สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนมีนาคม ๒๕๔๕
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ถาม : อย่างนี้ก็น่ากลัวซิเจ้าคะ คนที่เขาไปทำกฐิน ทำผ้าป่าไม่รู้แล้วเราก็แย่ซิเจ้าคะ ?
ตอบ : ก็ถ้าหากว่าเราต้องใจทำนั้นอานิสงส์เราได้เต็มน่ะ แต่คราวนี้ว่าสังฆกรรมของพระมันไม่สมบูรณ์
ถาม : กรรมฐานที่ต้องพิจารณาน่ะครับ พิจารณาแล้วเกิดการเบื่อหน่ายอย่างเช่น เนวสัญญาอะไรต่าง ๆ น่ะครับจริง ๆ แล้วกรรมฐานนี่จริง ๆ กรรมฐานนี่คือทำแล้วเพื่อให้จิตเกิดความสุข ทีนี้พอเริ่มต้นคิดก็ไม่รู้ว่าจะมีความสุขอย่างไร เพราะจิตไม่มีความสุขอะไรอย่างนี้น่ะครับ ?
ตอบ : กรรมฐานจริง ๆ จะมีลักษณะว่า รู้เห็นตามความเป็นจริง ๆ ในเมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริง ระยะแรกนี่จะเกิดการรังเกียจ เกิดการเบื่อหน่าย เห็นเป็นทุกข์เป็นภัย เห็นเป็นโทษ เห็นเป็นของน่ากลัวนะ เราต้องก้าวล่วงตรงจุดนั้นไปได้มันถึงจะมีความสุข มันจะมีความสุขตรงที่ว่าเรายอมรับมันได้ ลักษณะของการยอมรับนี่ลำบากหน่อย ถ้าปัญญาไม่ถึงนี่มันไม่ค่อยยอมรับหรอก เรื่องของ อาหารเรปฏิกูลสัญญา ก็เหมือนกันถ้าหากว่าเราพิจารณาไป พิจารณาไป มันรังเกียจบางคนนี่ประเภทถึงกับข้าวปลาไม่กินเอาเลย คราวนี้มันกระจายออกถึงขนาดนั้น แล้วพระท่านเคยบอกไว้ หลวงพ่อท่านเคยบอกไว้ว่า มันต้องรวมกลับเข้ามา พิจารณาให้เห็นว่าในเมื่อร่างกายมันยังคงอยู่ตามสภาพร่างกายมันต้องอาศัยอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ก็ฝืน ๆ กินเข้าไปหน่อย ท่านใช้คำพูดลักษณะที่ว่าเหมือนกันกินเนื้อของบุตรสุดที่รักของตนเอง ให้ความรู้สึกเป็นอย่างนั้นน่ะ
ถาม : หมายความว่าจิตของผู้ฝึกกรรมฐานอย่างนี้จะมีความสุขอยู่ที่จิตเหรอครับ ?
ตอบ : ยอมรับแล้ว ยอมรับความเป็นจริง ถ้าไม่ยอมรับความเป็นจริงแรก ๆ ก็ต้องข่มไว้ ข่มไว้ก็ต้องอาศัยกำลังของฌานสมาบัติ ถ้าหากว่าข่มไม่อยู่ก็ กะบะแตก (หัวเราะ) ไม่ได้ใช้แม็คลายเนอร์
ถาม : พระที่ท่านธุดงค์ในป่านี่วันอุโบสถนี่ไม่มี ...?
ตอบ : วันอุโบสถนี่ ถ้าหากว่าอยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๕ องค์ขึ้นไปก็สวดปาติโมกข์ สวดปาติโมกข์อย่าคิดว่าต้องใช้โบสถ์เสมอไปนะ พระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดอย่างนั้น ท่านกำหนดแค่ว่าเขตในทิศทั้ง ๘ นั้นมีอะไรเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมาย แล้วเสร็จแล้วพอประกาศเสร็จเรียบร้อยก็ยืนยันว่าบริเวณนั้นเป็นเขตอุโบสถสังฆกรรมแล้ว องค์ที่สวดปาติโมกข์ได้ก็สวดไป ถ้าหากว่าต่ำลงมาไม่ครบองค์สงฆ์อย่างเช่นว่า ๓ องค์ขึ้นไปก็ให้ประกาศอุโบสถแล้วให้ตั้งในอฐิษฐานว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถของตน เขาจะมีวิธีกรรมของเขาอยู่
ถาม : ไม่มีพระสวดปาติโมกข์ได้เหรอครับ ?
ตอบ : ไม่มีสวดปาติโมกข์ได้ ก็อย่าพยายามอยู่รวมกันให้ครบองค์สงฆ์แยก ๆ กันไปซะ พอถึงเวลาเลยวันก็ค่อยกลับมา (หัวเราะ) นี่ประเภทเลี่ยงบาลีนะ จริง ๆ มันน่าจะได้ซักองค์หนึ่ง
ถาม : แต่ว่ายาวมากเหมือนกันนะครับ ?
ตอบ : ๒๒๗ ข้อจะว่ายาวมันก็ไม่ยาวนะแต่ว่าต้องใช้ความพยายามเอาเรื่องเหมือนกัน
ถาม : องค์สงฆ์นี่ ๕ องค์ขึ้นไปเหรอครับ ?
ตอบ : ๔ องค์ขึ้นไปถือว่าเป็นองค์สงฆ์ แต่ทีนี้ว่าส่วนใหญ่แล้วมันต้องสวดองค์หนึ่ง เขาก็เลยมักจะนิยม ๕ องค์แต่จริง ๆ ๔ องค์นี่เขาต้องสวดแล้ว
ถาม : มีวัดที่แบบว่ามีพระที่สวดปาติโมกข์ไม่ได้บ้างมั้ยครับ ?
ตอบ : อันนั้นเขาต้องเชิญจากวัดอื่นมา มีอยู่ วัดที่ไม่ได้อย่างปัจจุบันนี้เขาจะมีตำแหน่ง วินัยธร วินัยธรแปลว่าผู้ทรงวินัย คนสวดปาติโมกข์ได้ อย่างของเมืองกาญจน์นี่ทางจังหวัดเขาจะทำการสอบบางทีก็ทะลุกลางปล้องขึ้นมาตรงกลางอย่างนี้ ยกตัวอย่างขึ้นมาข้อหนึ่ง สัมปะชามุสา วาเท ปาจิตตียัง ข้อต่อไปอะไรอย่างนี้แล้วเสร็จแล้วก็จะมีการบอกอุโบสถ กี่อุโบสถแล้วเหลือกี่อุโบสถ ฤดูกาลที่เท่าไหร่แล้วอะไรอย่างนี้ ขึ้นหัวขึ้นกลางขึ้นท้ายทดสอบว่าเราได้แล้วแน่นอนก็โอเค เขาจะออกหนังสือรับรองให้ทีนี้พอออกหนังสือรับรองให้ ก็มีการตระเวนสวดคือวัดไหนถ้าหากว่านิมนต์ก็เอา แต่ว่ามันเสียอยู่อย่างเดียวคือระยะหลังนี่เขานิมนต์แค่ว่าสวดมนต์ทำวัตรเฉพาะเข้าพรรษาหรือไม่ก็สวดปาติโมกข์เฉพาะตอนเข้าพรรษา ตอนนี้วัดท่าขนุนนี่ไปปรับปรุงว่าสวดมนต์เช้าเย็นทุกวันแล้วปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนตามพุทธบัญญัติเลย ก็จะมีพระเวียน ๆ กันมาสวดเพราะว่าเราบอกแล้วว่านิมนต์มา ก็ไม่นิมนต์เปล่าหรอกมีค่ารถให้กลับแน่ ก็เลยแย่งกัน เราให้เยอะ
ถาม : กลายเป็นอาชีพไปเลยครับ ?
ตอบ : กลายเป็นอาชีพไป แต่ว่าของเราไม่ได้คิดตรงจุดนั้น มีหลายองค์อย่าง อาจารย์เตชะ สวดเป็นการสงเคราะห์จริง ๆ ถึงถวายท่าน ๆ ก็ถวายคืนมาให้เป็นส่วนของสงฆ์ไป แต่ว่าอย่าง อาจารย์ม่า นี่ถ้าไม่ถึงคิวตัวเองก็แย่งเขาสวด อันนั้นเราไม่ว่า เราเอาเฉพาะตรงที่ว่าอานิสงส์ของการทบทวนอาบัติแต่ละข้อ ถ้าหากว่าฟังออกนี่เหงื่อแตกกันจริง ๆ นะเพราะว่า เขาจะขึ้นกันทีละอุเทส อุเทสหนึ่งก็คือตอนหนึ่ง อย่างเช่นปราชิกุเทสก็คือ ตอนหนึ่งของปาราชิก สังฆาสิเสสุเทส คือตอนของสังฆาทิเสสอย่างนี้ ตอนท้ายนี่เขาจะบอกไว้ ตัตถา ยัสสะมันเต ปุจฉามิ กัจจิตถะ ปะริสุทธา ? เราขอถามว่าท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ในสิกขาบทนี้แล้วหรือ ? ทุติยัมปิ ปุจฉามิ กัจจิตถะ ปะริสุทธา ? ขอถามท่านเป็นครั้งที่ ๒ ว่าบริสุทธิ์แล้วแน่หรือ ? ตะติยัมปิ ปุจฉามิ กัจจิตถะ ปะริสุทธา ? ขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่าบริสุทธิ์แล้วแน่หรือ ? ถ้าฟังออกนี่เหงื่อหยดติ๋งเลย (หัวเราะ) ถ้าประเภทนั้นย้ำกันทีละชุดเลย ถ้าหากว่าไม่บริสุทธิ์ใช่มั้ย ต้องอาบัติหนักอย่างเช่นว่า ปาราชิกหรือสังฆาทิเสสออกไปเลย ถ้าคุณขืนอยู่ต่อสังฆกรรมเขาเสียเขาตั้งท่าสวดกันใหม่ แต่ถ้าหากว่าเป็นอันหลัง ๆ นี่ถึงเวลาก็ถ้ารู้ตัวว่าไม่บริสุทธิ์ รีบสารภาพก็แสดงอาบัติกัน แต่ปัจจุบันนี้เขาใช้ในลักษณะว่า ก่อนทำการปาติโมกข์ก็แสดงอาบัติกันก่อนก็ถือว่าโอเคบริสุทธิ์เสมอกันไป
ถาม : จะได้นั่งฟังอย่างเดียว ?
ตอบ : อือ... นั่งฟังอย่างเดียวไม่ต้องนั่งเสียเวลาฟังไปแสดงไป แต่จริง ๆ ถ้าเป็นแบบของหลวงพ่อนี่ผิดตรงไหนเขาให้เจอะเอาเฉพาะตรงนั้น สมัยนี้เขาเล่นใช้ สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย มันรวมกันไม่รู้กี่ข้ออาจจะ ๒๒๗ ก็ได้อย่างนี้ ถ้าหากว่าสมัยยังอยู่ วัดเทพศิรินทร์ นี่ละเอียดหน่อยโดนอันไหนปลงเฉพาะอันนั้น อย่างเช่นว่า โดนอาบัติถุระใจก็ใช้ ถุลลัจจะยาโย โดนอาบัติปาจิตตีก็ ปาจิตตียาโย โดนอาบัติทุกกฏก็ ทุกฏาโย อย่างนี้เอาเฉพาะจุด แต่ถ้าเป็น วัดท่าซุง นี่ผิดข้อไหนปลงข้อนั้นเลยเล่นภาษาไทยด้วย ข้าแต่สงฆ์ทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าต้องอาบัติปาจิตตีย์ เนื่องจากโกหกผู้อื่นเขา ขอให้สงฆ์ทั้งหลายโปรดรับทราบอาการชั่วหยาบที่ข้าพเจ้าได้ล่วงสิกขาบทไปแล้วด้วย ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะไม่คิดเช่นนี้อีก ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะไม่พูดเช่นนี้อีก ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะไม่ทำเช่นนี้อีก ขอสงฆ์ทั้งหลายโปรดรับทราบด้วยเถิด อันนี้เป็นสไตส์วัดท่าซุงเล่นภาษาไทยด้วยให้มันรู้ ๆ กันไปเลยว่า ถ้าต่อไปผิดอีกจะไปสารภาพอีกเอ้า ...มึงตอแหลอีกแล้ว พวกก็จะชี้หน้าว่าเอา มันก็เลยจะมีการควบคุมกันได้
ถาม : แต่ว่าที่พระสวดปาติโมกข์ไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นบาลีไปเรื่อย ๆ ใช่มั้ยครับ ?
ตอบ : ก็จะเป็นบาลีไปเรื่อย ๆ แต่ว่าจะทวนกันไปถ้าใครฟังออกก็จะรู้เรื่อง
ถาม : แล้วถ้าฟังไม่ออกล่ะครับ ?
ตอบ : ถ้าฟังไม่ออกก็ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ นึกถึงพระไปเลย ของเราบางทีก็แหม....มันมีความสุขใช่มั้ยเข้าสมาธินึกถึงภาพพระจับภาพพระไปอะไรไป ไป ๆ มา ๆ สวดกันก็ดันสวดผิดคนตรวจก็บอกผิด เราก็เลยต้องคลายสมาธิออกมา ๆ เตือนมันบ้าง บางทีมันผิดนิดผิดหน่อยมันไม่ได้ เพราะว่าของเขาเอง เขาระบุเอาไว้ชัดเลยว่า อักขระทุกตัวต้องชัดเจน มันพลาดไม่ได้ใช่มั้ย อย่าง อาจารย์สังเวียนนี่แกสวดนี่ ตัวสุดท้ายของแกนี่ ติณะวัตถา ระโกติ ของแกเองแกจะเป็น กะโร ประจำเลยของเราก็ต้องคอยเตือนแกอยู่เรื่อย ไอ้คนอื่นมันฟังพรืดเดียวมันผ่านไป มันจะจับจุดตรงนี้ไม่ได้ มันจะเป็น ระโกติ หรือ กะโรติ กันแน่อย่างนี้ มันพรวดเดียวผ่านไปแล้ว เพราะสวดมันต้องเร็ว
ถาม : แล้วท่านสวดปาติโมกข์ได้มั้ยครับ ?
ตอบ : ไม่ได้สวดเพราะตั้งแต่แรกบวชเลยเพราะว่าบวช ๘ ค่ำ พอ ๑๕ ค่ำ ลงโบสถ์แล้วละ ก็ประมาณแค่ ๖ วัน แล้ววันที่ ๗ ก็ลงโบสถ์แล้วเห็นพี่เขาสวดแล้วโอ้โห....เหนื่อยแทบขาดใจตั้งแต่นั้นมาไม่เคยคิดอยู่ในหัวแลยว่าจะสวด แต่คราวนี้มันอาศัยความจำดี มันฟังแล้วมันจำได้ไง พอเขาผิดตรงไหน เราจำแล้วมันแม่นยำเราก็ทักท้วงเขาได้ ระยะหลัง ๆ นี่เวลาเปลี่ยนอุโบสถหรือว่าจำนวนสงฆ์มีเท่าไหร่นี่ เราต้องคอยบอกเขา เพราะคนอื่นไม่ค่อยแม่นบาลี พอไม่แม่นบาลีจำนวนพระสงฆ์เท่าไหร่ก็ต้องไปเปิดดู ตัวเลขนี้ภาษาบาลีเขาว่าอะไร ระยะหลังมันเลิกเปิดแล้วหันมาถามเท่าไหร่ครับอาจารย์ เราก็ต้องบอกเพราะว่าจะมีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาว่าจำนวนพระมีอยู่เท่าไหร่ อย่างเช่นว่า มี ๒๐ องค์ก็ วีสติภิกขูสันนิ ปาติตา สันนิบาตนี้ประกอบด้วยภิกษุ ๒๐ องค์ก็ว่าไป ที่นี้ภาษาบาลีจำยากก็ต้องไปเปิดตำราเอา ทีนี้ไอ้ของเรามันหลวงพ่อท่าน ๆ คล้าย ๆ กับว่าสอนเทศน์ คือลักษณะคล้าย ๆ หลวงพ่อท่านทำให้เป็นตัวอย่าง จะมีบอกศักราช มีการบอกวัน บอกเดือน บอกปี เป็นภาษาบาลี ซึ่งมันเปลี่ยนไปเรื่อยน่ะ พอมันเปลี่ยนไปเรื่อย ของเรามันต้องจำเอา พอมันจำได้แล้ว เรื่องตัวเลขมันก็ง่ายแล้ว บอกศักราชก็จะให้ขึ้น อาทินิตสสะภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ปรินิพานะโตปัฏฐายะ พระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานมาแล้วขณะนี้ล่วงเลยมาเป็นเวลาเท่าไหร่ วันนี้เดือนนี้ ปีนี้ตรงกับอะไรแล้วก็จะสรุปได้ว่าอะไรล่ะจะใช้ว่า เอวังตัสสะ ภะคะวะโต ปรินิพพานาสาสะนายุกาละคะณะนา สัลลักเขตัพพาติ จะว่าอายุของพระศาสนาที่ล่วงเลยมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานแล้วสามารถกำหนดนับได้ด้วยประการฉะนี้ นี่ยังดีสมัยนี้มันย่อแล้ว สมัยก่อนเขายังประเภทที่เรียกว่า วันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ผ่านมาเท่าไหร่ แล้วก็ยังเหลือกี่วัน กี่เดือน กี่ปีกว่าจะครบ ๕,๐๐๐ ปีอย่างนี้ ตอนนี้ตัดไปตั้งครึ่งแล้วนะ ไม่งั้นเล่นเอาเดี้ยง ปัจจุบันนี้รู้สึกว่าแถวเมืองกาญจน์ ฯ ทองผาภูมิมีอาตมาคนเดียวล่ะมั้งที่เทศน์แล้วยังบอกศักราชอยู่ คนอื่นเขาไม่แล้ว เขาเล่น นะโม เลยอะไรที่แบบโบราณมีอยู่น่าจะรักษาไว้ไม่งั้นมันสูญไปเรื่อย พอที่จะทำได้โดยที่ไม่หนักมากนักก็เอาเถอะ
ถาม : ต้องทำบุญอะไรคะถึงจะฉลาด ?
ตอบ : ฉลาดมันต้องในเรื่องของธรรมทาน และอีกตัวหนึ่งก็คือตัวภาวนา ตัวภาวนานี่เป็นตัวสร้างปัญญาโดยเฉพาะ สมมุติว่าถ้าหากว่าชาตินี้เราภาวนาจนสามารถทางฌานทรงสมาบัติได้ เกิดชาติใหม่ฉลาดแน่นอน แต่ขณะเดียวกันถ้ามีผลทางด้านธรรมทาน อย่างเช่นว่า ถวายพระไตรปิฎก ไว้ หรือว่า ข้อธรรมอันใดที่เรามั่นใจว่าปฏิบัติได้แล้วนำไปสั่งสอนคนอื่นต่อ อันนี้ก็จะเป็นตัวที่สร้างความฉลาดให้โดยตรง การบริจาคหนังสือทุกประเภท ถือเป็นธรรมทานแต่ ถ้าหากว่าได้พระไตรปิฎกนี่ เป็นธรรมทานโดยตรง อานิสงส์ก็จะมากกว่าอันอื่นเขา เอามั้ยเกิดกี่ยกดี ?
ถาม : รอสังคายนาอยู่ครับ ?
ตอบ : รอสังคายนาอยู่ ... จริง ๆ ไม่ต้องก็ได้ ฉบับสยามรัฐ ดี มันผิดอยู่คำเดียว มันไม่ได้ผิดหรอกมันเพี้ยนกันระหว่าง ชะโน กับ ชะนัง มันก็ชนหมู่มากเหมือนกัน ต่างกันอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง
ถาม : พระไตรปิฎกนี่จริง ๆ ไม่มีอรรถกถาเลยใช่มั้ยครับ ?
ตอบ : พระไตรปิฎกนี่จริง ๆ ไม่มี อรรถกถานี่ประเภทที่เรียกว่าเห็นว่ากระดูกเยอะไป เติมน้ำให้หน่อยอะไรอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวจะแทะไม่ออกแล้วเสร็จแล้วก็ใบฎีกา แล้วก็อธิบายอรรถกถา อนุฎีกา อธิบายฎีกาใช่มั้ย ? เสร็จแล้วก็ยังมีเกจิอาจารย์ อธิบายอนุฎีกาอีกอันนี้อีก ยิ่งมาต่อปีกต่อหางยิ่งยาวไปเรื่อย อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่ากล่าวถึงพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกก็จะว่าพระพุทธเจ้าเกิดในตระกูลศากยะอย่างนี้ เสด็จออกบวชเมื่ออายุ ๒๙ ปี ต่อมาอรรถกถาก็ พระพุทธเจ้าเกิดในตระกูลศากยะใช่มั้ย ? มีบิดาชื่อนั้น มีมารดาชื่อนั้น แต่งงานเมื่อนั้น มีบุตรเมื่อนั้น เสด็จออกบวชเมื่อนั้นอย่างนี้ พอใบฎีกาเขาจะต่อปีกต่อหางไปอีก มีภรรยาชื่อนั้น พี่น้องชื่อนั้นอะไรอย่างนี้ มันก็จะเยอะขึ้น ๆ ไปเรื่อย ถ้าหากว่าอรรถกถานี่ยังเชื่อได้เพราะว่า อรรถกถาเป็นสัมภิทาญาณแล้วหลังจากนั้นเขาก็จะอธิบายเฝื่อมากขึ้น เพราะว่ามันจะอยู่ลักษณะที่เรียกว่าเหมือนจะพยายามเอาความเก่งของตัวเองมากลบความเก่งของคนเก่า ในเมื่อในลักษณะนั้นมันก็จะจิตมันก็จะประกอบไปด้วยกิเลสด้วยอะไรด้วยมันก็จะอธิบายเข้าป่าเข้าดงไปก็เยอะ
ถาม : อย่างพระสูตรนี่ พระพุทธเจ้าท่านจะดูตามเฉพาะบทบาลีอย่างเดียวเหรอครับ แนวเรื่องมันไม่ได้ต่อกันเลย ?
ตอบ : เขาเอามาจัดอยู่เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เพราะว่าจะเป็นเนื้อหาในลักษณะที่สอนคนประเภทเดียวกัน อย่างเช่นว่า พระสูตรแต่ละสูตรนี่จะสอนคนในลักษณะอย่างนี้ ๆ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปลายแล้วจบลงในลักษณะอย่างนี้ ท่านจะขึ้นหัวแล้วสรุปท้ายตั้งแต่ เอวัมเมสุตัง ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ เอกังสะมะยังภะคะวา สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า.... ไล่ไปเรื่อยแล้วก็จะมาสรุปลงท้าย อิทะมะโว จะภะคะวา ปัญจวัคคียาภิกขุ ภะคะวะโตภาสิตัง พระปัญจวัคคีพอได้ฟังภาษิตก็คือ คำเทศน์ของพระพุทธเจ้าแล้วอย่างนี้นี่ก็จะไล่ลงไปว่าผลเป็นอย่างไร ขึ้นต้นอย่างไร เนื้อหาอย่างไร สรุปอย่างไรนี่ ละเอียดมากมาสมัยหลัง ๆ ตัดออกเยอะ ยิ่งถ้าหากว่าเกี่ยวกับชาดกต่าง ๆ ซึ่งเราเห็นเป็นนิทานไปเลยอย่างนี้ เขาจะตัดหัวตัดท้ายหมดเหลือแต่เนื้อหาที่มา ๆ อย่างไรไม่บอก ผลลัพธ์รับอย่างไรก็ไม่บอก มันจะทำให้เสียผลถ้าหากว่าคนที่ไม่ใช่ประเภท อุคคติติญญู คือประกอบไปด้วยปัญญาอย่างยิ่งฟังแค่เนื้อหาแทงตลอดเลย ก็จะเสียผลไปเลย เพราะส่วนใหญ่ชาดกแต่ละเรื่องจะเริ่มจากว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อย่างเช่นว่าทำไม พระโลลุทายี นิสัยเสียขนาดนี้ ทำอะไรก็จับจดโลเลมีแต่สิ่งผิดพลาดอยู่ตลอด พอคนเขากล่าวนินทาขึ้นมา พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงถามว่าภิกษุทั้งหลายเธอพูดกันด้วยเรื่องอะไร พอพูดกับถึงเรื่องนี้เสร็จแล้วท่านก็อธิบายว่า โลลุทายีไม่ได้เป็นชาตินี้ชาติเดียว อดีตชาติเขาเป็นมาอย่างนี้ ๆ ท่านเกิดเป็นคนนี้ ๆ ว่าไปเรื่อย ๆ แล้วก็สรุปว่า อะหังเอวะ ตัวตถาคตเองก็เกิดเป็นอย่างนี้ ท่านโลลุทายีเป็นผู้นี้ ท่านผู้นี้เกิดเป็นอะไรอย่างนี้ พอสรุปเสร็จเรียบร้อยคนฟังก็บรรลุมรรคผลเป็นแถว ของเราเองยังไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าไม่ได้ตรองตามในปัญหาในเนื้อหาตามที่ท่านว่ามา เพราะว่าคนมี ปัญญาเขาตรองตามเออ... ขนาดพระพุทธเจ้าเองท่านก็ยังเวียนตาย เวียนเกิดไม่รู้จบเนาะ กว่าจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านเองก็ต้องทุกข์ต้องยากมาอย่างนี้ แต่ละท่านแต่ละองค์ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ๆ แรงกรรมมันหนุนส่งเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดอีกมันก็จะทุกข์อีก เป็นแบบนี้เราอย่าเกิดอีกดีกว่า จะมีการสรุปท้ายอะไรด้วย ลักษณะท่านตรองตามด้วยปัญญา ดังนั้นว่า ทุกสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ท่านเน้นเอามรรคผลทั้งนั้น เพียงแต่สมัยนี้หลวงพ่อท่านบอกว่าสัญญาและปัญญาของคนมันทรามลงไม่ได้คิดถึงตรงจุดนี้ ฟังเอามันอย่างเดียวก็มี หรือไม่ก็อยากรู้ว่าเรื่องราวมันเป็นยังไงแค่นั้นเอง
ถาม : แล้วเรื่องที่ต่อเนื่องอย่างนี้เราก็จะพบอยู่ในอรรถกถา ?
ตอบ : จะมีอรรถกถาที่ท่านอธิบายอยู่แต่ว่าเนื้อหายังไม่ละเอียดอย่างที่บอกแล้วว่า ส่วนใหญ่ก็ประเภทเนื้อล้วน ๆ อย่างนี้ถ้าใส่น้ำลงไปหน่อยค่อยคล่องคอขึ้น
ถาม : เลยมีความรู้สึกว่า เอ้... พระพุทธเจ้าเวลาท่านเล่าเรื่องท่านตรัสเป็นบท ๆ อย่างนี้หรือเปล่าหรือท่านเล่าเป็นเรื่องกันแน่ ?
ตอบ : จะเป็นเรื่องไป แต่ว่า แต่ละเรื่องแต่ละตอนไม่ได้ต่อเนื่องกันเพียงแต่ว่าพอถึงเวลาสังคายนาเขาจะมาจัดเป็นหมวดหมู่เข้า พอจัดหมวดหมู่เข้า อันที่เป็นพระวินัยก็เป็นพระวินัย ท่านอาจจะประเภทวันนี้เทศน์พระสูตรไปซักครึ่งวันอย่างนี้ อยู่ ๆ มันมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัยขึ้นมา ก็ต้องเรียกสงฆ์มาประชุมกัน ตรัสถามว่าเธอทำอย่างนี้จริงมั้ย ? เสร็จแล้วก็โทษของการที่ทำอย่างนี้เป็นอย่างไร ? ประโยชน์ของการละเว้นเป็นอย่างไร ? แล้วก็บัญญัติเป็นข้อห้ามขึ้นต่อสงฆ์ทั้งหลาย ก็อาจจะเป็นว่า วันนี้อย่างนี้ วันนี้อย่างนี้สลับกันไปกันมา แต่ว่า พระอานนท์ ท่านจำได้ทั้งหมด ท่านก็เอามาจัดหมวดหมู่ตอนสังคายนาพระไตรปิฏก เนื้อหามันก็เลยเหมือนอย่างกับว่าบางทีมันกระโดดไม่ได้ต่อเนื่องกันไม่ได้อะไรกัน
ถาม : อ่านตามบทแปลของบาลีอย่างเดียวนี่ไม่ต่อเนื่องกันเลยครับ ?
ตอบ : ไปคนละทิศคนละทาง ยังดีว่าท่านมาแยกหมวดแยกหมู่นี่พวกเราสบายกันเยอะ ไม่งั้นมันต้องคลำกันทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กว่าจะเจอส่วนที่ตัวเองชอบ
ถาม : ฉบับสยามรัฐนี่ผิดตัวเดียวเท่านั้นเหรอครับ ?
ตอบ : ไม่ได้ผิดหรอก เพี้ยน (หัวเราะ) ไม่ถือว่าผิด คำเดียวเท่านั้น
ถาม : แล้วฉบับภาษาไทยล่ะครับ ?
ตอบ : ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของเขา แต่ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะเป็นไทยที่ต้องแปลเป็นไทยอีกทีพอเป็นไทยที่ต้องแปลเป็นไทยอีกทีคนอ่านถ้าไม่คุ้นกับภาษาไทยโบราณก็เรียบร้อยเลย เจ๊งสนิท สมัยก่อนเขาว่าอะไรนะ ปลูกเรือนใกล้ท่าไม่มีน้ำจะกิน ช่างปั้นหม้อดินไม่มีหม้อจะใช้ เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อยากขึ้นสวรรค์ให้ไปแก้ผ้าในวัด ปลูกเรือนใกล้ท่าไม่มีน้ำจะกิน บ้านอยู่ริมน้ำไม่มีน้ำจะกินน่ะ ลูกบ้านนั้นขี้เกียจบรรลัยเลย ตักน้ำขึ้นบ้านแค่นั้นมันยังไม่ตัก ช่างปั้นหม้อดินไม่มีหม้อจะใช้ ก็สไตส์เดียวกัน เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อันนี้เขาหมายถึงว่าประเภทที่ว่าถึงเวลาชาวบ้านใส่บาตรเลี้ยงพระไปเรื่อย บทจะเอาจริงขึ้นมาพระเอาแต่ขี้เกียจ กินแล้วนอนสวดมนต์ไหว้พระอะไรไม่ป็นสักอย่าง ถึงเวลาจะจัดพิธีสงฆ์อะไรก็ทำไม่ได้ เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อยากไปสวรรค์ให้ไปแก้ผ้าในวัด สมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นใบลานหรือไม่ก็กระดาษสาอะไรที่เป็นพับ ๆ ถึงเวลาจารึกเป็นคำสอนเป็นพระสูตร เป็นพระวินัย พระอภิธรรมเสร็จก็จะห่อผ้าเก็บไว้ อยากไปสวรรค์ต้องไปแก้ผ้าในวัด ไปแกะอ่านเอาเอง
ถาม : นึกว่าให้ไปแก้ผ้าจริง ๆ ?
ตอบ : ยายบ๊อง ขืนไปแก้ผ้าจริง ๆ พระ เณรแตกตื่นหมด
|