ถาม:  ต้องไม่เลี้ยงเหล้า เลี้ยงเบียร์
      ตอบ:   คือถ้าหากว่ามันเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ไม่ดีเสียแล้ว ผลดีมันก็ลดน้อยลง หรือไม่มีเอาเสียเลย ไม่เลี้ยงเหล้าเลี้ยงเบียร์ ไม่ล้มหมูล้มไก่อะไรพวกนั้นน่ะ
      ถาม:  ประโยคจากเพลงที่ว่า I cry so many nights ซึ่งเขาแปลเป็นภาษากวีว่า ฉันร้องไห้มากมายหลายคืน ที่ต้องแปลคำว่าหลายคืนเพราะคำว่า ไนท์ มีการเติมเอส และให้เกิดภาษากวีโดยใช้คำซ้อนคำว่ามากมาย เพื่อให้พยายามเข้ากับ many คำว่ามากมายนี้จึงเป็นคำภาษาต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มากมายทั้งหมดเป็นภาษาต่างประเภท รูปแบบประโยคอีกแบบหนึ่งคือ ที่คนไทยนิยมใช้คือ รูปแบบ passive voice ที่ใช้การเปลี่ยนประธานเป็นกรรมและเปลี่ยนกรรมเป็นประธานของประโยค นักวิชาการทางด้านภาษาได้กล่าวไว้ว่า ภาษาไทยปัจจุบันมีอยู่ ๒ แบบ แบบที่ ๑ คือ ภาษาไทยดั้งเดิม แบบที่ ๒ คือ ภาษาไทยที่มาจากภาษาต่างชาติ เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ว่ากันด้วยเรื่องสาเหตุของการที่ผู้ปกครองพ่อแม่คุยกับลูกไม่รู้เรื่อง ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไป พูดง่าย ๆ ก็คือว่าคนรุ่นใหม่เขาใช้ภาษากวีที่มาจากเพลงมาเป็นภาษาพูดและเพลงนั้นมาจากภาษาต่างประเทศ และเพลงนั้นก็เปิดกรอกหูคนมาหลายปีดีดัก ที่ว่ากันมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เรื่องความรักและความเข้าใจในครอบครัว เรื่องนี้พูดกันมากมากเพราะไม่เข้าใจกัน ท่านพระคุณเจ้าพอจะมีหลักที่เสริมสร้างความเข้าใจอันดีในครอบครัวหรือไม่อย่างไรบ้าง ?
      ตอบ:   จริง ๆ แล้วมันพูดภาษาเดียวกันนั่นแหละ แต่มันคนละอารมณ์กัน ส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่มักจะลืมไปว่าตอนเป็นเด็กตัวเองทำอะไรไว้ต้องการอะไรบ้าง แล้วพอถึงเวลาลูกก็ไปทำซ้ำ ๆ กับที่ตัวเองทำนั่นแหละ แต่ไม่ชอบใจ
              คราวนี้ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่พยายามเข้าใจเด็กตรงจุดนี้ ถึงพูดเรื่องเดียวกันมันก็กลายเป็นคนละภาษา เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วก็คือว่าในช่วงโดยเฉพาะวัยรุ่นกำลังพลังงานเหลือเฟืออยู่ ผู้ใหญ่เรามีหน้าที่ประคับประคองเท่านั้น ชี้แจงเหตุชี้แจงผลอะไรให้เขาเรียบร้อยแล้วไม่ต้องชี้แนะชักนำหรอก
              อาตมาเคยแยกแยะให้เขา บอกว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีผลอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้จะได้มีผลอย่างนี้ แล้วให้เขาเลือกเอาว่าจะทำอย่างไหน เห็นว่าเขาเลือกถูกทุกที โดยธรรมชาติแล้วทุกคนมีความใฝ่ดีอยู่ในตัว ถ้ามีคนที่เป็นที่ปรึกษาที่เขาไว้ใจได้อะไรได้เขาก็ยินดีที่จะมาปรึกษา แต่ว่าไอ้ความที่ว่าวัยรุ่นกำลังไฟแรงเขาไม่ชอบให้ใครครอบงำทางความคิด
              ดังนั้นเราก็ควรจะแยกแยะทุกสิ่งทุกอย่างให้กระจ่างแล้วให้เขาเลือกเอาเองว่าเขาจะเลือกเดินแบบไหน มันจะเป็นความยินยอมพร้อมใจโดยเฉพาะของเขา ถ้าเขาเลือกผิดนะ อย่าโกรธรอไว้เดี๋ยวมันเดือดร้อนเมื่อไหร่มันกลับมาเอง ตอนกลับมานี่แหละอย่าซ้ำเติมเป็นอันขาด ประเภทที่ว่าได้แผลมาก็ใส่ยาให้อย่างนั้นแหละ แล้วก็ยุมันไปใหม่ ถ้าเขาเห็นว่าบ้าน พ่อแม่ ผู้ใหญ่ในบ้านเป็นที่พึ่งเขาได้ เด็กไม่ไปไหนหรอก ถึงเวลามันกลับบ้านก่อน ที่อื่นไม่สบายเหมือนบ้านแน่ ๆ แต่ทุกวันนี้เขาพยายามทำบ้านเหมือนกับนรกอย่างที่เด็กมันว่า ถึงเวลาก็บีบคอเค้นเอา มีเด็กอยู่คนหนึ่งกำลังเรียนอยู่ปี ๑ ที่เทคโนพระจอมเกล้า พ่อเขาโกรธนักหนาตีกระจายเลย บอกว่าเด็กมันชอบโกหก ฟ้องหลวงพ่อบอกงั้น เอามาฟ้องอาตมา อาตมาแค่พูดประโยคเดียวเลยบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นเด็กมันไม่โกหกหรอก เท่านั้นแหละเด็กเขาบอกแล้วทำไมพ่อเขาไม่คิดอย่างนี้บ้าง ถ้าไม่จำเป็นเราอยากโกหกมั้ย ? ไม่มีใครอยากโกหกหรอก
              คราวนี้ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็ก ในเมื่อไม่เข้าใจเด็ก ๆ เขาเองเขาเห็นว่าเขาไม่สามารถจะพึ่งได้เขาก็ไปกับเพื่อน คราวนี้ระหว่างเพื่อนด้วยกันอายุมันไล่เลี่ยกัน ประสบการณ์ใกล้เคียงกันมันช่วยกันไม่ได้มากหรอก ลองผิดลองถูกไปเรื่อยแหละ คนไหนโชคดีลองถูกก็เฮงไปแต่ส่วนใหญ่แล้วเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์มันลองผิด
              ดังนั้นก็ต้องทำอย่างที่ว่า พยายามคิดดูว่า สมัยก่อนเราเองเป็นอย่างไร ? ตอนนี้เด็กก็เป็นอย่างนั้น อย่าไปตีกรอบให้เขา แยกแยะสิ่งที่เขาทำแล้วให้เขาเลือกทางของเขาเอง ถ้าเขาเลือกพลาดอย่าไปโกรธเคืองให้อภัยเขา กลับมายังคงให้ความรักความเอาใจใส่ดูแลเขาเหมือนเดิม เขาจะรู้สึกว่าไม่มีที่ใดดีกว่าบ้าน ถ้าเป็นอย่างนั้นเองเด็กไม่ไปไหนหรอก ทุกวันนี้พ่อแม่หลายคนน้อยใจ บอกว่าลูก ๆ รักหลวงพ่อมันมากกว่าตัวเขาอีก ไอ้เราก็ไม่มีอะไรเลยก็แค่บอกเขาไปว่าต้องทำอะไรแค่นั้นเอง เขาจะทำไม่ทำเราไม่ได้บังคับซะที บางทีทำผิดมาน้ำตาไหลน้ำตาร่วงหลวงพ่อจะเกลียดหนูแล้ว ไม่มีหรอก แต่ถ้าทำผิดต่อหน้าต่อตานี่ฟาด(หัวเราะ) เอาเถอะไปเลือกใช้เอา วิธีของอาตมามันอาจจะเฮงซวยก็ได้
      ถาม:  ในตำราท่านว่าไว้ จริตมี ๖ อย่าง อย่างตัวกระผมเองถือว่าเป็นการดัดจริต คือไม่รู้แล้วแกล้งทำเป็นรู้แต่ก็ไม่สำคัญ ท่านสรรเสริญในจริต ๒ อย่าง คือ พุทธจริต และศรัทธาจริต พุทธจริตท่านว่า เช้าฉลาดบ่ายโง่ เช้าฉลาดเย็นโง่ อันนี้เป็นอย่างไรครับ ?
      ตอบ:   จริงทั้ง ๖ อย่างก็คือ ศรัทธาจริต โทสจริต ราคจริต วิตกจริต พุทธจริต โมหจริต พวกจริตทั้งหลายเหล่านี้ จริง ๆ แล้วมีอยู่กับเราทุกคนครบทั้ง ๖ ตัว แต่ที่ระบุไปว่าจริตใดจริตหนึ่งเพราะว่าอย่างนั้นมันนำหน้ามา จริตชนิดนั้นมันนำหน้ามา ถ้าขี้โมโหก็เป็นโทสจริต ถึงโมโหแต่มีความฉลาดก็เป็นพุทธจริต ประกอบไปด้วยศรัทธาอย่างเดียวก็เป็นศรัทธาจริตอย่างนี้
              พวกจริตเหล่านี้อันใดอันหนึ่งมันอยู่กับเราตลอดเวลาอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ได้กำหนดกองกรรมฐานไว้ว่าแต่ละคน ๆ ควรทำอย่างไร แต่ว่าท่านสรรเสริญพุทธจริตคือผู้มีความฉลาดกับศรัทธาจริต ต้องระวังตัวศรัทธาจริตนิดหนึ่ง เพราะศรัทธาจริตนี่จะมีตัวอยู่ตัวหนึ่งก็คือว่ามันเป็นอธิโมกข์ศรัทธา เชื่อตามอย่างเดียวโดยไม่มีปัญญาประกอบเลย โอกาสพลาดมีเยอะ
              เพราะฉะนั้นถ้าเป็นศรัทธาจริตนี่ต้องพยายามย้ำคิดก่อน ไม่ใช่เชื่อใดฝ่ายเดียว ไม่ใช่เขาบอกว่าอะไรดีที่ไหนไม่ทันจะพิสูจน์เลยก็ไปซะแล้ว ลักษณะนั้นจริง ๆ ถ้ากำลังใจทรงตัวก็ไม่มีปัญหา รู้ว่าพลาดก็เริ่มต้นใหม่ แต่ถ้ากำลังใจไม่ทรงตัวมันมีในลักษณะจิตตก กำลังใจตก...(ไม่ชัด)
      ถาม:  ๑) เหตุใดท่านจึงสรรเสริญใน ๒ จริตที่ว่านี้ ? ๒) สมมุตว่าเราไม่มี ๒ จริต มี ๔ จริต เราจะทำอย่างไร ? ๓) เมื่อเรารู้จริตของตนเองว่ามีทั้งหมด ๖ จริต เราจะทำอย่างไรต่อ ?
      ตอบ:   ลักษณะที่เมื่อกี้ตอบไป ๒ ข้อแล้ว ก็คือจะ ๔ หรือ ๖ ก็ตาม มันมีกับเราครบทุกจริต แต่เพียงแต่ว่าอันไหนมันจะเด่นออกมาเท่านั้น ที่เขาสรรเสริญศรัทธาจริตเพราะว่านักปฏิบัติทุกขั้นตอนถ้าไม่มีศรัทธานำหน้ามา มันก็จะไม่เชื่ออะไรเลย แล้วโอกาสที่จะได้ดีมันหายาก ก็ถึงได้บอกว่าให้มีศรัทธา แต่ว่าต้องเป็นศรัทธาที่มีปัญญาประกอบ ส่วนพุทธจริตที่ท่านฉลาดมาก แค่เห็นหัวข้อธรรมเท่านั้นบางทีเข้าใจรู้แจ้งแทงตลอดตั้งแต่ต้นยันปลายเลย ดังนั้น ๒ จริตนี้จะมีคนที่เรียกว่าสรรเสริญเอาไว้คือ โอกาสจะได้ดีมันมีสูง
              แต่ว่าพวกโทสจริตเอาแต่มักโกรธ ราคจริตมักรักสวยรักงาม วิตกจริตคิดไม่ตกอยู่เสมอ โมหจริตประกอบไปด้วยความเขลาเป็นปกติ พวกนี้โอกาสจะได้ดีมันมีน้อย เขาก็เลยสรรเสริญว่า ศรัทธาจริต กับพุทธจริตเป็นของดีกว่า แต่จริง ๆ แล้วเรามีทั้งหมดนั่นแหละ ประเภทที่เช้าฉลาดบ่ายโง่หรือเย็นฉลาดเช้าโง่มันเป็นเรื่องปกติ
      ถาม:  อานาปานุสสติ ถ้าจับไม่อยู่จะทำอย่างไรดีครับ ?
      ตอบ:   ลักษณะของอานาปาฯ ถ้าหากว่าเราจะจับมีหลายวิธีด้วยกัน ในวิสุทธิมรรคท่านบอกเอาไว้เยอะ มีทั้งผุสนา อผุสนา คือจับเอาการกระทบ จับเอาการไม่กระทบ คราวนี้ว่าในเรื่องของลมหายใจเข้าออก ถ้าจิตมันหยาบจริง ๆ จะจับไม่ได้ ลองหาเรื่องให้มันเหนื่อยดูสิ อาตมาเคยวิ่งภาวนา พอเหนื่อยมันหายใจแรง ประสาทมันหยาบ ขนาดไหนก็ต้องรู้ว่าหายใจอยู่ มันหอบแฮก ๆ แล้ว คราวนี้นั่งพับลงไปเลย นั่งลงไปภาวนาดูลมหายใจเดี๋ยวนั้นแหละ ลมมันกำลังแรงดี จับง่าย บางทียังไม่ทันที่จะจับเลย มันนิ่งไปแล้ว
              พวกนี้จะต้องมีวิธีการที่เราจะเล่นกับมันเอง บางองค์ท่านเล่นอะไรรู้มั้ย ? อมฮอลล์ มันเย็นดี เวลาหายใจเข้าไปมันรู้ตลอด เลือกเอาจะใช้วิธีไหนขอให้รู้เท่านั้น ว่าตอนนั้นหายใจเข้า ตอนนี้หายใจออก
      ถาม:  ความฟุ้งซ่านท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวว่า “ฟุ้งไม่ผิด” “ไม่ฟุ้ง ผิด” อย่างไรดีครับ ?
      ตอบ:   จริง ๆ คำว่า ฟุ้ง มีเป็นปกติของทุกคนอยู่แล้ว อย่าลืมว่าการทำ ในทาน ศีล ภาวนา ทุกอย่างเราก็ฟุ้งคือ อยากดี ความฟุ้งซ่านส่วนใหญ่มันอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ทั้งนั้น เราต้องอยากดี เราถึงทำ การที่เราอยากดี เราทำไปเรื่อย ๆ ถ้าถึงที่สุดของมันแล้ว จิตมันจะปลดของมันเอง มันจะพอของมันเอง ถึงตอนนั้นแล้วมันรู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ มันไม่ติดทั้งดีทั้งชั่ว ถ้าอย่างนั้นจะไปนิพพานก็ง่าย ฉะนั้นอันดับแรก ถ้าจะฟุ้งก็ฟุ้งในด้านเป็นกุศลก่อน
      ถาม:  ความฟุ้งซ่านของคนธรรมดากับพระอริยเจ้า ท่านว่าต่างกัน ต่างกันอย่างไรครับ ?
      ตอบ:   ต่างกันมหาศาลเลย พระอริยเจ้าฟุ้งด้านกุศลอย่างเดียว คนธรรมดาฟุ้งทั้งด้านกุศลและเป็นอกุศล
      ถาม:  ฌาน ๕-๘ ต้องได้ฌาน ๔ ก่อนหรือไม่? และถ้าใช้อารมณ์คิดแบบนั้น แต่ตัวเองอารมณ์ไม่ถึงฌาน ๔ จะมีประโยชน์หรือไม่ ?
      ตอบ:   มีจ้ะ กำลังของฌาน ๕ – ๘ เค้าเรียกอรูปฌาน ต้องได้ฌาน ๔ เต็มที่ก่อน ถึงจะได้ทำได้ผล แต่ถึงจะได้ไม่ถึง พยายามลองฝึกดูมันก็ยังมีผลอยู่ เพราะว่าสภาพของมันจะเป็นการใช้ความคิดคล้าย ๆ วิปัสสนาญาณมาก การใช้ความคิดถ้ามีกำลังอยู่นิดหน่อยก็เริ่มคิดได้แล้ว อารมณ์ใจตรงตัวแล้ว แต่ที่จะเต็มที่ของมันจริง ๆ ต้องเป็นกำลังของฌาน ๔ และได้กสิณกองใดกองหนึ่งก่อนด้วย แล้วต้องกำหนดเพิกภาพกสิณนั้นเสีย ไม่อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าอรูป คือ ไม่มีรูป มันต้องเริ่มตั้งรูปขึ้นมาก่อน แล้วละรูปนั้นเสีย ทำแล้วได้ผลเหมือนกัน เพียงแต่ผลก็น้อยไป ตามกำลังที่เราได้ ถ้าได้ฌาน ๔ เต็มที่แล้ว ได้ผลเป็นจริงเป็นจัง เป็นของแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย
      ถาม:  การตั้งอารมณ์ในตอนเช้า เมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ ต้องมีหลักใดสำคัญหรือไม่ ? และอีกประการหนึ่งเมื่อลืมตาขึ้นมา เราจับอารมณ์กรรมฐานทันทีหรือไม่ ?
      ตอบ:   ทันทีที่รู้ตัวอันดับแรกให้นึกถึงลมหายใจเข้าออกก่อน ถ้ายิ่งเราภาวนาจนหลับ ถ้าหากว่าจิตมันหลับแล้ว มันหลับไปกับกำลังที่หยาบ ตื่นขึ้นมาจะงง ๆ อยู่พักหนึ่ง แล้วก็นึกว่าเอ่อ...เราต้องภาวนา แล้วก็เริ่มภาวนา ถ้าเป็นกำลังปานกลางตื่นขึ้นมาพอรู้สึกตัวอ้อ...เราต้องภาวนา เราก็ภาวนาต่อ แต่ถ้าเป็นกำลังอย่างละเอียดหลับอยู่มันก็รู้ว่าหลับ ตื่นอยู่มันก็รู้ว่าตอนนี้ตื่น มันจะภาวนาต่อเนื่องทั้งหลับทั้งตื่นเลย
              อันดับแรกทิ้งไม่ได้เลยคือ ลมหายใจเข้าออก มันเป็นพื้นฐานใหญ่ที่สุดของกรรมฐานทั้งหมด ถ้าทิ้งลมหายใจเข้าออก กรรมฐานกองอื่น ๆ ทำแล้วทรงตัวได้ยาก พอเราจับกรรมฐานอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ให้ตั้งใจนึกถึงพระ หรือนึกถึงพระนิพพาน การที่เรานึกถึงพระพุทธเจ้า หรือนึกถึงนิพพานจริง ๆ แล้วเป็นอันเดียวกัน เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย นอกจากพระนิพพาน เรานึกถึงท่านก็คือ อยู่กับท่านที่นั่น ให้ตั้งใจว่าวันนี้เราจะไปทำหน้าที่ของเรา ตามวันตามเวลา ตามงานประจำของเราแล้ว ถ้ามันถึงอายุขัยหรือตายลงด้วยอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ก็ตาม เราขอไปอยู่ที่นี่กับพระองค์ ท่านคืออยู่ที่พระนิพพาน ให้ตั้งกำลังใจอย่างนี้ ให้ทรงตัวไว้ วันหนึ่งซัก ๕ นาที หรือสองถึงสามนาทีก็ได้ มันเหมือนกับจองตัวเอาไว้ พอถึงเวลาโดดขึ้นรถ ก็ไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางเลย จิตมันมีสภาพจำแล้วมันจะจับอารมณ์แรกเป็นใหญ่ ถ้าอารมณ์แรกของเรา เราเกาะพระนิพพานไว้ได้ เวลาที่เหลือมันฟุ้งซ่านขนาดไหนก็ตาม ถ้าตามปุ๊บอารมณ์นั้นมันจะเข้าถึงใจทันที อารมณ์แรกที่จับไว้มันเข้ามาสู่ใจ อกุศลมันเข้าไม่ได้ เราก็ไปตามที่เราเกาะ
      ถาม:  ก่อนที่จะนอนเราจะตั้งอารมณ์อย่างไร ? และอานิสงส์ของการสวดมนต์ทุกเช้าเย็นเป็นอย่างไร ?
      ตอบ:   ก่อนจะนอนให้ตั้งใจว่า ขณะนี้เรานอนลงไปร่างกายเหยียดยาวแล้วก็เหมือนกับคนตาย ถึงจะไม่ได้ลืมตาขึ้นมาเห็นวันใหม่ก็ตาม ถ้าตายลงไปวันนี้เราขอไปพระนิพพาน ตั้งใจจับภาพพระให้คลุมตัวเราลงมาก็ได้ หรือไม่ก็ส่งใจขึ้นไปเกาะพระนิพพานก็ได้ คิดว่าถ้าหากว่าเราตายเราขอไปอยู่กับพระ เราตายเราขอไปอยู่พระนิพพานให้เป็นอย่างนี้ อานิสงส์ของการสวดมนต์ถ้าหากว่าทำเป็นไปยันนิพพานได้
              การสวดมนต์อันดับแรกได้สมาธิ ถ้าสมาธิไม่ดีจะสวดผิด ถ้าหากว่าทำเป็นทรงฌานขณะที่สวดก็ได้ เราใช้คำสวดทั้งหมดเป็นคำภาวนาของเรา หรือจะฝึกทิพจักขุญานจากการสวดก็ได้ เวลาสวดไปก็กำหนดให้เห็นคำที่เราสวดขึ้นมาเป็นตัวหนังสือทีละตัว ๆ ผ่านหน้าเราไป เห็นตัวหนังสือนั้นชัดได้เท่าไหร่ เราก็เห็นผีเห็นเทวดาชัดเท่านั้น หรือไม่ก็ส่งกำลังใจขึ้นนิพพานไปสวดถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าข้างบนนั้นเลย ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ตายตอนนั้นก็อยู่บนนิพพานตอนนั้น ก็เลยว่าอานิสงส์จะมีมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าเราทำเป็นมั้ย ? หรือเราทำได้ขนาดไหน ?
      ถาม:  มโนมยิทธิฝึกยากหรือไม่ ? ชาวบ้านอย่างผมจะฝึกได้หรือไม่ ?
      ตอบ:   มโนมยิทธิจริง ๆ แล้วฝึกง่ายที่สุด ถ้ามีความเข้าใจ ๕ นาที ๑๐ นาทีก็ได้แล้ว ใครก็ตามที่อยากฝึกสามารถฝึกได้ทั้งสิ้น เพราะว่ามโนมยิทธิเป็นการทวนทิพจักขุญาณของเก่าในอดีต ส่วนใหญ่ถ้าหากว่าใครคิดว่าตัวเองอยากฝึกมักจะมีของเก่าอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ามีความเข้าใจไม่ดื้อกับครูไม่กี่นาทีก็ได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวางกำลังใจไม่ถูกต้องมันก็เลยได้ยาก
      ถาม:  ผู้ที่จิตทรงฌานควรจะระวังอารมณ์เรื่องใดเป็นสำคัญ ?
      ตอบ:   ระวังอันดับแรกอย่าให้นิวรณ์มันกินใจเราได้ ถ้านิวรณ์กินใจเราได้เมื่อไหร่อารมณ์ฌานจะถอยหลังจะกลายเป็นหลุดออกไป และที่แน่ ๆ ก็คือระมัดระวังอย่าเพลิดเพลินกับมัน ให้รู้อยู่เสมอว่ามันเป็นเครื่องมือที่เราอาศัยไปสู่พระนิพพานเท่านั้น มันไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของเรา บางคนกอดแน่นไม่ยอมปล่อยเลย (หัวเราะ)