สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม :  แล้วอย่างนี้ คนสมัยก่อน .....(ไม่ชัด)....?
      ตอบ :  จริง ๆ ระยะการเดินนี่ถ้าเป็นเส้นตรงนี่มันไม่ไกลนะ มันไม่ไกลจาก ชมภูทวีป ของสมัยก่อน ถ้าออกมาของเรานี่มันเป็นเขตปัจจันตชนบท จริง ๆ แล้วผืนแผ่นดินนี่มันต่อเนื่องกันมา
              ถ้าสมัยก่อนการเดินทางรอนแรมค้าขายอะไรไปกัน ถ้าไปแบบสบาย ๆ นี่ประมาณเดือนหนึ่งก็ถึงเอาเร่ง ๆ หน่อยสิบเจ็บ สิบแปดวันก็ถึง เพราะว่าสมัยก่อนนี้ของพวกเรามันจะเป็นปัจจันตชนบทอย่างเช่นว่า ตักศิลาก็กำแพงเพชร ปรันตบะ ก็พวกสระบุรีอะไรของเรา สมัยนี้ก็ลองดูได้เดินลุยตรง ๆ ออกจังหวัดตากเข้าไปเลย พอเข้าพม่าไปก็ผ่านยะไข่ก็ทะลุเข้าอินเดียเลย
      ถาม :  ถ้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบว่าใช้ของก๊อปปี้เขามาถือว่าเป็นการ .....?
      ตอบ :  คุณเป็นคนก๊อปรึเปล่า ? ถ้าคุณไม่ได้ก๊อปและไม่ได้ขโมยเขา จ่ายเงินให้เขาตามปกติคุณไม่เป็นไร เรื่องของธรรมะเขาตรงมา ใครทำโทษเป็นของคนนั้น
      ถาม :  .................................
      ตอบ :  เขาอนุญาตให้ก๊อปมั้ยล่ะ ถ้าหากว่ามันดาว์นโหลดได้ก๊อปได้เป็นปกตินี่มันไม่มีปัญหาอะไร โดยเฉพาะว่าเรื่องของธรรมะ มีอยู่เที่ยวหนึ่งที่พวกหนังสือโลกทิพย์เขายกขบวนไปขอหลวงพ่ออนุญาตนำเอาธรรมะของหลวงพ่อลงในหนังสือเครือโลกทิพย์ มันจะมีโลกทิพย์ โลกลี้ลับ ตายแล้วไปไหน อะไรพวกนั้น หลวงพ่อท่านบอกว่าไม่ต้องขออนุญาต ถ้าทำเพื่อเป็นธรรมทานทำได้เลย อนุญาตให้ตลอดไป เพราะฉะนั้นของเขาก็เหมือนกันน่ะ ถ้ามันดาว์นโหลดได้มันก๊อปได้แปลว่าเขาเต็มใจให้ลุยไปเถอะ
      ถาม :  .................................................
      ตอบ :  เข้าใจผิดกันไปยกใหญ่แล้ว คนเป็นโรคจิตคือสภาพจิตของเขามันฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นไม่สามารถจะเข้าถึงธรรมได้ บุคคลที่จะเข้าถึงธรรมได้อย่างน้อย ๆ ต้องทรงสมาธิได้ถึงระดับปฐมฌานขึ้นไป
              ดังนั้นว่าถ้าหากว่าคนเป็นโรคจิตทรงปฐมฌานได้เขาก็จะไม่เป็นน่ะสิ เพราะกำลังใจมันตั้งมั่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นที่เป็นอยู่มันไม่ใช่แน่ ดังนั้นว่า ถ้าเป็นโรคจิตอยู่ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลได้ ถ้าใครทรงฌานได้ก็ไม่เป็นโรคจิต
      ถาม :  คือว่าร้อน ๆ หนาว ๆ น่ะค่ะ ?
      ตอบ :  ไอ้นั่นไม่ได้เกี่ยวกับโรคจิต
      ถาม :  มันเป็นเรื่องที่เราบังคับไม่ได้ ?
      ตอบ :  จ้ะ ....บังคับไม่ได้หรอก อาจจะกำลังอยู่ในวัยทองก็ได้ (หัวเราะ) ไม่ต้องไปบังคับมันหรอก รำคาญมันหน่อยแค่นั้นเอง ถ้าไม่สนใจมัน ๆ ก็หายเอง พวกนี้มันประเภทเรียกร้องความสนใจ คนไม่สนใจกับมัน ๆ ก็หายเอง....นั่งกรรมฐานแล้วชอบบังคับลมหายใจ ต้องดูให้ดี ๆ ว่ามันเป็นการบังคับรึเปล่า ?
              เพราะว่า ถ้าหากว่าเรามีความคล่องตัว พอกำหนดใจปุ๊บมันจะกระโดดไปถึงระดับอารมณ์นั้นเลย ลมหายใจมันอาจจะเบาลงโดยอัตโนมัติเหมือนยังกับว่าเราบังคับให้มันเบาลง รึว่าบังคับให้มันเบาลง รึว่าบังคับให้มันยาวขึ้นหรือละเอียดขึ้นอะไรอย่างนั้น คอยดูให้ดี ๆ อาการบังคับก็คือว่าตั้งแต่แรกเริ่มเราบังคับให้มันต้องหายใจยาวแค่นี้ ต้องหายใจสั้นแค่นี้ เบาแค่นี้
              เพราะฉะนั้นต้องสังเกตตัวเองด้วย หลายคนที่คิดว่าตัวเองไปบังคับลมหายใจแต่ความจริงไม่ใช่ เขามีความคล่องตัวในสมาธิแต่ละระดับนั้นซะแล้ว พอถึงเวลานึกปั๊บมันก็เข้าตรงนั้นเลย เหมือนกับเราไปบังคับมัน
      ถาม :  เวลาเรานั่งกรรมฐาน ก็จะมีหมาไปด้วย หมาก็จะนั่งใกล้ ๆ คราวนี้มันก็เห่าก็ตกใจแล้วก็กลัวก็เลยออกจาสมาธิเลย
      ตอบ :  ลักษณะตกใจจริง ๆ ก็คือว่าสภาพจิตใจเราไปสนใจข้างนอกโดยไม่รู้ตัว พอสนใจข้างนอกมีอะไรมากระทบประสาทตาประสาทหูปั๊บ มันจะรีบดึงจิตกลับมารับรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร คราวนี้จิตที่กลับมาเร็วเกินไปจะมีอาการที่เรียกว่า ตกใจ แสดงว่าตอนนั้นจิตไม่เป็นสมาธิหรอก ถ้าเป็นอย่าว่าแต่หมาเห่าเลยฟ้าผ่ายังเฉย ๆ ดีแล้วเขาจะได้เป็นตัววัดอารมณ์ของเรา ถึงเวลามันไม่เห่าก็แหย่ให้มันเห่า จะได้รู้ว่าเราไปถึงไหนแล้ว
      ถาม :  หลายคนก็โทษพระเจ้าว่าหน้าตาไม่ดีก็.......?
      ตอบ :  พระเจ้าไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย ตัวเองทำเองแท้ ๆ เกิดมาอายุยืนเขาว่าเป็นผู้มีเมตตาปราศจากปาณาติบาตหรือทำปาณาติบาตแต่น้อย ปาณาติบาตก็คือฆ่าคนฆ่าสัตว์ เกิดมาอายุสั้นพลันตายเพราะทำปาณาติบาตไว้มาก ไปตัดชีวิตเขาไว้เยอะ พอถึงชึวิตตัวเองก็น้อยไปด้วย
              เรื่องการกระทำกรรมอะไรต่าง ๆ พระพุทธเจ้าท่านบรรยายเอาไว้ละเอียดยิบ พวกประกวดนางงามผิวงามแล้วตกตั้งแต่รอบแรกอย่างนี้ อันนี้พูดเล่นน่ะ ถ้าหากว่าระดับประกวดนางงามมันก็ต้องผิวดีอยู่แล้ว เพียงแต่มันดีสู้คนได้รางวัลไม่ได้เท่านั้นเอง ผู้มีผิวพรรณดีเป็นผู้มีเมตตามีอารมณ์ใจเยือกเย็น ผู้มีผิวพรรณทรามประกอบไปด้วยโทสะ มีจิตใจเร่าร้อน ผู้ที่เกิดในตระกูลสูงเพราะว่าเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนยกย่องผู้อื่น ผู้เกิดในตระกูลต่ำเพราะว่าเป็นผู้ที่ชอบยกตนข่มท่านดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น
      ถาม :  ..........................................
      ตอบ :  เอาให้ดี ๆ นะ ผีอำมันอย่างหนึ่ง มันจะบังคับให้เราแข็งกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ เสร็จแล้วเขาก็แกล้งเรา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกของเรา หรือไม่ก็เราไปอยู่ในสถานที่ของเขาแล้วเขาไม่ชอบใจเขาจะแกล้งเอา ส่วนอีกอันหนึ่งมันจะมีลักษณะเหมือนมีก้อนอะไรดำ ๆ กดทับอยู่อึดอัดแน่นมาก นั่นจะเป็นเลือดลมภายในของเราเดินไม่สะดวก เราอาจจะนอนทับร่างกายบางส่วนที่ทำให้เลือดลมมันเดินไม่สะดวก มันอั้นอยู่ก็เลยทำให้มันเกิดความรู้สึกนั้นขึ้นมา
              ส่วนอาการของเร่างกายที่มันแข็งไปเฉย ๆ ถึงเวลาแล้วขยับไม่ได้บางทีมันเป็นการทรงฌาน มันต้องแยกให้ออกว่าพอสมาธิทรงเป็นฌานปุ๊บนี่จิตกับประสาทมันแยกออกจากกัน ประสาทร่างกายกับจิตมันคนละส่วนพอลืมตาตื่นความรู้สึกใหม่ ๆ มันยังไม่เต็มที่ มันควบคุมร่างกายไม่ได้มันก็ต้องรอเวลานิดหนึ่งเพื่อให้ประสาทร่างกายมันสมบูรณ์พร้อมถึงจะขยับได้ ถ้ายิ่งไปภาวนากลัวว่าผีมันจะหลอกผีมันจะอำสมาธิยิ่งแน่นก็เลยพาลยิ่งขยับไม่ได้เข้าไปใหญ่
      ถาม :  แล้วทุกครั้งจะรู้สึกเหมือนมีใครมาอยู่ข้าง ๆ คือเราเรียกว่าถูกควบคุมรึเปล่า ?
      ตอบ :  ก็ตั้งใจกำหนดถามเขาดูสิว่าเขาเป็นใคร เพราะว่าขณะที่เราตั้งใจปฏิบัติภาวนาแค่ทรงเป็นอุปจารสมาธิท้าวมหาราชก็จะให้บริวารมาช่วยดูแลความปลอดภัยเราอยู่
      ถาม :  แต่ที่มันลึก ๆ มันจะรู้สึกกลัว ?
      ตอบ :  แน่นอน ไม่กลัวก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นน่ะ
      ถาม :  การนั่งสมาธินี่มันหวาดระแวง กลัวคนเข้ามา จะรักษากำลังใจยังไงถึงจะทำให้ใจเราสบาย ?
      ตอบพยายามให้ใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก สมาธิมันทรงตัวความฟุ้งซ่านจุดนั้นจะไม่มี ถ้ายิ่งทรงตัวเป็นฌานได้ความกลัวต่าง ๆ มันก็จะไม่มี ยกเว้นว่าเจอขั้นตอนของฌานใหม่ ๆ มันกลัวตายมันจะเสียวลึก ๆ อยู่ในอก แต่ว่าอาการที่หวาดระแวงกลัวจะมีคนเข้ามากลัวคนจะทำร้ายอะไรมันจะไม่มี ตั้งใจจับลมหายใจเข้าออกให้จริงจัง
      ถาม :  .................................................
      ตอบ :  สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พวกฝรั่งเขาเข้ามาเผยแพร่ศาสนาก็จะมีหมอมารักษาคนเพื่อดึงศรัทธา เขาเขียนรายงานส่งกลับไปบอกว่าคนไทยตัวเล็กไม่ได้กินอาหารเหมือนอย่างของทางยุโรป แต่ว่าแต่ละคนแข็งแรงจนเหลือเชื่อ ไม่เห็นเขาขาดสารอาหารอะไรเลย
              คราวนี้พอมาระยะหลังก็หลักสูตรอาหาร ๕ หมู่ มันมาจากฝรั่งเขาบังคับให้เด็กกินนม ของเราเองมันไม่ใช่พวกฝรั่ง นมเนยนี่มันจะเป็นอาหารของเขา เพราะว่ามันให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ดี พอเรามากินเข้าส่วนใหญ่มันก็เลยอ้วนไปหมด สังเกตว่าตอนนี้คนอ้วนจะเยอะมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นกลายเป็นโรคอ้วนไป เพราะว่าพลังงานมันล้นเกิน นมเป็นอาหารของฝรั่งกับวัวเขาไม่ใช่ของคนไทย
      ถาม :  เวรกรรรมเป็นของคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะไม่สามารถจะรับแทนกันได้ ?
      ตอบ :  รับแทนกันไม่ได้จ้ะ ไม่ต้องห่วงหรอก ถ้าเราทำไม่ดีลูกก็ไม่ต้องรับหรอก ถ้าลูกทำไม่ดีเราก็ไม่ต้องรับหรอก ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างได้ แต่ว่าบางครอบครัวเหมือนยังกับว่าพ่อแม่ทำแล้วลูกได้รับมันเป็นเพราะว่าคนที่เกิดมาครอบครัวเดียวกันเขาจะทำบุญทำบาปมาใกล้เคียงกัน บางทีอาจจะทำกรรมอย่างเดียวกันมา ถึงวาระ ถึงเวลามันสนองเข้าพอดี ก็เลยคิดว่าตัวเองทำแล้วคนอื่นได้ คนข้างเคียงได้ ไม่ใช่ ใครทำใครได้ตรงไปตรงมา คิดไม่ถึงน่ะพ่อแม่ทำไม่ดีกับคนอื่นเอาไว้แล้วมาเกิดกับลูกตัวเอง ก็คิดว่าพ่อแม่ทำ แล้วลูกได้รับ ไม่ใช่ล่ะจ้ะ บังเอิญลูกมันทำกรรมชนิดนั้นมา กรรมมันถึงวาระมันมาสนองเข้าพอดี แต่มันก็ดีไปอย่างถ้าเข้าใจอย่างนั้มันทำให้คนกลัว ๆ เหมือนกันจะเลิกทำชั่วไปซะหน่อย
      ถาม :  ถ้าเราทำความผิดโดยที่เจตนาดีน่ะ ?
      ตอบความผิดโดยที่เจตนาดีมันก็เป็นโทษ แต่เนื่องจากว่าเจตนาที่จะให้ร้ายคนอื่นมันไม่มีโทษมันก็น้อยลง คือว่าอย่างเช่นว่าการฆ่าสัตว์ ตัวเองอยากจะรักษามันแต่ให้ยาผิด เจตนาการที่ฆ่าเขามันไม่มีแต่สัตว์นั้นตาย ถ้าหากว่าสัตว์นั้นมีชีวิตอยู่ เรารู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิตอยู่ เราตั้งใจฆ่า เราลงมือฆ่า เราฆ่าสำเร็จ ถ้าอย่างนี้ผิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จ้ะ
              แต่ว่าอันนี้ของเรานี่เราไม่ได้ตั้งใจฆ่าเราตั้งใจช่วยเขาแต่สัตว์นั้นตาย โทษมันก็เหลือส่วนเดียวหรือบางทีเขาเองก็มีกรรมมา กรรมนั้นมันเนื่องด้วยกันทำให้เขาต้องมาเสียชีวิตลงด้วยเงื้อมมือของเราก็มี
      ถาม :  ทำยังไงเจ้ากรรมนายเวรถึงจะอโหสิกรรมให้ ?
      ตอบ :  รีบ ๆ เป็นพระอรหันต์ เขาไม่ได้อยากอโหสิกรรมหรอก แต่ความดีมันสูงจนเขาตามทวงไม่ได้ก็เลยกลายเป็นอโหสิกรรมไปโดยปริยาย การที่จะให้เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมต้องตกลงกันต่อหน้าว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ เธออโหสิกรรมให้แก่เราได้มั้ย ? ถ้าหากว่าเขาเอ่ยปากว่าได้ก็เป็นอันว่าจบกันลงตรงนั้นเลย อันนี้โจทย์กับจำเลยต้องตกลงกันเอาเอง มีคนกลางด้วยก็ได้แต่ว่าทำยังไงให้เขาเอ่ยปากขออโหสิให้ หลอกให้เขาพูดคำว่าได้ออกมาแล้วมันจบ
      ถาม :  ใช้วิธีนี้กับเจ้ากรรมนายเวรได้รึเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ไม่ได้จ้ะ เพราะว่าเราเองนี่เจ้ากรรมนายเวรนี่ตัวตนเขาไม่มีแล้ว มันเหลือแต่พลังงานส่วนที่เราทำมันเหลืออยู่ กลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่ตามทวง ตัวตนจริง ๆ นี่บางทีถ้าเราฆ่าเขานี่เขาก็ไปเกิดใหม่แล้วใช่มั้ย ? หรือไม่ก็ไปเสวยสุขเสวยทุกข์อยู่ในภพภูมิของเขาแล้ว
              แต่ว่าสิ่งที่เรากระทำต่างหากล่ะที่ตามทวงเรา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเจอตัวตนที่เราเคยกระทำเขาแล้วรู้เรื่องนี้ขึ้นมา เอ่ยขึ้นยอมรับด้วยกันทั้งทั้งสองฝ่าย เอ่ยปากอโหสิกรรมกันก็เป็นว่าอันว่าจบ
      ถาม :  .................................................
      ตอบ :  ไปใต้มา ๑๐ วัน คราวนี้ ๑๐ วัน ๑๐ คืนน่ะกินไม่พอนอนไม่พอเหนื่อยตลอดมันก็เครียดมากใช่มั้ย ? กลับมาถึงวัดก็มาทำงานเลย ต้องมาทำใบสุทธิให้หลวงตาน้อย กับท่านก้องเขา ก็ให้ท่านบ่าวเขาช่วยเขียน ลายมือเขาสวยหน่อย ปรากฏว่าวันนั้นไม่รู้ว่าเป็นอะไร ท่านเขียนผิดแล้วผิดอีก ลบแล้วลบอีกอยู่นั่นแหละ เราก็เออ...รักษาอารมณ์ใจของเราใช่มั้ย? ปากดุก็จริง แต่ใจของเรา ๆ ดูอยู่ตลอดว่ามันเป็นยังไง จนกระทั่งเขาเขียนเสร็จเรียบร้อยเราก็ติดรูป ใบสุทธิมัน ๒ ฉบับ โอกาสพลาดมันมีแน่ ๆ อยู่แล้วถ้าติดสลับกัน เราก็ระวังจุดนี้ดูแล้วดูอีกว่าใช่แน่ พอติดเสร็จกลายเป็นสลับกัน เอ....มันทำยังไงมันแหกตาเราได้ถึงขนาดเห็นชื่อคนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่งไปได้น่ะ เราก็เออ....ไม่ว่าอะไร ก็บอกหลวงตาน้อยเขาเซ็นต์ใบสุทธิไปแล้ว บอกกลับมาเซ็นต์ใหม่ พอหลวงตาน้อยเขามาเซ็นต์เสร็จเรียบร้อย เราก็แกะรูป แล้วแทนที่แกะรูปเสร็จแล้วจะขอรูปใหม่เขามาติด....เปล่าหรอก ส่งรูปที่เหลือให้หลวงตาน้อยไป หลวงตาน้อยแกก็ไปแน่บเตรียมจะขึ้นรถ ไอ้เราพอนึกขึ้นมาได้ อ้าว...มันเอากูอีกยกแล้วหรือเนี่ย ? ทำไม๊.....มันมาเร็ว มาเป็นชุด ๆ เลย แล้วมาจังหวะที่เรากำลังเครียดสุด ๆ ด้วย มันจะเอาให้ได้เลย
              ไอ้เรา เออ....ไม่เป็นไรวะ ไหน ๆ มันก็ไหน ๆ มาถึงขนาดนี้แล้วใช่มั้ย ? จะดุจะด่าจะโทษใครก็ไม่ได้หรอกนอกจากตัวเราเอง ก็บอกพี่มุกดาวิ่งตามไปทีซิ ไปเอามาหน่อย เขาก็ลงทางหลังวัดที่เป็นสะพานจะไปขึ้นรถน่ะ พี่มุกดาแกวิ่งอีท่าไหนไม่รู้แกไถพรืดลงไป ๕-๖ แผล ตกลงว่าเรารักษากำลังใจของเราเอาไว้ได้ แต่คนอื่นเจ็บตัวแทน มันเอาจนได้ล่ะ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วพี่เขาก็บ่นกะปอดกะแปดขึ้นมา สอบตกไปเรียบร้อยแล้ว (หัวเราะ) เราสอบได้พี่เขาสอบตกแทน เจ็บตัวฟรี มันมาลักษณะอย่างนี้ ต้องคอยระวังอยู่ตลอดเลย เผลอเมื่อไหร่เป็นโดน ๆ พอรู้ตัวว่าเครียดนี่ สติต้องประเภทจดจ่ออยู่ตรงหน้าเลย อย่าเผลอให้มันเป็นอันขาด ถ้าเครียดนี่มันจะไม่อยู่แค่เรา มันจะไปลงคนอื่น
              อย่างพวกเรานี่ยังรักษาอารมณ์ใจลักษณะนี้ไม่เป็น ยังคลายมันออกไม่เป็น ยังปลดมันทิ้งไม่เป็น ให้มันอยู่แค่ตัวเอง อย่าให้มันไปใส่คนอื่นเขาแทน ขังเสือไว้ในอกให้มันกัดเราคนเดียวพอนะ อย่างนี้ยังถือว่าใช้ได้ คือมันเสียแค่ใจ กายวาจามันไม่เสีย อย่างน้อย ๆ เราก็ได้กำไร ๒ ส่วน แต่ถ้าหากว่าใจเสียด้วย กายวาจาเสียด้วย มันไม่เหลือซักสลึงหนึ่ง มันกินหมดทุกส่วนเลย มีอย่างหนึ่งนะ คือถ้าเรารู้สึกว่ามันเครียดแล้ว มันไม่ไหวแล้ว มันจะระเบิดแล้วนี่ ไม่ต้องไปถือมารยาทอะไรมากเดินหนีไปเลย ไม่ต้องไปอยู่ตรงนั้น ถ้าอยู่ต่อไปเป็นเรื่องแน่ ๆ เลย หลวงปู่หล้า ท่านถึงได้บอกหัดเป็นนักหลบซะบ้าง อย่าเป็นนักรบอย่างเดียว หลบให้เป็น ไม่ไหว...มันมีแต่สู้แล้วแพ้ท่านบอกไม่ใช่ผู้มีปัญญารู้ว่าสู้ไม่ไหวหลบมันก่อน
      ถาม :  ......................................
      ตอบ :  ค่อยสู้ไป ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ ตอนนี้ของเรามันยังอายุน้อยอยู่ ถ้าไม่ตายซะก่อนยังมีโอกาสลำบากอีกเยอะ (หัวเราะ) เมื่อถึงเวลานั้นแล้วเราจะค่อย ๆ เก็บเอาประสบการณ์ไป แล้วก็จะเห็นช่องทางมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังใจมันจะเข้มแข็งไปเรื่อย เรื่องที่เคยรับไม่ได้ต้องแอบไปร้องไห้ จะต้องไปบูด ไปโกรธมันก็จะไม่เป็นอีก
      ถาม :  จริง ๆ ที่คนเราจะรู้วันตายของเราได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ได้จ้ะ ถ้าหากว่ามีความชำนาญในอานาปานสติจะรู้วันตายล่วงหน้า รู้ทีหนึ่งล่วงหน้านาน ๆ
      ถาม :  แล้วอย่างของหลวงพ่อล่ะคะ ?
      ตอบ :  อาตมาน่ะเหรอ....วันที่ไม่หายใจแน่นอนจ้ะ
      ถาม :  ทำยังไงครับอานาปา.....?
      ตอบก็อยู่กับลมหายใจเข้า-ออกตลอด ยิ่งอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกมากเท่าไหร่จิตก็ยิ่งสงบ ยิ่งสงบเท่าไหร่ปัญญาก็จะยิ่งผ่องใสชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ความเป็นทิพย์มันก็จะเกิดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น ตัวความเป็นทิพย์นั่นแหละที่มันจะบอกได้ เพียงแต่เราอย่าไปมั่นใจอย่าไปประมาทว่า อีก ๑๐ ปีตาย ๒๐ ปีตาย ให้คิดอยู่เสมอเราอาจจะตายวันนี้
              ถ้าใครไปมั่นใจว่า โอ๊ย...อีก ๒๐ ปีข้างหน้าเราค่อยตายล่ะเดี๋ยวเจ๊ง นั่นเป็นการพยากรณ์ตอนนั้น การพยากรณ์ตอนนั้นก็คือตามกำลังใจของเราตอนนั้น ถ้าความดีความชั่วมันเปลี่ยนแปลง มีอุปฆาตกรรมเข้ามาแทรกบ้าง ปัจจัยมันจะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นต้องคิดอยู่เสมอว่าเราอาจจะตายวันนี้ ถ้าหากว่าตายวันนี้ที่ ๆ เราจะไปมันมั่นคงแล้วหรือยัง ? ถ้ายังไม่มั่นคงก็พยายามทำให้มั่นคงเอาไว้
      ถาม :  ตอนนี้หนูก็พยายามจะอยู่ตรงนี้ให้ได้ จิตใจจะได้อยู่กับคำภาวนา แต่ความรู้สึกหนูทำไมมันเครียด มันอะไรต่ออะไร .....?
      ตอบการภาวนานี่ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าเริ่มมากขึ้นมันก็จะเครียด จะมีขั้นตอนหนึ่งที่ทุกคนจะต้องประสบเลยก็คือว่าระหว่างที่ยังไม่สามารถปรับตัวเองให้พอดีการปฏิบัติมันจะเครียด ถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นจุดพอดีของตัวเองแล้วทำตามนั้นมันก็จะเริ่มสบาย เป็นทุกคน
      ถาม :  ตอนนั้นทุกคนจะไม่เหมือนกันหรือครับ ?
      ตอบ :  ใช่ มันจะมากจะน้อยจะสูงจะต่ำมันต่างกัน คราวนี้ถ้าหากว่าเราปรับตัวเขาได้เมื่อไหร่ก็สบาย สมัยบวชใหม่ ๆ ๓ พรรษาแรก โอ๊ย...เจ้าประคุณอยากสึกวันเป็น ๑๐๐ หน คือลักษณะนั้น จนกระทั่งเราปรับตัวได้ว่า เออ....เป็นอันหนึ้งอันเดียวกับศีล ขยับตัวเมื่อไหร่รู้ว่าศีลจะขาดหรือเปล่า แล้วเราระมัดระวังได้นั่นล่ะค่อยสบายใจขึ้นมา
              เพราะฉะนั้น ของโยมก็เหมือนกัน อันดับแรกเราก็ระวังศีลด้วย ระวังสมาธิ รักษาใจของเราด้วยมันเท่ากับงานหลายอย่าง แล้วงานประจำวันก็ต้องทำด้วย อย่างนี้มันรับไม่ไหวก็เครียด ถึงเวลาพอปรับอยู่ตัวเมื่อไหร่ก็สบาย
      ถาม :  เราก็ต้องพยายามทำไปเรื่อย ๆ หรือคะ ?
      ตอบทำไปเรื่อย ๆ จ้ะ รู้สึกว่าเครียดก็ลดลงมานิดหนึ่ง รู้สึกว่ามันหย่อนก็เพิ่มขึ้นไปนิดหนึ่ง ต้องคอยสังเกตตัวเองไว้ตลอดแล้วก็จะเจอจุดพอดีของตัวเอง
      ถาม :  อะไรก็ได้ใช่ไหมคะ ที่จะทำให้เป็นคำภาวนาของเราก็ได้ ?
      ตอบ :  ได้ โดยเฉพาะอนุสสติทั้ง ๑๐ อย่าง เริ่มต้นด้วยอานาปานสติคือนึกถึงลมหายใจเข้า-ออก พุทธานุสสติ นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าว่ามีอะไรบ้าง ธัมมานุสสติ นึกถึงความดี ของพระธรรมว่ามีอะไรบ้าง สังฆานุสสติ นึกถึงความดีของพระสงฆ์ว่ามีอะไรบ้าง สีลานุสสติ คุณของศีลดีอย่างไร จาคานุสสติ การบริจาคให้ทานดีอย่างไร เทวตานุสสติ คุณความดีของเทวดามีอย่างไรบ้าง มรณานุสสติ ความตายจะมาถึงเราอยู่ตลอดเวลาแล้ว ถ้าเราประมาทอาจไม่ได้ความดีจุดที่ต้องการ กายคตานุสสติ ระลึกถึงร่างกายของเราให้เห็นตามความเป็นจริงว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งสวยงามที่ดีที่มั่นคงเลย เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง ตายไปสลายไปในที่สุด อุปสมานุสสติ ยึดพระนิพพานเป็นอารมณ์ รวมแล้ว ๑๐ อย่าง ในแต่ละวัน ๑๐ อย่างนี้ เวลาใดเวลาหนึ่งก็ตามต้องให้มี ๑ ใน ๑๐ อย่างนี้อยู่ในใจของเราให้ได้ เอาอันไหนก็ได้จุดไหนก็ได้ให้เป็นความดีอันนั้น
              เพราะว่าอนุสสติทั้ง ๑๐ อย่างนี้เป็นของที่ทำได้ง่าย รักษาได้ง่าย มันไม่ลำบากด้วยอุปกรณ์ อย่างกสิณ ๑๐ ก็ต้องไปหาอุปกรณ์เพ่งกสิณมา อสุภกรรมฐาน ๑๐ ก็ต้องไปดูศพ มันจะลำบาก จตุธาตุวัฏฐานกับอาหารเรปฏิกูลสัญญาก็ดี พรหมวิหาร ๔ ก็ดี มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังใจกำลังปัญญาสูงมาก เราแตะเข้าไปอาจจะลำบาก ก็เล่นอนุสสติ ๑๐ อย่างสบาย ๆ