สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ (ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ........................... ?
      ตอบ :  คราวนี้มาดูตรงจุดที่ว่า ท่านพอถึงเวลาบวชแล้วเป็นพระที่มีลาภมากที่สุด ขณะพระพุทธเจ้าจะไปเยี่ยมพระเรวัตร น้องเล็กของพระสารีบุตร อาศัยอยู่ในป่าลึก พระพุทธเจ้าถามทางจากพระอานนท์ พระพุทธเจ้าท่านรู้ แต่โดยทั่ว ๆ ไป ถ้ายังใช้ความสามารถของคนปกติทั่วไปได้ก็ใช้ก่อน ไม่ใช้ความเป็นทิพย์ ถามทางจากพระอานนท์ว่าจะไปถึงนั่น ระยะทางใกล้ไกลเพียงใด ลำบากหรือไม่ พระอานนท์แจ้งว่า ถ้าเป็นทางตรงระยะทางประมาณ ๓๐ ประโยชน์เป็นป่ารก มากด้วยอมนุษย์ ถ้าเป็นทางอ้อมระยะทางประมาณ ๖๐ โยชน์เท่าตัว ไปสบายมีบ้านเมืองมนุษย์สามารถโคจรบิณฑบาตได้สะดวก พระพุทธเจ้าท่านถามว่า “พระสีวลีมาด้วยหรือไม่ ?” คือเวลาไปไหนจะมีพระเรียกว่าภัตตุเทสก์ หรือว่าผู้จัดกิจนิมนต์ ผู้แจกอาหาร มีหน้าที่จัดพระให้เดินทางตามเสด็จพระพุทธเจ้า พอจัดอย่างนั้นเข้าท่านก็ถามว่า “พระสีวลีไปด้วยหรือเปล่า ?” พระอานนท์ทูลตอบบอกว่า “ไปด้วยพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าถึงได้บอกว่า “ถ้าพระสีวลีไปด้วย เราไปทางตรง ป่าก็ป่า รกก็รก ไปเถอะ” ปรากฏว่าเดินทางไปบรรดาเทวดาที่เป็นเพื่อนร่วมถวายทานกับพระสีวลีในชาตินั้น เออ...พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้วพร้อมกับพระสีวลีพระเถระเจ้าของพวกเราไปทำบุญกันเถอะ ก็เนรมิตที่พักระยะทาง ๑ โยชน์ ตลอดทาง ๓๐ โยชน์ พร้อมกับนำอาหารมาถวายโดยเฉพาะเจาะจงถวายพระสีวลี รู้อยู่แล้วว่าถวายพระสีวลีเมื่อไร พระสีวลีก็ถวายพระพุทธเจ้าพร้อมกับพระทั้งหมดด้วย
              คราวนี้พระพุทธเจ้าท่านตั้งให้เป็นเอตทัคคะคือผู้เลิศในทางมีลาภ เรื่องของลาภผลเกิดจากผลของทาน ถ้าให้ทานรวยแน่ ๆ แต่มีข้อแม้เหมือนกัน ถ้าหากว่าทำทานด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย เกิดมารวยด้วยเพื่อนฝูงมากด้วย ถ้าทำทานคนเดียวไม่ชักชวนใครเกิดมารวยจริง แต่หาเพื่อนฝูงไม่ได้ ถ้าดีแต่ชวนคนอื่นทำตัวเองไม่ทำ ถ้าเผลอเกิดชาติใหม่ ก็เพื่อนเยอะแต่จน มีข้อจำกัด ถ้าหากว่าเรื่องของศีล เกิดมาจะเป็นคนที่รูปร่างหน้าตาสวยงาม มีจิตใจที่ดีงาม ถ้าเรื่องของการภาวนาเกิดมาจะเป็นผู้มีปัญญามาก เนื่องจากพวกนี้เป็นผลที่อย่างไรต้องได้อยู่แล้ว อย่างนี้เรามีโอกาสเราก็ทำให้ครบ ทานเราก็ให้ ศีลเราก็รักษา ภาวนาเราก็ปฏิบัติ
              มาพูดถึงเรื่องของว่าเยอะขึ้น ๆ ทุกครั้ง ก็คือผลของทานเก่าที่เราทำมา โดยเฉพาะสายของหลวงพ่อเริ่มจากทานบารมีชาติแรกที่ตั้งใจ ตั้งใจสร้างบารมีกันจริง ๆ ชาตินั้นหลวงพ่อท่านบอกว่าภูกระดึงยังเป็นเกาะอยู่กลางทะเลเลย โผล่ยอดมาหน่อยเดียว มีโอกาสได้นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถวายทาน พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานต่างคนก็ต่างอยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ หลวงพ่อท่านบอกว่า ท่านปรารถนาจะเกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง คนโน้นก็อธิษฐานขอเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ว่ากันมาเรื่อย ๆ
              คราวนี้พอเริ่มด้วยทานบารมี พวกเราจะมีเป็นปกติ แล้วก็จะให้เขาง่ายเป็นปกติ เพราะเคยชินกับการให้มาเป็นแสน ๆ ชาติแล้ว แต่มีอยู่จุดหนึ่ง ช่วงก่อนบวช มีอยู่ช่วงหนึ่ง ทำอะไรติดขัดไม่สะดวกไปหมด เราเองขี้โวยวาย ประเภทที่เรียกว่าแหกคอกเขา ลงมาเกิดยังไม่พอ กลับไปโวยวายคนอนุญาตให้มาอีก การที่เราจะลงมาเกิดทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่วาระของตัวเอง จะต้องมีเทวดาผู้ใหญ่รับรองให้ถึงมาได้ ปรากฏว่าเทวดาผู้ใหญ่ที่ท่านรับรองให้อาตมาก็คือท่านย่า ไปหาท่านย่า บอกว่า “ย่าครับ ผมไปดูบุญผมแล้วที่ทำมา ส่วนที่ผมทำ ให้ผมเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิยังไม่พอเลย แล้วทำไมมาให้ผมลำบากอย่างนี้ ?” ท่านย่าบอกว่า “ไอ้หน้าอย่างเอ็ง ถ้ารวยก็เลว” แหม...บอกชัดมาก ด่าก่อนปลอบใจทีหลัง บอกว่า “ลองคิดดูสิลูกในชีวิตสิ่งที่เจ้าอยากได้แล้วไม่ได้มีไหม ?” เราคิดย้อนหลังดูเรื่อย ๆ ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา อืม...จริง ๆ ถ้าเราอยากได้อะไรไม่ช้าก็เร็วต้องได้ ได้จริง ๆ บอกว่า “ไม่มีครับท่านย่า ถ้าหากว่าผมต้องการอะไรจริง ๆ ต้องได้ ยกเว้นว่าผมไม่ต้องการจริงเท่านั้น” ท่านบอกว่า “แล้วยังไม่พอหรือ กำลังใจอย่างพวกเจ้าตามพ่อมานาน เข้มแข็งกว่าคนอื่นเขา การที่จะตรงกลางพอดี ๆ ไม่มี มีแต่โน้มเอียงหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าให้รวยเต็มที่ก็เป๋กระฉูด เลวหาที่ติไม่ได้แน่
      ถาม :  .............................
      ตอบ :  เรามากด้วยที่อยู่อาศัย มากด้วยศิลานะเภสัช ท่านบอกว่า “เปรียบเหมือนกับหนอนในกองขี้ ไปคุยอวดหนอนตัวอื่นว่าขี้ของเรากองใหญ่กว่า” เสียหายหลายแสนเลยไหม เพราะฉะนั้น...ต้องอยู่กับมันอย่างมีสติ แต่ดีอยู่อย่างว่า อย่างพวกอาตมา หลวงพ่อท่านเคี่ยวเข็นเอาไว้เยอะ รับมาท่านไม่ให้กินคนเดียว ไม่ให้ใช้คนเดียว อย่างน้อย ๆ ต้องแบ่งสี่องค์ขึ้นไปให้เป็นสังฆทาน แต่ปัจจุบันอาตมาไม่ได้แบ่งสี่องค์ แบ่งอย่างน้อยก็สี่วัด กลายเป็นมหาสังฆทานไปด้วย แม้กระทั่งเงินส่วนตัวที่โยมถวายมา หลวงพ่อบอกว่า “จงอย่าคิดว่าเป็นเงินส่วนตัว ใช้ให้สมควรแก่สมณสารูป” อย่างเช่นเป็นค่ารถ เป็นค่าอาหาร เป็นค่ารักษาพยาบาล หรือว่าสงเคราะห์บุคคลที่เขาลำบากทุกข์ยาก ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส นอกเหนือจากนั้นให้รวมเข้าเป็นกองบุญการกุศลส่วนกลาง จะทำเป็นสังฆทาน ธรรมทาน วิหารทาน อะไรก็ได้ เพื่อเพิ่มอานิสงส์ให้กับผู้ที่ถวายเรามา เพราะเงินที่โยมให้มีส่วนของโยมอยู่ด้วย เมื่อได้มาแล้วอย่าคิดว่าเป็นส่วนตัว ท่านจึงเตือนไว้ว่า ในชีวิตนี้อย่าได้คิดว่ามีเงินส่วนตัวเป็นอันขาด เงินปีนี้อย่าใช้ถึงปีหน้า ถ้ามีเงินเหลือติดบัญชี เหลือติดย่ามจริง ๆ ให้คิดว่าปีหน้าเราจะทำอะให้งานใหญ่เยอะกว่าเงินถึงเวลาจะได้รู้ เออ...เงินต้องเอาไว้ไปทำอันนั้น และไม่ไปยึดอยู่กับมัน ปัจจุบันอาตมาอยู่ที่ทองผาภูมิ พวกพระต่าง ๆ ตอนแรก ๆ เขาแปลกใจ
              วันก่อนท่านปูพระปลัดฉลองโชติวโร เจ้าอาวาสวัดปรังกาสี แหม...ผมเข้าใจอาจารย์เล็กผิดมานาน ตอนแรกนึกว่าจะไปยึดวัดท่าขนุน ก็ไม่ใช่ เห็นช่วยเขาสร้างเส็จแล้วไปวัดทองผาภูมิ คิดว่าจะไปยึดวัดทองผาภูมิคงจะไม่ใช่อีก เพราะเห็นตั้งหน้าตั้งตาทำเอาทำเอา คือคนอื่นทำได้แค่ไหนก็คิดว่าเราจะทำอย่างเขา ถ้าเขาคิดอยากได้ อยากมีอยากเป็น เขาก็คิดว่าเราอยากได้ อยากมี อยากเป็นแบบเขา คราวนี้ของเราไปถึงตั้งหน้าตั้งตาทำเอา ๆ ไม่เคยรบกวนใครแม้แต่บาทเดียว ตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างเดียว ได้มาเท่าไรทำไปเท่านั้น พอเขาเห็นมากขึ้น ๆ เขาเริ่มคล้อยตามา คาดว่าต่อไปสักระยะหนึ่ง ถ้าส่วนใหญ่เชื่อแล้ว ต่อไปเราแนะนำอะไรเขาฟังเราง่ายขึ้น
      ถาม :  ............................
      ตอบ :  เด็กเพิ่งเกิดแท้ ๆ การเสวยอารมณ์ คือรับสิ่งต่าง ๆ จากตาหูจมูกลิ้นกายเข้าสู่ใจเร็วมาก ขัดใจแล้วนี่ ขัดใจนี่อารมณ์ปฏิฆะ เป็นส่วนหนึ่งของโทสะ ถ้าชอบใจเจ๊งอีก ชอบใจนี่เป็นราคะ ตกลงสังโยชน์ใหญ่ตัวกามฉันทะ กับตัวปฏิฆะอยู่ที่ใจเราชัด ๆ เลย จะชอบใจก็ไม่ได้ จะขัดใจก็ไม่ด้ เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง แล้วทำอย่างไร ต้องพิจารณาให้เห็นจริงแล้วปล่อยวางธรรมดาของมัน อย่างเลี้ยงเด็กอย่างนี้ บางครั้งเด็กทำอะไรน่าตีอภัยให้ได้ เพราะเราเห็นธรรมดาของเด็กต้องดื้อต้องซนเป็นปกติ เราอภัยให้เขาได้ คราวนี้ทำไมเราไม่เห็นธรรมดาของผู้ใหญ่บ้าง ธรรมดาของผู้ใหญ่ที่ยังไม่รู้ ธรรมดาของผู้ใหญ่ที่ยังไม่เข้าถึงศีลถึงธรรม มีความประพฤติน่าเกลียดน่าชังแบบนี้ ถ้าเราเห็นธรรมดาแบบนี่เราก็อภัยให้ผู้ใหญ่ได้
              การเรียน การปฏิบัติ การทำงาน ทั้งหมดอยู่ตรงอิทธิบาท ๔ เครื่องที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ท่านบอกว่า ๑. ต้องประกอบด้วยฉันทะ พอใจที่จะเรียน พอใจที่จะทำงาน พอใจที่จะปฏิบัติ ๒. วิริยะ ต้องมีความพากเพียร เมื่อพอใจทำ อยากจะทำแล้ว ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำ ๓. จิตตะ มีจิตจดจ่อปักมั่นในเรื่องนั้น ไม่เลิกเด็ดขาดถ้ายังทำไม่สำเร็จ ข้อสุดท้าย วิมังสา หมั่นไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ อย่างการทำงานสมัยนี้เขามีการสรุปประเมินผลอยู่เรื่อย ๆ เราจะรู้ว่าตอนนี้เราทำอะไร ไปถึงไหน ได้ผลไม่ได้ผล เป็นที่พอใจไม่พอใจอย่างไรบ้าง
              พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้นานแล้ว ของพวกเราตอนนี้จิตตะไม่ค่อยจะปักมั่น วิริยะพากเพียรไม่ค่อยจะมี เอะอะก็ทั้งท้อทั้งถอย ท้อได้แต่อย่าไปถอย ถอยเสียฟอร์ม เกียร์ถอยเขาถอดทิ้งไปแล้ว ถอยไม่ได้หรอก แล้ววิมังสาตัวไตร่ตรองทบทวน พวกเราไม่ค่อยมี หาเหตุไม่เป็น ทำไมเราเรียนไม่ดี มีข้อบกพร่องตรงไหน ความจริงตัวเราต้องรู้มากกว่าคนอื่น แต่ทำไมเราไม่รู้ว่าเราบกพร่องตรงไหน ฉันทะไม่มีหรือ ?
              ฉันทะมี แต่ใช้ผิดหรือเปล่า เด็กสมัยนี้ตัวอย่างชัดเลย เรียนหนังสือไม่ค่อยเรียนกันหรอก นั่งเล่นเกมส์กันข้ามวันเลย นั่นน่ะฉันทะเหลือล้นเลย พอใจที่จะทำอย่างนั้น แต่แทนที่จะไปพอใจในการเรียนหนังสือ ไปพอใจในการเล่นเกมส์แทน เพราะฉะนั้น...ตัวเราจะรู้ดีที่สุด ว่าเราบกพร่องตรงไหน อย่างเช่นขาดเรียนไปชั่วโมงหนึ่งตามเพื่อนไม่ทัน พอชั่วโมงที่สองตาไม่ทันเลยไม่รู้เรื่องไปสองชั่วโมง เดี๋ยวก็สามชั่วโมง สี่ชั่วโมง ห้าชั่วโมง ดินพอกหางหมูเข้าไป แทนที่จะไปสอบาถามครูบาอาจารย์เพื่อที่จะได้ตามเพื่อนทัน ไม่กล้าถามอีก พอพอกมาก ๆ เข้าเรียนไม่รู่เรื่องก็เบื่อหน่าย ลักษณะของการปฏิบัติก็อย่างเดียว นี่เรียนแล้วนะ ทำงานแล้วนะ การปฏิบัติก็เหมือนกัน เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเราทำมั่ว หลักการปฏิบัติจริง ๆ ที่สำคัญเริ่มที่ศีล พยายามรักษาศีลทั้ง ๕ ข้ออย่าให้บกพร่อง ถ้ารักษาได้สมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ไม่ทำให้ศีลขาดด้วยตัวเอง อย่ายุคนอื่นทำ อย่ายินดีเมื่อเห็นคนอื่นทำ ขณะเดียวกันทำสมาธิควบคู่กันไปด้วย ถ้าศีลดีสมาธิจะทรงตัวได้ง่าย พอสมาธิทรงตัวปัญญาจะเกิด เราก็เอาปัญญา คือตัวสติ การรู้รอบและการเห็นจริงไปควบคุมศีล เพื่อให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
              เพราะฉะนั้น...หลักใหญ่จริง ๆ ของเราคือ อันดับแรก จับการภาวนาอย่าทิ้งลมหายใจเข้าออกเด็ดขาด ทิ้งลมเมื่อไรตาย ไม่รู้ลมคือไม่ได้หายใจ ตายแหง ๆ อันดับที่สอง ทวนอยู่เสมทอ ๆ วิมังสา ตอนนี้การปฏิบัติภาวนาของเราเป็นอย่างไร ศีลทุกข้อของเราบกพร่อง ไม่บกพร่องอย่างไร อันดับที่สามตัวปัญญา เราทำเพราะว่าเราอยากพ้นทุกข์ ในเมื่อเราอยากพ้นทุกข์ วิธีที่จะพ้นทุกข์ได้มีวิธีเดียว คือเลิกเกิดแล้วไปนิพพาน ปัญญาของเรารู้แจ้งเห็นจริงในการเกิด เห็นว่าเป็นทุกข์ เป็นโทษจริงแล้วหรือยังว จะได้เข็ดจะได้เลิกอยากที่จะเกิด หรือว่ายังเบื่อ ๆ อยาก ๆ อยู่ หรือว่าอยากจะเกิดอยู่ร่ำไป หลักการมีเหลืออยู่แค่นี้ ภาวนาจับอานาปานสติ หรือว่าจับภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติควบกับลมหายใจเข้าออก แล้วพยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งใจไว้ว่าตายเมื่อไรเราจะไปนิพพาน ทำงานทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด คิดอยู่เสมอว่าเรามีเวลาวันนี้วันเดียว ถ้าเลิกหายใจเราอาจจะตายทันที ความตายมาถึงเราเมื่อไรเราไม่รู้ตัว ถือว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะฝากผลงานไว้ในแผ่นดิน
              เพราะฉะนั้น...เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องการเรียนก็เหมือนกัน ตั้งใจว่าเรื่องของการเรียนรู้ทางโลกไม่ยากเท่าทางธรรมหรอก ถ้าจิตใจมั่นคงในทางธรรมความรู้ทางโลกเป็นเรื่องเล็ก ใจเป็นสมาธิทรงตัวซะอย่าง อ่านหนังสือเที่ยวสองเที่ยว ฟังเที่ยวสองเที่ยวจำได้หมดแล้ว สรุปการเรียนก็ดี การทำงานก็ดี การปฏิบัติก็ดี จริง ๆ แล้วเกี่ยวเนื่องกันตลอด ถ้าจิตของเรามีสมาธิคงตัวอยู่ ความสนใจจะปักมั่นอยู่กับงานเฉพาะหน้า ดังนั้นงานเฉพาะหน้าช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นภาวนา หรือพิจารณาก็ดี เป็นการทำงานก็ดี เป็นการเรียนก็ดี เมื่อจิตใจจดจ่ออยู่ตรงนั้น จะเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นได้ง่าย ผลงานที่ได้มาก็จะดี ผลการเรียนที่ได้มาก็จะดี ผลการปฏิบัติที่ได้มาก็จะดี
      ถาม :  ผิดหมดเลย ?
      ตอบ :  ผิดหมดเลย ผิดทั้งวัน เปล่า เรานั่งอยู่ตรงนี้ ศีล ๕ ของเราครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ตั้งใจว่า สมมติว่าเราเริ่มผิดศีลทันทีที่เข้าที่ทำงาน เริ่มผิดศีลทันทีที่ไปถึงที่เรียน พูดง่าย ๆ คือพอมีปฏิสัมพันธ์ มีสังคมกับคนรอบข้างเมื่อไรเริ่มโกหกแล้ว หรือไม่ก็เริ่มฆ่าสัตว์แล้ว เริ่มกินเหล้าแล้ว ให้ตั้งใจว่า ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนไปถึงที่ทำงาน หรือที่เรียน เราจะรักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์ ตั้งใจว่า ตั้งแต่กลับจากที่ทำงาน หรือว่าที่เรียนจนถึงบ้าน เราจะรักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์ ระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมงขาดทุนให้น้อยที่สุด พอทำบ่อย ๆ จิตเคยชินกับด้านดี จะปรับเอนมาทางด้านดีได้ง่าย จะมีแก่ใจที่จะทำที่จะปฏิบัติ ไม่มีใครหรอกที่จะไม่ผิดศีลเลย ผิดทั้งนั้นแหละ เห็นมีพระสีวลีองค์เดียวที่ไม่ผิด ท่านอยู่แต่ในท้องแม่นี่ ออกมาก็บวชเลย เป็นพระอรหันต์อีกต่างหาก
      ถาม :  ต้องตั้งจิตว่า ?
      ตอบ :  ตั้งใจว่าเราจะรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อให้สมบูรณ์ให้ได้ เย็น ๆ เริ่มนึกทบทวนแล้ว ในวันนี้ที่ผ่านมา เราได้ฆ่าสัตว์ไหม ทรมานสัตว์ให้ลำบากโดยเจตนาไหม เราลักขโมยคนอื่นไหม ข้าวของที่วางเอาไว้เอาหยิบฉวยโดยไม่ได้บอกเขาไหม เราไปแย่งคนที่เขารัก ของที่เขารักมาไหม เราพูดโกหกใครมาบ้าง เราดื่มสุราเมรัย เครื่องดองของเมาอะไรบ้าง ทวนไว้ ถ้าข้อไหนบกพร่อง ให้ตั้งใจว่าพรุ่งนี้เราจะทำให้ดี ก่อนจะออกไปทวนซะอีกรอบ ข้อนี้พร่องนะ เพราะฉะนั้น...ตั้งใจระวังข้อนี้ ข้อนั้นพร่องตั้งใจระวังข้อนั้น พอทำบ่อย ๆ เดี๋ยวเคยชินก็ได้สมบูรณ์ไปเอง ทำได้แน่ ๆ จ้ะ
              อาการของเรายังไม่หนัก อาการที่หนักหนาสาหัสจริง ๆ ต้องอย่างท่านองคุลีมาล ฆ่าคนเป็นพัน ๆ เลย แต่พอท่านจะเลิกปั๊บ ท่านตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติกลายเป็นพระอรหันต์ เราเองยังไม่แย่ขนาดนั้น ทำอย่างไรต้องได้ผลดีแน่ ๆ ที่ผิดมาแล้วแล้วแล้วกันไป ถือว่าเจ๊ากันไป เริ่มต้นใหม่ทำดีใหม่ ตอนนี้ซื้อตั๋วทัวร์ข้างล่างไว้เยอะ รีบ ๆ ขายตั๋วทิ้งซื้อข้างบนไว้บ้าง จะดูหนังเรื่องไฟนรกสุดขอบฟ้า หรือจะดูหนังเรื่องแดนสวรรค์พาสุข หรือจะดูหนังเรื่องพรหมประกาศิต หรือจะดูงหนังเรื่องนิพพาน ซื้อตั๋วอะไปอย่างนั้น การซื้อตั๋วคือการทำของเรา ทำดีได้ตั๋วดี ๆ ทำไม่ดีได้ตั๋วไม่ดี พอถึงเวลาเราโดยสารรถ คือกรรมที่เราทำด้วยตั๋วอันนั้น ไปสู่สิ่งที่เราทำนั่นแหละ
      ถาม :  จิตตกเกิดจากศีลบกพร่องไหมคะ ?
      ตอบ :  หลายอย่างด้วยกัน สำคัญที่สุดคือสมาธิตก สมาธิตกเพราะกำลังใจเสีย เอ๊ะ...ศีลเราบกพร่องซะแล้ว เอ๊ะ...เราทำอย่างนั้นไม่ดีซะแล้ว เราทำอย่างนี้ไม่ดีซะแล้ว พยายามทำใหม่จ้ะ ถ้ามัวแต่ตกอยู่เสียประโยชน์ ถ้าตายตอนนั้นอาจจะไปอบายภูมิด้วย เพราะใจกำลังหมองอยู่ เปรียบเหมือนกับคนสองคนเดินมาพร้อมกัน ล้มลงพร้อมกันคนหนึ่งลุกขึ้นเดินต่อเลย ส่วนอีกคนนั่งคร่ำครวญ โอ๊ย..เจ็บเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน ไม่น่าเลย เดินมาตั้งไกลล้มซะได้ ไม่ลุกเดินซะทีมัวแต่คร่ำครวญอยู่ตรงนั้นไม่ได้อะไร เสียระยะทางไปเปล่า ๆ
              เพราะฉะนั้น...การทำความดีต้องมีความกล้าหาญ ใบหน้าต้องค่อนข้างหนาหน่อย ๆ ผิดแล้วให้ถือว่าเป็นครู ตั้งหน้าทำดีใหม่ ผิดแล้วผิดไป ตั้งหน้าตั้งตาทำดีใหม่ เดี๋ยวดีจะมากกว่าชั่วเอง อย่าเสียเวลาไปตกไปหมองอยู่กับมัน ถ้าไปตกไปหมองอยู่กับมันก็เจ๊งแน่ ๆ ทันทีที่ศีลขาด รู้ตัวปุ๊บว่าศีลขาด ให้ตั้งใจเลยว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลทุกข้อเราจะรักษาให้บริสุทธิ์ แล้วนับ ๑ ๒ ๓ ต่อไปเลย ถ้าทำอย่งนี้บ่อย ๆ เดี๋ยวชิน ความดีจะเข้ามาง่าย รักษาได้นาน โอกาสที่จิตตกก็น้อย ส่วนใหญ่เกิดจากสมาธิ เพราะว่ากำลังใจเสีย
      ถาม :  กำลังใจกับสมาธิเหมือนกันไหมคะ ?
      ตอบ :  จริง ๆ เหมือนกัน กำลังใจเกิดจากสมาธิ สมาธิทรงตัวเพราะกำลังใจมี กำลังใจภาษาพระเรียกบารมี เพราะฉะนั้น...ถ้าทำสมาธิมาก ๆ บารมีก็เกิด บารมีเกิดสมาธิก็ทรงตัว ศีลก็ทรงตัว
      ถาม :  วันหนึ่งตกบ่อยค่ะ ?
      ตอบ :  พวกเดียวกัน อาตมาสมัยก่อนบวชตกแล้วตกอีก ตกจนน่าเบื่อหน่าย บังเอิญเราตกก็เหมือนตกจากที่สูง ตกจากที่สูงเจ็บใช่ไหม ตกบ่อย ๆ ต้องจำ ไม่จำจะเจ็บอีก พอจำต้องหาวิธีแก้ไข แต่ส่วนใหญ่ของพวกเรา พอตกแล้วไม่คิดหาวิธีแก้ ตกแล้วตกเลย แล้วเวลาดีก็ดีแล้วดีเลย
              คราวนี้ถ้าเราไม่รู้ว่าดีเพราะอะไร ไม่รู้ว่าตกเพราะอะไร ถึงเวลาเราจะแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้น...เราต้องหาเหตุให้ได้ว่าตกเพราะอะไร จากที่อารมณ์ใจเย็น ๆ แท้ ๆ โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ อาละวาดตึงตังใหญ่โตไปเลย เกิดเพราะอะไร หลังจากที่หายโกรธแล้วมานั่งตรึกตรองทบทวนดู เออ...เพราะว่าเราเห็นแล้วไม่พอตา เรานำมาคิดก็ไม่พอใจ ไม่พอใจล้นออกจากใจก็ออกมาทางปาก ออกมาทางปากไม่พอ ทางมือ ทางเท้าอีกต่างหาก ตีกันมั่วไปหมดเลย
              เพราะฉะนั้น...เรารู้ตัวแล้วต่อไปก็ระมัดระวัง เห็นก็ต้องสักแต่ว่าเห็นไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปคิด คิดเมื่อไรเกิดเรื่องทันที บางครั้งเขาไม่ได้เจตนา จะทำให้เราไม่พอใจหรอก แต่กิริยาอาการของเขาแท้ ๆ สะดุดตาเราหน่อยเดียว เราคิดไปใหญ่โตเลย ทำให้มีเรื่องมีราวกันก็มี หรือไม่ก็สมมติว่าเพศตรงข้ามเดินผ่านมา เขาเองก็ไม่ได้เจตนาจะยั่วกิเลสเราซะหน่อย แต่เราก็แหม...หล่อเหลือเกิน เราคิดไปเองก่อนก็เป็นโทษแก่เรา ทำอย่างไรให้สติของเราเท่าทันหยุดความคิดตัวเองให้ได้ ถ้าหากว่าหยุดความคิดของตัวเองได้ ความทุกข์จะน้อยลง