ถาม :  วิธีทำกรรมฐาน กายคตาหรือว่าอสุภะ ทำยังไงให้ถูกต้อง อย่างเช่น นั่งสมาธิก่อนแล้วถึงระดับไหน อะไรอย่างไงคิดอย่างไงคะ ?
      ตอบจริง ๆ ต้องมีสมาธิก่อน เหมือนอย่างกับว่าลับมีดให้คมแล้ว เสร็จแล้วค่อยไปตัด คือ พิจารณา พอเราลับมีดให้คมแล้วพิจารณามันก็จะชัดเจนแจ่มใส เพราะกำลังของสมาธิมันสูงพอ
      ถาม :  อย่างกับนั่งสมาธิ ชั้นฌานสูงสุดที่เราทำได้ แล้วคลายสมาธิ จากนั้นก็พิจารณาไปใช่เปล่าคะ ?
      ตอบ :  จ้ะ พอเราทำเต็มที่แล้วถอยกำลังลงมา แล้วมาพิจารณาพอพิจารณาจนกระทั่ง “อารมณ์ใจทรงตัว” มันจะภาวนาโดยอัตโนมัติ พอภาวนาไปจนถึงจุดเต็มที่มัน มันก็จะถอยลงมาอีก
              คราวนี้ถ้าหากว่าช่วงมันถอยออกมา ถ้าเราไม่หาสิ่งที่ดีให้มันคิดมันจะคิดไปทางรัก โลภ โกรธ หลงแทน เราก็เลยต้องควบคุมความคิดของเราให้มันคิดในด้านดี ๆ เข้าไว้ แล้วก็ที่สำคัญที่สุด “ทำบ่อย ๆ” “ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่ในจุดเดิม” ไม่ใช่ทำ ๆ ไปแล้วก็เบื่อแล้วก็เลิก มันจะต้องย้ำจนกระทั่งประเภทที่ว่า ถึงเวลาบอกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราแล้วมันเชื่อเลย โดยไม่มีการคัดค้านนั่นแหละถึงจะใช้ได้ ไม่ใช่บอกว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ได้อย่างไรวะตีเราก็เจ็บ (หัวเราะ)
      ถาม :  ที่คนพูดถึงเรื่องจิตตสังขารส่วนสัญญาจิตนี้ก็มีความจำของมัน แต่ทำไมเวลาเราแก่ตัวไป ทำไมเราหลงลืมได้ล่ะครับ ?
      ตอบ :  หลงลืมนั้นเป็นเรื่องของสมอง ประสาทร่างกายไม่ใช่จิต จิตมันบันทึกของมันอยู่ตลอด ถ้าหากว่าเราได้รับการฝึกมาดีแล้ว เราสามารถย้อนทวนไปดูเมื่อไหร่ก็ได้ ลักษณะของการย้อนทวน เป็น “อตีตังสญาณ” หรือไม่ก็ “ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ” หรือเป็น “ยถากัมมุตาญาณ” ได้
      ถาม :  อย่างนี้ถ้าเกิดเราไม่ได้อยู่เหตุการณ์นั้นในอดีต เราอยากจะรู้ได้มั้ย ?
      ตอบ :  ได้จ้ะ
      ถาม :  รู้ได้อย่างไงคะ ?
      ตอบ :  เราย้อนอดีตลงไปตรงจุดนั้น กลายเป็นว่าเรากลับเข้าไปดูเหตุการณ์ในเดี๋ยวนี้เลย
      ถาม :  แสดงว่าทุกอย่าง ยังอยู่ของมันอย่างนั้น ?
      ตอบ :  มันไม่ไปไหนหรอก วิทยาศาสตร์เขาก็บอกแล้วไง บอกว่าสสารทุกอย่างไม่ได้สูญหายไปไหนในโลก เพียงแต่แปรสภาพไปเท่านั้น ในเมื่อมันแปรสภาพไปเป็นพลังงาน เราก็ย้อนกลับไปรวบรวมพลังงานนั้นกลับเข้ามาใ้ห้มันอยู่ในรูปที่หยาบให้พอที่เราจะรับรู้ได้ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่เรารู้ขึ้นมาตอนนั้นเดี๋ยวนั้น
      ถาม :  ....................... ?
      ตอบ :  เป็นครูบาอาจารย์เขามันลำบาก หลวงพ่อท่านสอนว่าใครก็ตามที่อยู่ใต้การดูแลของเรา ไม่ว่าจะคนจะสัตว์ต้องดูแลเขาให้มีความสุขอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นอะไรมันเกิดขึ้นมา เราจะกินเองใช้เองมีความสุขอยู่คนเดียว นั่นผิดคำสอนแน่ ๆ เลย ก็เลยต้องเหลือเผื่อเขาอยู่ตลอด ลักษณะเป็น “ครูบาอาจารย์” เขาเรียกว่า “พ่อแม่คนที่สอง” ก็เหมือนกับพ่อกับแม่นั่นแหละ ต้องคอยตามจี้ตามเช็ดตามล้างตามถูกันอยู่ตลอดเวลา
              จนกระทั่งประทับใจพุทธวัจนะประโยคหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เราจักไม่ปฏิบัติต่อพวกเธอเหมือนช่างหม้อที่ปฏิบัติต่อหม้อดินที่ยังเปียกยังดิบอยู่ด้วยความทะนุถนอม แต่ว่าเราจะกระหนาบแล้วกระหนาบอีก ชี้โทษแล้วชี้โทษอีก บุคคลที่มีมรรผลเป็นแก่นสารเท่านั้นที่จะทนอยู่ได้”
      ถาม :  ทำไมบางอารมณ์ มีโกรธ มีโมโห ......(ไม่ชัด)......... ?
      ตอบพระที่ท่านทำถึงที่สุดแล้ว รัก โลภ โกรธ หลง ไม่ได้ไปไหนอยู่กับท่านเต็มที่นั่นแหละ แต่เพียงแต่ว่าที่านมีสติรู้อยู่ และตัดมันตั้งแต่ต้นเหตุมันไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเท่านั้น คราวนี้ว่าถ้าอยู่ในลักษณะที่เรียกว่ามันยังไม่สามารถที่จะตัดมันตั้งแต่ต้นเหตุได้ ยังมีโอกาสเผลอ อารมณ์เหล่านี้มันจะตีกลับทันทีที่มันมีโอกาส มันเหมือนยังกับคุ้นกันอยู่ ถ้าเผลอเมื่อไหร่มันก็ดันเราหงายท้องไป
              เพราะฉะนั้นห้ามเผลอ พระที่ท่านทำถึงตรงจุดนี้ท่านก็เลยยิ่งระวังมากกว่าปกติ เพราะว่ากลัวจะเผลอให้พวกนี้มันหลุดขึ้นมางอกงามใหม่ ท่านก็เลยจะทรงความไม่ประมาทเป็นปกติ
      ถาม :  ตอนแรกเข้าใจว่า อารมณ์ ......(ไม่ชัด)........... ?
      ตอบ :  นั่นความเข้าใจของเราจ้ะ จริง ๆ แล้วมันยังอยู่ นอนยิ้มอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มันไม่มีเชื้อให้เกิด เพราะท่านไม่ไปเติมเชื้อให้มัน ท่านไม่ไปใส่น้ำมันแล้วไปจุดไฟมัน
      ถาม :  มีอยู่ปัญหาหนึ่ง .............(ไม่ชัด)..........?
      ตอบ :  ตัวนี้เราต้องดูด้วยว่า เราได้รักษาอารมณ์ของเราให้ต่อเนื่องได้นานเท่าไร ส่วนใหญ่สมัยก่อนของเราพอเราไม่เคยชินกับมัน พอได้รับใหม่ ๆ ก็ตื่นเต้น เหมือนกับเด็กเห่อของก็เล่นนานหน่อย คือรักษาอารมณ์นานหน่อย มันก็อยู่กับเรานาน
              แต่พอมาระยะหลัง ๆ ความเคยชิน มันเกิดเลิกเห่อแล้วแต่หารู้ไม่ว่า ถึงเลิกเห่อแล้วคุณก็ต้องประคับประคองอารมณ์นี้เพื่อความสุขของคุณให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ว่าเราไม่ได้ประคองมันไว้ มันก็เลยหายไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว
      ถาม :  ก็มี.....(ไม่ชัด).....เขาบอกว่า เอ....คนนี้ไม่ได้คุ้นปฏิบัติ ไม่ได้คุ้นพระนิพพานเลย เขาบอกว่าเวลาที่เขานั่งดูนิพพานในใจ คือเห็นในจิตสำนึกจนถึงขั้นนิพพาน เป็นไปได้มั้ยครับ ?
      ตอบ :  ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ล่ะ สภาพจิตมันคิดยังไงมันก็เป็นอย่างนั้น แล้วขณะเดียวกันว่า บุคคลที่ท่านได้อภิญญาหรือได้ทิพจักขุญาณ ถ้าหากว่าท่านไปยังสถานที่นั้น เราอยู่ที่นั่นท่านก็เห็นเราไม่อยู่ท่านก็เห็น
      ถาม :  อธิบาย อรูปฌานไว้สั้น ๆ ได้มั้ยครับ ?
      ตอบอรูปฌานถ้าเอาสั้นนี่ตายพอดี เอาเป็นว่าเราต้องศึกษารูปฌานให้ละเอียดก่อนจนกระทั่งถึงฌาน ๔ พอฌาน ๔ มันคล่องตัวแล้ว เราก็ตั้งรูปฌานอันใดอันหนึ่งของเราขึ้นมา คือ องค์กสิน อันใดอันหนึ่งในกสิน ๑๐ ขึ้นมา เสร็จแล้วก็เพิกภาพกสินนั่นเสีย หันมาจับความว่างของอากาศแทน โดยคิดเสียว่ากสินมันยังเป็นของหยาบอยู่ อากาศมันเป็นของว่างมันย่อมละเอียดกว่า เราทำความพอใจในอากาศนั้นแล้วก็รักษาอารมณ์นั้นจนกระทั่งทรงตัวเป็นฌาน ๔ คล่องตัว แปลว่าเราได้อรูปฌานที่ ๑ คือ ฌานที่สมาบัติที่ ๕
              เสร็จแล้วก็คลายกำลังนั้นลงมา ตั้งดวงกสินขึ้นมาใหม่ เพิกภาพกสินนั้นเสีย ทำความพอใจในความว่างไร้ขอบเขตของวิญญาณแทน คิดซะว่าอากาศมันยังมีขอบเขต คือวิญญาณ ความรู้สึกยังกำหนดมันได้อยู่ เพราะฉะนั้นวิญญาณต้องดีกว่าละเอียดกว่า ก็ทำความพอใจในความไร้ขอบเขตของวิญญาณนั้นแทน จนกำลังใจเข้าสู่ฌาน ๔ คล่องตัวเต็มที่ของมัน ก็เท่ากับว่าเราได้สมาบัติที่ ๖ คือ อรูปฌานที่ ๒
              แล้วหลังจากนั้นก็ถอยกำลังใจลงมา ตั้งภาพกสินขึ้นมาใหม่ เสร็จแล้วก็เพิกภาพกสินนั้นเสียพิจารณาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าคน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลางสลายไปในที่สุด สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรเลยกระทั่งตัวเราก็ตายหมด จิตจะไม่เกาะอะไรแม้แต่นิดหนึ่ง ถ้าหากว่าอย่างนั้นเขาเรียกว่า เราได้สมาบัติที่ ๗ คืออรูปฌานที่ ๓ และหลังจากนั้นก็คลายกำลังลงมา พอมันทรงตัวเต็มที่มันจะเท่ากับฌาน ๔ หมดนะทุกขั้นตอน
              แล้วเราก็คลายตัวของเรา ลงมาตั้งภาพกสินขึ้นมาใหม่ คราวนี้ก็กำหนดใจของเราว่าสิ่งที่ควรรับรู้ เราก็ไม่ต้องการรับรู้มัน เพราะว่าอาการของการรับรู้นี่้มันก็ยังเป็นทุกข์เป็นโทษอยู่ เสร็จแล้วเราก็ใช้กำลังของสมาธิในการข่มกลั้น แล้วก็เรียกง่าย ๆ ว่า ก้าวล่วงข้ามเวทนาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเรา อย่างเช่นว่าร้อนก็ต้องทำเป็นไม่ร้อน หนาวก็ต้องทำเป็นไม่หนาว หิวก็ทำเป็นไม่หิว กระหายก็ทำเป็นไม่กระหาย
              เนื่องจากว่าตัวกำลังสมาธิมันสูงอาการเหล่านี้เราจะสามารถที่ผ่านมันพ้นไปได้ พอทรงตัวคล่องตัวเป็นฌาน ๔ เมื่อไร เราก็ได้สมาบัติที่ ๘ คืออรูปฌานที่ ๔ อันนี้ถือว่าอธิบายอย่างหยาบที่สุดเลยนะ แล้วยังมีคำภาวนาต่างหากของมันอีก อย่างเช่นว่า อากาสาอนันตา สำหรับสมาบัติที่ ๕ วิญญานัง อนันตัง สำหรับสมาบัติที่ ๖ นัตจิกิญจิ สำหรับสมาบัติที่ ๗ แล้วก็ เอตังสันตัง เอตังปณีตัง สำหรับสมาบัติที่ ๘ จะเป็นคำภาวนาเฉพาะของเขา
      ถาม :  ในคำภาวนั้นและอารมณ์ต้องเป็นไปตามนั้น ?
      ตอบ :  อารมณ์จะต้องเป็นไปตามนั้นด้วยมันดีตรงที่ว่า ลักษณะคล้าย ๆ การพิจารณา แต่การใช้กำลังของฌาน เพื่อพิจารณาอันนั้ันมันจะทรงฌานให้ได้
      ถาม :  สงสัยมานานแล้ว เพราะว่าอรูปฌานในตอนเช้า เข้าโดยไม่ได้ตั้ง ..........(ไม่ชัด)........ให้พิจารณาธรรมไปก่อน ?
      ตอบ :  ของเรานั้นแสดงว่าของเก่ามันต้องมีอยู่แล้ว พอต้นทุนเก่ามันมี มันปึ๊กเดียว มันก็เข้าเลย
      ถาม :  (ถามเกี่ยวกับเรื่องลูกถูกรถชนจะทำอย่างไรดี)
      ตอบ :  ทำอย่างไรดี ....จริง ๆ แล้วมันน่าจะสะเดาะเคราะห์ด้วยการทำบังสุกุลตายบังสุกุลเป็นกันซะยกหนึ่ง ทีนี้เรามาถามช้าไป พรุ่งนี้จะกลับแล้ว ไปให้พระที่ไหนทำก็ได้ บอกเขาว่าช่วยทำบังสุกุลตายบังสุกุลเป็นให้หน่อย ซื้อผ้าขาวไปซักเมตรครึ่ง สองเมตร
      ถาม :  วัดไหนก็ได้ใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  จ้ะ วัดไหนก็ได้ท่านทำเป็นทั้งนั้นล่ะ มันเป็นการตัดกรรมอย่างหนึ่ง ช่วงนี้ช่วงใกล้วันเกิดเขาด้วยหรือเปล่า ? ถ้าหากว่าใกล้วันเกิดนี่ ก่อนเดือนหลังเดือนต้องระวังให้ดีเพราะ ก่อนเดือนหลังเดือนนี่มันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะเกิดช่วงนั้นล่ะ ถ้าหากว่าเกิดเดือนตุลา ก็เท่ากับว่ากันยากับพฤศจิกาต้องระวังด้วย
      ถาม :  ...........................
      ตอบ :  (หัวเราะ) รีบ ๆ แก้ เดี๋ยวมันจะหนักกว่าเดิม คือช่วงวาระเก่ากับใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงนี่ มันเหมือนกับช่วงเปิดช่องว่าง อะไรที่ไม่ดีมันจะแทรกได้ง่าย ไม่ยากหรอกใกล้ ๆ วัดไหนก็ได้ ถ้าไม่แน่ใจไปถามท่านก่อนก็ได้ว่าทำได้มั้ย ถ้าท่านบอกว่าทำได้ก็เอาเลย
      ถาม :  บังสุกุลเป็นบังสุกุลตายใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  จ้ะ บังสุกุลเป็นบังสุกุลตาย มันเหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่ เคราะห์กรรมทั้งหลายมันก็ตายไปด้วย ไม่เกี่ยวกับเรา ใช้ผ้า ๑ เมตรครึ่ง จะเอาดอกไม้ ธูป เทียนไปด้วยก็ได้แล้วใส่ซองให้ท่านซะหน่อย