ถาม:  อย่างคนที่เขาภารกิจหน้าที่การงานเยอะ ต้องทำงานเยอะ ต้องคิดงานเยอะ นี่ก็ทำกรรมฐานไปได้ด้วยใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  สบายมากเลย ทุกอย่างที่ทำมันทุกข์อยู่แล้ว ในเมื่อมันทุกข์อยู่แล้วยังอยากเกิดไหมเล่า อยากเกิดอีกก็ทุกข์อีก มันจะเห็นง่ายขึ้น แต่ว่าตอนช่วงเช้า ๆ ควรจะสร้างกำลังใจให้สูงสุดเท่าที่ทำได้ เพราะว่าจะได้อาศัยกินไปได้ทั้งวัน ไม่อย่างนั้นอาศัยคิดอย่างเดียวนี่ถ้ากำลังใจเบา เดี๋ยวโดนกิเลสลากเตลิดไปให้ฟุ้งซ่าน รัก โลภ โกรธ หลง เสียอีก
      ถาม :  ตัวภาวนาแต่ละตัว ๆ อย่างเช่น นะมะพะทะ “นะ” ปรากฏในจิต “พะ” “ทะ” อะไรเหล่านี้เป็นตัวที่เข้าถึงสมาธิระดับ ฌาน ๔ ได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ต้องอยู่ในระดับนั้นเลย เพราะว่าถ้าไม่สงบถึงระดับนั้นแล้วตัวธรรมะที่เกิดขึ้นกับใจนี่โอกาสพลาดจะมี เพราะว่าฌานระดับ “อุปจารสมาธิ” มีความเป็นทิพย์ก็จริง แต่โอกาสที่เราจะรับรู้ได้ชัดเจนแจ่มใสเต็มที่ยังไม่มี เพราะว่าจิตยังกระเพื่อมอยู่ ความมั่นคงยังไม่มีเต็มที่ แต่ถ้าหากว่าถึงฌาน ๔ จิตนิ่งสนิทแน่ ๆ แล้ว ในเมื่อนิ่งสนิทแน่ ๆ แล้ว ให้สังเกตว่าพอมันเกิดขึ้นแล้ว เราจะรู้ความหมายของมันละเอียดลึกซึ้งจนอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ ชั่วพริบตาเดียว บางทีไม่ถึงวินาที ถ้าเราเขียนอธิบาย ๒-๓ หน้ากระดาษยังไม่พอเขียน ฉะนั้นต้องเป็นกำลังของฌาน ๔
      ถาม :  ตัวนี้เราก็ได้อาศัยลมหายใจไปด้วยใช่ไหมครับ ?ไม่จำเป็นแล้วตอนนั้น ถึงตอนนั้นบางทีก็แค่ประเภทตามดูตามรู้ไปเรื่อย ตอนนั้นลมอยู่ที่ไหน มันก็ไม่นึกถึง
      ตอบ :  ไม่จำเป็นแล้วตอนนั้น ถึงตอนนั้นบางทีก็แค่ประเภทตามดูตามรู้ไปเรื่อย ตอนนั้นลมอยู่ที่ไหน มันก็ไม่นึกถึง
      ถาม :  ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ถ้าเรารู้หลักหรือเข้าใจอารมณ์แล้ว การภาวนาอย่างเดียวนี่เข้าถึงระดับฌาน ๔ ได้เลยหรือครับ ?
      ตอบ :  โอ้โห! ไม่ทันจะคิดเสียด้วยซ้ำ พอเข้าปุ๊บมันถึงเลย
      ถาม :  แล้วพวกที่เขาเริ่มจับลมล่ะครับ ?
      ตอบ :  ลักษณะนั้นคือ ฝึก แต่ถ้าพื้นฐานเก่ามีจะไปถึงเร็วมาก บางทีตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ไปเจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ปักษ์ใต้ พอจับมอเตอร์ไซค์สตาร์ทปุ๊บตัวแข็งเลย ต้องเขย่าให้หลุดเพื่อจะได้บังคับมอเตอร์ไซค์ได้ พอเขย่าให้หลุดปุ๊บบังคับไปได้หน่อยก็แข็งอีก ลักษณะเขาคล่องตัวมาก แต่เขาคิดว่าเขาเป็นอะไร โดยที่สติสมาธิก็คือจะขี่รถ แต่ความเคยชินมันก็เข้าฌานแน่นไปเลย ต้องเขย่าตัวให้หลุดออกมาเพื่อให้ได้บังคับร่างกายตัวเองให้ขี่รถได้ เขาคิดว่าเขาป่วยเป็นโรคอะไร จริง ๆ ก็คือว่า ใจเป็นสมาธิแล้วข้ามขั้นเร็วมาก
      ถาม :  มีอยู่อย่างหนึ่ง พวกที่เขาเล่นคาถาอาคมนี่เขาเรียกว่า เล่นธาตุ นะมะพะทะ จะภะกะสะ อะไรเหล่านี้ล่ะครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเราภาวนา ก็หมายความว่าส่งสัญญาณบอกท่านว่าเราเป็นพวกเดียวกัน ท่านก็จะส่งกำลังของท่านมาช่วย ส่วนอีกอย่างก็คือเกิดจากการผูกด้วยอำนาจของฤทธิ์ ของอภิญญา ครูบาอาจารย์ท่านอธิษฐานทับเอาไว้ว่า ถึงวาระถึงเวลาใครใช้คาถาบทนี้ ก็คือว่าเชื่อถือและทำตามท่าน ถึงเวลานั้นแล้วก็จะช่วยเขา เพราะฉะนั้นกำลังที่ท่านอธิษฐานเอาไว้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมเข้าไป
              ดังนั้นเรื่องของคาถาต่าง ๆ จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ว่าคนรุ่นหลังส่วนใหญ่เข้าไม่ค่อยจะถึง เพราะว่าเห็นเป็นเรื่องเหลวไหลบ้างก็มี หลวงพ่อท่านบอกว่าคาถานี้เป็นบาทของอภิญญา คือเบื้องต้นถ้าคนทำคาถาขึ้น ท่านบอกเล่นอภิญญาได้ทุกคน
      ถาม :  ...................................
      ตอบ :  ถ้าหากว่ามีการบูชาครู อะไรบางอย่างที่ท่านมอบให้ หรือว่าผูกขึ้นมาด้วยความสามารถของท่าน พอถึงเวลาเราตั้งใจบูชาท่าน ท่านก็ช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ได้แตกฉานหรือสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น เพราะสมัยก่อนไหว้ครูเขานิยมใช้วันพฤหัสบดี ก็เลือกวันพฤหัสบดีตั้งดอกไม้ ธูปเทียน ถ้าจะตั้งเป็นขันธ์ ๕ ก็จะมี ดอกไม้ ๕ ดอก ธูป ๕ ดอก เทียน ๕ เล่ม เงิน ๕ บาท ข้าวตอก ๕ กระทง เขาเรียกว่า ขันธ์ ๕ ตั้งบูชาไว้หน้าหิ้งพระนั่นแหละ เอาพระพุทธรูปเป็นครูใหญ่ที่สุด พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุก ๆ พระองค์ พรหมทุก ๆ องค์ เทวดาทุก ๆ องค์ ครูบาอาจารย์ทุก ๆ ท่าน ตั้งใจอธิษฐานขอให้เราร่ำเรียนวิชาการเหล่านี้ได้สำเร็จแตกฉานด้วย
      ถาม :  .........................
      ตอบ :  คนเราเกิดมา เลือกเกิดไม่ได้ เลือกที่อยู่ไม่ได้ เลือกงานที่ทำไม่ได้ แล้วก็เลือกตายไม่ได้ แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมนี่เลือกเกิดกับเลือกตายได้ คือเราจะตายดีหรือไม่ดี จะเกิดดีหรือไม่ดี อยู่ที่เรา ในเมื่อเราก้าวเข้ามาทางนี้ เราสามารถเลือกได้ไปตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว เลือกที่อยู่กับเลือกงาน เลือกไม่ได้ก็ช่างหัวมัน กำไรไปครึ่งแล้ว ถ้าได้งานถูกใจ ที่อยู่ถูกใจ ก็กำไรมากขึ้นอีก
      ถาม :  .............................
      ตอบ “การบน” ก็เหมือนกับว่าเรายืมของมาใช้ก่อน ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของเหตุกับผลและเป็นจริง ดังนั้นถ้าเราสร้างเหตุไม่พอผลจะไม่ได้ ถ้าคุณขาดไม่มากคุณยืมก่อนได้ แต่ถ้าคุณขาดมากขึ้นเขาให้คุณยืมไม่ไหวหรอก เพราะฉะนั้นคนขาดไม่มากจะบนสำเร็จ แต่คนขาดมากบนเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ของอย่างนี้ไม่เสียหายอะไร เพร่าถ้าไม่สำเร็จเราไม่จำเป็นต้องไปแก้บนด้วยการกระทำนั้น ๆ แต่ถ้าสำเร็จก็แปลว่าเราต้องชดใช้คืนท่านไป
      ถาม :  ............................
      ตอบวิชาโลกเรียนเท่าไรไม่รู้จบเพราะพิภพกลมกว้างใหญ่ลึกไพศาล วิชาธรรมเรียนแล้วทำจนชำนาญ ย่อมพบพานจุดจบสบสุขเอย
      ถาม :  มีท่านมาบอกว่าไข้หวัดที่เขาเป็นกัน ท่านบอกว่าตอนเช้าล้างหน้าให้สวด อิติปิโส วิเสเส อิ ๓ ครั้ง เป็นการเสกน้ำล้างหน้าก็จะปลอดจากโรค ?
      ตอบ :  ความจริงเรื่องของพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ไม่มีอะไรประมาณได้ สำคัญอยู่ที่ว่าเราเองระลึกถึงและใช้ประโยชน์เป็นหรือเปล่า เท่านั้นเอง
      ถาม :  ระลึก คือ นึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้าหรือครับ ?
      ตอบ :  ใช่ ถ้าเราตั้งใจอธิษฐานขอบารมีท่านด้วยความเคารพจริง ๆ ไม่มีอะไรหรอกที่จะป้องกันไม่ได้ แม้กระทั่งพวกประเภทอาวุธต่าง ๆ ยังกันได้เลย โรคแค่นี้เรื่องเล็ก เพียงแต่มีอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าหากว่าไปถึงระดับหนึ่งแล้ว จะมีท่านทั้งหลายที่ก้าวถึงระดับนั้นได้ เลยยอมรับกฎของกรรมที่เราเคยทำไว้ อยากเป็นก็เป็นไป ถึงเวลาก็เป็นหน้าที่ของหมอ หายก็หาย จะตายก็ช่าง
      ถาม :  วันนั้นท่านมาเตือน ท่านบอกว่าปล่อยเกินเลย ปล่อยให้ผลของกรรมมาเล่นงานเกินไป ครูบาอาจารย์ที่สอนไว้ทำไมไม่ใช้ บอกว่าการยอมรับกฎของกรรมทุกอย่างก็คือพระอรหันต์ คุณยังเป็นปุถุชนคุณต้องใช้
      ตอบ :  คือถ้าเราสามารถประคับประคองร่างกายให้สบายได้ ก็สามารถใช้ในการปฏิบัติได้เต็มที่ ถ้าหากว่าไม่ใช้ตรงจุดนี้ โอกาสจะโดนบั่นทอนก็มีเยอะ
      ถาม :  มีคาถาอะไรเกี่ยวกับทิพจักขุญาณบ้างครับ ?
      ตอบ :  ทิพจักขุญาณ หลวงพ่อท่านให้ไว้เยอะนะ ก็มีคาถาเมฆจิต เคยได้ยินใช่ไหม ? พุทธัง เมฆนิมิตต์ จิตตัง มะอะอุ ธัมมัง เมฆนิมิตต์ จิตตัง อุอะมะ สังฆัง เมฆนิมิตต์ จิตตัง อะมะอุ อันนี้ภาวนาเพื่อให้เกิดทิพจักขุญาณ แล้วก็มีคาถาที่ท่านให้ไว้เพื่อเพิ่มความแจ่มใสของทิพจักขุญาณให้มากยิ่งขึ้น อย่างเช่น สัมมาสัมพุทธัสสะ พระอะระหัง พุทโธ นะโมพุทธายะ เคยได้ยินบ้างหรือเปล่าไม่รู้ หลวงพ่อท่านเคยให้เอาไว้ ถ้าต้องการจะจับอารมณ์พระนิพพานก็จะมี นิมิตจิตติ นิมิตจิตตา นิพพานจิตติ นิพพานจิตตา แล้วก็ยังมีประเภทที่ต้องการจะรู้สิ่งที่ปิดเอาไว้ รู้หนังสือโดยไม่ต้องอ่าน อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ เขาเรียก คาถามงกุฏพระพุทธเจ้า หลวงพ่อท่านให้ไว้เยอะ เพียงแต่ว่าแต่ละอย่างใช้ประโยชน์ในด้านไหน
      ถาม :  เชื้อโรคที่แพร่อยู่ตอนนี้เพราะสงครามนี่จะเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วมันเป็นภาวะของโลก ที่ว่ากรรมต่าง ๆ จะเข้ามาพอดี กรรมใหญ่ที่ชาวโลกต้องรับร่วมกัน ทางโน้นเขาเดือดร้อนเพราะสงคราม ทางนี้เราก็เดือดร้อนเพราะเชื้อโรค
      ถาม :  เขาปล่อยเชื้อมาหรือยังไงครับ ?
      ตอบ :  โอ๊ย! ถ้าเขาปล่อยมา มันไม่เป็นเชื้อตายยากขนาดนี้หรอก มันต้องตายเร็วกว่านี้ ไม่อย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไรที่รักษาทัน
      ถาม :  เวลาเราถวายสังฆทาน จะหันพระออกด้านหน้า หรือจะหันเข้าครับ ?
      ตอบ :  แล้วแต่ ชอบแบบไหนก็หันอย่างนั้น หันหน้าเข้าหาเราก็มองง่ายหน่อย หันหน้าเข้าหาพระก็มองง่ายหน่อย หน้าพระหันทางไหนไม่ได้สำคัญ ที่สำคัญคือนึกถึงพระไหม ?
      ถาม :  สมมติว่า มีคนระดับพระครูแล้วเห็นว่ายิ่งทำนานเท่าไร ยิ่งคุณวิเศษมากขึ้น ๘ อสงไขย ก็มากกว่า ๔ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ก็มากขึ้นไปอีก ก็เลยคิดว่าจะทำไปจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์บางอย่างได้ ก็ทำไปเรื่อย ๆ หวังว่าสักวันหนึ่งถ้ามากพออาจจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างได้ เพื่อจะได้ช่วยคนได้มากกว่านี้ ว่าเป็นไปได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  เวลาเราปีนถึงยอดเขาแล้วหวังจะให้ภูเขามันยืดสูงไปกว่านั้นได้ไหมล่ะ ถ้าคุณปีนไปถึงยอดเขาแล้วคุณหวังให้ภูเขายืดสูงไปกว่านั้นอีกได้ไหม ? ทุกอย่างมันต้องมีข้อจำกัด มีกฎเกณฑ์ของมัน
      ถาม :  ไม่ว่าจะสร้างความดีเท่าไร ก็เปลี่ยนกฎเกณฑ์ไม่ได้หรือครับ ?
      ตอบ :  ก็เหมือนอย่างกับว่า ถึงเวลาคุณอายุ ๗๐ ปี อยากจะอยู่ ๘๐ ปี อยากจะอยู่ ๙๐ ปี แต่ถ้าเกิดอยู่ไม่ถึงแล้วจะทำอย่างไร ? ข้อจำกัดของมันมีอยู่ ถ้าไม่มีล่ะก็รับรองได้ว่ามีหลายคนที่อยู่ค้ำฟ้า ลองดูได้นี่ ถ้าครบ ๑๖ อสงไขยกัป เราก็ต่อ ๑๗ อสงไขยกัป
      ถาม :  แล้วจะเกิดขึ้นไหมครับ ?
      ตอบ :  ถ้าไปถึงจุดนั้นแล้ว คุณเอ๋ย! มันเบื่อการเกิดสุด ๆ ถ้าไม่ใช่หน้าที่ที่อธิษฐานและตั้งใจไว้ ไม่มีใครเขามากันหรอก พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนกับคน ๆ หนึ่งตกไปในหลุมส้วม เขาขึ้นมาอาบน้ำ ล้างทำความสะอาด ตบแต่งด้วยผ้าใหม่ ใส่น้ำหอมอย่างดิบดี แล้วก็กระโดดลงส้วมไปอีกจะเอาไหม ?
              นี่ข้อเปรียบเทียบชนิดที่เบา ๆ นะ พอไปถึงตรงนั้นปัญญามันจะเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นเวรภัย ด้วยกันทั้งนั้น ในเมื่อเราสามารถที่จะพ้นมันไปได้ จะตะเกียกตะกายกลับไปทุกข์อีกทำไม
      ถาม :  สมมติว่าทำหมดแล้ว ถ้าเกิดสามารถทำได้ก็น่าจะลอง ถึงจะทำมากเท่าไรก็เปลี่ยนกฎเกณฑ์ไม่ได้ ใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  คือยังไม่มี ลองดูก็ได้ คุณอาจจะเป็นคนแรก จะเอาใจช่วย ตามที่อาตมาเข้าใจคือเปลี่ยนไม่ได้ กติกาแค่นั้นคนก็เกิดจนลืมแล้ว เกิดจนนับไม่ได้แล้วว่ากี่ชาติแล้ว ยังอยากจะเกิดอีกหรือ ? เชื่อเถอะทำไปไม่ถึงครึ่งก็เข็ดแล้ว นิกายมหายานเขาก็ไม่เกิน ๑๖ อสงไขยกับแสนมหากัป เพียงแต่ว่ายังเกิดไม่ครบ ก็คิดว่าสามารถเกิดต่อได้เรื่อย ๆ
      ถาม :  ................................
      ตอบ :  เขาอาจจะทำได้ เพราะว่าตัวอธิษฐานบารมีคือความตั้งใจของเขา เขาตั้งใจเอาไว้ว่าถ้าตราบใดที่ยังมีสัตว์โลกเวียนตายเวียนเกิดอยู่ ตราบนั้นท่านจะไม่เข้านิพพาน
      ถาม :  แล้วทำได้ไหมครับ ที่จะไปเปลี่ยนกฎเกณฑ์ได้ ?
      ตอบ :  ก็ไม่แน่เหมือนกัน ก็ถึงได้บอกว่าก็ต้องลองดูไง ตามความเข้าใจ อาตมาเมื่อตะกี้นี้คือมันไม่ได้ ก็ลองดูสิ อย่าเพิ่งไปเชื่อ อย่าเชื่อเพราะสมณะนี้เป็นครูของเรา อย่าเชื่อเพราะกล่าวไว้ในตำรา อย่าเชื่อเพราะถือสืบต่อกันมา อย่าเชื่อเพราะตรองแล้วเข้ากับหลักการของเรา ทำสิวะ เขาเรียกว่ายังไม่เข็ด ในเมื่อยังเข็ดกลัวทุกข์ไม่พอก็จะเผลอปล่อยให้มันเข้ามากินเราอยู่เรื่อย ถ้าเข็ดจริง ๆ ใจต้องจดจ่ออยู่กับความดี ไม่ไปรับความชั่วเข้ามา
      ถาม :  มีปัญหาอยู่ตรงนี้คือ หูตาพอไหว คราวนี้เกี่ยวกับความคิดมันทวน มีปัญหาตรงทวนค่ะ ?
      ตอบ :  ก็ถึงได้บอกว่า รูป เวทนาสังขาร วิญญาณ ที่เราเรียกกันว่าขันธ์ ๕ รวมแล้ว หมายถึง ร่างกายของเรา ตัวสังขารสำคัญมาก เพราะสังขารคือ ความนึกคิดปรุงแต่งในจิตใจของเรา แล้วลักษณะการคิดสังเกตดูสิ มันไม่คิดไปในอดีตก็คิดไปในอนาคต ปัจจุบันของเราที่เรารับอยู่ก็คือ เราจะคิดไปในอดีต เขาทำอย่างนั้นกับเราเขาทำอย่างนี้กับเรา มันทำตอนโน้นแต่ตอนนี้เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว แต่เรายังแบกตรงนี้ไว้ แล้วเราก็จะแบกต่อไปข้างหน้าโน้น ก็เลยสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราต้องคิดให้เป็นว่า สิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นทำนั้นว่าเป็นอย่างไร ถ้าหากว่ามันเป็นจริงตามนั้น เราก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นกระจกสะท้อนเงาให้เราเห็นความไม่ดีไม่งามของเรา เราก็ควรจะขอบคุณและเอามาแก้ไข ไม่ใช่ไปโกรธไปเคืองเขา แต่ถ้าหากว่ามันไม่จริงตามนั้น คนที่โง่ขนาดความดีความจริงเป็นอย่างไรเขายังไม่รู้ ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์โทษเวรภัยกับคนอื่น ก็ไม่น่าโกรธหรอก คนโง่ขนาดนั้นเขาน่าสงสารมากกว่า เราก็คลายใจของเราออกไป ถ้ารักที่จะหยุดความคิดไม่เป็นก็คิดให้มันดีไว้ เราจะต้องไม่แบกมัน แต่ถ้าหากว่าหยุดความคิดเป็นเมื่อไร มันก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ เพราะใจของเราอยู่กับปัจจุบัน ตอนนี้เดี๋ยวนี้เรื่องนั้นมันเลยมาแล้ว ตูไม่รับรู้ ส่วนที่ยังมาไม่ถึงก็เรื่องของมัน ถ้ามาถึงแล้วก็ค่อยว่ากัน
              เพราะฉะนั้นตัวจิตสังขารของการปรุงแต่งนี้เป็นตัวที่สำคัญที่สุด และสร้างปัญหาให้นักปฏิบัติมากถึงมากที่สุด อย่าให้หลุดจากการภาวนา สังเกตดูสิหลุดเมื่อไรเสร็จมันเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นทิ้งไม่ได้ ก็ถึงได้บอกว่าไม่กลัวจริง ไม่เข็ดจริง คนจะจมน้ำตายถ้ามีเชือกให้เกาะ แทนที่จะเกาะให้แน่น เปล่าหรอกพอถึงเวลาก็ไปสนใจอาการรอบข้างปล่อยหลุดไปอีกแล้ว กว่าจะเกาะได้ใหม่มันก็แย่
              ถ้าเราภาวนาอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ต้องรักษาอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุด เพื่อจะได้อยู่สุขอยู่เย็นเหมือนลักษณะเอาหินทับหญ้าไว้ รัก โลภ โกรธ หลง คือหญ้าที่จะงอกงาม มันเป็นวัชพืช “วัชชะ” คือ รกเสียเปล่า พืชที่เกิดมารกเสียเปล่า ๆ มีแต่สร้างความมืดบอดให้กับดวงจิตดวงใจของเรา เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะทับมันให้ตายไปเลย ถ้าใช้ปัญญาคิดไม่เป็น เราก็ใช้วิธีนี้คือใช้กำลังสมาธิแทน กดให้มันตายไปเลย อย่าเผลอหลุด ถ้าหลุดถือว่ายังไม่เข็ด
      ถาม :  ก็หลุดทุกรอบค่ะ
      ตอบ :  เอาใหม่ อาตมาเองสมัยก่อน ๆ ก็เหมือนอย่างนี้แหละ วัน ๆ หนึ่งหลุดทีสี่ห้าร้อยรอบก็มี แต่ถ้าเรามุ่งมั่นพยายามทำโดยไม่ท้อถอยเสียก่อน มันได้เอง สำคัญตรงรู้จักรักษาอารมณ์ผ่อนหนักผ่อนเบา ถ้ารู้สึกว่าเครียดเกินไปก็ผ่อนบ้าง ถ้ารู้สึกเบาเกินไปก็ดึงกระตุกขึ้นมา ตัวระดับความพอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่มีมาตรฐาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับกำลังกายกำลังบุญบารมีที่เราสร้างมา บางคนนั่งกรรมฐาน ๓ วัน ๕ วัน ของเราเองครึ่งชั่วโมงก็จะตายแล้ว
              ฉะนั้นมาตรฐานของเรานี่ครึ่งชั่วโมงถือว่าเยอะแล้ว นี่มัชฌิมาปฏิปทาของเรา แต่ไม่ใช่ว่าเลิกแล้วทิ้งเลย เลิกแล้วต้องรักษาอารมณ์นั้นไว้ ประคับประคองรักษาให้มันอยู่กับเราให้นานที่สุด เพื่อที่เราจะได้อยู่สุขอยู่เย็นให้นานที่สุด เอาสติกำกับอยู่ตลอด อย่าให้สติหลุดไปจากปัจจุบันธรรมเฉพาะหน้า ทำงานสนใจอยู่กับงาน รับฟังคำสั่งรับแค่ตรงนั้น ไม่ต้องไปปรุงแต่งต่อว่า เออ! ไอ้คำสั่งนี้มันมาเพราะต้องการจะกลั่นแกล้งเรา หรือว่ามาเพราะไม่มีความยุติธรรม ต้องการที่จะกดเราลงดึงคนอื่นขึ้น หรืออะไรก็ไม่ต้องไปคิด รับมาแล้วทำ ๆ แล้วก็จบ อยู่กับปัจจุบัน อยู่ให้ตลอด ใครก็ทำอันตรายเราไม่ได้ คนภายนอกทำอันตรายเรามันไม่น่ากลัวหรอก กิเลสทำอันตรายนี่มันกินจากข้างในใจเรา กว่าจะรู้เอเลี่ยนกินเราจนตับไตไส้พุงหมดแล้ว
      ถาม :  รู้ตัวนะคะว่าทำอะไรเขา แต่เขาทำเรา เขาไม่รู้ค่ะ
      ตอบ :  ก็นั่นแหละ แล้วเราควรให้อภัยเขาไหม ? คำว่า “ไม่รู้” คือ อวิชชา คนที่ตกอยู่ในวังวนมีโอกาสแต่จะลงอบายภูมิ ตั้งแต่สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อยู่ตลอดเวลา นี่น่าสงสารไหม ? แทนที่จะไปคิดไปโกรธไปเคืองเขา ควรจะสงสารเขาเถอะ เขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองทำโทษอันใหญ่หลวงเอาไว้แล้ว ยิ่งทำกับบุคคลทรงศีลทรงธรรมมากเท่าไร โทษก็ยิ่งหนักเท่านั้น น่าเวทนามากกว่า ยิ้มหวาน ๆ ฉันรู้แล้วว่าแกจะไปไหน เพราะฉะนั้นฉันไม่อิจฉาแกหรอก แกไปของแกเถอะ ถ้าขืนไปอิจฉาเมื่อไร เราจะร่วมทางไปกับเขาด้วย
      ถาม :  หนูไม่อิจฉา
      ตอบ :  ก็นั่นแหละ นี่พูดถึงที่เราโกรธคือ อิจฉา อิจฉาความชั่วเขา เราอยากชั่วบ้าง เออ! ยังดีที่หัวเราะได้ ก็หายเครียดได้บ้าง
      ถาม :  ...................................
      ตอบ :  ถ้าสามารถดูให้มันจบไปเลยได้ นั่นวิเศษที่สุดคือ ถ้าหากว่าปัญญามันยอมรับ เห็นทุกข์เห็นโทษของมันก็จะปล่อยวางดี แต่ว่าโอกาสที่เราจะทำอย่างนั้นน่ะน้อยเพราะว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังไม่เลิศล้ำขนาดนั้น ต้องมีวิธีข่มมันเอาไว้ นิวรณ์นี่ตราบใดถ้าเราอยู่กับลมหายใจ เข้า-ออก มันกินเราไม่ได้หรอก เฉาตายชั่วคราว สำคัญอยู่ที่ว่าเราเองเราจะเผลอสติหลุด อย่างยายชุนี่เขาหลุดบ่อย แล้วระยะนี้บ่อยพิเศษ ในเมื่อหลุดบ่อยและบ่อยเป็นพิเศษเลยเครียด ถึงได้บอกว่าให้เห็นมันเป็นธรรมดา รัก โลภ โกรธ หลง เป็นคุณสมบัติของขันธ์ ๕ ในร่างกายนี้ ในเมื่อมันเป็นของร่างกาย ตัวเราคือจิตใจ ไม่ใช่ของเรา ในเมื่อมันอยากจะมีก็ให้มันมีไปเถอะ เราอย่าไปให้ความร่วมมือกับมันก็แล้วกัน
      ถาม :  ..............................
      ตอบ :  ก็บอกแล้วว่า มันเป็นสมบัติของร่างกาย มันจบก็ตายสิ มันอยู่กับเรานี่แหละ
      ถาม :  เวลาที่จิตใจเราบริสุทธิ์ ไปทำอะไรที่โปรดสัตว์ แต่ผลของการกระทำนั้นกลายเป็นโปรดสัตว์ได้บาปค่ะ
      ตอบ :  มันไม่ใช่ได้บาป ขณะที่เราดำเนินชีวิตอยู่มันจะมีการทดสอบความมั่นคงของจิตเราอยู่เสมอ ๆ ทุกเวลาทุกนาที เป็นการทดสอบทั้งสิ้น รัก โลภ โกรธ หลง ที่เขามานั้นคือข้อสอบ ข้อสอบใหญ่มี ๔ หัวข้อ แต่ข้อสอบย่อยมีเป็นล้าน ๆ ทุกวินาทีเขาสอบเรา เพราะว่าคนทุกคนท้ายสุดต้องเข้าพระนิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด ถ้าไม่ผ่านการทดสอบเคี่ยวกรำจนกระทั่งแน่ใจว่า เรามีความดีถึงขนาดนั้น แล้วเราก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เราทำเป็นการทดสอบตัวเราเอง เท่ากับเราทำข้อสอบอยู่ตลอดเวลา ขณะใดที่นึกท้อใจ นึกน้อยใจ นึกเสียใจ กลุ้มใจ ก็สอบตก
      ถาม :  ไม่นึกท้อใจ ไม่นึกน้อยใจ ไม่นึกเสียใจ แต่คิดว่าภาพลักษณ์งานสำคัญที่เราปรารถนาอยากจะทำอย่างมาก มันอาจทำให้ภาพลักษณ์เสีย
      ตอบ :  ไม่ต้องไปคำนึงถึงมัน ทำต่อไป สำคัญตรงที่ได้ทำ ส่วนจะทำได้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอให้ได้ทำไว้ก่อน ในเมื่อได้ทำแล้ว ทำไปเต็มที่เต็มกำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังคน กำลังทรัพย์ แล้วผลออกมาดีแค่ไหนเรายอมรับตามนั้น ท้อได้แต่ห้ามถอย เกียร์ถอยเขาถอดทิ้งไปแล้ว
      ถาม :  จะทำได้นานไหมคะ ภาพลักษณ์เสีย ?
      ตอบ :  ไม่ต้องห่วงหรอกจ้ะ อะไรก็ตามที่ทำจากน้ำใสใจจริงจะทำได้ทนทำได้นาน แต่ถ้าทำเพราะอยากดี ทำเพราะอยากเด่น ทำเพราะอยากให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนดี อย่างนั้นจะทำไม่นานหรอก เพราะถ้าไม่ได้อย่างใจของเราเมื่อไร เราก็จะท้อใจ หมดกำลังใจ ฉะนั้นทำต่อไปเถอะ
              เราเกิดมาได้พบ ได้ทำงานร่วมกัน ได้อยู่ร่วมกันนั้น คำว่า “บังเอิญ” ไม่มี ทุกอย่างเกิดจากกระแสบุญกระแสกรรมที่เคยสร้างมาบวกกับแรงอธิษฐาน และสิ่งที่ตนเองตั้งความปรารถนาเอาไว้ โดยเฉพาะความตั้งใจที่เหมือนกัน ตั้งใจว่าจะมาช่วยกัน พวกเหล่านี้เหมือนกับโดดลงเรือลำเดียวกันแล้ว ถึงเรือจะใหญ่แค่ไหน เดินไปเดินมามันก็ชนกันจนได้ แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ของแต่ละคนในเรือลำนั้นต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นคำว่า “บังเอิญ” ไม่มี
      ถาม :  คงไม่ใช่บังเอิญ เพราะแต่ละคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อน มาเจอกัน ?
      ตอบ :  ถ้าบังเอิญ ก็บังเอิญบ่อยจนน่าเกลียด สำคัญอยู่ตรงการดำรงชีวิตของเราระมัดระวังเอาไว้ โลกอย่าให้ช้ำ ธรรมอย่าให้เสีย เราจะเอาแต่ในส่วนดีไม่ได้ ถ้าเราเอาแต่ในส่วนดี โลกมันช้ำข้นมาแล้วมันยุ่ง ยุ่งตรงที่คนจะนินทาเอา เราจะทนลมปากเขาไม่ได้ กัมมัง สัตเต วิภชติ กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ และความหมายก็คือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม