ถาม:  ตอนภาวนา พอภาวนาผมจับลมหายใจ ไปบังคับลมหายใจ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่บังคับ ความเคยชินของเรา ความเคยชินของอารมณ์ที่สามารถเข้าถึงจุดนั้นได้ง่าย พอจับลมหายใจ อารมณ์ใจจะวิ่งไปจุดนั้นเลย เราจะไปเข้าใจว่าบังคับนั้นไม่ใช่ หากแต่ใจชินกับขั้นตอนนั้นแล้ว
      ถาม :  ห่วงพี่ค่ะ พอดีเพื่อนของน้องเคยบวชพระ เผอิญพระอุปัชฌาย์ปฏิบัติไม่ดี แต่คนบวชเองนี่ปฏิบัติดีมาโดยตลอด ตอนนี้เขาทราบว่าพระอุปัชฌาย์คนที่บวชไม่ดี ซึ่งอย่างนี้นี่ตัวเขาเองจะพลอยผิดไปด้วยหรือไม่คะ ?
      ตอบ :  การทำความดีทุกอย่างเป็นบุญ แต่ต้องดูว่าบุญนั้นมาทางด้านไหน ถ้าพระอุปัชฌาย์ถึงแม้จะปฏิบัติไม่ดี แต่ยังไม่ขาดความเป็นพระให้การอุสมบทไปตัวเขาเป็นพระแล้ว ตั้งใจปฏิบัติดีก็ได้บุญเต็ม ๑๐๐% แต่ถ้าพระอุปัชฌาย์หรือว่าผู้ใดผู้หนึ่งในสังฆกรรมนั้นไม่ใช่พระ บวชไปก็เป็นได้แค่เณร ตั้งใจปฏิบัติดีขนาดไหนก็ตาม มีศีลบางข้อที่อนุปสัมบันคือบุคคลที่ไม่ใช่พระ ถ้าเข้าไปอยู่ร่วมในสถานที่นั้นแล้วจะทำให้เขาเสีย อย่างเช่นร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมสังฆกรรมอย่างนี้ การร่วมกินร่วมนอนอะไรนี่ เราเป็นอนุปสัมบันอยู่ เท่ากับว่าเราไปตีเสมออุปสัมบัน คือผู้ที่มีศีลมากกว่า โทษจะเกิดกับเรา แต่ถ้าเราไปอนุปสัมบัน คือผู้ที่มีศีลน้อยกว่า เข้าไปยู่ในสังฆกรรม ทำให้สังฆกรรมเขาไม่บริสุทธิ์ สังฆกรรมนั้นก็จะไม่มีผล ต้องดูด้วย ถ้าเขามาขาดความเป็นพระทีหลังไม่มีปัญหา ถ้าขาดก่อนปัญหาเยอะ แต่ความดีที่ทำนั้นได้อยู่ เพียงแต่ส่วนที่ทำดีกับส่วนที่ไม่รู้แล้วทำไม่ดีไปก็มี
      ถาม :  จะรู้ได้อย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ถามใครก็ได้...(หัวเราะ)...พูดเล่นน่ะ พยายามศึกษาหน่อยแล้วกัน
      ถาม :  ขอคำแนะนำการฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มกำลังครับ ต้องวางกำลังใจอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  เรามีหน้าที่ภาวนา จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างหัวมัน แค่นั้นแหละ ส่วนใหญ่แล้วที่ไม่ได้เพราะไปอยาก อยากแล้วทิ้งความอยากไม่เป็น
      ถาม :  .......................
      ตอบ :  ปกติหลังทำวัตรแล้ว หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านจะอธิบายเรื่องบทสวดมนต์อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อคืนท่านบอกว่าเรื่องอธิบายตอนนี้งดไว้ก่อน ให้ตั้งใจว่าบุญทั้งหมดที่เราทำ อุทิศถวายให้ในหลวง ให้ท่านทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เมื่อคืนเลยอุทิศถวายในหลวงกัน ระยะนี้พระทั้งในประเทศและนอกประเทศที่สำคัญ ๆ มรณภาพหลายองค์ติด ๆ กัน อย่างของพม่าหลวงพ่อตามะยะเพิ่งจะมรณภาพ บรรจุศพวันนี้ พวกชาวบ้านคงจะเคว้ง เพราะอยู่ติดกับท่านเป็นแสน ๆ คนเลย ทหารพม่ากลัวมาก กลัวท่านพาคนไปปฏิวัติ
      ถาม :  .............................
      ตอบ :  เหมือนอย่างกับสมัยหลวงพ่อของเรายังอยู่ คนไปทีเป็นแสน ๆ แต่ของท่านนี่ประเภทไปกินไปอยู่กับท่านวันหนึ่งเป็นหมื่น ๆ คน แล้วสร้างบ้านสร้างเรือนล้อมรอบวัดของท่านอยู่อย่างกับอำเภอย่อม ๆ ไปเถอะ....ถ้าเขาเก็บศพอย่างไรก็ได้กราบ ถ้าเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์จะใกล้ที่สุด
      ถาม :  คงไม่เผาท่าน ?
      ตอบ :  จริง ๆ น่าจะเก็บ พระขนาดนั้นตายเชื่อว่าไม่เน่าหรอก ไปพม่าเจอพระไม่เน่าหลายองค์ หลวงปู่ลักขณะ น่าจะเชื้อสายไทย เพราะท่านอยู่วัดใหญ่ชาวสยาม แต่เพียงวัดใหญ่ชาวสยามนี่อยู่ที่หงสาวดี อยู่ในเขตเจริญ เลยโดนพม่ากลืนไป จนพูดไทยไม่ได้แล้ว
      ถาม :  ชื่อสยามเลย ?
      ตอบ :  ชื่อสยามเลย แล้วก็หลวงปู่สุริยะ วัดอะเลงงาซินท์ ที่ย่างกุ้ง หลวงปู่อูกวิ ที่วัดซุนลูน เมืองเมียนชาน น่าจะอยู่เขตมณฑลมัณฑะเลย์ หลวงปู่อูกะวิมรณภาพมา ๔๒ ปีแล้ว เนื้อตัวท่านอย่างกับทำด้วยทองแดงเลย เหมือนอย่างกับทองแดงเก่า ๆ หล่อขึ้นมา เชื่อไหมว่าท่านบวชแค่ ๒ พรรษากว่า ๆ เอง
              เพราะฉะนั้น....ปฏิบัติดีปฏิบัติชอด้อยู่ที่เวลา สำคัญอยู่ตรงที่ทำถูกไหม ? บวชเป็นหลวงตาได้แค่ ๒ พรรษากว่า พอไปบวชก็ส่งข่าวไปทางบ้าน บอกลูกบอกเมียบอกว่าไม่กลับแล้วนะ จะตายคาวัดนี่แหละ ฝ่ายโน้นยังคิดว่าพูดเล่น เดี๋ยวก็คงสึกออกมา
      ถาม :  พระถูกเข้าทรงได้หรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  ได้
      ถาม :  ทำไมล่ะครับ ?
      ตอบ :  ผีเข้าพระนี่เรื่องปกตินะ คุณอ่านดูในอภิสมาจารดูหรือเปล่า ? สาเหตุของการเลิกสวดปาฏิโมกข์มีอยู่ข้อหนึ่ง คือผีเข้าพระในที่ประชุมสงฆ์นั้น
      ถาม :  ท่านรับสังฆทานอยู่ถึงวันจันทร์หรือครับ ?
      ตอบ :  มาวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จันทร์เป็นปกติอยู่แล้ว ตอนแรกวันศุกร์ กับวันจันทร์อาตมาจะไม่เอา หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า วันศุกร์ให้พวกหนีงาน วันจันทร์ให้พวกหนีผัว ก็ต้องยอมท่าน บอกเรื่องหนีผัวนี่สำคัญจริง ๆ เลย ส่วนใหญ่พวกที่มาทำบุญนี่ผัวไม่ค่อยเห็นด้วย วันศุกร์ให้พวกหนีงาน วันจันทร์ให้พวกหนีผัว เลยต้องยอมบางครั้งนั่งเซ็งทั้งวัน เพราะมาเช้าหน่อยหนึ่ง กลางวันหน่อยหนึ่ง แล้วตอนเย็นอย่างนี้ เพราะเป็นวันทำงาน พวกพักเที่ยงหนีมาได้ก็มาอย่างนี้ มาเช้าก่อนไปทำงานก็มา
      ถาม :  วัดไชยชุมพลชนะสงครามครับ ?
      ตอบ :  วัดนั้นเดิมทียอดเยี่ยมเลยคือ หลวงพ่อเปลี่ยน ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธรังษี ที่อยู่ในศาลาตรงใกล้ปากประตูวัด ถ้าคุณเดินเข้าปากประตูวัดไป ศาลาที่ตั้งรูปหล่อท่านจะอยู่ทางขวามือ
      ถาม :  แล้วหลวงปู่ยิ้ม ?
      ตอบ :  นั่นยอดเยี่ยมสุด ๆ เลย พระของกาญจนบุรีสมัยก่อน สุดยอดเลย คือ หลวงพ่อยิ้ม วัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) หลวงพ่อยิ้มเป็นอาจารย์ของหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว เป็นอาจารย์ของปู่ดี วัดเหนือ เป็นอาจารย์ของหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เป็นอาจารย์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ด้วย พระ ๓ องค์ ที่ว่าประเภทผลิตลูกศิษย์รุ่นสุดยอดในปัจจุบันเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ยิ้มทั้งนั้น เพราะฉะนั้น....หลวงปู่ยิ้มนี่ท่านต้องเป็นอาจารย์ปู่
      ถาม :  ไม่ค่อยฟังใคร จะแก้อย่างไร ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วไม่ต้องแก้หรอกจ้ะ เพียงแต่ให้พิจารณากดูสิ่งที่เราทำถูกต้องไหม ? แล้ว กาย วาจา ใจ ที่ถูกต้องกว่านี้มีไหม ? ถ้าเราเป็นผู้ปรารถนาการพ้นทุกข์ กาย วาจา ใจ ที่ดีกว่านี้เราควรจะทำให้ได้
              เพราะฉะนั้น...เขาว่าอะไรมาเราพิจารณาดู ถ้าสิ่งที่เขาว่ามาถูกต้องเราก็แก้ไข ไม่ใช่ว่าเราไปคล้อยตามเขา แต่ว่าที่เราทำตามเพราะเราเห็นจริง ๆ ว่าสิ่งที่นั้นดี เรื่องนี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องดื้อหรอก เป็นเรื่องของคนฉลาดมากกว่า เพราะถ้าเราทำตามไปอาจจะเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วเห็นว่าดีจริง เราทำตามได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมีแต่พาให้เราเจริญขึ้น
      ถาม :  ขอคำอธิบายหลักธรรมเหล่านี้ค่ะ ?
      ตอบฆราวาสธรรม มีสัจจะ คือจริงใจต่อกัน ไม่โกหกหลอกลวงกัน ทมะ คืออดใจ ข่มใจ อยู่กับเขาไม่ข่มใจก็ไม่ได้ เพราะแรงกระทบมีตลอด ขันติ คือความอดทน ความอดทนนี่ทั้งอดทนต่อคตวามลำบากตรกตรำ แล้วก็อดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ แล้วก็อดทนต่อสภาพของดินฟ้าอากาศ อดทนต่อความยากลำบาก จาคะ คือเป็นผู้เสียสละอยู่เสมอ การเสียสละจะทำให้เราเป็นที่รักของผู้อื่นเขา ท่านถึงได้กำหนดให้เป็นฆราวาสธรรม อิทธิบาท ๔ อิทธิบาทคือเครื่องที่จะนำพาความสำเร็จมาให้เรา ประกอบไปด้วยว่า เราจะทำสิ่งใดก็ตามต้องมีฉันทะ คือพอใจที่จะทำก่อน แล้วก็วิริยะ คือพากเพียรทำไป จิตตะ คือจิตจดจ่อ ปักมั่นไม่คลอนคลาย ไม่ใช่ทำ ๆ ไป พอถึงเวลาคนอื่นบอกอย่างโน้นดี ก็ไปตามเขา อย่างนี้ดีก็ไปตามเขา ตราบใดที่ไม่สำเร็จเราไม่เลิก แล้วก็วิมังสา คือหมั่นไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ เราจะได้รู้ว่า ตัวเราขณะนี้อยู่ตรงจุดไหน ผิดทางหรือถูกทาง ยังจะมีอะไรที่เราจะต้องทำต่อไปอีก ที่เราทำมาได้แล้วมีอะไรบางอย่างนี้ เขาจะทบทวนประเมินผลอยู่ตลอดเวลา สังคหวัตถุ ๔ มี ทาน การให้ การให้ปันเป็นการยึดโยงจิตใจของคนอื่น อย่างน้อย ๆ เราให้ใครคนนั้นก็รักเรา ชอบใจเรา ปิยวาจา คือพูดดี พูดเพราะอะไรไม่ดีไม่พูดต้องเลียนอย่างพระอาจารย์สอนบาลีที่วัดปากน้ำ ท่านด่าไม่รู้ว่าด่า ท่านว่า “พวกคุณถ้ามีความสามารถแค่นี้ก็อย่าสึกไปเลย เดี๋ยวควายจะตกงานหมด” ถ้าคนไม่คิดนี่ไม่รู้จริง ๆ นะว่าท่านด่า หรือไม่ก็ “ที่กุฏิไม่มีข้าวหรือ ? มีแต่แกลบฉันหรืออย่างไร ถึงทำได้แค่นี้” ปิยวาจา พูดดี พูดเพราะ จะโยงใจให้คนเขาชอบใจ
              อาตมาได้เคล็ดลับมาจากหลวงพ่อเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ตอนนี้ท่านรักษาการเจ้าคณะจังหวัดอยู่ ก็คือเจ้าคณะจังหวัดนั้นแหละ ท่านอยู่วัดท่ามะขาม ท่านบอกว่า “พูดแต่เรื่องดีของคนอื่น เรื่องเสียเราอย่าไปพูด” ผัวไม่ดีอย่างไรไม่พูด เราพูดเฉพาะส่วนดีของเขา ผัวก็ปลื้มใจ ต่อไปอัตถจริยา คือทำตนให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นเขา มีอะไรพอที่จะช่วยเหลือเขาได้ก็ช่วยไป ช่วยด้วยแรงกายไม่ได้ก็ช่วยด้วยวาจาช่วยด้วยวาจาไม่ได้ก็แนะนำเขาไปหาคนช่วยต่อไปอะไรอย่างนี้ ต่อไปข้อสุดท้าย สมานัตตา คือ เอาใจเขามาใส่ในเรา เราชอบอะไรก็ทำอย่างนั้นกับเขา เราไม่ชอบอะไรก็อย่าทำอย่างนั้นกับคนอื่น สมานัตตาแปลว่า เสมอด้วยตนเอง
              พรหมวิหาร ๔ มีหลายระดับ มีตั้งแต่ระดับทั่ว ๆ ไป ระดับของกัลป์ยาณชน ระดับของอริยชน แต่ละระดับจะมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แตกต่างกันไป เมตตา คือรักเขาเสมอตัวของเรา คือประเภทเห็นเขาทุกข์ก็ไม่อยากให้เขาทุกข์ เพราะเราเองก็ไม่อยากทุกข์อย่างนั้น กรุณา คือสงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ มีวิธีใดที่จะช่วยเหลือเขาได้เราก็พยายามช่วย มุทิตา คือเรายินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข ไม่ไปโกรธเกลียดอิจฉาริษยา ไม่ไปโกรธเกลียดอิจฉาริษยาเห็นใครดีกว่าไม่ได้ไม่มี และอุเบกขาคือถ้าเกินความสามารถที่จะช่วยเขาได้ เราต้องปล่อยวางยอมรับกฎของกรรม
              แต่ทั้งหมดยังมีเมตตาในเมตตา เมตตาในกรุณา เมตตาในมุทิตา เมตตาในอุเบกขา แล้วก็มี กรุณาในเมตตา กรุณาในกรุณา กรุณาในมุทิตา กรุณาในอุเบกขา มีมุทิตาในเมตตา มุทิตาในกรุณา มุทิตาในมุทิตา มุทิตาในอุเบกขา มีอุเบกขาในเมตตา อุเบกขาในกรุณา อุเบกขาในมุทิตา และหนักที่สุดคืออุเบกขาในอุเบกขา หมายความว่าถ้าทำทุกวิถีทางแล้วคนยังระยำอยู่ แก้ไขไม่ได้ก็ทิ้งไปเลย คือท่านจะปล่อยวาง ไม่ไปแตะต้องเลย แต่ว่าจิตของท่าน ถ้าปล่อยวางต้องวางจริง ๆ ไม่ใช่วางในลักษณะโกรธเคืองเกลียดแค้น ไม่อยากเห็นหน้า ไม่ใช่นะ เพราะท่านเองยังมีอุเบกขาในเมตตา ก็คือถ้ามีโอกาสจะช่วยเขาใหม่ ตอนนี้ไม่ไหวต้องปล่อยไปก่อน ยังมีอุเบกขาในกรุณา สงสารเขาอยู่แต่ถ้าเราช่วยเขาเราจมตายไปด้วยก็ต้องปล่อยก่อน แต่ละระดับไม่เท่ากัน เราทำได้แค่ไหนพยายามทำไป เรื่องของพรหมวิหารสี่นี่ ผู้ปฏิบัติได้หมายผลเอาอนาคามีขึ้นไป จะโสดาบันกับสกิทาคามีไม่ต้องคิด เพราะฉะนั้น...เขาหวังผลหนักมากเลย
              ส่วนนิวรณ์ห้า ประกอบด้วยกามฉันทะ คือจิตใจผูกพันอยู่ในอารมณ์ระหว่างเพศ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่ต้องการ พยาบาท คือโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนอื่น เก็บมาคิด เก็บมาใส่ใจอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ไม่ได้นึกจะคิดถึงหรอก แต่ก็แวบขึ้นมาได้อยู่ เพราะถ้าเราปล่อยใจหลุดจากการภาวนาเมื่อไรจะมาทันที ต่อไปก็ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ ประเภทดูหนังฟังเพลงดึกดื่นเท่าไรไปได้ อ่านหนังสือธรรมะหน่อยเดียว หัวทิ่มพื้นหลับไปเลย พอถึงเวลาตั้งใจจะภาวนาสักหน่อย ไม่เอาแล้วนอนดีกว่า ตัวขี้เกียจชวนให้ไม่อยากปฏิบัตินี่ จัดอยู่ในถีนมิทธะนิวรณ์ด้วยนะ
              ต่อไปอุธัจจะกุกกุจจะ คืออารมณ์ใจฟุ้งซ่าน ไม่รวมเป็นหนึ่งเดียว ข้อสุดท้ายวิจิกิจฉา คือลังเลสังสัยผลการปฏิบัติอยู่ ห้าตัวนี้ไม่ต้องอะไรมากหรอก ถ้าใจอยู่กับลมหายใจเข้าออกจะไม่โผล่มาเลย หลุดจากลมหายใจเข้าออก เมื่อไรเอาเราทันที
              เพราะฉะนั้น...การภาวนาแต่ละวันดูหน้า ๕ ตัวนี้ไว้ก็พอ ถ้ายังไม่มาแปลว่าอารมณ์ใจของเรายังมีคุณภาพอยู่ มาเมื่อไรเราเสียหายไปแล้ว พยายามขับไล่ออกไปให้เร็วที่สุด
              ปธาน ๔ มีสังวรปธาน คือระมัดระวังอย่าให้ความชั่วเกิด ปหานปธาน คือพยายามละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว ภาวนาปธาน คือพยายามสร้างความดีให้เกิด อารักขนานุปธาน คือพยายามระมัดระวังรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วอย่าให้เสื่อมไป ต้องคอยระวัง ๆ ตรงจุดนี้เอาไว้ ที่เราถามมานี่นะจริง ๆ แล้ว ตัวที่เป็นธรรมะแท้ ๆ เลยคือตัวพรหมวิหารสี่ ทำได้เมื่อไรหวังเอาผลสำเร็จของความเป็นพระอริยเจ้าได้เลย ตัวอื่น ๆ เป็นหลักการปฏิบัติเท่านั้น เป็นหัวข้อที่เรียกง่าย ๆ ว่าเราไม่รู้เลยก็ได้ แต่ขอให้เราทำ แล้วก็มีมาคู่ต่อสู้ของการปฏิบัติอยู่หน่อยหนึ่ง คือนิวรณ์ นิวรณ์เป็นกิเลสหยาบ เป็นกองหน้าของกิเลสเท่านั้น ที่ละเอียดมีมากกว่านั้นเยอะ เพราะฉะนั้น...ถ้ากองหน้าถ้าเราสู้ไม่ได้ ทัพหลวงมาตายแน่ ต้องเอาหน่อย สู้กันหน่อย
      ถาม :  วิจิกิจฉา คือลังเลสงสัยในธรรมหรือการปฏิบัติ ถ้าสมมติว่าเราจะทำอันนั้นให้คนนี้ อทำอันนี้ให้คนนั้น แล้วเรากลัวว่าเขาจะมาทำแบบเดิม ๆ ให้เราอีก นี่ถือว่าเป็นวิจิกิจฉา ?
      ตอบ :  ไม่ใช่จ้ะ ตัวนี้การลังเลอย่างเช่นว่าพระบอกว่าอย่างไร แล้วเราพอจะทำ อืม...ไม่น่าจะได้อย่างนั้นมั้ง ? อย่าเพิ่งทำเลย อะไรอย่างนี้ไม่ใช่หรอก อย่างระดับของพวกเรานี่ถือว่าวิจิกิจฉาน้อยมากแล้ว เพราะถ้าเรายังสังสัยอยู่ เราจะไม่ทุ่มตัวเข้ามาปฏิบัติขนาดนี้ ของเราจะไปเหลือวิจิกิจฉาตอนท้าย ๆ ในธรรมะส่วนละเอียด ในระหว่างที่ตัดสินใจ กับประเภที่ลงมติกันว่าจะเอาหรือไม่เอา ตอนนั้นนั่นแหละ เหลือวิจิกิจฉาลังเลอยู่แค่นั้น ตัวหยาบของนี่ไม่มีแล้วจ้ะ ถ้ามีเราไม่มาทำหรอก
      ถาม :  สมมติคนที่เราไม่ชอบใจ หรือที่เคยโกรธเคยเกลียดกันมา เดี๋ยวนี้ห่าง ๆ กันไปแล้วยังเฉย ๆ อยู่ แต่พอเจอขึ้นมาอะไรขึ้นมา ?
      ตอบ :  วูบขึ้นมาทันที ?
      ถาม :  วูบค่ะ แต่ว่าโกรธอย่างไร ในใจลึก ๆ เรายังสงสารเขาอยู่อยากจะทำดีกับเขา แต่เรายังกลัวว่าพอเราเริ่มลงให้เขาเมื่อไร เขาจะทำแบบเดิมอีกอย่างนี้ คือเคยลงมาหลายครั้งแล้วอย่างนี้ผิดไหมคะ ?
      ตอบ :  ไม่ผิดจ้ะ ใช้ได้ ๆ
      ถาม :  จะทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิมล่ะคะ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องทำให้ดีกว่าเดิมหรอกจ้ะ พยายามอย่างไรที่จะอภัยให้เขาแล้วก็ทำดีกับเขาได้โดยที่ไม่สนใจในส่วนความเลวที่เขาทำ ดูว่าใครจะหน้าทนกว่ากัน เขาทนเลวได้ เราก็ทนดีกับเขาได้
      ถาม :  แต่เขาเก่ง เพราะเขาพูดอะไรทุกอย่างมีหลักการ ถ้าคนเขามาฟังระยะแรก ๆ นี่เราเป็นนางมารร้ายเลย เวลาเขาร้ายกับเรานี่จะไม่มีใครเห็น แต่เวลาเขาพูดอะไรอย่างนี้ ขนาดเราเองไม่ชอบเขา ?
      ตอบ :  ดึงความดีใส่ตัวเขาได้หมด
      ถาม :  ใช่...เรายังฟังแล้วยังสงสารเขาเลย ขนาดเราไม่ชอบเขานะ ถ้าเป็นคนอื่นฟังนี่แบบว่าเขาพูดเก่งมาก เราทำตรงนั้นไม่ได้ แล้วเราก็วูบ ๆ วาบ ๆ บางครั้งพูดอย่างคนอื่นเขาก็เข้าไปอีกอย่างหนึ่ง เราต้องหยุดตรงไหนคะ ?
      ตอบ :  จริง ๆ ไม่ต้องหยุดตรงไหน หยุดคิดก็พอ
      ถาม :  หยุดคิด...พยายามอยู่ค่ะ ตอนนี้อย่างกับเพื่อนเราพูดอย่างหนึ่ง เราหวังดีกับเขา แต่ปากเราเวลาพูดออกไป ทำให้เขาคิดได้หลายอย่าง อย่างนี้เป็นอย่างนี้เป็นประจำเลย ต้องคิดก่อนพูดหรือคะ ?
      ตอบ :  จ้ะ คิดก่อนพูด คิดให้เยอะ ๆ ไว้ แหม...เมื่อครู่บอกให้หยุดคิด ตอนนี้บอกให้คิดให้เยอะ ๆ ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่วะ ?
      ถาม :  อย่างมีเรื่องอยู่อย่างหนึ่ง คือไปเรียนหลักสูตรใหม่หลักสูตรหนึ่ง อาจารย์ที่สอนพูดไม่ดีกับเราเลย พูดเหมือนดูถูก เหมือนเราแก่แล้วแต่ไปเรียนคอมพิวเตอร์ แต่เรายังอยากเรียนอยู่ คราวนี้เราโทรศัพท์ไปรายงานเขา แต่ว่ารายงานแบบไม่ได้เอาเรื่องอะไร หมายถึงอยากให้เขาปรับปรุงตัว เขาก็ปรับปรุงได้แล้วดีแล้ว เราพอใจในระดับหนึ่งแล้ว เราผิดหรือเปล่าคะ ที่ไปรายงานคนที่เป็นครูเราอย่างนี้ ?
      ตอบ :  จำเป็นจ้ะ ต้องใช้คำว่าจำเป็นเลย โหดไปไหมถ้าใช้คำว่าจำเป็น คือสิ่งใดก็ตามที่เราตั้งใจจะเอาความรู้นะ ถ้ามีอุปสรรค เราก็ต้องบากบั่นฝ่าไปให้ได้
      ถาม :  ในกรณีที่เจอคนเอาเปรียบหรือคนเห็นแก่ตัว รู้สึกบีบคั้นมากเลยเจ้าค่ะ จะร้องไห้ทุกครั้ง ในกรณีเจอแบบนี้ ทำอย่างไรจะให้ดวงจิตเป็นอุเบกขาโดยไม่ต้องผ่านการร้องไห้ ?
      ตอบ :  ห้ามคิด
      ถาม :  ห้ามคิดเลย ?
      ตอบ :  คิดเมื่อไรจะปรุงแต่งไป เดี๋ยวประเภทไม่สุขก็โศก มีอยู่แค่ ๒ อย่าง