ถาม :  ถ้าเกิดสมมุติว่าเขามีฆ่าคนล่ะคะ ?
      ตอบ :  มันจะไปฆ่าอีท่าไหนล่ะ คือเขายังไม่รับรู้อะไรไอ้ตัวอารมณ์ที่คิดจะไปทำอย่างอื่นมันไม่มี
      ถาม :  อย่างถ้าเขาไม่ได้ตั้งใจล่ะคะ ?
      ตอบ :  เอ้า...สมมุติว่าเหมือนอย่างกับต้นไม้แล้วกันนะ ถ้าหากว่าคนไปอยู่ใต้ต้นไม้ เผอิญกิ่งมันหักลงมาทับคนตาย เอาในลักษณะนี้ใช่ไหม...โทษไม่มีแต่ว่าคน ๆ นั้นเขามีกรรมอยู่ ทำให้ถึงวาระนั้นถึงเวลานั้น คน ๆ นั้นจำเป็นที่จะต้องสิ้นชีวิตลงไปด้วยสภาพใดสภาพหนึ่ง ก็ทำให้ต้องสิ้นชีวิตในลักษณะนั้น คือต้นไม้ทับตาย คน ๆ นั้นน่ะ เขาสร้างกรรมเอาไว้ แต่ต้นไม้นั้นไม่มีกรรมที่ต่อเนื่องไป เพราะว่าตัวจิตเจตนาที่จะฆ่าของเขานั้นไม่มี ตัวจิตที่มุ่งร้ายต่อผู้อื่นนั้นเขาไม่มี
      ถาม :  แต่ว่ามันไม่น่าเชื่อที่ว่า เจอ...
      ตอบ :  คือว่ามันมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ แต่โอกาสนั้นมันยังไม่เกิดขึ้น ก็เลยไม่มีตัวอย่างที่ให้เห็นชัด ๆ เพราะฉะนั้น ที่เรากลัว ๆ กันว่าเออ... ถ้าหากว่าโคลนนิ่งคนขึ้นมาใช่ไหม...
              สมมุติว่าโคลนนิ่งคนขึ้นมาแล้วเสร็จแล้วมันจะเหมือนอย่างกับต้นแบบทุกอย่างน่ะ มันเหมือนได้แค่หน้าตาเท่านั้น แต่จิตมันไปคนละดวงกัน ต่อให้โคลนนิ่งขึ้นมาสัก ๑๐๐ คน มันก็กลายเป็น ๑๐๐ ดวงจิต คือ ๑๐๐ ตัวรับรู้ที่เข้าไปอาศัยอยู่ มันสักแต่ว่าหน้าตาเหมือนกัน แต่การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างมันจะไม่เหมือนกัน มันอาจจะมีใกล้เคียงกันบ้าง เพราะว่าทำบุญทำบาปมาเสมอกัน ถึงต้องมาเกิดในวาระนั้น ในเวลานั้นที่ใกล้เคียงกัน มันอาจจะมีการกระทำอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกันได้ แต่ว่าสภาพจิตตัวรับรู้ ไอ้ตัวชอบ ตัวชัง มันคนละเรื่องกันเลย มันเป็นม้วนบันทึกเทปคนละม้วนกัน
      ถาม :  แล้วอย่างในกรณีของเด็กที่ปัญญาอ่อน ถ้าเขาไม่ได้เจตนาจะมีโทษไหมคะ ?
      ตอบ :  โทษมีแต่น้อย เจตนาอย่างเช่นว่าการฆ่าคนตาย มันต้องประกอบไปด้วย
              ๑. คนนั้นมีชีวิตอยู่ คือถ้าไม่มีชีวิตอยู่เขาเรียกว่าผีจ้ะ (หัวเราะ)
              ๒. เรารู้ว่าคนนั้นมีชีวิตอยู่
              ๓. เราตั้งใจฆ่า
              ๔. เราลงมือฆ่า
              ๕. เราฆ่าสำเร็จ
              ถ้าประกอบไปด้วย ๕ อย่างนี้โทษปาณาติบาตเต็ม ๑๐๐% ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งก็ลดไปตามส่วน คราวนี้ของเขาไม่มีเจตนาอะไรเลย อย่างเก่งก็โดนข้อสุดท้ายคือ ฆ่าสำเร็จ มันก็กลายเป็นว่ามีโทษแค่ประมาณ ๑ ใน ๕ เท่านั้น
      ถาม :  ไม่ทราบว่าเด็กที่ปัญญาอ่อนทำเหตุอะไรมา ?
      ตอบ :  ก็เยอะต่อเยอะด้วยกัน สมมุติว่า เราคุยกันเรื่องธรรมะ รู้ก็ทำเป็นไม่รู้ ไขหูไม่ฟังมันอะไรอย่างนี้ แกล้งโง่บ้าง อะไรบ้าง มันมีสารพัด แบบเดียวกับฟังพระทำเป็นไม่ได้ยิน เกิดชาติใหม่ก็เลยหูหนวก เห็นเขาทำบุญกลัวจะเสียสตางค์ทำเป็นไม่เห็น เกิดมาชาติใหม่ก็เลยกลายเป็นคนตาบอด พวกกรรมมันปรุงแต่งได้วิจิตรพิสดารกว่าที่เราคิด เมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมามันมีเด็กตัวติดกัน พวกนี้อธิษฐานว่าจะไม่พรากจากกันนะ เกิดมาตัวติดกันเพลินไปเลย เหลือเชื่อเลย...
              เรื่องการปรุงแต่งของกรรมบางทีมันเป็นไปตามเจตนาของเราเหมือนกัน เจตนาของเขาก็คือรักกันมาก ไม่อยากจะจากกันนะ ในเมื่อรักกันมากไม่อยากจะจากกันก็เลยอธิษฐานอย่างนั้น เลยกลายเป็นว่าไม่พรากจากกันจริง ๆ ตัวติดกัน (หัวเราะ)
      ถาม :  เวลาเกิดเนี่ย สิ่งที่สุขกับสิ่งที่ทุกข์มันไม่มีสัญญาจิตมามั่งหรือคะ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วมันมีติดมา แต่เราเองสามารถจะฟื้นกลับไปได้มั้ย ถ้าหากว่าเราทำความดีไม่เพียงพอในระดับหนึ่ง เราก็ไม่สามารถจะฟื้นมันกลับคืนมาได้ เพราะถ้าหากว่าฟื้นมันกลับมาได้ เราก็กลายเป็นคนดีหมดล่ะสิ มันจะกลายเป็นดีเพราะถูกบังคับ ไม่ใช่ดีโดยธรรมชาติที่จิตต้องการ
      ถาม :  แล้วตัววาสนาที่ติดอยู่ติดตัวมาตั้งแต่ชาติที่แล้วล่ะคะ ?
      ตอบ :  นั่นมันเป็นอาการหนึ่ง มันฝังรากลึกอยู่ในใจถึงเวลาถึงวาระมันแสดงออกโดยที่บางทีตัวเองก็ไม่รู้ตัว
      ถาม :  มันจะไปถูกนิสัยใจคอด้วยไหมคะ ?
      ตอบ :  นั่นแหละ ตัวนั้นเลยล่ะ
      ถาม :  ลักษณะบุคลิก ดุ๊กดิ๊ก ๆ
      ตอบ :  พูดชัด ๆ เลยว่า สันดาน (หัวเราะ) สันตติ แปลว่า สืบเนื่อง ภาษาไทยเขาเรียกง่าย ๆ ว่า สันดาน ในเมื่อมันต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ มันก็ฝังรากลึกอยู่จนกลายเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของเรา อย่างเช่นว่า ทั้ง ๆ ที่เรามีความรู้ แต่เราไม่มั่นใจในความรู้ของเราอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่ความรู้ของเรามี แต่ก็ไม่ค่อยที่จะกล้าเอ่ยปากกับใคร รู้มากกว่าเขา บางทีเขาสอนมาผิดก็ไม่กล้าบอกเขา ไม่กล้าเถียงเขา ก็ยุ่งกันใหญ่ มันปล่อยให้รายการของไตรภพเฉลยไปได้ยังไงว่า ศีลของภิกษุณีมี ๓๑๓ ข้อ มันมีแค่ ๓๑๑ ข้อ เถียงมันเข้าไปสิ บอกเขาว่าเปิดตำราแล้ว ๓๑๑ ข้อเนี่ย แจ๊คพอทแตกเลยมั้ย (หัวเราะ) ถ้าหากว่าแตกเลยก็นั่งเถียงไป (หัวเราะ)
      ถาม :  แล้วทำไม ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงละวาสนาได้ ?
      ตอบ :  ก็ของท่านเอง ทำไว้เยอะกว่าคนอื่นเขากำลังสูงกว่าอย่างน้อย ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป สาวกปกติแค่หนึ่งเดียว ท่านทำมากกว่า ๔ เท่า ในเมื่อทำมากกว่าตั้ง ๔ เท่า กำลังของท่านมากกว่านี่ สติสมบูรณ์พร้อมในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะตัว สัพพัญญุตญาน ในเมื่อรู้รอบขนาดนั้นก็เลยระวังทัน ระวังทันก็เลยเท่ากับว่าละได้ เพราะว่ายังไง ๆ มันก็ไม่มีโอกาสเกิด ระวังอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ของเราเองเอาอย่างนั้นมั้ยล่ะ พระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่มีสัพพัญญุตญาณเลย (หัวเราะ) สัพพัญญู แปลว่า รู้รอบ รู้ทั่ว รู้ทุกเรื่อง

      ถาม :  ถ้าอย่างนั้นเกิดมาแล้วได้รับการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมไหนก็ไม่เกี่ยวกับตัววาสนาสิคะ ?
      ตอบ :  ไม่ได้เกี่ยวกันจ้ะ
      ถาม :  เพียงแต่ว่านักวิชาการเขาดึงมาปรุง ๆ กันให้เป็นทฤษฎี
      ตอบ :  ก็ดูชินจังสิ แม่ของเจ้าเนเน่จังน่ะ โดนชินจังยั่วหน่อย ทั้งที่ผู้ดี๊ผู้ดี ตบะแตกคว้าตุ๊กตามาอัดใหญ่ นั่นน่ะสันดานเดิม
      ถาม :  คือมองอย่างนี้นะ บางทีว่าใช่ ยอมรับว่า ไม่ได้ปฏิเสธว่า เราทุกคนมีสิ่งที่อยู่ในใจพร้อมที่จะแสดงออกมา แต่ว่าในลักษณะของสภาพแวดล้อมของแต่ละคนที่เป็นอยู่มันก็มีส่วนที่จะขัดเกลา
      ตอบมันขัดเกลาและเปลี่ยนไปได้ แต่ว่่านั่นไม่ใช่จริตนิสัยที่แท้จริงของเรา ให้นั่งนิ่งอย่างนี้ทั้งวันเลยได้ไหมล่ะ ประสาทกลับ
      ถาม :  คือมันต่างกันไงคะ คือการนั่งอย่างนี้ โอเค มันเป็นเรื่องของกริยา เรื่องของความเป็นภูมิ
      ตอบ :  ก็เนี่ยแหละ ตัวอย่างนี้ สมมุติว่าเราได้รับการอบรม เพราะว่าต้องนั่งเรียบร้อย ๆ ท่านี้แล้วก็ให้เรานั่งอย่างนี้ทั้งวันน่ะ ประสาทกลับ มันไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเรา เราเองถ้าเราหกคะเมนตีลังกาได้จะมีความสุขมาก เราก็ทำอย่างนั้น แต่เรารู้ว่ากริยานี้สังคมไม่ยอมรับเราเอง เราก็ต้องพยายามปรับปรุงดัดแปลงของเราไปตามที่รับอบรมมา ตามที่สังคมภายนอกเขาต้องการกันอย่างนั้น แต่ใจจริง ๆ ของเรา ๆ ต้องการไหม
      ถาม :  แต่ว่าการที่เราถูกฝึกมาในลักษณะอย่างนี้ ในวันนี้นั่งไม่ได้ แต่วันหน้าก็ต้องนั่งได้
      ตอบ :  ใช่...แต่มันจะค่อย ๆ ไปไง ค่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมันกลายเป็นตัวของตนเองไป
      ถาม :  แต่...เพราะฉะนั้นตรงนี้นี่ มันก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ฝึกที่ขัดสิ่งเดิม ๆ สันดานเดิม ๆ
      ตอบ :  สามารถทำได้ก็บอกแล้วว่ามันไม่หมด อันนี้กล้ายืนยันว่ามันไม่หมด เพราะกระทั่งพระอรหันต์ก็ไม่หมด ยังเหลืออะไรบางอย่างอยู่ความเคยชินเก่า ๆ อยู่ แต่เพียงความเคยชินเก่าของท่านนั้นมันจะไม่เป็นโทษของคนอื่นเขา
              อย่างเช่นว่า พระสารีบุตรชอบเล่นกับเด็ก ก็เล่นกับเด็กเหมือนเดิมล่ะ (หัวเราะ) ใช่ไหมล่ะ คือมันไม่เป็นโทษต่อคนอื่นเขา เรียกว่ามันไม่ล่วงศีลของความเป็นพระของท่านมันช่วยได้ แต่มันช่วยยังไงก็ไม่หมด เพราะที่ผ่านมานับชาติไม่ถ้วน แต่ขณะเดียวกันว่าชาติที่เราทำความดีนี้เต็ม ๆ ก็คงประมาณ ๑ อสงไขยกับแสนมหากัป หรืออาจจะมากน้อยกว่านั้นตามแต่ความขยันเกิดมากกว่ากัน ความจริงมันไม่ใช่ขยันเกิด ถ้าสร้างกันมากมันก็เกิดนานหน่อย
      ถาม :  ก็ยังเห็นว่า คิดว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมปัจจัยภายนอกนี่ ยังมีผลที่จะช่วยได้ โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นเด็กเล็ก คือเข้าใจว่าเขาเป็นมายังไง ตอนนั้นเราเปลี่ยนไม่ได้ แต่การอบรมการค่อย ๆ พูด เหมือนกับว่าเอามีดผ่าภายนอกมันบ้าง
      ตอบ :  แต่แก่นแท้มันยังอยู่ เราก็บอกแล้วว่าภายนอกไง (หัวเราะ)
      ถาม :  ไม่ได้เถียงนี่คะ แต่ว่ามันมีส่วนที่ช่วย
      ตอบ :  มีส่วนจ้ะ ช่วยได้เยอะมาก ก็ตัวอย่างในธรรมบท ก็มีนกแขกเต้า ๒ ตัว โดนพายุพัดตกจากรังไป ตัวหนึ่งก็ตกไปในชุมโจรพอดี อีกตัวหนึ่งก็ตกไปอยู่อาศรมฤาษีเข้า แล้วเสร็จแล้ว พระราชาบังเอิญได้ไปทั้ง ๒ ตัว ตัวหนึ่งก็สวดมนต์ไหว้พระว่าตามพระฤาษีไปเรื่อยอีกตัวหนึ่งก็ กูจะฆ่า กูจะปล้น ท่าเดียวตามแบบโจรที่เขาว่านั่นน่ะ ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่นกเท่านั้น แต่ว่าซึมซับภายนอกเข้าไปยังทำให้กริยาวาจาของมันต่างกันขนาดนั้น
              แต่ว่าพระราชาท่านฉลาด ในเมื่อต้องการรู้ก็ถามผู้รู้ วิธีถามง่ายที่สุดก็คือถามพระพุทธเจ้า (หัวเราะ) พระพุทธเจ้าก็เลยบอกให้ฟังว่า ตัวหนึ่งมันไปตกอยู่ในชุมโจร อีกตัวหนึ่งไปตกอยู่ในอาศรมฤาษีพอดี เลยกลายเป็นเข้าวัดเข้าวาไปตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งเป็นโจรไปเลย (หัวเราะ) มันมีส่วนเยอะ แล้วก็จำเป็น ทุกชาติที่เราเกิดมาจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ใช้กรรมเฉย ๆ แต่เราพยายามขัดเกลาสภาพจิตของเราให้มันดีขึ้น ๆ ไป เรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็หลุดพ้นได้ แต่ว่ากระทั่งว่า หลุดพ้นแล้วถ้าหากว่ายังดำรงขันธ์ คือยังมีชีวิตอยู่ ถึงสภาพจิตสะอาดถึงที่สุดแล้วก็ตาม จริตนิสัยที่แท้จริงแต่ดั้งเดิมของตนเองมันก็ยังไม่ได้ที่จะขัดเกลาให้มัน ๑๐๐% เต็มในลักษณะนั้น มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะละตัว...
              ท่านใช้คำว่า วาสนา ก็คือสิ่งที่มันสืบเนื่องกันมายาวนานจนประมาณไม่ได้ นี่มีพระพุทธเจ้าท่านละได้องค์เดียว องค์อื่นยังความสามารถไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าสิ่งที่เป็นวาสนาสืบเนื่องของท่านเมื่อถึงวาระนั้นแล้วมันไม่เป็นโทษกับคนอื่น ท่านก็เออ...ช่างมันเหอะ ไม่ต้องเสียเวลาไปทำมันหรอก
      ถาม :  ความเข้าใจของคนจะเข้าใจว่าวาสนาลักษณะดี
      ตอบ :  บุญเก่าส่ง ใช่ไหม...แต่จริง ๆ แล้วตัวนี้ก็คือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่มันสืบเนื่องฝังใจมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมันส่งผลมาให้น่ะ ทั้งส่วนบุญส่วนบาปเลยไม่ใช่เฉพาะบุญอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเขาถึงใช้คำว่า วาสนาดี วาสนาไม่ดี มันเหมือนกับตัวกรรมแต่ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็คือชั่ว กุศลกรรมก็คือดี ตัววาสนาก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นทั้ง ๒ สิ่งรวมกันส่งผลให้มาอยู่ปัจจุบันในนี้