ถาม:  อยากถามการปฏิบัติ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการปฏิบัติแบบไหนจึงจะเหมาะกับเราครับ ?
      ตอบ :  ที่เหมาะสมกับเรา เราต้องดูว่าเราชอบ หาหนังสือเกี่ยวกับกรรมฐาน ๔๐ ก็ได้ หรือทั่ว ๆ ไป หาวิสุทธิมรรคตั้งแต่สมาธินิเทศเอามาอ่านดู จะมีกรรมฐาน ๔๐ กอง ถ้าหากเป็นคู่มือกรรมฐานของหลวงพ่อ ก็จะมีมหาสติปัฏฐานรวมกันอยู่ ดูว่าเราชอบใจอันไหน ? แล้วเลือกปฏิบัติอันนั้น แต่ว่าทั้งหมดนี้ทิ้งอานาปานสติคือลมหายใจเข้า – ออกไม่ได้ ลมหายใจเข้า-ออก เป็นพื้นฐานใหญ่ ถ้าไม่มีลมหายใจเข้า-ออก กรรมฐานทุกอย่างจะไม่ทรงตัว อะไร ๆ ก็ตามถ้าจะทำทิ้งอานาปานสติไม่ได้ อ่านดูชอบใจอันไหน ? เอาอันนั้น ถ้าชอบหลายกองให้ตั้งใจอธิษฐานว่า กองไหนที่เราเคยได้ในอดีตแล้วปัจจุบันนี้ทำแล้วจะได้ผลเร็วที่สุด ให้ชอบกองนั้นมากที่สุด แล้วก็อ่านใหม่
              อาตมาไล่อ่านครั้งแรกก็สมาบัติ ๘ เลย ชอบมาก ชอบจริง ๆ ชอบที่สุด หัวทิ่มหัวตำอยู่กับมันมานาน เสร็จแล้วก็มาซาบซึ้งทีหลังว่ากรรมฐาน ๔๐ กอง พรหมวิหาร ๔ กับอรูปฌาน ๔ ยากที่สุด เราดันไปเคี้ยวกระดูกตั้งแต่แรก ฟันฟางหักกระจายหมด
      ถาม :  พรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์คิดหรือเป็นสมถะครับ ?
      ตอบ :  ท่านถามว่าพรหมวิหาร ๔เป็นอารมณ์คิดหรือเป็นสมถะ ตอนแรกจะเริ่มด้วยสมถะ คือ ภาวนา พอกำลังใจทรงตัว ให้คลายกำลังใจออกมาแล้ว คิด คือคิดในลักษณะที่ว่าขอให้สัตว์โลกทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุขอย่าได้มีทุกข์ อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่างนี้จนกระทั่งกำลังใจของเราเริ่มทรงตัว ก็ภาวนาใหม่จนขึ้นถึงฌาน ๔ เต็มที่ ถึงนับว่าใช้ได้ ทุกตัวถ้าหากว่าเมตตา คือ รักเขาเหมือนกับตัวเรา กรุณา คือสงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตา คือยินดีให้เขาอยู่ดีมีสุข อุเบกขา คือถ้าช่วยจนสุดความสามารถแล้วช่วยไม่ได้ ต้องปล่อยวางยอมรับกฎของกรรม แต่ละอย่างมันจะอยู่ในลักษณะสมถะกับวิปัสสนา คือความคิดสลับกันไป แต่ตอนท้ายจะต้องขึ้นจนเต็มของกำลังของสมถภาวนา ถึงจะเรียกว่าได้แล้ว ถ้าหากว่ายังไม่เต็มที่ยังไม่ได้
      ถาม :  ใช้บทแผ่เมตตาบทไหนก็ได้หรือครับ ?
      ตอบ :  บทไหนก็ได้ เท่าที่เคยใช้ก็คือ มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นตกอยู่ในความทุกข์ยาก เศร้าหมอ เดือดร้อนลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใด ๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเทอญ
      ถาม :  ภาวนาเป็นฌานหรือครับ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ กำหนดใจของเรา นึกโดยมีตัวเราเป็นศูนย์กลาง กำลังของตัวเมตตาจากเราจะแผ่กว้างออกรอบตัวเป็นวงกลม ๆ เหมือนกับเราโยนหินลงในน้ำแล้วน้ำกระเพื่อมออก ให้มันแผ่กว้างออก ตอนแรกก็อยู่แค่ร่างกายของเรา แล้วกว้างออกจากร่างกายของเราจนทั่วทั้งห้องนี้ ทั่วทั้งตึกนี้ ทั่วทั้งหมู่บ้านนี้ ทั่วทั้งตำบลนี้ ทั่วทั้งอำเภอนี้ ทั่วทั้งจังหวัดนี้ ทังประเทศนี้ ทั้งโลกนี้ แล้วในที่สุดก็แสนโกฏิจักรวาล ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ไล่ไปเรื่อย ไหวไหม ? จะอยู่ในลักษณะนี้ นั่นแหละไล่ตั้งแต่ต้นยันปลายไปเรื่อย
      ถาม :  ควรเจริญทั้งวันไหมครับ ?
      ตอบ :  ใช่ ควรจะรักษาอารมณ์ไว้ทั้งวัน โดยเฉพาะตัวอารมณ์ ถ้าหากว่าคลายออกมาอย่าให้ต่ำกว่าปฐมฌาน ถ้าต่ำกว่าปฐมฌานเมื่อไหร่ โอกาสพลาดหลุดจะมีมาก อย่างน้อย ๆ ให้เกาะปฐมฌานเข้าไว้ อันนี้ของเราต้องไปซ้อมลักษณะการทรงฌานให้มันชิน ๑-๒-๓-๔ ๔-๓-๒-๑ แล้วอุปจารสมาธินี่มันเป็นอย่างไร พอซ้อมจนชินแล้วเราจะรักษาระดับได้จะให้มันอยู่ตรงไหน อย่าให้หลุดจากปฐมฌาน บอกตรง ๆ ว่าถ้าหลุดเอาคืนยากเต็มที หลุดเมื่อไรก็แบกช้างเมื่อนั้น ลักษณะเหมือนกับกิเลสมาร มันรู้ว่าเราจะพ้นมือมัน คราวนี้มันกั้นสุดชีวิต กลายเป็นงานหนักหนาสาหัสที่เราต้องไปสู้กับมัน
              พรหมวิหาร ๔ ขอบอกว่ายากมาก พรหมวิหาร ๔ กับอรูปฌาน ๔ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญจริง ๆ เพราะว่าต้องออกจากใจจริงของเรา โอกาสประเภทที่เราจะไปคิดอย่างไรก็ได้ มันไม่ได้หรอก ถึงวาระถึงเวลา สมมติว่าคนอย่างนี้โดยธรรมชาติของเราก็คือ รักสวยรักงาม ชังอัปลักษณ์ใช่ไหม ? ยินดีในความร่ำรวย เกลียดความยากจน อะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเป็นพรหมวิหาร พอทำไปถึงระดับแล้วมันจะเป็นอัปปมัญญา คือต้องสงเคราะห์คนเสมอหน้ากันมันจะงี่เง่าขนาดไหนมา ยากจนขนาดไหนมา ขี้เหร่ขนาดไหนมาเราต้องสงเคราะห์เขาด้วยกำลังที่ทรงตัวเสมอกันหมด ต้องทำให้ได้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นไม่ถือว่าได้จริง จำไว้ว่าถ้าคิดจะเอาตัวนี้ไปสู้กับความโกรธ มันจะมีคนมากระตุ้นให้โกรธอยู่ตลอดเวลา โดนแน่ ๆ เลย ไม่ต้องห่วง อาตมาเองตบะแตกมาเยอะแล้วจ้ะ
      ถาม :  แล้วแต่จริตหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  อย่างไรล่ะ ถ้าคิดว่าจะฝึกกรรมฐานให้ครบทุกกองก็จำเป็นต้องเอา แต่ว่าพรหมวิหาร ๔ ถ้าเราไม่ทิ้งจะมีประโยชน์มหาศาล เพราะว่าสภาพจิตที่สงบเยือกเย็นด้วยความรัก หวังดี ปรารถนาดีต่อคนอื่น มันจะหล่อเลี้ยงกรรมฐานให้เจริญก้าวหน้าได้ดีมาก
      ถาม :  แล้วจำเป็นหรือเปล่าครับที่ต้องฝึก ?
      ตอบ :  กรรมฐาน ๔๐ กองใดกองหนึ่งก็ตาม ถ้าทำที่สุดแล้วมันตัดเข้านิพพานได้ทั้งนั้น ถามว่าจำเป็นไหม ? ใช้คำว่าไม่จำเป็นก็ได้ แต่ถ้าคุณมีวิสัยพระโพธิสัตว์มา พระโพธิสัตว์ท่านจะต้องรู้ทุกอย่าง ถ้าไม่รู้จะสอนคนอื่นเขาไม่ได้ วิสัยตัวนี้จะผลักดันให้คุณตะเกียกตะกายจนกว่าจะได้ครบแล้ว เจ้าประคุณเถอะกว่าจะได้แต่ละอย่างมันยากเย็นแสนเข็ญ คนอื่นขึ้นบันไดมามันรู้ว่ามีบันไดก็พอแล้ว แต่พระโพธิสัตว์ท่านต้องรู้มันกว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ สร้างด้วยวัสดุอะไร แต่ละอย่างซื้อหาได้ทีไหน พร้อมที่จะสร้างบันไดขึ้นมาด้วยตัวเอง ก็เลยจะยากกว่าคนอื่นเขา
              อาตมาเป็นพระโพธิสัตว์ตกกระไดพลอยโจรมา เมื่อมาถึงตรงจุดนี้กว่าจะได้แต่ละอย่างเลือดตาแทบกระเด็นจริง ๆ บางอย่างติดอยู่ ๓-๔ ปี ที่ติดเพราะว่าเราวางอารมณ์ผิดนิดเดียว พอก้าวข้ามได้ แหม! อยากเตะตัวเอง กูไม่น่าจะพลาดขนาดนั้นเลย
      ถาม :  กิเลสมารนี่ปฐมฌานขึ้นไปจะพ้นไหมครับ ?
      ตอบ :  ไม่พ้นหรอก ฌานเป็นเครื่องมือของมันด้วย แต่ว่ากำลังที่ใหญ่จะทำให้เราระงับ รัก โลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว จิตที่ห่าง รัก โลภ โกรธ หลง ชั่วคราว มันจะเกิดความสุขสงบอย่างบอกไม่ถูกขึ้น ทำให้เรามีความมั่นคงในพระรัตนตรัยมาก ถ้าคุณใช้มโนมยิทธิได้ ให้ใช้กำลังของฌานเกาะนิพพานเสียก็จบ คือถ้าเราเกาะนิพพาน อย่างไรมันไม่พลาดแน่
      ถาม :  เกาะนิพพาน หมายความว่ามีความต้องการเฉพาะพระนิพพานใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ เราใช้ตัวอุปสมานุสติ คือนึกถึงนิพพานเป็นอารมณ์ และก็ภาวนาจนกระทั่งอารมณ์ใจทรงได้ระดับนั้น
      ถาม :  ถ้าเรานึกถึงพระอริยเจ้า กิเลสมารก็ยังอยู่หรือครับ ?
      ตอบ :  ต่อให้ถึงพระอริยเจ้าแล้ว มาร ๕ ก็ไม่ได้ไปไหน เพียงแต่ว่าตัวอื่นมันทำอันตรายไม่ได้ เหลือแต่ขันธมาร พอขันธมารทำอันตรายท่านได้ ท่านเองก็ปล่อยวางมันเสียอีก มันก็เลยเหลือมัจจุราช คือเมื่อไหร่จะเอาให้ตายสักที มันเอาจนได้ล่ะจ้ะ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขืนปล่อยเอาไว้มันจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นเขา แล้วสังเกตว่าพระปฏิบัติถ้าหากว่าต้องคลุกคลีกับชาวบ้านมาก ๆ ตายเร็วทุกราย เขาไม่เหลือเอาไว้
      ถาม :  เวลาปฏิบัติบางขณะมันเกิดความเครียด เราจะทำอย่างไร ?
      ตอบ :  เขามีการผ่อนคลายได้ อิริยาบถ ๔ อย่าง ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่ว่าให้เราไปประเภทเครียดอยู่อย่างเดียว อาจจะไปนั่งดูนกดูไม้ดูน้ำไหล อะไรก็แล้วแต่เรา ทำอย่างไรที่ให้ใจของเรามันไม่ดิ้นรน จนกระทั่งพอรู้สึกว่ามันคลายตัวแล้วจึงมาภาวนาจับพิจารณาใหม่ ถ้านั่งอยู่รู้สึกว่าไม่ไหวก็ยืน ยืนไม่ไหวก็นอน นอนไม่ไหวก็เดิน
      ถาม :  ...........................?
      ตอบ :  การที่เราอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ตัวนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทะ ความพอใจระหว่างเพศ พยาบาท โกรธเกลียดอาฆาตคนอื่นเขา ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนหรือความขี้เกียจ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านอารมณ์ไม่ตั้งมั่น วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยผลปฏิบัติ มันจะไม่มี ถ้าเราไม่ชอบหน้าเขา เราสามารถอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเราได้ อารมณ์ต่อต้านมันจะไม่เกิดขึ้น มันจะปล่อยวางได้ แต่ลักษณะนั้นมันเป็นแค่กดไว้เฉย ๆ ในเมื่อกดไว้เฉย ๆ โอกาสที่มันจะกำเริบฟื้นขึ้นมาเป็นอันตรายต่อเราใหม่ได้มันมี
              เพราะฉะนั้นต้องใช้วิธีพิจารณาว่าถึงเราไม่โกรธ ไม่เกลียดเขา เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว เขาก็มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุดเป็นปกติ ในเมื่อทุกอย่างในชีวิตของเขาดำเนินอยู่บนกองทุกข์อยู่แล้ว ทำไมเราต้องไปตอกย้ำซ้ำเขาด้วย ความโกรธความเกลียดของเราอีก ซึ่งความโกรธเกลียดนี้มันรังแต่จะพาให้ทุกข์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ อันดับแรกเราทุกข์ จิตใจของเราเร่าร้อนกระวนกระวาย อันดับที่ ๒ เขาทุกข์ เขาต้องมาหวาดระแวงว่าเราเป็นศัตรูของเขาอยู่ ในเมื่อต่างไม่มีสิ่งใดดีอยู่ในการกระทำนี้เลย แล้วเรายังจะไปทำอีกทำไม เราไม่เบียดเบียนเขา ไม่เป็นทุกข์โทษเวรภัยกับเขา เขาก็ทุกข์อยู่พอแล้ว พยายามคิดในลักษณะนี้แล้วตั้งใจแผ่เมตตาให้เขา จนกระทั่งจิตใจของเราปลดวางได้ เจอหน้าเขาทักทายได้ ยิ้มได้ตามปกติ ส่วนเขาจะแสดงอาการอะไรออกมา ลักษณะน่าเกลียดน่าชังขนาดไหนก็ตาม เอาสติสัมปชัญญะของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกซะ อาการทั้งหลายเหล่านั้นจะไม่มีผลกระทบต่อเรา มันเท่ากับว่าเราค่อย ๆ ปลดของเก่าออก แล้วไม่รับของใหม่เข้ามา นานไปมันจะหมดไปเอง ค่อย ๆ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย
              แรก ๆ ก็ให้คนที่เราเกลียดน้อยก่อน ถ้าให้คนที่เกลียดมาก ๆ ทีเดียวบางทีมันจะตีกลับมันรับไม่ได้ พอให้คนที่เกลียดน้อยได้ ค่อยให้คนที่เราเกลียดมากต่อไป จำให้แม่น ๆ นะว่า เราไม่เบียดเบียนเขาด้วยกาย วาจา ใจ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในเมื่อสิ่งนี้มันทุกข์ทั้งตัวเขาและตัวเรา เราจะไปทำให้ตัวเขาและตัวเราเดือดร้อนไปด้วยกันทำไม ถามตัวเองแค่นี้ก็พอ
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ :  ใช้ได้ การที่ใจของเราสนใจอยู่กับกสิณก็คือจะไม่รับของนอกเข้ามาอยู่แล้ว แล้วขณะเดียวกันลักษณะของการเร่งก็คือเอาสติสมาธิเกาะอยู่กับมันให้แน่นยิ่งกว่าเดิม ใช้ได้เหมือนกันโดยเฉพาะตัวกสิณสี ๔ อย่าง เขียว ขาว แดง เหลือง มันเป็นตัวโทสะอยู่แล้ว สีใดสีหนึ่งก็ได้มันจะละโทสะอยู่แล้ว แต่ว่าทั้ง ๔ สีที่ว่ามานี้มันมีพิเศษเฉพาะตัว เช่นว่า สีขาวสร้างทิพพจักขุญาณให้เกิดได้ง่าย สีดำหรือว่าสีนิลที่ว่า นีละ คือเขียวจนดำ มันสามารถทำทุกอย่างที่เราต้องการให้กลายเป็นทองไปได้ และก็โลหิตะคือ สีแดง อะไรที่เราไม่ชอบใจสีให้มันเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งหมดได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจะมีพิเศษเฉพาะของมันอยู่ แต่คุณสมบัติของมันก็คือว่าถ้าเจริญกสิณทั้งหลายเหล่านี้มันจะเป็นตัวระงับโทสะได้ดี
      ถาม :  เวลาเรานั่งสมาธิค่ะ จะเป็นภาพ (ไม่ชัด) ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเป็นภาพในกองกสิณจับได้ อย่างเช่น ภาวนาพุทธานุสติอยู่เห็นภาพพระพุทธรูปมา แม้ว่าไม่ใช่รูปที่เราชอบหรือว่าเราต้องการ แต่ว่าเป็นพระพุทธรูปก็จับได้ เพราะเป็นพุทธานุสสติเหมือนกัน ภาวนาสังฆานุสตติอยู่เห็นภาพหลวงปู่เป็นปกติ แต่ว่าภาพหลวงพ่อมาหรือภาพหลวงพ่อองค์อื่น ๆ มาจับได้ เพราะว่ายังเป็นอนุสติในกองกรรมฐานอยู่ แต่ถ้าหากว่าจับภาพกสิณกองอื่น ๆ อยู่ ขณะที่กองใดกองหนึ่งที่เราไม่ได้จับแทรกเข้ามา อันนั้นอย่าไปสนใจ หรือว่าภาพใดภาพหนึ่งแทรกเข้ามาไม่ใช่ภาพกสิณที่เราต้องการอย่าไปสนใจมัน รู้ไว้เฉย ๆ เท่านั้น สนใจก็ดีพยายามจะดิ้นรนไม่ต้องการเห็นมันก็ดี มันรังแต่จะทำให้จิตของเราฟุ้งซ่านด้วยกันทั้งคู่ รับรู้ไว้เฉย ๆ กองมันไว้ตรงนั้นแหละเห็นก็ช่าง ไม่เห็นก็ช่าง เราก็ภาวนาของเราไปต่อ รับรู้ไว้เฉย ๆ เรื่องราวมันจะเป็นอย่างไรก็ช่าง มันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ช่างมัน ภาพมันจะอยู่หรือจะไปก็ช่างมัน ช่างเข้าไว้ ช่างบ่อย ๆ เดี๋ยวมันก็เบื่อไม่มาเอง
      ถาม :  (ไม่ชัด) ?
      ตอบ :  มันก็ได้อยู่ แต่แสดงว่าอันนั้นมันไม่ใช่ผลของกสิณสีแดงโดยตรง ในอดีตเราต้องได้อันอื่นมาก่อน ในเมื่อเราได้อันอื่นมาก่อนโดยเฉพาะตัวทิพพจักขุญาณ เราก็สามารถที่จะกำหนดร่างกายของคนให้มันเห็นเป็นอย่างไรก็ได้ตามที่เราต้องการ เห็นอวัยวะภายในก็ได้ เห็นกระดูกก็ได้ เห็นเส้นเอ็นก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปไล่มันหรอก มันจะมาให้มันมา อย่าไปสนใจมันแล้วกัน ถ้าเรามัวไปสนใจอยู่กับมัน ใช้อำนาจกสิณไปต่อต้านมันเราเสียเวลา รับรู้ไว้เฉย ๆ ก็พอ
      ถาม :  ดวงไม่ค่อยดี ?
      ตอบ :  การถวายสังฆทานถือเป็นการสะเดาะเคราะห์อย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าดวงไม่ดีแล้วมาถวายสังฆทานถือว่าทำถูก เพราะสังฆทานเป็นบุญใหญ่มาก ที่ดวงไม่ดีคือกรรมเก่ามันตามทัน ในเมื่อกรรมเก่ามันตามทันเราสร้างบุญใหญ่มันก็จะหนีห่างกรรมนั้นไปชั่วคราว แต่ถ้าบุญขาดช่วงลงเมื่อไหร่ มันตามทันอีก การที่ว่าดวงไม่ดีหรือว่าอะไรน่ะ มันมีวิธีการแก้ง่าย ๆ อยู่ คือ ๑. ถวายสังฆทาน ๒. ปล่อยชีวิตสัตว์ที่เขาจะฆ่า ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ช้าง ม้า วัว ควาย อะไรก็ได้ ถ้าเขาจะฆ่าก็ปล่อยให้เขารอดไป ๓. ทำบังสุกุลตายบังสุกุลเป็น ๔. จัดงานศพตัวเอง เลือกเอาว่าจะทำอันไหน นี่เราก็ทำไปแล้วอย่างหนึ่ง จัดงานศพตัวเองมันเหมือนอย่างกับว่าตัวเราตายไปแล้ว เป็นเจ้าภาพประเคนของเองได้ซะด้วย ตายจริง ๆ มันประเคนไม่ได้หรอก
              เรื่องจัดกานศพตัวเองนี่ต้องโน่น หลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์ หลวงปู่พระครูโวนี่ท่านเป็นยอดนักเทศน์ในสมัยโน้น สมัยที่หลวงพ่อท่านฝึกเทศน์ฝึกอะไรก็ฝึกกับหลวงปู่พระครูโวนี่แหละ คราวนี้ท่านเป็นยอดนักเทศน์ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนักเทศน์ของท่านเต็มบ้านเต็มเมือง
              มีอยู่วันหนึ่งท่านก็ประกาศจัดงานศพตัวเอง ลูกศิษย์ที่เป็นนักเทศน์เห็นเป็นงานศพอาจารย์ก็แห่มากันเพียบเลย สมัยนั้นเขามีการเทศน์แข่งกันที่เรียกว่า เทศน์ ๒ ธรรมาสน์ ๓ ธรรมาสน์ ๔ ธรรมาสน์ สูงสุดก็ประมาณ ๔ ธรรมาสน์แข่งกัน แต่งานศพพระครูโวปรากฎว่าลูกศิษย์มากันเยอะมาก ต้องจัดเทศน์ ๕๐๐ ธรรมาสน์ ๕๐๐ ธรรมาสน์นี่พูดคนละประโยคก็หมดวันแล้วมั้ง ?
              ลูกศิษย์ที่เอาผ้าไตรมาถวายคนละไตรกับเงินอีกคนละหนึ่งร้อย ลองเปรียบราคาดูซิว่าสมัยก๋วยเตี๋ยว ๒ ชาม ๕ สตางค์ เงินร้อยหนึ่ง มันใหญ่ขนาดไหน ถ้าเป็นสมัยนี้ไม่หนี ๗-๘๐,๐๐๐ ลองนึกเอาก็แล้วกันว่างานนั้นเป็นยังไง ปรากฏว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้วคนที่รู้เขาบอกว่าหลวงปู่พระครูโวสะเดาะเคราะห์ให้ตัวเอง เพราะดวงไม่ดี ถ้าไม่ทำอย่างนั้นอาจจะมีอันเป็นไปถึงตาย องค์นั้นนี่สุดของของปรมาจารย์นักเทศน์จริง ๆ ในยุคนั้น เวลาที่เราอ่านในหนังสือหรือฟังเทปหลวงพ่อได้ยินท่านพูดถึงพระครูโว ก็คือองค์นี้แหละ ตำแหน่งโวทานธรรมาจารย์ แปลว่า ผู้เป็นอาจารย์ที่ให้ธรรมเป็นทานอย่างดียิ่ง ไม่เป็นไรหรอกถวายสังฆทานแล้วถึงจะเดี้ยงก็เชื่อว่าไม่หนักนัก
      ถาม :  เปิดเทปหลวงพ่อฟังครับ ฟัง ๆ ไปอยากจะไม่รู้เรื่องคือเหมือนกับว่าเรากำหนดใจให้มันไม่รับฟังคำพูดครับ ?
      ตอบ :  อันนั้นไม่ต้องกำหนดใจหรอก ถ้าหากว่าจิตมันเริ่มเป็นฌาน ๒ หูมันจะไม่ค่อยได้ยิน หรือบางทีถ้าหยาบหน่อยมันจะไม่ได้ยินไปเลย ถ้าลึกไปกว่านั้นก็เป็นอันว่าจิตกับประสาทแยกจากกัน ดังอย่างไรก็ไม่ได้ยิน แต่มันมีพิเศษอยู่อันหนึ่งเคยเจอหลายต่อหลายที ตั้งใจฟังเทปจบแล้วจะภาวนาต่อ เราฟังบ่อย ๆ นี่มันรู้ว่าถ้าหากว่าเราพลิกครั้งหนึ่ง พอเริ่มจะพลิกครั้งที่ ๒ เทปมันจะจบ แต่ปรากฏว่าวันนั้นพลิกไปตั้งหลายทีมันก็ไม่จบซักที เอ๊ะ ทำไมเทปมันดังนานแท้วะ พอลืมตาขึ้นมาเสียงมันหายวับเหมือนอย่างกับเทปขาด มันดีไปตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ แต่เราฟังอยู่เป็นชั่วโมงเลย แล้วเนื้อหามันต่อเนื่องกันไปเรื่อย ไม่มีขาดไม่มีสะดุดเลย เอากับท่านสิ ของท่านท่านทำได้ เราก็เลยฟังเพลินไปเรื่อย เจออย่างนั้นนะหลายหน
              เพราะปกติเทปหลวงพ่อจะไม่เกินครึ่งชั่วโมงอยู่แล้ว ฟังกันเป็นชั่วโมงก็สงสัยทำไมไม่จบสักที วันนี้เทปยาวแท้ พอลืมตาขึ้นมาจิตมันรับสัมผัสเต็มที่ ประสาทมันทำงานเต็มที่ ที่ไหนได้เทปมันหยุดไปนานเนกาเลแล้ว แต่เสียงที่ดังกรอกหูเราอยู่ใครพูดล่ะ ? เหมือนกับแม่ชีรูปหนึ่งไปวัดท่าซุง แกเข้าพักตอนบ่าย พอตอนเช้าก็วิ่งไปทุบประตูศาลานวราช เรียกจะขอซื้อเทปม้วนที่หลวงพ่อด่าฉันน่ะ บอกมีเมื่อไหร่ ก็ไอ้ที่เปิดตอนตี ๔ ตี ๕ น่ะ นั่นมันเทปปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ อาตมารับรองว่าไม่มีด่าโยมซักคำ มีด่า...ฉันตลอดทั้งม้วนเลย คือแกประเภทปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่งแล้วรู้สึกว่าตัวเองดี ตั้งใจจะไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ประเภทยืดไปเลย พอเวลาแกฟังเทปก็เลยได้ยินประเภทว่า ไอ้คนที่แบกกิเลสท่วมหัวมาจากบ้านนะ ความรู้แค่หางอึ่งมันคิดว่ามันดีแล้ว สารพัดจะโดนเลย ไม่รู้แกได้ยินไปได้ยังไงทั้ง ๆ ที่มันเป็นเทปปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ถ้ากำหนดให้เป็นได้แสดงว่าเรามีความคล่องตัวในระดับฌานนั้น ๆ
      ถาม :  ...................?
      ตอบ :  ยถาปัจจยัง ปวัตตมวนัง ธาตุมัตตเมเวตัง ยทิทัง จีวรัง ตทุปภุญชโก จ ปุคคโล ธาตุมัตตโก นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ อติวิย ชิคุจฉนียานิ ชายันติ. สกปรกซะยิ่งกว่าสกปรกอีก อุปนียติ โลโก โลกคือหมู่สัตว์อันชรานำไป อัทธุโว ไม่ยั่งยืน อตาโนโลโก โลกที่ไม่มีผู้ป้องกัน อนภิสสโร ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน อสโกโลโก โลกไม่มีสิ่งใดเป็นของตน สัพพังปหายคมนียัง จำต้องละในสิ่งทั้งปวง อโนโลโก โลกนี้พร่องอยู่ อติตโตต เป็นผู้ไม่อิ่ม ตัณหาทาโส เป็นทาสแห่งตัณหา อันนี้ถ้าจำไม่ผิดพระรัฏฐบาลกล่าวกับพระเจ้าโกรัพภยะมั้ง ?