ถาม :  ทำไมต้องลำบากทำมาหากินอะไรหนักหนา ?
      ตอบ:  คนอย่างพวกเราสร้างบารมีมาเยอะ ถ้าปล่อยให้สบายจะเตลิดไม่เห็นทุกข์ก็เลยต้องใช้วิธีนี้ ถ้าสังเกตดูจริง ๆ จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นสิ่งที่สมควรจะได้เราได้ แสดงว่าบุญมาเหลือเฟือแล้ว แต่บังเอิญกำลังใจของคนประเภทนี้เข้มแข็งเกินไป ไม่มีสายกลาง คือ ซ้ายสุดกับขวาสุดอย่างเดียว ถ้าปล่อยให้สบายเมื่อไหร่มันเตลิดเปิดเปิง เพราะฉะนั้นต้องบี้ให้ตาย
      ถาม:  ให้เห็นทุกข์ตลอด ?
      ตอบ:  ถ้าเห็นทุกข์เมื่อไหร่ก็จะรู้จักเข้าถึงธรรมเอง
      ถาม:  มาสังเกตุตัวเองช่วงแรกทุกข์เพราะตัวเราเอง ความรักหรืออะไรก็ตาม ความรักตัวเราเอง รักลูกรักหลาน มันทำให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น ทำไมถึงทำใจได้ลำบากคะ ทั้ง ๆ ที่รู้นะคะ ?
      ตอบ:  ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องใช้คำว่า สังโยชน์ หมายถึงเครื่องร้อยรัดสัตว์ให้จมอยู่กับวัฏฏสงสาร มันถ่วงอยู่เสมอ ต้องดูกำลังใจ ยายหนูอ้วน เจ้ากิ่งกาญจน์ อายุถ้านับก็ยังน้อยอยู่ เพิ่งจะ ๒๐ ต้น ๆ เขาบอกว่าหลวงพ่อเจ้าขา ทำไมเวลาหนูเห็นคนบางคนที่เขาทำความดีแล้ว ก็เกิดความชื่นชมความยินดีในความดีของคนอื่นเขา แต่มาจับความรู้สึกของตัวเองจริง ๆ แล้วมันร้อน ๆ คือเห็นก็เกิดความรัก ความเคารพ พลอยยินดีที่เขาทำ อยากเลียนแบบในสิ่งนั้นบ้าง ก็บอกว่า คำว่า “รัก” กับคำว่า “โลภ” มันรวมกันแล้ว พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “ราคะ” คือความยินดี อยากมี อยากได้ ถึงเราจะยินดีในความดีเขาก็จริง แต่ว่าตัวราคะนี้ท่านเรียกว่า “ราคัคคิ” ไฟคือราคะ “โทสัคคิ” ไฟคือโทสะ “โมหัคคิ” ไฟคือโมหะ ในเมื่อมันเป็นไฟ มันย่อมเผาเราให้ร้อนได้ ไม่น่าเชื่อว่าเด็กขนาดนั้นสามารถคลำจุดนี้เจอได้
      ถาม:  ...........................................
      ตอบ:  ... สว่างอยู่ในอดีต คือฟุ้งซ่านกับเรื่องที่ผ่านมา ก็จะไปอนาคต ฟุ้งซ่านกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ถ้าเราหยุดอยู่กับปัจจุบันได้ ความทุกข์ก็จะเหลือน้อย อยู่กับสภาพความเป็นจริง วิธีที่อยู่ได้ง่ายที่สุดคืออยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ถ้าจิตอยู่ตรงนั้น รัก โลภ โกรธ หลง จะเข้ามากินใจไม่ได้เลย
              ที่มันเป็นทุกข์เพราะว่ามันหลุดจากจุดนั้นไป หลุดไปอยู่กับอดีตคือเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ไปคร่ำครวญหวนไห้อยู่กับมัน หรือไม่ก็หลุดไปอยู่กับอนาคตในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ใฝ่ฝันอยากได้ อยากมี อยากเป็นอยู่กับปัจจุบันนั่นล่ะ ปลอดภัยทุกข์น้อยลงเหลือแต่นิพัทธทุกข์ คือทุกข์เนืองนิตย์ที่เกิดกับร่างกาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ หิว กระหาย ร้อน หนาว แค่นั้นเองไม่ต้องไปช้ำใจตัวเองให้ทุกข์หนักขึ้น
      ถาม:  แล้วจะยึดธรรมะอะไรคะ ?
      ตอบ:  จริง ๆ ก็คือควรพิจารณาให้เห็นว่าทุกอย่างมันมีปกติธรรมดาอย่างนี้ เราเกิดมาเช่นนี้เมื่อไหร่มันก็จะทุกข์อย่างนี้อีก แล้วขึ้นชื่อว่าการเกิดแบบนี้ต้องการไหมล่ะ ? ถ้าไม่ต้องการก็ไปนิพพานดีกว่า เกาะนิพพานยาวไปเลย
      ถาม:  อยากจะมีหลักปฏิบัติเพื่อเป็นการได้ฝึก ?
      ตอบ:  เริ่มฝึกเลยอันดับแรกศีล ๕ ข้อ ศีล ๕ ข้อต้องรักษาให้ได้ เมื่อศีลทรงตัวแล้วก็อย่ายุให้ผู้อื่นเขาล่วงศีลขาด เมื่อศีลของเราทรงตัว ไม่ยุให้ทำคนอื่นทำก็ไม่ยินดีด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มหัดภาวนาจับลมหายใจเข้าออก ถ้าหากว่าศีลทรงตัวการจับลมหายใจภาวนามันจะง่าย ถ้าจับลมหายใจภาวนาได้ อันดับแรกก็จะเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นกับร่างกายเขาเรียกว่า “ปีติ” มีอยู่ ๕ อย่าง บางทีก็ขนลุกเป็นพัก ๆ บางทีก็น้ำตาไหล บางทีก็ตัวโยกไปโยกมา บางทีลอยขึ้นทั้งตัวเลย บางทีรู้สึกตัวพองตัวใหญ่ บางทีรู้สึกว่าแตกระเบิดกลายเป็นชิ้น ๆ หายวับไปเลยก็มี
              อันนั้นมันเป็นแค่อาการทางร่างกายกับจิตประสาทซึ่งมันกำลังปรับสภาพของมันใหม่ ๆ เขาเรียกว่าเป็นอาการของปีติ คือการเข้าถึงองค์ฌานระดับหนึ่ง อย่าไปใส่ใจกับมันและอย่าไปกลัวมัน ให้ตั้งใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น ลมหายใจเข้า-ออกถ้ามันแรงให้รู้ว่าแรง ถ้ามันเบาให้รู้ว่าเบา ถ้ายาวให้รู้ว่ายาว ถ้าสั้นให้รู้ว่าสั้น ขณะเดียวกันถ้ามันไม่มีเลยก็ให้รู้ว่าไม่มี ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหายใจมัน เพราะตอนที่เราไม่มี เราอยู่ได้สบายอยู่แล้ว ถ้าหากว่าทำอย่างนั้นได้ก็จะทรงเป็นฌานได้อย่างรวดเร็ว
              เมื่ออารมณ์ใจทรงฌานได้ ต่อไปการที่เราตั้งใจที่จะละกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ตัวไหน ถ้าเราไม่คลายอารมณ์ฌานออกมากิเลสตัวนั้นก็จะโดนกดนิ่งไป ถ้าสามารถกดอยู่ระยะยาวนานเพียงพอมันก็จะขาดจะดับของมันไปเอง
              เพราะฉะนั้นก็เริ่มต้นเลย นึกถึงลมหายใจเข้า-ออกได้ พร้อม ๆ กับในระหว่างนั้นก็รักษาศึลทรงตัวไปด้วย กำลังใจถ้าทรงตัว สติสมาธิอยู่เฉพาะหน้า ความทุกข์ก็น้อย การงานอะไรทุกอย่างไม่ใช่เรื่องยาก เพราะว่าเมื่อสติ สมาธิอยู่เฉพาะหน้า การแก้ไขปัญหาและการทำงานทุกอย่างมันจะมีคุณภาพ ปัญญามันจะมีเห็นทะลุตลอดสายงานไปเลย
      ถาม:  “ปัญญา” เป็นตัวสุดท้ายผมเพิ่งมาเข้าใจ ซึ่งพอเข้าใจแล้วก็ไปลองเพียรทำดู พอเพียรก็มีอาการอย่างที่กล่าว แต่อาการประเภทนี้พอแตะไปนิดเดียวแต่ก็มีอาการชุ่มชื่น แต่พอออกมาแล้วไม่มีทั้งตัวปีติ ไม่มีทั้งตัวยินดีบังเกิดเลย ทั้งการวางอารมณ์ผมก็มองการพิจารณาอารมณ์แบบหยาบ ไม่เห็นจะมีอะไร แต่ไปสอบฌานกับครูบาอาจารย์ท่านก็บอกอย่าคิดอารมณ์ที่ไม่ปีติไม่ยินดีมันวางไปทั้งหมด มันเป็นของเรานะ มันเป็นอารมณ์ที่ทำได้ยาก จริง ๆ แล้วผมก็คิดว่าเราคงได้อานิสงส์ธรรมทานแล้ว ก็คิดเป็นลำดับ เริ่มจากอะไร ? เริ่มจากอานาปานุสติจับภาพนิมิตแล้วก็เพิกสภาพของความว่าง สภาพของความรู้ความว่างไปหมด ความเพิกไปหมด มีเหมือนไม่มี แล้วก็ถอยอารมณ์ไปถอยอารมณ์มา จนมันเกิดความเข้าอารมณ์ มองว่าอารมณ์นั้นมันทำได้ยาก ท่านบอกตัวนี้คนถามตั้งเยอะไปหน่อย หงายท้องไปเลย คนที่เขาทำได้เขาทำเพียงแค่อารมณ์คิด ผมก็เลยมีความน้อยใจไม่น่าหาเรื่องเลย ผมเลยโทรศัพท์ไปหาครูบาอาจารย์ที่สอนอรูปฌาน นี่แหละครับท่านบอกว่าเขาไม่ทำตรงนี้ ถ้าเราทำตรงนี้ เขาก็จะเห็นภาพตัวนี้ ก็ยังเป็นความหยาบของผมอยู่ใช่ไหมครับ ?
      ตอบ:  จริง ๆ แล้วตอนปลายมันไม่ใช่อารมณ์ของอรูปฌาน แต่มันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาญาณแทน เราไปพิจารณาวิปัสสนาญาณเสียจนชิน พอถึงเวลากำลังใจถึงมันก็จะตัดเข้าหาจุดนี้ของมันเอง มันเป็นโดยอัตโนมัติของมัน บางทีเราเองเราก็ไม่รู้ตัวแต่ว่าจิตเคยมุ่งในลักษณะนั้น พอถึงเวลากำลังมันก็จะตรงไปทางด้านนี้ของมันเอง ถ้าลักษณะอย่างนั้นพอถึงเวลาเราวิ่งไปจับอารมณ์นั้นเลยก็ได้ เสร็จแล้วพยายามรักษาให้ทรงตัวอยู่ตลอด ถ้าทรงตัวได้ นึกถึงเมื่อไหร่ก็รักษาไว้ได้ ประคับประคองอยู่กับเรายาวนานเท่าไหร่ก็สบายเท่านั้น มันเป็นสังขารุเปกขาญาณแล้ว
      ถาม:  เห็นจริงว่าแต่ละตัวผมว่าแค่อรูปฌานก็เห็นสภาพความว่าง อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ตรงนี้ถ้าเอาปัญญาเข้าไปน้อมจิตก็หาที่สุดไม่ได้เหมือนกัน ยังไม่ต้องไปกล่าวถึงตัวรู้ในจิตที่เรียกว่าวิญญาณ คำที่ว่าไม่มีอะไรเหลือแต่ละข้อ มองว่าหาที่สุดไม่ได้เลยเห็นว่ามันมีค่า ?
      ตอบ:  อย่าลืมว่า อรูปฌาน พระพุทธเจ้าท่านแยกออกเป็น ๔ พรหมวิหาร ท่านแยกเป็น ๔ จตุธาตุกลับเป็น ๑ อาหารเรปฏิกูลสัญญา กลับเป็น ๑ และเราต้องนึกถึงตอนที่หลวงพ่อท่านบอกว่า หมวดใดหมวดหนึ่งก็ตามถ้าหากทำถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์ได้
              เพราะฉะนั้นอรูปฌานทั้ง ๔ คุณจะจับตัวไหนขึ้นมาถ้าตั้งใจทำจริง ๆ มันก็เป็นได้ เพราะกำลังของมันเท่ากับกำลังฌาน ๔ การตัดกิเลสเพียงพอแล้ว แต่ว่าอรูปฌานเพิ่มรายละเอียดเข้าไปในลักษณะใช้ปัญญาเสียด้วยซ้ำไป
      ถาม:  อย่างนี้ผมเห็นว่ามีค่ามาก ?
      ตอบ:  ตรงจุดนี้ถ้าหากว่าคนทำไม่ถึงจริง ๆ บางทีที่ว่าต้องครบ ๘ ก่อน จริง ๆ มันแค่ ๔ ก็พอ ๕ ก็พอ ๖ ก็พอ ๗ ก็พอ ๘ ก็พอ อันไหนก็ได้ใส่ไปซะอันเดียวมันก็ถึงแล้ว
      ถาม:  เคยพิจารณาอยู่ทุก ๆ วัน มีอาการมีความรู้สึกว่าตัวอากาศกับวิญญาณมันใกล้กันเหลือเกิน ?
      ตอบ:  ใกล้กัน ใกล้มาก
      ถาม:  บางครั้งเราพิจารณา เราไม่รู้หรอกว่า มันอยู่อากาศหรือวิญญาณ แต่พอทำว่าไม่มีมันก็จะน้อม มันจะถูกหรือผิด ?
      ตอบระหว่างอากาศกับวิญญาณมันต่างกันอยู่อย่างเดียว อากาศ่เราใช้ความรู้สึกคลุมมันอยู่ แต่วิญญาณ เราจับความไม่มีขอบเขตของความรู้สึกเท่านั้นเอง มันต่างกันนิดเดียวเท่านั้นเอง
      ถาม:  ตอนหลังผมกลุ้มใจ หาคนคุยเรื่องอรูปฌานด้วยไม่ได้ ?
      ตอบ:  สมัยนี้คนเล่นของยากมันไม่มี เพราะอย่างที่ทำก็ยอมรับเลย พรหมวิหาร ๔ กับอรูปฌาน ๔ มันหินชัด ๆ ประเภทแทะไม่เข้า ฟันบิ่นเลย
      ถาม:  วันนั้นถามพระพุทธเจ้าเพราะว่าผมฟังไปก็สงสัย เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสว่า “เรารักราหุลลูกชายเราเท่าไร เราก็รักพระเทวทัตเท่ากับราหุล” เข้าใจอยู่แล้วแต่ต้องให้หายสงสัย ขอถามเพราะอะไร ? ท่านบอกว่านี่เป็นพุทธวิสัย ถ้ารักอยากจะปฏิบัติต้องมาจากพุทธวิสัยข้างในท่านก็ทำได้ ?
      ตอบ:  เราก็ไม่เห็นว่ามันยากแต่มันยังทำไม่ถึง มันจะคลำให้เจอ เห็นศัตรูที่ร้ายที่สุดเท่ากับลูกรักที่สุด แหม...มันอัศจรรย์นะ
      ถาม:  ผมเหลือเรื่องอรูปฌาน คุยกับท่านผู้ปฏิบัติต้องเอาตำรามากางไม่เอา มองไปแล้วเอาตำรามากางมันจับได้ พอคุยไปปั๊บมันไม่ใช่นี่หว่า เอาตำรามาเปิดไม่ซึ้ง ไม่ใช่ไม่ดีแต่ไม่ซึ้ง ?
      ตอบคนที่ไม่ได้ทำมาจริง ๆ พอพูดไปถึงจะได้แค่เปลือก ได้แค่ผิว เพราะว่ารายละเอียดจริง ๆ ของอารมณ์ใจที่เข้าถึงพูดเป็นภาษามนุษย์แทบไม่ได้เลย ภาษาคนมันหยาบเกินไป ต้องเป็นภาษาใจเท่านั้น
      ถาม:  ที่กราบเรียนว่าวันหนึ่งนั่งสมาธิมีกระท่อมในสวนนะครับ ตัวสุดท้ายผมก็คลำเองได้ ที่อธิบายไปแล้วก็ทำเองบ้าง เมื่อเรามองเองทั้งหมดแล้วโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ อารมณ์อะไรที่รู้ไปกว่านี้พอพิจารณาไป ตัวเหลือจริง ๆ ก็คือจิตของเราที่ว่ายังเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นของความจริง มันยังเป็นตัวเยื่อใยอยู่นิดเดียว สภาพของมันมีเหมือนไม่มี สภาพมันความจำมันก็เหมือนไม่จำ ตัวนี้ทำอย่างไรไม่เข้าถึงใจ ?
      ตอบ:  เมื่อเช้ามีโยมคนหนึ่งเขามาคุยเรื่องนี้ว่า คนนั้นเขากำลังปฏิบัติอยู่โดยการดับสัญญา เราบอกว่าถ้าอย่างนั้นไปไกลแล้ว ถ้าเขาบอกอย่างเช่นว่า มองก็พยายามคิดว่าจะไม่นึกถึงว่ามันคืออะไร ถ้าอย่างนั้นผิดแล้วก็ไปไกลแล้วด้ว ยเรามองและรับรู้ไว้เฉย ๆ แต่ให้มันอยู่ของมันตรงนั้น เราไม่ต้องเอามาคิดต่อ ไม่ปรุงแต่งต่อ ปากกาด้ามหนึ่งถ้ามองเห็นเป็นปากกามันก็อยู่ของมันอย่างนั้น ถ้าเป็นปากกาเขาเอาไว้เขียนหนังสือ อ้าว...เขียนหนังสือเริ่มฟุ้งซ่านไปหน่อยหนึ่งแล้ว วันนั้นคนนั้นด่าเรากูจะเขียนไปด่าออกไปทางโทสะแล้ว สาวคนนั้นสวยจะเขียนไปจีบออกไปทางราคะแล้ว มันไปของมันเรื่อย ๆ ก็เลยบอกเขาไปว่าตัวลักษณะที่เขาจะทำจริง ๆ นั้น เขาเข้าใจผิดไปไกลแล้ว จริง ๆ มันสักแต่ว่าเห็น นั่นเป็นประเภทไม่รับรู้มันเลย จะกลายเป็นอรูปฌานซะด้วยซ้ำไป
      ถาม:  จริง ๆ แล้วมันเป็นตัวกรองดวงจิตใช่ไหมครับ ?
      ตอบ:  ใช่ คือระมัดระวังไว้อย่าให้สิ่งที่ไม่ดีเข้ามาอยู่ในใจ ก็ลักษณะเดียวกัน เช่นกับที่อั้นพูดมานั่นแหละ คือว่าถ้าหากว่าเราพอทำไปถึงจุดนั้นแล้ว พอเข้าถึงอารมณ์นั้นแล้ว เราจับตัวสุดท้ายมันเลยก็ได้
      ถาม:  แล้วก็คือ “อานาปานสติ” มันยากสำหรับผมมากอาจจะเคยทำกรรมมา มันยากจริง ๆ ทำไมยากสาหัสสากรรจ์ไม่ทราบ ก็เลยทำคำภาวนาตามลมหายใจ พอคำภาวนาตามไป นะมะพะธะ ตามลมหายใจเข้าไปในกาย พอภาวนาด้วยกำลังใจมันก็เต็มขึ้นมา พอเต็มก็เพิก ไอ้ตัวเต็มจิตมันมีกำลังขึ้นมาก็เลยน้อมแล้วก็เพิก สังเกตของใจ ๆ มันหนักในการภาวนา ถ้าเพิกจิตแล้วมาจับอรูปฌานเรื่อย ๆ ตามลำดับเท่าที่ปัญญาจะมีอยู่ พอทำไป ๆ มันถอยออกมาอารมณ์ปกติที่ไม่มีตัวปีติ ไม่มีตัวยินดีนะครับ ก็มีเทวดามาองค์หนึ่งขี่ม้ามา ผมถามว่าพระคุณเจ้าท่านผู้เจริญ ท่านทำบุญอะไรไว้ถึงมีกายทิพย์ครับ กูภาวนานะมะพะธะ ?
      ตอบ:  แสดงให้เห็นอานิสงส์ชัดเลย
      ถาม:  แต่ว่า นะมะพะธะ คงทำในเรื่องของทานมาและภาวนา ไป ๆ มาที่ว่าไม่หลงมันก็หลงได้ เพราะว่าอารมณ์มันแจ่มใสมากกว่าที่เราจะใช้อารมณ์เกาะอรูปฌาน ?
      ตอบ:  มันเบากว่า กำลังมันสูงกว่า แต่ว่าทั้งรูปฌานและอรูปฌานที่เป็นปลายสุดของสังโยชน์นั้น เขากลัวว่าเราจะไปติดอยู่กับมัน เราก็แค่เปลี่ยนกำลังของตัวนั้นไปเกาะนิพพานนิดเดียว ก็เป็นอันว่าจบเลย ถ้าเราใช้กำลังอันนี้เกาะพระนิพพานแทนก็ไม่ต้องกังวลว่าตัวสังโยชน์ของรูปราคะ อรูปราคะ มันจะเกาะใจเราได้เพราะว่ามันเกาะถูกที่ซะแล้ว
      ถาม:  ผมมีความรู้สึกว่าถ้าทำถ้าเราใช้ปัญญาศึกษาไปแล้ว สามารถเข้าถึงแม้จะเป็นผู้ทรงฌานอย่างน้อยเกิดมาไม่เสียชาติเกิด ?
      ตอบเพราะกำลังใจที่เราเข้าถึง จะทำให้เรามั่นใจในคุณพระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้น ตัวเราประเภทปลายอ้อปลายแขมยังขนาดนี้ พระอริยเจ้าท่านจะขนาดไหน ? พระอรหันต์ขนาดไหน ? พระพุทธเจ้าขนาดไหน ? ยิ่งเปรียบไปยิ่งรู้สึกยิ่งเห็นคุณค่าความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะยั่งยืนคงอยู่ในใจของเรา มั่นคงเท่าไหร่ ความมั่นงคงในพระรัตนตรัยของเราเป็นอันว่าก็ทรงตัว ก้าวแรกของพระโสดาบันอยู่ในมือแน่ ๆ แล้ว ก็เหลือไปไล่ศีลให้บริสุทธิ์ เกาะนิพพานให้มั่นคง
      ถาม:  มีงานหนึ่งที่ญาติโยมไปนิมนต์พระมา เขาบอกวาเป็นพระสุปฏิปันโน ผมจำชื่อไม่ได้ เป็นพระหลวงปู่ พระหนุ่มพระแก่เดินมามีท่านที่เป็นอาจารย์ผมร่วมอยู่ด้วย มีพระอยู่องค์หนึ่งท่านสอนเรื่องอรูปฌานอยู่ พระทุกองค์จะพูดตรงกันเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา แต่มีอยู่องค์หนึ่งกำหนดจิตเข้าไปพิจารณาองค์ท่านมองหาท่านไม่เจอแล้ว ผมบอกว่ามันหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าหาที่สุดไม่ได้ เห็นด้วยไหมครับ ?
      ตอบ:  จริง ๆ คือว่าของท่านมันไม่มีอะไรเหลือแล้ว ในเมื่อมันไม่มีอะไรเหลือเราจะไปจับอะไรท่านได้ พระอย่างนั้นหายากที่สุด
      ถาม:  รวมความว่าเรื่องอรูปฌานผมไม่คุยอะไรแล้วครับ ?
      ตอบ:  ตั้งหน้าตั้งตาลุยไปได้เลย เพราะว่ามาถึงจุดนี้ไม่มีอะไรน่ากังวล ต่อไปนี้มันเป็นประเภทเราเริ่มต้นหรือกระโดดข้ามขั้น หกคะเมนตีลังกา สลับฌานอย่างไรก็ได้แล้ว
      ถาม:  มีเรื่องหนี่งคือลักษณะในการคุมศีล ศีลต้องคุมด้วยฌาน ฌานจะเกิดขึ้นต้องมีศีลเป็นพื้นใช่ไหมครับ มีไหมครับที่เขาทำฌานให้เกิดแล้วเอาฌานมาคุมศีล ?
      ตอบทั้ง ๓ ตัวมันเหมือนอย่างกับเชือกที่เกิดจากการฟั่นเชือก ๓ เส้นให้เป็นเชือกเส้นเดียว ถ้าศีลทรงตัวสมาธิตั้งมั่นได้ง่าย สมาธิตั้งมั่นได้ง่ายสติปัญญามันเกิด สติปัญญามันเกิดมันจะไปคุมศีล ศีลยิ่งทรงตัวสมาธิก็ยิ่งตั้งมั่น สมาธิยิ่งตั้งมั่นปัญญายิ่งเกิด ปัญญายิ่งเกิดก็ยิ่งไปคุมรายละเอียดของศีลมากขึ้น มันพึ่งพาอาศัยกันทั้งหมดมันอยู่ตัวเดียวไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าการที่เราเพ่งพิศพิจารณาในศีล ตั้งใจระวังรักษาไม่ล่วงด้วยตัวเอง ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นล่วง ไม่ยุยงให้คนอื่นเขาล่วง กำลังสมาธิมันจะค่อย ๆ เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าคนไม่สังเกตจะไม่รู้ตัว ในเมื่อกำลังสมาธิมันทรงตัว กลับมารักษาศีลอีกทีหนึ่ง
      ถาม:  มีอยู่ท่านผู้หนึ่งเขาก็เหมือนเป็นครูผมเหมือนกัน บอกว่าคุณเองก็ศีลดีเป็นบางเวลา บางเวลาก็บกพร่องทั้งเจตนาและไม่เจตนา แต่มีอยู่ท่านหนึ่งศีลบริสุทธิ์คือระวังคุมศีลเสมอ ในเรื่องของศีลไม่ยอมพลาด ท่านก็บอกว่าคุณดูสิ คนนั้นเขาเป็นผ้าขาวทั้งผืน แต่ผ้าของคุณมันมีรอยแต่ใจของคุณไม่มีความกังวล เพราะมีความรู้สึกว่าเมื่อผิดแล้วก็เป็นครู แต่ท่านผู้นั้นผิดไม่ได้ ตัวนี้ที่ถูกที่ควรจะเป็นอย่างไรครับ ?
      ตอบ:  จริง ๆ ก็คือทุกคนมีโอกาสที่จะพลาดได้ พอพลาดแล้วอย่าไปคร่ำครวญอยู่กับมัน เหมือนกับคนเดินทางมาพร้อม ๆ กัน ๒ คน หกล้มพร้อมกัน คนหนึ่งก็นั่งกุมอยู่นั่นแหละ โอ๊ย...เจ็บเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน เดินมาได้ขนาดนี้แล้วไม่น่าพลาดล้มเลย ขณะที่อีกคนหนึ่งล้มแล้วลุกเดินต่อไปเลย ใครจะได้ระยะทางที่ไกลกว่ากัน ? นี่คือในลักษณะที่ว่าถึงเวลาเราไม่ต้องไปกังวลกับมัน เพราะมันคืออดีตไปแล้ว ในเมื่อเป็นอดีตไปแล้ว ของเราก็คือทำปัจจุบันตรงนี้ให้ดี ถ้าเราทำปัจจุบันให้ดี อนาคตก็จะดีเอง เสียเวลาไปนั่งคลำ ประเภทที่ผิดไม่ได้ถ้าโดนทีหนึ่งหมองนาน น่ากลัว