ถาม :  ..............................
      ตอบ :  วันก่อนคนงานของน้องเพชร น้ำมะพร้าว แก้วเบ้อเร่อ เนื้อมาด้วย น้ำเขายังไม่ให้ฉันเลย เนื้อมาด้วย รับหน้าตาเฉยเหมือนกันรับเสร็จแล้วก็ส่งคืน
      ถาม :  แล้วเขาได้บุญมั้ยคะ ?
      ตอบ :  ได้ เพราะว่าเขาตั้งใจทำบุญ เขาไม่รู้ว่าพระห้ามฉัน
      ถาม :  ศีลแปด ตรงข้อ อะพรัมหมจะริยา ขอบเขตของตรงนั้นอยู่ที่ตรงไหนคะ อย่างเช่นว่า เราสมาทานศีลแปด แต่เรายังสามารถคิดถึงคนที่เรารักอยู่ ?
      ตอบ :  คิดไปเหอะ คิดไม่ผิด คือถ้าหากว่าคิด ศีลมันไม่เป็นไร ถ้าหากว่าเรื่องของธรรมนี่ก็จะพร่องไปนิดหนึ่ง เพราะว่าถือเป็นมโนกรรม แต่ว่ากายกรรมกับวจีกรรมมันจะเป็นตัวที่ให้ศีลขาด จริง ๆ ศีลแปดตั้งแต่ข้อที่ ๖ ขึ้นมาถ้าผิดโทษทางธรรมไม่มี จะไม่มีโทษลักษณะที่ว่าต้องลงนรกลงอะไร แต่ว่าตัวธรรมะที่ควรจะได้มันจะมาช้าไปนิดหนึ่ง กินข้าวเย็นไม่ตกนรก แต่ว่ามันมัวแต่ไปหุงข้าวกินอยู่ มันก็เลยจากช่วงเวลาของปฏิบัติธรรม ขาดไปหน่อยหนึ่ง การแต่งตัว การดูหนัง ดูดนตรีอะไรก็ตาม ไม่ลงนรกหรอกถ้าไม่ไปติดมันจริง ๆ แต่ว่าตัวธรรมะที่ควรจะปฏิบัติมันก็มาช้า เพราะมัวแต่ไปเพลิดเพลินกับอย่างอื่นแทน
      ถาม :  แต่ถ้าอย่างฟังเทปธรรมะ แบบว่าเป็นเพลงก็ไม่เป็นไรใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  ฟังไปเถอะ ต่อให้เป็นเพลงจริง ๆ ก็ฟังได้ เราฟังแล้วเราพิจารณาด้วย เอาอย่างพระสารีบุตรท่านไง พระโมคคัลลาน์พระสารีบุตรไปดูการละเล่นด้วยกันทุกวันตอนสมัยเป็นลูกชายเศรษฐีอยู่ ดูไปดูมาวันนั้นก็นึกขึ้นมาได้ว่าจะมีประโยชน์อะไรที่เรามาดูเรื่องพวกนี้ คนทั้งหลายเหล่านี้ไม่ถึงร้อยปีมันก็ตายกันหมดแล้ว ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของคู่กัน มีมืดมีสว่าง มีร้อนมีหนาว คนเราถ้าจะตายก็ต้องมีที่ไม่ตาย คนมีปัญญาเขาคิดนะ ท่านก็เลยตกลงกันว่า เออ....เราไปแสวงหาธรรมะที่ทำให้ไม่ตายกันดีกว่า แล้วก็ทำปฏิญญาคือสัญญากันไว้ว่า ถ้าใครพบธรรมะที่เป็นอมตะนี้ก่อนก็ให้มาบอกกันด้วย
              ปรากฏว่าพระสารีบุตรพบก่อนคือพบพระอัสสชิ พระอัสสชิแค่เห็นปุ๊บก็รู้ว่าเป็นผู้มีปัญญามาก ท่านเห็นพระอัสสชิออกบิณฑบาต กิริยาท่าทางทุกอย่างเป็นผู้ที่สมบูรณ์ไปด้วยสติ ก็เลื่อมใสมากเดินตาม เดินตามอย่างเดียว ตามจริง ๆ เพราะรู้ว่าเป็นวาระที่ท่านออกบิณฑบาตเพื่อหาภัตตาหารไม่สมควรที่รบกวนท่าน รอจนกระทั่งท่านนั่งลงพร้อมจะฉัน แล้วก็เข้าไปกราบถามว่าพระคุณท่านเป็นศิษย์ของศาสดาองค์ใด ? ท่านก็บอกว่าเป็นสาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนแบบใดพระอัสสชิบอกว่าท่านเป็นพระใหม่พูดให้ฟังยาว ๆ ไม่ได้หรอก เอาแต่ใจความนิดหน่อยก็แล้วกัน พระสารีบุตรบอกนิดหน่อยก็เอา ท่านก็พูดที่ขึ้นด้วย เยธัมมา เหตุปัพพวา ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ตถาคตท่านตรัสถึงเหตุแห่งธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น
              พระสารีบุตรฟังปุ๊บเป็นพระโสดาบันเลย เพราะรู้ตลอดแล้วว่าที่ตัวเองเห็นว่าคนทั้งหมดอายุไม่ถึงร้อยปีต้องตายหมดนั้นแหละ ท่านกราบถามว่าพระอัสสชิพักอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าพักอยู่ที่ไหน ถามเสร็จเรียบร้อยก็ลาไปบอกพระโมคคัลลาน์ บอกพระโมคคัลลาน์เสร็จพระโมคคัลลาน์ได้ฟังธรรมนั้นก็เป็นพระโสดาบันด้วยกัน เลยชวนบริวารทั้งหมดตามไป
              คราวนี้บริวารท่านมีฝ่ายละสองร้อยห้าสิบรวมแล้วห้าร้อย ตอนแรกก่อนไปโดยมารยาทก็ไปกราบลาอาจารย์เก่าคือสัญชัยปริพาชกก่อน บอกว่าธรรมะที่อาจารย์สอนมานั่นผมศึกษามาจนหมด ตรองดูแล้วว่ามันยังไม่เข้าถึงความดีที่แท้จริง ตอนนี้ผมคาดว่าพบธรรมะที่เข้าถึงความดีที่แท้จริงแล้วเป็นของพระสมณโคดม ขอให้อาจารย์ไปหาพระสมณโคดม เพื่อฟังธรรมด้วยกัน
              ท่านอาจารย์สัญชัยก็อย่างว่านั่นแหละ อาจารย์ใหญ่มาก่อนลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ลาภผลเยอะ สรรเสริญเยอะ ไม่อยากละทิ้งไป ก็ถามพระโมคคัลลาน์พระสารีบุตรที่ยังเป็นอุปติสสะมานพ กับโกลิตะมานพว่า ในโลกนี้คนโง่กับคนฉลาดอย่างไหนมากกว่ากัน พระสารีบุตรก็บอกว่าคนโง่ย่อมมีมากกว่า สัญชัยปริพาชกก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นพวกเธอที่เป็นคนฉลาดก็จงไปหาพระสมณโคดม เดี๋ยวคนโง่ก็มาหาเราเอง ประเภทดื้อจนวินาทีสุดท้าย พวกเดียวกันใช่มั้ย ? (หัวเราะ) เสร็จแล้วบริวารก็แบ่งออกเป็นสองส่วน คือครึ่งหนึ่งอยู่กับสัญชัยปริพาชก อีกครึ่งตามไป
              ทั้งสองไปกราบพระพุทธเจ้าเทศให้ฟังไม่บรรลุ คนอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปฟังพระพุทธเจ้าครั้งเดียวบรรลุธรรมเป็นแถว ๆ สององค์นี้ฟังอยู่ไม่บรรลุกับใคร พระโมคคัลลาน์นั่งภาวนาเมื่อไหร่ก็ง่วงตาปิดเมื่อนั้นแหละ โงกแล้วโงกอีกจนพระพุทธเจ้าต้องบอกวิธีแก้ง่วงให้ ประเภทที่ว่าอะไรล้างหน้าใช่มั้ย จ้องดาว บิดคอ เดินจงกรมอะไรสารพัดวิธี บอกหมดบอกให้ทั้งนั้นปล้ำอยู่ ๗ วัน ถึงจะเป็นพระอรหันต์
              พระสารีบุตรหนักกว่านั้นอีกสิบกว่าวันแล้วก็ยังไม่ได้ซะทีหนึ่ง จนกระทั่งอะไร....พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดทีฆนขมนพมั้ง ? ที่ถ้ำสูกรขาตา ท่านฟังแล้วก็ส่งจิตตามไปถึงเป็นพระอรหันต์ได้ คนก็ข้องใจมากว่าคนทั่ว ๆ ไป ทำไมบรรลุมรรคผลเร็ว แต่ว่าพระอัครสาวกทั้งสองถึงบรรลุได้ช้า ปรากฏว่าสองท่านฉลาดมากไป ในเมื่อฉลาดมากเกินไปก็ต้องไตร่ตรองให้ละเอียดลึกซึ้งจนกว่าจะยอมรับได้จริง ๆ ไม่มีที่คัดค้านแล้ว จิตถึงจะยอมลงว่าอันนี้ถูกต้องและยอมรับ ยอมว่าเชื่อถือว่าเป็นไปตามนั้น ก็เลยช้ากว่าเขานิดหนึ่ง เขาเปรียบเทียบให้ฟังว่า แบบว่างานเขาจัดงานด้วยกันเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่คนสำคัญเขาจะมาถึงทีหลังจริงรึเปล่าก็ไม่รู้ ? ส่งบริวารล่วงหน้าไปก่อนคนใหญ่คนโตจริง ๆ ไปช้าหน่อยก็ได้
      ถาม :  บางคนบอกว่าเวลาที่เราปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปเร่งมาก เพราะว่าก่อนที่เราจะมาเกิดเรารูว่าเราจะบรรลุตอนไหน ตรงไหนอะไรอย่างนี้ ก็คือเราเหมือนกับว่าพยายามที่จะทำใจให้สบาย ๆ แล้วก็เรื่อย ๆ หมายถึงว่าไม่ว่างเว้นที่จะคิดในการปฏิบัติธรรม แต่ว่าไม่ต้องไปรีบเร่ง ?
      ตอบ :  นั่นยิ่งเร่งใหญ่เลย ไม่ว่างเว้นนี่แย่มากเลย จริง ๆ แล้วแนวการปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ ๔ อย่างด้วยกัน สุขา ปฏิปทา ขิปปา ภิญญา ปฏิบัติง่าย ๆ บรรลุก็เร็ว, ทุกขา ปฏิปทา ขิปปา ภิญญา ปฏิบัติยากแต่บรรลุเร็ว , สุขา ปฏิปทา ทันทา ภิญญา ปฏิบัติง่ายแต่บรรลุยาก, ทุกขาปฏิปทา ทันทา ภิญญา อันนี้แย่มากทีสุดปฏิบัติก็ลำบาก บรรลุก็ยากนะ ทั้งหมดมันจะไม่เกิน ๔ แนวนี้ คราวนี้ว่าถ้าหากว่าคิดอย่างนั้น มันเป็นการประมาทเกินไป เราทำไปเต็มกำลังเต็มความสามารถโดยสม่ำเสมอดีกว่า จะบรรลุตอนไหนช่างมันเรามีหน้าที่ทำ
      ถาม :  ๔ กองนี่ครับ ถ้าเกิดถือศีลแปดแล้วข้อ ๖, ๗, ๘ นี่พร่องเล็กน้อย กับถือศีลห้าแล้วสมบูรณ์อย่างนี้ อันไหนกำไรกว่ากัน ?
      ตอบ :  ศีลแปดกำไรกว่า เพราะบกพร่องเล็กน้อยก็จริง แต่ส่วนดีมีมากกว่า ศีลแปดคุมศีลห้าอยู่แล้วนี่ มากกว่าอยู่แล้ว จริง ๆ ศีลแปดมันเก้าข้อนะ นัจจะคีตะวากับมาลาคันธะ สองข้อนี่เขารวบเป็นข้อเดียวค่อย ๆ ทำไปเดี๋ยวความเคยชินมันก็จะทรงตัวไปได้เอง
      ถาม :  ตรงข้อแปดน่ะค่ะ ที่อุจจาสะยะนะ เวลาที่เรานอน นอนเป็นที่นอนนุ่ม ถ้าอย่างเราปวดหลังล่ะคะ เรานอนกับพื้นธรรมดาแล้วเราปวดหลัง ?
      ตอบ :  นอนไปเถอะ หนาซักศอกหนึ่งก็ได้ ที่นอนสูงที่นอนใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลีเขาหมายเอาว่า อรรถกถาท่านบอกคืบหนึ่ง คืบหนึ่งสมัยก่อนมัน ๑๒ นิ้ว เป็นฟุตเลยจริง ๆ แล้วที่ท่านห้ามเป็นเพราะท่านกลัวว่าจะติดสัมผัส คือว่าถึงเวลาแล้วจะติดเย็นติดร้อน อ่อนแข็งอะไรนั่น ไม่ได้มาก็ดิ้นรนต้องให้ได้มา จิตใจมันจะไปฟุ้งซ่านถึงตรงจุดนั้น ถ้าไม่ติดเรารู้อยู่ว่าร่างกายของมัน ๆ เจ็บมันป่วยอยู่ ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราอ้างขึ้นมาเพื่อที่จะติดสุขตรงนั้น นอนไปเถอะ
      ถาม :  อย่างนั้นเราก็สามารถอย่างเช่นว่า สมาทานศีลแปดตั้งแต่เช้าถึงเย็น แล้วเย็นเป็นคนที่ต้องทานข้าวทุกมื้อ แล้วก็ต้องทานข้าวเย็น ก็คือลา ๆ แล้วก็ทานข้าวได้ ?
      ตอบ :  อ๋อ ! ไม่ต้องลาหรอก อนุญาตให้กินได้เลย
      ถาม :  แล้วก็สมาทานศีล ?
      ตอบ :  สมัยก่อนเคยเป็นอย่างนี้อยู่ช่วงหนึ่ง คือมาไล่ไปไล่มาเสร็จ เอ๊ ! ของเรามันศีลแปดชัด ๆ เพียงแต่มันเสียเวลาไปกินอยู่สิบนาทีแค่นั้นเอง เลยตัดสินใจไม่กินตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาว่าเลิกกินกัน ก็เป็นอันว่าจบ แม้แต่ประเภทที่ว่าวินาที สองวินาทีก็ได้ เพราะว่าอานุภาพของศีลแปดสูงกว่าศีลห้ามาก อานิสงส์มากกว่านะ รักษาขนาดนั้นของเรานี่มันยังไม่ละเท่ากับว่าเราขาดแค่แป๊บเดียว
      ถาม :  ไม่ต้องลาใช่มั้ยคะ ?
      ตอบไม่ต้องลาหรอก ถึงเวลาบ๊าย บาย ขออนุญาตกินแป๊บหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องสมาทานใหม่หรอก เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นยังไงก็งดเว้นต่อไป
      ถาม :  ถ้าเราไม่ได้สมาทานแต่เผอิญ เราไม่ได้ตั้งใจแต่บังเอิญที่นอนที่บ้านก็ไม่หนา ข้าวก็กินแป๊บเดียว ทีวีเสียไม่ได้ดูอะไรแบบนี้ ?
      ตอบ :  กุศลไม่มี
      ถาม :  คะ ....ผลไม่มี ?
      ตอบขาดเจตนาคือตัวตั้งใจ ในเมื่อไม่ได้ตั้งใจละผลบุญไม่มี
      ถาม :  ถึงแม้มันจะตรงตามนั้นก็ตาม ?
      ตอบ :  ก็ท่านบอกแล้ว เจตนาหังภิกขเว ปุญญังวทามิ ต้องเจตนาคือตั้งใจถึงจะเป็นบุญ
      ถาม :  ถ้าตั้งใจละ คือปวดท้องมันหิว ?
      ตอบ :  อันนั้นก็ไม่เป็นไร แค่แหว่ง ๆ หน่อยหนึ่ง จริง ๆ แล้วสิ่งที่ท่านอนุญาตให้กินได้ ให้ฉันได้มันก็เยอะแยะไป เพียงแต่ว่ามันคิดที่จะกินข้าวท่าเดียว
      ถาม :  แล้วอย่างบางคนไม่กินข้าวแต่กินนมเยอะ ๆ ?
      ตอบท่านให้รู้จักประมาณในการกิน มันมีอยู่คณะหนึ่ง รู้สึกว่าจะเป็นลูกศิษย์อาจารย์โอ๋มั้ง ? อาจารย์โอ๋ บุปผชาติ พงษ์ประดิษฐ์ เจ้านั่นรักษาศีลแปด กำหนดเอาว่าเวลากินข้าวของมันมื้อสุดท้ายคือบ่ายสอง ตั้งแต่เช้ายันบ่ายสองมันฟาดไปสิบกว่าหน ถ้าอย่างนั้นคุณรักษาศีลห้าดีกว่า ไม่เปลืองมาก ท่านให้มีโภชเน มัตตัญญุตา คือรู้จักประมาณในการกิน ตัวโทษของการกินอาหารเย็น มันลำบากอยู่อย่างหนึ่งคือว่าพอถึงเวลาแล้ว เลือดทั้งหมดมันจะวิ่งลงไปที่กระเพาะเพื่อไปย่อยอาหาร แล้วโบราณท่านให้ใช้คำว่าไฟธาตุ มันพร้อมที่จะสันดาปเพื่อเผาผลาญอาหารตอนที่เลือดมันวิ่งลงไปที่กระเพาะ สมองจะมึนเพราะมันเลี้ยงอยู่น้อย จะหลับท่าเดียว มันจะทำให้การภาวนาการอะไรทุกอย่างไม่ได้อย่างที่เราต้องการ
              เพราะว่าร่างกายอยู่ในสภาพที่หนักไปด้วยอาหาร ในเมื่อหนักไปด้วยอาหารการภาวนาการอะไรมันก็ไม่คล่องตัว เลือดลมก็ไม่ปลอดโปร่ง จะทำให้เสียผลตรงนี้ แต่ว่าคนทั่ว ๆ ไปถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะงดเว้นได้จริง ๆ ตั้งใจรักษาศีลห้าก็ไปนิพพานได้
      ถาม :  ตรงที่ว่า มหาผลที่ทานได้ตั้งแต่ไม่ให้ใหญ่กว่ามหาผล ?
      ตอบ :  อันนั้นของพระ
      ถาม :  แล้วอย่างฆราวาสต้องระดับไหนคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าฆราวาสเองจะต้องรักษาแบบพระด้วยก็งดเว้นพวก แตงโม, ส้มโอ, สับปะรด, มะพร้าว เหล่านั้นลองดู ท่านบอกว่าโตประมาณผลมะตูมก็คงประมาณกำปั้น ถ้าโตกว่ากำปั้นก็อย่าไปยุ่งกับมัน แต่นี่หมายถึงคั้นน้ำนะ ไม่ใช่ว่าประเภทที่ว่าโตกว่ากำปั้นตูก็ไม่กินอย่างนี้ ก่อนเพลก็ฟาดไปเถอะ หลังเพลแล้วคั้นน้ำอย่าไปทำตรงจุดนั้น
              จริง ๆ แล้วตรงนี้มีพระจำนวนมากก็สงสัยว่าพระพุทธเจ้าห้ามทำไม ? มาตอนหลังฝรั่งเขาวิจัยเรียบร้อยแล้ว บรรดามหาผลทั้งหมดฮอร์โมนเยอะมาก ประเภทที่เรียกว่าถ้าหากว่าเรากินลงไปร่างกายฮอร์โมนมาก ๆ นี่มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะว่าแรงขับดันมันอาจมากเกินกว่าที่จิตใจเราจะควบคุมไว้ได้
      ถาม :  แล้วน้ำผักยูนิฟ กินได้มั้ยคะ ?
      ตอบ :  ยูนิฟ.....นั่นมันแทบจะประเภทที่เรียกว่าน้ำล้วน ๆ แล้ว แต่ถ้าพระต้องระวัง เคยเห็นเขามีส่วนผสมพวกสับปะรด ฟักทอง อย่างนั้น พระฉันไม่ได้
      ถาม :  น้ำผักนี่ถือว่าผิดศีลมั้ย ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าจะว่าไปแล้วสิ่งทีพระพุทธเจ้าท่านห้ามนี่มันก็อยู่ที่เราว่าเราเห็นว่ามันเหมาะมันควรกับตัวเองแค่ไหน โดยยึดหลักโภชเนมัตตัญญุตา อย่างเช่นว่า สิ่งที่ท่านอนุญาตให้ฉันเป็นยาได้ ท่านบอกว่า ตถาคตอนุญาตสมอไทย, สมอพิเภก, ดีปลี, พิลังกาสา หรือผลไม้อื่นอันอาจจะมี มันก็เวรกรรม คนไหนมันกินทุเรียนรักษาโรคได้มันก็ฟาดอิ่มอยู่คนเดียว
              เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เราเหมือนกัน อยู่ที่เราว่าเราจะโกหกตัวเองมั้ย ? ถ้าเรารู้สึกว่าเรากินเพราะอยากนี่รีบเบรกเอาไว้เลย แต่ถ้าหากว่ากินเพื่อยังร่างกายให้อยู่ได้เท่านั้นตามแบบที่พระพิจารณา เราจะไม่กินเพื่อความอ้วนพีของร่างกายจะไม่กินเพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ ไม่กินเพื่อยังกิเลสให้เกิดขึ้น จะกินเพื่อรักษาร่างกายนี้ไว้เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น รักษาร่างกายนี่ ๒ มือมันก็เยอะแล้ว อย่าลืมว่าพระที่ท่านฉันมื้อเดียวก็เยอะแยะไปใช่มั้ย
      ถาม :  อย่างตั้งใจรักษาศีลนี่ครับ ตั้งเจตนาครั้งเดียวตอนเช้าหรือว่าต้องตั้งใจรักษาตลอด ?
      ตอบ :  คือว่าการรักษาศีลนี่ความรู้สึกของเรา ถ้าจะเอาสมบูรณ์จริง ๆ เรียกง่าย ๆ ว่าแค่ขยับเราก็รู้เลยว่าศีลจะขาดมั้ย ? บกพร่องมั้ย ? ความตั้งใจงดเว้นนี่ ตั้งใจแค่ครั้งแรกก็พออาจจะเป็นสิบปีที่แล้วก็ได้ แต่ว่าให้มันทำต่อเนื่องกันมา
      ถาม :  แต่ว่าถ้าเกิดตั้งใจไว้ตอนเช้า แล้วระหว่างวันลืมไปบ้างอย่างนี้มันจะเกิดผลมั้ยครับ ?
      ตอบ :  ก็ลืมไปบ้างถ้าหากว่าศีลไม่ขาดไม่เป็นไร
      ถาม :  แล้วถือว่าได้อานิสงส์ ?
      ตอบ :  ได้อยู่ แค่เผลอสิตลืมนึกถึง
      ถาม :  การทรงฌานได้นี่ช่วยระงับความกลัวด้วยได้ใช่มั้ย ?
      ตอบ :  ได้จ้ะ
      ถาม :  ความโลภ ความกลัวได้หมด ?
      ตอบ :  แต่ว่ามันได้ไม่หมด อย่างตอนผีหลอกทั้ง ๆ ทรงฌานอยู่มันก็ยังรู้สึกกลัว ๆ อยู่ จริง ๆ แล้วมันไม่ได้กลัวผีหรอกมันกลัวตายมากกว่า ผีหลอกมันจะมาทำอะไรล่ะ ? มันจะมาบีบคอเรา บีบคอแล้วเป็นไงตายแหงใช่มั้ย ? สรุปแล้วมันคือกลัวตายมันไม่ได้กลัวผีหรอก
      ถาม :  จำความรู้สึกตัวเองได้เหมือนกันว่าในการกลัวแปลกที่กลัวผีมันบอกไม่ถูก บอกว่ากลัวตายไม่ใช่ ?
      ตอบ :  กลัวตาย เชื่อเถอะ ให้เขาพิจารณาดูใจตัวเองจริง ๆ อันนี้ไม่ต้องเถียงอาตมาเลยแหละ ตามดูมาหลายปี ไล่ดูจนกระทั่งรู้เลยว่า ที่กลัวทั้งหมด ไม่ว่ากลัวอะไรก็ตามมันเกิดจากการกลัวตายตัวเดียว ถ้าไม่กลัวตายซะอย่าง ตัวอื่นมันไม่กลัวหรอก
      ถาม :  กลัวทรมาน ?
      ตอบ :  ทรมานแล้วเป็นไง ? ทรมานแล้วตายใช่มั้ย ? มันก็ลงตรงตายนั่นแหละไล่ไปเหอะ
      ถาม :  แต่บางทีเราก็รู้สึกเหมือนกัน ถ้าเราตายแบบสบาย ๆ เราไม่กลัวเรากลัวเจ็บ ?
      ตอบ :  เจ็บแล้วเป็นไง ? เจ็บมาก ๆ มันจะตาย
      ถาม :  แลัวทรมานไง แบบกินยาแล้วเราหลับอย่างนี้ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องไปเลี้ยวหรอก เชื่อเหอะอาตมาตามดูมันมานานแล้ว
      ถาม :  นี่เฉพาะกรณีนั้น ?
      ตอบ :  ไม่ใช่เฉพาะหรอก ทุกคนต้องเป็นเหมือนกันหมด ถ้าขึ้นชื่อว่ากลัวนะ สรุปฟันธงไปได้เลยว่ากลัวตายแน่นอน