ถาม :  ตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แล้วฝันว่าตัวเองมีเขี้ยว ๒ ข้างเลย ก็ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรแต่ว่าสงสัยว่าทำไมเพ้อเจ้อเกี่ยวกับงู คือตัวเองเกิดมาชอบเขี้ยวอยู่แล้ว
      ตอบ :  บางอย่างมันเป็นจริตนิสัยเดิมของตัวเองมันเป็นมาอย่างนั้นก็ปล่อยเขาแล้วกัน นาน ๆ มันก็ผุดขึ้นมาที ถ้าเราควบคุมมันได้มันก็ไม่มีปัญหาอะไร
      ถาม :  เป็นยังไงคะจริตเดิม ?
      ตอบ :  พวกของอะไรที่เราเคยชอบเคยชินมาตั้งแต่อดีตมาบางอย่างมันตามมา สิ่งที่ตามมาก็คือว่าลักษณะรูปร่าง หน้าตาอาจจะเปลี่ยนน่ะนะ เพราะว่าเปลี่ยนไปตามบุญตามกรรมที่เราทำ ทำบุญเอาไว้เยอะเมตตาบารมีมากทรงศีลได้ทรงพรหมวิหารเป็นปกติหน้าตาก็จะสวยงามมากขึ้น แต่ลักษณะรูปร่างจะคล้ายของเดิมอย่างหนึ่ง นิสัยในการกินอย่างหนึ่ง ในอดีตเคยชอบอาหารแบบไหนมาสมัยนี้มันก็อย่างนั้นน่ะ พวกนี้เขาตามข้ามชาติกันนะ
      ถาม :  อันนี้ผมเชื่อนะครับเรื่องอะไรที่มันเกิดในปัจจุบันนี่แม้วิทยาการที่จะเกิดต่อไปในอนาคตที่เจริญเนี่ยมันมีมาหมดแล้ว
      ตอบ :  จ้ะ ไปเรียนของเดิม
      ถาม :  ครับ มันเป็นของเดิมแม้แต่วิทยาศาสตร์นี่ มันดี มันใช้มาหมดแล้วแต่เรา สติ ไอ้ความรู้ของเรามันย้อนไปไม่ถึง คือ พูดง่าย ๆ เรามีดิสเก็ตใหญ่มากเลยแต่เครือข่ายเราอ่านไปได้ไม่ถึงจุดนั้น
      ตอบ :  ดีไม่ดีเครื่องมันยังทำงานไม่ถึงด้วยซ้ำไป อย่างแอตแลนติสไง แอตแลนติสนี่เขาใช้พลังงานแสงอาทิตย์สร้างเป็นไฟฟ้า ยานยนต์ทุกอย่างของเขาทันสมัยกว่าสมัยนี้มหาศาลเลย แล้วปรมาณูเขาก็มีสมัยนี้เพิ่งค้นคว้าไปได้ใกล้เคียงเขาเท่านั้นเอง ยังสู้เขาไม่ได้ซะด้วยซ้ำ
      ถาม :  อย่างนี้แต่ก่อนชอบเหาะ คือว่าเคยได้อภิญญาใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  พวกนี้พื้นฐานอภิญญาเก่าจะมี ฝันว่าเหาะบ่อยอะไรอย่างนี้
      ถาม :  การที่จะทำให้คนที่ไม่เคยรู้เรื่องอะไรอย่างนี้ เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี จะถือว่าเป็นกรรมมาบังเขาหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ก็ไม่ใช่ เพราะว่าวิสัยของแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน อัชฌาสัย คือ ความปรารถนาส่วนตัวไม่เหมือนกัน ถึงได้ต้องแบ่งเป็น ๔ หมวดใหญ่ ๆ หมวดแรก คือ สุกขวิปัสสโก พวกนี้แบบจับปิดตาเดินก็ไปแบบนิ่ม ๆ เลย ไม่ดิ้นไม่รนไม่อะไรทั้งนั้น ใครให้ไปทางไหนก็ไป พวกเตวิชโช อย่างน้อย ๆ นี่ขอแงะดูหน่อยเถอะ ว่าทางเดินตรงหรือเปล่า แต่ถ้าอภิญญานี่มันกระชากผ้าปิดตาตั้้งแต่แรกแล้ว ส่วนปฏิสัมภิทาญาณนี่เขาต้องรู้ครบ ความสามารถจะคุมทั้งอภิญญา ๖ วิชชา ๓ และ สุกขวิปัสสโกด้วย
              พวกอภิญญานี่ อาจารย์จันทร์ รายนั้นเจออะไรรื้อกระจาย อยากรู้อยากเห็น พาไปเชียงรายพักที่ณัฐิพลรีสอร์ต เขามีพวกอ่างน้ำร้อนน้ำเย็นอะไรพวกนั้น ท่านเปิดไม่เป็นก็ให้เราสอนว่าเปิดยังไง น้ำมันถึงจะลงอ่าง เปิดยังไงน้ำมันถึงจะขึ้นฝักบัว แกก็กดแกก็ดึงแกก็หมุนของแกไปเรื่อย อีตอนถือฝักบัวดันหันมาหาเราแล้วน้ำมันก็ออกพอดี (หัวเราะ) เปียกไปครึ่งตัวไม่มีอะไรจะทำน่ะบ้านเขาไม่มี
              พม่านี่พวกเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มันน้อยมาก ในเมื่อมันน้อยมากแล้วเขาเห็นอะไรที่เขาไม่เคยพบไม่เคยเห็นก็รื้อกระจาย ลูกบิดประตูน่ะ ลูบ ๆ คลำ ๆ เปิด ๆ ปิด ๆ อยู่ได้เป็นครึ่งวันค่อนวัน อยากรู้ว่ามันทำงานยังไง จะว่าไปแล้วบ้านเขาลำบากมาก เพราะว่าขนาดพลเอกนี่เงินเดือน ๒,๕๐๐ ๆ ของเขาประมาณ ๓๐๐ บาทถ้วนของเรา ครูจบปริญญาโทเงินเดือน ๑,๒๐๐ ไหวไหม ? ไอ้ ๑,๒๐๐ นี่ ร้อยกว่าบาทไทยนะ เขาก็เลยไม่สามารถหาพวกเครื่องสุขภัณฑ์เครื่องอำนวยความสะดวกอะไรได้แบบเรา
      ถาม :  ตั้งใจไว้ว่าที่ไหนบูรณะห้องน้ำจะทำบุญ
      ตอบ :  พวกนี้พวกเดียวกับพระพากุละเถระ พระพากุละเถระนี่ประวัติท่านพิสดารมาก ท่านบวชเป็นพระแล้วเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นผู้ที่มีความสามารถยอดเยี่ยมในด้านเป็นผู้ที่มีโรคน้อย ปกติแล้วพระต้องฉันเภสัชรักษาโรคอยู่เสมอ
              พระพากุละเถระนี่ในชีวิตแม้แต่สมอชิ้นเดียวก็ไม่เคยฉัน ตอนที่ท่านเกิด พอเกิดมาปุ๊บตัดสายสะดือเสร็จพี่เลี้ยงอุ้มลงไปล้างตัวที่ท่าน้ำ ปลาใหญ่มันฮุบตูมเดียวเอาไปเลย ปรากฏว่าปลาใหญ่ตัวนั้นว่ายข้ามเมืองไปอีกเมืองหนึ่งไปติดข่ายเขา พ่อค้าเขาก็เอามาขายในตลาด คนใช้เศรษฐีของเมืองนั้นเจอเข้าเลยซื้อปลาไปมันอ้วนดี พอเอาไปทำอาหาร ผ่าท้องปลาออกมา เด็กชายพากุละยังดิ้นกระแด่ว ๆ อยู่เลย ไม่เป็นอะไรบุญรักษาอยู่ได้ พอดีเหลือเกินว่าเศรษฐีนั่นเขาพยายามอย่างไรก็ไม่มีลูก พอเห็นเด็ก โอ๊ย สวรรค์ประทานให้ ดีอกดีใจทั้งผัวทั้งเมียอุ้มชูเลี้ยงดูมาแบบประเภทรักยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจ เรื่องมันก็ลือออกไปสิ ว่าเศรษฐีนี่ได้ลูกจากท้องปลา ทางด้านโน้นได้ยิน ลูกกูนี่หว่า (หัวเราะ) ก็ตามไปทวง เขาก็ไม่ให้ก็เขาได้มาเอง เรื่องเลยไปถึงพระราชาท่านต้องมาตัดสินให้ว่าให้อยู่ทางบ้านนี้ ๓ เดือน แล้วไปอยู่บ้านนี้ ๓ เดือน ท่านก็เลยได้ชื่อว่า พากุละ คือจากตระกูลสู่ตระกูล กลับกันไปกลับกันมาผลัดกันเลี้ยงคนละ ๓ เดือน เป็นลูก ๒ ครอบครัว
              พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้บวช บวชเสร็จเป็นพระอรหันต์ผู้ที่เลิศในทางเป็นผู้ที่มีอาพาธน้อย คือ ป่วยน้อย พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุรพกรรมที่ทำให้ป่วยน้อยเพราะว่า ในอดีตเคยสร้างเว็จกุฎี คือ ส้วม ถวายพระ เพราะฉะนั้นพวกเรานี่ ประเภทชอบสร้างส้วมนี่พวกเดียวกับพระพากุละ ทำให้คนอื่นหมดทุกข์ ตัวเองก็เลยทุกข์น้อยไปด้วย ก็ขนาดสมอสักชิ้นหนึ่งฉันเพื่อรักษาโรคยังไม่เคยเลย ความจริงมันน่าจะไม่หิวด้วยนะ
      ถาม :  เอาเรื่องอัฐิของบรรพบุรุษนะคะ ที่บ้าน (ชื่อฟังไม่ชัด) อมาตยนนท์น่ะค่ะ พอดีมีช่องว่างที่วัดสระเกศน่ะค่ะ ทีนี้ส่วนหนึ่งจะเอาไปไว้ที่วัดสระเกศอีกส่วนหนึ่งยังไว้ที่เดิมเป็นอะไรไหมคะ
      ตอบ :  อ้าว แล้วทำไมไม่ไว้รวมกันล่ะ คือ เรื่องของอัฐิแยกแยะไม่เป็นไร มันอยู่ที่เราสะดวก แต่ถ้าหากไว้ที่เดียวกันอย่างของคุณย่า หรือใครก็อยู่ที่วัดสระเกศอยู่แล้วต่อไปเราทำบุญจะได้สะดวก ถ้าไว้หลายที่่มันต้องวิ่งหลายแห่ง
      ถาม :  ท่านคะ แล้วมีเรื่องปลวกอีกค่ะ ปลวกขึ้นบ้าน
      ตอบ :  รังใหญ่ไหม ? หรือว่าเป็นทางเดินเฉย ๆ
      ถาม :  เป็นทางเดินค่ะ จะให้ช่างมา
      ตอบ :  ถ้าเป็นทางเดินเฉย ๆ แซะมันทิ้งได้เลย
      ถาม :  ไม่ได้ค่ะ เพราะมันขึ้นตามฝ้าแล้ว ให้ช่างเขามาดูแล้วค่ะ ทีนี้ก็บอกว่าขอให้เขาบอกไปได้ไหมคะ เพราะกำลังจะหาคนมาจัดการ
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อท่านเคยแนะนำว่า ให้จุดธูป ๕ ดอก บอกกล่าวท้าวจตุมหาราชท่าน ว่าขอให้ช่วยสงเคราะห์นำเขาออกไปในช่วงนั้นจะได้ไม่ถึงแก่ชีวิต รบกวนท้าวจตุมหาราชท่านนิดหนึ่ง ขอให้ท่านช่วยสงเคราะห์ด้วยการป้องกันไม่ให้เขาเข้ามาในช่วงนั้นหรือว่านำเขาออกไปเลยก็ได้ ช่วงที่เขามาจัดการจะได้ไม่เป็นอะไร
      ถาม :  ทำในวันนั้นหรือก่อนวันนั้นคะ ?
      ตอบ :  ทำก่อนวันนั้นได้หน่อยก็ดี บอกว่าวันนั้นเวลานั้นเราจะให้ช่างมาจัดการ เพราะท้าวมหาราชท่านเมตตาเป็นปกติอยู่แล้ว พระอนาคามีนี่ ท่านเต็มใจช่วย หลวงพ่อท่านเคยแนะนำเอาไว้
      ถาม :  ไปสอนหนังสือค่ะท่าน แต่ว่านักเรียนดื้อมากค่ะ
      ตอบ :  เราต้องทำใจไว้เลยว่า ในช่วงวัยรุ่นเด็กดื้อกับซนเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราทำใจตรงจุดนี้ได้ไม่มีปัญหา หน้าที่ของเราก็คือถ่ายทอดความรู้ให้แก่เขาให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ พยายามทุกวิถีทาง เราเป็นครูเป็นอาจารย์เนี่ยถ้าเราเก่ง สามารถทำของยากให้เป็นของง่ายได้ เด็กจะสนใจทุกคน สำคัญอยู่ตรงเราด้วย อย่าโทษเด็กอย่างเดียว
      ถาม :  เขาถามกันมาในรถบอกว่าหลวงพี่ตอบให้เสร็จแล้ว
      ตอบ :  บางทีมันก็ฟลุคนะ ส่วนใหญ่มาตรงนี้แล้วเขาไม่ค่อยมีปัญหากัน มีอยู่ ๒ อย่าง คือว่ามาถึงได้รับคำตอบไปแล้วหรือไม่ก็มาถึงลืมคำถามหมดเลย ไอ้ที่มาถึงลืมคำถามหมดมันลักษณะตัวเองอยู่ในที่ร้อน มันกระวนกระวายอยากจะหาที่เย็นอยากจะหาทางออก มาถึงที่เย็นแล้ว มันไม่กระวนกระวายคำถามก็เลยพลอยหมดไปด้วย