ช่วงแรกของเล่ม "กลางดงควันปืน"

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  แล้วไม่หลุดภาษาไทยเลยหรือคะ ?
      ตอบ:   เผลอไม่ได้หรอก เผลอเป็นเสร็จ พูดแค่จำเป็น เกิดมาเป็นสายลับมากเกินไป อย่างท่านกอล์ฟบอกว่า ถ้าเทคโนโลยีดีพอ จะให้อาจารย์ไปผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้า ให้มันดูน่าเชื่อถือกว่านี้ ส่วนครูบาน้อยท่านมานั่งวิเคราะห์ว่า ผมกับอาจารย์ไปไหนคนเขาก็ไม่คิดหรอก ว่าจะเป็นพระอาวุโส เพราะว่าไม่มีมาด คือที่อื่นจะมีการวางมาด ใครยิ่งอาวุโสมาก ลูกศิษย์มาก เขาจะยืด ของเราไม่รู้จะยืดทำไม ถ้ายืดแล้วไปไหนลำบาก ไปอย่างนี้แหละสนุกดี นั่งขำกลิ้งอยู่คนเดียว มันถามหาอาจารย์เมื่อไหร่จะมา ครูบาเมื่อไหร่จะมา จะบอกว่ากูนั่งอยู่นี่แล้ว (หัวเราะ) พอ ๆ กับพวกทหาร เห็นมันโดนเจ้านายด่าทางวิทยุ ก็สงสารมันนะ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะถ้าขืนบอกมันเราก็ซวยอยู่คนเดียว ก็ต้องนั่งไม่รู้ไม่ชี้ไปเรื่อย แต่ว่าของเขาก็ยังดีนะ ถ้าหากเขาตรวจสอบเป็นรายบุคคลจริง ๆ อาจจะเจอ แต่เขาก็ยังให้เกียรติพระ เขาไม่ค้น เพราะว่าของเราเครื่องใช้ในตัวมีแต่ของไทยทั้งนั้นนี่ มีแต่หนังสือรับรองฉบับเดียวที่เป็นของพม่า
              ตอนที่อยู่ย่างกุ้ง ที่โน่นเขาจับได้น่ะ เขาคิดว่าเราได้รับจ้างเข้าไปหาข่าว ไปจารกรรม วันนั้นก็ดันดวงซวย ดันแลกเงินตั้ง ๒ แสนกว่าเกือบ ๓ แสนพม่า ก็เลยใช้วิธีอย่าให้มันหาเจอ มันค้นทั่วตัวเลยเนะ แต่มันหาเงินไม่เจอ ตลกดีเหมือนกัน ก็ใส่กระเป๋าอยู่โต้ง ๆ มันต้องการอะไรก็ล้วงให้มัน กระเป๋ามันก็เห็นอยู่ แต่เราล้วงให้แค่ที่เราต้องการให้มัน ไอ้ที่เกินเราไม่ให้ (หัวเราะ) มันก็คงไม่คิดว่าจะมีใครหน้าด้าน ขนาดปิดบังมันซึ่ง ๆ หน้า มันจะเอาอะไร เราก็ล้วงให้ก็เห็น ๆ อยู่ มันไม่ค้นซ้ำเองน่ะ เพราะถ้าเห็นเงินเยอะ มันต้องมั่นใจว่าเราต้องโดนจ้างเข้าไปแน่ ขืนให้มันเห็นเราแย่แน่ ก็มีวิธีเดียว ปิดบังไง
              พวกเราไปไม่ได้หรอก เพราะพวกเราเกิดอะไรขึ้น ใจมันเต้นผิดปกติ มันนิ่งไม่พอ ถ้าสมาธิทรงตัว นิ่งพอ มันจะไม่เป็นที่เขาว่า “ใจกล้าหน้าด้าน” ต้องทำให้ได้ ลักษณะนี้เขาเรียกว่า “เวสารัชชกรณกรรม” พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า การกระทำที่ทำให้บุคคลเป็นคนกล้า จะประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล สมาธิ สติ ปัญญา พาหุสัจจะ พาหุสัจจะ นี่เรียนรู้ไว้มาก พวกเหล่านี้จะทำให้คนเป็นคนกล้า ศรัทธา คือความเชื่อ ท่านแบ่งออกเป็นหลายอย่าง มีเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อมั่นในผู้นำ เชื่อมั่นในตนเอง คนเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย มั่นใจอยู่แล้วคุณพระรัตนตรัยคุ้มได้ เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่ เขาจะมีของดีของขลัง ประจำตัวประจำตระกูล เชื่อมั่นในผู้นำ ผู้นำบอกอย่างไร เชื่อทำตาม อันสุดท้ายนี่สำคัญ เชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ก็ไม่กล้า อะไร ๆ เสี่ยงได้สารพัด
              ยายทุเรียนใช่ไหม เขาไปลองอยู่ที่วัดท่าขนุนดู จากท่าซุงไปลองอยู่ท่าขนุน เขาบอกว่า กุฏิชีนี่อับเกินไป ของเขาต้องการโปร่ง ๆ ก็บอกมีนี่ กุฏิในป่าช้า เหลือตั้ง ๓ หลัง ก็ให้ยายทุเรียนเข้าไปดู เขาก็กลับมาบอกว่านอนกุฏิชีดีกว่า ถามเขาว่า กลัวตายหรือ ? บอกไม่ได้กลัวหรอก บอกเขาว่าทุกอย่างมันลงที่กลัวตาย จำเอาไว้ เพราะว่า กลัวผี ผีมันมาบีบคอ บีบคอเดี๋ยวก็ตาย เข้าป่ากลัวเสือ กลัวงูกัดแล้วก็ตาย ดูมาเยอะแล้ว ทุกอย่างลงตรงตายหมด ถ้ายังกลัวตายอยู่ มันกลัวทุกเรื่อง ถ้าเลิกกลัวตายเมื่อไหร่ ก็เลิกกลัว ตัวอุปาทาน คือการยึดมั่นถือมั่น มันมีแต่โทษ หาประโยชน์ไมได้
              อย่างเขานี่ เขาก็ยังยึดอยู่ว่าเราเป็นศัตรูของเขา ในเมื่อเขายึดอยู่ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง มันก็เลยทำให้เขายังต้องเกิด ต้องทนทุกข์ต่อไปเรื่อย ๆ ลักษณะเดียวอย่างของพวกเราก็เหมือนกัน ยึดของเก่าว่าพม่าเป็นศัตรู มาเผากรุงศรีอยุธยา บางคนเกิดไม่ทันเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นก็ไปยึดมั่นอยู่ตรงนั้นว่าเขาเป็นศัตรู ทำให้กำลังใจมันมีที่เกาะ ที่ยึดที่เกาะนี่ ภาษาของทางพระท่านเรียกว่า “อุปาทาน” คือการยึดมั่น ถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่น ก็จะเกิดภพ คือสถานที่ขึ้น เพราะว่าถ้ายึด มันต้องมีที่ให้ยึดมันถึงอยู่ได้
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ:   ในเรื่องของเนื้อสัตว์นี่ แม้กระทั่งพระ พระพุทธเจ้าก็ไม่ห้าม แต่ท่านบอกว่าต้องให้เป็นปวัตตมังสะ คือที่เขาฆ่าเพื่อขายอยู่ทั่ว ๆ ไป ถึงเราไม่กินมันก็ทุบตายแหงอยู่นั่นแล้ว พวกนั้นไม่เป็นไรจ้ะ แต่ถ้าหากว่าเจาะจงฆ่านี่ เสร็จแน่ ๆ เลย
              อย่างเช่น สั่งให้ทุบกี่ตัว ๆ อย่างนี้จะมีโทษและอีกอย่างหนึ่งต่อให้สั่งทุบก็จริง ถ้าเราสั่งก็ไม่ได้หมายความว่า ๒๔ ชั่วโมง เราจะสั่งตลอด ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ให้รักษาเป็นเวลา อย่างเช่น ชั่วโมงนี้ไปสั่ง อีก ๒๓ ชั่วโมงศีลฉันต้องเป๊ะเลย อะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าตามที่โยมว่ามานี้โอกาสที่จะผิดมันไม่มีเลย เพราะเราไม่ได้ให้เขาฆ่า เขาฆ่าอยู่แล้ว
      ถาม :  กังวัลว่าศีลตัวเองหมอง ?
      ตอบ:   เขาเรียกว่า คิดหานรก ลักษณะเดียวกับท่านแม่มัลลิกา ไม่ผิดแต่คิดจะลงนรก ท่านบอกว่า ท่านโง่มาแล้ว เพราะฉะนั้นลูก ๆ ให้มันหัดฉลาดมั่ง พระพุทธเจ้าท่านก็บอกแล้วใช่ไหมว่า ถ้าหากว่าจิตใจเศร้าหมองมีทุคติเป็นที่ไป ถ้าจิตใจไม่เศร้าหมอง มีสุคติเป็นที่ไป ภรรยาของพรานกุกกุฏมิต สามีจะออกไปล่าสัตว์ แม่อีหนูส่งหอกมา แม่อีหนูส่งหน้าไม้มา แม่อีหนูส่งบ่วงเชือกมา ท่านก็ส่งให้ พระเห็นก็งง เพราะว่าคนนี้พระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วว่าเป็นพระโสดาบัน แล้วทำไมยังสนับสนุนสามีให้ฆ่าสัตว์ ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถามเขาดูก่อนสิ ว่าเขาคิดยังไง ท่านก็บอกว่าท่านเป็นภรรยา มีหน้าที่ทำตามสั่งสามี สามีสั่งให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ให้ส่งอะไรให้ก็ส่งให้ แต่ว่าเขาเอาไปทำอะไรไม่รู้ ไม่ได้สนใจตรงจุดนั้น เป็นภรรยา สามีใช้ก็ส่งให้ สามีเอาไปทำอะไรไม่คิดเสียเวลา
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ:   ขยัน เอาขยันไว้ก่อน ขยันให้มันถูกเรื่องด้วยนะ ถ้าขยันผิดเรื่องไม่ได้เรื่องหรอก ถ้าหากว่าเป็นหลักการของทหาร ท่านแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ คนฉลาดและขยัน คนโง่แล้วขยัน คนฉลาดแล้วขี้เกียจ คนโง่แล้วขี้เกียจ พวกฉลาดและขยันให้อยู่แนวหน้า มันช่วยป้องกันได้ดี พวกโง่แล้วขี้เกียจให้ไปอยู่กับพวกฉลาดและขยัน มันลากกันไปได้ พวกฉลาดแล้วขี้เกียจให้มันอยู่แนวหลัง คอยวางแผนไม่ต้องทำงานมาก ส่วนพวกโง่แล้วขยัน ท่านบอกให้ยิงทิ้งให้หมด มีแต่จะทำความเดือดร้อนให้กับหน่วยงาน
      ถาม :  ขยันให้ถูกต้อง ขยันยังไงเจ้าคะ ?
      ตอบ:   ก็ให้มันพอดี พอดีของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน เราต้องรู้จักสังเกตตัวเราเองว่า เราทำแค่ไหนแล้ว สภาพจิตของเรามันแช่มชื่น มันเบิกบาน มันก้าวหน้าในการปฏิบัติ เราต้องหัดสังเกตตัวเราเอง เพราะว่ามัชฌิมา ปฏิปทา คือตัวพอดีพอควร คือสายกลางของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน มันไม่มีมาตรฐานขีดเป๊ะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์หรอก คนโน้นเขาทำกำลังใจมาดี บุญบารมีที่เขาสร้างสมมาดี เขาอาจจะนั่งกรรมฐาน ๗ วัน ๑๕ วันติดต่อกัน แต่ของเราเจอไปชั่วโมงหนึ่งก็จะบ้าแล้ว
              เพราะฉะนั้นความพอดีมันอยู่ตรงไหน พอรู้ว่าตรงนั้นคือพอดีของเรา ก็พยายามทำให้มันได้ขนาดนั้นบ่อย ๆ ไม่งั้นมันก็ประเภทที่เรียกว่า ทำเกินกับทำขาด ทำเกินก็เสียผล ทำขาดก็เสียผล
      ถาม :  ............................ ?
      ตอบ:   ฝรั่งเขาทำโครงการไอสไตน์น้อย เขาจับเด็กที่ ไอ.คิว. ตั้งแต่ ๑๑๐ ขึ้นไป มาเรียนรวมกัน บรรลัยหมดเลย คนเก่งแล้วมันไม่ยอมรับคนอื่น ในที่สุดเขาก็เลยหาเจอว่า ไอ.คิว. คือหน่วยความจำอย่างเดียว มันต้องมี อี.คิว. คือวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วย
              พวกนี้เขาเก่งเกินไปก็เลยไม่ยอมรับคนอื่น เป็นคนที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่เป็น ในเมื่อไม่เป็นก็เลยทำให้เขาลำบาก ตัวอย่างที่ชัดที่สุดมีเด็กคนหนึ่ง ตอนนี้ไม่ใช่เด็กแล้วล่ะ มันจะเป็นปู่คนแล้วมั้ง คือตากิ๊น เรียนอยู่ที่อัสสัมชัญศรีราชา ในรุ่นแรก ๆ เลย แล้วเจ้านี่มันสุดยอดของความเก่งเลย โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ วิชาที่ใคร ๆ ว่าเป็นยาขมหม้อใหญ่ ถ้าครูเขาแสดงวิธีการถอดสมการว่ามี ๒ วิธี ตากิ๊นมันต้องบอกมี ๓ วิธี แล้วมันก็จะไปแสดงวิธีแก้ให้ดู แล้วถูกด้วย ครูยอมรับด้วย
              เพราะฉะนั้นเรียนวิชานี้ทีไรเพื่อนมักจะยุให้มันออกไปเถียงกับครู จะได้หมดชั่วโมงเร็ว ๆ เขาเก่งขนาดนั้น โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาเป็นโรงเรียนฝรั่ง ถึงเวลาก็ต้องไปเข้าโรงสวดกับเขา ปรากฏว่าเขาร้องเพลงสวดภาษาลาตินไม่เก่ง เพื่อนก็ด่าให้ มันก็เลยไปเรียนเอกดนตรีมาเสียหนึ่งปริญญา ใครว่าอะไรไม่ดีมันก็ไปเรียนมา ตกลงมันคนเดียวจบ ๗-๘ ปริญญา แล้วก็หาความสำเร็จในชีวิตไม่ได้สักที คนอื่นเขาเป็นเถ้าแก่ เป็นผู้จัดการ เป็นผู้อำนวยการ มีกิจการใหญ่ ๆ โต ๆ ตากิ๊นแกยังร่อนไปร่อนมา ดูนามบัตรมันแผ่นเบ้อเริ่มเทิ่มเลย จบมากี่อย่างลงไปในนั้นหมด แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต นั่นคือเรื่องของคนเก่ง เห็นได้ว่าคนเก่งมันสู้เฮงไม่ได้ ที่เขาว่าพรสวรรค์สู้พรแสวงไม่ได้
              เรียนอะไรก็ได้ให้มันจบไปสักระดับหนึ่ง เพราะว่าบ้านเราเมืองเรายังเชื่อกระดาษแผ่นเดียว ไม่เชื่อความสามารถของคน ในเมื่อเรียนจบไปแล้วจากสถาบันไหนก็ช่าง ถึงเวลาคุณมีความสามารถทำงานก็แล้วกัน คือเขายังเชื่อกระดาษแผ่นนั้น อเมริกาชอบเขาอยู่อย่างเดียวตรงที่ว่า คุณจะเรียนหรือไม่เรียนก็ตาม ถ้ามีความสามารถคุณทำงานได้ เพราะว่าคนเก่งที่ตั้งหลักสูตรขึ้นมาให้คนอื่นเรียน แรก ๆ มันก็ไม่เคยเรียนมาก่อน เพียงแต่เขาประสบความสำเร็จ แล้วความคิดของเขาพูดง่าย ๆ คือ สามารถรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นมาแล้วกลายเป็นตำรับตำราวิชาการ ของบ้านเรานี่มันไม่ได้ ถ้าไม่มีกระดาษแผ่นนั้นให้เขาดู เขาไม่ยอม ก็เลยต้องวิ่งหา
      ถาม :  กระดาษแผ่นเดียวไม่พอ ต้องดูด้วยว่าจบที่ไหน ต้องสีชมพู อะไรอย่างนี้ ?
      ตอบ:   เด็กของใคร จะได้เรียนต้องขึ้นกับดวง เด็กของใคร วิ่งเต้นหรือไม่ เงินเท่าไหร่ เด็กก็ วิ่งก็ เงินก็ จะได้ทำงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดวง
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ:   พวกเดียวกัน สมัยก่อนหลวงพ่อก็ไม่ค่อยชอบคณิตศาสตร์ ที่ไม่ชอบเกิดจากครู ครูเขาพูดแล้วเราเก็บเอาไปฝังหัวไว้ เป็นเรื่องที่ครูเขาก็ไม่คิดว่ามันจะมีอิทธิพล คือครูเขาบอกตอนชั่วโมงเลขว่า พวกเธอไม่ต้องเรียนมากหรอก นับหนึ่งถึงร้อยได้ ทอนเงินเป็น ก็ทำมาหากินได้ ตั้งแต่นั้นมาในความคิดไม่เคยชอบวิชาคณิตศาสตร์เลย ให้ทำน่ะทำได้แต่ไม่ชอบเลย วิชาไหนที่เราไม่ชอบ มันจะเรียนกับมันอย่างไม่มีความสุข มีอยู่เที่ยวหนึ่งขาดเรียน พอกลับไปก็พอดีเทสต์เก็บคะแนน ครูเขาก็ตั้งโจทย์ ๒ ข้อบนกระดาษ เพื่อนที่นั่งติด ๆ กันบอก มึงอย่าลอกกูนะ เราก็ยั๊วะขึ้นมา เออกูไม่ลอกมึงก็ได้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเอง คราวนี้ของเราเสร็จก่อน ไปส่งครูได้ ๒๐ เต็ม เพื่อไปส่งได้ ๐ วันนี้ถ้ากูลอกมึงก็เจริญล่ะ ตกลงว่าเราเรียนได้ แต่มันไม่ชอบ แล้วค่อนข้างจะเกลียดด้วย
              จริง ๆ แล้วถือว่าวิชาคณิตศาสตร์นี่ทิ้งไม่ได้ ต้องเรียนต่อเนื่อง ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงจะต่อไม่ติดแล้ว พอต่อไม่ติดแล้ว เด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่กล้าถามครู พอไม่กล้าถามครูเขาก็สอนตอนต่อไปเรื่อย ๆ ของเก่าตัวเองยังไม่เข้าใจ ของใหม่มันก็จะพลอยไม่เข้าใจไปด้วย เลยกลายเป็นดินพอกหางหมูหนักขึ้นทุกที ๆ
              ดังนั้นวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิขาเดียวที่ทิ้งไม่ได้เลยแม้แต่ชั่วโมงเดียว ทิ้งเมื่อไหร่ต่อไม่ติดเมื่อนั้น คราวนี้เห็นคุณค่าหรือยังว่าฝึกมโนไว้ มันได้เปรียบคนอื่นเขาแค่ไหน พวกฝึกกรรมฐาน พวกทิพจักขุญาณเวลาเรียนมันได้เปรียบเขา เรียนไม่ทันก็ถามพระเอา หลวงพ่อท่านเรียกพระพุทธเจ้าว่า ด๊อกเตอร์สรรพศาสตร์ รู้ทุกเรื่องจริง ๆ ถามอะไรท่านตอบได้หมดจริง ๆ เราเองก็งง ๆ ท่านรู้ขนาดนั้น
              คราวนี้พอไปอ่านพระไตรปิฎก มีอยู่ตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านเสด็จออกจากป่าประดู่ลาย เข้ามาในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ท่านถือใบประดู่มากำมือหนึ่ง ถามว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใบประดู่ในมือตถาคต กับใบประดู่ในป่า อย่างไหนจะมากกว่ากัน พระท่านก็บอกว่าใบประดู่ในป่ามากกว่าจนประมาณไม่ได้พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า นั่นแหละภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ตถาคตรู้คือใบประดู่ในป่า แต่สิ่งที่ตถาคตสอนพวกเธอ คือใบประดู่กำมือเดียว กำมือเดียวล่อซะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
              แล้วที่ท่านรู้จะขนาดไหน ท่านใช้คำว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก โลกนี่มันเป็นทั้งอากาสโลก โลกคือดวงดาวอื่น ๆ สัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์ต่าง ๆ ท่านรู้ทุกเรื่องจริง ๆ รู้ทั้งโลกภายนอก รู้ทั้งโลกภายใน รู้ครบถ้วนสมบูรณ์ บอกว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้ไม่หมด พวกเรานี้แย่ รู้หมด พอเขาถามไป ๆ ตอบไม่ได้ ความรู้หมดของท่านถามเท่าไหร่ ท่านตอบได้เรื่อย รู้ไม่หมดหรอก
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ:   ได้ จริง ๆ ถ้าเราสามารถซ้อมอยู่ตลอดเวลา มันจะคล่องตัวมาก และอีกอย่างหนึ่งก็มีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษอะไร ยิ่งจิตใจเป็นสมาธิมากเท่าไหร่ ปัญญาก็ยิ่งมีมากเท่านั้น แต่ว่าปัญญาในทางธรรม มันละเอียดกว่าปัญญาในทางโลก นับเท่าไม่ได้ ในเมื่อมันละเอียดกว่ากันขนาดนั้น เรื่องหยาบมันเลยกลายเป็นเรื่องง่าย
              จนกระทั่งทุกวันนี้เวลาเรียนหนังสือยังบอกเลย ผมไม่เห็นมีอะไรยากเลย แต่คนอื่นเข็นกันแทบตายกว่าจะไป ของเราก็เลยไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่าสมองดี หรือว่าเป็นความสามารถพิเศษกันแน่ ก็ยังง ๆ เหมือนกัน สอบบาลีนี่เล่นเอาท่านมหาตรวจเสียประสาทกลับไปเลย บาลีนี่มันยาก มีจุด มีขด มีวง อะไรผิดจุดหนึ่งตัดคะแนนหนึ่ง ผิดตัวหนึ่งตัดคะแนนหนึ่ง เขาตรวจจนกระทั่งหมดแล้วหาทางตัดคะแนนเราไม่ได้ บ่นใหญ่เลย “เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่นักเรียนคนไหนมันจะทำได้คะแนนเต็ม ผมยังไม่เคยเจอ” เจอเสียก็แล้วกัน
              พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านใช้คำว่า ปรหิตประโยชน์ - ประโยชน์ปัจจุบัน สัมปรายิกัตถประโยชน์ – ประโยชน์ในภายใน ประโยชน์ปัจจุบัน คือว่าเราสามารถทำให้จิตใจสงบ กิเลสหรอืนิวรณ์ต่าง ๆ กวนใจได้น้อย จิตใจผ่องใส ต้องการรู้อะไรความรู้มันก็จะปรากฎขึ้นมา ส่วนสัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ภายภาคหน้าโน้น หมายเอาชาติหน้าภพหน้าไปเลย หรือไม่ก็หลังความตายไปเลย ว่าจะไปไหน เป็นเทวดา เป็นพรหม ไปนิพพาน อะไรก็ว่ากันไป อยู่ที่ว่าเราทำได้แค่ไหน กำมือเดียวที่ท่านให้เรามันเป็นทางหลุดพ้น จะอยู่สุขในปัจจุบันและก็อยู่สุขในอนาคต เรื่องอื่น ๆ ท่านรู้อยู่แต่ว่าประโยชน์มันน้อย
              มีโยมอยู่คนหนึ่งกำลังทำเครื่องมือ อาศัยความรู้ของพระ เครื่องมือตัวนี้จะใช้กำลังของดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา ถ้าหากว่าใช้งานได้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จดลิขสิทธิ์เมื่อไหร่ บ้านเราไม่ต้องไปงอน้ำมันจากแขกเลย เขามาถามไป ๒ ครั้งแล้ว ตรงจุดที่มันติดขัดแล้วไปต่อไม่ได้ เขาบอกว่าวันไหนที่มันโอเคเรียบร้อย ทดลองแล้วได้ผล เขาจะวิ่งหานายกเลย เขาเชื่อว่านายกสนับสนุนแน่ เพราะนายกท่านเป็นธุรกิจ คือสิ่งที่สามารถผลิตพลังงานได้ โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งน้ำมัน ชาติไหนภาษาไหนก็ต้องการอยู่แล้ว ขายลิขสิทธิ์ให้อย่างเดียวก็รวยตายชักแล้ว ไม่ต้องทำเองให้เสียเวลา เทคโนโลยีของเราบางทีมันยังไม่พอ ก็อาศัยว่าขายลิขสิทธิ์ให้เขา ให้เขาผลิตให้เราอีกทีก็ยังไหว
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ:   เรื่องของการโมทนาบุญ เราให้เขาโดยเฉพาะเจ้ากรรมนายเวร เขาจะยินดีหรือไม่ยินดีก็ตาม เราได้ให้เขา ในเมื่อเราได้ให้เขาแล้วจิตใจของเรามันจะปลดหลุดออกจากจุดนั้นมา มันหลุดจากจุดที่ว่าเราเคยทำไม่ดีกับเขา แต่ขณะนี้เราได้ทำดีเป็นการตอบแทนแล้ว ในเมื่อจิตเราไม่ยึดไม่เกาะตรงจุดนั้น โอกาสหลุดพ้นของเราก็มี ส่วนเจ้ากรรมนายเวรเขาจะยินดีไม่ยินดี โมทนาไม่โมทนาเป็นเรื่องของเขา เรามีหน้าที่ให้เราให้ไป ถ้าเขาโมทนาก็ถือเป็นโชคดีของเขาไป ถ้าเขาไม่โมทนาก็ช่วยไม่ได้ เราไปแล้ว บ๊าย บาย
      ถาม :  ตอนให้นี่เรา (ไม่ชัด) ?
      ตอบ:   ให้ไปเรื่อย ๆ ขอให้เขาอโหสิกรรมให้ ส่วนเขาจะให้ไม่ให้ เรื่องของเขา
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ:   ตัวของเรานี่ เราทำบุญมาด้วยความยาก สิ่งที่เราทำมาด้วยความยาก เรายังสละให้คนอื่นได้ กำลังใจขนาดนี้แหละที่เขาเรียกว่าบุญ สมมติว่าหนูทำงานมาเหนื่อยทั้งเดือน ได้เงินเดือนมาแล้วไปให้คนอื่น เป็นคนอื่นเขาทำได้ไหม ทำไม่ได้ ถ้าใจไม่ประกอบไปด้วยความเมตตา กรุณาจริง ๆ ก็ทำไม่ได้ คนที่กำลังใจประกอบด้วยเมตตากรุณามันเป็นบุญตรงนั้น
      ถาม :  แล้วบุญเราจะหมดไหม ?
      ตอบ:   ลักษณะของการให้บุญคนอื่น เหมือนกับเราก่อไฟขึ้นมากองหนึ่ง การให้คืออนุญาตให้เขามาต่อไฟนั้นไปใช้ได้ สมมติว่าเขามีเทียนคนละเล่ม เราจุดเทียนขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้วปักไว้ เอ้า อนุญาตให้เธอต่อได้ คนโน้นก็มาจิ้มที คนนั้นก็มาจิ้มที ไฟเราดับไหมล่ะ ไม่ดับหรอก แต่ขณะเดียวกันพอคนอื่นได้ไปแสงสว่างมันเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือบุญของเราที่เพิ่มขึ้นด้วย คนอื่นก็ได้ด้วย ของเราเองก็ไม่ไปไหนแถมยังมากขึ้น เพราะฉะนั้นรีบให้เยอะ ๆ บุญมันจะได้เยอะขึ้น
      ถาม :  กลัวเจ้ากรรมนายเวรไม่มารับ ?
      ตอบ:   ไม่ต้องกลัวหรอก นั่นเรื่องของมัน รับไม่รับเรื่องของเขา เราได้ให้แล้วจิตใจของเราก็ปลอดโปร่ง รู้สึกว่าเบารู้สึกว่าสบาย ได้ทำการตอบแทนในสิ่งที่เราทำไม่ดีแล้วด้วยความดี จิตของเราปลดออกจากจุดนั้นมา เราก็มีโอกาสหลุดพ้นไปเป็นเทวดา เป็นพรหม ไปนิพพานได้ ส่วนเขาโมทนา ไม่โมทนา หลุดไม่หลุดเรื่องของเขา
      ถาม :  ............................... ?
      ตอบ:   พระอนุรุทธ มีอยู่ชาติหนึ่งเป็นคนเกี่ยวหญ้าให้เศรษฐี เศรษฐีแกมีช้าง ม้า วัว ควาย เยอะ ชาตินั้นท่านชื่ออันนภาระ ได้ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า เสร็จแล้วก็ไปเล่าให้เจ้านายฟัง เจ้านายก็อยากได้บุญอันนี้ บอกว่าฉันให้พันหนึ่ง เธอให้บุญฉันนะ พระอนุรุทธบอก ไม่ให้ ให้หมื่นหนึ่ง ไม่ให้ ให้แสนหนึ่ง ไม่ให้ ถามว่าทำไม บอกว่าถ้าหากว่าให้แล้ว เดี๋ยวบุญจะหมด คือท่านเข้าใจอย่างนั้น เอางี้แล้วกันไม่เอาทั้งหมดหรอกแบ่ง
              พระอนุรุทธในชาติที่เป็นอันนภาระชายเกี่ยวหญ้า บอกเดี๋ยวขอไปถามพระคุณเจ้าก่อนว่าแบ่งได้ไหม พอไปถาม พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านก็บอกให้ว่า เรื่องของการให้คนอื่นเขาโมทนาบุญ มันก็เหมือนกับตัวเองก่อไฟขึ้นมา แล้วอนุญาตให้คนอื่นเขาต่อไปใช้ ไฟของเรามันไม่ได้น้อยลง ขณะเดียวกันไฟที่คนื่อนก่อเพิ่มมา มันก็เพิ่มแสงสว่างมากขึ้นด้วย แทนที่บุญของเราจะลดน้อยลง กลายเป็นบุญของเราเพิ่มขึ้น นั่นแหละพระอนุรุทธ ถึงได้ยอม กลับมาบอกให้มหาเศรษฐีที่เป็นเจ้านายโมทนาบุญ ไม่อย่างนั้นไม่ให้หรอก กลัวหมด
              หลวงพ่อก็มานั่งเสียดายกูทำแทบตายมันเอาของกูไปหมดเลย พอรุ่งเช้าตอนบิณฑบาตกลับมา เตรียมจะฉัน หลวงปู่ปานท่านก็ถาม เป็นไงพ่อคุณให้เขาแล้วยังเสียดายเรอะ ? บอกเสียดายสิครับ ผมทำมาตั้งนาน ทำมาด้วยความยากด้วยความลำบาก มันเอาของผมไปหมดเลย หลวงปู่ปานท่านบอก หมดซะเมื่อไหร่เล่า แล้วท่านก็เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง บอกว่าถ้าให้เขาของเรามันเยอะขึ้น เป็นเราก็ใจหายนะจากที่โทรม ๆ นี่กลายเป็นนางฟ้า เพชรแพรวพราวทั้งตัวเลย มันโกยของเราไปเท่าไหร่หว่า