ถาม :  ศาสนาพราหมณ์กับพุทธนี่อันไหนเข้ามาประเทศไทยก่อน ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วศาสนาพราหมณ์นี่จะเป็นพื้นฐานที่เข้ามาก่อน ประเทศไทยของเราก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีปเหมือนกัน มีหลายส่วนอย่างเช่นว่า สุนาปะรันตะปะก็คือสระบุรี ตักกะศิลาก็คือกำแพงเพชร ตกลงว่าชื่อเพราะ ๆ ในภาษาบาลีจริง ๆ แล้วมันมีมาถึงประเทศไทยเหมือนกัน
              เพราะสมัยก่อนเขตแดนมันต่อเนื่องกันไกลมากเลย มิถิลาอยู่ในพม่า เวสาลีอยู่ในพม่า มิถิลามหานครปัจจุบันมันก็ยังชื่อมิถิลาอยู่นั้นล่ะ เมืองกาสีก็อยู่ในพม่า พม่ามันเรียกตาซิ ตาซิจริง ๆ ก็คือกาสี
              เพราะฉะนั้นว่าถามว่าพุทธหรือพราหมณ์มาก่อน พราหมณ์จะมาก่อน พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาน ก็ไปเป็นลูกศิษย์พราหมณ์ก่อน เรียนจนกระทั่งถึงสมาบัติ ๘ แล้วด้วยความที่พระองค์ท่านมีปัญญาก็รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง ก็เลยไปปฏิบัติเองจนกระทั่งได้รู้เห็นอริยสัจขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้า
      ถาม :  แล้วที่รอยพระพุทธบาทสระบุรีน้นเป็นรอยที่จริงใช่มั้ยเจ้าคะ ?
      ตอบ :  ปัจจุบันรอยที่เห็นอยู่เป็นรอยที่ทำครอบไว้ ของจริงจะอยู่ข้างใต้ ถ้าอยากจะดูจริง ๆ เลยให้เลยไปอีกนิดหนึ่ง เลยไปตรงที่เขาเรียกว่า พระฉาย บนยอดเขาพระฉายจะมีอีกรอยหนึ่งซึ่งจะป็นรอยซ้าย รอยขวาของรอยพระพุทธบาทที่ปัจจุบันสร้างมณฑปอยู่ ถ้ารอยนั้นล่ะเป็นรอยแท้ ๆ แต่เขาก็ทำกระจกปิดไว้ ถึงเวลาก็ยกขึ้นมาดูได้ สองรอยนั้นเหยียบในคราวเดียวกัน พอเหยียบข้างซ้ายแล้วก็เหยียบข้างขวาแล้วก็ไปแน่บ (หัวเราะ)
      ถาม :  อย่างนี้ก็มีเรื่อย ๆ เกิดไปเรื่อย ๆ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าไม่ตั้งใจให้ปรากฏก็จะไม่เป็น ไม่อย่างนั้นก็เต็มไปหมด
      ถาม :  แล้วประเทศอื่นมีมั้ยคะ ?
      ตอบ :  มีจ้ะ มีอยู่อย่างสมัยอะไร สมัยพระเจ้าทรงธรรม ที่อยุธยาภิกษุไทยเดินทางไปเพื่อไหว้รอยพระพุทธบาทที่ลังกา แล้วคราวนี้ พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ พอได้ข่าวว่ามีพระสงฆ์จากไทยมา ท่านเลื่อมใสนี่ ก็นิมนต์ไปฉัน พอทราบจุดประสงค์ก็บอกว่า พระคุณเจ้า ต้องลำบากมาถึงลังกาทวีปทำไมล่ะ ที่ภูเขาสัจจะพันธะคีรีของเมืองไทยก็มี พอกลับมาพระภิกษุก็มากราบทูลให้พระเจ้าทรงธรรมทราบ พระเจ้าทรงธรรมรู้ว่าเมืองไทยก็มีก็เลยประกาศค้นหาพระพุทธบาทกันจนกระทั่งพรานบุญแกไปเจอเข้า
      ถาม :  อันนั้นเรื่องจริงใช่มั้ย ?
      ตอบ :  เรื่องจริงเลยจ้ะ พรานบุญตอนหลังพระเจ้าแผ่นดินตั้งเป็นท่านขุนขุนสัจจพันธ์คีรินทคูหาพนมโขลน ตำแหน่งผู้ดูแลรักษาภูเขาพุทธบาท
      ถาม :  แล้วที่เขาว่าต้องขึ้นไปตั้งกี่ขั้นอันนั้น ก็ข้างในเป็นรอยพระพุทธบาท ?
      ตอบ :  สมัยก่อนมันเป็นป่านี่จ้ะ พอมาตอนนี้เขาเล่นสร้างบันไดขึ้นไปแล้ว (หัวเราะ)
      ถาม :  เขาวงกต ?
      ตอบ :  สมัยก่อนมันเป็นป่าเป็นดง สมัยนี้สบายมากกลายเป็นบ้านเป็นเมืองไปแล้ว มันก็เป็นเมืองเป็นป่าสลับกันไปเรื่อยล่ะ อาจจะประเภทรบกันจนตายเกลี้ยง ป่าคืนกลับมาอีกทีหนึ่ง แล้วเสร็จแล้วก็ประเภทรื้อป่ากลายเป็นเมืองไปอีก
      ถาม :  ............................................
      ตอบ :  ลักษณะนั้นมันหมายความว่าเราทำของเราเต็มที่แล้ว ในเมื่อเต็มที่ทุกอย่างแล้วมันยังไม่เกิดผลในจุดที่เราต้องการก็ต้องปล่อยวาง เพราะว่าบางทีเราอาจจะอยากมากเกินไป ตัวอยากนั่นล่ะมันเป็นเสาต้นเบ้อเร่อขวางหน้าอยู่ เดินชนไปก็หัวแตกเปล่า หายอยากเมื่อไหร่มันจะได้เอง
      ถาม :  ..........................................
      ตอบพระพุทธเจ้าท่านถึงได้บอกว่านักปฏิบัติที่ดีต้องมีกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรอาจจะเป็นเพื่อนกันก็ได้หรืออาจจะเป็นครูบาอาจารย์หรือผู้ที่ผ่านประสบการณ์ในการปฏิบัติช่วงนั้นมาก่อน
              ในเมื่อมีประสบการณ์ของเรา ถ้าหากว่าเราน้อมนำมาเพื่อปฏิบัติตาม มันก็จะเป็นการเรียนลัดไปเลย สามารถก้าวข้ามไปได้ง่าย ๆ แต่ว่าบุคคลที่เป็นครูบาอาจารย์ถึงมีประสบการณ์มาก่อนอาจจะใช้เวลาสามปี ห้าปี สิบปีกว่าจะข้ามตรงนั้นไปได้
      ถาม :  .....................................
      ตอบ :  มันไม่ได้เป็นยังไงหรอก คือถ้าหากว่าบางอย่างที่เราคิดว่ามันมั่นคงแล้วจับหลักได้แล้ว คนอื่นเขามาพูดมันก็สักแต่ว่าผ่านหูไป แต่ขณะเดียวกันว่าอาจจะเป็นได้ทั้งสิ่งดีทั้งสิ่งไม่ดี คือสิ่งที่เราทำตรงช่วงนั้นมันอาจจะดี ดีจริง อาจจะถูก ถูกจริงแต่ว่ามันดีแค่ตรงนั้น มันอาจจะถูกแค่ตรงนั้น เหมาะสมกับเราแค่ช่วงนั้น ถ้าหากว่าเราก้าวเข้ามาสู่ระดับจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป ก็จะเห็นว่าความจริงมันดีแค่นั้นมันถูกแค่นั้น ถ้าเราไปยึดถือเอาไว้มันกลายเป็นมานะถือตัว ถือตนซะด้วยซ้ำไป จะกลายเป็นทิฏฐุปาทาน ถือความเห็นตัวเองเป็นใหญ่ สีลัพพัตตุปาทาน ยึดมั่นว่าศีลและการปฏิบัติของตนเองนั้นดีกว่าเขา มันจะมีต้องให้ระวังอยู่เรื่อย ๆ
      ถาม :  ...........................................
      ตอบ :  ดูกติกาของการเป็นพระอริยเจ้าว่ามีอะไรบ้าง แล้วทำตามนั้น เอาเป็นว่าพระโสดาบัน อันดับแรกเคารพพระพุทธเจ้าจริง ๆ อันดับสองเคารพพระธรรมจริง ๆ อันดับที่สามเคารพพระสงฆ์จริง ๆ อันดับที่สี่เป็นผู้ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ล่วงเกินด้วยกายวาจา ใจ ไม่ยุยงให้คืนอื่นเขาทำ ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นเขาทำ อันดับสุดท้ายคิดว่าตายแล้วจะไปนิพพาน ง่ายนิดเดียว ไม่เห็นมีอะไรเยอะเลย
      ถาม :  .................................................
      ตอบ :  มันละเอียดยากหน่อยหนึ่ง คราวนี้เราจะต้องระวังอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าคนเรามันอดไม่ได้ที่จะล่วงเกินในพระรัตนตรัยด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การรักษาศีลถึงตัวเองประคับประคองสิกขาบทไว้ได้แล้ว ก็อาจจะให้คนอื่นเขาทำแทนหรือเห็นคนอื่นเขาทำแล้วเราพลอยยินดีด้วย มันก็จะลำบากนิดหนึ่ง มันสำคัญตรงที่ว่าได้ทำจริงมั้ย ? ถ้าทำจริงแล้วเรามีไกด์ไลน์ลักษณะนี้นำไปก่อนแล้ว โอกาสพลาดมันยาก
              เพียงแต่อย่าไปคิดว่าตัวเองดีก็แล้วกัน ถ้าเชื่อว่าตัวเองดีเมื่อไหร่ ความเลวเริ่มเข้าหาแล้ว ดูใจอย่างเดียวแต่ละวัน ๆ อย่าให้มันเศร้าหมอง อย่าให้นิวรณ์ ๕ อย่างกินใจของเราได้ นิวรณ์เป็นเครื่องกั้นความดีที่แย่มากเลย
      ถาม :  .............................................
      ตอบ :  อันนี้เป็นเรื่องปกติของเขาเรามีหน้าที่หนีเขา เขามีหน้าที่กั้น เราต่างคนต่างทำหน้าที่ไป ถ้าความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเขาก็หมดสิทธิที่จะกั้นเรา หลุดออกมาเมื่อไหร่ก็เสร็จเขา
      ถาม :  .......................
      ตอบ :  สองสามวันนี่เร็วแล้วจ้ะ (หัวเราะ) บางคนปล้ำเป็นปียังกั้นมันไม่อยู่
      ถาม :  .........................
      ตอบสำคัญอยู่ตรงทีว่าเรารักษาอารมณ์ต่อเนื่องไม่ได้ ตอนที่เราทำอยู่อารมณ์ใจมันทรงตัวมันสงบ มันเยือกเย็น มันเป็นสุขยังไง เลิกแล้วประคับประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้ได้ พออยู่ได้แล้วก็พยายามรักษามันให้นานที่สุด เหมือนยังกับเป็นแม่ลูกอ่อนที่อุ้มลูกแดง ๆ ไว้อย่าให้พลาดหลุดมือเป็นอันขาด หลุดเมื่อไหร่ลูกตาย
              แต่อันนี้ถ้าหากว่าเราพลาดเมื่อไหร่นิวรณ์มันตีเราตายไม่ใช่ว่าลุกแล้วเลิกเลย ลุกแล้วต้องรักษาอารมณ์นั้นให้ต่อเนื่องยาวนานที่สุด ยิ่งยาวนานไปมากเท่าไหร่เรายิ่งเป็นสุขมากเท่านั้น จิตจะเคยชินกับการละกิเลสมากเท่านั้น ทำไป ๆ ถ้าหากว่ามันต่อเนื่องยาวนานได้มากจริง ๆ กิเลสมันจะขาดไปเองโดยไม่รู้ตัว มันเหมือนกับเราเอากินทับหญ้าไว้ ทับไปนานหญ้ามันเฉาตาย ส่วนใหญ่ลุกแล้วก็ลืมก็ถ้าทำทั้งทีแล้วไม่เอาจริงแล้วจะทำไปทำไมล่ะ ?
      ถาม :  ..................................
      ตอบ :  คือเราผิดตั้งแต่ไปรับมันแล้วนะ พยายามกั้นเอาไว้ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่ากายนครคือร่างกายของเรานี้ ประกอบไปด้วยประตู ๕ ช่อง คือ ตา จมูก ลิ้น กาย พระเจ้าจิตราชที่ครองอยู่ภายใน เราต้องรักษาไว้ไม่ให้ข้าศึกมันตีได้ ก็ต้องคอยระวังรักษาประตูทั้ง ๕ เอาไว้อย่าให้เข้ามาถึงข้างใน สิ่งที่ตาเห็นให้สักแต่ว่าเห็นอยู่แค่นั้น สิ่งที่หูได้ยินสักแต่ว่าได้ยินให้มันอยู่แค่นั้น สิ่งที่จมูกได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่นให้มันอยู่แค่นั้น สิ่งที่ลิ้นได้รสสักแต่ว่าได้รสให้มันอยู่แค่นั้น สิ่งที่กายสัมผัสสักแต่ว่า สัมผัสให้มันอยู่แค่นั้น อย่ารับมันเข้ามาสู่ใจ โดยเฉพาะรับเข้ามาแล้วไปปรุงแต่งต่อ ถ้าไปปรุงแต่งต่อจิตใจมันก็จะว้าวุ่นสับสนโดยเฉพาะฟุ้งซ่านไม่อยู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันจะแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ ถูกใจ อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่พอใจถูกใจ ทั้งสองอย่างถ้าเราคิดเมื่อไหร่สิ่งที่น่าพอใจมันจะกลายเป็น ราคะ กับ โลภะ ราคะ ก็คือยินดี โลภะ
              คืออยากมีอยากได้ แล้วอนิฏฐานรมณ์ที่ไม่น่าพอใจมันจะเป็น ปฏิฆะ กับ โทสะ ปฏิฆะ คือเกิดแรงกระทบในสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา โทสะ ก็คือ พลอยที่จะไม่ยินดีกับมันเป็นอย่างยิ่งไปเลย
      ถาม :  .................................
      ตอบ :  รู้ตัวเมื่อไหร่ไล่มันออกไป ถึงได้ว่าของเรามันผิดตั้งแต่ตอนที่เราไปรับมันเข้ามาแล้ว ต้องหยุดมันเอาไว้แค่นั้น เห็นอยู่ตรงหน้าหล่อแค่ไหนก็ช่าง แต่ว่าเห็นก็พออย่าไปคิดต่อว่า เออ....ถ้าหากว่าเป็นแฟนเราก็ดี ถ้าได้ควงกันซักสามปีจะเป็นยังไง ไม่ต้องไปคิด ให้มันหยุดอยู่แค่นั้นนะ ถ้าหากว่าเราทำในลักษณะนี้ได้มันจะสักแต่ว่าเห็น ปากกาด้ามหนึ่งเราเห็น เราหยุดความคิดของเราอยู่แค่นั้นอย่าไปปรุงแต่งต่อมันก็เป็นปากกาไม่สามารถจะให้ทุกข์ให้โทษกับเราได้ แต่ถ้าหากว่าเรา เออ...ปากกามันเขียนจดหมายได้เขียนไปหาแฟนดีกว่าอ้าวไปแล้ว อันนี้จะออกไปทางราคะ ความรักแล้ว นั่นวันก่อนมันด่าเรา เราด่ามันไม่ทัน เราเขียนไปด่ามันดีกว่า กลายเป็นโทสะไปอีกแล้ว แต่ถ้าเราหยุดตั้งแต่แรกก็คือปากกา ไม่ใช่ราคะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ
      ถาม :  .....................................
      ตอบ :  ตามดูว่ามันคิดยังไง ถ้าเอามันไม่อยู่จริง ๆ มันคิดไปแล้ว เราก็ตามดูมันคิดยังไง ทำตัวเหมือนกับคนดูหนัง อยากรู้ว่ามันคิดอย่างนี้ ต่อไปมันจะเริ่มยังไงตามดูมันไปเรื่อย ไอ้นี่มันขี้อายถ้าหากว่ามีคนไปจ้องดูอย่างนั้นมันจะคิดได้ไม่นาน ลักษณะมันเหมือนยังกับว่าเวลาม้าเตลิดหลุดจากคอกไป เราฉุดไม่อยู่ รั้งไม่อยู่เอาไม่อยู่แล้ว ก็โดดขี่หลังกอดคอมันไปเลย วิ่งไปเดี๋ยวหมดแรงมันเลิกเอง เรากำหนดสติตามรู้มันไปเรื่อยว่าตอนนี้มันคิดอย่างนี้ ลักษณะที่บางสำนักท่านใช้คำว่ารู้หนอ รู้หนอไปเรื่อย จนกระทั่งมันหมดเรี่ยวแรงไม่มีปัญญาจะคิด แล้วเราก็ดึงกลับมาอยู่กับอารมณ์ภาวนาใหม่ ก็จะสงบได้อีก หรือไม่อีกทีหนึ่งก็พอภาวนาสงบแล้ว ก็ถือลมหายใจของเรานี่ล่ะมันคือชีวิตของเรามันจะเป็นก็เป็นตรงนี้ มันจะตายก็ตายตรงนี้ หลุดจากลมหายใจเมื่อไหร่กิเลสมันตีเราตายแน่ ก็เกาะหนับเอาไว้อย่าปล่อยไปเลย จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าอย่างนั้นมันจะมีสติอยู่ตลอดแล้วก็จะไม่หลุดไปคิดอีก เผลอหลุดเมื่อไหร่มันก็เอาเรื่องใหม่
      ถาม :  ........................................
      ตอบ :  อานิสงส์อันดับแรกเกิดกับตัวเราก่อน ถ้าเขาล่วงลับไปแล้วหลังการที่เราปฏิบัติกรรมฐานแล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้เขาด้วย ถ้าอย่างนั้นละเขาได้แน่นอน ได้แน่นอนแต่ว่าอย่างไรก็ตามเหตุที่เราเกิดปัญญาขึ้นมามีส่วนนับเนื่องด้วยเขา เพราะฉะนั้นอย่างน้อย ๆ อานิสงส์บางส่วนมันต้องมีเป็นของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเขาจะอยู่ในเขตที่สามารถที่จะใช้ผลของอานิสงส์นั้นได้มั้ย ? อยู่ในเขตที่โทษเบาหน่อยก็สามารถใช้ผลจากอานิสงส์นั้นได้ ถ้าอยู่ในเขตที่โทษหนักก็ยังไม่มีสิทธิที่จะใช้ได้จนกว่าจะพ้นโทษขึ้นมา
      ถาม :  เวลาเราคิดฟุ้งซ่านใช่มั้ยค่ะ เราก็คิดที่จะดับความฟุ้งซ่านเหล่านี้ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องคิดจ้ะ ถ้าหากว่าเราไปคิด กำลังที่มันไปฟุ้งซ่านอยุ่ในด้านที่ไม่ดีมันแรงกว่าซะแล้ว มันจะพาเราไปคล้อยตามมันไปได้ง่ายกว่า ให้ดึงกลับมาหาลมหายใจเข้าออกง่ายที่สุดเลย ถ้าหากว่าสติผูกอยู่กับลมหายใจเข้าออก จิตผูกอยู่กับลมหายใจเข้าออก ตัวฟุ้งซ่านมันจะเกิดไม่ได้ ไอ้ที่ไปคิดสู้มันนั้นเจ๊ง เพราะว่าด้านที่ไม่ดีกำลังมันสูงกว่าซะแล้วเริ่มต้นที่มันก่อน ย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ไม่ต้องไปสู้กับมันสู้มันไม่ไหวหรอก
      ถาม :  ....................................
      ตอบ :  เจ้านั่นไปเที่ยวบางแสน ๔ วันหลับมาแอร์เปิดคาอยู่ดีที่ไม่ไหม้แสดงว่ามันอึดน่าดูเลยน่ะ ๔ วัน ๔ คืนเปิดอยู่ได้ยังไง บ้านเขาติด ธงมหาพิชัยสงคราม เลยมั่นใจว่าเป็นอานุภาพของธง ลักษณะเดียวกับตอนที่ไฟมันไหม้ตึกแถว พอไหม้มาถึงบ้านที่เขาติดธงเอาไว้ไม่รู้มันกระโดดข้ามไปได้ยังไงมันไหม้ห้องต่อไป เว้นห้องนั้นเอาไว้ ไอ้เราก็ยังงง ๆ เลยไม่ว่าจะเป็นกฏฟิสิกส์หรือหลักของอากาศพลศาสตร์อีท่าไหนก็ตาม มันไม่มีทางที่กระโดดข้ามห้องแถวที่ติดกันไปห้องหนึ่งได้หรอก แต่มันไปได้ (หัวเราะ) ไปไหม้ห้องถัดไป ตกลงคนอื่นเขาดำเป็นตอตะโกกันหมด มีขาวอยู่ห้องเดียว
              งวดก่อนไปหาดใหญ่ซักสามปีมาแล้วมั้ง ตรงช่วงในเป็นห้องแถวไม้ก็ไฟไหม้ เขาเก็บของหนีกันอลหม่าน พวก ท่านแสงชัย ตอนนั้นยังไม่ได้บวช ก็ไปช่วยเขาเก็บของอะไรด้วย เก็บเสร็จก็มานั่งหอบแฮก ๆ อยู่ เราก็ถามว่าที่บ้านติดธงมหาพิชัยสงครามด้วยรึเปล่า ? เขาบอกว่าติด พอถามว่าติดธงไว้รึเปล่า เขาบอกว่าติด เราก็สบายใจ ถ้ามีธงละก็ไม่เป็นไรหรอก ให้มันไหม้ไปเถอะ ไหม้ที่อื่นเดี๋ยวมันไม่มาถึงเราหรอก ปรากฏว่าคุณแสงชัยเขายกพานใส่วัตถุมงคลให้ดูอยู่นี่ครับ ผมถอดมาด้วย (หัวเราะ) แหมมันเก็บเกลี้ยงจริง ๆ อยู่นี่ครับผมถอดมาด้วย ยังดีนะที่รถดับเพลิงสกัดเอาไว้อยู่ก่อน ไม่งั้นก็คงมีโอกาสโทษกันให้วุ่นไปเลย ด้วยความหวังดีเก็บให้ก็เลยเก็บมาเกลี้ยงเลย
      ถาม :  แสดงว่าไฟไหม้นี่ให้เหลือธงไว้ เก็บอย่างอื่นไป ?
      ตอบ :  อย่างอื่นเก็บไปเถอะ อันนั้นเขาเอาไว้กันโดยตรง เรื่องอย่างนี้ฟัง ๆ ดูแล้วเหมือนยังกับว่ามันไม่น่าเชื่อ แต่ว่ามันพิสูจน์ได้เห็นมาเยอะต่อเยอะด้วยกัน เจ้าแข กลับไปแล้วใช่มั้ย ? เจ้า ดวงแข นี่บ้านเขาอยู่ด่านช้าง เขาทำไร่อ้อยอยู่สองร้อยกว่าเกือบสามร้อยไร่ แล้วก็มีพวกเห็นแก่ตัวมันจะเผาไร่อ้อยกันประจำเลย โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลมันจ้างเผา เหตุที่จ้างเผาเพราะว่า ถ้าโรงงานที่อยู่ไกล ๆ ให้ราคาดีกว่าเขาจะขายให้โรงงานที่อยู่ไกลไม่ขายให้ของเขา เขาก็จะมาจ้างคนเผาไร่ อ้อยที่ผ่านการเผาไฟมาจะบูดเร็วมากเลย ไม่เหมือนกับอ้อยที่ตัดสดไป ทิ้งอยู่เป็นอาทิตย์มันอยู่ได้ แต่อ้อยเผาไฟนี่อยู่ได้วันสองวันมันจะบูด ก็เลยต้องเข้าโรงงานใกล้ ๆ คือวิ่งไปเข้าโรงงานของมันนั่นล่ะ ยายนี่ประสาทกลับเลยรอบข้างมีแต่ไฟไหม้ไปหมด ก็เลยบอกให้เอาธงไปติดเอาไว้ ขนาดธงไปติดไว้มันก็ยังประสาทกินอยู่นั่นล่ะ ไฟไหม้ล้อมมาทุกด้านเลย แต่ปรากฏว่ามาไม่ถึง ใช้คำว่าบังเอิญดับซะก่อน แต่เรื่องบังเอิญนี่มันบังเอิญบ่อยจังเลย
              จริง ๆ แล้วธงมหาพิชัยสงครามท่านใช้คำว่าดีทุกอย่าง ตามตำราโบราณสมัย พระร่วง อยู่บอกว่า แม้แต่ถือด้ามธงเข้าป่าไปก็จะไม่อด อานุภาพถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าของเราเองจิตใจยึดมั่นแค่ไหน ? วัตถุมงคลทุกชนิดเหมือนกับเครื่องส่งกำลังสูงในเมื่อเครื่องส่ง ๆ เต็มที่ สำคัญตรงเครื่องรับกำลังใจของเรามันเปิดรับเท่าไหร่ ถ้าหากว่ามีจิตเลื่อมใสมีการอาราธนาถูกต้องตามรูปแบบของเขา เท่ากับเอาเปิดรับเต็มที่มันก็จะได้ผลมาก คนที่เขาไม่เลื่อมใสไม่เชื่อถือผลก็จะน้อย เพราะฉะนั้นเครื่องส่ง ๆ แล้วสำคัญตรงเครื่องรับของเรานั่นล่ะ ถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างถ้าหากว่ามันจะดีมันต้องประกอบด้วยศรัทธาก่อน แต่ว่าศรัทธาอันนี้มันต้องมีปัญญประกอบ ไม่ใช่เชื่อหัวทิ่มหัวตำไปอย่างเดียวพิสูจน์ซะก่อน เขาบอกกันไฟได้เราก็เอาน้ำมันราดเผามันซะเองเลย ดูซิมันกันได้จริงมั้ย ? เจอข้อหาวางเพลิงบ้านตัวเองแหง ๆ
      ถาม :  เอาธงไว้ที่ไหนในบ้านหรือเอาไว้หน้าบ้าน ?
      ตอบที่ไหนก็ได้แต่ว่าให้หันหน้าไปทิศเหนือหรือทิศตะวันออกผืนเดียวคุ้มได้ทั้งสถานที่ สมมติว่าบ้านเรามีที่ดินซักพันไร่ก็คุ้มได้ทั้งพันไร่นั่นล่ะ เพียงแต่ว่าเวลาอธิษฐานขอให้ท่านป้องกันให้ครบด้วยนะ ไม่ใช่ประเภทไปถึงแปะฉับก็ทิ้งเอาไว้ทั้งปีทั้งชาติไม่เคยนึกถึงท่านเลย
      ถาม :  ต้องดูวันปิดมั้ยเจ้าค่ะ ?
      ตอบ :  ดูจ๊ะ ดูวันที่เรามีธง วันที่ไม่มีติดไม่ได้แน่เลย
      ถาม :  ต้องดูฤกษ์ ดูยามนี่จริงมั้ยเจ้าค่ะ ?
      ตอบ :  ไม่ค่อยจะจริงจ้ะ เรื่องของฤกษ์ยามมันเหมือนกับคนข้ามถนนเปรียบให้ฟังง่าย ๆ ถ้าข้ามถนนในจังหวะที่ไม่มีรถมันก็ปลอดภัยแน่นอนนะ แต่ว่าคนที่เขาเก่ง ๆ เขาก็ข้ามโดยที่รถเยอะ ๆ เขาก็ข้ามได้ปลอดภัยดีแต่ว่ามันประมาทเกินไป สักวันหนึ่งอาจจะชราหูตาฝ้าฟางพลาดท่าให้รถชนเดี้ยงไปก็ได้ถ้าไม่เป็นการยุ่งยากลำบากเกินไปนักก็อาศัยฤกษ์ยามซะหน่อยหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเห็นว่ามันยุ่งยากมันลำบาก กำลังใจกำลังใจของเราเข้มแข็ง เกิดอะไรขึ้นรับได้อยู่แล้ว ลุยไปเลยวันไหนก็ได้
      ถาม :  หนูไปติดหนูก็ไม่ได้ดูวัน ?
      ตอบ :  ก็บอกแล้วไงว่า ถ้าเป็นวันที่มีธงก็ใช้ได้แล้วล่ะจ้ะ
      ถาม :  ใส่กรอบเสร็จแล้วก็ตอกตะปูแขวนหน้าบ้าน ?
      ตอบ :  นั่นล่ะ สะดวกที่สุด
      ถาม :  แล้วต้องระลึกถึงท่านทุกวัน ?
      ตอบ :  ตั้งใจสวดมนต์ภาวนานึกถึง โดยเฉพาะธงนี่เป็นของ ท้าวมหาชมพู ท่าน จะมีคาถาปลุกสั้น ๆ ว่า “ พุท - ธะ – สัง – มิ ” ก็คือ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ เขาตัดมาอย่างละตัว เราจะใช้ “ อิทธิฤทธิ พุทธนิมิตตัง ” ก็ได้ แล้วแต่ลักษณะของการปลุก ก็คือเปิดกำลังใจของเรารับอานุภาพของเขา บอกแล้วเครื่องส่ง ๆ อยู่ตลอดอยู่แล้วมันสำคัญตรงใจเรา เครื่องรับของเราดีแค่ไหน