ถาม :  เมื่อคำถามมันมีมาที่จะพูดจะเล่นโต้กันในระดับของตัวบัญญัติ เพราะฉะนั้นการที่เขาพูดมาถึงสิ่งที่เป็นอนัตตา โดยความข้องใจที่เขาพยายามอธิบาย คือ กำลังจิตในลักษณะที่เป็นดินแดน แต่โดยความเข้าใจของตัวเองคือไม่เคยไป ไม่เคยเห็น ไม่เคยอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าเกิดว่า...มันน่าจะมีจุดนั้นที่รองรับบุคคลที่มีธาตุ รู้ตัวเนี่ย...เขาขึ้นแก่ตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าสถานที่จะเรียกว่าอะไร แต่ก็ข้อสอบไปอีกเหมือนกันว่า สิ่งเหล่านี้มันไม่ถูกพูดโดยบัญญัติ ตราบใดที่บัญญัติพูดได้ นั่นก็หมายวามว่า เป็นเรื่องของสมมติสัจจะ เพื่อให้เหตุผลเขาไปอีกแบบนั้น ไม่มียกใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าไม่รู้ว่าในคัมภีร์เนี่ย บาลีท่านว่ายังไง
      ตอบ :  (หัวเราะ) พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อัตถิ ภิขเว ตทายตนัง ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นย่อมมีอยู่ อายตนะ แปลตรง ๆ ว่า สถานที่เลยก็ได้ แปลว่าเครื่องรับรู้ก็ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีอายตนตัวรับรู้ได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า นิพพานนัง ปรมังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ใช่ไหมล่ะ แต่เพียงแต่ว่าเราจะเสียเวลาไปยกคัมภีร์ไปทะเลาะกันอะไร ลักษณะที่ว่าต่อให้เป็นการโต้คารมเพื่อความรู้ก็ตาม ถ้าเราไม่รู้จริงไม่สามารถสัมผัสได้จริงพูดเมื่อไหร่ก็ผิดเมื่อนั้น
      ถาม :  ปัญหาก็คือว่าเอาสิ่งที่หลาย ๆ คนไม่รู้มา...
      ตอบ :  คือ ตัวอาจารย์เองก็ไม่รู้จริง แล้วก็มานั่งเพื่อเปิดเวทีโต้วาทะกับลูกศิษย์ว่ามันเป็นอย่างไร
      ถาม :  คือ...เหมือนกับคนที่ไม่รู้สองคนกำลังทำอะไรก็ไม่รู้และสิ่งที่พูดกันออกมาก็ไม่รู้ แต่บางทีผลตรงที่ว่ามันถูกจารึกไว้เป็นตัวอักษรลงไป ทั้ง ๆ ที่เห็นว่ามันมีความจำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องมานั่งบอกว่าเรียนเรื่องศาสนาเรื่องของปรัชญา ก็เลยเอาสิ่งที่ทุกคนได้ยอมรับว่ามันเหนือสมมุติ มันเป็นปรปักษ์อะไรสักอย่างหนึ่ง ทำข้อสอบก็ปฏิเสธไป แต่ว่าจากความรู้สึกซึ่ี่งมันก็ตอบว่าไม่ใช่ ตอนนั้นสถานการณ์ผู้ที่เรียนปรัชญาและศาสนาก็ผิดแต่อยู่ในความเป็นบุญ
      ตอบ :  คือมันผิดตั้งแต่แรกแล้ว โดยเฉพาะศาสนาพุทธไม่ใช่ปรัชญา ปรัชญามันเป็นแค่การเทียบเคียงเท่านั้น แต่ศาสนาพุทธเป็นอริยสัจคือความเป็นจริง เป็นความเป็นจริงที่ทุกคนสามารถค้นพบได้ไม่ใช่ลักษณะพรรณาโวหารกัน อย่าลืมว่าอริยสัจคือความเป็นจริงของเรามันอะไรล่ะ ทุกข์ใช่มั้ย เหตุของการเกิดทุกข์ แล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร สอนปฏิปทาของความดับทุกข์ เมื่อเข้าถึงทุกข์ดับแล้วก็คือนิโรธ ใช่มั้ย
              สิ่งที่ท่านค้นพบเรียกว่า อริยสัจ คือ ความเป็นจริง เป็นจริงอย่างประเสริฐ คือ เถียงไม่ได้ด้วย สภาพที่แท้จริงของของทุกสิ่งทุกอย่างจัดอยู่ในไตรลักษณ์ คือถือว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้ยึดถือมั่น หมายถึง เวลาตายก็พังไปหมด เพราะฉะนั้นไอ้หลักวิชานี้มันเริ่มต้นขึ้นชื่อวิชามันก็ผิดแล้ว มันผิดตรงที่ว่ามันเป็นปรัชญาแล้ว มันไม่ใช่ปรัชญาแต่เป็นความจริงเลย
      ถาม :  ก็อยากจะถามอาจารย์ด้วยเหมือนกันว่าทำไมต้องนั่งเถียง แต่ว่าในฐานะของผู้สอนต้องทำไปตามนั้น แล้วก็โชว์สิ่งที่ไม่รู้ได้เต็มที่เลย
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วเราทำถูกนะ เราไม่รู้ก็บอกไม่รู้ แต่ว่าผู้ที่สอนน่ะ ในเมื่อมาถึงระดับนี้แล้วน่าจะมีความรู้ที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ใช่ศึกษาจากตำราแล้วเชื่อตาม การศึกษาจากตำราแล้วเชื่อตาม พระพุทธเจ้าท่านว่า ในกลามสูตรแล้วใช่มั้ยว่า อย่าเชื่อมันต้องทำให้ได้เห็นผลจริง ๆ แล้วค่อยเชื่อ เราจะเชื่อโดยสมณะนี้เป็นครูของเราก็ไม่ได้ โดยมีอ้างไว้ในตำราก็ไม่ได้ โดยเชื่อเพราะตรองแล้วว่าเข้ากับทิฏฐิ คือ ความเห็นของเราก็ไม่ได้ ท่านให้เชื่อก็ต่อเมื่อพิสูจน์แล้วด้วยตนเอง
      ถาม :  ถ้าพูดถึงเรื่องของการเกิด เวลาที่ผู้หญิงได้ตั้งครรภ์โดยสภาพการณ์หรือว่าคำว่าชีวิตนี่เกิดขึ้นเมื่อไหร่คะ ?
      ตอบ :  เมื่อจิตคือตัวรู้เข้าจับในสังขารที่เริ่มก่อเกิดนั้นซึ่งไม่เท่ากัน บางคนทันทีที่เชื้อของพ่อผสมกับไข่ของแม่ปุ๊บตัวจิตนี้ก็เข้าไปจับเลย แต่บางคนอาจจะรอถึง ๓ เดือน ๖ เดือน ถึงเข้าไปจับ บางคนอาจจะรอจนกระทั่งใกล้คลอดแล้วค่อยไปจับ บางคนนี่คลอดออกมาแล้วค่อยเข้าไปจับก็มี
      ถาม :  ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นคะ ?
      ตอบ :  ก็มันแล้วแต่ตัวกรรมที่ชักนำให้จิตนั้นเข้ามา ถ้าหากว่าของเขาเองจำเป็นต้องทรมานมากหน่อยก็เริ่มมันตั้งแต่วันแรกเลย ถ้าหากว่าน้อยหน่อยก็รอจนวาระสุดท้ายก็ได้ แต่ขณะเดียวกันว่าตัวบุญของเขาก็มีอยู่
              อย่างเช่น พระโพธิสัตว์เนี่ย ถ้าหากว่าตั้งแต่วันแรกเลยตัวจิตเข้าไปจับปุ๊บ ด้วยตัวบุญของเขาไม่ทำให้เขารู้สึกเลยว่าทุกข์ แล้วขณะเดียวกัน จิตรู้ก็สามารถรับรู้อาการทั้งภายในและภายนอกพร้อมกันด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีบางรายที่ออกมาข้างนอกแล้ว อาจจะ ๓ เดือน ๖ เดือนแล้วตายแล้วจิตถึงเข้าไปจับก็ได้ จิตเดิมพอออกไปจิตใหม่มาแทรกปุ๊บเลย ก็ทำให้ชีวิตนั้นอยู่ต่อไปแต่จิตเป็นคนละดวง
      ถาม :  เหมือนกับว่ามันคงจะจ้องเข้าบ้าน เดินเข้ามาจังหวะของเขาจะเข้าบ้านนี้ ตัวรู้เนี่ย ฟังดูเหมือนไม่ได้ทิ้งไม่ได้ขาดเนื่องเลย คืออยู่นอกบ้านปุ๊บก็เข้ามาถึงบ้านแล้ว แล้วทำไมเราถึงลืมสิ่งที่มันเคยเป็นมา ?
      ตอบมันผ่านประสบการณ์อื่นที่เข้ามาขัดจังหวะอยู่ช่วงหนึ่ง ต้องใช้คำว่า กฎของกรรมก็ได้ อย่างเช่น ถ้าว่าเราตายปุ๊บ เราลงนรกใช่ไหม...เราอาจจะต้องพ้นจากนรกมาเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ค่อยมาเกิดเป็นมนุษย์เนี่ย...มันจะทำให้ลืมชาติเก่าที่เป็นมนุษย์ เนื่องจากผ่านระยะเวลาที่นานมาก แต่ถ้าเราตายจากมนุษย์คือตายตอนนี้ปั๊บ แล้วเกิดใหม่เป็นมนุษย์เลย เราจะจำได้เหมือนกับหลับแล้วตื่น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าสังเกตดูแต่ละคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการระลึกชาติได้ ส่วนใหญ่ตายจากคนแล้วเกิดเป็นคนทันที
              ลองไปอ่าน ๆ ดู พวกที่ว่าระลึกชาติได้ ตายจากคนแล้วเกิดเป็นคนเลย ทำให้เขาสามารถระลึกได้ เพราะมันเหมือนกับว่าหลับแล้วตื่น แต่ถ้ามีประสบการณ์อื่น อย่างเช่นว่า เป็นเทวดาคั่นอยู่หรือว่าตกนรกคั่นอยู่อะไรนี่วาระของบุญของกรรม ที่มันเป็นตัวควบคุมนี่ก็จะตัดความรู้อันนั้นขาดเนื่องลงไป
      ถาม :  ฟังดูแล้วเนี่ย มันก็คือไม่ว่าจะไปโดยสภาวะหรือสภาพใดก็ตาม มันก็ยังน่า...ตัวสัญญา...
      ตอบตัวสัญญามันยังบันทึกความจำอันนั้นอยู่ จนกว่าเราจะไปฟื้นมันขึ้นมาใหม่ วิธีการฟื้นก็คือ ฝึกพวกทิพจักขุญาณ แล้วก็ไประลึกชาติย้อนหลังได้

      ถาม :  อย่างว่า ...เราหมดจากชาตินี้แล้ว พอเราตายไปตัวสัญญามันก็ยังคงอยู่
      ตอบ :  มันคงอยู่ มันไม่ไปไหน
      ถาม :  ทีนี้ ถ้ามันคงอยู่ แล้วทำไมมันเกิดลืม ในเมื่อตัวสัญญาก็ทำงานของมันไป
      ตอบ :  สมมติว่าเราตายปุ๊บจากชาตินี้นะ เราขึ้นไปเป็นเทวดาจริง ๆ แล้วมันยังจำได้ ใครเป็นญาติเป็นโยม เป็นพี่เป็นน้องของเรา แต่ว่าความสุขเฉพาะหน้าที่มันปราณีตยิ่ิงกว่าทำให้เขาเพลินอยู่กับตรงจุดนั้น แล้วก็หลงลืมอันนี้ไป ขณะเดียวกันถ้าเขาลงนรก ทุกข์โทษที่เขาได้รับมันก็สาหัสสากรรจ์ จนกระทั่งความคิดที่จะมาจดจำไอ้เรื่องเก่ามันไม่มี นอกจากภาวะเฉพาะหน้าของตน ก็เลยทำให้สิ่งนั้นเลือนไป
              เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามันมีการที่คั่นด้วยสุขหรือทุกข์ของชาติที่ต้องรับแล้ว โดยไม่ได้เกิดมาเป็นคนทีเดียวส่วนใหญ่จะจำไม่ได้ แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านันมันจะไปบันทึกอยู่ในสภาพของจิตเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถจะทำทิพจักขุญาณให้เกิดได้ เราย้อนกลับไปดู เราสามารถที่จะย้อนกลับไปดูทุกชาติที่เราต้องการ
      ถาม :  หมายความว่า ความจำในที่นี้ คือสิ่งที่เราจำไมได้ ไม่ได้หมายความว่ามันถูกเลือนไป ?
      ตอบ มันไม่ได้ถูกเลือนไป เพียงแต่เราจำมันไม่ได้ เพราะมันอาจจะนานเกินไป ถามตอนเด็ก ๆ เราทำอะไรมาบ้าง เราจำไม่ได้ ใช่ไหม...แต่ถ้าหากว่าเราฝึกทิพจักขุญาณได้ เราย้อนไปดู ความจำนั้นก็จะคืนกลับมา มันก็มีเครืองมือที่จะย้อนกลับไปค้นคว้าข้อมูลอันนั้นขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ว่าอันนี้พอพระพุทธเจ้าท่านสอนแล้ว คนส่วนใหญ่เห็นว่ายาก พอยากแล้วก็ปฏิเสธหรือไม่ก็ไม่มีความสามารถที่จะทำให้ถึงได้ ก็จะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนทุกอย่างท่านท้าพิสูจน์เอาไว้เลย
              ในเมื่อท่านต้องการให้เราพิสูจน์แต่เราเองไม่พิสูจน์ แล้วเราก็ปฏิเสธหรือว่าเชื่อโดยตรงเลย มันก็จะทำให้เรากลายไป ๒ สถานก็คือว่าถ้าเชื่อถูกก็เป็นอันว่ากำไร แต่ถ้าเชื่อโดยงมงาย โดยที่ผิดพลาดไป เราก็ขาดทุน เมื่อกี้เข้าใจถูกแล้ว ความจำนั้นยังจำอยู่ มันไม่ได้หายไปไหน แต่ว่าระยะเวลาที่ยาวนานทำให้ความจำนั้นมันเลือนไป เราก็ต้องฟื้นความรู้สภาพจิตเราให้แจ่มใสเหมือนเดิม แล้วเสร็จแล้วก็ย้อนกลับไปดูใหม่ ไม่อย่างนั้นแล้ว แต่ละชาติแต่ละภพที่ผ่านมาจิตมันโดนพอกด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ทำให้ความแจ่มใสของมันมัวหมองลงไป ไอ้ตัวจำมันก็พลอยเลือนไปด้วย
      ถาม :  เมื่อกี้นี้พูดถึงประเด็นที่ว่า การรับรู้ของแต่ละบุคคลในการที่อยู่ในครรภ์ของมารดาจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจิตของใครจะเข้าไปในช่วงนั้น ถ้ากรณีไปอยู่ประมาณ ๕-๖ เดือนแล้ว จิตก็ยังไม่เข้า แล้วสภาพ สภาวะ ของชีวิตตรงนั้นมันไม่มีตัวจิตเข้าไปอยู่
      ตอบ :  เขามีชีวิตเป็นปกติ เพราะว่าตัววิญญาณคือตัวประสาทความรู้สึกอะไรต่าง ๆ ของมันหมุนทำหน้าที่ปกติหมด ขาดตัวจิตตัวเดียว อย่าลืมว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาครบ เพียงแต่ว่ามันครบในลักษณะแบบเดียวกับพืชน่ะ ใช่ไหม...กินอาหารได้ เจริญเติบโตได้ทุกอย่าง แต่ตัวรู้ไม่มี
      ถาม :  บางที เวลาที่หมอหรือแม่... จิ้ม ๆ ไปถูกตัวเด็ก เขาจะมีการหนี มีการหลบ
      ตอบ :  นั่นแหละ คืออาการของประสาทร่างกายมันรับรู้ แบบเดียวกับพืชกินแมลง หรือไม่ก็ไมยราพน่ะ เราไปจิ้มมันปุ๊บทำไมมันหุบได้หลบได้ล่ะ นั่นเป็นประสาทรับรู้ของมันเฉย ๆ ภาษาพระ ตัวประสาทรับรู้นั้นเรียกว่า วิญญาณ ไอ้วิญญาณในความหมายของคนทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ เข้าใจว่าเป็นจิต คือตัวรู้ แต่ไม่ใช่ ... วิญญาณคือประสาทร่างกายเท่านั้น
      ถาม :  ก็อยู่อย่างนี้ไปเรื่อย แล้วออกมาไม่มีจิตเข้าไปก็คือตาย ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าไม่มีตัวจิตที่จะเข้าไปอยู่ การที่จะกระทำที่เรียกว่า กรรม มันก็ยังไม่มีน่ะ สามารถเลี้ยงดูไปเรื่อยนะ แต่ว่าตัวรับรู้อื่น ๆ ไม่มี บางทีเขาก็โตมาลักษณะเหมือนตุ๊กตาไขลาน ถ้ามันเป็นไปได้
              แต่เนื่องจากว่า มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตัวจิตวิญญาณคือตัวรู้ที่พร้อมปฏิสนธิ มันมีมากมหาศาลเหลือเกิน แต่ว่าจุดที่จะเข้าได้มันมีอยู่แค่หนึ่งเดียว เพราะฉะนั้น มันแย่งกันหัวทิ่มหัวตำ แล้วแต่ว่าบุญบาปของใครจะได้เกิดก่อน ยิ่งโบราณบางทีเขาว่าแสบ ๆ ว่าชิงหมาเกิด บางทีก็จริงเหมือนกัน (หัวเราะ) เขาแย่งกันอยู่เพราะฉะนั้น ตัวอย่างที่มันจะโตโดยปราศจากจิตคือตัวรู้มันก็เลยยังไม่มี
      ถาม :  แต่มันมีหรือคะ ถ้าพูดถึงว่าถ้ามันยังไม่มี แสดงว่ามันยังมีหรือคะ ?
      ตอบ :  มันสามารถมีได้
      ถาม :  มันไม่น่าเชื่อนะคะว่ามันจะมีได้ ?
      ตอบ :  ทำไมล่ะ ก็ต้นไม้มันไม่มีจิตทำไมมันโตได้ล่ะ
      ถาม :  เป็นการอยู่โดยไม่มีจิตเนี่ยนะคะ ?
      ตอบ :  เออ...แล้วเขามีอะไรนั่นน่ะ มันไม่รับรู้อะไรหรอก นอกจากสัญชาติญาณในการหากินของมัน รู้ว่าแสงแดดอยู่ด้านไหน ถ้าเอนเข้าไปหาเพราะประสาทสัมผัสของมันมี
      ถาม :  ถ้าอย่างนั้นกรรมของคนไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีการกระทำใด ๆ ก็ไม่มีผล ?
      ตอบ :  ก็ไอ้ตัวนั้นของเขาจริง ๆ มันยังไม่เรียกว่า คน มันยังไม่มีตัวจิตเป็นตัวควบคุม เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เขาทำมันก็เลยไม่จัดเป็นกรรม ในเมื่อไม่จัดเป็นกรรม มันจะเป็นบุญก็ไม่ใช่ เป็นบาปก็ไม่ใช่