ช่วงแรกของเล่ม "ฝ่าด่านทหารป่า"

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  เกี่ยวข้องกับสังขารของเราที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้ไม่สบาย วันนี้เหนื่อย ?
      ตอบ :  เกี่ยวจ้ะ เรื่องของฌานสมาบัติ ถ้าร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย หิวมาก ๆ เหนื่อย ๆ มันจะไม่เอากับเรา แต่เรื่องของสมาธิมันตกได้ แต่กำลังใจที่เข้าถึงจะไม่ตก เราต้องสังเกตจุดนี้ ถ้าสมาธิตกไม่ต้องไปกระวนกระวายกับมันให้เห็นเป็นปกติของมันอย่างนั้น เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น มันอยากตกให้ตกไป เราก็มาใช้การพิจารณาแทน จนกว่าร่างกายดี เราก็ใช้สมาธิต่อไป พูดง่า ยๆ ว่าถ้ามันแย่ เราก็พยายามทำให้มันแย่น้อยที่สุด ทำในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลให้ได้มากที่สุด
              อาตมาเองสมัยก่อน บางวันแย่มาก ๆ ฟุ้งซ่าน รัก โลภ โกรธ หลง ความดีเข้าไม่ถึงเลย จับภาพพระอะไรก็เกาะไม่ติด ก็ใช้วิธีไปนั่งหน้าพระประธานให้ทิ่มลูกตาอยู่นั่น ใจอยากชั่วให้คิดชั่วไป ปากอยากชั่วให้พูดั่วไป แต่ตัวกูอยู่ตรงนี้มีปัญญาทำชั่วให้ทำไป จะไปทำได้อย่างไรนั่งอยู่ตรงหน้าพระประธาน
              เพราะฉะนั้นอย่างน้อย ๆ เราไม่ได้ขาดทุนทั้งหมด กายกรรม สิ่งที่ทำด้วยกาย วจีกรรมสิ่งที่พูดด้วยวาจา มโนกรรม สิ่งที่คิดด้วยใจ อย่างดีก็เล่นเราได้แค่สองอย่าง คือมโนกรรม มันคิดได้ ถ้าหากสติไม่ดีอาจหลลุดออกมาเป็นวจีกรรม พูดได้แต่ถ้าสติดี วจีกรรมก็ไม่หลุด กายกรรมก็ไม่หลุดอยู่แล้ยว นั่งแปะอยู่ตรงนั้น ตื๊ออยู่ตรงนั้น ตอนนี้อดีตังสญาณ ย้อนอดีตตูก็ไม่เอา อนาคตังสญาณไปอนาคตตูก็ไม่เอา เอาปัจจุปันนังสญาณ พระองค์เบ้อเร่อทิ่มตาอยู่นี่ อย่างน้อย ๆ ให้มีส่วนที่เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ ขาดทุนอย่างไรก็ต้องเอากำไรไว้ให้ได้ จะเล็กจะน้อยแค่ไหนก็เอา บาทหนึ่งสลึงหนึ่งก็เอา พยายามสะสมความดีลักษณะนี้ บางวาระบางเวลา เจ็บไข้ได้ป่วยมาก ๆ กำหนดภาพพระไม่เห็น เห็นแค่ปลายเกศแหลม ๆ นิดหนึ่ง แต่เรามั่นใจว่าตรงนั้นเป็นพระพุทธเจ้า ก็น้อยจิตกราบตรงนั้นเลย จะเห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ความรู้สึกเรามั่นใจพระองค์อยู่ตรงนั้นแน่ เอาแค่ความรู้สึกนั้นก็พอแล้ว ถึงได้เคยสรุปกับบางคนว่า การปฏิบัติความดีบางทีก็ต้องหน้าด้าน ถ้าหน้าไม่ด้านพอเราสู้กิเลสไม่ได้ ต้องหน้าด้านตื๊อทำไป ถึงเวลาจิตตก สมาธิตก พลาดพลั้งให้กับกิเลส ไม่ต้องไปนั่งคร่ำครวญอยู่กับมัน คนสองคนเดิทางมาพร้อม ๆ กันต่างคนต่างล้ม ถ้าคนหนึ่งลุกแล้วไปต่อเลย แต่อีกคนนั่งอยู่ตรงนั้น โอ๊ย...เจ็บเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน ไม่น่าที่จะหกล้มเลย มาได้ตั้งไกลแล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แล้วลองถามว่าสองคนนั้น ใครจะไปได้ไกลกว่ากัน ?
              เพราะฉะนั้นทันทีที่เกิดความผิดพลาด ให้ตั้งใจใหม่ คิดใหม่ทำใหม่เดี๋ยวนั้นเลย ถ้าศีลขาด ก็ตั้งใจเลยว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลเราทุกข้อจะบริสุทธิ์และตั้งใจระวังรักษาสิกขาบทต่อไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ต่อไปสมาธิตกแต่กำลังใจไม่ตก จะมีพื้นฐานรองรับอยู่
              ตอนนี้เรากลายเป็นคนหน้าด้านเต็มตัวแล้ว จะแกล้งเราอย่างไรเราก็ไม่หวั่นไหวแล้ว เพราะพื้นฐานกำลังใจมีอยู่ ล้มปุ๊บแล้วก็ลุก อย่างน้อย ๆ ขึ้นหน้าไปให้ได้คืบหนึ่งก็เอาศอกหนึ่งก็เอา พยายามทำอย่างนี้ สะสมบุญลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ พอถึงวาระถึงเวลากำลังพอ สติปัญญาพอ จะได้ในส่วนที่เราต้องการเอง ดูที่ตัวเอง แก้ที่ตัวเอง
      ถาม :  ฝัน (ไม่ชัด)
      ตอบ :  ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า ส่วนที่ท่านต้องการเราจะมีหรือไม่ เราจะหาได้หรือไม่ เราจะทำได้หรือไม่ ก็ต้องดูว่า ในฝันสิ่งที่ท่านต้องการเราทำได้ไหม เราหาได้ไหม ในเมื่อยังไม่ได้ทำ ก็ยังไม่รู้ว่าผลนั้นจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องลงมือทำ
      ถาม :  วันนี้นั่งกรรมฐาน ครูฝึกท่านเน้นอยู่เรื่องหนึ่งว่า แม่มีบุญคุณมากกับเรา โยมเองก็มีปัญหากับเรื่องแม่ ไม่ทราบว่าตัวเองควรทำอย่างไร คือแม่ที่ให้กำเนิดมาก็ไม่ได้เลี้ยงดูเรามา แต่พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามา เราได้คลุกคลีกับท่าน แต่ปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว เราบังเอิญได้พบกับแม่จริง เหมือนกับว่าตอนที่ท่านให้กำเนิดเรา เป็นอะไรที่ผิดพลาด เรื่องนี้ก็เป็นความลับ ไม่มีใครรู้ว่าท่านให้กำเนิดเรา หลังจากนั้นท่านก็ไปบวชชี
              จนวันหนึ่งเราก็ไปตามหาท่านจนพบ เหมือนกับชื่อเสียงท่าน สิ่งที่คนมองว่า ท่านเป็นคนที่ปฏิบัติ และไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน แต่เกิดมีเราขึ้นมา ทำให้ท่านไม่ยอมรับในตัวเราต่อหน้าผู้คนอื่น แต่เราก็สื่อภายในรู้ว่า ท่านมีความห่วงใยเรา ขณะที่ไม่มีผู้คนกลับเรียกเราเข้าไปพบ พูดเหมือนกับว่าห่วงใยเรา แต่จิตส่วนหนึ่งของเรามองท่านว่า ทำไมต้องไม่ยอมรับ
      ตอบ :  จริง ๆ ก็ไม่ผิด แต่ขณะเดียวกัน เรื่องผิดหรือไม่ผิด ดีหรือชั่ว ก็ขึ้นอยู่กับกำลังใจของเรา ถ้าหากว่าเราเข้าใจจริง ๆ ว่าท่านทำอย่างนั้นเป็นเพราะอะไร ? เกราก็คงไม่ไปตำหนิท่าน ลักษณะเหมือนกับว่า คน ๆ หนึ่งเมื่อทำข้อผิดพลาดแล้ว พยายามจะแก้ไขให้ดี แต่อยู่ ๆ สิ่งที่พยามแก้ไขคิดว่าดีแล้ว กลับโผล่ขึ้นมา ประจานความผิดพลาดของตัวเองใหม่ ลองนึกถึงว่า ถ้าเป็นกำลังใจของเรา เราจะรับตรงจุดนี้ได้ไหม ?
              แต่ขณะเดียวกัน ความที่เป็นสายเลือดเดียวกัน ท่านก็มีความรัก มีความห่วงใจเราเป็นปกติอยู่แล้ว พอถึงเวลาต่อหน้าคนอื่นแสดงให้เห็นไม่ได้ เพราะว่าตัวเองถูกยกไปในตำแหน่งที่เรียกว่า เป็นที่เคารพบูชาของคนอื่นเขาแล้ว คนเขาไม่อยากเห็นว่า มีจุดที่ตำหนิได้ มีจุดที่บกพร่องได้ ท่านก็ต้องรักษากำลังใจของคนหมู่มาก ด้วยการปฏิเสธเขา แต่ลับหลังความที่เป็นบุพการี ความที่เป็นสายเลือดเดียวกัน ท่านก็อดไม่ได้ที่จะแสดงซึ่งความรัก ความห่วงใยกับเรา ถ้าเราเข้าใจตรงจุดนี้ได้ ก็ไม่มีอะไรน่าตำหนิกัน ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นธรรมดา ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือว่า พยายามทำให้เห็นว่าเราเองก็กำลังตั้งใจปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เช่นกัน ถ้าหากมีอะไรติดขัด ขัดข้องอย่างไร ก็สอบถามจากท่าน ท่านคงสงเคราะห์เราได้อย่างเต็มที่ เพราะว่าตอนนี้ในฐานะของท่านที่เป็นอย่างนั้น ก็คงสงเคราะห์เราได้ในด้านนี้ด้านเดียว ขณะเดียวกัน เชื่อว่าถ้าหากเราก้าวตามรอยของท่าน จะเป็นสิ่งที่สร้างความสุขใจให้กับท่าน อย่างน้อย ๆ เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองก็ยังไม่ทิ้งแนว เป็นลูกไม้ที่ตกอยู่ใต้ต้น ท่านก็คงมีความสุขแล้วก็หมดกังวลกับเราได้
      ถาม :  โยมเลยไม่กล้าตัดสินใจ โยมควรจะไปหาท่านอีก หรือไม่ควรจะไป เพราะว่าการที่โยมไป (ไม่ชัด)
      ตอบ :  ถ้าเราไป แล้วแสดงออกว่าเราเข้าใจท่าน สิ่งที่ท่านทำนั้นเป็นอย่างไร ? ไม่ตำหนิท่าน ไม่ว่าท่าน มีแต่ความเห็นใจ ความเข้าใจ จะดีกว่า แต่ถ้าเราทิ้งเงียบไปเฉย ๆ ก็จะเป็นจุดด่าง เป็นข้อตำหนิอยู่ในใจของตัวเอง ให้ท่านติเตียนตัวเองอยู่ได้ตลอดไป ในเมื่อเป็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ในใจ ถ้าท่านหวังความหลุดพ้น ตัวนี้จะเป็นตัวขวางท่าน
              เพราะฉะนั้นถ้าไปแล้วแสดงความเข้าใจ แสดงความเห็นใจให้ท่านรู้ แล้วก็บอกท่านว่าไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลกับเรา สิ่งที่ท่านทำอยู่ เราก็ตั้งใจทำอยู่แล้ว จะเป็นการปลดห่วงให้ท่านได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกันก็เป็นการทำหน้าที่ของลูกที่ดีที่สุดด้วย
              คนบางคนมีปัญหาที่เราคิดไม่ถึง แล้วปัญหาของคนทุกคนเป็นเรื่องหนักมาก เพราะว่ากำลังใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาไม่เท่ากัน ในเมื่อกำลังใจไม่เท่ากัน ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาไม่เท่ากัน เรื่องทุกเรื่องก็เลยมีน้ำหนักเหมือนกัน ๆ กัน เราจะบอกเรื่องเล็กแค่นี้ไม่ได้ ทุกเรื่องใหญ่หมด
              เรื่องของจีวรพระ เป็นเรื่องแปลกมากเลย ควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็ไม่เป็น คือมีทั้งสีเหลือง เหลืองส้ม เหลืองอ่อน สีกรัก กรักทอง แก่นขนุน สีแดง กรักแดง แดงแบบฝาง แดงแปร๊ดไปเลยก็มี ถามว่าอันไหนถูก ก็ถูกทั้งนั้น ถ้าเป็นพม่าห่มสีแดง ไปดูในอภิสมาจาร สิ่งที่ท่านอนุญาตให้ใช้ โดยเฉพาะจีวร จีวรนี่ไม่ได้อยู่ในอภิสมาจารหรอก จะอยู่ในศีล ในปกฏิโมกข์เลย ท่านอนุญาตไว้ว่า ให้เป็นผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด สีเหลือง คือเหลืองขมิ้น สีกรัก คือสีแก่งขนุน สีเหลืองเจือแดงเข้ม ตกลงทุกสีใช้ได้ แต่ถ้าหากพระออกป่า ท่านก็มักจะใช้สีกรัก เพราะว่าเปื้อนยากหน่อย ถ้าเป็นสีเหลืองเปื้อนง่าย ก็เลยมีการแยกแยะกันอีก
              ปัจจุบันถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ บางทีเขาแยกพรรษาด้วยสีจีวร ห่มจีวรเหลือง ท่านถือเป็นพระใหม่ไปเลย ตั้งแต่ ๑-๕ พรรษา ห่มสีพระราชนิยม ก็เป็นพระปานกลาง เรียกว่า “มิชฌิม” ตั้งแต่ ๕-๑๐ พรรษา ถ้าเป็นพระเถระ ตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป เขาจะห่มจีวรที่เป็นสีกรักเขียว ๆ ที่เรียกว่า “สีแก่นขนุน” ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บางทีก็สีโน้นบ้าง สีนี้บ้าง วัดเดียวลายไปหมดก็มี บางวัดก็บังคับว่า ถ้าเป็นวัดเขาต้องห่มสีนี้ ปัจจุบันนี้ทางทองผาภูมิก็จะมีอยู่ ๔ สีด้วยกัน สีพระราชนิยมส่วนหนึ่ง เป็นสีที่ในหลวงท่านบอกว่าเหมาะ ดูแล้วสบายตาดี ไม่ใช่สีส้มแปร๊ดเลย ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ดำมืดจนเกินไป แล้วก็มีสีกรัก แบบแก่นขนุนเขียว ๆ ของพระปฏิบัติ พระป่า พระป่าสายปฏิบัติทางด้านทองผาภูมิก็มีหลายวัด อย่างวัดเวฬุวัน จะเป็นสายของหลวงปู่มั่น วัดป่าภูริทัตตวนาราม ของหลวงปู่มั่น วัดเขาถ้ำสหกรณ์นิคม ของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง หลวงพ่อชาเป็นมหานิกายในดงธรรมยุต
              เพราะฉะนั้นวัดเขาถ้ำนี่เป็นวัดมหานิกาย ไม่ใช่ธรรมยุต (ไม่ชัด) สายวัดสังฆทานเขา ๔ วัดนี้ท่านจะห่มสีเขียว ๆ เข้มแก่นขนุน จะมีวัดท่าขนุน วัดพุทธบริษัท วัดห้วยสมจิต จะห่มสีน้ำ แล้วก็มีหลายวัดที่เจ้าคณะอำเภอ ท่านบังคับบัญชาตามใจได้ จะห่มสีเหลืองอ๋อยไปเลย จะมีวัดเดียวคือ วัดพุทธโธภาวนาพุเย ท่านจะห่มสีกรักแดง ตามแบบของอาจารย์ท่านคือ หลวงพ่อภาวนาพุทโธที่สึกไปแล้ว
              กลายเป็นว่าอย่างน้อย ๆ ปัจจุบันนี้ทองผาภูมิมีอยู่ ๔ สี แต่ถ้านับพระจีนไปด้วยก็ ๕ สี ทองผาภูมิมีวัดจีนอยู่เหมือนกัน วัดจีนจะอยู่เลยทางบ้านสะพานลาวไป มีอยู่วัดหนึ่ง แล้วก็ทางบ้านพุถ่องเข้าไปจะเป็นพุทธสถานฉงเต๋อ นั่นก็วัดหนึ่ง ผ้าไม่ทำให้หมดกิเลสหรอก หมดกิเลสอยู่ที่การปฏิบัติ
              อาตมาสมัยก่อนที่อยู่วัดท่าซุงก็ห่มสีเหลือง แล้วไปงานวัดหนึ่ง เขาไม่ให้ขึ้นศาลา ทั้ง ๆ ที่เราได้รับการนิมนต์อย่างถูกต้อง เพราะเขารังเกียจสีเหลือง เราก็เลยสบายนั่งอยู่ข้างล่าง ทำเอาท่านที่นิมนต์วิ่งมาประเภทเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอย่างยิ่ง บอกไม่นึกเลยเขาจะทำกันอย่างนี้ บอกเขาว่าไม่เป็นไรหรอกคุณ คือท่านเป็นพระด้วยกัน นั่งข้างบนนั่งข้างล่างก็รับเท่ากัน แล้วผมนั่งข้างล่างผมไม่ต้องสวด สบายดีซะด้วย แล้วอย่างไรที่เรานั่งอยู่ก็โต๊ะอาหารอยู่แล้ว ถึงเวลาไม่ต้องขยับไปไหนได้กินแหง ๆ อยู่แล้ว (หัวเราะ) มองโลกในแง่ดีใช่ไหม ? อะไรเกิดขึ้นกับเราดีทั้งหมด หาประโยชน์จากมันให้ได้ (หัวเราะ) ทำใจอย่างนี้ได้ไหม ? อย่าไปแบกเอาไว้
              คนบางคนบอกว่า “โลกมีไว้เหยียบ ไม่ได้มีไว้แบก” แบกไว้แล้วจะหนัก คนแบกโลกก็อยู่ต่ำ ถ้าคนค้ำโลกก็อยู่กลาง ถ้าคนวางโลกก็อยู่สูง เพราะฉะนั้นมีก็เหยียบเอาไว้ อย่าไปแบกเอาไว้ แบกมันหนัก เราแก้ไขคนอื่นไม่ได้หรอก คนอื่นเป็นโลก โลกทั้งโลกหนักเกินกว่าที่เราจะแก้ได้ แต่เราแก้ไขตัวเราเองได้
              เพราะฉะนั้น ดูที่ตัว แก้ที่ตัว ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เตือนตัวเองด้วยตัวเอง อย่าไปดูจริยาคนอื่นเขา ถ้าคิดจะจับผิดกัน มีข้อบกพร่องให้จับได้ตลอด ฉะนั้นดูที่ตัวเรา แก้ที่ตัวเรา เอาเฉพาะหน้าของเรา อย่าเอาเรื่องของโลก มาเป็นเรื่องของเรา อย่าเอางานของโลก มาเป็นงานของเรา อย่าเอาภาระของโลก มาเป็นภาระของเรา ปล่อยไว้ตรงนั้น กองไว้ตรงนั้นหละ ถ้ากองผิดกองพลาด ไปกองบนหัวคนอื่น ก็ขอโทษเขามั่ง (หัวเราะ) เยอะเหมือนกัน ประเภทไปกองใส่หัวคนอื่น
              อีกไม่กี่วันก็วันมาฆบูชา เพราะฉะนั้นลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้นะ ท่านบอกว่า สัพพะปาหัสสะ อะกะระณัง เว้นจากความชั่วทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำความดีให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะทัง ทำจิตใจให้ร่าเริง เบิกบานอยู่เสมอ ตัวสุดท้ายนี่สำคัญที่สุดสำคัญอยู่ตรงจุดที่กำลังใจของเรา ถ้าเกาะอะไร ถ้าตายไปอย่างนั้น
              เพราะฉะนั้นทุกวันต้องรักษาจิตใจของเรา ให้เบิกบานแจ่มใสอยู่เสมอ การที่จะเบิกบานแจ่มใสอยู่ได้ สมาธิต้องทรงตัว ถ้าสมาธิทรงตัว กิเลสรบกวนไม่ได้ จิตใจก็จะผ่องใส ปัญญาก็จะเกิด
              เรื่องสีดำ เมื่อตอนบ่าย ๆ มีเด็กสองคนใส่สีดำมา บอกเขาว่า ถ้าเป็นไปได้ อย่าไปใส่เลย สีดำสวย โดยเฉพาะผู้หญิงผิวขาว ๆ ถ้าใส่ดำมันขึ้นด้วย แต่ลักษณะก็เหมือนกับแช่งตัวเองเหมือนกัน มีอยู่สองครั้งด้วยกัน ที่เห็น ๆ คาตาเลย ครั้งหนึ่งเกิดกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นักข่าวสองคนใส่สีดำมาทั้งคู่ อย่างกับนัดกันไว้ มาอ่านข่าว เราก็เอ๊ะ! แปลก ปรากฎว่าลักษณะเหมืนอกรรมนิมิต คือ กรรมแสดงเหตุ ตัวเขาเองก็ไม่ได้เจตนา แต่ทำให้ประเภทสามัคคีกันแต่งดำไป แล้วก็เกิดเหตุ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คนตายไปตั้งเยอะแยะ
              อีกครั้งหนึ่งก็งานสมเด็จย่า นักข่าวทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชายใส่ดำทั้งคู่ ผู้ชายใส่สูทดำ โอเค...เราไม่ว่า แต่ผู้หญิงก็บังเอิญแต่งดำมาอีก แล้วมีข่าวนอกสถานที่ ไปถึงนั่นก็ดำอีก เราก็อะไรวะ ! ต้องมีเหตุแน่เลย แล้วก็สมเด็จย่าสวรรคต ลักษณะนี้เรียกว่า “กรรมนิมิต” จะแสดงเหตุให้เห็นชั่วคราว ก่อนที่จะเกิดอะไรขึ้น ในลักษณะที่เสียหายถึงส่วนรวม ถ้าหากของเราก็จะอยู่ในลักษณะว่า ถ้าเราถือสาหรือคนอื่นพูดมาก ๆ อดหวั่นไหวไม่ได้ก็เหมือนกับแช่งตัวเองเหมือนกัน
              พวกนิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น โบราณเขาจะดูออกดูรู้เลย ช่วงที่คอมมิวนิสต์ตีลาว ก่อนลาวจะแตกมีผีเสื้อซึ่งอพยพตามฤดูกาลของมัน แต่อยู่ ๆ บินข้ามโขงเป็นวัน ๆ เลย ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านตัว หลังจากนั้นไม่กี่วัน คอมมิวนิสต์ก็ตีลาวแตก อพยพข้ามมาไทยบานเบอะ ลักษณะของกรรมนิมิตนี่ ว่าไปแล้วไม่เชื่อก็ไม่ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งคนไทยโบราณเขาไม่ได้แต่งดำ งานศพเขายังแต่งขาวเลย ถ้าหากว่าตามกลอนโบราณของสุนทรภู่ว่า “ห่มขาวมุ้ง นุ่งบัวปอก แป้งผัดหน้า” ขาวมุ้ง คือ ผ้าขาวโปร่ง บัวปอกคือ เง่าบัว ก็ขาว คือผ้าขาวเนื้อเรียบ ๆ ตกลงเขาแต่งขาวกันนะ แต่งดำนี่ ถ้าหากโบราณเขาถือต้องมีสาเหตุอยู่ เราเองอาจปัญญาไม่ถึง ถ้าหากนับจากนิมิตที่เคยเจอมาทั้งสองครั้งนี่ ก็ต้องถือว่ามีผล แต่ขณะเดียวกัน ลักษณะนิมิตที่ว่า คนส่วนใหญ่จะต้องเจอเหมือนกัน คือเขาดูโทรทัศน์ ตอนนั้นเขาจะเห็นเหมือน ๆ กับเรา ในเมื่อคนส่วนรวมเจอก็จะเป็นชะตากรรมของส่วนรวม อย่างเช่นเกิดกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หรือกรณีสมเด็จย่าสวรรคตก็ดี เป็นเรื่องกระทบส่วนมากเขา
      ถาม :  เขาชอบถือว่า (ไม่ชัด) แล้วห้ามเข้าวัด อย่างนี้จริงไหมครับ ?
      ตอบ :  คือบางอย่างเขากลัวชงกัน งานศพที่เขาว่าบางอย่างชงกัน มีนะลักษณะที่ว่าเข้าไปแล้วกระแสเกิดการผลักดันกัน ไม่ดึงดูดกัน ลักษณะนั้นก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่เรื่องการทำบุญทำความดีทำไปเถอะ ยิ่งทำยิ่งดี
      ถาม :  การที่นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ หนูคิดเอาเองว่าต้องรบกวนคนที่ได้มโนมยิทธิ พาไปนิพพานเมืองแก้วหรือเปล่าเจ้าคะ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องจ้ะ
      ถาม :  เพราะปุถุชนอย่างหนู ถ้าพูดถึงนิพพาน หนูก็นึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ?
      ตอบ :  ไม่จำเป็น นึกถึงพระพุทธรูปไว้ ว่าคือองค์แทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่อยู่ที่ไหนหรอก นอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคืออยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน คิดแค่นี้พอ
      ถาม :  แล้วมโนมยิทธินี่ช่วยเหลือคนให้เห็น จะได้หายสงสัย ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ช่วยจ้ะ ทำให้ได้ แล้วก็รู้เห็นเอง คนอื่นทำได้เขารู้เห็น เขาหายสงสัยคนเดียว ถ้าเราทำไม่ได้ เราถามไปเรื่อย ไม่หมดความสงสัยหรอก เพราฉะนั้นต้องทำให้ได้เอง เมื่อเรารู้เห็นจะได้หมดความสงสัย
      ถาม :  มโนมยิทธิเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ?
      ตอบ :  จ้ะ
      ถาม :  ภาวนา นะ มะ พะ ทะ
      ตอบ :  จ้ะ
      ถาม :  ปกติทุกวันนี้ที่หนูทำเอง ก็ดูลมหายใจเข้าออก ก็บริกรรมบ้าง ไม่บริกรรมบ้าง แต่พยายามให้รู้ลมหายใจเข้าออก ถ้าหากจะเจริญมโนมยิทธิก็ภาวนาระหว่างที่ดูลมหายใจ ?
      ตอบ :  จ้ะ ก็แค่เพิ่มคำภาวนาเข้าไป ลมหายใจเข้าออกทิ้งไม่ได้อยู่แล้วจ้ะ ยกเว้นมีครูฝึกมาอยู่ตรงหน้า เขาบอกให้หยุดภาวนา เราก็เลิกคิดถึงตรงนั้น หันมาสนใจกับครูฝึกแทน
      ถาม :  หนูยังไม่ค่อยกล้า หนูกลัวเห็นอะไรที่ตัวเองตั้งสติไม่ทัน ภาวนาเพื่อจะฝึกมโนมยิทธิ ทางที่ดีควรจะมีครูบาอาจารย์ใช่ไหมคะ
      ตอบ :  ? จ้ะ คือน้อยคนที่ทำได้เอง
      ถาม :  ระหว่างที่ทำ เราอาจจะเห็นนิมิตหลอกเรา จิตที่เราปรุงแต่งหลอกเราให้เห็นด้วย
      ตอบ :  อันนั้นก็มีอยู่ ขณะเดียวกันถ้าเราใช้มโนมยิทธิที่มีครูฝึกควบคุมอยู่ ท่านจะคอยบอกเราว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะไปที่ไหน ถ้าอย่างนั้น ไม่ต้องไปกลัวว่าจะเจอสิ่งที่มาหลอก แต่ถ้าหากถึงเวลาไปทำคนเดียวั้น โอกาสนั้นจะมี จะมีโอกาสโดนเขาหลอก เขาแกล้งได้ แต่ท่านจะมีหลักการอยู่แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นนั้น อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ตั้งใจอธิษฐานว่า ขอรู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง ถ้าหากเราอธิษฐานขอรู้เห็นตามความเป็นจริง ถึงเวลาจะรู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น
      ถาม :  ดูใจตัวเอง บางทีเหมือนกับมีภาพ มีเสียงมา บางทีก็จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง (ไม่ชัด) ต้องมีสติเจ๋ง ๆ เข้ม ๆ ถึงจะหาย
      ตอบ :  ไม่ใช่จ้ะ สติเข้มหรือไม่เข้ม ถ้าทำถึงตรงนั้น ก็เป็น แต่ให้เข้าใจเลยว่าเรารู้เห็น เรารู้เห็นจริง ๆ แต่เรื่องที่เรารู้เห็นไม่แน่ว่าจะจริงสมมุติว่าเราเห็นคนไล่ยิงไล่ฟันกันมา เราเองอาจจะโทรแจ้งตำรวจหรือเข้าไปขัดขวาง ปรากฎว่าโดนเขาไล่เตะเอา เพราะเขากำลังถ่ายหนังอยู่ เราเห็นเขาฆ่ากันจริง ๆ ไหมล่ะ ? แล้วเรื่องที่เราเห็นนั้นเป็นเรื่องจริงไหม ?
      ถาม :  บางครั้งหนูรู้สึกรำคาญตัวเองเหมือนกันค่ะ บางทีก็เหมือนมาพูดกับเรา บางทีก็เหมือนกับเราเห็น
      ตอบ :  จ้ะ รับรู้ไว้เฉย ๆ ถ้าเป็นไปตามนั้น แล้วค่อยน้อมใจเชื่อ แต่การน้อมใจเชื่อคือเชื่อเรื่องนั้น เรื่องที่เป็นไปแล้ว เรื่องที่ยังไม่เป็นต่อให้รู้มาพร้อมกัน ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ถ้าทำใจอย่างนี้ได้ เขาหลอกเราไม่ได้ ส่วนใหญ่เราจะไปเชื่อเลย
      ถาม :  แล้วเมื่อไหร่จะหายคะ ?
      ตอบ :  ไม่หายจ้ะ ยกเว้นว่าเรามั่นคงถึงขนาดที่ทำให้อย่างไรเขาก็หลอกเราไม่ได้ ต่อไปเขาก็เลิก แต่จะไปรู้เห็นเรื่องอื่นแทน
      ถาม :  เหมือนเงาที่มันอยู่ในน้ำ พอน้ำกระเพื่อมเงาก็หายไป ความรู้สึกก็เลยบอกว่าบาง ครั้งสิ่งที่มันเกิดเรารู้ไม่ทัน ถ้าเรารู้ทันว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราดับตรงนั้นได้มันก็ไม่มีปัญหา ?
      ตอบ :  ใช่ หมดเรื่องเลย จุดสำคัญที่สุดของอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง มันอยู่ตรงตัวจิตที่ปรุงแต่ง ถ้าเราหยุดคิดไม่ไปปรุงแต่งต่อไม่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่มันหยุดไม่ทัน มันต้องเห็นตั้งแต่เหตุ กระทบตากระทบหูปุ๊บ ต้องรู้ทันแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น เสร็จแล้วก็หยุดมันเอาไว้แค่นั้น ถ้าเราเก็บมันมาไว้ในใจ เราคิดต่อเมื่อไหร่เป็นอันตรายกับเราทันที
      ถาม :  ไม่ให้คิด ยาก ?
      ตอบ :  คิดได้ แต่หยุดคิดให้เป็น ถ้าหยุดคิดไม่เป็นไปยาวเลย