ถาม:  ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ? คำถามนี้ได้มีผู้ไปถามท่านพระเดชพระคุณหลวงปู่ดูลย์ ท่านได้ตอบว่า “มันก็เกิดมาพร้อมกันนั่นแหละ” เรื่องอารมณ์ขันในการสนทนาอย่างกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานท่านมักจะมีให้เห็นอยู่เสมอ การปฏิบัติธรรมะเราควรเคร่งเครียดมากน้อยเพียงใด ?
      ตอบ:   เรื่องของการปฏิบัติธรรมนี่ควรจะมีในส่วนที่รื่นเริงในธรรม แต่ในคราวนี้ในส่วนที่รื่นเริงในธรรมต้องมีพอเหมาะพอควร คือให้กล่าวเป็นกถาวัตถุเรื่องที่ชักชวนให้อยากปฏิบัติ อย่ากล่าวเป็นเดียรฉานคาถา คือในส่วนที่ทำให้เป็นการขวางการปฏิบัตินั้นเสีย
              ไข่ เกิดก่อนพอเป็นตัวขึ้นมาแล้วจึงสมมุติเรียกว่านี่คือ “ไก่” แล้วไก่ค่อยไปไข่ใหม่อีกที (หัวเราะ) อันนี้ถูกมั้ย ไม่ต้องเถียงไข่เกิดก่อนแน่นอน คนจะรู้จักไข่ก่อน พอเป็นตัวขึ้นมาจึงเรียกว่านี่ไก่ นี่นก นี่เป็ด จริง ๆ อยู่ที่คำเรียกมัน ทุกอย่างเป็นสมมุติทั้งหมดเสียเวลาไปคิด (หัวเราะ)
      ถาม :  การนอนแผ่ศักราชหมายถึง การนอนแผ่แล้วเหยียดมือและขาออก เรื่องบทแผ่ศักราชนักวิชาการเขาประหลาดใจ ที่บทแผ่ศักราชไปปรากฎในรัฐธรรมนูญในตอนขึ้นต้น แต่ก็ได้คำตอบว่าเป็นธรรมเนียมแบบแผนแต่โบราณที่ปฏิบัติกันมา เวลาพระท่านเทศน์ท่านแสดงบทแผ่ศักราชเพื่อประโยชน์ประการใดบ้างครับ ?
      ตอบ:   จริง ๆ เขาใช้คำว่า บอกศักราช บอกศักราชนี่เขาจะบอกให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นวันที่เท่าไหร่ เดือนเท่าไหร่ ปีเท่าไหร่ ขึ้นแรมกี่ค่ำ หมายความว่าพระพุทธศาสนาเราล่วงเลยมาแล้วเท่าไหร่ และยังเหลืออีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี จะครบ ๕๐๐๐ ปี สิ้นพระศาสนา
              อันดับแรกก็คือให้คนรู้ว่าวันนี้เป็นวันอะไร อันดับต่อไปก็คือเตือนคนที่ประมาทว่าขณะนี้อายุศาสนาสั้นลงไปทุกที ๆ แล้ว ควรจะรีบทำดีได้แล้ว ไม่อย่างนั้นตายเปล่าไม่มีความดีอะไร คำว่า แผ่ศักราช หรือ บอกศักราช อันเดียวกันคือ ประกาศให้รู้ว่าเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีที่เท่าไหร่ เขาจะขึ้น อิทานิ ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ เริ่มปรินิพพานนะโตปัฏฐายะ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมา ตอนนี้ก็ต้องเป็น สัตตะจัตตาฬีสุตตะระ ปัญจะสตาธิกานิ ทะเวสังวัจฉะระ สะหัสสานิ ๒๕๔๗ ปีล่วงไปแล้ว (หัวเราะ) เอาแค่นี้ขืนว่าจบมันยาว
      ถาม :  มีคนเขามาสอนผมว่า เวลาผัวเมียเขาทะเลาะกัน แต่ละฝ่ายเขาจะหาพวกมาสนับสนุน เขาบอกผมว่าอย่าไปสนับสนุนใครหรือยุยงให้เลิกกัน เพราะเวลาเขาดีกันเราจะกลายเป็นหมา (หมาหัวเน่า) และยังเกลียดขี้หน้าเราอีกต่างหาก ควรจะแนะนำให้เขาปรองดองกันมากกว่า สิ่งที่เขาสอนผมมานี้พอรับฟังได้หรือไม่ครับ ?
      ตอบ:   ควรจะเป็นอย่างนั้นเลย เวลาผัวเมียทะเลาะกัน ถ้าเราไม่ใช่คนที่เขาเกรงใจมากขนาดยอมรับฟัง ไปใกล้ ๆ อาจมีลูกหลงให้ (หัวเราะ) แล้วถ้าเราไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ก็กลายเป็นศัตรูของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วพอเขาดีกันเมื่อไหร่ก็เกลียดขี้หน้าเราอย่างที่ว่านั่นแหละ แต่คราวนี้ว่าถ้าสามารถกล่าวให้เขาเย็นลงได้ก็ให้เขาเย็นลง ให้เห็นโทษของการทะเลาะกันว่าทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด ลูกหลานเดือดร้อนอย่างไรก็ว่าไป แต่ถ้าเขาไม่เกรงใจเราเลย ก็หลีกห่าง ๆ เอาไว้ มีโอกาสช่วยเหลือเขาทางอื่นดีกว่า
      ถาม :  สามีภรรยาคู่หนึ่งเขามีปัญหากันด้วยเรื่องแฟ้บ หรือผงซักฟอก เนื่องจากภรรยาไปดูโทรทัศน์ว่าเปิดฝากล่องแฟ้บจะได้พบโชครางวัลใหญ่ จึงคิดลงทุนไปซื้อแฟ้บมาหลายลังแล้วมาเปิดดู ปรากฎว่าไม่ได้รางวัลอะไรเลยแม้แต่บาทเดียว ต่อมาเมื่อแฟ้บไม่มีที่เก็บจึงเทน้ำในโอ่งทิ้งแล้วใส่แฟ้บแทนเต็มโอ่งหลายใบ สมัยนี้มีคนเขามักจะพูดกันว่าให้ตั้งชีวิตอยู่ด้วยความหวัง และตั้งความฝันด้วยตัวความหวัง กระผมพอจะรู้อยู่บ้าง แต่ตัวความฝันของคนเรานี้จะเอาอย่างไรดี ?
      ตอบ:   ความฝัน หรือความหวัง จริง ๆ อันเดียวกัน หวังไว้แล้วก็ฝันว่าควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ แต่จริง ๆ แล้วควรจะมีปัญญาประกอบอยู่ว่าตัวพอเหมาะพอดีอยู่ที่ไหน แฟ้บหลายโอ่ง เราซื้อมาเราเสียเงินไปแล้ว ถึงของจะไม่เสียหายเราเก็บดีงำดีมีสิทธิ์ใช้หมดก็จริง แล้วจะหมดอีกกี่ปีข้างหน้า เอามันแค่พอดี ๆ ก็แล้วกัน แหมเล่นซื้อแฟ้บมาแกะอย่างเดียวจริง ๆ แต่พวกผงซักฟอกมันน่าอเนจอนาถ ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็ตามชาวบ้านไปถึงก็ซื้อแฟ้บกล่องหนึ่งเอายี่ห้อบรีสนะ ยี่ห้อเปานะ อันไหนมาก่อนก็ติดปากยี่ห้อนั้นแหละ
      ถาม :  ถ้าครอบครัวทั่วไปมีศีล ๕ จะดีหรือไม่อย่างไร ?
      ตอบ:   อ๋อ ดีแน่นอนจ้ะ เพราะว่าการที่จะทรงตัวเป็นครอบครัวเดียวกันอย่างมีความสุข พระพุทธเจ้าบอกว่า “ต้องมีทานเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน มีจาคะคือการบริจาคเสมอกัน” ไม่อย่างนั้นแล้วรังแต่จะมีปัญหา
              ผัวรักษาศีล เมียไม่รักษาเดี๋ยวผัวก็ติเมีย เมียรักษาศีล ผัวไม่รักษาเดี๋ยวเมียก็ติผัว จะมีแต่เรื่องระหองระแหงกันอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นถ้าครอบครัวไหนมีศีล ๕ ทรงตัวจะตัดปัญหาเรื่องนอกใจออกไปได้เลย เรื่องจะต้องมาหวาดระแวงกันก็ไม่ต้องมีอีก
      ถาม :  คุณค่าของบุคคลผู้มีศีล ๕ เปรียบกับอะไรได้บ้าง ?
      ตอบ:   ท่านบอกว่า ผู้มีศีล ๕ เปรียบเหมือนกัลยาณชนเป็นบุคคลโดยสมบูรณ์ ถ้าผู้ใดบกพร่องในศีลก็จะเปรียบเหมือนกับว่า ความเป็นสัตว์เดียรฉานหรือสัตว์นรกมันเข้ามาสิงใจของเราแทน ก็ตีเสียว่าถ้าหาก ๕ ข้อเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราขาดไปข้อหนี่งก็ความเป็นสัตว์นรกหรือเปรตอสุรกายก็เข้ามาซัก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๒ ข้อก็ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ไล่ไปเรื่อยครบ ๕ ข้อเมื่อไหร่ก็ไม่มีความเป็นคนเหลือแล้ว กลายเป็นมนุสสเนรยิโก มนุษย์ที่เป็นเดียรฉาน มันสักแต่ว่าเปลือกเป็น แต่ใจกลายเป็นอย่างอื่นไปซะแล้ว บางทีท่านก็บอกว่า ศีล ๕ เปรียบเหมือนดั่งทรัพย์อันประเสริฐ เป็นอริยทรัพย์ที่ไม่มีใครปล้นไปได้ ไม่มีใครที่จะช่วงชิงไปจากเราได้
      ถาม :  เราถือศีลไปเพื่ออะไร ?
      ตอบ:   ศีล อันดับแรกคือ ความอยู่สุขในปัจจุบัน เราไม่อยากให้ใครฆ่าเรา เราก็อย่าไปฆ่าใคร เราไม่อยากให้ใครขโมยเรา เราก็อย่าขโมยใคร เราไม่อยากให้ใครมาล่วงเกินคนที่เรารัก เราก็อย่าไปล่วงเกินคนรักของใคร เราอยากฟังแต่ความจริงก็อย่าโกหกใคร เราอยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราก็อย่าไปดื่มสุราเมรัย อันนี้ก็คือในปัจจุบัน
              และสุขในอนาคตท่านบอก “สีเลนะ สุคะติง ยันติ” ศีลย่อมทำให้เราสู่สุขคติ เพราะถ้าจิตเราเกาะความดีเป็นปกติเราก็เกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม หรือถ้าหากว่าเต็มที่ไม่ต้องการเกิดอีกกำลังของศีลก็ส่งไปนิพพาน ท่านบอก “สีเลนะ โภคะสัมปะทา” ศีลทำให้มีโภคทรัพย์มาก คือคนที่รักษาศีลนี่จะมีสติทรงตัวอยู่เสมอ ไม่เบียดเบียนใคร ทำมาค้าขายกันอย่างสัมมาอาชีวะ เงินที่ได้มาทรัพย์สินที่ได้มามันเย็น คือรู้จักจับจ่ายใช้สอยอย่างมีสติก็เลยทำให้มีสมบัติมาก ขณะเดียวกันถ้าเกิดเป็นเทวดา พรหม ก็มีทิพสมบัติมาก แล้วท่านก็ยืนยันบอกว่า “สีเลนะ นิพพุติง ยัน” ศีลเป็นปัจจัยส่งให้ถึงพระนิพพานได้ นี่เป็นสุขในอนาคต
              ฉะนั้นการรักษาศีลนี่หมายเอาความสุขทั้งสองด้าน คือสุขในปัจจุบันและสุขในอนาคตด้วย
      ถาม :  คำว่า ศีล กับ อวิหิงสา เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ? สิ่งไหนอารมณ์สูงหรือต่ำกว่ากัน
      ตอบ:   อวิหิงสา เป็นการไม่เบียดเบียนคนอื่น ศีลทั้งหมดอยู่ในอวิหิงสาอยู่แล้ว อวิหิงสาวิตก คือคิดอยู่ว่าเราจะไม่เบียดเบียนเขา เราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วโลก ถ้าจะว่าไปแล้วอารมณ์ อวิหิงสาวิตก เป็นอารมณ์ของพรหมวิหาร ๔ กำลังจะสูงกว่าศีล แต่ถ้าหากว่าทำแล้วทรงตัวเสมอกันกำลังมันเท่ากัน
              แต่ถ้าหากว่าโดยนัยแล้วพวกอวิหิงสาวิตกนี่เป็นกำลังของพรหมวิหาร เขาหมายเอาความเป็นพระอนาคามีขึ้นไป ศีลนี่ไล่ตั้งแต่พระโสดาบัน สกิทาคามีขึ้นไป อันนั้นก็เริ่มต้นจากจุดแรก อันนี้เขากระโดดไปกลาง ๆ เลย กำลังของพรหมวิหารถ้าทรงตัวจริง ๆ เป็นพระอนาคามีเลย แต่ถ้าหากว่าทำได้เสมอกันกำลังเท่ากัน
      ถาม :  อารมณ์ใจในสีลานุสสติ ควรตั้งตอนไหน เช้า กลางวัน หรือเย็น ?
      ตอบ:   ทั้งวันเลย หลับและตื่น ขยับตัวเมื่อไหร่ให้รู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่ (หัวเราะ) ไปเลือกเอาเช้า กลางวัน เย็น ตอนที่เผลอเดี๋ยวก็ลงข้างล่างเท่านั้น ต้องทุกเวลาเลย ยิ่งหลับอยู่รู้ตัวว่าเรารักษาศีลได้ รู้ตัวว่าเรากำลังปฏิบัติในศีลอยู่ยิ่งดี แต่คนที่ทำได้อย่างนี้ถ้าเป็นฆราวาสทำได้น้อย
      ถาม :  การท่องศีล ๕ จะถือว่ามีศีลได้หรือไม่ ?
      ตอบ:   ไม่ได้ การท่องศีล ๕ เป็นการศึกษาว่าศีล ๕ ข้อมีอะไรบ้างเท่านั้น ศีลจะเป็นศีลได้อยู่ที่มีเจตนางดเว้นรู้ว่าเรามีโอกาสฆ่าเขาเราไม่ฆ่า รู้ว่ามีโอกาสลักขโมยเขาเราไม่ลัก ถ้ามีเจตนางดเว้นอย่างนี้ถึงจะเป็นศีล
      ถาม :  เรื่องของนายพรานที่ตัดสินใจถือศีล ๑ ข้อ คือไม่ฆ่าสัตว์ ปรากฎว่าได้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี อารมณ์ที่ว่านั้นเป็นอารมณ์แบบใด หรือว่าตั้งใจ (ไม่ชัด)
      ตอบ:   อันนั้นของเขาตั้งเจตนาจริง ๆ มีโอกาสทำแล้วเขาไม่ทำ ตัวตายดีกว่าศีลขาดกำลังใจสูงขนาดนั้น กำลังใจเขาที่สูงขนาดนั้นถึงเวลา ผลตอบแทนก็เลยมากด้วย
              แต่อันนี้หมายความว่าบุญเก่าในอดีตของเขาอาศัยช่วยจังหวะที่กุศลกรรมนำชีวิตเขา ฉวยโอกาสเข้ามารวมตัวด้วยกัน ถ้าไม่มีศีลข้อนั้นเขาก็ไม่มีวันได้เหมือนกัน เรื่องอย่างนี้ต้องแยกให้ละเอียด
      ถาม :  ตรงพรหมวิหาร ๔ ตรงไหนถึงจะรู้ว่าเรารักษาพรหมวิหาร ๔ ได้ทรงตัว ?
      ตอบ:   ถ้าหากว่าเราตั้งใจแผ่เมตตาแล้วให้จับลมหายใจต่อเลย ทรงเป็นฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นเมื่อไหร่ก็เริ่มทรงตัว ถ้าจะเอาให้ชัวร์ก็ฌาน ๔ คล่องตัวไปเลย
      ถาม :  ในอานิสงส์ของการทำบุญทั้งหมด เช่นว่า ให้ทานมีผลน้อยกว่ารักษาศีล แล้วก็น้อยกว่าการภาวนา จะเห็นได้ว่าการภาวนาเป็นบุญสูงสุด เราจะทำบุญโดยการภาวนาอย่างเดียวจะดีหรือไม่ ?
      ตอบ:   การที่เราภาวนาอย่างเดียว ถ้าสมมุติว่าต้องเกิดใหม่อีกจะเป็นคนมีปัญญามาก การที่เราให้ทานเราเกิดใหม่อีกเราจะมีทรัพย์สมบัติมาก การที่เรารักษาศีลเราเกิดใหม่อีกจะเป็นคนมีจิตใจดีงามมีหน้าตาสวยงามมาก
              คราวนี้ถ้าเราเกิดมารวยหน้าตาขี้ริ้วขี่เหร่ ปัญญาไม่ดีมันก็เจ๊งเหมือนกันใช่มั้ย ? หรือไม่ก็เกิดมาปัญญาดีแต่สตางค์ไม่มีก็อยู่ลำบาก หรือไม่ก็รวยซะแทบแย่เลยแต่หน้าตาไม่เอาไหนใครเขาก็ไม่มอง เอ๊ะ!หรือสมัยนี้มันมอง ? เพราะฉะนั้นจริง ๆ ก็คือ ควรทำทั้ง ๓ อย่างให้เสมอกัน
      ถาม :  เขาชอบพูดกันว่าเวลาจะให้ทานใดก็ให้นึกถึงตัวเราเองก่อนว่าเราจะลำบากหรือไม่ เรื่องอารมณ์ในจาคานุสสติ ในทางปฏิบัติให้ตั้งเจตนาไว้อย่างไรบ้าง ?
      ตอบ:   จริง ๆ ก็คือ ให้ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่เราจะให้ แต่คราวนี้ว่าในเรื่องของทานนี่นอกจากจะดูว่าเจตนาบริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ ผู้ให้คือตัวเราทรงศีลบริสุทธิ์ ผู้รับก็คือภิกษุสามเณรทรงศีลบริสุทธิ์อย่างนี้ หรือไม่ก็คนทั่ว ๆ ไปที่เราจะสงเคราะห์เขามีศีลบริสุทธิ์ ถึงจะมีประโยชน์เต็มร้อยส่วน
              แต่ว่าท่านก็บอกเอาไว้ว่า เวลาให้แล้วต้องไม่ให้ตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อนถึงจะเป็นทานที่ดีจริง ถ้าเราให้แล้วคนรอบข้างและตัวเองเดือดร้อน อาจจะทำให้กำลังใจของเราตกได้ หรือคนอื่นเขาตำหนิได้ แต่เรื่องพวกนี้ต้องยกให้คนประเภทหนึ่ง คนประเภทนี้เขาเรียกว่า “พระโพธิสัตว์” ประเภทนี้ท่านขอให้มี กูให้ ไม่มีอะไรจะให้สละชีวิตเป็นทานก็ได้ ควักลูกตาให้ก็ได้ เชือดเนื้อให้ก็ได้ ควักหัวใจให้ก็ได้ ตัดหัวให้ก็ได้ กำลังใจประเภทนี้ไม่ใช่กำลังใจของคนทั่ว ๆ ไป อย่าไปเลียนแบบท่าน ยกเว้นว่าเราเป็นคนระเภทเดียวกับท่านก็เอาเถอะ
              สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีนามว่า “มังคละ” ท่านได้สละบุตรธิดาเป็นทาน ยักษ์มันหิวขอลูกไปกิน แล้วมันก็ร้ายมากพอส่งให้นี่มันเคี้ยวกินต่อหน้าเลย ถ้าเป็นเราก็ลากบาซูก้ามายิงเลย (หัวเราะ) แต่ว่าในอรรถกถาท่านบอกว่า พระองค์ท่านจักมีความหวั่นไหวแม้ซักน้อยหนึ่งก็มิได้ ไม่ได้มีเลย มั่นคงในทานบารมีขนาดนั้น รู้ว่าเขาต้องการก็ให้แม้แต่ลูกที่ตัวเองรักที่สุด มันแสบจริง ๆ เลยเจอไอ้ยักษ์ประเภทนี้เข้า มันเล่นกินต่อหน้าเลย
      ถาม :  เรื่องการให้ทานด้วยความโกรธจะมีผลเป็นอย่างไรบ้าง ?
      ตอบ:   มีผลเหมือนกัน แต่ว่าการที่เราทำบุญด้วยความโกรธถ้าเกิดเป็นคนรวยก็จริงแต่จะหน้าหงิกอยู่ตลอด ถ้าหากว่าได้ขึ้นไปสู่สุขคติภูมิส่วนใหญ่จะไปเกิดเป็นอสูร
              อสูรนี่มีความเป็นทิพย์เหมือนกับเทวดา แต่หน้าตาสวยสู้เทวดาไม่ได้ เพราะว่าตัวโกรธมันตัดไปซะ อย่างนางปัญจปาปา อันนั้นทำบุญด้วยความโกรธกำลังอารมณ์เสียพ่อใช้งานอยู่ เป็นลูกสาวนายช่างปั้นหม้อ พระปัจเจกพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตดินจะเอาไปปอุดข้างฝา ฝามันแตกลมหนาวก็เข้าได้ กำลังโมโหพ่อ ปั้นดินได้ก็ทุ่มโครมใส่บาตรให้ เกิดมาชาติใหม่กลายเป็นคนมีเนื้อเป็นทิพย์เพราะทำบุญด้วยดิน ใครจับเนื้อแกนี่หลงทุกรายเลย แต่หน้าแกหงิกดูไม่ได้เลย (หัวเราะ) นั่นแหละทำบุญด้วยโทสะ
      ถาม :  (ไม่ชัด) การที่เราไปทำทานกันมากเกินไปไม่น่าจะส่งผลดีต่อพระพุทธศาสนา (ที่เขาว่ากัน) เรื่องของทานบารมี เราตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำ เมื่อได้ฟังความเห็นที่ไม่ได้เป็นความเห็นของพระสงฆ์ในศาสนาแล้วเราควรใส่ใจหรือไม่อย่างไร ?
      ตอบ:   เอาปัญญาตรองดูก็รู้ สิ่งที่เราทำไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ภาวนา อย่างที่ว่าคือ หมายเอาสุขปัจจุบันอย่างหนึ่ง กับสุขในอนาคตอย่างหนึ่ง คราวนี้ทั้งสองอย่างนี่ กว่าที่คนเราจะสร้างบารมีให้กำลังใจสูงถึงขนาดรับธรรมะแท้โดยส่วนเดียวได้น่ะมันยาก ในเมื่อไม่สามารถรับธรรมะแท้โดยส่วนเดียวได้ก็ต้องมีเครื่องยึดเหนี่ยวอย่างอื่น ซึ่งจะออกมาในรูปของวัตถุมงคลต่าง ๆ
              ส่วนใหญ่ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ว่าบางสำนักของเขาการสร้างวัตถุมงคลของเขาออกมาอาจจะมีรูปลักษณะแปลก ๆ อย่างพวกปลัดขิกบ้าง นั่นของเขา ๆ เรียนมาตามสายครูบาอาจารย์ จริง ๆ แล้วดูถูกไม่ได้เลยนะ เพราะว่าที่ทำแล้วมีผลจริง ๆ ก็เยอะแยะไป อย่างของหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ นี่หนึ่งในห้าเสือสงครามโลกเลยนั่นแหละ ปลักขิกของหลวงพ่ออี๋วายน้ำเล่นได้อย่างกับปลา ของหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก นี่บินแข่งกับเฮลิคอปเตอร์เลย แล้วคุณว่าเขาทำไม่ได้ผลเหรอ ?
              คราวนี้คนเราตอนแรก ๆ เหมือนกับเด็กหัดเดินต้องมีที่ให้ยึดให้เกาะก่อน เราจะไปบอกให้วิ่งเลยซิร้อยเมตร เอาเหรียญโอลิมปิกมาให้ได้ มันเป็นไปได้มั้ยล่ะ ? มันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่เขาว่ามาจริง ๆ เจตนาเขาดี แต่เขาไม่ได้ดูว่ากำลังของคนไม่เท่ากัน เขาก็เลยตำหนิเอาเสียตั้งแต่แรกว่าทำผิด ถ้าหากว่าคนทุกคนเขารู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษจริง ๆ ต่อให้พระไม่ทำอะไรออกมาเลย จิตของเขาก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่แล้ว แต่เนื่องจากว่ายังไม่มี เราจะต้องหาอุบายอะไรบางอย่างมา เพื่อให้จิตของเขามีอนุสสติมีการเกาะในด้านที่ดี ต่อให้เป็นรูปปลัดขิกก็จริงแหละ แต่เขาต้องนึกถึงคนให้ หลวงพ่ออี๋ให้ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่ออี๋ หลวงพ่อยิดให้ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่อยิด อย่างนี้ก็จะเป็นสังฆานุสสติ ใจเขามีส่วนของความดีเกาะอยู่ ถ้าตายตอนนั้นอย่างน้อยสุขคติก็จะเป็นของเขา
              ก็น่าคิดเหมือนกัน แต่พวกนี้จริง ๆ แล้วน่าจะยังไง ? ชี้ให้ดูยอดเจดีย์แล้วเราก็รื้อเจดีย์ออกให้ฉัตรตกใส่กบาลมัน มันจะเอาแต่ยอดไม่ได้ดูฐานเลย ดูซิว่าถ้าไม่มีองค์เจดีย์นี่ฉัตรจะตั้งอยู่ได้มั้ย เอะอะจะเอาแต่เพชรยอดมงกุฏ ไม่เอาพื้นเลย พวกนี้ต้องให้เกิดในสมัยพระศรีอาริย์ สมัยพระศรีอาริย์นี่เทศน์ทีเดียวไปกันเป็นแสน ๆ เลย
      ถาม :  คาเมนไรเดอร์ หรือไอ้มดแดง เรื่องนี้เป็นเรื่องเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่ก้าวหน้า ไอ้มดแดงเขามักจะให้หน้าที่คอยปราบอธรรมและจะมีหญิงสาว หรือนางเอกคอยพูดคำว่า “กันปะเต๊ะ” ที่แปลว่า สู้เขานะ หรือให้กำลังใจไอ้มดแดง ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีมาก แต่กลับประสบปัญหาทางด้านจิตใจและวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า “วัตถุนิยม” ดั่งจะเห็นได้จากวัยรุ่นคลั่งนักร้องมากกว่าที่อื่น ช่วงหลังมาจึงได้พยายามรื้อฟื้นประเพณีต่าง ๆ ขึ้นมามากขึ้น เช่น การฝึกฝนการชงชา เป็นต้น
              คราวนี้มาถึงบ้านเราที่มีวัฒนธรรมการสร้างการ์ตูนแบบ “จ๊ะจิงจา” คือขายเทปเพลงอย่างเดียว เรื่องการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่ชอบใจสิ่งที่ผู้ใหญ่สร้างให้ดูภาพและเสียง สำหรับผู้ที่มีอารมณ์ใจในการปฏิบัตินั้น สภาพสีสันและเสียงที่ปรากฎอยู่เฉพาะหน้าควรตั้งอารมณ์ใจอย่างไร ? สีสันวรรณะที่ปรากฎอยู่เฉพาะหน้านั้นที่ว่ามันหลอกเรา มันหลอกเราอย่างไร ? การพัฒนาทางโลกและทางธรรมมีความเป็นไปได้หรือไม่ ? ที่จะพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
      ตอบ:   เริ่มจากการ์ตูนญี่ปุ่นแล้ว ก็ที่ชาวบ้านคือ พวกวัยรุ่นญี่ปุ่นก็พากันกลายไปเป็นพวกวัตถุนิยม บริโภคนิยม คลั่งไคล้พวกนักร้องหนักกว่าที่อื่นเขา จริง ๆ แล้วทั้งหมดนี่เรื่องของความเจริญเราปฏิเสธไม่ได้ มันมาถึงอยู่เรื่อย ๆ คราวนี้เราถาม เอาคำถามสุดท้ายขึ้นมาก่อนที่บอกว่า เรื่องของการพัฒนาทางโลกและทางธรรรมไปด้วยกันได้มั้ย ? จริง ๆ แล้วไปด้วยกันได้ คือ เทคโนโลยีทุกอย่างเราปฏิเสธมันไม่ได้ ความเจริญนี่ แต่เราใช้มันอย่างมีสตติให้มันเป็นเครื่องส่งเสริมเรา อย่าให้มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา
              อย่างที่ในหลวงเตือนอยู่เสมอ ๆ ว่าให้ใช้เศรษฐกิจพอเพียงน่ะ ที่ท่านบอกพอเพียงไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย แต่ว่าเรามีเหลือเฟือแล้วเราค่อยไปหาอย่างอื่นเข้ามา ในเมื่อถ้าเราใช้อย่างมีสติอย่างนั้น ทางโลกกับทางธรรมจะไปกันได้ดี
              ส่วนที่ว่าลักษณะของมัน ๆ ล่อลวงให้หลงยังไง ? ก็คือตาเห็นรูปแล้วชอบใจไม่ชอบใจ หูได้ยินเสียงชอบใจไม่ชอบใจ จมูกได้กลิ่นชอบใจไม่ชอบใจ ลิ้นได้รสชอบใจไม่ชอบใจ กายสัมผัสชอบใจไม่ชอบใจ ไอ้ทั้งสองตัวนี้มันเล่นเราทั้งขึ้นทั้งล่อง ชอบใจเป็นอารมณ์ของราคะ ไม่ชอบใจเป็นอารมณ์ของโทสะ เสร็จมันทั้งคู่
              คราวนี้การที่เราถ้าหากว่าไม่เอาสติตั้งอยู่เฉพาะหน้า ตาเห็นรูปใจไปคิดต่อก็จะเป็นอันตรายต่อเรา อย่างเช่นว่าเห็นนักแสดงผู้หญิงสวย ๆ เราเป็นผู้ชายก็เออสวยแฮะ สเปกอย่างนี้ของเราเลย ถ้าเป็นเมียเราก็ดีเนอะ อะไรก็จะว่ายาวไปเรื่อย ก็จะเกิดประเภทไม่ราคะก็โทสะโมหะขึ้นมาบานเบอะ ทำอย่างไรเราจะสร้างสติของเราให้เท่าทันและหยุดมันไว้ทันทีที่เห็น ทันทีที่ได้ยิน ทันทีที่ได้กลิ่น ทันทีที่ได้รส ทันทีที่สัมผัส อย่าให้มันเข้ามาทำอันตรายเราในใจได้ นั่นคือเราต้องหยุดใจของเราอยู่กับปัจจุบัน ตอนนี้เดี๋ยวนี้อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับการภาวนา หยุดการปรุงแต่งทั้งปวง ถ้าเราหยุดได้ สติปัญญารู้เท่าทันห้ามมันทัน เพราะเห็นทุกข์ เห็นโทษของมัน ทุกสิ่งก็เกิดขึ้นไม่ได้ มันก็ดับอยู่แค่นั้น อันนี้หนึ่งข้อสามคำถามเริ่มตอบจากหลังมาหน้า
      ถาม :  ในทางจิตวิทยาเขาได้ชี้แนะหนทางในการห้ามปรามลูกวัยรุ่นด้วยประโยคคำถามและรู้สึกว่าจะได้ผลดี แต่เรื่องนี้ไม่ต้องให้นักจิตวิทยาสอนเราก็รู้อยู่แล้ว แต่เราจะใช้ประโยคคำถามในลักษณะประชดมากกว่า เขาบอกกันว่าจะพูดอะไรให้คิดก่อนรู้สึกว่าจะไม่ทันอารมณ์ ถ้าเราจะฝึกพูดให้เข้าหูคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ทราบว่าท่านพระคุณเจ้าพอจะมีหลักเบื้องต้นให้แก่กระผมหรือไม่ ?
      ตอบ:   จริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านบอกเอาไว้ชัดแล้วว่า อย่ากล่าววาจาที่เป็นคำส่อเสียดยุคนอื่นให้แตกร้าวกัน อย่ากล่าววาจาที่เป็นคำหยาบ อย่ากล่าววาจาที่เป็นคำเพ้อเจอเหลวไหล ท่านให้กล่าวแต่ปิยะวาจา คือคำพูดที่ดี ชักนำให้คนอยากปฏิบัติความดี เห็นว่าความดีนั้นทำได้ง่าย เห็นว่าความดีนั้นทำแล้วเป็นเรื่องที่ดีที่จะส่งเสริมเราให้เจริญขึ้น อะไรลักษณะทำนองนี้
              แต่คราวนี้ว่าส่วนใหญ่แล้วพวกเราทุกคนขาดการฝึก ในเมื่อขาดการฝึกพออารมณ์กระทบขึ้นมาก็มักจะอาละวาดก่อนเป็นอันดับแรก ในเมื่ออาละวาดไปก่อนเด็ก ๆ นี่เขาแรงกว่า เขาไม่ค่อยรับอะไรง่าย ๆ หรอก อาละวาดใส่มาเขาก็แรงกลับ ก็บ้านแตกสาแหรกขาดอย่างที่เห็น
              เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ดีที่สุดก็ต้องเอาอย่างพระพุทธเจ้าท่านว่า หรือไม่ก็ที่โบราณท่านว่านับหนึ่งถึงร้อยไว้ก่อน หรือไม่ก็พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง อะไรอย่างนี้ อย่างอาตมาสมัยก่อนแก้อาการปากไวด้วยการเอาเหรียญหลวงพ่อมาอมไว้ ถึงเวลาขยับลิ้นมันติดเหรียญก็รู้ว่าเอ่อ เราจะไม่พูดเรื่องเหล่านี้นะก็หยุดได้ทัน ก็อยู่ที่เราต้องฝึกตัวเราเอง คนอื่นบอกได้เท่านั้นแหละ แต่จะทำได้เป็นผลต้องอยู่ที่ตัวเราทำ
      ถาม :  สำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “Bolt and Nut” แปลได้ว่า รู้อะไรก็ตามให้รู้หลัก ๆ ก็พอ รายการแฟนพันธุ์แท้สามก๊กก็มีการตอบคำถาม โดยความจำกันว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร นักวิชาการได้กล่าวถึงประโยชน์ของสามก๊กไว้หลายอย่าง เช่น ๑. การ merg กันหรือการควบรวมกันของกิจการ ๒. การหลั่งไหลของผู้คนที่เรียกว่า สวามิภักดิ์ ๓. ตอนจูล่งฝ่าทัพไปรับอาเต๊าและสุดท้ายอาเต๊า(ไม่ชัด) เรื่องสามก๊ก ที่เกิดขึ้นมาในแต่อดีตเมื่อประมาณ ค.ศ. ๓๐๐ กว่า (ถ้าจำไม่ผิด) แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เคยเกิดมาก่อน สามก๊กเปรียบเสมือน case study หรือกรณีศึกษาเอาไว้เรียนรู้ผู้คน ไม่ใช่ว่าการจำเรื่องทั้งหมดได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่จะให้ดีเข้าขั้นคบไม่ได้ก็ต้องว่ากันอีกที
              ประเด็นคำถามอยู่ที่ว่าความรู้ของคนทางโลกอย่างหนึ่ง ทางธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่ทนต่อทุกข์และยอมรับกฎของกรรมเพียงอย่างเดียว ไมได้หมายความว่าการยอมรับกฎของกรรมเป็นของไม่ดี และละทิ้งความรู้ในทางโลกทั้งหมด โดยเห็นว่าไม่มีความหมาย ความรู้ในทางโลกและในทางธรรมเราตั้งใจกันอย่างไรดี ?
      ตอบ:   จริง ๆ แล้วโลกธรรมเขาให้ไปพร้อมกัน โลกต้องไม่ช้ำ ธรรมต้องไม่เสีย อย่างที่โบราณเขาบอกไว้ว่า รู้จริงสิ่งเดียวอาจมีมั่ง เลี้ยงชีพ ช้าอยู่ร้อย ชั่วลื้อหลานเหลน
              เรื่องของตำราต่าง ๆ โดยเฉพาะสามก๊กนี่ ต้องเอาอย่างที่จีนเขาว่า จีนเขาบอกว่าการเรียนรู้ตามอาจารย์สอนได้ถือว่าเก่ง ถ้าหากว่าเอาไปพลิกแพลงใช้งานได้ผลถึงจะเป็นยอด แต่ถ้าให้เยี่ยมจริง ๆ คุณต้องบัญญัติใหม่
              สรุปรวมทั้งหมดที่คุณว่ามาเลยว่าจริง ๆ แล้วของทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วเป็นบทเรียน ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เกิดขึ้น เสื่อมไป เกิดขึ้น เสื่อมเป็นปกติของมันอยู่แล้ว วงจรของมันอยู่อย่างนี้ เรื่องในสามก๊กเกิดขึ้นในสมัยโน้นหลายพันปีมาแล้ว ถึงเวลามันก็มาเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อีก เพียงแต่ว่าบางแง่บางมุมอาจจะต่างไป เราสามารถที่จะนำของเก่ามาเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขของใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา
              พระพุทธเจ้าท่านกล่าวถึงจุดสุดท้ายเอาไว้ว่า อิทธิบาท คุณเครื่องแห่งความสำเร็จมันมีข้อสุดท้ายว่า วิมังสา คือเราต้องไตร่ตรองพิจารณาทบทวนอยู่เสมอ ๆ อย่างที่คนสมัยใหม่เขาใช้คำว่า สรุปประเมินผล ในเมื่อถ้าหากว่าเราไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ เราก็สามารถใช้ของเก่าเพื่อที่เอามาแก้ไขของใหม่ได้ เพราะว่าทุกอย่างมันไปด้วยกันได้ทั้งหมด
              เขาบอกว่าอ่านสามก๊กครบสามจบคบไม่ได้ อาตมาอ่านมาหลายสิบจบ (หัวเราะ) และที่แน่ ๆ เมื่อไม่นานมานี้ปีที่แล้ว ป่วยหนักขึ้นมา ก่อนจะหายป่วยทุกครั้งมันจะมีนิมิตให้รู้ว่าตัวเองทำกรรมอะไรไว้ เคยเกิดสมัยสามก๊กเหมือนกัน แต่ตอนนั้นนี่ไปล่อเขาเสียพรุนเลย ตอนนั้นเป็นนายบ้านควบคุมประชากรจำนวนมากอยู่เหมือนกัน แล้วคราวนี้ นายทหารฝ่ายของขงเบ้งนี่แหละ เขาจะไปกวาดต้อนผู้ชายเพื่อเอาไปเข้ากองทัพ ไอ้เราก็ไม่อยากให้ลูกบ้านลำบาก ก็ไปขวางไว้ การขวางนี่เมื่อมีทางเดียวก็คือเขาบอกว่า นอกจากให้เขาทำงานไม่ได้เท่านั้นแหละ เขาถึงจะเลิกความคิดอันนี้เลิกล้มงานอันนี้ มันก็ต้องสู้กันใช่มั้ย ?
              คราวนี้ตอนจะสู้กันไอ้เรานี่ขาสั่น ของเขานี่เป็นยอดขุนพลเลย เคยสู้เสมอกวนอูมาแล้ว และเราเองก็เป็นตัวอะไรก็ไม่รู้อยู่กลางป่า แต่คราวนี้ว่าเพื่อลูกบ้านเราก็ต้องสู้ เพราะว่ามันมีแต่เสมอตัวกับกำไร มันไม่มีขาดทุนนี่ใช่มั้ย ? เสมอตัวคือ ยังไง ๆ เขาจะเอาคนของเราอยู่แล้ว ถ้าเราแพ้เขาก็เอาไป กำไรคือ ถ้าชนะเขาไม่ได้แน่ ก็ลองดู แต่คราวนี้ฝ่ายตรงข้ามเขาประมาท เขากะน้ำหนักอาวุธของเราผิด ตอนนั้นใช้ทวนเป็นอาวุธก็จริง แต่ด้ามมันเป็นเหล็ก พอเขากะน้ำหนักอาวุธของเราผิดเขาปัดแล้วไม่พ้นตัว แหมแทงทีแรกก็ได้แผลเลย มันก็เกิดกำลังใจสอยมันซะพรุนเป็นรังผึ้งเลย แต่ไม่ได้ถึงตายนะ เพราะว่าเราต้องการจะให้เขาเลิกล้มความคิด แต่แหม ขุนทัพที่ผ่านศึกมามากนี่บาดแผลแค่นั้นมันเรื่องเล็กสำหรับเขา มันก็ยิ่งฮึดสู้เข้าไปใหญ่ ประเภทยิ่งเห็นเลือดยิ่งบ้าอย่างนั้น เราก็เลยจำเป็นที่จะต้องแทงเขาจนพรุนเป็นรังผึ้งไปเลย ไม่ถึงตายหรอกแต่เอาแค่สู้ไม่ได้ (หัวเราะ)
              กรรมอันนั้นแหละ ที่ทำให้อาตมาฉี่เป็นเลือดอยู่เป็นอาทิตย์เลย มันปวดเหมือนอย่างกับโดนหอกโดนดาบมันเสียบอยู่ทั่วตัวเลย อันนี้จบจ้ะ เคยเกิดสมัยนั้นเหมือนกัน ถือว่าเป็นนิทานแล้วกัน
      ถาม :  อานิสงส์ของการนอนฟังธรรม กับอานิสงส์ของการจัดบวชพระ ?
      ตอบ:   การนอนฟังธรรมก็ต้องดูด้วยว่าใจเราไปอยู่จุดไหน ถ้าหากว่าสามารถน้อมใจไปตามธรรมได้ ธรรมะนั้นบอกให้เราทำอย่างไรเราน้อมจิตน้อมใจไปตามนั้นได้ ตัดสินใจว่าเราจะทำดังนั้น เราจะเป็นอย่างนั้น อันนั้นมันก็ได้ตามแต่ลำดับของธรรมที่เราทำอยู่ ถ้าหากว่าไม่ได้อะไรเลย ฟังธรรมแล้วหลับไปเฉย ๆ ตอนนั้นจิตเกาะความดีอยู่ถึงตายก็ยังไปในที่ดีได้
              การบวชพระ ถ้าหากว่าเป็นการบวชที่เรียกว่า ไม่ได้เบียดเบียนคนอื่นเขา ไม่ได้เลี้ยงเหล้า ไม่ได้เลี้ยงยาที่มันผิดศีลผิดธรรม อานิสงส์นั้นผู้บวชได้อานิสงส์ถ้าเกิดเป็นเทวดาอยู่ได้ ๖๐ กัป ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ได้อานิสงส์นั้น ๓๐ กัป ผู้ที่เป็นเจ้าภาพได้อานิสงส์ ๑๕ กัป คนที่ไปช่วยงานได้อานิสงส์ ๘ กัป แค่ ๘ กัป ก็อยู่กันจนลืมโลกแล้ว อันนี้แค่บวชสำเร็จเป็นองค์พระเฉย ๆ ถ้าหากว่าเขาสามารถทำความดีเป็นพระอริยเจ้าได้ก็ยิ่งดีมากขึ้นไปอีกหลายเท่า