี้แล้ว ลมหายใจจะละเอียด จะเบา จิตจะรู้รอบ สติ สัมปชัญญะจะสมบูรณ์ จะสามารถรักษาอารมณ์ฌานสมาบัติที่เกิดขึ้นได้ ตอนนี้ก็ให้ตามดู ตามรู้ไปเรื่อยๆ
              มันหายใจเข้า หายใจออก รู้อยู่ มันหายใจแรง หายใจเบา รู้อยู่ มันหายใจยาวหายใจสั้น รู้อยู่ มันมีคำภาวนา ให้รู้อยู่ ลักษณะนี้ พอตามดูตามรู้ไปเรื่อย สภาพจิตมันจะละเอียดขึ้น สติสมาธิจะจดจ่ออยู่เฉพาะหน้ามากขึ้น
              อาการที่เคยรับรู้ทางร่างกายต่างๆเริ่มห่างออกไป จิตกับประสาทเริ่มแยกออกจากกัน มันจะก้าวขึ้นสู่อาการของฌานที่ ๒ ลมหายใจเข้าออกจะเบาลง หรือถ้าหยาบหน่อยก็จับไม่ได้ หายไปเฉย ๆ คำภาวนาทั้งปวงก็หายไปเฉย ๆ
              ถ้าถึงตอนนี้ ให้กำหนดรู้เอาไว้อย่างเดียว รู้ว่าตอนนี้มันไม่หายใจ รู้ว่าตอนนี้มันไม่ภาวนา ถ้าเรากำหนดรู้อย่างนี้สบายๆ ไม่ไปตกใจว่า มันไม่หายใจแล้วเราจะตาย ไม่ไปไขว่คว้าลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้อยู่ตรงนี้ไม่นาน มันก็จะก้าวสู่ฌานที่ ๓
              ตอนนี้จะมีอาการแปลกๆเกิดขึ้นกับร่างกาย คือ มันจะรู้สึกเหมือนกับว่ากลาย เป็นหินไป แรก ๆ อาจจะเริ่มจากปลายมือปลายเท้าเข้ามา จนกระทั่งแข็งไปทั้งตัวเหมือนกับถูกสาปกลายเป็นหิน หรือว่าถูกใครมัดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ไม่มีจุดใดว่างเลย
              มันจะแน่น เกร็ง ตรึง แข็งอยู่กับที่ แต่ว่าภายในมันจะสุขเยือกเย็นอย่างบอกไม่ถูก อันนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓ ถ้าเราไม่ตกใจ ตามดู ตามรู้ไปอีก มันก็จะก้าวเข้าสู่อาการของฌานที่ ๔ ตัดสภาพการรับรู้ภายนอกไปโดยสิ้นเชิง
              มันจะเป็นไปเองของมันโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปบังคับมัน ไม่ว่าระดับฌานไหน ๆ ก็ตาม ถ้าเราไม่มีความคล่องตัวในการเข้าออก เราบังคับไม่ได้ นอกจากตามรู้ไปเฉย ๆ เมื่อถึงอาการของฌานที่ ๔ ความรู้สึกทั้งหมดจะรวมตัวอยู่ที่จุดเดียวเฉพาะหน้า
              อาจจะอยู่ตรงหน้าของเรา อาจจะตรงปลายจมูก อาจจะอยู่กึ่งกลางอก อาจจะอยู่ที่จุดสูงของร่างกาย ความรู้สึกทั้งหมดอยู่ตรงจุดนั้น สว่างไสวมาก เยือกเย็นมาก อาการภายนอกต่างๆ มันไม่รับรู้เลย ถ้าอย่างนั้นเป็นอาการของฌาน ๔
              ตอนนั้น จิตจะจดจ่ออยู่เฉพาะภายใน ไม่รับรู้อาการภายนอก สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายตอนนั้น จิตมันจะไม่รับ ดังนั้น ต่อให้ใครตะโกนกรอกหูก็ดี ยิงปืนอยู่ข้างหูก็ดี ฟ้าผ่าลงมาก็ดี มันก็จะไม่ได้ยิน
              ถ้าหากว่าถึงตรงระดับนี้ จิตก็จะทรงตัวมั่นคง เยือกเย็น หนักแน่นมาก ให้กำหนดใจว่า ไม่เกินครึ่งชั่วโมงหรือไม่เกินหนึ่งชั่วโมง เราจะถอนกำลังใจออกมา เมื่อถึงวาระ ครบเวลา จิตมันมีสภาพรู้ มันจะถอนออกมาตรงเวลาอย่างที่เราต้องการ
              แต่ถ้าเราไม่กำหนดใจไว้ บางทีมันก็ข้ามไปหลาย ๆ ชั่วโมง ข้ามไปเป็นวัน เป็นหลาย ๆ วันก็มี แต่ความรู้สึกของเรา รู้สึกว่ามันเพิ่งจะนั่งเท่านั้น ดังนั้น ถ้าถึงตรงระดับนี้แล้วทุกครั้งให้กำหนดใจว่า เราจะทำเป็นเวลานานเท่าไหร่ อย่าให้นานจนเกินไป
              ถ้าจะให้ดีก็นอนไปเลย นอนภาวนา พออารมณ์ใจมันคล่องตัว เอนตัวลงปุ๊บ ใจมันดิ่งลึกปั๊บลงไปทันที ทันทีที่ศีรษะแตะถึงหมอน มันก็จะทรงตัวเต็มกำลังของมัน ตั้งใจว่าอีกหนึ่งชั่วโมงมันจะถอนออกมา ถึงเวลาถึงวาระ มันจะถอนออกมาเอง
              เมื่ออารมณ์ใจถึงระดับนี้ ทรงตัวได้ง่ายแล้ว ให้ซ้อมการเข้าออกฌานให้เป็นปกติ คือพยายามเข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรือเข้าฌานที่ ๔ ถอยมา ๓ มา ๒ มา ๑ หรือว่าเข้าฌาน ๑ ฌาน ๓ ฌาน ๔ ฌาน ๒ สลับกันไปสลับกันมาให้มีความคล่องตัว
              ถ้าเรายังทำไม่ได้คล่องตัว โอกาสที่จะผิด จะพลาด จะหลุดไปสู่อารมณ์ฟุ้งซ่านอื่น ก็ยังคงมีได้ง่าย ถ้าเราทำได้คล่องตัว นึกปุ๊บได้ปั๊บเมื่อไร ก็ชื่อว่าเราทรงอานาปานสติกรรมฐานได้อย่างแท้จริง
              เมื่อถึงวาระถึงเวลาตรงนี้ เราก็ใช้กำลังในการทรงฌานนั้น ด้วยการเข้าให้ถึงจุดเท่าที่เราทำได้ แล้วคลายกำลังใจออกมา พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของร่างกายนี้ ความเป็นจริงของโลกนี้
              ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอย่างไร สภาพจิตที่แน่วแน่ นิ่ง ใสสะอาดนั้น จะทำให้เรารู้เห็นได้ชัดเจน พิจารณาตรงจุดไหน ก็รู้ได้ง่าย กระจ่างแจ้งได้ง่าย
              ถ้าหากว่าตั้งใจจะตัด จะละ มันก็ตัดได้ง่าย ละได้ง่าย ด้วยกำลังของสมาธิระดับนั้น ๆ ถ้าหากว่า เราประคับประคองอารมณ์ใจมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ต้องแบ่งความรู้สึก คือสติ สมาธิส่วนหนึ่ง จับมันเอาไว้เสมอ ๆ ปล่อยไม่ได้ ทิ้งไม่ได้
              เพราะว่าถ้าเราเผลอเมื่อไร มารจะส่งอารมณ์ของนิวรณ์เข้ามาแทรก จิตของเราที่เคยชินกับการไหลลงต่ำ มันก็จะไหลลงต่ำไปทันที เราทำได้ถึงระดับไหน ให้พยายามประคับประคอง รักษาให้อารมณ์ใจอยู่ระดับนั้นตลอดเวลา
              ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำงานทำการใด ๆ จะอุจจาระ ปัสสาวะ ฉันอาหาร เราก็กำหนดรู้ไปด้วย เวลาออกบิณฑบาต ก็กำหนดรู้ไปด้วย

              ตั้งใจเอาไว้ว่า เราจะรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกนี้ ให้ตลอดเส้นทางของการบิณฑบาตของเรา แล้วพยายามประคับประคองมันเอาไว้ให้ได้ ถ้ามันแวบไปอารมณ์อื่น ก็ดึงให้มันกลับมา
              พยายามฝึกแบบนี้ ให้อารมณ์ใจทรงตัวอยู่ให้ได้ หรืออย่างสมัยก่อน ที่ผมเองทำใหม่ ๆ จะใช้วิธีนอน แล้วก็ลุกขึ้นนั่ง เวลาเรานอนลง หรือเอนตัวลง จิตสมาธิก็ดิ่งตามลงไปทันที เป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔
              ศีรษะแตะหมอนปั๊บ อารมณ์ใจก็ทรงตัวเต็มที่เท่าที่ทำได้ เสร็จแล้วก็คลายกำลัง ใจลุกนั่งขึ้นมา มันก็ถอยเป็น ๔ เป็น ๓ เป็น ๒ เป็น ๑ เป็นอุปจารสมาธิ เราต้องหาวิธีฝึกที่เราถนัด ที่เราชำนาญ
              ขณะเดียวกันควรจะแอบฝึก เพราะว่าถ้าเราลุก ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ คนที่เห็นอาจจะคิดว่าเราบ้าก็ได้ ซึ่งจะเกิดโทษแก่เขา เราพยายามฝึกแบบนี้ ทำแบบนี้ให้ทุกอิริยาบถ ขณะเคลื่อนไหวให้เราทรงฌานได้
              จะวิ่งก็ให้ทรงฌานขณะที่วิ่ง จะเดินก็ให้ทรงฌานขณะที่เดิน จะทำงานทำการหิ้วปูนก็ดี หรือว่ากวาดขยะ กวาดใบไม้อะไรก็ดี ก็ให้เราทรงฌานไว้ในขณะนั้น สภาพจิตของเราก็จะผ่องใส คล่องแคล่ว แหลมคม สามารถรู้เท่าทันว่ากิเลสจะเข้ามาหรือไม่
              เมื่อถึงวาระนั้นเวลานั้น ก็เหมือนกับเราใส่เกราะเอาไว้ เป็นเหมือนเกราะแก้วขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะคุ้มกายคุ้มใจของเรา ไม่ให้นิวรณ์เข้ามาแทรก ไม่ให้นิวรณ์เข้ามาทำลายเราได้ ไม่ให้รัก โลภ โกรธ หลง เข้ามาทำลายเราได้
              พยายามซ้อมมันให้ชำนาญ เหมือนกับเราชักรอก จะดึงก้อนน้ำหนัก ให้มันสูงให้มันต่ำ จะผ่อนสั้น ผ่อนยาวขนาดไหน ก็ทำให้คล่อง ถึงเวลามีเรื่องอะไรที่ต้องรับรู้ ก็คลายกำลังใจลงมานิดหนึ่ง มาพูดกับเขา มาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง
              จบงาน เสร็จงาน เสร็จเรื่องที่พูด เสร็จเรื่องที่ทำ รีบดึงกำลังใจกลับเข้าไปอยู่ในเกราะของเราใหม่ รีบกลับเข้าไปอยู่ในฌาน ในสมาธิของเราใหม่ ระมัดระวังไว้อย่าให้นิวรณ์มันกินใจเราได้

              ทำในลักษณะนี้ ให้ชินอยู่ตลอดเวลา สภาพจิตจะยิ่งผ่องใสขึ้นไปเรื่อย ๆ สติ สมาธิ ถ้ามันทรงตัว สภาพจิตผ่องใส มันก็จะไปเคี่ยวให้ศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์ ศีลยิ่งบริสุทธิ์ สมาธิก็ยิ่งทรงตัว สมาธิยิ่งทรงตัวปัญญาก็ยิ่งเกิด
              เมื่อปัญญาเกิดก็จะไปคุมศีลอีกทีหนึ่ง เป็นลักษณะเหมือนเราไขน็อต จนกระทั่งมันสั้นเข้า ๆ และถึงที่สุดของมัน อย่าลืม ไม่ว่าจะยืน จะนั่ง จะนอน ให้เราเห็นอยู่เสมอว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา
              ไม่ว่าตัวเรา ตัวเขา ผู้หญิง ผู้ชาย คน สัตว์ สิ่งของทั้งปวง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปที่สุดด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายได้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร เกิดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น

              ดังนั้น ให้ถอนความพอใจในการเกิดเสีย ตั้งใจว่า ถ้าตายเมื่อไหร่ เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ถ้าหากว่าใครจับภาพพระเป็นพุทธานุสติไปด้วย ก็ให้กำหนดใจจดจ่ออยู่กับภาพพระนั้น ถ้าไม่ได้จับภาพพระ ก็ให้เอาใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์สูงสุดที่เราทำได้
              แต่ละวัน แต่ละวัน ให้อยู่กับอานาปานสติลักษณะอย่างนี้ ก็ขึ้นชื่อว่าเราเป็นผู้ทรงอานาปานสติกรรมฐาน ได้อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านต้องการ ได้อย่างที่หลวงปู่ หลวงพ่อ เมตตาสอนเรามา
              กำลังใจของเรา เมื่อถึงวาระจะทำสิ่งใดก็ตาม ให้แบ่งส่วนหนึ่งประคับประคองอารมณ์นี้เอาไว้เสมอๆ จะคลายออกมาก็ให้มันมีสติอยู่ จะกลับเข้าไปก็ขอให้มันมีสติอยู่ ตามรู้อยู่อย่างนี้ จะมีความก้าวหน้าตามที่เราต้องการ สำหรับตอนนี้ก็ขอให้ทุกคนค่อย ๆ คลายกำลังใจออกมา แล้วก็เตรียมตัวทำวัตรของเราต่อ ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันจันทร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗

๑๘. สรุปอนุสติ ๑๐ วรรณกสิณ ๔


              สำหรับตอนนี้ ในเรื่องของอนุสติ คือการตามระลึกถึงความดีทั้ง ๑๐ ประการ เราก็ได้ศึกษามาครบถ้วนแล้ว ในเรื่องของอนุสติ พื้นฐานใหญ่คืออานาปานสติ การนึกถึงลมหายใจเข้าออก
              มันก็จะมีอยู่สองสามขั้นตอน ที่ถ้าหากว่าเราปฏิบัติแล้ว ไม่มีความเข้าใจ หรือว่าเกิดความกลัวขึ้นมา ก็จะก้าวพ้นไปไม่ได้ คือขั้นตอนที่เริ่มเป็น ปีติ ได้แก่ มีอาการน้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ขนลุก หรือว่าลอยขึ้นทั้งตัว หรือรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่ว ตัวแตก ตัวระเบิด อะไรพวกนั้น
              อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรานั้น ถ้าหากว่าเราไม่กลัว ปล่อยให้มันเป็นไปเต็มที่ ตามกำลังของมัน ถ้ามันขึ้นเต็มที่ มันจะผ่านไปเลย แล้วก็ไม่เป็นอีก เพราะ ว่าครั้งต่อไป จิตของเราพอตั้งใจปุ๊บ มันจะทรงเป็นฌานไป มันจะก้าวข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไป
              บางคนพอเริ่มสั่น ก็เริ่มกลัว บางคนลอยขึ้น ก็กลัว กลัวว่าลอยไปไกลๆ เดี๋ยวกลับไม่ได้ บางคนรู้สึกว่าตัวมันพอง ตัวมันใหญ่ ตัวมันรั่ว ตัวมันแตกระเบิด กลัวจะตาย บางคนน้ำตาไหล ตัวโยกไปโยกมา หรือว่าดิ้นเหมือนกับทรงเจ้าเข้าผี อายคนอื่นเขา
              ไปฝืนไม่ให้อาการเหล่านั้นมันเกิด ถ้าหากว่าเราฝืน อาการเหล่านั้นจะหายไป แต่ว่ามันจะก้าวข้ามจุดนั้นไม่ได้ เมื่อกำลังใจเริ่มทรงตัว ถึงจุดนั้นเมื่อไร อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกทันที
              ดังนั้น มีทางเดียวก็คือว่า ปล่อยให้มันเป็นไปเลยเต็มที่ของมัน ถ้ามันขึ้นเต็มที่เมื่อไร มันจะเลิกของมันเมื่อนั้น ให้สังเกตว่า ในขณะนั้นกำลังใจของเราทรงตัวนิ่งมาก
              อาการภายนอกมันจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ลอยขึ้นทั้งตัว หรือว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่ว ตัวแตก ตัวระเบิด อะไรก็ตาม จิตมันจะนิ่ง สงบระงับเป็นปกติ ถ้ารู้จักสังเกตตรงนี้ ก็ไม่ต้องไปกลัวอะไรกับมัน
              ขั้นตอนที่พวกเราจะไปติดอยู่อีกขั้นหนึ่งก็คือ ในระหว่างที่กำลังใจก้าวจากปฐมฌานละเอียด ขึ้นไปสู่ฌานที่ ๒ ตอนนั้นลมหายใจจะไม่มี คำภาวนาจะไม่มี ความจริงลมหายใจมันมีของมันปกติ เพียงแต่มันละเอียดมาก
              ถ้าเราไม่ได้เอาสติตามจดจ่อมันจริง ๆ จะจับมันไม่ติด ตอนนั้น ถ้าหากว่าเราไปตกใจว่า เอ๊ะ..เราไม่ได้หายใจ เอ๊ะ..คำภาวนามันไม่มีแล้ว แล้วไปรีบหายใจ ไปรีบภาวนา เท่ากับว่าเราถอยหลังกลับ มันจะไม่ก้าวหน้า
              อันนั้นให้กำหนดรู้ไว้เฉยๆว่า ตอนนี้มันไม่หายใจแล้ว ตอนนี้มันไม่ภาวนาแล้ว จิตมันนิ่ง มันใสอย่างไร ให้กำหนดใจรู้ไปเช่นนั้น มันจะก้าวขึ้นเป็นฌานที่ ๓ ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นหินไป บางคนก็จะมาตกใจขั้นนี้อีก อันนั้นเป็นเรื่องปกติ
              มันอยากจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป
ถ้าหากว่าเราทำใจอย่างนี้ได้ กำลังใจจะทรงตัว แล้วเป็นสมาธิได้เลย จะก้าวขึ้นสู่ฌาน ๔ ได้ง่าย
              ในเรื่องของอนุสติอื่นคือ พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ สีลานุสติ ระลึกถึงคุณความดีของศีล จาคานุสติ ระลึกถึงคุณความดีของการเสียสละ การบริจาคให้ทาน
              เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณความดีของเทวดา ของพรหม ของพระบนนิพพาน กายคตานุสติ ระลึกถึงความเป็นจริงของสภาพร่างกาย มรณานุสติ ระลึกถึงความตายเพื่อจะได้ไม่ประมาท อุปสมานุสติ ระลึกถึงความสงบ ระงับ คือพระนิพพาน
              อนุสติทั้งหลายเหล่านี้ ผูกพันอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก อนุสติต่างๆ อีก ๙ กองจะทรงตัวได้ยาก หรือไม่ทรงตัวเอาเลย ดังนั้น ไม่ว่าเราจะปฏิบัติในอนุสติข้อไหนก็ตาม เราต้องมีอานาปานสติควบคุมอยู่เสมอ
              ในอนุสติ ๑๐ นั้น คนที่เป็นพุทธิจริต คือมีความฉลาด จะสามารถปฏิบัติในมรณานุสติ กายคตานุสติ อุปสมานุสติได้ง่าย เพราะว่ามีความฉลาด มีปัญญามาก
              ในเรื่องของ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีศรัทธาจริต มีจิตน้อมเชื่อง่ายเป็นปกติ ถ้าปฏิบัติในอนุสติเหล่านี้ ก็จะมีกำลังจิตทรงตัวได้ง่าย
              สำหรับกายคตานุสติเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นราคะจริต ส่วนผู้ที่เป็นโมหะจริตกับ วิตกจริต ให้ใช้อานาปานสติอย่างเดียว ใช้อนุสติอื่นๆ ไม่ได้ ผู้ที่เป็นโทสะจริต เราจะใช้อนุสติ๑๐ นั้น กำลังใจมันเข้ากันไม่ได้
              ดังนั้นโทสะจริตอย่างเดียว ที่จะต้องแตกแขนงออกไป ใช้กรรมฐานกองอื่นๆ ที่ไม่ใช่อนุสติ ๑๐ ประการนี้ คือใช้วรรณกสิณ ๔ และพรหมวิหาร ๔ แทน
              สำหรับอนุสติ การตามระลึกถึงความดีทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ในแต่ละวัน ให้เรามีอนุสติข้อใดข้อหนึ่ง ทรงอยู่ในใจเสมอ ไม่ว่าจะระลึกถึงความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงความดีของศีล ระลึกถึงความดีของการบริจาค ให้ทาน ระลึกถึงความดีของเทวดา พรหม ระลึกถึงความตาย จะได้ไม่ประมาท ระลึกถึงความเป็นจริงของร่างกาย ระลึกถึงความสงบระงับในพระนิพพาน หรือระลึกถึงลมหายใจเข้าออก
              แต่ละวัน แต่ละเวลา ให้อนุสติ ๑๐ อย่างนี้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ในใจของเราก็ได้ หรือว่าจะเอาเฉพาะอนุสติข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้ถึง ๑๐ ก็ก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระอริยเจ้าระดับต้นได้แล้ว
              อย่างเช่น กติกาความเป็นพระโสดาบันคือ เราต้องเคารพพระพุทธเจ้าจริงๆ เคารพระธรรมจริงๆ เคารพพระสงฆ์จริงๆ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง อันนี้ก็คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสตินั่นเอง
              จะต้องเป็นผู้มีศีลทุกสิกขาบท บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงศีลด้วยตัวเอง ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นล่วงศีล และไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเขาล่วงศีล อันนี้เป็นสีลานุสติ
              ลำดับสุดท้ายก็คือว่า ระลึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ถ้าเราตายเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว อันนี้เป็นมรณานุสติและอุปสมานุสติ
              จะเห็นได้ว่าเราใช้อนุสติ ๖ ประการ สำหรับความเป็นพระโสดาบัน เน้นหนักตรงสีลานุสติ คือให้ตั้งใจว่า เรารักษาศีล เพราะเราเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีล เพราะเราต้องการจะไปพระนิพพาน
              สำหรับพระสกทาคามี ก็ยังเป็นอนุสติทั้ง ๑๐ ประการ คือ ๖ ประการใหญ่นี้เช่นกัน แต่ว่าพระสกทาคามีนั้น กำลังสมาธิท่านสูงกว่า ปัญญาท่านมากกว่า ดังนั้น เรื่องของราคะ ความรักระหว่างเพศ โลภะ ความโลภอยากได้ใคร่มีในสิ่งต่างๆ โทสะอารมณ์ความโกรธ จะสงบระงับได้มากกว่า เพราะว่ามีปัญญามากขึ้น
              เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นตัวขัด เป็นตัวขวาง เป็นตัวไม่นำไปสู่พระนิพพาน ก็พยายามลด พยายามละมัน ในเมื่อท่านมีอานาปานสติ คือตัวฌานสมาบัติที่มีกำลังสูงกว่า ก็เลยสามารถทำให้ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางกว่าได้
              แต่ก็ยังจัดอยู่ในอนุสตินั่นเอง คือเป็นฌานในอานาปานสติ ถ้าเป็นพระสกทาคามี ก็แปลว่ากำลังของฌานจะต้องสูงกว่าพระโสดาบัน
              แต่ในอนุสติทั้ง ๖ คือการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ดี การระลึกทบทวน ระมัดระวังในสิกขาบทต่างๆ ของศีลในสภาพของตนก็ดี การระลึกถึงความตายเพื่อความไม่ประมาท ตั้งใจว่าตายแล้วจะไปนิพพานก็ดี จะละเอียดกว่า ทรงตัวกว่าพระโสดาบัน
              ส่วนพระอนาคามีนั้น ทุกท่านจะต้องมีฌาน ๔ ทรงตัวเป็นปกติ ต้องมีความคล่องตัวในฌาน ๔ มาก ไม่อย่างนั้นแล้วจะระงับ ราคะ โลภะ โทสะ ไม่ทัน เนื่องเพราะพระอนาคามีนั้น ราคะ โลภะ โทสะดับลงโดยสิ้นเชิง
              เพราะว่าสติของท่านสมบูรณ์ รู้เท่าทัน เห็นว่าสาเหตุของสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากอะไร แล้วก็หยุดการทำเหตุนั้นได้ทัน
              เนื่องเพราะว่าต้องมีกำลังของสมาธิในอานาปานสติกรรมฐาน จึงจะเห็นได้ว่าแม้พระอนาคามีก็ตาม ก็ยังคงสามารถใช้อนุสติ เพื่อที่จะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าระดับนี้เช่นกัน
              ส่วนพระอรหันต์นั้น เป็นผู้สงบระงับในทุกรูปแบบ เป็นผู้ไม่เป็นทุกข์โทษเวรภัยให้กับคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ เป็นผู้มีสติสมบูรณ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง ไม่มีทางที่กิเลสส่วนอื่นๆ จะเกิดขึ้นในใจของท่านได้
              เพราะว่าปัญญาของท่านแจ่มใส สติของท่านสมบูรณ์ ไม่ไปสร้างเหตุของการรัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นมา รัก โลภ โกรธ หลง ก็กินใจของท่านไม่ได้ อันนี้ก็เกิดจากกำลังของอานาปานุสติ ในระดับของฌาน ๔ เป็นอย่างน้อย
              ถ้าหากว่าได้สมาบัติอื่นๆ ขึ้นไปจนถึงสมาบัติ ๘ ก็ยิ่งดี หมายความว่า ในอนุสติทั้ง ๑๐ นั้น ถ้าหากว่าใช้อานาปานุสติเป็นหลัก ใช้พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ มรณานุสติ และอุปสมานุสติเป็นปกติ
              เราสามารถเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ขั้นต้น คือพระโสดาบันและพระสกทาคามี ขั้นกลางคือพระอนาคามี และขั้นสูงสุดคือพระอรหันต์ได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้ให้เป็น ต้องรักษาอารมณ์ ให้ทรงตัว ต้องมีปัญญาควบกับสติ สัมปชัญญะด้วย
              พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงสภาพของร่างกายของเรา สภาพร่างกายของผู้อื่น จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นคน เป็นสัตว์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีสภาพความเป็นจริง ในลักษณะของความไม่สวยไม่งาม ความสกปรกโสโครก
              ความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด
เช่นกัน ไม่มีอะไรทรงตัวให้ยึดถือมั่นหมายได้ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ ก็มีแต่ความทุกข์เป็นปกติ ตราบใดที่ยังเกิดอีกก็ยังทุกข์อีก
              เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะปล่อยวางร่างกายนี้ ปล่อยวางโลกนี้ หรือว่ายังไปยึดไปถือมันอยู่ จะต้องคอยระมัดระวังกิเลสตามสังโยชน์ ที่จะเกาะกินใจของเรา โดยเฉพาะอวิชชาสังโยชน์ ซึ่งเราระมัดระวังแค่ไหน ก็พยายามจะสอดจะแทรกเข้ามาเสมอ
              เราเห็นสิ่งใด เกิดความชอบใจขึ้นมา ได้ยินสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา ได้กลิ่นสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา ได้รสสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา สัมผัสสิ่งใดเกิดความชอบใจขึ้นมา อารมณ์ใจใดๆ เกิดขึ้นในใจเกิดความชอบใจขึ้นมา
              อันนี้จัดเป็นฉันทะ คือยินดีกับมัน มันก็จะสร้างราคะ คือความอยากมีอยากได้ขึ้นมาในใจ ดังนั้น เราจะต้องผูกใจของเราอยู่กับคำภาวนา ผูกใจของเราอยู่กับลมหายใจเข้า ออกให้เป็นปกติ
              เพื่อที่สติสัมปชัญญะจะได้ทรงตัว ไม่เผลอไปยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา เราต้องระมัดระวังอยู่ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที ทั้งหลับและตื่น จะต้องพยายามมีสติรู้รอบ หลับอยู่ก็ต้องรู้ ตื่นอยู่ยิ่งจำเป็นต้องรู้
              ถ้าขาดสติลงช่วงใดช่วงหนึ่ง กำลังของกิเลสจะสามารถสอดแทรกเข้ามา ทำให้จิตใจของเราเริ่มว้าวุ่น ขุ่นมัว
แล้วเราก็จะพลาดจากเป้าหมายออกไป
              ดังนั้น อนุสติทั้ง ๑๐ ข้อใดข้อหนึ่ง ในแต่ละวันเราจำเป็นจะต้องให้มีอยู่ในใจของเราตลอดเวลา เพื่อที่กำลังของกิเลสจะได้แทรกเข้ามาไม่ได้
              สำหรับวันนี้ จะกล่าวถึงเรื่องของกสิณต่อไป การศึกษากรรมฐานนั้น ถ้าหากว่าเราศึกษาขั้นต้น คือให้รู้อยู่ว่า กรรมฐานแต่ละกองมีการปฏิบัติอย่างไร มีคุณประโยชน์อย่างไร แล้วเราชอบใจกองใดกองหนึ่ง ก็นำกองนั้นไปปฏิบัติให้ได้ผลอย่างแท้จริง
              สำหรับกสิณทั้ง ๑๐ นั้นเป็นกรรมฐานหยาบ เพราะว่ามีนิมิต ให้จับได้ต้องได้ กสิณนั้นจะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรก เรียกว่า วรรณกสิณ คือ กสิณเกี่ยวกับสีสันต่างๆ ประกอบไปด้วย กสิณสีแดง กสิณสีเหลือง กสิณสีเขียว กสิณสีขาว
              อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับธาตุกสิณ คือธาตุ ๔ มี กสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ
              อีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของกสิณแสงสว่าง และกสิณอากาศ สำหรับวันนี้ จะกล่าวถึงวรรณกสิณทั้ง ๔ ก่อน เพราะว่าเหมาะสำหรับท่านที่เป็นโทสะจริต ซึ่งเมื่อครู่กล่าวแล้วว่าจะต้องมีข้อปฏิบัติที่ต่างจากอนุสติทั้ง ๑๐ ประการ วรรณกสิณทั้ง ๔ คือ
              กสิณสีแดง ภาษาบาลีเรียกว่า โลหิตกสิณ
              กสิณสีเหลือง ภาษาบาลีเรียกว่า ปีตกกสิณ
              กสิณสีเขียว ภาษาบาลีเรียกว่า นีลกสิณ
              กสิณสีขาว ภาษาบาลีเรียกว่า โอทาตกสิณ
              กสิณทั้ง ๔ กองนี้ เหมาะสำหรับท่านที่เป็นโทสะจริต ผู้ใดเจริญกสิณทั้ง ๔ กองนี้ กำลังโทสะจะเบาบางลง ถ้าทำจนได้เต็มที่ จะสามารถตัดอารมณ์ของโทสะได้ แล้วกสิณทั้ง ๔ กองนี้ยังมีอานุภาพพิเศษต่างๆ กันไป
              อย่างโอทาตกสิณ(กสิณสีขาว) เป็นหนึ่งในกสิณทั้ง ๓ กอง ที่จะสร้างทิพจักขุญาณให้เกิดขึ้นแก่เราได้
              นีลกสิณ(กสิณสีเขียว) ทำให้สถานที่ที่สว่างอยู่มืดมิดไปได้ สามารถกำบังตนของเราไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นได้
              ปีตกสิณ(กสิณสีเหลือง) สามารถเปลี่ยนสีอื่นๆ ให้กลายเป็นสีเหลืองได้ ให้กลายเป็นสีทองได้ สามารถที่จะทำให้วัตถุต่างๆ กลายเป็นทองคำได้
              โลหิตกสิณ(กสิณสีแดง) สามารถเปลี่ยนวัตถุต่างๆให้กลายเป็นสีแดงได้
              เหล่านี้เป็นอานุภาพพิเศษ สำหรับการฝึกกสิณนั้น จำเป็นจะต้องมีดวงกสิณ คือสิ่งที่เราอาศัยเพ่งก่อน สมัยโบราณนั้น กสิณสีแดง ท่านให้ดูดอกไม้สีแดง หรือว่าผ้าสีแดงเป็นหลัก กสิณสีเขียว ท่านให้ดูใบไม้เป็นหลัก
              กสิณสีเหลืองท่านให้กำหนดดูดวงอาทิตย์ การกำหนดดูดวงอาทิตย์นั้น อย่าดูดวงอาทิตย์ตอนที่ส่องแสงสว่างมาก เพราะว่าจะทำให้สายตาเสีย กสิณสีขาว ท่านให้ดูผ้าขาว หรือว่าดูดวงจันทร์เป็นหลัก
              สำหรับเราในสมัยนี้ วัตถุต่างๆ หาง่าย การสร้างดวงกสิณทำได้ง่าย สมัยก่อน ตัวผมเองใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ มาพ่นสีลงไป พ่นเป็นสีแดง พ่นเป็นสีเหลือง พ่นเป็นสีเขียว พ่นเป็นสีขาว
              แล้วใช้จานครอบลง ตัดออกมาเป็นวงกลม ติดใส่ข้างฝาไว้ แล้วก็จับเป็นนิมิตภาวนา ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปใช้สองคืบสี่นิ้วอย่างตำราเขาว่า เอาขนาดที่เรารู้สึกว่าพอเหมาะพอดี สามารถจับภาพนั้นได้สะดวก
              เมื่อเราใช้สีใดสีหนึ่งขึ้นมาก่อน ถึงเวลาแล้วกำหนดใจ ตั้งใจสบายๆ ลืมตามองภาพนั้นแล้วหลับตาลงนึกถึง จะเห็นภาพนั้นได้ชั่วคราว พอภาพมันเลือนหายไป ให้ลืมตามองใหม่ หลับตาลงนึกถึงอีกพร้อมกับคำภาวนา อย่างเช่นว่า
              สีแดง ใช้คำภาวนาว่า โลหิตกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
              สีเหลือง ใช้คำภาวนาว่า ปีตกกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
              สีเขียว ใช้คำภาวนาว่า นีลกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
              สีขาว ใช้คำภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ๆ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก
              หรือจะคิดเป็นภาษาไทยอยู่ในใจว่า สีแดงๆ สีเหลืองๆ สีเขียวๆ สีขาวๆ ก็ได้ พร้อมกับจับลมหายใจเข้าออก ให้เป็นปกติ ลืมตามองภาพ หลับตานึกถึง ภาพหายไปลืมตามองใหม่ หลับตานึกถึงพร้อมคำภาวนา
              ทำดังนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง ภาพก็จะเริ่มค่อย ๆ ปรากฏติดตาขึ้นมา เรียกว่าอุคหนิมิต ลืมตาอยู่ก็เห็น หลับตาลงก็เห็น เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ท่านทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องเพิ่มสติให้มากกว่าเดิม เพราะว่าถ้าเผลอเมื่อไรภาพจะหายไป
              จำเป็นต้องเอาใจจดจ่ออยู่กับภาพนั้น จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง จะทำงานทำการใดๆ ก็ตาม ต้องแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง จับภาพของกสิณไว้เสมอ
ถ้าเราทำดังนี้ได้เป็นปกติ ภาพกสิณนั้น สีสันก็จะค่อยๆ จางลงๆ ไปเรื่อยๆ
              ถ้าเป็นสีแดง สีเขียว จะจางลงอย่างเห็นได้ชัด จะค่อยๆ เป็นสีเหลือง เป็นสีเหลืองอ่อน เป็นสีขาว เป็นสีขาวทึบขึ้น แต่ถ้าหากว่าเป็นปีตกกสิณ เป็นสีเหลืองอยู่แล้ว ก็จะเป็นสีเหลืองอ่อน เป็นสีขาว
              ถ้าโอทาตกสิณเป็นสีขาวอยู่แล้ว ก็จะค่อยๆ เป็นสีขาว เป็นแผ่นทึบขึ้น เราจับไปเรื่อยๆ ตามปกติของเรา พร้อมกับคำภาวนา จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง จะเดิน จะนอน ให้ความรู้สึกอยู่กับภาพกสิณอย่างนี้ไปเรื่อย
              ภาพนั้นจะค่อย ๆ ใสขึ้น สะอาดขึ้น คือจากที่เป็นขาวทึบก็จะค่อย ๆ จางลง ๆ จนกลายเป็นใส ใสขึ้น ใสขึ้น สว่างขึ้น ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็ใสกระจ่างเจิดจ้าไปหมด อันนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต
              เมื่อเป็นปฏิภาคนิมิต ความสว่างนั้น จะสว่างเหมือนกับเอากระจกสะท้อนแสงอาทิตย์ใส่ดวงตาของเรา เราก็เริ่มอธิษฐาน ขอให้ภาพนี้เล็กลง ให้ภาพนี้ใหญ่ขึ้น ให้ภาพนี้หายไป ให้ภาพนี้ปรากฏขึ้นให้อยู่บนศีรษะ ให้อยู่ในอก ให้อยู่ข้างซ้าย ให้อยู่ข้างขวา
              ให้อยู่ข้างหน้า ให้อยู่ข้างหลัง ให้มาได้ ให้หายได้ ทำอย่างนี้ให้คล่องตัว นึกเมื่อไร ให้ทำได้เมื่อนั้น ถ้าเป็นดังนี้ แปลว่ากำลังของกสิณนี้ เราทำได้ทรงตัวแล้ว เมื่อทำได้ทรงตัวก็ลองอธิษฐานใช้ผลดู
              คือว่าถ้าเป็นโอทาตกสิณ ก็ให้อธิษฐานว่าขอให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพนรกจงปรากฏขึ้นมา ขอให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพสวรรค์จงปรากฏขึ้นมา ให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพของพรหมจงปรากฏขึ้นมา
              ให้ภาพกสิณนี้หายไป ภาพของพระนิพพานจงปรากฏขึ้นมา ภาพของนรกก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี นิพพานก็ดี หรือสถานที่ใดๆ ก็ตาม จะปรากฏขึ้นมาแทนดวงกสิณ ก็ให้พยายามทำให้คล่อง ดูให้ชัดเจน รักษาอารมณ์ใจให้แจ่มใส
              ถ้าหากว่าเป็นนีลกสิณก็ให้กำหนดว่า ให้ความมืดจงปรากฏขึ้น แต่ว่าให้จำกัดเขตเอาไว้ ถ้าเราปฏิบัติอยู่ในห้องก็อธิษฐานแค่ให้ในห้องนี้มืดลง หรืออธิษฐานให้กายของเราหายไปด้วยอำนาจของกสิณ
              หรือว่าถ้าเป็นปีตกกสิณ ก็ลองเปลี่ยนวัตถุอื่นๆ ให้เป็นทองดู หรือว่าเป็นสีแดง ก็ลองทดลองเปลี่ยนวัตถุอื่นๆ ให้เป็นสีแดงดู ถ้าสามารถทำได้คล่องตัว กสิณเหล่านี้ก็เท่ากับว่าเป็นของเราแล้ว
              คราวนี้ ถ้าทำแค่นี้จิตก็จะได้แค่ฌาน ๔ จะเป็นแค่โลกียอภิญญาเท่านั้น ก็ให้รู้จักพิจารณาด้วยว่า จริงๆ แล้วภาพกสิณนี้มันก็ไม่เที่ยง แรกๆ มันเป็นภาพอยู่ข้างนอก พอหลับตานึกถึงภาพก็ปรากฏขึ้นข้างใน
              จากสีเข้ม ก็เป็นสีจางลง จากสีจางลง ก็เป็นสีใส จากสีใสก็กลายเป็นแก้วทั้งดวง มันไม่เที่ยงเป็นปกติอย่างนี้ ตอนที่เราจับมันไม่ได้ เกาะมันไม่ติด เราก็กลุ้ม ก็ทุกข์ใจเป็นปกติ
              แล้วในที่สุดมันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่
ไม่ว่าจะเป็นดวงกสิณที่เราสร้างขึ้นก็ดี กสิณภายในก็ดี กระทั่งตัวเราก็ดี เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราให้ยึดถือมั่นหมายได้
              ถ้าเกิดอีกเมื่อไร ก็ต้องพบกับความไม่เที่ยงเช่นนี้ เกิดอีกเมื่อไร ก็ต้องพบกับความทุกข์เช่นนี้ ถ้าเราเกิดอีก ก็ทุกข์อีก แล้วเราจะโง่มาเกิดทำไม ? เราควรจะไปนิพพานดีกว่า

              ก็เอากำลังของกสิณนี้ เกาะพระนิพพานแทน เราจะสามารถเห็นพระนิพพานได้ชัดเจนแจ่มใส สามารถเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชัดเจนแจ่มใส วางอารมณ์ใจว่า ถ้าตายเมื่อไร เราขออยู่ที่นี่แห่งเดียว
              แล้วจับในอุปสมานุสติหรือพุทธานุสตินั้นแทน ถ้าทำดังนี้ได้ กำลังของสมาธิที่ทรงตัว จะทำให้กิเลสค่อย ๆ ลดน้อยลง แล้วในที่สุดก็สลายตัวไป เราก็จะเข้าสู่พระนิพพานได้ตามที่เราต้องการ
              สำหรับวรรณกสิณทั้ง ๔ นี้ ถ้ากำลังใจทรงตัวถึงปฏิภาคนิมิตเมื่อไร มันจะตัดตัวโทสะได้โดยอัตโนมัติของมันเอง สำหรับวันนี้เวลาไม่พอแล้ว การศึกษาเรื่องของกสิณ ให้เราไปปฏิบัติเอาตามใจชอบของตน ตอนนี้ก็ให้รักษากำลังใจส่วนหนึ่ง เกาะภาพพระให้เป็นปกติ ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันอังคารที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๗


รับประกาศนียบัตรจากหลวงพ่อสมเด็จวัดสระเกศ