ช่วงแรกของเล่ม "ฝ่าด่านทหารป่า"
สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ถาม: จำเป็นไหมครับ ต้องไปนั่งเพ่งพระพุทธรูป ?
ตอบ : ถ้าจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าของเราเหมือนกับคนรวยแล้วหาเรื่องเหนื่อย คือคนที่จะฝึกมโนมยิทธิได้ พื้นฐานเก่าต้องมีอยู่แล้ว ถ้าไปย้อนกลับทำอย่างนั้นใหม่ เสียเวลา แต่จะเรียกเสียเวลาก็ไม่ได้ เพราะเราต้องการกำลังใจที่มั่นคงขึ้น เพียงแต่ว่าตอนเราย้อนเข้าไปทำลัษณะนั้น เป็นการย้อนเข้าไปสู่ฌานสมาบัติใหม่ ถ้าตายตอนนั้นไปแค่พรหม แต่ถ้าเราเอาจิตเกาะนิพพานไว้ จะชัดไม่ชัดก็ไม่ว่า เรามั่นใจตรงนี้ใช่แน่ ถ้าตายตอนนั้นจะไปนิพพาน
ถาม : คำภาวนา สัมปจิตฉามิ กับ นะ มะ พะ ธะ ต่างกันอย่างไรครับ ?
ตอบ : ต่างกันที่ว่า นะ มะ พะ ธะ เป็นการฝึกมโนมยิทธิอย่างเดียว แต่สัมปจิตฉามิ เป็นกำลังของอภิญญา มโนมยิทธิเป็นพื้นฐานของกสิณแค่กองเดียว อาจจะเป็นอาโลกกสิณ กสิณแสงสว่างได้ โอทาตกสิณ กสิณสีขาวก็ได้ เตโชกสิณ กสิณไฟก็ได้ เป็นอำนาจของกสิณกองเดียว แต่สัมปจิตฉามินี่ ถ้าหากเราทำได้คล่องตัว เราใช้อำนาจของกสิณ ๑๐ ได้ครบเลย ดังนั้นถามว่าต่างกันไหม ? ต่างกันเยอะ ถ้าหากว่าทำได้คล่องตัวจริง ๆ จะได้ชัดเจนเหมือนตาเห็นเลย
ถาม : ที่หลวงพ่อท่านให้ภาวนา นะ มะ พะ ธะ เพราะว่า ?
ตอบ : ที่ท่านให้ทำอย่างนี้เพราะว่า เป็นการทำที่ง่ายที่สุด อันนั้นเป็นพื้นฐานอภิญญา เหมือนกับเก็บเงินซื้อรถเบนซ์ เอาจักรยานได้เร็วกว่า
ถาม : (ไม่ชัด)
ตอบ : นั่นของเขามีความคล่องตัวในนอดีตอยู่แล้ว อาตมาเองเคยโดนไล่เตะออกจากกลุ่มมาแล้ว คล่องตัวเกินไป แค่ครูฝึกเขาพูดคำ เรารู้ว่าทั้งประโยคคืออะไร เขาชิงตอบก่อน ครูฝึกก็เอ๋อรับประทานไปด้วยซ้ำ ทำให้เขาเสียจังหวะไปหมดทั้งขบวนเลย ไป ๆ มา ๆ เขาก็เลยต้องเชิญตัวออกไปนอกห้อง อยู่ร่วมกับเขาไม่ได้ คือคนที่เคยทำมาแล้ว ถ้าของเก่ามีจริง ๆ จะคล่องตัวขนาดนั้น ไม่ต้องไปสงสัย เขาทำมาแล้ว ของเรา ๆ ก็พยายามทำให้ได้อย่างเขาก็แล้วกัน
ถาม : แล้วของเราที่มาได้จี๊ด ๆ ก็ต้องทำต่อไปใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ทำได้เยอะ แต่เราไม่มีความตั้งใจที่จะไปฟื้นมั้นจริง ๆ
ถาม : ถ้าอย่างพวกผมมีได้จริง ๆ ถ้าจะฟื้นนี่ก็ต้องทำบ่อย ๆ
ตอบ : ต้องประเภททุ่มเทกันเลย ถามว่าทำบ่อยแค่ไหน ไม่ต้องมากหรอก วันละ ๒๔ ชั่วโมงก็พอ คือพยายามประคับประคองใจไว้ อย่าให้รัก โลภ โกรธ หลง กินใจได้ ถ้ารัก โลภ โกรธ หลง กินใจไม่ได้ นิวรณ์ ๕ กินใจไม่ได้ สภาพจิตจะแจ่มใสเป็นปกติ นึกเมื่อไหร่ก็เห็นเมื่อนั้น นึกเมื่อไหร่ก็ไปได้เมื่อนั้น
ถาม : อารมณ์เบื่อทุกข์ กับ อารมณ์ขี้เกียจ ต่างกันเยอะไหมครับ ?
ตอบ : ต่างกันเยอะเลย ถ้าเบื่อจะต้องขยัน ยิ่งขยันเพราะรู้ว่าถ้าไม่ขยันแล้วตัวเองแย่แน่ ๆ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นขยันนี่เป็นตัวฉันทะ ตัวขี้เกียจเป็นถีนมิทธะ
ถาม : ................................
ตอบ : หมอชีวกโกมารภัทร ถ้าหากนับแล้วต้องเป็นบรมครูแพทย์ เพราะว่าตอนช่วงที่เรียนจบ อาจารย์บอกว่าให้เดินทางไปรอบสำนักทั่วบริเวณ ๑ โยชน์ ให้หาสิ่งไหนที่ทำยาไม่ได้มาให้ท่าน ปรากฎว่าท่านหาเสียทั่วแล้ว หาไม่เจอ ท่านบอกทุกอย่างเป็นยาได้หมด อาจารย์บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็จบ ถ้ายังหาได้ก็ยังไม่จบ สอบผ่าน หาไม่เจอ ชัดเจนที่สุดก็คือ รักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชค ท่านไม่สบายต้องกินยาเข้าเนยใสถึงจะหาย แล้วคนอื่นรักษาไม่ได้ เพราะว่าเข้ายาไปทีไร ท่านได้กลิ่นทุกที แต่ว่าหมดชีวกรักษาได้ เพราะว่าท่านใช้สมุนไพรตัวอื่นกลบกลิ่นมันก่อน มารู้ตอนเรอมันหายแล้ว (หัวเราะ)
แต่ว่าชอบอยู่อย่างหนึ่ง มีอยู่ ๒ ครั้ง คือครั้งแรกท่านทำยาถ่ายถวายพระพุทธเจ้า ยาถ่ายนั้นไม่ต้องกิน แค่ดมเท่านั้นนะ อันนั้นเจอมากับตัวเอง เรื่องแค่ได้กลิ่นยาแล้วมีผลต่อการรักษา ถึงได้เชื่อว่าได้จริง ๆ แล้วอีกสูตรหนึ่ง ยาของหมอพร เสด็จในกรมหลวงชุมพร แก้หอบหืด เขาตำแล้วพอกกับหัวเข่า ไม่ได้เกี่ยวกันเลย หอบหืดเป็นที่ปอดใช่ไหม ? แต่หาย
ส่วนอีกอย่างหนึ่ง แก้ผู้หญิงตกเลือด เขาจะใช้ถั่วเขียวกำมือหนึ่ง พอตำแล้วผสมน้ำนิดหน่อย ให้ลักษณะเหมือนแป้งเหนียว ๆ แล้วพอกหัวแม่เท้า เอาผ้าพันไว้ หายจริง ๆ จ้ะ ขนาดประเภทหมอรักษาไม่ได้ จะตายเอา ใช้วิธีนี้รักษาหาย ใช้พอกหัวแม่เท้า เอาผ้าพันไว้ แล้วหาน้ำเย็น ๆ ในตู้เย็น คอยหยดให้เปียกอยู่เรื่อย ๆ
ถาม : แสดงว่าสมัยนี้ทุกอย่างก็ยังเป็นเหมือนเดิม พืชพันธุ์ธรรมชาติ แต่คนเราไม่มีความรู้เอง ?
ตอบ : ทุกอย่าง แต่ว่าทิพจักขุญาณเสื่อมไป (หัวเราะ) ทิพจักขุญาณไม่คล่องตัวเหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนเขาไม่ได้เรียนเฉย ๆ ส่วนใหญ่เรียนสมาธิควบคู่ไปด้วย
ถาม : แล้วยาผีบอก ?
ตอบ : ก็นั่นแหละ ถ้าหากว่าคุณไม่มีทิพจักขุญาณแล้ว จะติดต่อกับผีอย่างไรจ้ะ
ถาม : บางคนเขาบอกว่า ผีมาบอกในฝัน
ตอบ : ฝันก็ได้ แต่อย่าลืมว่าฝันที่จะแม่นน่ะ มีลักษณะกรรมนิมิต และเทพสังหรณ์ จัดเป็นทิพจักขุญาณอย่างอ่อน ต้องมีพื้นฐานนี้อยู่
คราวนี้อีกตอนหนึ่ง ตอนที่ท่านทำยาถวายพระพุทธเจ้า ตอนปลงอายุสังขาร ท่านบอกว่าถ้าฉันเข้าไปแล้วอาการเป็นอย่างไร จะแสดงออกมาหมด พอพระพุทธเจ้าไม่ฉัน ท่านเลยเอาไปทิ้งลงไว้ในบ่อ แล้วน้ำก็ฟูมาถึงปากบ่อ คือยาที่แรงขนาดดันน้ำฟูได้ขนาดนั้น ถ้าอยู่ในร่างกายคน แล้วอาการไข้จะเหลือหรือ ? ก็ดันออกมาหมด ท่านก็รักษาตามอาการ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่รับ เพราะว่าท่านปลงอายุสังขารแล้ว อีก ๓ เดือน ท่านจะปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา
ถาม : หนูเคยขอเห็นท่าน แต่ท่านมาแบบประกายเจิดจ้า คิดว่าท่านน่าจะอยู่นิพพาน แต่มาอ่านหนังสือบอกว่าท่านมาเข้าทรงตอน พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านก็ร้องห่มร้องไห้
ตอบ : พวกทรงนั้นไม่แน่ว่าของแท้ ทรงนี่ปลอมเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์
ถาม : แล้วจะดูอย่างไรว่าของแท้ ?
ตอบ : ใช้ทิพจักขุญาณดู ถ้าไม่มีทิพจักขุญาณ ก็พิสูจน์ง่าย ๆ วิธีแรก ถ้าหากว่าเป็นของแท้ มาเป็นเวลา ไม่ได้มาพร่ำเพรื่อ เมื่อไหร่ก็ทรงได้
ถาม : รู้ว่ามีองค์ลง แต่ว่าองค์ที่ลง ใช่อย่างที่บอกหรือเปล่าไม่รู้ ?
ตอบ : ว่าปลอมไว้ก่อน เพราะเท่าที่เจอมาปลอมเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเจอที่เป็นของจริง ก็อยู่ลักษณะทดสอบท่านไม่ได้เหมือนกัน เพราะของท่านเก่งจริง ประการที่สองคือว่า ถ้าหากเป็นของจริง ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะไม่เรียกร้องเงินทอง ส่วนใหญ่ต้องการแค่ความเคารพ คือจะเป็นพวกดอกไม้ธูปเทียนเสียมากกว่า หรือเงินบูชาครู ๓ บาท ๙ บาท ๑๐๘ บาท เต็มที่ไม่เกินนั้น
บางสำนักท่านถึงขนาดจัดเตรียมไว้ให้คนไข้เลย คนไข้ไม่ต้องเตรียมไป ตกลงท่านไม่ได้อะไรเลย จนกระทั่งของบูชาครูก็เตรียมไว้ให้แล้ว ประการสุดท้ายคือว่า ถ้าเป็นของจริงสิ่งที่ท่านรับปากไว้ว่าจะช่วย ถ้าท่านบอกว่าช่วยได้ จะได้ผลตามนั้น ถ้าบอกว่าไม่ได้ ก็คือไม่ได้ เกินความสามารถเกินวิสัยของท่าน
ถาม : แล้วถ้าเกิดเราเห็นว่ามีองค์มาจริง แต่เป็นองค์เทวดา (ไม่ชัด)
ตอบ : จะอะไรก็แล้วแต่ท่าน จำไว้ว่า อย่าไปขัดคอเขา จะจริงจะปลอมไม่ควรไปขัดเขา พูดง่าย ๆ คือว่าประเภทต่างคนต่างอยู่เลย ต่อให้เข้าไปอยู่ในพิธี ก็กำหนดจิตบอกท่านว่า ท่านจะทำอะไรก็เชิญท่านตามสบาย เราไม่ยุ่งด้วยแค่ขอดูอย่างเดียว
ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เป็นของปลอม ท่านจะอ้างของสูงเพื่อความเลื่อมใสของคนหมู่มาก หลวงพ่อท่านเคยบอกว่า เล็กเว้ย ! ข้ายังไม่ตายเลย มันทรงหลวงพ่อฤๅษีลิงดำไป ๖๐ กว่าสำนักแล้ว นั่นเล่นทรงทั้งเป็นเลย (หัวเราะ) ยังไม่ทันจะตาย
ถาม : (ไม่ชัด)
ตอบ : มีอยู่อันหนึ่งคือว่า ตอนแรกจริง ตอนหลังปลอม เหตุการณ์นี้คือว่าเรื่องของพรหม เรื่องของเทวดา หรือเรื่องของพระนี่ เรียกว่าใครมาก่อนก็เป็นศิษย์ของคนนั้น บางทีช่วงเข้าทรงไม่ใช่วาระ ไม่ใช่เวลาของท่าน ตัวเองดันทะลึ่งไปขอให้ท่านทรง คนอื่นก็มาแทน พอมาแทนแล้วก็ติดใจ ต่อไปก็มาอีก ท่านนั้นก็เลยไม่มา กลายเป็นของปลอมไป
ถาม : ตอนรับขันธ์ทำไมป้าของหนู ญาติ ๆ กันค่ะ (ไม่ชัด) พอไม่รับ สามีตาย ลูกตาย ตัวเองก็ป่วยมาก พอรับปั๊บก็หาย ?
ตอบ : ท่านทั้งหลายที่มาทรงนี่ จะต้องมีกรรมอันเนื่องกันมาในอดีต ถ้าในอดีตเคยมีกรรมเนื่องกันมา เขาถึงจะมาอาศัยร่างของเราได้ แต่ว่าโดยความเป็นจริงแล้วก็คือ ถ้าเราไม่อนุญาตจริง ๆ เขาก็ใช้ร่างของเราไม่ได้ ยกเว้นจะกลั่นแกล้งให้เราลำบากจนกว่าจะยอมรับเขา มีบางคนผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก พอยอมรับเขาตั้งขันธ์รับเขาขึ้นมา ไม่กี่วันเท่านั้นก็กลับอ้วนท้วนสมบูรณ์เหมือนเดิม
ถาม : ประเพณีของการรับขันธ์ ทั้งที่เราก็มีขันธ์อยู่แล้ว ?
ตอบ : ลักษณะอย่างนั้นกลายเป็นว่า เขาต้องการคนนั้นเท่านั้น เพราะว่าคนอื่นที่จะมีกรรมเนื่องกันมาให้เขาอาศัยได้ ไม่มีไง เขาก็ต้องไปบีบเอากับคนนั้น ซึ่งจะทำให้คนนั้นเดือดร้อนอยู่ เคยต่อรองเขามาหลายรายแล้ว ต่อรองในลักษณะว่า อันดับแรก ถ้าหากว่าจะเข้าทรงอย่าให้มีอาการพิลึกพิลั่น จนกระทั่งเขาหรือครอบครัวของเขาต้องไปอับอายขายหน้าคนอื่น อย่างที่สองคือ สิ่งที่ช่วยเหลือคนอื่นขอให้มีผลจริงตรามนั้น และอันสุดท้าย ถ้าจำเป็นต้องใช้เขาจริง ๆ โดยที่เขาจะต้องสละเรื่องการทำมาหากิน อาชีพการงานตามปกติ มาเพื่อสงเคราะห์คนตามความต้องการของคุณ คุณต้องให้เขารวยก่อน เคยต่อรองมาแล้ว กี่ข้อ ๆ มันรับปากหมด มาข้อรวยก่อนนี่ มันหยุดกึก ขอคิดก่อน ถามว่าจะเอาหรือไม่เอา เอาก็ได้ ถ้าเขารับปากได้ ได้จริง ๆ ช่วยต่อรองมาหลายรายแล้ว (หัวเราะ)
ถาม : ถ้าอย่างนี้เขาก็ไม่ใช่เทพสิคะ ?
ตอบ : จะมีเทวดาก็มี พรหมก็มี พระก็มี แต่อาจจะเป็นพวกสัมภเวสี หรือว่ากาลกัญจิกอสุรกาย มหิทธิกาเปรตก็มี ก็ต้องดูว่าของเขาเป็นใคร ? แต่ถ้าหากท่านรับปากว่าช่วยให้รวย นั่นช่วยได้จริง ๆ
ถาม : แปลกว่าคนที่หนูเล่าว่าเป็นป้า เขาให้รูปปั้นฤๅษีมา ก็เอามาไว้ที่บ้าน เมื่อก่อนก็อยู่ดี แต่พอหนูเริ่มปฏิบัติธรรม แล้วมีเอาหลวงพ่อมา ฤๅษีหล่นลงมาคอหักเลย (หัวเราะ) หนูเลยเอาไปทิ้งวัด
ตอบ : นึกว่าบังเอิญแล้วกัน
ถาม : หน้าฝน ฝนตกมากน้ำจะท่วม ผมไม่ได้หยุดฝน แต่ผมจะทำให้ฝนชลอ ตกเป็นช่วง ๆ ไม่ให้มาก ถ้ามากแล้วน้ำจะท่วม เพราะพื้นที่จะระบายไม่ทั้น ไม่ทราบว่าจะไปรอดไหมครับ ?
ตอบ : ก็ขึ้นอยู่ว่าคุณทำได้จริงไหม ? อย่างนี้จริง ๆ ก็เป็นแค่ know how เอาไว้ก่อน แล้วต้องมีการทดสอบเพื่อยันยันผล แล้วผลที่ยืนยันจะเป็นผลแล็ปไม่ได้ ต้องเป็นของจริงด้วย ถ้าหากว่าของคุณเอาเขาไปพิสูจน์ไม่ได้ ก็ไม่รอดหรอก ความคิดดี มีโอกาสเป็นไปได้ ต้องลองดูก่อน นี่แหละ...คือสิ่งที่คุณจะเริ่มฝืนกฎของกรรม ลองดูก็แล้วกัน
ถาม : ผมไม่ได้ฝืนมากครับ ผมฝืนนิดหนึ่ง
ตอบ : นิดหนึ่งก็แค่ทั่วกรุงเทพฯ ไม่มากหรอก ๑๐ กว่าล้านคน คือถ้าเขาเคยกระทำสิ่งที่เป็นโทษมา ถึงเวลาเขาก็ต้องลำบากเดือดร้อน ลองดูก็แล้วกัน ถ้าหากว่าทำไปแล้วมีแต่คนขวางรอบข้าง แสดงว่าสิ่งนั้นยังไม่สมควร ถ้าทำไปแล้วมีแต่คนสนับสนุนก็สมควรทำแล้ว
ถาม : พอรู้จริง ๆ ว่าเป็นกฎแห่งกรรม กฎนี้ห้ามทำ กฎนี้ห้ามละเมิด
ตอบ : ไม่ได้ว่าอะไร บอกให้ไปทำเลย เพียงแต่บอกให้รู้ว่า จริง ๆ แล้วไปฝืนเรื่องของธรรมชาติเขา ธรรมชาติเขาให้คล้อยตาม เขาไม่ให้ไปขัดขวาง
ถาม : คนที่เขาโดนน้ำท่วม แสดงว่าเขาเคยทำกรรมมา ?
ตอบ : จะต้องมีกรรมที่เป็นอทินนาทานมาแน่นอนเลย
ถาม : ถ้าหากว่าเราไม่เคยทำ สมมุติว่าจะโทษมีเหตุร้าย ?
ตอบ : เอาอย่างนี้ จะยกตัวอย่างให้ฟัง คือหลวงตาปรีชา แกไปจำพรรษาที่วัดถ้ำสุมะโน พัทลุง วันนั้นน่ะน้ำท่วมหาดใหญ่ แกดันทะลึ่งคิดจะไปเยี่ยมโยมน่ะ แล้วแกก็ไปติดอยู่ ๕ วัน ยังดีที่กรรมน้อยหน่อย ห้องที่โยมเขายกให้ มีตู้เย็นมีอาหารเต็มตู้พอดีเลย แต่ก็ติดอยู่ ๕ วัน ตอนที่รถลอยตุ๊บป่องทั้งหาดใหญ่นั่นแหละ
ถาม : ผมไม่เข้าใจครับ ผมเรียนทางโลกมา ฝรั่งเขาคิดว่า อะไรที่ต้องแก้ต้องแก้ทุกอย่าง ไม่ได้สนใจ แต่ถ้าคนไทยคิดว่ากฎแห่งกรรม ไม่ต้องไปแก้มัน ทุกอย่างไม่แก้ ๆ ก็ไม่ไปไหนสิครับ ?
ตอบ : ก็บอกว่าลองดูได้ ถ้าหากว่าสำเร็จก็แปลว่าสมควรแล้ว ถ้าหากว่าไม่สำเร็จก็แปลว่าไม่สมควร ก็แค่นั้นเอง ไม่ได้ค้านนี่หว่า บอกให้ลองเสียด้วยซ้ำไป
ถาม : กรรมที่ว่าบ้านพัง ของหายบ่อย ๆ นี่ ?
ตอบ : อทินนาทานทั้งนั้นแหละจ้ะ พวกทรัพย์สินสูญหาย หรือว่าโดนภัยธรรรมชาติ พวกนี้เป็นเศษกรรมจากอทินนาทาน
ถาม : แล้วกรรมพวกหลงทางไปไหนไม่ถูก ลืมง่าย ?
ตอบ : เจตนาชี้ทางผิดให้คนอื่นหรือเปล่า ?
ถาม : ในแม่น้ำโขง เราไม่ค่อยเจอหรือรู้เรื่องเกี่ยวกับจระเข้เลย เป็นเพราะว่าเรื่องพญานาคดังกว่า หรือเพราะว่าไม่มีจริง ๆ
ตอบ : เจ้าเพชรรัตน์ รัตนวงศา เป็นอุปราชของประเทศลาวสมัยก่อน ท่านเป็นนักล่าสัตตว์ฝีมือดีด้วย พอมีจระเข้อาละวาดรบกวนชาวบ้านเมื่อไหร่ ท่านจะลงเรือกลไฟไล่ยิงกระจายเลย ไม่เหลือ ท่านเล่นเสียสูญพันธุ์เลย จะไปเหลืออะไร
ถาม : อย่างแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ?
ตอบ : บางเที่ยวที่ท่านออกยิงมัน ท่านบอกว่าได้ถึง ๓๐๐ กว่าตัว แล้วพอหลาย ๆ เที่ยวเข้ามันไม่สูญพันธุ์หรือ เจ้าเพชรรัตน์ รัตนวงศา มาอยู่เมืองไทยตั้ง ๒๐ กว่าปีก่อนจะทิวงคตต ช่วงที่ลาวแตกท่านหนีข้ามมาอยู่เมืองไท ยเพื่อที่จะต่อสู้เรียกร้องเอกราชคืนจากฝรั่งเศส คุ้นเคยกับคนไทยดีมากเลย
ถาม : ผมมีเพื่อนประมาณ ๓ คน อยากเป็นนายก อยากเป็นจริง ๆ เลยครับ ?
ตอบ : คุณรู้ไหมว่าอาตมาเป็นนักเรียนทหาร แล้วสอบได้ที่ ๑ ของรุ่น ตอนนั้นกระแสปฏิวัติแรงมาก คือถ้าเราเอ่ยปากมันต้องช่วยน่ะ เพื่อน ๆ ก็บอกว่าถ้ามึงปฏิวัติสำเร็จ อย่างแรกที่มึงจะทำคืออะไร ? บอกจะปิดโรงงานสุรา โรงงานยาสูบ และกองสลาก เขาบอกมึงเป็นนายกได้ ๓ วัน ประเภททุบหม้อข้าวเขาทั้งนั้นเลย
แล้วมาปัจจุบันนี้ก็ต้องมาบวชพระอยู่นี่ มันเกิดเร็วไป ถ้าเกิดสมัยนี้น่าจะมีสิทธิ์ ฉะนั้นทุกอย่างเราคิดได้ เราทำได้ แต่ว่าถ้าไม่ใช่วาระไม่ใช่เวลาของมัน ก็ต้องปล่อยให้คนอื่นเขา
ถาม : อย่างที่เพื่อนผมเขาอยากเป็น เมื่อถึงเวลาก็ได้เป็น ?
ตอบ : คนที่ว่า พอถึงวาระนั้น เวลานั้นทุกอย่างทั้งกุศลกรรมของเขาที่ทำมาแต่เดิม จะส่งผลให้ช่วงนั้นพอดี คน ๆ นี้จะนำประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะว่าสิ่งที่ในหลวงวางรากฐานอยู่ เขาสานต่อได้
ถาม : ผมจะใช้อย่างที่สองเป็นอย่างแรกได้หรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าเป็นอย่างแรกนี่ต้องใช้ความพยายามหน่อย เขาทำกันเป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง ไม่ใช่ประเภทที่สองที่ไม่ได้แล้วก็บอกว่าผมจับไม่ได้เลย
ถาม : นอกเหนือจากจับลมหายใจ แล้วมีวิธีอื่นไหมครับ ?
ตอบ : วิธีอื่นคือ วิ่ง อาตมาเคยทำแล้ว คนเราบางทีถ้าหากว่าร่างกายดีเกินไป มันก็ไม่เอากะเรา มันมีแต่จะฟุ้งซ่าน วิ่งให้มันเหนื่อยลิ้นห้อยไปเลย เสร็จแล้วเสร็จกัน ก็นั่งตอนพักเหนื่อยจับลมหายใจมันจะได้เร็ว วิธีทรมานตัวเองไม่สังเกตเหรอ พระบางทีเดินจงกรมกันข้ามวันข้ามคืน ทรมานมันจนกว่ามันจะยอมรับ
ถาม : ลองดูแล้ว ไปวิ่ง ๙ รอบ แล้วสวดอิติปิโสไปเรื่อย ๆ ทำได้พอจบแล้ว ก็จับอะไรไม่ได้แล้ว
ตอบ : ตอนวิ่งน่ะได้แล้ว
ถาม : แล้วจะต่ออย่างไรหลังจากที่เราวิ่ง
ตอบ : ถึงเวลาเราก็พัก ถ้าหากว่าพักแล้วอยากทำต่อก็วิ่งใหม่ ขยันออกกำลัง การปฏิบัติยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ ถ้าอิริยาบถนั้นไม่เอากับเรา ต้องเปลี่ยนอริยาบถใหม่ อาตมาเคยใช้มือเดินแทนเท้าเป็นกิโล ๆ ไปเลย ถึงได้บอกว่าตีลังกาก็สามารถภาวนาได้ ยืนยัน
ถาม : คราวนี้เราพบว่าวิ่งแล้วสวดมนต์ได้แต่ในนั้นหาคำตอบไม่ได้เลย มันไม่เกิดวิปัสสนาขึ้น
ตอบ : ถ้าวิ่งแล้วหยุดเดี๋ยวนั้นตอนนั้นแล้วก็ภาวนา ร่างกายของเราถ้าหากว่ามันมีที่จะต้องเหนื่อยจะต้องกลัวจิตมันจะรวมตัวง่าย ถ้าหมดทำจริง ๆ เดี๋ยวพาไปป่าช้า กลัวผีจะหักคอยังไงก็ต้องภาวนา
ถาม : ไม่เป็นไร และถ้าว่ายน้ำอาการทำอย่างไร เพราะว่าเราต้องหายใจอยู่กับผิวน้ำ
ตอบ : เราก็แค่รู้ มันหายใจแรงหรือเบา หายใจทางปากหรือจมูก มือไม้เคลื่อนไหวอย่างไร มันได้ทุกเวลาแหละสำคัญคือให้ทำจริง ๆ เท่านั้นแหละ
ถาม : ทำไมหนูขี้เกียจจังคะ ?
ตอบ : อันนั้นเป็นปกติ เขาเรียกว่ากลัวจะได้ดี ได้ดีเร็วไปเดี๋ยวกิเลสจะเศร้าหมอง ต้องตามใจมันหน่อย
|