สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนเมษายน ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  อานิสงส์ผลบุญของการทำทาน...............?
      ตอบ :  ก็ต่างกันไป แต่ว่าต่ำสุดมี เกรดต่ำสุดเขาบอกแล้วว่าจะเป็นมหาเศรษฐี ส่วนสูงขึ้นไปก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของผู้ให้กับผู้รับ ทานที่มีอานิสงส์สูงสุดก็คือ
              ๑. เจตนาบริสุทธิ์ ทำด้วยความตั้งใจจริงหวังโดยบุญโดยที่ไม่มีสิ่งอื่นเคลือบแฝง เช่นว่าไม่ได้ทำเพื่อเอาหน้าไม่ได้ทำเพื่อเพราะอยากให้คนอื่นชมว่าตัวเองเป็นคนดี
              ๒. วัตถุทานบริสุทธิ์ ได้มาโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม โดยไม่ได้หยิบฉวย ช่วงชิง ลักขโมยใครมา
              ๓. ผู้ให้ตัวเราบริสุทธิ์ ขณะนั้นศีลทุกข้อครบถ้วนไหม
              ๔. ผู้รับต้องบริสุทธิ์ สำคัญมากถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องไป ก็ลดน้องลงไปตามส่วน
              เพราะฉะนั้นคนที่มาระดับจิตมีหลายระดับเหลือเกินใช่ไหม ? เราก็มาเน้นกันตรงว่า “ผู้ให้” ก็แล้วกัน ตีเสียว่ากติกาอื่นสมบูรณ์ด้วยกันทุกข้อ ทุกอย่างก็เหลือแค่ว่าตัวเรา “ผู้ให้” เราบริสุทธิ์แค่ไหน ก็มากน้อยต่างกันไป แต่ระดับต่ำสุดเขามีอยู่แล้วว่าต้องได้เท่านี้
      ถาม :  มีเพื่อนที่ปฏิบัติพระกรรมฐาน เขาโทรมาก็เลยคุยกัน เขาตั้งสถานที่ปฏิบัติพระกรรมฐาน แล้วก็มีหมู่คณะช่วยหลาย ๆ อย่าง เจ้าของสถานที่เขาปฏิบัติกรรมฐานได้ละเอียดลออมาก แล้วก็มีวันหนึ่งเขาก็ขึ้นไปพบพระพุทธเจ้าองค์ปฐม เสร็จแล้วมีความรู้สึกว่าเหมือนกับพระพุทธเจ้าท่านเป็นพ่อ มีความรู้สึกว่าท่านให้ความใกล้ชิดมาก แล้วสภาวะอารมณ์มันมีความว่าง ไม่ได้มีสิ่งใดเคลือบแฝง ก็เกิดมีความรู้สึกว่าอยากจะถามถึงสหธรรมมิกร่วมทำบุญ แล้วก็ถามเป็นคน ๆ ไป แล้วมีคนที่ผมสะดุดใจอยู่ ๒ คน คนหนึ่งเขาบอกว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า คน ๆ นี้กำลังใจสมบูรณ์แบบ ส่วนอีกคนหนึ่งทำแล้วก็ปรารถนาพระนิพพาน คราวนี้ผมก็เลยสงสัยว่าคนที่กำลังใจเต็ม แต่เขาไม่ได้ปรารถนาพระนิพพาน แต่คนนี้เขาก็ทำแต่ปรารถนาพระนิพพาน
      ตอบ :  ถ้าหากว่าไปแล้ว วาระสุดท้ายจริง ๆ ของกำลังใจ บุญก็ไม่เกาะ บาปก็ไม่เกาะ รู้ว่าบุญดีก็ทำ รู้ว่าบาปชั่วก็ละ ไม่เอาทั้งดีทั้งชั่วแล้ว เพราะฉะนั้นที่ท่านตรัสว่ากำลังใจเต็มก็อยู่ในลักษณะนี้คือ ทำเพราะรู้ว่าดีก็ทำ ส่วนที่ไม่ดีก็ละ รู้ว่าบาปชั่วก็ละ ไม่เอาทั้งดีทั้งชั่วแล้ว แต่ว่าคนที่ยังหวังอยู่ ปรารถนาอยู่ กำลังใจยังไม่เต็มจริง ที่หลวงพ่อท่านบอกว่า ถ้าหากว่าเต็มในทานบารมี มันจะเอามาเต็มขนของให้ทั้งโลกก็ยังไม่พอใจ คือมันเต็มตรงกำลังใจ หายากมาก
      ถาม :  แล้วถ้าเป็นหลวงพี่ หลวงพี่ทำความดี ตั้งกำลังใจอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ตอนแรก ๆ ก็ทำในลักษณะนั้นแหละว่า เราอยากเราถึงทำ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนอย่างกับว่าเราต้องมีเครื่องยึดก่อนเพราะ ถ้าเราไม่มีที่ยึด เราก็ไม่มีอะไรจะปล่อย ฟังให้ดี ๆ นะ ถ้าเราไม่มีที่ยึด เราก็ไม่มีอะไรจะปล่อย เพียงแต่ว่าสิ่งที่เรายึดเป็นสิ่งที่ดี อะไรที่เรามั่นใจว่าดี เพราะพระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ทำ
              ในเมื่อเรายึดสิ่งที่ดี ทำไปเรื่อย ๆ พอถึงระดับหนึ่งกำลังใจพอไปถึงตรงจุดนั้นปุ๊บ จะรู้ของมันเองว่าควรทำอย่างไร ? ควรจะตั้งกำลังใจตรงจุดไหน ? ควรจะปล่อยวางอย่างไร ? จะเกิดรู้ของมันขึ้นมาเอง เพียงแต่ว่าต้องให้ถึงตรงนั้นจริง ๆ เหมือนอย่างกับว่าถ้าเราต้องการจะรู้ว่าชั้นบนมีอะไร เราต้องขึ้นบันไดมาให้ ถ้ายังไม่ถึงอยู่ระหว่างกลางมันจะมองไม่เห็น แต่ถ้าเราขึ้นมาถึงปุ๊บเราจะมองเห็นเอง พอถึงวาระนั้นเวลานั้น ก็จะอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า จะสามารถรู้ได้ว่าอะไรถูก อะไรควรที่จะทำ ที่ท่านใช้คำว่า เมื่อถึงตอนนั้น “ญาณ” เป็นเครื่องรู้จะปรากฏขึ้น แล้วก็จะรู้ว่าเราควรจะวางกำลังใจอย่างไร
              เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้งานที่ทำอยู่ จะอยู่ในลักษณะว่าสักแต่ว่าทำเหมือนกับว่ารอเวลาตาย ฟังดูแล้วเหมือนกับคนหมดหวังอย่างไรไม่รู้
      ถาม :  อันนี้ผมสงสัย ทำให้หมดกำลังใจไประยะหนึ่ง ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ขึ้นไปถึงพระนิพพานได้ เราไปพาพระได้ เราไปที่ไหน ๆ ได้ด้วยกำลังใจ แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ที่คุณฟังพระพุทธเจ้าท่านว่า ที่คุณฟังอย่างนั้นอย่างนี้มา ท่านพูดว่าตัวละเอียดนะครับ ตัวละเอียดนั่นคือปัญญา อันนี้จริงหรือเท็จอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  จะเรียกว่าอย่างนั้นก็ได้ อย่าลืมว่าเราต้องทุ่มเทความรู้สึก ความสามารถทั้งหมด เราถึงจะสามารถเห็นพระนิพพานได้ พบพระพุทธเจ้าได้ สามารถที่จะกราบทูลถามท่านได้ การที่เราจะทำอย่างนั้นได้ก็คือ เกิดจากสติปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าตัวปัญญาก็ได้ ถ้าไม่มีปัญญาคุณไม่สามารถทำอย่างนั้นได้
      ถาม :  แต่ว่าทำให้ห่อเหี่ยวอยู่พักหนึ่งครับ
      ตอบ :  ทั้งหมดนี้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า เราไม่มีทางทำอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นขอให้เรามั่นใจเถอะว่าจริงแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สำคัญที่สุด ไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่านั้นอีกแล้ว อย่างไร ๆ ก็ให้เกาะท่านไว้ก่อน ถึงวาระถึงเวลาจะปล่อยอย่างไร จะรู้ของมันเอง
      ถาม :  ครูบาอาจารย์ท่านบอกมาอย่างนี้ ผมก็เลยคุยกับผู้ปฏิบัติสมาธิด้วยกันถามว่าแล้วอย่างที่เราถามหลวงปู่ปาน เวลานี้เราน้อมจิตถึงท่านไม่ว่าอะไรก็ตามที่เวลาสนทนาธรรมเราก็น้อมถึงท่านตลอด บางอย่างก็ปรุงออกมาเป็นพระธรรมที่ท่านส่งมาถึงเรา ท่านก็บอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่ก็ดี จะเป็นหลวงพ่อก็ดี จะเป็นองค์ไหนก็ดี ท่านบอกว่านั่นคือ พระธรรม ถ้านั่นคือพระธรรม ก็หมายความว่าทั้งนี้ ทั้งนั้น ทั้งหมดก็ไม่ใช่องค์ใดองค์หนึ่ง จะเป็นพระธรรมอย่างเดียวหรือยังไงครับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับ ธรรมะทั้งนั้น อย่างที่ว่าเวลาถามหลวงปู่บุดดาว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น ท่านบอกว่าธรรมะมันเป็นของมันเอง ธรรมะจริง ๆ ก็คือธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ที่แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้แล้ว จริง ๆ แล้วยิ่งใหญ่ที่สุดพระธรรม ท่านบอกว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะอุบัติขึ้นก็ดี อนุปฺปาทา วา ตถาคตนํ ตถาคตจะไม่อุบัติขึ้นก็ดี ฐิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฏฺฐิตตา ธรรมทั้งหลายก็ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างถ้าหากว่าปัญญาถึง ก็จะเห็นว่าเป็นธรรมะทั้งหมด
              ในเมื่อเป็นธรรมะทั้งหมด กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะเหมือนกัน แต่ว่าท่านเป็นผู้คนพบแนวทางเป็นคนแรก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ อย่างไรเราก็ต้องยกท่านไว้เหนือเศียรเหนือเกล้า อย่าลืมว่าจริง ๆ ความเป็นพระรัตนตรัยก็เหมือนกับเชือก ๓ เส้น ที่ฟั่นเกลียวเข้าหากกันกลายเป็นเชือกเส้นเดียวขึ้นมา ไม่สามารถขาดเส้นหนึ่งเส้นใดไปได้
              แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วของเรามักจะไปแยกกันว่า นี่คือพระพุทธเจ้า นี่คือพระธรรม นี่คือพระสงฆ์ แต่จริง ๆ แล้วพระธรรมอยู่อย่างนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าค้นพบพระธรรมนำมาสั่งสอน ผู้ปฏิบัติตามเลยเป็นพระสงฆ์ ก็คือส่วนหนึ่งของพระธรรม มันจะวนไปวนมาพันเป็นเกลียวขึ้นมา
      ถาม :  เวลาขึ้นไปเราจะอารมณ์ไหน ท่านก็รับอารมณ์นั้นหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ก็ลักษณะนั้น คือคล้าย ๆ กับว่า ถ้าหากว่าของเราอารมณ์ต่ำ ท่านไม่ลดลงมาก็ไม่สามารถที่คุยกับเราตอนนั้นได้ แต่ถ้าหากว่าของเราอารมณ์สูง ท่านก็จะรับของเราในอารมณ์นั้น ถ้าหากว่าพูดภาษาเดียวกันอยู่ในระดับจิตเดียวกันจะเข้าใจง่าย แต่ถ้าหากว่าท่านพูดเต็มที่ของท่าน แต่เราเองซึ่งขณะนั้นกำลังใจหยาบกว่าอาจจะรับไม่ได้เลย
      ถาม :  บางครั้งบางหนขึ้นไป ท่านให้กำลังใจ แต่ถ้าไปในลักษณะที่วางทั้งหมด สภาวะของท่านก็วางเหมือนกัน การวางนี่ไม่สามารถจะพุดได้ ?
      ตอบ :  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำ จริง ๆ คือ มันพอเหมาะพอดีพอควรไปหมด อย่าลืมว่าสถานที่ที่เราไปหาท่านคือพระนิพพาน พระนิพพานทุกอย่างจะพอดีทั้งหมด ไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรเกิน สมบูรณ์บริบูรณ์ในตัวตน
      ถาม :  อีกเรื่องหนึ่ง วันนั้นไปนั่งในสถานที่ปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ปกตินี่เทวดาฟังธรรมไหม เทวดาท่านฟังธรรมไหน พอสภาวะความสงสัยอย่างนี้เกิดขึ้นมา ก็อยู่กับผู้ปฏิบัติด้วยกัน เขาก็เห็นขึ้นมาเลยแทบจะนั่งกันเต็มศาลา ท่านบอกว่าเทวดาก็ฟังธรรม ผมก็เลยถามว่า พระคุณเจ้าองค์นั้นเทศน์ พระคุณเจ้าองค์นี้เทศน์ท่านฟังไหม ท่านบอกว่าบางครั้งก็ฟัง บางครั้งก็ไม่ได้สนใจ แต่ว่าถามว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีเวลาท่านเทศน์แล้วท่านฟังไหม ท่านบอกว่าฟังประเด็นคือว่าทำไมถึงมีความต่างกันอย่างนี้ล่ะครับ ?
      ตอบ :  ต่างกันตรงที่ว่า ผู้ที่เทศน์นี่เข้าถึงจริงไหม ? ถ้าเข้าถึงจริงสามารถอธิบายธรรมะได้ถูกต้องจริง เป็นประโยชน์แก่ท่าน อย่าลืมว่าเทวดาท่านอยู่ในสภาพของความเป็นทิพย์ ท่านรู้ทั้งหมดคราวนี้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านก็คือ ยกจิตท่านขึ้นสู่ภูมิธรรมที่สูงขึ้น สิ่งที่ท่านทำจะสำเร็จประโยชน์ ท่านเรียกว่าตะเกียกตะกายขวนขวายเพื่อจะไปให้ได้ แต่ขณะเดียวกันท่านที่เข้าไม่ถึงจิรงอาจจะมีเฉพาะชื่อเสียง แต่ว่าความเป็นจริงคือ สภาพจิตใจไม่ได้อย่างนั้น อธิบายธรรมะไปก็ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับกำลังใจที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติ ซึ่งถ้าหากว่าท่านทำตามไป สิ่งที่ท่านเทศน์เป็นไปตามพุทธวัจนะก็ยังพอมีประโยชน์ แต่ว่าเทศน์ตามความเข้าใจของตัวเอง ท่านไม่เสียเวลาไปหรอก ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะท่านก็รู้ของท่านอยู่
              เคยเจอเหมือนกับท่านมาแล้ว ขอให้เทศน์ให้ฟัง บอกว่าไม่กล้าสอนท่านหรอก ความดีของเทวดามีมากกว่าเราเยอะ ต่อให้เขารักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เขาก็รักษาได้บริสุทธิ์ทุกสิกขาบท ขณะที่เราเป็นพระจริง ๆ ก็บกพร่องอยู่ ถ้าอย่างนั้นให้ช่วยสวดพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งให้ท่านฟัง ก็เลยตกลง เอาขนาดนั้นไม่เทศน์ให้ฟังก็ไม่ยอม ให้สวดพระสูตรฟังก็ยังเอา ก็เลยต้องสวดให้ ท่านฟังเพราะว่าพระสูตรก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ อันนั้นแน่ ๆ เลยว่าถูกต้อง
      ถาม :  เรื่องของเทวดามีมาก แต่เรื่องที่ประทับใจก็คือ ท่านฟังธรรมแล้วท่านฟังจริง ๆ
      ตอบ :  ของท่านเอง พอขึ้นไปแล้วถ้าไม่ใช่เป็นมิจฉาทิฐิ จริง ๆ ทุกท่านต่างก็ขวนขวายเพื่อให้ตัวเองไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น ที่ว่าจะเป็นมิจฉาทิฐิจริง ๆ ก็ตำหนิท่านไม่ได้ ก็ความเป็นเทวดาทุกอย่างมันเป็นทิพย์หมด ก็น่าเพลิดเพลินเจริญใจ ท่านจะเพลินอยู่บ้างก็เป็นเรื่องปกติ
              คราวนี้ถ้าหากว่าในสายตาของผู้ที่จิตละเอียดกว่า ถ้าตัวเองไปยึดติดอยู่ตรงนั้นเสียแล้วก็เลยกลายเป็นมิจฉาทิฐิ ก็เท่านั้นเอง ฟังดูแล้วน่ากลัว แต่จริง ๆ เราจะเห็นว่ามันเป็นปกติธรรมดา ของเราเองเป็นมนุษย์อยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เราก็ปรารถนาในสิ่งที่ดี ๆ ความเป็นทิพย์ดีกว่าความเป็นมนุษย์ตั้งกี่เท่า เพลินบ้างก็เป็นเรื่องปกติ
      ถาม :  แล้วอย่างที่พระท่านบอกว่า ยังติดรูปติดนาม แต่ตัวนี้เป็นรูปนามที่ละเอียด ตัวนี้หมายความว่าอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ตัวรูปนาม ของเทวดาของพรหมก็เหมือนกันคือ ความเป็นทิพย์นี่แหละ ถ้าว่าตามภาษาพระก็คือ รูปราคะ อรูปราคะ ในสังโยชน์ ไม่มีอะไรน่ายึดติดยิ่งกว่านี้อีกแล้ว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างดีที่สุด เต็มบุญเต็มบารมี เพียงแต่ว่าดีที่สุดของเทวดา ดีที่สุดของพรหม ไม่ใช่ดีที่สุดของนิพพาน คนเรานี่สมมติว่าถ้าอยู่ในลักษณะที่ไม่เคยมีอะไรมาก่อน ขึ้นไปเจอก็ร้อง โอ้โห!
      ถาม :  อย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ถ้าจะเข้าถึงตัวปรมัตถบารมีจริง ๆ เช่น เนกขัมมบารมี ท่านจะต้องพบเหตุให้เห็นโทษของกามคุณ ที่จะมีอุปนิสัยน้อมไปในเนกขัมมบารมีที่แท้จริง แล้วตัวนี้คนที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ จะให้เป็นเนกขัมมบารมีที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ก็มีโอกาสเหมือนกัน เพียงแต่ว่าของท่านเองจะต้องมาในพื้นฐานของผู้ปฏิบัติธรรมที่อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “ปรมัตถบารมี” พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อความหลุดพ้นเข้าสู่ความเป็นอริยเจ้า ท่านที่เป็นปรมัตถบารมีแล้ว โอกาสที่จะทำอย่างนี้ได้มีเยอะ ไม่อย่างนั้นไม่สามารถที่จะหลุดพ้นได้หรอก เพราะว่า เอกายะโน อะยัง ภิกขะเว ภิกษุทั้งหลายหนทางนี้เป็นหนทางของคน ๆ เดียว ถ้าไม่ใช่คน ๆ เดียวไปไม่รอด
      ถาม :  พบเหตุนี้เมื่อไรครับ ที่เห็นโทษของกามคุณ ?
      ตอบ :  จริง ๆ จะเรียกว่า เห็นโทษไปทีเดียวก็ไม่ใช่ มันเบื่อก่อน ตอนแรกก็เพลินกับมัน ตอนนั้นเป็นช่วงใกล้บวช ปกติเวลาไปไหนก็จะพาพวกพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้หญิงเขาไปด้วยเยอะ ๆ
              คราวนี้มีอยู่วันหนึ่งไปเดินห้างกัน ตอนนั้นห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว เพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ ๆ ก็ตามปกตินั่นแหละ ผู้หญิงซื้อของ ผู้ชายก็ประเภทช่วยถือ ไป ๆ มา ๆ มันก็เยอะขึ้น ๆ ไม่ใช่ถือแล้วสิ ทั้งหอบทั้งหามแล้วใช่ไหม ก็เดิน ๆ ไปสักพักหนึ่งเกิดความรู้สึกขึ้นมาเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ ว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมเหลวไหลไร้สาระขนาดนี้ก็ไม่รู้ ความรู้สึกมันดันพรวดขึ้นมาเต็มที่เลย รู้สึกเหมือนกับว่าอยากจะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างมุดดินหนีไปเดี๋ยวนั้นเลยล่ะ แล้วผู้หญิงความรู้สึกเขาเร็วมาก เขาหยุดกึกถามว่า พี่เป็นอะไรหรือ ? เป็นอะไรไม่รู้ แต่ตอนนี้เบื่อหน้าเธอฉิบหายเลย ของเราประเภทคบหากันมามีอะไรพูดกันตรง ๆ เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็กลับ มันเริ่มจากตรงจุดนั้นก่อน พอเริ่มจากจุดนั้นแล้วมันก็สานต่อได้ง่ายแล้ว เพราะว่าพอถึงเวลาแล้วเหมือนกับเห็นทุกข์เห็นโทษ ก็จับอารมณ์ภาวนาด้วย
              ความเบื่อหน่ายนี้บอกไม่ถูก แต่ได้ยินเสียงผู้หญิงนะ จิตมันทรงฌาน มันไม่เอาเลย หนีเลย แล้วยิ่งประเภทเสียงกรี๊ดใส่อารมณ์กันนั้น ยิ่งหนักใหญ่เลย มีบางครั้งที่ใจไม่ยอมถอนออกมาเลย ๒ เดือน ๓ เดือน ก็อยู่ของมันแบบนั้น มันเซ็งไปเลย ก็ไม่ได้พรวดพราดไปทีเดียวนะ ก็เป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกัน
      ถาม :  ตอนนี้ ๒๐ ปี ได้หรือยังคะ ?
      ตอบ :  หมายถึงอารมณ์ใจตัวนี้ใช่ไหม ? ก่อนบวชจวน ๆ ๒๐ ปีแล้ว เพราะว่าบวชขึ้นมาปีที่ ๑๘ แล้ว ถ้านับก็ในช่วงประมาณ ๒๐ ปี
      ถาม :  อันนี้อารมณ์มันน้อมไปในบรรพชาหรือนี่อารมณ์ของศีลล่ะครับ ที่เกิดความเป็นสมุจเฉทเด็ดขาดขึ้นมามันเกิดจากตรงไหนครับ ?
      ตอบ :  เกิดจากว่า มีอยู่วันหนึ่งหลวงพ่อท่านเทศน์ที่บ้านสายลมนั่นแหละ พอหลังกรรมฐานเสร็จท่านก็เอ่ยขึ้นว่า เมื่อกี้นี้มีพระท่านเสด็จมาบอกว่า พวกที่ทำกรรมฐานทั้งหมดนี้มีอยู่ ๗๐ คน ที่สามารถทรงศีล ๘ ได้เลย ความคิดตอนนั้นก็คือ ข้าเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น มันตัดสินใจเดี๋ยวนั้นว่าข้าคือหนึ่งในจำนวนนั้น อีก ๖๙ คน เป็นใครก็ช่าง แต่คนที่ ๗๐ คือข้าเอง พอความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นมาปั๊บ ก็ตัดปั๊บ เดี๋ยวนั้นเลย
      ถาม :  วันนั้นเลยไม่กินข้าวเย็นเลย หลังจากวันนั้นหรือครับ ?
      ตอบ :  ตอนนั้น ๓ ทุ่มกว่าแล้ว กรรมฐานเสร็จ คราวนี้ก็เหมือนกับโดนลอง เพราะว่าช่วงนั้นเองเหมือนลักษณะที่ว่าต้องไปเป็นลูกชายให้บ้านที่เขาไม่มีลูกชาย ส่วนใหญ่จะมีแต่ลูกผู้หญิง ๒-๓ คน
              คราวนี้มีหลายบ้านที่สนิทสนมกัน เราก็ต้องไปประจำ แล้วก็ชวนท่านมาวัดได้ ไปบ้านสายลมได้ ทีนี้ตอนขากลับล่ะสิ น้าโชคแกก็ชวนกลับบ้านด้วยกันเราก็ไป แต่ปรากฏว่าแกเลี้ยวเข้าร้านหัวปลาหม้อไฟ ชวนกิน ความรู้สึกของเราตอนนั้นก็คือ เรื่องอาหารไม่เกี่ยวกับเราแล้ว ในเมื่อไม่เกี่ยวกับเราแล้วเราก็บอกว่าขอโทษนะนาวันนี้ไม่รู้เป็นอะไร ไม่รู้สึกหิว เชิญน้ากินกับน้องตามสบายเถอะ เดี๋ยวผมเดินกลับบ้านก็แล้วกัน คือห่างจากบ้านเราครึ่งกิโลเมตรกว่าเอง เราก็ประเภทไม่รอท่านเรียกท่านรั้งอะไรแล้ว สะบัดหน้าได้ก็เดินย่ำเท้ากลับบ้านไปเลย
              แต่ว่าวันรุ่งขึ้นก็ยังมีความระแวงลึก ๆ อยู่ว่า เอ๊ะ! หลังเที่ยงจะหิว ตอนก่อนเที่ยงปกติกินกลางวันก็จะจานเดียว ก็เผื่อเสีย ๒ จาน เสร็จแล้ววันที่ ๓ ก็รู้ว่ามันเหลวไหล เพราะว่ากินเท่าเดิมก็ไม่หิว พอหลังเที่ยงเหมือนกับคอหอยมันตันไปเอง ไม่อยากอะไร กินได้แต่น้ำ
      ถาม :  แล้วถ้าเกิดทำงานหนัก ๆ ล่ะครับ ?
      ตอบ :  ก็ลักษณะนั้นแหละ ทำงานอยู่ตามปกติทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ได้หิวไม่อยากอะไร ทุกวันนี้ที่วัดเขาก็แปลกใจว่าปกติหลังทำวัตรเย็นเขาก็จะถวายน้ำปานะ ถ้าเราเกรงใจก็รับ ว่าไปคำหนึ่ง ถ้าปกติก็จะปฏิเสธยาวไปเลย เขาก็แปลกใจ อาจารย์อยู่ได้อย่างไร ทำไมไม่กิน
      ถาม :  ผมสงสัยตัวบารมี แต่ไม่สงสัยในข้ออื่น ๆ คือ วิสัยปัญญาบารมี จะเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ตัวนี้จะเริ่มสั่งสมของจากที่เราศึกษามาก่อน จะเป็นอ่านก็ดี ฟังก็ดี อะไรก็ดี จะสะสมเป็นความจำ เพราะตัวความจำเราจะต้องเอามาย่อยสลายก่อน คือทำอย่างไรจะตีให้แตก ปฏิบัติตามสิ่งที่เราจำให้ได้ พอเราทำ ๆ ตอนนั้นก็พยายามจะตีจุดที่ว่าทำไมร่างกายไม่ใช่ของเรานะ อันนี้เล่นเข้าเนื้อกันเลยก็แล้วกันพอจะตีจุดที่ว่าทำไมร่างกายไม่ใช่ของเรา โอ้โห! ต้องมาค่อย ๆ ไล่แยก อย่างไร ๆ มันก็ใช่ของกู หิ้วมันก็กู เจ็บมันก็กู ร้อนมันก็กู หนาวมันก็กู ต้องพยายามแยกมันให้ออก คราวนี้ก็ต้องพยายามแยกให้ออก หลวงพ่อก็บอกว่าถ้ามันไม่ใช่ของเรา มันเป็นอย่างไร แบ่งออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ โอ้โห! ของเราต้องซอยละเอียดยิบ ชนิดแบ่งออกเป็นส่วน ๆ เป็นกอง ๆ อันนี้ดิน อันนี้น้ำ อันนี้ลม อันนี้ไฟ ดูจะจนกระทั่งตัวเราอยู่ไหน มันไม่มีจริง ๆ แต่พอเอา ๔ กองนี้มาปั้นรวมกัน มีหัว มีหน้า มีตา ความรู้สึกเอาจิตเรามาจับปุ๊บเข้าไป อ้าวมันกลายเป็นเราไปเสียแล้ว ก็พยายามแยกออก ๆ รวมเข้า ๆ แยกออก ทำแบบนี้จนกว่าจะยอมรับว่ามันไม่ใช่ของเรานี่หลายปี เพราะว่าอย่างไร ๆ ก็ยังมีอยู่นิดหนึ่งที่ยังคาอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งความรู้สึกสุดท้ายที่บอกว่ามันไม่ใช่ของเรา แล้วมันยอมรับว่าใช่โดยไม่เถียงเลยกว่าจะได้นี่หลายปีเต็มที ฟาดกันนาน ไม่อย่างนั้นอย่างไร ๆ ก็เรา คนอื่นนี่เรายอมรับได้ว่าไม่ใช่ของเรา คนละตัวกันนี่ ผู้หญิงกับผู้หญิง หมูหมากาไก่ วัตถุธาตุสิ่งของ มันไม่ใช่ ตัวนี้บอกว่าไม่ใช่ มันยาก ประเภทกอดคอมันมานาน แกะออกยากเป็นบ้าเป็นหลัง
      ถาม :  การปฏิบัติที่เราจำได้ พอมาปฏิบัติความจำที่เราจำได้จะเป็นอุปสรรคหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  ตอนแรกเป็น เพราะของเรากลัวพลาด กอดตำราแน่นไป แต่พอมาค่อย ๆ พิจารณาดูตามอารมณ์ใจที่ทำได้แล้ว ถึงได้รู้ว่าที่เราจำได้ มันแค่ผิวแค่นั้นเอง
      ถาม :  ผิวหรือครับ ?
      ตอบ :  เออ! ผิว เข้าไม่ถึงเนื้อ เข้าไม่ถึงแก่น คำพูดกับตัวหนังสือนี่ยังหยาบเกินกว่าที่จะอธิบายอารมณ์ธรรมะที่แท้จริง
      ถาม :  เคยฟังหลวงพี่อธิบาย มหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ผิดสักอักขระหนึ่งเลย
      ตอบ :  นั่นแหละ แค่ผิวเอง ไม่ใช่เนื้อไม่ใช่แก่นเลย ตัวที่เราเข้าถึงจริง ๆ อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้หรอก คำพูดมนุษย์มันพูดยาก ท่านถึงได้ใช้คำว่า “ปัจจัตตัง” ผู้ปฏิบัติจะรู้เองว่าเป็นอย่างไร พูดยากพูดเย็นเหลือเกิน
      ถาม :  แล้วตัวโพชฌงค์ล่ะครับ พอพิจารณาธรรมไป พอเกิดความสว่างในลักษณะที่ว่า จิตเราสวยจริงหนอ จิตเรางามจริงหนอ พอมันเห็นตรง มันใช่โพชฌงค์หรือครับ ?
      ตอบ :  ใช่ ทำไมจะไม่ใช่ เพียงแต่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง อย่าลืมนะ “โพชฌงค์” จะเริ่มจากสติ ตัวสติจะตั้งมั่นด้วย แล้วก็ภาวนา แล้วก็วิริยะพากเพียรทำไป ตัวที่สำคัญคือ “ธัมมวิจยะ” ต้องแยกแยะให้เป็นว่า นี่มันเกิดจากอะไร ถ้าดีเราก็ทำ ถ้าไม่ดีเราก็ละ ผลเกิดจากเหตุไหน ถ้าเป็นผลดีเราสร้างเหตุนั้น ผลดีจะเกิดกับเรา ถ้าหากว่าเป็นผลชั่วเราละเหตุนั้น ผลดีจะเกิดกับเรา ถ้าหากว่าเป็นผลชั่วเราละเหตุนั้นผลชั่วจะไม่เกิดกับเรา
              ตอนแรก ๆ ตัวธัมมวิจยะนี่ เจ้าประคุณเถอะ กว่าจะจับจิตนี่แทบแย่ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วพอผลเกิดเราก็กินด้วยความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลิน พอถึงเวลาหมดก็ อ้าว! หายไปไหน แล้วก่อนหน้านี้มันมาอย่างไร บางคนไม่คิดเสียด้วยซ้ำว่ามันมาจากไหน รู้อย่างเดียวว่ามัวแต่ไปโหยหามันอยู่ว่า มันมาจากไหน พอแยกแยะได้ก็จะเกิดตัว “ปีติ” คืออิ่มเอมขึ้นมา เออ! ที่แท้มันเกิดจากผลของการกระทำ ก็ทำให้มีกำลังใจ ความพากเพียรก็ยิ่งมากขึ้น ๆ พอกำลังใจตั้งมั่น จิตใจปักแน่นขึ้น ต่อให้เป็นตัวกำลังใจที่กดอยู่ เรียกว่า “เจโตวิมุตติ” ก็จะเกิดเป็น “ปัสสัทธิ” คือความสงบขึ้นมา พอเกิดความสงบขึ้นมา สภาพจิตจะผ่องใส พอสภาพจิตผ่องใสขึ้นมาก็จะเห็นเองว่า เออ! ของเรานี่สวยจริงหนอ งามจริงหนอ ดีจริงหนอ ลักษณะนั้นเป็น “อุทานธรรม”ที่เกิดขึ้นมาในใจเฉย ๆ ถ้าสังเกตดูจริง ๆ มันไม่เกาะตรงนั้นเลย ไม่ได้เกาะอยู่กับความสวย ความดี ความงามของจิตเลย แต่ว่าพอเห็นแล้วความรู้สึกมันหลุดออกมาเอง เพราะจริง ๆ แล้วก็เป็นอุทานธรรมที่เกิดขึ้นในใจของเราเองว่า มันจะว่าอย่างไรเท่านั้นตามสภาพที่มันเกิดขึ้น
              เพราะฉะนั้น ถามว่าใช่โพชฌงค์ไหม ? ใช่ชัด ๆ เลย เพียงแต่ว่า ถ้าหากเราไล่ตามขั้นตอนนี้ จะทิ้งไม่ได้เลยทั้ง ๗ ตัว จะเหมือนกันหมด ต้องกอดกันเป็นก้อนเดียวกันไป
      ถาม :  พอจิตบอกว่า มันสวยจริงหนอ งามจริงหนอ นี่เราก็คิดว่าเรายังมีตัวติดยินดีในจิตที่ สวยจริงหนอ งามจริงหนอ นี่จะปลดมันอย่างไรดี เพื่อดึงเอาตัวมีเหมือนไม่มีมาใช้ ตัวของ “เนวะสัญญา” ใช้ได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ใช้ได้เลย ตรงจุดนั้นที่เมื่อกี้บอกให้สังเกตว่าจริง ๆ แล้วจิตใจไม่ได้เคลื่อนไปตามนั้น เพียงแต่ว่าตัวปีติมันเกิดขึ้นแล้ว จิตพอปีติเกิดขึ้น มันก็พากเพียรทำ ยิ่งพากเพียรทำก็ยิ่งสงบล้ำลึกขึ้นทุกที ๆ สภาพจิตก็ต้องผ่องใสขึ้นไปเรื่อย ๆ
              เพราะฉะนั้นสภาพจิตที่จะถึงตรงจุดนั้นได้ตัวอุเบกขาต้องมี ถ้าตัวอุเบกขาไม่มีจิรงจะไม่เข้าถึงที่สุดอย่างนั้น ในเมื่อตัวอุเบกขามี มันเกาะอะไรยากเต็มที เพราะอุเบกขาปล่อยวางแล้ว ถ้าหากว่าเราไม่มั่นใจเราก็ทบทวนย้อนไปย้อนมาอีกที จิรง ๆ แล้วมันไม่มีอะไรเหลืออยู่ อันนั้นน่ะใช้ได้ อาศัยได้เยอะ
      ถาม :  ตัวนี้เราไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่เราก็น้อมอารมณ์นี้มาใช้ได้ใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  มันจะเป็นอย่างไรช่างมัน ขอให้รู้ว่าใช้ประโยชน์กับเราได้รีบคว้ามาเลย หลวงพ่อท่านถึงได้บอกว่า อารมณ์ของกรรมฐาน ๔๐ ก็ดี นิมติก็ดี วิธีการปฏิบัติก็ดี ต้องศึกษาให้ละเอียด ถึงเวลาจะได้รีบคว้าขึ้นมาต่อสู้กับข้าศึกได้ทัน เพราะว่าอารมณ์ใจเข้ามา รัก โลภ โกรธ หลง แต่ละเวลาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกันเราจะไปเล่นท่าเดียวอยู่ตลอดไม่ได้หรอก มันมาท่านั้นแล้วหลบได้ เราก็แย่ละสิต้องหาทางรับมือมันให้ทัน