ช่วงแรกของเล่ม "กรรมฐาน ๔๐"

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  .........................................
      ตอบ :  อุเบกขาในการงานก็เหมือนกัน จบลงแล้วตรงที่ตรงนั้นก็ให้มันจบลง หมายความว่าหมดวันปุ๊บกองงานเอาไว้ที่ทำงาน ตัวเราก็กลับเป็นของเรา อีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่พ้นจากที่ทำงานกลับคืนบ้าน ก็เป็นเวลาที่เราจะกอบโกยผลบุญของทาน ศีล ภาวนา ของเราให้มันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะว่าบางคนต้องใช้คำว่าความจำเป็นในหน้าที่การงาน ทำให้รักษาศีลได้ไม่ครบข้อ อาจจะต้องพูดในลักษณะโกหกเขาบ้าง อาจจะต้องมีการสังคมเอนเตอร์เทนกับลูกค้าบ้างอะไรบ้าง ก็เผลอไปกรึ๊บไวน์เข้าไปบ้าง เบียร์บ้าง สุราบ้าง ช่วงนั้นถ้ามันขาดให้มันขาดไป ถือว่าเราไม่ยอมขาดทุนตลอด ๒๔ ชั่วโมง อย่างน้อย ๆ ๒๔ ชั่วโมงให้มีวาระมีเวลาที่เรียกว่าให้เราได้ทำความดีบ้าง ถึงเวลาเราก็รักษาให้แน่นแฟ้นไป ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงที่ทำงานระยะเวลาอาจจะ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ให้เราอยู่กับศีลอยู่กับทานของเราอยู่กับธรรมะของเรา พอถึงเวลาเริ่มต้นการงานปุ๊บรักษาเท่าที่รักษาได้
              ถ้าสามารถประคับประคองได้ตลอดก็ดี แต่ถ้าไม่สามารถประคับประคองได้ก็ตั้งใจไว้เลยว่าผลบุญตั้งแต่เช้าขึ้นมาจนถึงที่ทำงานที่เรารักษามา ก็ขอให้มันส่งผลให้เรามีความคล่องตัวใหน้าที่การงาน ท้ายสุดขอให้เข้าพระนิพพานได้ พอถึงเวลาเลิกจากงานไปตอนนี้ปล่อยวางทุกอย่างแล้ว ปล่อยวางอารมณ์ให้เป็นอุเบกขา งานทั้งหมดกองอยู่ตรงนั้นแหละไม่ต้องเอาตามเรากลับบ้านมา ถึงเวลาเดินทางกลับบ้านจนกระทั่งถึงบ้าน จนกระทั่งก่อนจะนอน ตลอดระยะเวลานั้นให้ใจของเราอยู่กับศีลธรรมก็ให้มันมีระยะเวลาที่ทำของมันอย่างจริง ๆ จังบ้าง กำลังใจก็จะทรงตัวได้ง่าย ทรงตัวได้เร็ว ก้าวไปข้างหน้าแล้วต้องไม่ลืมที่หลวงพ่อสอน ท่านบอกว่าถ้าได้กรรมฐานกองหนึ่งแล้ว ก่อนจะทำกรรมฐานกองอื่น ให้ทวนกองเก่าให้มีความคล่องตัวชำนาญ อารมณ์ได้เต็มที่ของมันก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนกองใหม่ ถ้าหากว่าได้ ๒ แล้วจะทำกองที่ ๓ ก็ทวน ๑,๒ ให้มันขึ้นใจก่อนแล้วค่อยไป ๓ ต่อ
              วิมังสา การไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ถ้าเป็นเรื่องของหน้าที่การงานก็คือ ต้องสรุปและประเมินผล เมื่อวานนี้สอนพวกเขาให้หัดสรุปประเมินผล นอกจากสรุปประเมินผลแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ด้วยว่าสิ่งที่เราทำนั้น ตอนนี้เป็นที่พอใจไม่พอใจอย่างไร ตัวเราตอนนี้ยืนอยู่ตรงจุดไหน จุดหมายปลายทางที่เราตั้งใจไปอยู่ตรงจุดไหน เราจะได้รู้ว่าเราใกล้ไกลแค่ไหน ต้องขวนขวายเร่งรีบหรือว่าทำสบาย ๆ แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าหากว่าในเรื่องของทางพระ เขาไม่ให้ประมาท เพราะฉะนั้นทุกวันต้องเต็มที่ ในเมื่อทุกวันต้องเต็มที่ ทำเหมือนกับวันนี้เป็นวันสุดท้าย พ้นจากวันนี้ไม่มีอีกแล้วสำหรับเรา เราก็จะทำหน้าที่ประจำวันของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงดีได้ ถึงเวลาจะไปก็ไปอย่างสง่างามที่สุด เริดเชิดเป็นนางเอกไปเลย ไม่ต้องง้อใคร...
              ค่อย ๆ ไป ถอยอย่าให้คนรู้เขาเรียกว่า รุกอำพรางถอย ลักษณะเหมือนอย่างกับบุกไปข้างหน้าตลอดนั่นแหละ นั่นเป็นเพียงเปลือกที่ให้คนอื่นรู้ แต่ตัวเราเองค่อย ๆ ถอยมาตามจังหวะ ตามวาระของมัน ต้องเตรียมการยังไง ค่อยๆ ทำไปไม่ต้องไปกระโตกกระตากให้ใครรู้ อยู่ ๆ ก็เซอร์ไพรส์หายวับไปกับตา สมัยที่บวชก็ทำอย่างนี้แหละคนอื่นเขาก็ยังคิด ของเราเองไม่รอดแน่เลย ไหน ๆ ก็มีน้องมีนุ่งตามไปเป็นกระตั้ก ๘ คน ๑๐ คน อย่างนี้ จะบวชกันได้ยังไงแต่เราทำได้
              ภาระทางโลกรังแต่จะดึงเราให้จมอยู่กับมัน ภาระทางใจมันก็เลยไม่รู้จักจบสิ้นสักที เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไปถึงจุด ๆ หนึ่ง รู้สึกว่าพอก็โอเคไปได้ละ ตอนช่วงที่อาตมาเป็นฆราวาสอยู่อาจจะเป็นไปได้ว่าสิ่งที่ทำมันถือว่าประสบความสำเร็จ จังหวะทุกอย่างมันลงตัว มันให้พอดี พ่อก็ได้ดูแล แม่ก็ได้ดูแล น้องก็ได้ส่งให้เรียน หลานก็ได้ส่งให้เรียน หน้าที่การงานก็ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดแล้ว ขณะที่คนอื่นเขาตะเกียกตะกายแทบตาย เขายังทำตรงจุดนั้นไม่ได้ แต่เราได้มาแล้ว เอ้า พอ...เข้าวัดดีกว่า
              แต่คราวนี้ว่าถ้าหากอยู่ ๆ เลี้ยวเข้าไปเฉย ๆ มันก็อาจจะอยู่ลักษณะโลกช้ำธรรมเสีย ในเมื่ออยู่ลักษณะนั้นเราก็ต้องรอระยะ รอจังหวะเวลาเหมือนกัน จิตใจมุ่งมั่นต่อเป้าหมายอย่าพยายามเบี่ยงเบนไป อย่าให้มันเบี่ยงเบนไปโดยเราไม่รู้ตัว เพราะว่ากระแสโลกมันแรง บางทีมันก็ดึงเราอยู่ตรงเราอยู่ยังไม่พอ ยังดึงเราลอยตามมันไปอีก งั้นต้องหาจังหวะ หาเวลาที่ดีที่สุด ช่วงนั้นจังหวะและเวลาที่ดีที่สุดก็คือหลวงพ่อท่านถามว่าจะบวชให้ฉันได้ไหม ? ก็พอเหมาะพอดีโป๊ะเชะเลย ทีนี้อ้างกับเขาได้เต็มปากเต็มคำแล้วนี่ ไปดีกว่า ไหน ๆ หลวงพ่อก็ชวนแล้ว โอกาสอย่างนี้ทั้งชาติไม่รู้ว่าจะมีอีกรึเปล่า ? รอจังหวะ รอเวลา รอเหมือนอย่างกับนกที่รอจังหวะจะบินออกจากกรง เมื่อไหร่มันจะได้ช่องนะ ทนได้เมื่อไหร่ก็สบายเมื่อนั้น
              สงสารผู้ชรา เวทนาผู้อ่อนวัย ทำได้ไหมอย่างนี้ ? เขาเรียก อัปมัญญาพรหมวิหาร สงสารผู้ชรา สภาพร่างกายย่ำแย่ลงไปทุกวัน แต่ว่าความทุกข์ยังเหมือนเดิมก็เลยดูเหมือนทุกข์มากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าสงสาร เมื่อไหร่เขาจะพ้นทุกข์ได้ เวทนาผู้อ่อนวัย เกิดมาก็ทุกข์ยากลำบากจนขนาดนี้แล้ว มีอะไรที่เราพอจะแบ่งเบา พอจะช่วยเหลือเขาได้ก็ทำไปเถอะ
          นึกว่าเราได้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่            เพื่อศักดิ์ศรี เพื่อไทย ไม่หมองหม่น
          ไม่น้อยใจโชคชะตากล้าผจญ               แม้บางคนไม่เคยทุกข์ทุกยุคกาล
              เคยได้ยินรึเปล่า? ในหลวงพระราชนิพนธ์เพลงความฝันอันสูงสุดนะ
          ขอฝันใฝ่ ในฝันอันเหลือเชื่อ               ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่ไม่หวั่นไหว
          ขอทนทุกข์รุกโลมโหมกายใจ              ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
          จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด                    จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
          จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง           จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
          ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร              ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
          ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา          ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป
          นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง                       หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส
          ถึงทุนทุกข์ทรมานนานเท่าใด               ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
          โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่                เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
          ยังยืนหยุดสู้ไปใฝ่ประจัญ                    ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย
              สมเด็จพระเทพท่านขยายความ... ท่านขยายว่า
          “ฝันจะทำความดีนี้แสนยาก                 ต้องลำบากกว่าจะรุดถึงจุดหมาย
          ย่อมน่าขำสำหรับผู้อยู่สบาย                มิเคยกรายใกล้ระกำน้ำตากระเด็น
          พบศึกหนักสักเท่าใดไม่หวาดหวั่น         แต่สู้ใจตนนั้นแสนยากเข็ญ
          ถึงหนักหน่วงสู้แน่แม้ยากเย็น               เลือดกระเซ็นก็เพราะห่วงหวงแผ่นดิน
          ถ้ายามมีทุกข์มาผจญจะทนสู้               ถึงมีผู้กล่าวหยามประณามสิ้น
          ถูกทอดทิ้งเดียวดายหมายชีวิน             เจียนพังภินท์ยังสู้ผู้รุกราน
          แม้จะมีภยันตรายมากรายกล้ำ              ศัตรูล้ำโหมหนักเข้าหักหาญ
          จะฝ่าฟันเสี่ยงชีวิตพิชิตพาล                ให้ชาติผ่านผองทุกข์ยุคเข็ญคลาย
          เราเป็นเพียงปุถุชนธรรมดา                  ใช่เทวาเพราะร่างยังเสื่อมสลาย
          มีอารมณ์เปลี่ยนไปไม่เว้นวาย              จะแน่แน่แก้ให้หายไม่ช้าพลัน
          แม้ชีวิตเป็นสิ่งยิ่งแหนหวง                   แต่ความรักใหญ่หลวงใช่ความฝัน
          รักผืนแผ่นดินแม่แน่นอนครัน               ยอมสละแม้ชีวันไม่หวั่นภัย
          ยอมสูญเสียชีวารักษาสัตย์                  รักษารัฐสีมาที่อาศัย
          ดีกว่าสูญธรณินทร์สิ้นชาติไทย             สิ้นธงชัยจะชักสู่ทิฆัมพร
          แสนเห็นใจเพื่อนไทยที่หวาดหวั่น          อาสาพลันทอดชีพสู่สมร
          บุกระเบิดฝ่ากระสุนในดงดอน              เพื่อนิกรผาสุกทุกนาที
          ตั้งจิตมั่นในพระธรรมอันล้ำเลิศ            ทำแต่สิ่งประเสริฐมิหน่ายหนี
          ไม่ท้อถอยมุ่งทำล้วนความดี                ถ้าถึงที่ยอมสละละลมปราณ
          เราก็มีเลือดเนื้อที่ปวดเจ็บ                   แต่ต้องเก็บความรู้สึกอย่างอาจหาญ
          จะมุ่งมั่นฝ่าฟันทุกวันวาร                     เพราะยึดในอุดมการณ์ต้องอดทน
          คิดว่าได้เกิดมาทำหน้าที่                     เพื่อศักดิ์ศรีเพื่อไทยไม่หมองหม่น
          ไม่น้อยใจโชคชะตากล้าผจญ               แม้บางคนมิเคยทุกข์ทุกยุคกาล
          มอบเลือดเนื้อกายใจพลีให้ชาติ            อย่างแกล้วกล้าสามารถองอาจหาญ
          ถึงสิ้นชีพไว้ลายว่าชายชาญ                 มอบวิญญาณเลือดเนื้อเพื่อบ้านเมือง
          ปณิธานเพื่อชาติศาสน์กษัตริย์              ร่วมขจัดเสี้ยนหนามเมื่อยามเฟื่อง
          สมานสามัคคีไทยให้รุ่งเรือง                 เกียรติกระเดื่องแดนดินทั่วถิ่นไกล
          คงไม่มีแต่เราเพียงเท่านั้น                   ที่ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายได้
          ผู้อื่นอาจปราด เปรื่องเลื่องลือชัย          หมายผดุงทุกสิ่งไว้ให้ยุติธรรม์
          สักวันหนึ่งเขาคงเข้าใจว่า                    การมีชาติศาสนาทุกสิ่งสรรพ์
          มีไตรรงค์ธงชัยพร้อมใจกัน                  นั่นคือสิ่งยึดมั่นที่ควรตรอง
          ขอเดชะบารมีที่ปกเกล้า                      บุรพกษัตริย์เจ้าไทยทั้งผอง
          บันดาลดลคนไทยให้ปรองดอง             ไม่ผยองอิจฉาผลาญรุกรานกัน
          แล้ววันที่ปรารถนาคงมาถึง                   จะตราตรึงความดีที่บากบั่น
          โลกมนุษย์สุดสะอาดปราศทุกข์ทัณฑ์      เพราะเรานั้นเข้าใจกันได้ดี
          เขาจะรู้ว่าเหตุใดไม่ยอมแพ้                   เพราะถึงแม้ถูกเหยียดถูกเสียดสี
          หาว่าอยากเด่นดังหวังชื่อดี                   อยากครอบครองปฐพีก้องกำจาย
          ไม่เคยคิดหวังเป็นวีรบุรุษ                     แต่ก็สุดจะเห็นชาติพินาศสลาย
          ด้วยเผ่าไทยมอบชีวีพลีใจกาย               มามากมายเหลือที่จะลืมเลือน
          จะถมร่างกายนี้พลีชีวิต                        เพื่อพิชิตไพรีที่เชือดเฉือน
          เพื่อแผ่นดินของไทยไม่สะเทือน            เพื่อให้เพื่อนผองไทยปลอดภัยเทอญ”
      ถาม :  ..........................................
      ตอบ :  ต้องใช้คำว่า กติกา อย่างหนี่งว่า ถ้าหากว่าต้องการหลุดพ้นจริง ๆ ก็ต้องเจอข้อทดสอบที่ค่อนข้างโหดร้ายกว่าในสายคนอื่นหน่อย แต่ว่าถ้ายิ่งทดสอบ ๆ ไปเหมือนกับเรายิ่งทำแล้วยิ่งโง่ เพราะมันจะเห็นความผิดพลาดบกพร่องในส่วนที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ ของตัวเราเอง ส่วนที่ละเอียดจริง ๆ ก็พอ ๆ กับส่วนที่หยาบนั่นแหละ สังเกตไหมว่าถ้าเมื่อก่อนเวลาเราโกรธใคร อาจจะประเภทด่าเลย กระโดดกระทืบเท้าชี้หน้ากัดฟันอะไรก็ว่าไป นั่นเป็นส่วนหยาบและเราละได้ง่ายมาก แต่ว่าพอนานไป ๆ ถึงตอนสุดท้าย ๆ เป็นส่วนละเอียดแล้วอาการทางกายไม่ออก อาการทางวาจาไม่ออก แต่อกมันจะแตกตาย เพราะว่ามันเป็นการขังความโกรธไว้ในอก กลายเป็นว่ากายหยุดแล้ว วาจาหยุดแล้ว แต่ใจยังหยุดไม่ได้ เพราะว่าไม่สามารถดับที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง ก็เลยเป็นว่ายิ่งทำเหมือนตัวเองยิ่งโง่ไปเรื่อย ๆ แต่ว่าความจริงไม่ใช่ ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสามารถขุดคุ้ยตัวละเอียดมากขึ้น ๆ ได้ทุกที ๆ และถึงเวลานั้นก็ต้องใช้สติปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาของเรามีเท่าไรเอาใช้งานทั้งหมด เมื่อระดมผลที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ก็จะพอเหมาะพอสมกับคู่ต่อสู้ในช่วงนั้น ถ้าเราก้าวผ่านตรงจุดนั้นได้ เราจะไม่แพ้อีก เขาก็เอาสิ่งที่ละเอียดกว่านั้นมาสู้กับเราต่อไป
      ถาม :  อารมณ์เหมือนกับที่เราไปเจออะไรที่ทำให้เรารู้สึกโกรธ เราก็จะมองคนที่ทำให้เราโกรธว่านี่มนุษย์หรือ จากภาพที่เราเห็นสวยงามจิตใจเขาทำได้แบบนี้เชียวหรือ ?
      ตอบ :  อันนั้นก็คือตัวปัญญาที่แท้จริง เขาเรียกว่า ธรรมสังเวช คือมันรู้สึกสลดใจว่า อ๋อ! สภาพที่แท้จริงเขาเป็นอย่างนี้เองหรือ ทุกรูปทุกนามก็เป็นอย่างนี้ เราเองก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน บุคคลที่เคยกระทำอย่างนี้มาก่อนแล้ว คนอื่นมากระทำต่อเหมือนผู้นั้นรับมรดกจากเราไป ภาษาพระ เรียกว่า ธรรมทายาท(ทายาทโดยธรรม) เพราะฉะนั้นเขาก็ถือเป็นลูกหลานของเรานั่นเอง เพราะเป็นผู้รับมรดกจากเราไป ในเมื่อลูกหลานทำในสิ่งไม่ดีที่เราเคยทำมาก่อน เราก็ไม่ควรจะโกรธเขา เราก้าวพ้นตรงนั้นมาได้ เราเห็นทุกข์เห็นโทษของมันแล้ว เหมือนกับเราเห็นลูกหลานทำผิด เพราะฉะนั้นถ้าสามารถสงเคราะห์เขาได้ก็สงเคราะห์เขา ถ้าสงเคราะห์เขาไม่ได้ในตอนนั้น เพราะกำลังใจเขาไม่ยอมรับจริง ๆ เราก็ปล่อยวางไว้ก่อน มีโอกาสเราค่อยสงเคราะห์เขาใหม่ ถ้าสามารถพิจารณาอย่างนี้ได้โลกนี้ไม่มีอะไรน่าโกรธเลย
      ถาม :  อย่างนี้ไม่กลายเป็นว่าเรายกตนเหนือคนอื่นหรือคะ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่จ้ะ ตัวนี้เป็นการคิดเพื่อที่จะได้ไม่สะสมอารมณ์เอาไว้ แต่ขณะเดียวกันอย่าลืมตัวสติกับตัวปัญญาของเรา สติกับปัญญาของเราต้องรู้เท่าทันอยู่เสมอ ถ้าหากว่าเราไปยกตัวเองขึ้นมาในลักษณะที่ว่าอย่างไร ๆ เราก็เหนือกว่าอยู่แล้ว ตัวนี้มันจะเป็นตัวที่เรียกว่า มานะ(สักกายทิฏฐิ) คือเห็นว่าตัวเราดีกว่า ถ้าหากว่าสติของเราขาดจากจุดนี้เมื่อไหร่ ก็เสร็จเมื่อนั้น เรื่องของธรรมะละเอียดมาก
      ถาม :  ห้ามพลาดในแต่ละวัน ?
      ตอบ :  นิดเดียว ดีกับชั่วเดินก้าวเดียวกันเลย ยกเว้นก้าวสุดท้ายอันหนึ่งพาลงล่าง อันหนึ่งพาขึ้นบนเท่านั้น ยิ่งทำไปจะยิ่งเห็นความสามารถของกิเลส สุดยอดจริง ๆ
      ถาม :  บางทีมันเหมือนพิจารณารู้สึกว่าเป็นไปได้หรือ ?
      ตอบ :  ทำถึงแล้วจะรู้ ถ้าเราทำยังไม่ถึงก็ชมสมบัติเขาไปก่อน คุณทักษิณมีหลักทรัพย์ตั้ง ๒-๓ หมื่นล้านอย่างนี้เป็นไปได้หรือ ในที่นี้เราควรจะคิดว่าเราทำได้อย่างเขาหรือ มี ๑๐ นิ้วเท่ากัน เขาทำได้เราก็ทำได้
      ถาม :  ตอนนี้ข้องใจในสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติอยู่ ไม่คิดว่าเราจะทำได้ในการฝึกขึ้นไปพระจุฬามณีเฝ้าองค์สมเด็จไม่เห็นเครื่องทรง เห็นแต่องค์ท่านเฉย ๆ แต่ข้าง ๆ ไม่เห็นอะไรเลยเหมือนจิตเราปรุงแต่งเอง ?
      ตอบ :  เหลือเฟือแล้วจ้ะ อาตมาเองบางทีป่วยมาก ๆ เห็นแต่ยอดเกศแหลมอยู่แค่นี้ ไม่เห็นองค์เสียด้วยซ้ำไป แต่เรามั่นใจว่าท่านอยู่ตรงนั้น ถ้าความรู้สึกมั่นใจว่าท่านอยู่ตรงนั้นก็กราบตรงนั้น ต่อให้ไม่เห็นเลยแต่มั่นใจว่า ท่านอยู่ตรงนั้นก็กราบลงตรงนั้นเลย กำลังใจสำคัญอยู่ตรงสุดท้าย ๑) เรื่องของมโนมยิทธิเขาต้องไม่กลัว บางคนกลัวไปแล้วจะตายเลย กลัวว่าไปแล้วจะเจอสิ่งที่น่ากลัวน่าเกลียดอะไรพวกนั้นเลยทำให้ไปไม่ได้ ๒) ต้องไม่อยาก กำลังที่ต้องการจะเป็นตัวอยากตอนนั้น เราภาวนาแล้วอย่าไปอยาก คิดอยู่อย่างเดียว่าเราทำเพื่ออะไรแล้วตั้งหน้าตั้งตาภาวนาไป ๓) ต้องไม่ขึ้สงสัย สิ่งที่เราฟังคนอื่นเขามากับสิ่งที่เราพบเห็นอาจจะคนละเรื่องกันเลยก็ได้ และข้อสุดท้าย ๔) ต้องมั่นใจในตนเอง ถ้าหากว่าเรามีความมั่นใจ ตัวมโนมยิทธิจะก้าวหน้าเร็วมาก แต่ขณะเดียวกันให้กำกับอยู่เสมอว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้เห็นรับเอาไว้ด้วยความเคารพ แต่อย่าเพิ่งเชื่อในตรงนั้น จนกว่าเหตุการณ์นั้นจะพิสูจน์ได้แล้วถึงเชื่อ รักษาความเป็นคนขี้สงสัยเอาไว้แล้วจะปลอดภัย ไม่งั้นโอกาสโดนหลอกมีสูง ยิ่งเห็นภาพชัดเจนเท่าไหร่โอกาสโดนหลอกจะยิ่งมาก เหมือนกับคนฉลาดยิ่งฉลาดเท่าไหร่ก็ยิ่งโดนหลอกได้ง่าย เคยอ่านสามก๊กไหม ? ขงเบ้งหลอกได้แต่คนฉลาด ให้ไปหลอกคนโง่ขงเบ้งก็เดี้ยงเหมือนกัน เพราะเขาคิดมากเกินไป แต่คนที่โง่นี่เขาเอาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นไปวางกล ๓ ชั้น ๘ ชั้นมันไม่สนใจหรอกมั่นดุ่ย ๆ ของมันไปเรื่อย
              เพราะฉะนั้นให้ทำตัวเป็นดังประเภทที่ว่า อย่าไว้วางใจอะไรง่าย ๆ ถ้าหากว่าไว้วางใจอะไรง่าย ๆ เดี๋ยวจะโดนหลอกง่าย ๆ เหมือนกัน ให้รับทราบไว้ด้วยความเคารพ ขณะเดียวกันถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามนั้นเมื่อไหร่ หรือว่าทำแล้วเป็นไปจริงเมื่อไหร่ ? ค่อยเชื่อ ท่านบอกวิธีมา เราตรึกตรองดูแล้วมีเหตุมีผล ลองปฏิบัติดูเกิดผลแล้วถึงเชื่อ ท่านบอกว่าเหตุอะไรจะเกิดขึ้น รอจนกระทั่งเหตุนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วค่อยเชื่อ แต่ถ้าท่านบอกว่าจะเกิดดีเกิดร้ายกับเรา ให้เราเตรียมใจรับเอาไว้เท่านั้นพอ แต่อย่าไปเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่ามันจะเป็นไปตามนั้น เพราะว่าการพยากรณ์ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยเฉพาะหน้าตอนนั้นเท่านั้น เขาขับรถด้วยความเร็ว ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งจะไปถึงกาญจนบุรี นี่คือการพยารณ์ตามความเร็วของรถตอนนั้น แต่ถ้าเขาเหยียบมากกว่า ๑๒๐ กิโลเมตรมันจะถึงก่อนชั่วโมงครึ่ง หรือลดจาก ๑๒๐ ลงมามันก็จะช้ากว่าชั่วโมงครึ่ง
              การพยากรณ์จะเป็นไปตามเหตุปัจจัยเฉพาะหน้า ถ้าเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงเรื่องมันจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย บางคนคิดว่า เราก็ทำกำลังใจเหมือนกับทุกครั้ง แล้วทำไมครั้งนี้เรารู้ผิด รู้ผิดเพราะเราไปสร้างปัจจัยทำให้เหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงเอง
      ถาม :  จริง ๆ แล้วไปได้ อยากรู้ค่ะ แต่พอไปรู้เรื่อง...................... ?
      ตอบ :  ไม่ได้บอกอะไรหรอกจ้ะ เลิกได้เลย เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วไม่ต้องไปพิสูจน์ให้เสียเวลาก็ได้ ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตรงไปเลย กติกาของความเป็นพระโสดาบันมีอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง
      ถาม :  ..................................... ?
      ตอบ :  ทำไมกลัวกิเลสจะเศร้าหมอง เดี๋ยวไม่มีคบหากับมัน ๆ จะโศกเศร้ามากเลย
      ถาม :  เข้มก็แย่อยู่แล้วนะคะ
      ตอบพระโสดาบัน ก็คือชาวบ้านชั้นดี เป็นบุคคลที่อยู่ในศีลในธรรมไม่ยอมล่วงศีล เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง ๆ ตั้งใจว่าตายแล้วจะไปพระนิพพาน นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ อายุ ๑๖ ท่านแต่งงานมีลูก ๒๐ มีหลาน ๔๐๐ คน ทำมาหากินตามปกติ รวยไม่รู้จะรวยอย่างไร เครื่องประดับชิ้นเดียวราคา ๙ โกฎิ โกฎิหนึ่งตามบาลีว่า ๑๐ ล้าน เครื่องประดับชิ้นเดียวราคา ๙๐ ล้าน นั่นแหละพระโสดาบัน ชาวบ้านธรรมดา ๆ ไม่ต้องไปกลัวกิเลสมันเศร้าหมองหรอก เพียงแต่พระโสดาบันท่านเรียกว่า พระอริยเจ้า คือเป็นผู้มีแต่ความเจริญขึ้นในส่วนเดียว กำลังใจในด้านชั่วท่านไม่เอา เพราะว่าท่านไม่ยอมละเมิดศีล ถ้าศีลจะต้องขาดท่านยอมตายดีกว่า
              ในเมื่ออยู่ลักษณะนั้นแล้ว ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าหากว่าเราตั้งหน้าปฏิบัติเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน กลายเป็นบุคคลชั้นดีในสายตาของคนทั่ว ๆ ไป เพราะเราเป็นผู้ที่อยู่ในศีลในธรรมของเรา กำลังของเราในด้านของธรรมะก็จะไม่ตกต่ำ มีแต่เจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนปกติเพียงแต่ ความรัก โลภ โกรธ หลง ของท่านจะมีศีลเป็นเกราะ โกรธแต่ไม่ฆ่าใคร รักยังมีผัวมีเมียได้ แต่ไม่ละเมิดลูกเมียใครต้องเป็นไปตามศีลตามธรรมเท่านั้น เป็นเรื่องปกติ
      ถาม :  ศีลต้องเข้มใช่ไหมคะ ไม่ดื่มสุรา แล้วเราอยากจะกินแต่เราละ ?
      ตอบ :  ให้อย่างนั้นยิ่งดีจ้ะ เพราะว่าถ้าเราอยากและเราระงับตัวเองได้ นั่นถึงจะเป็นศีลที่แท้จริง คนไม่กินเหล้าเลย แล้วไปคุยว่ามีศีลนี่ยังไม่แน่นะ กินเข้าไปแล้วเขาอาจติดก็ได้ แต่ว่าคนที่อยากจะกิน แล้วห้ามตัวเองได้นั่นแหละ ถึงจะเป็นยอดมนุษย์จริง ๆ
              ข้อสุรา สุรา สิ่งที่กลั่นขึ้นมา ประกอบด้วย แลกอฮอล์ มัชชะ ของมึนเมาที่เสพเข้าไปแล้วทำให้ขาดสติหรือว่าสติฟั่นเฟือนไป เพราะฉะนั้นพวกยาเสพติดทั้งหมดก็อยู่ในพวกนี้ด้วย แต่ว่าเขาแปลสุราอย่างเดียว ศีลข้อ ๕ สุรา เมรัย มัชชะ ๓ อย่าง เมรัยพวกไวน์ก็จัดอยู่ในเมรัย
      ถาม :  ถ้าพวกมะกอกดอง มะขามดอง ล่ะคะ ?
      ตอบ :  อันนั้นกินไปเถอะ กินเท่าไหร่มันก็ไม่เมาหรอกจ้ะ คำว่าเครื่องดองของเมา มันหมักดองแล้วเกิดแอลกอฮล์ขึ้นมา ตัวแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้แปรปรวน ทำให้ขาดสติ ประเภทผักดอง ผลไม้ดองกินไปเหอะตันสองตันไม่มีใครว่า
      ถาม :  จะได้สบายใจที่จะกิน
      ตอบ :  จ้ะ รีบกินไปเลย เหลือก็เอามาถวายพระบ้าง
      ถาม :  เพราะว่าแต่ก่อนจะกินเหล้า บางทีก็จะมีอารมณ์ มีความอยากอยู่
      ตอบ :  เมื่อก่อนไม่มีใครว่าหรอกจ้ะ แต่ตอนนี้รู้ตัวว่ามันไม่ดีก็รีบเลิกได้แล้ว รีบห้ามตัวเอง คนที่อยากแล้วห้ามตัวเองได้เป็นยอดมนุษย์จริง ๆ เพราะว่ากำลังใจแบบนั้น คนที่ไม่อยากเขาไม่รู้หรอกว่ามันต้องต่อสู้กับตัวเองขนาดไหน
              เพราะฉะนั้นเรามีโอกาสที่จะเป็นยอดมนุษย์ เราจะเป็น supergenius เราอาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สำหรับคนที่ไม่มีกำลังใจที่จะทำเลย แม้แต่ศีลข้อเดียวเขายังรักษาไม่ได้ ๔ ข้อ นี่เราได้ ขาดข้อ ๕ ข้อเดียว เราก็ระมัดระวังในข้อที่เราคิดว่าบกพร่องให้มันมากไว้