ถาม :  ................................
      ตอบ :  แต่ถ้าเรื่องมันผิดไม่ถูกต้องตามนั้นก็ขอบคุณท่านด้วยว่า ขอบคุณที่อุตส่าห์มาทดสอบกำลังใจ ถ้าหากว่ารู้พร้อม ๆ กัน ๓ เรื่อง ๔ เรื่อง ๆ ที่ ๑ ถูก ที่ ๒ ถูกที่ ๓ ถูกอย่าเพิ่งเชื่อเรื่องที่ ๔ เพราะว่าการทดสอบกำลังใจกันเขามาทุกเวลาและทุกโอกาส ยิ่งได้ทิพจักขุญาณชัดเจนแจ่มใสเท่าไร ยิ่งทดสอบเราหนักเท่านั้น
              เพราะฉะนั้นในช่วงที่อยู่วัดท่าซุงมาด้วยกัน สมัยนั้นจะขยัน โดยเฉพาะเพื่อนพระรุ่นเดียวกัน ๑๒-๑๓ คนนี่จะมีการซ้อมกันอยู่ทุกวัน เสร็จแล้วจะมาสนทนาธรรมกัน ก่อนที่จะจำวัด สอบถามไปเถอะ พอเหลือระยะสุดท้ายทุกองค์เหลือคาถาเหมือนกันอยู่บทเดียวก็คือ กูไม่เชื่อ คือเชื่อเมื่อไหร่มันต้มเราเมื่อนั้นแหละ ทั้ง ๆ ที่เรื่องสุดท้ายถูกเจ๋ง ๆ เลย พอขยับมาอีกเรื่องหนึ่งเราเชื่อซะก่อนนี่ เจ๊งเลย เพราะฉะนั้นรับรู้ไว้เฉย ๆ ถ้าเป็นไปตามนั้นเราก็น้อมจิตด้วยความขอบคุณว่า อุตส่าห์ที่มาบอก ต้องเหนื่อยต้องยากมาบอกเราล่วงหน้าก็ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้ามันผิดเราห่วยเองช่้างหัวมันเถอะ เพราะฉะนั้นบอกได้คำเดียวไม่ต้องเชื่อ มันจะจริงไม่จริงช่างมัน เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเราหน้าที่เฉพาะหน้าคือ ทำอย่างไรที่ให้ชำระจิตใจให้ผ่องใสปราศจากกิเลสให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เรื่องอื่นทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องถ่วงทั้งนั้น
      ถาม :  แล้วถ้าอย่างเพื่อนชอบทายว่าพรุ่งนี้เช้าจะเจออะไรแต่เราไม่ได้สนใจอย่างนี้ ....(ไม่ชัด).....?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเขาทาย เราก็นึกถึงพระ ถ้ายิ่งจับภาพพระเป็นปกตินึกถึงว่าพระองค์ท่าน พร้อมกับวิมานอยู่เหนือเศียรเรานิดเดียวเท่านั้น ถึงเวลาก็นึกถึงท่าน นิพพานอยู่แค่นี้ไม่ได้อยู่ไกลเลย
      ถาม :  เขาพยายามจะใช้มโนอย่างนี้จะเป็นอะไรมั้ย ? เอาเองคิดว่าช่างหัวมัน ?
      ตอบ :  เป็นการซ้อมบ่อย ๆ มันก็คล่องตัวดี คือว่าเราสักแต่ว่ารู้เท่านั้น รู้อย่างไรตอบไปอย่างนั้นไม่ต้องกลัวผิดหลับหูหลับตาตอบผิดมันก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าถูกเราเก่ง เรารู้จักให้กำลังใจตัวเองบ้าง
      ถาม :  ถ้าเราไม่สนใจล่ะคะ ?
      ตอบ :  ถ้าไม่สนใจก็ถือว่าเราทำถูก มีอะไรก็กินไปอย่างนั้น แต่ถ้าเขาต้องการรู้ว่ามันคืออะไร เราสามารถตอบได้ก็ตอบไป
      ถาม :  ทำไมเวลานั่งขัดสมาธินั่งสมาธิมันถึงเจ็บขา ?
      ตอบ :  ธรรมดา ขัดอยู่มันจะไม่เจ็บได้ยังไง
      ถาม :  มันเจ็บแรงมากเลย ?
      ตอบ :  เขาเรียก ขันธมาร เขาพยายามทดสอบกำลังใจของเรา พระสายหลวงปู่มั่น เรียกว่า นั่งทับทุกข์ คือให้มันมั่นใจไปเลยว่า ร่างกายนี่มันทุกข์จริง ๆ แล้วเขาจะพิจารณาต่อไปเลย ถ้าหากว่าในลักษณะนั้นอาตามเคยทำมาแล้ว นั่งทีหนึ่ง ๓ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง โอ้โห....เจ้าพระคุณเหงื่อมันไหลอย่างกับงูเลื้อยเลย คือใจของเรามันยังไม่นิ่ง พอไม่นิ่งจะไปกังลวลกับอาการเวทนานั้น กว่าจะแยกออกว่า เวทนา นั่นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันใช่เราหรือเปล่า ? หรือว่ามันเป็นเรื่องของร่างกาย ? กว่าจะแยกตรงนั้นออกได้กันเกือบทะลุ รู้สึกว่าก้นมันบางลง ๆ กระดูกเกือบทะลุออกมาแล้ว
              จริง ๆ สายหลวงพ่อไม่ได้ให้ปฏิบัติอย่างนั้น ที่สายหลวงปู่มั่นจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ภาคอีสาน ภาคอีสานจะลำบากเรื่องการทำมาหากิน ลำบากด้วยดินฟ้าอากาศ คนต้องต่อสู้ดิ้่นรนมาตั้งแต่เล็ก ๆ กำลังใจจะเข้มแข็งกว่าคนอื่น พูดง่าย ๆ ก็คือภาษาพระจะเรียกว่า ดื้อกว่าคนอื่นเขา ถ้าไม่เจอการทดสอบลักษณะว่าให้อดอาหารบ้าง นั่งกันข้ามวันข้ามคืนบ้าง จิตมันจะไม่ยอมสงบ ไม่ยอมลงง่าย ๆ ก็เลยต้องทรมานกันลักษณะนั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า หลักการปฏิบัติมี ๔ อย่างคือ
              สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่าย ๆ แล้วบรรลุเร็ว อย่างสายของหลวงพ่ออย่างนี้
              ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่บรรลุเร็ว อย่างสายของ หลวงปู่มั่น
              สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสบายแต่บรรลุยาก
              อันสุดท้าย ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ลำบาก บรรลุก็ยาก
              เพราะฉะนั้นในเมื่อมันมีแนวปฏิบัติถึง ๔ แนวอย่างนี้ เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราอยู่แนวไหนก็จับแนวนั้นไป หลวงพ่อไม่เคยสอนให้ลำบาก ท่านบอกให้นอนสบาย ๆ ด้วยซ้ำ อาตมาเองหากินทางนอนจนเตียงเป็นร่องไปแล้ว
      ถาม :  อย่างเรื่องสัญญาที่เราจำได้ อย่างเราน้อยใจใครซักคนนี่เรารู้ว่าทำไม แต่ทำไมเราตัดไม่ได้คะ ?
      ตอบ :  เพราะว่าสติและปัญญายังมีกำลังไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับจิตให้มากกว่านี้ด้วยการภาวนา การภาวนาจะสร้างสติของเราให้มั่นคง ทำให้กำลังใจของเราเข้มแข็ง พอถึงเวลาถึงวาระเราต้องรู้จักพิจารณาดูว่า เราน้อยใจเขามันได้ประโยชน์อะไร เขาก็ตายเราก็ตายในที่สุด ก็ต่างคนต่างตาย ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ เราเองเราน้อยใจเขาเราโกรธเขา เราคิดมากอยู่คนเดียวเขานอนสบาย เราหาเรื่องทุกข์ใส่ตัวหรือเปล่า ? พอปัญญาเกิดมันจะค่อย ๆ ละ ค่อย ๆ ตัดไปเรื่อย แล้วในที่สุดพอเจอหน้ามันก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่กระเทือนอีก แผ่เมตตาให้เขาบ่อย ๆ แรก ๆ ก็ให้คนที่เรารักก่อน ถ้าไปให้คนที่เราเกลียดมาก ๆ มันจะต่อต้าน แรก ๆ ให้คนที่เรารักก่อน แล้วหลังจากนั้นพอกำลังใจมั่นคงก็ให้คนที่เราไม่รักเราไม่เกลียดคือบรรดา คนที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี จะเป็นภพใดภูมิใดก็ตาม แล้วหลังจากนั้นให้คนที่เราเกลียดน้อย แล้วค่อยให้คนที่เราเกลียดมาก ๆ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไปให้คนที่เกลียดมากทีเดียวแล้วมันตีกลับ แรงเขาเยอะกว่าเด้งกลับ ยังมีใครยังขี้น้อยใจอีก พิจารณาดูนะ แหม....ไปเจ้าคิดเจ้าแค้นน้อยใจเขา อดนอนข้ามวันข้ามคืนไอ้นั่นหลับครอกไม่รู้เรื่องปล่อยให้เราฉลาดอยู่คนเดียว จะว่าคิดมากก็ไม่ได้ มันคิดอยู่คนเดียว คิดคนเดียวมันจะคิดมากได้ยังไง ?
      ถาม :  ...........................................
      ตอบ :  ยกให้มันไปเถอะ จำไว้เลยว่า เรื่องของกำลังใจสำคัญที่สุด สมัยของหลวงพ่อไปอเมริกา คณะที่ติดตามไป ๔๒ คนค่าเครื่องบินอย่างเดียวล้านกว่า กราบเรียนหลวงพ่อว่า หลวงพ่อครับ ค่าเครื่องบินเยอะขนาดนี้มันจะคุ้มกับที่ไปเหรอครับ ? ท่านบอกว่า แกเห็นแต่ตัวเงินแกก็ว่าไม่คุ้มแต่แกจำไว้เลยว่า ถ้ามีคนสามารถยกจิตขึ้นนิพพานสักคนเดียว เงินล้านซื้อนิพพานไม่ได้ นั่นคือความเมตตาของหลวงพ่อ ท่านสงเคราะห์ให้ถึงขนาดนั้น
              อาตมาถึงเดี๋ยวนี้ก็ไม่ยอมไปต่างประเทศเสียดายเงินตั้ง ๔ หมื่น ๕ หมื่นลองคิดดูพันเดียวของอเมริกาแล้วตอนนี้ล่อไปเท่าไหร่แล้ว ๔ หมื่นกว่า ไปกลับก็เกือบแสน เจริญมั้ยล่ะ ? แล้วลองคิดดูซิว่า ไปกลับเกือบแสนแล้วตีซิว่า ๔๒ คนมันล่อเข้าไปเท่าไหร่ ๔ ล้านกว่า ทีนี้มันไม่ถึงแสนน่ะซิมัน ๘ หมื่่นกว่า ๘x๔ = ๓๒ ล้านกว่าบาทแล้ว ๓ ล้านกว่าซื้อนิพพานได้มั้ย ? ไม่ได้หรอก
              อ้าว....นั่งรักษาอารมณ์อย่าไปฟุ้งซ่านปล่อยไปไกลอีกแล้ว ดึงให้อยู่แค่ตรงนี้ อยู่แค่ลมหายใจเข้าออกตรงนี้ ทุึกอย่างที่เราคิด ถ้าไม่อดีตก็อนาคตเท่านั้น อดีตทำให้เราไปนิพพานไม่ได้หรอก ถ้าไปได้มันไม่มานั่งทุกข์อยู่ตรงนี้หรอก อนาคตยังมาไม่ถึง รถที่มาไม่ถึงเราขึ้นมันได้มั้ย ? มันไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องอยู่กับปัจจุบัน คือตอนนี้เดี๋ยวนี้เป็นการจำกัดทุกข์ให้อยู่เฉพาะหน้า มันก็จะเหลือแค่นิพัทธทุกข์ คือ ทุกข์เนืองนิจที่เกิดขึ้นกับเราอย่างเช่นว่า เจ็บ ป่วย หนาว ร้อน หิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ แต่ถ้าหากว่าเราคิดเมื่อไหร่มันจะเพิ่มทุกข์ให้ทันที แรก ๆ หยุดความคิด คือควบคุมขอบเขตของมันให้ได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นแล้วค่อยวางความคิด ตอนนี้เอาแค่หยุดมันให้ได้ก่อน ไม่ยาก เดี๋ยวจะไล่กวดให้ไปนิพพานให้หมด รู้ตัวว่าใกล้ตายแล้วไม่ค่อยปิดไม่ค่อยบังหรอก มีความสามารถเท่าไหร่งัดออกมาหมด แล้วยิ่งปีนี้เจ้าพระคุณเถอะ ทั้งในทั้งนอกเละเทะไม่เป็นท่า อาตมาเองก็แย่ ตอนนี้มะเร็งมันกินออกข้างนอกแล้ว แข้งขาเละเทะ ๔ แผล ๕ แผลปล่อยมัน ๆ กินได้แต่รถผุ ๆ คันนี้แหละ กินคนขับรถไม่ได้หรอก เดี๋ยวคนขับรถลงโน้นนั่งปอร์เช่ไป ถ้าขืนทำไม่ดีไปเจอจักรยานโปเกขี่ขันหน้าเสือกถอยหลังอีกล่ะยุ่งเลย (หัวเราะ)
              (เล่าเรื่องหลวงปู่) หลวงปู่มหาอำพัน อายุ ๘๐ กว่าแล้ว ลูกศิษย์มากี่คนสอบถามถึงพ่อถึงแม่ถึงลูกถึงหลานถึงเหลนได้หมด แต่ละคนชื่ออะไรนึกออกหมด นั่นแหละผู้ที่มีจิตตั้งมั่น ผู้ที่มีสติตั้งมั่นพูดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วนาน ๆ เรื่องที่พูดผ่านมาแล้วนาน ๆ ก็จำได้ เพราะว่าจิตมันมีสภาพจำ แต่ว่าไม่ได้จำในลักษณะสับสนวุ่นวาย จะเก็บซุกเอาไว้มุมใดมุมหนึ่งของมัน พอต้องการแล้วมันจะดึงของมันขึ้นมาเอง
      ถาม :  (ถามเกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์และการรับรู้)
      ตอบ :  ใช้คำว่า สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้เรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา จำไว้ว่าเราไม่สามารถจะแก้ไขคนรอบข้างได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องของโลก เราแก้ไขได้เฉพาะเรื่องของเรา เพราะฉะนั้นอย่าไปเอาเรื่องของโลกมาเป็นเรื่องของเรา กอง ๆ ไว้ตรงนั้นแหละ รู้ก็สักแต่ว่ารู้ไม่ต้องรับเข้ามาเลย ตัวนี้มันเป็นกิเลสของมารอย่างหนึ่ง ให้เรารู้ว่ากิเลสแท้จริงของมารเป็นอย่างนี้ รู้แล้วพูดไม่ได้อกมันจะแตกตาย คันปากยิบ ๆ อยากจะบอกเขา โดยเฉพาะเรื่องหลายเรื่องนี่คนพูดต่อหน้าเรามันพูดอย่างหนึ่งแต่สิ่งที่เขาทำเขาทำอย่างหนึ่ง รู้ ๆ อยู่ว่าโกหกแต่ต้องนั่งยิ้ม ๆ ฟังมันพูด เพราะฉะนั้นถึงรู้เราก็รับรู้ไว้เฉย ๆ อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา
      ถาม :  ...............................
      ตอบ :  ดูใจของเราเองดูว่าตอนนี้มีกิเลสมั้ย ? มีรีบ ๆ ไล่ออกไป ระวังไว้อย่าให้มันเข้ามา ตอนนี้มีความดีมั้ย ? ถ้าไม่มีให้รีบ ๆ สร้างมันขึ้นมามีอยู่แล้วทำให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้น ย้อนกลับมาดูที่ตัวเอง ดูคนอื่นมีแต่เสมอตัวกับขาดทุน ดูตัวเองมีแต่เสมอตัวกับกำไร
      ถาม :  นั่งดู ๆ ตัวของเราเหมือนเป็นแก้ว ๆ ค่ะ ?
      ตอบนั่งสมาธิขับกำลังใจของเราให้ผ่องใสเต็มทั้งดวง เต็มทั้งดวงไม่ต้องมีแสงก็ได้เอาขาวเฉย ๆ ก็ได้ แล้วจับความว่างสบายตรงนั้น ทำตัวเหมือนกับบ้านโล่ง ๆ แล้วนั่งอยู่ท้ายสุดของบ้านเลย แล้วมีประตูอยู่บานหนึ่งที่เปิดอยู่หน้าบ้านเรา ระวังเอาไว้ว่ากิเลสตัวไหนจะเข้ามาแล้วเราจะเห็นมันทัน เราจะรู้มันทัน
              ก่อนที่จะทำให้กราบพระตั้งใจอยู่ตรงหน้าพระ ขับกำลังใจของเราให้ผ่องใสที่สุดก่อนแล้วก็เอากำลังตัวนั้นแหละมาสร้างสติ สร้างปัญญาในการระมัดระวังป้องกันตัวเอง ค่อย ๆ ทำเดี๋ยวมันจะชินไปเอง แรก ๆ ยังต้องกดมันอยู่เหมือนอย่างกับเราแบกอะไรไว้ หนักเหลือเกินแต่พอนานไป ๆ จะวางไปเองแล้วมันจะสบาย
      ถาม :  รู้สึกว่าเพื่อนที่มาด้วยกันเขามาทำให้....(ไม่ชัด)....แล้วเราเป็นทุกข์ ?
      ตอบ :  อย่าไปบอกเขาซิ ขืนไปบอกเขาเดี๋ยวเขาด่าเอา แหม...มาด้วยกันแท้ ๆ ไม่เอาเพื่อนเอาฝูงอะไรเลยหนีไปซะแล้ว อย่าไปกังวลมาก เรื่องของการปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านบอกชัดแล้ว เอกายโน เป็นเรื่องของคน ๆ เดียวคนอื่นรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเดียวกัน สามี ภรรยา พ่อ แม่ บุตร หลานอะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องรุงรังมากกความทั้งนั้น
              เอกายโน อะยัง ภิกขเว ภิกษุทั้งหลายนี่เป็นเรื่องของคน ๆ เดียว มัคโคสัตตานังวิสุทธิยา เป็นหนทางที่นำพาสัตว์เข้าสู่ความบริสุทธิ์สิ้นเชิง โสกะปริเทวานัง สะมะติกะมายะ ทำให้ความโศกเศร้าร่ำไรต่าง ๆ ตกล่วงไปได้ ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ ความทุกข์โทมนัสเสียใจน้อยใจต่าง ๆ ก็จะดับไป ญายัสสะอะธิคะมายะ ธรรมทั้งหลายก็จะเจริญขึ้น นิพพานัสสะ สัจกิริยายะ ทำนิพพานให้แจ้งได้
              เพราะฉะนั้น อยู่คนเดียวเปลี่ยวกายแสนสบายแต่ไม่สนุก ถ้าอยู่สองครองทุกข์ถึงสนุกก็ไม่สบาย ทำกำลังใจให้ได้อย่างนี้รู้ว่าไม่ดีก็ไปเลย แต่ว่าคนที่จะเด็ดขาดเข้มแข็งอย่างนี้ มันต้องเป็นระดับปรมัตถบารมีเท่านั้น ระดับอื่น ๆ โอ๊ย...แหม...กว่าจะจากกันได้แต่ละทีแทบจะขาดใจตาย
      ถาม :  คนเขาว่าโยมใจดำ ?
      ตอบ :  ลองดูใจตัวเองซะว่ามันดำหรือเปล่า ? นั่นมันคำพูดของเขา จำไว้ว่าถ้าหากว่าเราใจดี ใจสบาย คนรอบข้างของเราจะดีไปด้วย มันจะช่วยเขาซะด้วยซ้ำไป เดี๋ยวกลายเป็นว่าของเรามาตกระกำลำบากอยู่กับวัด ของเขาเองทำมาหากินมีความสุขความเจริญร่ำรวยกันใหญ่โต ร่ำรวยกันไปเลย แล้วเขาก็จะมาด่าเราอีกยกหนึ่ง โดนทดสอบทั้งขึ้นทั้งล่อง
              เพราะฉะนั้นทำใจของเราให้ดี คนรอบข้างเขาจะได้ดีไปด้วย เราเองพอถึงเวลาถึงวาระก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้แก่เขาไปด้วย ผลบุญทั้งหมดที่เราทำในครั้งนี้ขอให้มีส่วนของเขาด้วย ตั้งใจทำอย่างนี้ทุกวันแล้วเราจะเจริญขึ้นเอง
      ถาม :  รู้สึกว่า....(ไม่ชัด)....?
      ตอบ :  ไม่ต้องห่วง อย่าไปหวังความปราณีจากมาร ครูบาอาจารย์คนนี้โหดจริง ๆทดสอบทุกวินาทีที่เราเผลอ ข้อสอบมีแค่ ๔ หัวข้อคือ รัก โลภ โกรธ หลง แต่เขาออกมาได้เป็นล้าน ๆ ข้อเลย เผลอหน่อยเดียวเสียบเข้ามาแล้ว ขาดสติเมื่อไหร่สอบตก
      ถาม :  การที่บุคคลคนหนึ่งเขาบอกว่า จิตเขาไปถึงไหนแล้วรู้มั้ย ก็เลยถามว่าศีล ๕ ข้อนี่รักษาได้มั้ย เขาตอบว่าไม่ได้ ?
      ตอบ :  อย่างนั้นก็เป็นพวกโลกียฌาน ไม่ต้องตำหนิกัน คนเราจริง ๆ ไม่มีดีไม่มีชั่ว ทุกคนล้วนแล้วแต่กำลังเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น ดีชั่วเป็นสมมุติที่เราแยกออกเอง ถ้าหากว่าประกอบในด้านกุศลบุญก็จะตกอยู่ในกระแสสีขาวพาไหลขึ้นตลอด แต่ถ้าหากว่าทำบาปอกุศลก็จะตกในกระแสสีดำไหลลงตลอด จนกว่าเราจะหลุดพ้นจากกระแสทั้ง ๒ สายนั้นถึงเข้านิพพานได้
              เพราะฉะนั้นไม่มีใครดี ไม่มีใครชั่ว มีแต่คนกำลังเป็นไปตามกรรม เรามาถึงตรงจุดนี้แล้วเห็นใครทำในสิ่งที่ไม่ดี อย่าไปตราหน้าว่าเขาชั่ว สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราต้องเคยทำมาแล้ว ในเมื่อเราเคยทำมาแล้ว ตอนนี้เขามาทำต่อ เขาก็คือผู้ที่เป็นทายาทมารับผลงานที่เราทำเอาไว้
              ในเมื่อเราเป็นทายาทเขาคือลูก คือหลาน คือญาติคือโยมของเราต้องไปรังเกียจเขาทำ มีโอกาสสามารถช่วยเขาได้ก็ช่วย ๆ ไม่ได้ก็วางเฉยยอมรับว่ามันเป็นกฎของกรรม แต่ว่าไม่ได้วางเฉย ธรรมดา ๆ ตัวอุเบกขาตัวนี้ก็ยังมีเมตตา มีกรุณาแฝงอยู่ คือ ถ้าพร้อมเมื่อไหร่เราพร้อมที่จะช่วยเขาอีก
              ให้วางกำลังใจอยู่ในลักษณะอย่างนี้ คนไม่มีดีไม่มีชั่วหรอก แต่มันมีสมมติทั้งนั้น ต่างคนต่างทำเขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำน่ะดีแล้วเขาถึงทำ แต่ว่าเขาเข้าใจผิดด้วยอกุศลมันชักพาไป ในเมื่อเขาคิดว่าดีแล้วเขาทำ มีโอกาสก็แนะนำในสิ่งที่ดีให้เขา
      ถาม :  แนะนำไม่ได้เลยค่ะ ?
      ตอบ :  แนะนำไม่ได้ก็ปล่อยวาง เมตตา กรุณา มุทิตาก็แล้ว ไม่ได้ก็อุเบกขา อุเบกขาไม่อยู่ก็เบรกมือเบรกปากไว้ก่อน
      ถาม :  คือเราเอาคำสอนของหลวงพ่อไปพูดให้ฟังแล้ว พูด ๆ ไปเขาก็ยืนชี้หน้าด่าเป็นชั่วโมงเลยค่ะ ?
      ตอบ :  ลักษณะนั้นก็ไม่ต้องสอนเขา หลวงปู่หลวงพ่อหลายต่อหลายองค์ไม่เคยสอน ท่านทำตัวท่านเองให้เป็นตัวอย่างเท่านั้น เราเองเราก็ทำเป็นตัวอย่างในลักษณะอย่างนั้น ให้มันดีเท่าดี ตีถูกตีแล้วถึงเวลาถึงวาระเขาเห็นเอง
              ในเมื่อเขาเห็นเองกุศลกรรมมันเข้าเมื่อไหร่เขาจะทำตาม แต่ถ้าอกุศลกรรมยังครองใจเขาอยู่เราก็เหนื่อยเปล่า เพราะฉะนั้นทำตัวเราเองดีกว่า จะได้ไม่ต้องไปปากเปียกปากแฉะกับเขา
      ถาม :  อยากจะถามเกี่ยวกับการรักษากำลังใจค่ะ อยากทราบว่าคน ๆ นี้เราจะรู้ได้ยังไงคะว่าเขาดีหรือไม่ดี ?
      ตอบ :  ดีหรือไม่ดีมี ๒ อย่าง ดูกันไประยะหนึ่ง คือระยะยาวนานพอถ้ากำลังใจเขาไม่อดทนหางมันก็จะโผล่เอง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ฝึกเจโตปริยญาณให้ได้ ถึงเวลาขอบารมีพระท่านสงเคราะห์ จะรู้ได้เลยมาแง่ไหนมีลวดลายยังไง หลอกเราไม่ได้ทั้งนั้นแหละ
      ถาม :  อย่างกรณีหนึ่งนะคะว่าคนนี้มันไม่ดี แม้กระทั่งพระก็ชี้นำเราแล้วว่าไม่ดี แต่เราก็ยังมองเขาดีอีก แต่บางครั้งเราก็มองเขาไม่ดีนะ มีบางอารมณ์มันมองเขาดีเหมือนให้โอกาสเขา เราจะแก้ไขกับกำลังใจยังไงกับตรงนี้ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วเป็นกำลังที่ดีนะตรงนี้ แต่ถ้ามันพาเราทุกข์มันก็น่าจะเข็ดบ้าง ให้มองต่อไปข้างหน้าซิว่า เรื่องมันเกิดขึ้นแบบเก่าอีกแล้วเราจะลำบากอีกมั้ย ? ถ้าเห็นทุกข์แล้วมันก็จะท้อไปเองหรือต้องตีกะบาลเสียก่อน ถ้าไม่เห็นทุกข์ก็ยังไม่กลัวหรอก เห็นทุกข์แล้วมันจะท้อ