ถาม :  ศีลข้อมุสาเป็นอย่างไรคะ ?
      ตอบศีลข้อ “มุสา” ถ้าเราหลอกลวงเขา แล้วผลประโยชน์ที่ได้จากการหลอกลวงมาอยู่กับตัวเรานี่ผิด ๑๐๐% แต่ว่าบางทีบางสิ่งบางอย่างมันจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น เช่นถ้าหากเพื่อนกำลังทำงานอยู่ กำลังมีความเจริญก้าวหน้าในการงานอยู่ แล้วเกิดเรื่องร้ายไม่ดีขึ้นกับทางครอบครัว สมมุติว่าพ่อแม่ป่วยอยู่แล้วเกิดตาย แต่โทรศัพท์มาบอกเรา กลัวเพื่อนจะรับไม่ได้ ถ้าเพื่อนถามก็บอกว่า เขามาบอกว่าแม่ป่วยอยู่นะตอนนี้อาการดีขึ้นมาหน่อยแล้ว แต่ยังไม่พ้นขีดอันตรายให้ทำใจเผื่อไว้บ้างนะ ถ้าเป็นลักษณะนี้เขาไม่ถือว่าโกหก การโกหกที่ผิดจริง ๆ ก็คือ หลอกลวงเขาและผลประโยชน์การหลอกลวงเกิดขึ้นกับเรา ต่อไปหาทอฟฟี่หรือฮอลล์เม็ดโต ๆ มาอมไว้แล้วให้ตั้งใจไว้ว่าเราจะไม่โกหก พอถึงเวลาขยับลิ้นมันกระทบเมื่อไหร่ อ๋อ! เราตั้งใจจะไม่โกหกมันจะได้หยุดทัน คงเปลืองทอฟฟี่น่าดูเลย
      ถาม :  บางทีสมมุติเรารับโทรศัพท์ที่ทำงาน เขายังไม่เข้ามาเขาอาจจะติดธุระก็ได้ ?
      ตอบ :  ได้จ้ะ เวลาเขามาแล้วรีบบอกเขา อย่างเช่นเจ้านายโทรศัพท์มาก็บอกว่าตอนนี้เขาอยู่ห้องน้ำ มีอะไรสั่งไว้ได้เลยเดี๋ยวออกมาแล้วจะบอกให้ ถึงเวลาแล้วรีบบอกเพื่อนไป เรื่องการโกหกนี้มันมีเรื่องของกาย วาจา ใจ
      ถาม :  .................................
      ตอบ :  จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าขณะเดียวกันถ้ามองอีกอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อเขาทำเขาก็ต้องได้รับผลอันนั้น ผลกรรมที่เขากระทำ บุคคลรอบข้างเขาต้องเคยสร้างกรรมร่วมกันมา ถึงได้เกิดอยู่ใกล้ชิดกัน ในเมื่อเคยสร้างกรรมร่วมกันมา ถึงเวลากรรมนั้นก็จะส่งผลกระทบถึงเขาได้เช่นกัน
              ถ้าเรามองในจุดนี้ตั้งใจอยู่อย่างว่า ถ้าหากว่าเราไม่ทำในจุดนี้ต่อไป เขาอาจหลอกลวงหรืออาจจะคดโกงคนอื่นต่อไป เราจะจัดการเพื่อให้ทุกอย่างมันดีขึ้นก็ทำไป แต่ขณะเดียวกันถ้าหากว่าเราสงสารกลัวว่าคนที่อยู่รอบข้างจะได้รับการกระทบไปตาม ๆ กัน ก็คิดเสียว่าเราเคยทำเขามาก่อนแล้วชาตินี้เขาเลยมาทำอย่างนี้กับเรา ๆ ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งไปเกี่ยวอะไรกับเขาหรอก เพื่อจะได้ไม่ต้องสร้างกรรมต่อเนื่องกันไป คนประเภทนี้ไปทำใครเข้าเดี๋ยวไปเจอคู่ปรับของเขา ๆ ก็เฉ่งกันเองแหละ ถ้าทำใจอย่างนั้นได้ก็ถือว่าประเสริฐแล้ว
      ถาม :  ถ้าเราไปทำเขา เราจะบาปไหมคะ ?
      ตอบถ้าหากเป็นการตรงไปตรงมา ตามศีลตามธรรมหรือตามกฏหมายก็ไม่เป็นไร คือในลักษณะที่ว่าจัดการเพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น แต่ว่าขณะเดียวกันถ้าหากเราเมตตาสงสารจริง ๆ ก็เออ! เรื่องของมันเหอะ! เดี๋ยวคนอื่นเขาเล่นมันเองแหละ ถ้าเป็นอาตมาก็โชะร่วงไปเลย นิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ของเรามันชอบทำอะไรตรง ๆ เล่นไม้สั้นตีกันตรง ๆ ไม้สั้นมันตีโค้งไม่ได้หรอกไม่ทันเขา มันต้องไม้ยาว ๆ มันเกิดอีกนานเราไม่ชอบ เพราะฉะนั้นก็เอาไม้สั้นนี่แหละตีกันตรง ๆ จบแล้วจบเลย คุณจะตามทวงคุณก็ไปตามทวงให้ได้แล้วกัน เราก็ตั้งหน้าตั้งตาไปนิพพานของเรา
      ถาม :  รู้สึกเขาเอาเปรียบเรามากเกินไป เห็นว่าเราเป็นอะไร สิ่งที่ได้ตัวเขาเองก็ไม่สำนึก
      ตอบ :  คนประเภทนี้มีเยอะจ้ะ มันแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คนเรามันไม่กลัวความดี มันกลัวแต่คนที่ชั่วกว่า อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวทั้ง ๆ ที่เป็นพระนี่แหละ บางทีต้องออกอาละวาดไล่ลุยกับชาวบ้านจนกระทั่งเขาเห็นว่า ของเรารับรองว่าสามารถเล่นงานเขาสาหัสได้แน่ ๆ เขาถึงยอม มันกลายเป็นคนไม่กลัวความดี แต่กลัวคนที่ชั่วกว่า
              จริง ๆ แล้วก็ไม่ควร ตอนที่ไปทำนั้นเป็นการรักษาของสงฆ์ที่เขาขโมยของเราจำเป็นต้องจัดการ ถ้าเขาไม่เกรงกลัวเราเขาก็จะทำไปเรื่อย ๆ ทุกคนบอกว่าตัวเองทำดี ปล้นเขากินก็ดีสบายง่ายด้วย แต่ว่าทุกคนที่มันดีเพราะกำลังใจของตัวเองมันดีแค่นั้น ที่ดีกว่านี้ก็ยังมี ปล้นเขากินดีไหมล่ะ มันบอกดีสบายไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน ดีแค่นั้นจำตัวนี้ไว้ให้ดี มันดีแค่นั้นมันถูกแค่นั้น ส่วนที่ดีกว่านั้น ถูกกว่านั้นยังมี พอเราก้าวพ้นมองข้ามมาก็ อ้าว! ที่แท้มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ส่วนที่ดีกว่ายังมีทำไมเราก้าวข้ามไปได้ก็ไม่รู้
      ถาม :  แรก ๆ คิดว่าทำไมแต่ก่อนเราคุยกันรู้เรื่อง แต่เดี๋ยวนี้ทำไมคุยกันไม่รู้เรื่อง ?
      ตอบ :  ประเภทคุยกันคนละเรื่อง ของเราพยายามจะอิงไปทางด้านศีลธรรม แต่ของเขาเองพยายามจะเลี้ยวเข้าไปหาในเรื่องของประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงศีลถึงธรรม มันก็เลยคุยกันไม่รู้เรื่อง
      ถาม :  มันทำให้เรามองว่า เอ๊ะ! การที่เราพยามปฏิบัติธรรมแต่มันทำให้เราแยกตัวเองออกมาต่างหากหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ไม่ใช่จ้ะ เรายังอยู่กับโลกแต่ว่าเรามีศีลเป็นกรอบ เคยเห็นน้ำที่มันอยู่บนใบบัวใบบอนไหมล่ะ! มันกลิ้งไปกลิ้งมาแต่มันไม่ติดบนใบบัวใบบอนอะไรเลย ลักษณะของการอยู่กับโลกของเราก็ให้อยู่ในลักษณะอย่างนั้น ยังกลิ้งอยู่ในโลกแต่ไม่ติดในโลก แต่เมื่อไปสุดขอบของศีลเมื่อไหร่เราเลี้ยวกลับปล่อยให้ที่เหลือเป็นเรื่องของกฎของกรรมเข้ามาจัดการก็แล้วกัน เราไม่มีหน้าที่ไปยุ่งด้วย
      ถาม :  แต่มันดีที่หนูได้พิจารณาหลาย ๆ อย่าง
      ตอบ :  จ้ะ ทำไปเถอะ อยากรู้อะไรก็ต้องเข้าไปอยู่วงการนั้น ๆ
      ถาม :  .................................... ?
      ตอบ :  ไม่เป็นไร อนุญาตให้บวชชีได้
      ถาม :  บวชชีก็เคยไปลองบวชชีพราหมณ์ รู้สึกว่าต้องสู้กับตัวเองเรามามันก็ยังมีเรื่องโลกเข้ามาเกี่ยว
      ตอบ :  เป็นปกติจ้ะ จะเป็นพระเป็นชีก็ตามก็คือลูกชาวบ้านนั่นแหละ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนเครื่องแบบการแต่งตัว เปลี่ยนกติกาการดำเนินชีวิต แต่รัก โลภ โกรธ หลง ในใจมันยังไม่เปลี่ยนนี่ ในเมื่อมันยังไม่เปลี่ยนถ้ายอมเดินตามกติกาของตน พระก็ถือศีล ๒๒๗ ข้อ ชีก็ถือศีล ๘ ถ้าหากว่ายังเดินอยู่ในกติกาของตัวเองมันก็ยังไม่น่าเกลียดมาก แต่ถ้าหลุดออกนอกกรอบนอกกติกาเมื่อไหร่มันสร้างความเสียหายกับศาสนาอย่างใหญ่หลวงเหมือนกัน
              การบวชชีก็คือถือศีล ๘ เป็นการเอารูปแบบบังคับตัวเอง คนอื่นเขาเห็น เออ! คนนี้ตั้งใจบวชชีนะ ถ้าหากขึ้นรถเมล์ไปเบียดผู้ชายเข้าหน่อย คนก็มองตาเขียวปั้ดแล้ว ยายชีนี่ทำไมไม่รู้เลยว่าตัวเองจะต้องถือศีล ๘ ห้ามถูกเนื้อต้องตัวผู้ชาย แต่ถ้าเราถือศีล ๘ ขึ้นรถแมล์มันจำเป็นต้องเบียดอยู่แล้ว เจตนาของเราในทางเพศมันไม่มี เราเบียดลุยเข้าไปเถอะ ๓ คัน ๘ คันก็ไม่มีใครว่าทั้ง ๆ ที่เราก็ถือศีล ๘ เหมือนกับแม่ชี
              เพราะฉะนั้นการที่ถือศีลในลักษณะของการโกนหัว นุ่งขาวห่มขาวเป็นการเอารูปแบบบังคับตัวเอง เอาคนรอบข้างบีบตัวเองให้อยู่ในกรอบของความดี แต่ถ้ากำลังใจของเราสามารถถือศีล ๘ ได้ในลักษณะของฆราวาสหัวดำ อันนี้เก่งกว่า เก่งกว่าตรงที่เรามีโอกาสจะนอกคอกได้ตลอดเวลา แต่เราไม่ทำเราอยู่ในคอกของเราได้ แต่อันโน้นต้องบังคับให้คนอื่นเขามาช่วยล้อมกรอบให้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นฆราวาสถือศีล ๘ ได้ดีกว่าเยอะเลย
              สมัยอยู่วัดท่าซุง หลวงพ่อท่านบอกว่า ชุดขาวไม่ต้องหรอกเสียสตางค์ซื้อ ผ้าลายก็ได้แต่ให้ตั้งใจทำให้ดีก็แล้วกัน
      ถาม :  ................................... ?
      ตอบ :  ก็บอกแล้วว่าถ้าหากว่าเรารู้ในสิ่งนั้น ๆ บางทีอาจจะมี ๒ อย่าง อันแรกคือ ขาดความศรัทธา หมดอยากไปเลย อันที่สองคือ เกิดฮึดขึ้นมาว่าในเมื่อเขาทำดีไม่ได้เราจะทำให้ได้ ควรจะฮึดมากกว่า อย่างน้อย ๆ ศาสนาฝากความหวังไว้กับคุณไม่ได้ฝากไว้กับฉันก็ได้
      ถาม :  นั่งสมาธิแล้วมีอาการปิติ มารมาแทรกพยายามจะสู้กับมัน จะทำอย่างไรดีครับ ?
      ตอบถ้ากำลังใจอยู่กับลมหายใจเข้า – ออกอย่างแท้จริง มันเข้ามาไม่ได้ ที่มันเข้ามาได้ เพราะเราเผลอไปเปิดช่องให้มัน มี ๒ วิธี อันดับแรก ย้อนกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกของเราอย่างจริง ๆ จัง ๆ อันดับสองเมื่ออยู่กับลมเข้า-ออกอย่างจริง ๆ จัง พอสมาธิทรงตัวสิ่งนี้ก็จะถอยไป อีกอย่างหนึ่งกำลังมันสูงมากเราต่อต้านไม่ไหว ให้เอาสติคอยดูมันไว้ว่ามันอยากจะคิดอย่างไรให้มันคิด พวกนี้ถ้าเราปล่อยให้มันคิดบ้าไปจริง ๆ คิดไม่เกินชั่วโมงหรอกมันเหนื่อยเหมือนกัน มันก็จะหยุด อย่างเก่งมันก็สร้างโลกไปเรื่อย ๆ จะมีเมียกี่คน จะมีผัวกี่คน จะมีลูกกี่คน จะมีบ้านกี่หลัง จะมีรถกี่คัน แล้วสุดท้ายก็สรุปกลับมาว่าเราทำอะไรหว่า
              เมื่อเราได้สติ เราก็รีบกลับมาภาวนาต่อ เพราะมันเหนื่อยแล้ว เหมือนกับม้าพยศ กำลังมันยังดีอยู่ เราเอามันไม่อยู่ก็กอดคอมันไว้ปล่อยมันวิ่งไป มันเหนื่อยเมื่อไหร่เราค่อยลากมันกลับมาเข้าคอกใหม่
              เพราะฉะนั้นอันดับแรก ถ้ากำลังเราสูงพอสติคืนมาเร็ว ก็รีบกลับไปภาวนาไล่มันออกไป แต่ถ้าไล่มันไม่ไหวเพราะกำลังมันสูงกว่า ก็กอดคอมันไว้ แล้วคอยดูมันแล้วกันว่าจะได้สักเท่าใด ไปได้ไม่นานหรอก เท่าที่ดู ๆ มาอย่างเก่งสักครึ่งชั่วโมงกว่าก็เจ๊งแล้ว บางที ๕ นาที ๑๐ นาทีเท่านั้นเอง
      ถาม :  ว่าจะไม่ติดกลับติด จะได้แต่เหมือนกับไม่ได้ บางวันเหมือนจะได้เรื่องของฌานสมาบัติอะไรอย่างนี้
      ตอบ :  มีอยู่ ๒ อย่าง สาเหตุอย่างแรกคือ ทำไม่พอ อย่างที่สองคือทำเกิน ฟังให้ดี ๆ ที่ทำไม่พอก็คือว่าเรื่องของสติ สมาธิ ถ้าเราสามารถรักษาทรงตัวต่อเนื่อง ความแจ่มใสของอารมณ์ถึงจะเกิด ถ้าหากว่ารักษาต่อเนื่องกิเลสจะถอยไป ตอนนั้นเรื่องของฌานสมาบัติก็ดี ความเป็นทิพย์ก็ดีจะเริ่มเกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าเราไม่สามารถรักษาต่อเนื่องได้ ก็จะไม่เกิด
              ส่วนอีกอย่างก็คือ ทำเกินเนื่องจากเราอยากได้จนเกินไป แล้วไปตั้งใจทุ่มเทให้กับมัน ตัวทำเกินนี้จะเป็นตัวฟุ้งซ่านเขาเรียกว่า “อุธัจจะ” การปฏิบัติก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ เรามีหน้าที่รดน้ำพรวนดินดูแลหนอนแมลงของมันไป แต่เราไม่มีหน้าที่บังคับให้ออกดอกออกผล เราทำหน้าที่ของเราให้ดีพอ ถึงเวลาดอกผลจะเกิดเอง จะต้องรอการสะสมสักระยะหนึ่งเหมือนกัน พอกำลังมันพอมันก็จะได้ ถ้าเราลองไปดึงยอดมันบอกโตเร็ว ๆ หน่อยเถอะพ่อคุณ จะได้ออกดอกออกผลเร็ว ๆ มันจะตายเสียก่อน
      ถาม :  ต้องเป็นเพราะบารมีเก่าด้วยหรือเปล่าที่ไม่ได้สั่งสมมา ?
      ตอบ :  ไม่ต้องจ้ะ ไม่ต้อง คนเราถ้าตั้งใจจะทำ มีบารมีเก่าพอแล้วทุกคน ถึงได้บอกว่าสาเหตุเกิดจากทำเกินกับทำขาดเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรหรอก วิเคราะห์ตัวเองได้เลย ถ้าไม่เกินก็ขาดมีอยู่ ๒ อย่าง แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำไป ถ้าเกินก็ลดความตั้งใจลงมานิดหนึ่ง เรามีหน้าที่ภาวนาจะเกิดอะไรขึ้นช่างมัน ถ้าสามารถทำอย่างนี้จะเป็นสมาธิได้เร็ว แต่ขณะเดียวกันถ้าทำขาดก็เพิ่มความตั้งใจขึ้นอีกนิดหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของศีลสำคัญมาก ถ้าหากว่ารักษาศีลได้ทรงตัวสมาธิจะตั้งมั่นได้เร็ว ถ้าศีลไม่ทรงตัวยังขาด ๆ หลุด ๆ อยู่ โอกาสสมาธิทรงตัวก็น้อยไปด้วย
      ถาม :  ขอคำชี้แนะหน่อยค่ะ ในสภาพเช่นนี้ดวงเกี่ยวไหมคะ ?
      ตอบ :  ดวงไม่เกี่ยวจ้ะ ดวงจริง ๆ คือกรรมเก่าที่เราทำมา คำว่า “กรรม” มีทั้งกรรมดี-กรรมชั่ว กรรมดีเรียก “กุศลกรรม” กรรมชั่วเรียก “อกุศลกรรม” มันส่งผลให้เราอยู่ตลอดเวลา
              คนเราเกิดมาถ้าเป็นคนได้ถือว่าดวงดีแล้ว คำว่าดวงดีก็คือ ต้นทุนบุญเก่าต้องมีพอถึงได้เกิดเป็นคน ไม่อย่างนั้นเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานไปแล้ว ในเมื่อต้นทุนมีเพียงพอก็ถือว่าดวงดีแล้ว ถ้าเราตั้งใจจะปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนาด้วย ก็แสดงว่าบารมีเก่าสร้างสมมาพอแล้ว ก็ดูการทำในปัจจุบันก็แล้วกันว่าทำอย่างไร เอาจริงเอาจังแค่ไหน ตั้งใจมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ย่อหย่อนเกินไปก็ไม่ได้ แข็งเกินไปตึงเกินไปก็ไม่ดี ต้องพอดี ๆ แล้วตัวพอดีนี่ลำบากที่สุดมันไม่มีมาตรฐานเฉพาะขึ้นอยู่กับกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังบุญบารมีที่สร้างสมมา บางคนนั่งสมาธิ ๓ วัน ๓ คืนสบาย เรานั่ง ๓ นาทีจะตายให้ได้ นั่นพอดีของเขา ส่วนพอดีของเราก็คือ ๒ นาที
              เพราะฉะนั้นในเมื่อตัวมัชฌิมาปฏิปทาก็คือ ตัวพอเหมาะพอดีของแต่ละคนมันไม่มีมาตรฐาน เราก็ลองดูถ้าหากว่าทำ ๆ ไปแล้วรู้สึกว่าไม่ไหวให้ลองฝืนดูนิดหนึ่ง ถ้าฝืนนิดหนึ่งแล้วมันไปต่อได้แสดงว่าเมื่อกี้กิเลสมันบอกว่าไม่ไหว ไม่ใช่ความดีบอกว่าไม่ไหว แต่ถึงฝืนแล้วไปต่อได้อย่าให้เกิน ๒ ชั่วโมง
              อาตมาไปลองทำดูกำลังใจสู้เขาไม่ได้ จิตใจมีคุณภาพอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ที่เหลือด่ามันไปเรื่อย มันจะนั่งหาพ่อหาแม่อะไรของมันนานขนาดนี้ เมื่อยก็เมื่อย เหนื่อยก็เหนื่อย เพราะฉะนั้นทำแค่กำลังใจของเราดี เรื่องของการปฏิบัตินี้เอาแค่เสมอตัวกับกำไรอย่าให้ขาดทุน รู้สึกว่าไม่ไหวกำลังใจชักจะเป๋ออกนอกทางให้เปลี่ยนใหม่เอาใหม่ การที่เราอยู่ในโลกนี้มันอยู่กับความทุกข์อยู่กับกิเลสตัณหาอุปาทาน อกุศลกรรมมีแต่จะชักพาเราลงต่ำ ต้นทุนของเราคือการเกิดเป็นมนุษย์อย่างน้อยมีศีล ๕ พอแล้ว เรารีบต่อทุนแล้วหนีมันให้ไกล สภาพร่างกายมันเหมือนบ้านที่ไฟกำลังไหม้อยู่ ถ้าเราอยู่ต่อไปรังแต่จะโดนไฟเผาตายเสียเปล่า ๆ ถ้าเราคิดได้ตรงนี้ว่าไฟกำลังไหม้มาถึงหัวแล้ว ยังไม่รู้จักรีบหนีอีก บอกไม่มีกำลังใจ ก็สมควรตาย
      ถาม :  อันนี้ใช้อย่างไรคะ ?
      ตอบ :  แปะหน้าผากจ้ะ ผ้ายันต์เกราะเพชรจ้ะ คาถายันต์เกราะเพชรก็อิติปิโสทั้งหมด ติดรถก็ได้ ติดบ้านก็ได้ ติดตัวก็ได้ ยันต์เกราะเพชรคือบารมีพระพุทธเจ้าท่าน ตั้งใจนึกถึงพระได้เป็นดี
      ถาม :  ก่อนหน้านี้ก็ไปหาอาจารย์หลายสำนักค่ะ ที่โน่นก็ดีที่นี่ก็ท่าจะดี ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ทีนี้ก็มาพิจารณาตัวเองเสียมากกว่า
      ตอบ :  จริง ๆ ก็คือว่าทุกสำนักเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนแล้วมาสอนต่อ เพียงแต่ว่าท่านชำนาญตรงจุดไหนเหมือนกับร้านอาหาร ร้านโน้นทำก๋วยเตี๋ยวเก่งก็ขายก๋วยเตี๋ยว ร้านนี้ทำข้าวแกงเก่งก็ขายข้าวแกง โน่นเก่งโจ๊กก็ขายโจ๊ก นี่ได้แค่น้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋ก็ขายไป เราชอบอาหารรสไหน ถูกใจในรูปแบบของการปฏิบัติสำนักไหนก็ทำไป คำว่าผิดไม่มีหรอก เพียงแต่ถูกมากถูกน้อยเท่านั้นเอง เหมือนกับคนกินอาหารพอเข้าไปร้านนี้ก็กิน ๆ ไปตอนแรกมันหิว มันรู้สึกว่าดี กินไปกินมา รสชาติยังไม่ถูกใจจริง เดี๋ยวเราก็ไปหาร้านอื่นที่เราคิดว่าเราถูกใจของเราต่อไป ทั้งหมดนั้นก็คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมกายก็ดี มโนมยิทธิก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี หรือว่าสมาธิหมุน หรือว่าการตัดกรรม หรือว่าอะไรก็ตามล้วนแล้วแต่อยู่ในหลัก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทั้งนั้น เราชอบอันไหนเราทำอันนั้น ตั้งหน้าตั้งตาทำให้จริงเท่านั้น ถ้าทำจริงก็จะเกิดผลดีกับเราทั้งนั้น ไปลองสมาธิหมุนมาหรือยังจะได้หมุนกันให้หัวปั่นไปเลย
      ถาม :  ยังไม่ลองค่ะ มีสามีกับพ่อทำสมาธิหมุน
      ตอบ :  สมาธิหมุน จริง ๆ ก็คือ มหาสติ
      ถาม :  ที่บ้าน ๒ คนได้ พ่อเห่เป็นภาษาต่าง ๆ ได้ ซึ่งปกติเขาจะไม่เคยเป็น แต่พอนั่งสมาธิ เข้าสมาธิได้ปุ๊บจะเห่แบบโบราณ ก็คุ้น ๆ ว่าเป็นคนทางไหน พอดีมีอาจารย์เขาดูให้ว่าเป็นพราหมณ์สมัยโบราณติดตัวมา
      ตอบ :  รับรู้ไว้จ้ะ รู้ไว้ด้วยความเคารพแล้วก็กองไว้ตรงนั้น สำคัญแต่ปัจจุบันเราเป็นอะไร แล้วเราทำอะไร ทำปัจจุบันให้ดีอนาคตเราดีแน่
      ถาม :  เคร่งมาก ดิฉันเองก็ยังห่วงเขาอยู่ เขาทำสมาธิ ๔ – ๕ ชั่วโมง
      ตอบ :  ไม่ต้องห่วงหรอกจ้ะ ถ้าเขาทำไหวนั่นมันพอดีของเขา
      ถาม :  พอดีเขาบอกก็นั่งได้เหมือนกับฌานลงมา จะไปเองเพราะฌานถอยหลังก็ได้ เลื่อนหน้าก็ได้ แล้วก็หมุนตัว คือว่าจังหวะนั้นจะเกิดเองตามธรรมชาติหมุนตัวได้ ถอยได้อะไรอย่างนี้ บริเวณจะเป็นกว้าง ๆ เสร็จแล้วเขาบอกว่าเขาไม่รู้สึกจนกว่าสมาธิลดเอง
      ตอบ :  บอกท่านว่าโปรดระวังจะเจออย่างอาตมานะจ๊ะ ของเราตอนนั้นมันไม่นึกกำลังสมาธิอยู่ เอ๊ะ! อะไรพรึบ ๆ อยู่ข้างเอวก็ลืมตาดูเป็นพัดลม เกือบจะโดนพัดลมเพดานฟันตายแล้ว มันขึ้นไปตอนไหนก็ไม่รู้อยู่ห่างพัดลมนิดเดียว ตกใจมันก็เลยสมาธิคลายตัวเร็วไปหน่อย ร่วงตุ๊บ! วันนั้นเกิดแผ่นดินไหว
      ถาม :  บางทีพอนั่งสมาธิเห็นเป็นแสงวิ่งเข้าบ้านก็มีคือเห็นเป็นจังหวะ
      ตอบ :  ลักษณะของการเห็นให้รับรู้ไว้เฉย ๆ อย่าลืมถ้ามีโอกาสบอกโยมพ่อไว้ด้วยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นปกติของนักปฏิบัติ ถึงวาระถึงเวลา ถ้าทำถึงมันจะเป็นเอง แต่อย่าเพิ่งไปเชื่อมัน รับรู้ไว้เฉย ๆ ให้จิตของเรามุ่งตรงอยู่ในทาน ศีล ภาวนา หากว่าศีล สมาธิ ปัญญาของเราพอ ให้ตั้งใจดูว่าทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้
      ถาม :  ก็คิดว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ แต่ในหัวก็คิดว่าเมื่อไหร่จะร่ำรวยสักที เพื่อที่จะได้มีกินมีใช้
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นคิดผิดแล้ว ที่ทุกอย่างเป็นทุกข์เขาให้รู้จะได้เข็ด แล้วก็ไม่อยากเกิดอีก ไม่อยากจะสร้างลูกสร้างเต้าต่อไป
      ถาม :  ทุกวันก็รู้สึกว่าเป็นทุกข์หลาย ๆ เรื่อง แต่มันเหมือนกับว่าสังขารมันยังต้องอยู่ ต้องกิน ต้องใช้ ก็เลยจำเป็นต้องมีในเรื่องของลาภสักการะทั้งหลาย ก็ยังอยากได้อยู่
      ตอบ :  เรื่องปกติจ้ะ เมื่อกี้บอกไปแล้ว เป็นพระโสดาบันเช่นนางวิสาขา มีเครื่องประดับชิ้นเดียวราคา ๙๐ ล้านเป็นเรื่องปกติ นั่นพระอริยเจ้านะจ๊ะ