สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ..............................?
      ตอบหลวงปู่โลกอุดร ท่านปรารถนาพระโพธิญาณมาก่อนแล้ว แล้วก็มาตัดเข้านิพพาน ทำให้บริวารท่านตามไม่ทัน ท่านก็เลยต้องอธิษฐานตัวให้อยู่เพื่อจะเก็บบริวารของท่าน ก็เลยเป็นว่าหลวงปู่โลกอุดรนี่แหละ เป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า บุคคลที่ชำนาญในอิทธิบาท ๔ สามารถอธิษฐานร่างกายอยู่ได้เป็นกัป หลวงปู่โลกอุดร ท่านเข้าเมืองไทยมาประมาณ พ.ศ. ๓๗๕ อยู่มาจนป่านนี้
      ถาม :  หลวงปู่ท่านเป็นคนไทยหรือคะ ?
      ตอบ :  เป็นคนอินเดีย เป็นสมณทูตที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแพร่ธรรมะที่สุวรรณภูมิ คณะท่านมากัน ๕ รูป พระโสณเถระ พระอุตตระเถระ รวมแล้ว ๕ รูปด้วยกัน รูปอื่นท่านก็นิพพานแล้ว แต่ท่านพระอุุตตระเถระท่านก็ยังอยู่เป็นร่มโพธิ์ เป็นหลวงปู่โลกอุดรมาเรื่อย คนถามท่านว่าหลวงปู่อายุเท่าไร ท่านบอกข้าก็จำไม่ได้เหมือนกัน รู้แต่ว่า ตอนที่สร้างพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี ข้าไปยืนดูมันทำพระปรางค์สามยอดนั่นประมาณพันกว่าปีแล้ว ถ้าหากว่าถ้าไม่ใช่บุคคลที่เนื่องกับท่านมา เป็นบริวารของท่าน โอกาสพบตัวท่านน้อยเพราะภาระท่านเยอะอยู่ เว้นแต่ท่านก็เคยให้คาถาเอาไว้ บอกว่าถ้าต้องการจะพบท่านให้จัดอาสนะปูผ้าขาว ๕ ที่ เพราะคณะท่าน ๕ รูปด้วยกัน จุดธูปเทียนบูชา แล้วก็นึกถึงท่านภาวนาคาถาว่า โลกกุตตะโร จะ มะหาเถโร อะหัง วันทามิ ตัง สะทา ว่าไปเรื่อย ๆ ท่านว่าถ้าท่านว่างท่านจะมาสงเคราะห์ ถ้าหากว่าไม่ว่างจะมาให้พบในความฝัน
      ถาม :  ท่องไม่ค่อยเป็น ไม่เก่งค่ะ
      ตอบ :  อ๋อ ไม่ต้องท่องหรอก ของเราเป็นบริวารท่านนี่ ท่านมาหาเอง ก่อนหน้านี้ก็รู้จักอยู่หลายรูป แล้วก็หลายท่านด้วยกัน อย่างปู่โทนหลำแพร ที่ตาคลี ตอนที่เจอท่านก็อายุตั้ง ๘๐ ปี ๙๐ ปีแล้ว ปัจจุบันนี้ถ้าอยู่ก็ ๑๐๐ กว่าปี ปู่โทนได้ยาอายุวัฒนะจากหลวงปู่มา
              คราวนี้มียาอายุวัฒนะอีกตัวหนึ่ง ถ้าหากว่ากินเข้าไปแล้วอายุต้องถึง ๑๘๐ ปีแน่ ๆ แต่หลวงปู่ท่านว่ายังหาคนไว้ใจไม่ได้ เลยไม่กล้ากิน เพราะว่ากินแล้วร่างกายจะเหมือนกับคนตาย มันนอนนิ่งไปเฉย ๆ ๗ วัน ท่านบอกว่าต้องหาคนที่ไว้ใจได้คอยดูแล ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมดมันเจาะลูกตาไปกิน มันเหมือนกับศพดี ๆ นี่เอง เย็นเฉียบแล้ว มดมันไม่กลัวหรอก มันกินแน่เลย
      ถาม :  .................(ฟังไม่ชัด)......................
      ตอบ :  ยังอยู่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ยังอยู่ไหม ? ก็ไม่ทราบข่าวเหมือนกัน ครั้งสุดท้ายนี่หลวงปู่ลิงขาวกับหลวงปู่ลิงเล็ก ท่านอยู่ที่เชียงตุง พม่าโน่น ส่วนหลวงปู่ลิงเผือกอยู่ไม่ถึงหรอก คงจะตายก่อนเพื่อนเลย เพราะว่าท่านเกษียณอายุแล้วท่านถึงบวช หลวงปู่ลิงเผือกก็คือครูหลวงประธานถ่องวิจัย หลวงปู่ลิงเล็ก ก็คือหลวงพ่อน้อม หลวงปู่ลิงขาว ก็คือหลวงพ่อสวัสดิ์
      ถาม :  แล้วที่ในหนังสือล่ะครับ ?
      ตอบ :  อ๋อ อันนั้นลิงคนละฝูงจ้ะ คนเคยไปถามหลวงพ่อ ๆ ท่านบอกว่า เขาจะตั้งชื่ออย่างไรก็เรื่องของเขา เราห้ามไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าเขาอ้างว่า เขาเป็นฤๅษีลิงขาว อามายืนยันว่าเป็นลิงคนละฝูง พระดีเขาไม่ฝืนคำครูบาอาจารย์ และไม่ฝืนพระธรรมวินัย หลวงปู่ลิงขาว หลวงปู่ลิงเล็ก นี่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ปาน ท่านบอกแล้วว่าถ้า ๒๐ ปี ถ้าหากว่าบวชแล้วต้องอยู่ป่า ห้ามอยู่เมือง มาระยะหลังนี่อย่างที่ท่านลือ ๆ กัน แต่ละรูปนี่ก็อยู่เมืองทั้งนั้น นี่มันไม่ใช่หรอก พระระดับนั้นอย่างเก่งก็มาเที่ยวเมือง แต่ว่าจะไม่อยู่เลย แต่ว่าทั้ง ๒ ราย ที่เขาลือกันนั้นอยู่เมืองทั้งคู่ แล้วรายหนึ่งก็เจ๊งไปเรียบร้อยแล้ว รายนั้นเก่ง วัดฤกษ์บุญมี เป่ายันต์เกราะเพชรได้ทุกวันเลย ใครไปก็เป่าให้ไปตั้งขันธ์ครู ๒๙๙ บาท ก็เป่าให้เดี๋ยวนั้นเลย
      ถาม :  ............(ฟังไม่ชัด).................
      ตอบหลวงปู่ดาบส จริง ๆ ท่านเป็นพระ แต่ท่านเป็นพระแท้จนเกินไป เขาจะเล่นงานท่าน พูดง่าย ๆ จะจับสึก ถ้าหากว่าสังฆาฏิเป็นเครื่องหมายของพระ คุณก็เอาไปก็แล้วกัน ท่านก็ถอดสังฆาฏิให้เขา แล้วก็บอกว่าต่อไปอย่ามายุ่งกับผมอีก ผมเป็นพระในความหมายของพระพุทธเจ้า จะอยู่ใต้ความปกครองของพระพุทธเจ้า ถ้าหากว่าคุณยังจะมาเบียดเบียนผมอีก ต่อไปผมจะสู้แล้ว
              ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่ดาบสท่านก็ไม่มีสังฆาฏิ สังเกตไหม เคยไปกราบท่านหรือเปล่า อย่างก็ผ้าอาบผืนหนึ่งพาดเอาไว้ เพราะว่าเวลาเราสึกพระ ระยะหลัง ๆ นี้เราดึงสังฆาฏิออก พอพวกบรรดาเจ้าคณะเขาจะไปจับท่านสึก ท่านก็เลย เออ! ถ้าเครื่องหมายนี้ผ้าสังฆาฏินี้ เป็นเครื่องหมายของพระในความหมายของคุณก็เอาเถอะ ก็โยนสังฆาฏิให้ไป ต่อไปท่านจะเป็นพระในความหมายของพระพุทธเจ้า แต่ว่าคนไปลือว่าท่านเป็นรัชกาลที่ ๘ ความจริงไม่ใช่ ท่านเกิดวัน เดือน ปี เดียวกันเท่านั้น เดิมท่านอยู่จันทบุรี ท่านมรณภาพแล้วบอกได้ เดิมท่านอยู่จันทบุรี แล้วก็บวชพระ ธุดงค์ขึ้นไปทางเหนือ ไปแรก ๆ ท่านไปสร้างมหาเจดีย์ธรรมประกาศ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ แล้วคนก็ชวนกันไปปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก บรรดาเจ้าคณะสังฆาธิการเห็นว่าคนไปหามาก ต้องมีเงินเยอะ จะไปบีบเอาเงินกับท่าน ความจริงได้เงินเท่าไรท่านก็ก่อสร้างหมด เลี้ยงคน เลี้ยงพระหมด อย่างนี้ท่านไม่มีให้ก็เลยจะจับท่านสึก ท่านถึงได้ให้สังฆาฏิเขาไป
              มาตอนหลังกระทั่งชื่อวัดก็ยังโดนเขาเบียดอีก ท่านตั้งชื่อสถานที่อยู่ ตอนนั้นไม่มีที่อยู่ พอดีทางบริษัทบุญรอด บริวเวอรี เขามีที่อยู่ในไร่ข้าวบาร์เลย์ของเขา แบ่งให้หลวงปู่ ๆ ท่านก็ไปตั้งเป็นอาศรมเล็ก ๆ อยู่ ตั้งชื่อเป็นอาศรมเวฬุวัน คนก็ยังไหลเทไปเหมือนเดิม เขาก็ไปว่าอีกว่าเวฬุวันเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา คุณไม่มีสิทธิ์ตั้งชื่อวัดว่า อาศรมเวฬุวัน ท่านก็เลยต้องเปลี่ยนเป็นอาศรมไผ่มรกต แปลกใจไหมว่าวัดเปลี่ยนชื่อบ่อยเหลือเกิน คือคนเขาจะหาเรื่องให้ได้ พวกนี้เขาเก่งนะ เขาจับพระอรหันต์สึกได้ ร้ายจริง ๆ
              หลวงปู่ครูบาอภิชัยขาวปี ท่านก็โดนจับสึก แต่เขาสึกทางโลกเท่านั้นแหละ เพราะว่าใจท่านเป็นพระเป็นปกติอยู่แล้ว ท่านก็ยังทำงานของท่านไป หลวงปู่ครูบาอภิชัยขาวปีเหมือนกัน ยิ่งโดนสึกก็ยิ่งดัง พอสึกท่านก็ไปนุ่งขาวห่มขาวแทน หลวงปู่ครูบาอภิชัยขาวปีวันที่เขาจับท่านสึกนั้น พอท่านถอดสังฆาฏิออก มีต้นไม้แห้งอยู่ตรงนั้น ท่านก็เอาพาดบนต้นไม้ แล้วอธิษฐานว่าถ้าหากท่านไม่ได้ทำผิดอย่างที่เขากล่าวหา ก็ขอให้เทพยดาฟ้าดินแสดงอะไรปรากฏให้เห็นด้วย ปรากฏว่าต้นไม้แห้งต้นนั้นแตกใบใหม่เขียวปี๋เลย ให้เห็นคาตานั้นแหละ หลวงปู่ครูบาอภิชัยขาวปี กับหลวงปู่ดาบส เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ยิ่งสึกยิ่งดัง
      ถาม :  ทำบุญฝังลูกนิมิต แล้วเราทำบุญตัดหวายลูกนิมิตได้อะไรหรือคะ ?
      ตอบนิมิต เป็นเครื่องหมายของเขตสังฆกรรมของพระ เวลาพระจะทำสังฆกรรมอย่างเช่นว่า บวชพระ สวดปาฏิโมกข์ สวดกฐิน สวดอัพพาน เขาจะต้องมีเขตโดยเฉพาะไม่ให้คนที่เป็นอนุปสัมบัน คือศีลน้อยกว่า เข้าไปอยู่ในนั้น ถ้าคนศีลน้อยกว่าในบริเวณนั้นเขาเรียกว่า สังฆกรรมเสีย ไม่บริสุทธิ์ ต้องเป็นผู้ที่มีศีลเสมอกันเท่านั้นเขาเรียกสมานสังวาส ในเมื่อมีศีลเสมอกันต้องอยู่ในเขตนั้นด้วยถึงจะทำสังฆกรรมแล้วมีผล
              สมัยก่อนเขาใช้วิธีกำหนดเขตเอา ส่งพระออกไปด้วยกัน ๘ ทิศ ว่าไปสักกี่ก้าว ๆ แล้วก็กำหนดเอาว่าตรงนั้นมีอะไร เขาจะมีการทักนิมิต คือ ถามขึ้นมาอย่างองค์เป็นประธานท่านจะถามว่า ปุรัตถิ มายะ ทิสายะ กิง นิมิตตัง ทิศตะวันออกมีอะไรเป็นนิมิต หรือเขาอาจจะตอบว่า ปาสาโณ ภันเต-ก้อนหินขอรับ รุกโข ภันเต-ต้นไม้ขอรับ ปัพพโต ภันเต-ภูเขาขอรับ พอถึงเวลาก็กำหนดเอาว่ามีอะไรเป็นนิมิต พอทักครบ ๘ ทิศแล้ว ก็อยู่ในเขตนั้นก็ทำสังฆกรรมได้ สีมาที่เล็กที่สุดอย่างน้อยต้องบรรจุพระได้ ๒๑ รูป คือให้เป็นคณะสงฆ์ เขาเรียก วีสติวรรค คือสงฆ์ที่ทำให้สังฆกรรมที่ใหญ่ที่สุด ๒๐ รูป แล้วก็มีประธานรูปหนึ่ง ก็เป็น ๒๑ รูป วีสติวรรคที่เขากำหนดไว้สำหรับสวดอัพพาน รับพระที่เป็นสังฆาทิเสส ขาดความเป็นพระ ให้คืนความเป็นสงฆ์มา สังฆกรรมอื่น จะเป็นจตุวรรค ๔ รูป ก็ได้ ปัญจวรรค ๕ รูป ทศวรรค ๑๐ รูปก็ได้ แต่ว่าอันนี้อย่างน้อยต้อง ๒๑ รูป ใหญ่สุดต้องไม่เกิน ๑ โยชน์คือห้ามกว้างเกิน ๑๖ กิโลเมตร ถ้าเกิน ๑๖ กิโลเมตร เดี๋ยวกำลังไม่ดีพอเสียงดังไม่ถึง
              สมัยก่อนที่ได้อภิญญาเยอะ ท่านอาศัยเครื่องทุ่นแรงได้ และที่ใหญ่ขนาดนั้นเพราะว่าสมัยก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จนี่บางทีพระตามไปเป็นแสน ก็เลยต้องมีเสมาใหญ่ขนาดนั้น ลักษณะของการตัดลูกนิมิตเพื่อไปกำหนดเขตเสมาว่า นี่เป็นเขตสังฆกรรมของสงฆ์
              สมัยหลังเขาเอาแต่ก้อนหิน พอถึงเวลาทักว่าทิศนั้นมีอะไรเป็นเครื่องหมาย ก็ปาสาโณ ภันเต-หินครับ ทิศโน้นอะไร ก็หินครับ หินหมดแหละ เรื่องของนิมิตนี่เขาจะมีฝังนิมิต ถอนนิมิต ฝังเขาเรียกว่า ผูกเสมา ตอนถอนเขาเรียกว่า ถอนเสมา จะมีทั้งฝังทั้งถอน ตอนพิธีกรรมต่าง ๆ โบราณเขาถือว่าขลัง โดยเฉพาะพวกหวายลูกนิมิต เขาถือเป็นของขลังบ เขาถือเป็นของขลังโดยธรรมชาติ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วต้องนิมนต์พระมาเพื่อสวดญัตติ สวดถอน คำว่า “ญัตติ” เขาถือว่าขลัง มันยัดเข้าไป เพราะฉะนั้นสวดเข้าไปเท่าไรก็แปลว่าอยู่ในนั้น เขาก็เลยเอาหวายนิมิตเป็นของขลังอย่างหนึ่ง ส่วนเราที่ไปตั้งใจทำใช่ไหม
              อันดับแรกก็เป็นอนุสสติ พระสงฆ์อาจจะชวน หรือว่าเรานึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นปกติถึงไปทำบุญเป็นพุทธานุสติ สังฆานุสติ ส่วนอีกอย่างก็คือเป็นที่ทำสังฆกรรมของสงฆ์ ทำให้มีที่ ๆ ไม่ต้องเร่รอนไปโน่นบ้างไปนี่บ้าง มีที่อย่างเป็นหลักเป็นฐาน การทำสังฆกรรมที่ปกติเลยคือ สวดปาฏิโมกข์ อย่างน้อยเดือนหนึ่งก็ ๒ ครั้ง ข้างขั้น ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ อย่างน้อยเดือน ๑-๒ ครั้ง เท่ากับว่าเราได้บุญอยู่ตลอด จริง ๆ แล้วเป็นส่วนหนึ่งของวิหารทาน คือการสร้างโบสถ์นั่นแหละ แต่ว่าเขาทำเป็นพิธีกรรมต่างหากออกมา
      ถาม :  แล้วเราได้หวายมา เอาไว้หิ้งพระที่บ้านได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ติดตัวไว้ก็ได้ ส่วนใหญ่พวกเราดีอยู่อย่างหนึ่งได้มาแล้วเก็บวัตถุมงคลได้มาเขาให้ติดตัว แล้วก็ตั้งใจสวดมนต์ภาวนาเป็นปกติ อาราธนาให้ท่านคุ้มครอง ให้เขาช่วยเหลือ
      ถาม :  ฤทธิ์นี่เป็นโทษกับคนอื่นไหม ?
      ตอบ :  ฤทธิ์ อยู่ที่ว่าเราใช้อย่างไร ถ้าเราใช้ไม่ดีก็เป็นโทษกับคนอื่นเหมือนกัน
      ถาม :  ถ้าเกิดเราจะละที่เป็นโทษล่ะครับ จะทำอย่างไร ?
      ตอบ :  อ๋อ อย่าไปใช้เลยสักอย่างเดียวนั่นแหละ ของทุกอย่างมีคุณมีโทษขึ้นอยู่กับที่เราใช้ ก็เหมือนกับไฟนั่นแหละ แทนที่จะเอาไปหุงข้าว ต้มแกง ดันเอาไปเผาบ้านคนอื่นเขา แล้วเราจะไปว่าไฟมันมีโทษอย่างเดียวได้ไหมล่ะ มันก็ไม่ได้ สำคัญอยู่ตรงเราใช้ ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกเรื่องฤทธิ์ของคุณน่ะ ฤทธิ์ที่เป็นอภิญญาใหญ่จริง ๆ ที่อานุภาพสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเขา จริง ๆ มันใช้ไม่ได้เต็มที่หรอก ใช้ผิดจังหวะก็เสื่อมอีกต่างหาก ไม่ต้องไปเสียเวลาไปละมันหรอก สร้างมันให้เยอะ ๆ ไว้ จริง ๆ แล้วที่เขาทำเรื่องของฤทธิ์เดชมันเป็นของแถมเท่านั้น ซื้อรถเขาก็ให้ล้อรถมาด้วย เป็นของที่ต้องได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราทำถึงหรือเปล่าถึงเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น แต่ว่าคนส่วนใหญ่จะไปติดตรงของแถม ก็เลยทำให้การปฏิบัติจริง ๆ ไม่ก้าวหน้า ต่อให้เป็นคนก็เถอะ ถ้าหมดอายุก็พ้นความเป็นคนเหมือนกัน เทวดาหรือพรหมถ้าหากว่าถึงอรหันตผลเมื่อไรก็ไปนิพพานเลย กลัวจะต้องมาเกิดใหม่
              สถานการณ์ประเทศชาติ สถานการณ์โลกยังไม่ดีต่อเนื่องสงครามเกิดขึ้นและโรคหวัดมหาประลัยมันเกิดขึ้น อย่าคิดว่าหมดแล้วนะ ยังมีให้สนุกอีกเยอะ ช่วงปี ๔๖-๔๘ นี่ยุ่งเป็นบ้าเลย ของเราอาศัยบารมีในหลวง พระสยามเทวาธิราช ครูบาอาจารย์ ที่ท่านถึงอายุขัยจะทิ้งขันธ์ เพื่อจะบรรเทาเคราะห์กรรมใหญ่ของส่วนรวม ระยะนี้ไปหลายรูปล่าสุดตอนสงกรานต์เลย
              หลวงปู่ครูบาอิน ก่อนนี้ท่านอยู่วัดฟ้าหลั่ง แล้วท่านย้ายไปวัดทุ่งปุย ตอนอายุ ๙๙ ปี ไปอยู่ได้ ๒ ปีกว่ามรณภาพ ย้ายกลับบ้านเกิด กลับไปสร้างความเจริญให้วัดบ้านเกิดบ้าง เท่ากับท่านมรณภาพตอนอายุ ๑๐๑ ปีเศษ ๆ ของเรายังโชคดี ตอนช่วง ๑๐๐ ปี ได้วัตถุมงคลท่านมาล็อตหนึ่ง พระที่เป็นพระสุปฏิปันโนดีแท้ ๆ คล้าย ๆ กับว่าเป็นวัตถุที่มีค่ามหาศาล ถ้าช่วงที่ชาวบ้านกำลังจะเดือดร้อน ถึงวาระถึงเวลาที่สมควรท่านก็จะทิ้งขันธ์ เพื่อที่จะแบ่งเบาเคราะห์กรรมของส่วนรวมเขาบ้าง ระยะนี้ไปตั้ง ๔ รูป ๕ รูป ติด ๆ กัน แล้วที่เหลือก็ยังเตรียมไปอีกเยอะเลย ถ้าใครเขาถามว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร สภาพบ้านเมืองหรือโลกเป็นอย่างไร บอกเขาว่าดี แต่ไม่ดีจริง จะมีตัวฉุดโผล่มาเป็นระยะ ๆ เขากลัวตัวฉุดต้องเข้า ปตท. ใช่ไหม จะแก้ตัวฉุดได้
              กำลังรอคำสั่งอยู่ ถ้าภายในอาทิตย์นี้คำสั่งไม่มาก็จะทิ้งวัดท่าขนุนไปนอนป่าแล้ว เหนื่อยเต็มทีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการของการเป่ายันต์เกราะเพชร เราทำเองไม่ได้อยู่แล้ว ต้องรอท่านก่อน เพราะฉะนั้นเดือนนี้ก็เลยขึ้นป้ายเดือนเดียว ปกติจะขึ้น ๓ เดือนรวด ที่ขึ้นป้ายเดือนเดียวก็เพื่อรอคำสั่งก่อนว่าจะได้ทำไหม ถ้าได้ทำเดี๋ยวจะได้ลงประกาศไปเลยทีเดียว ต่อไปคนจะไปหาถึงวัดก็ต้องตะเกียกตะกายหน่อย เข้าไปลึก ๆ ให้หายาก ๆ หน่อย อย่างน้อยระยะทางก็กรองคนไประดับหนึ่ง ถ้าไม่มั่นคงจริง ๆ ก็ไม่ไปกัน แต่ตรงนี้ก็มากันเป็นปกติ ตรงนี้เป็นงานที่ทิ้งไม่ได้ แต่ว่าส่วนอื่นที่นี่คล้าย ๆ กับเป็นส่วนเกินรุงรังเสียเปล่า ๆ ของเราจะโละทิ้งไปเลย จะได้ไม่ต้องไปให้ใครเขาล้อมกุฏิทวงพระอีก เซ็งจริง ๆ
      ถาม :  สัปปายะ แปลว่าอะไรครับ ?
      ตอบสัปปายะ แปลว่า เหมาะสม สมควร มีสถานที่สัปปายะ สถานที่เหมาะสม คือเป็นที่สงบ สงัด ไม่กล่นเกลื่อนไปด้วยผู้คน ทำให้ปฏิบัติได้ง่าย อาหารสัปปายะ หมายความว่า อาหารเหมาะกับธาตุขันธ์ของตัว บางคนกินข้าวเหนียวไม่ได้ แล้วต้องไปอยู่อีสาน ก็เจ๊งสิใช่ไหม แล้วก็อากาศสัปปายะ ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป พอเหมาะพอดี พวกเหล่านี้จะเป็นสัปปายะ อะไรที่ทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้ง่าย
              การทำงานของพระเหมือนกับหมากที่วางไว้ ทั้งหมากทั้งกระดานที่เราดูไม่ทั่วหรอก แต่พระท่านดูทั่ว ในเมื่อดูทั่วท่านวางใครไว้จุดไหน ๆ แต่ละคนทำหน้าที่อย่างไร ถ้าทุกท่านทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ผลงานจะสอดประสานเป็นชิ้นเดียวกัน จะเกิดผลกับส่วนรวม แต่ถ้าหากว่าลำพังของตัวใครตัวมันจะเห็นผลน้อย เขาไม่รู้หรอกว่าผลใหญ่เป็นอย่างไร ยังไม่รู้ว่าไม่กี่วันขึ้นไปหนองคายนี่จะพางานอะไรมาให้เยอะหรือเปล่า เพราะเรื่องการไปเป็นเกจิอาจารย์ในงานพุทธาภิเษกนี่พยายามเลี่ยงมาตลอด งานนี้เลี่ยงไม่ได้ ถูกบีบคอให้ไป เอาพานดอกไม้ธูปเทียนมานิมนต์พร้อมตั๋วเครื่องบิน และตั๋วก็ระบุชื่อเอาไว้แล้วก็เลยต้องไป ลักษณะอย่างนี้พวกแมวมองจะมีอยู่ จะดูว่างานใหญ่ ๆ แต่ละงานมีเกจิอาจารย์จากวัดไหนและที่ไหนบ้าง เสร็จแล้วเขาก็จะนิมนต์ต่อไปเรื่อย ๆ ของอาตมาจะรับนิมนต์เฉพาะที่ปฏิเสธไม่ได้เท่านั้น อันไหนปฏิเสธได้ไม่ค่อยรักษาน้ำใจใครหรอก ไล่เตลิดหมด ไปอยู่ในวงจรอย่างนั้นจะทำให้เราอยู่ยาก ที่อยู่ยากเพราะว่าเรื่องของชื่อเสียง ลาภยศนี่เราไม่ได้กังวลหรอก เราไม่ได้ติดอยู่ตรงนั้น แต่จะทำให้งานที่สมควรจะทำมันเสียเวลาไป แทนที่จะมีโอกาสมาไขข้อข้องใจทางธรรมให้แก่ญาติโยมอาจจะต้องตะลอน ๆ ไปพุทธาภิเษกทั่วประเทศไทย งานโน้นงานนี้ไปเรื่อย ของเราปัจจุบันนี้คนจะรู้จักชื่อมากแต่ไม่รู้จักหน้า ยังพอหนีได้ มีหลายต่อหลายรายไปถามถึงกุฏิ อาตมาก็ชี้ว่ากุฏิท่านอยู่นั่น แล้วก็เดินหนีมันซึ่ง ๆ หน้านั่นแหละ แม่เณรติมพาเสียมาทีแล้ว แล้วเขาก็ชี้ด้วยความภูมิใจว่าหลวงพ่อรูปนั้นเลยค่ะถามถูกแล้ว เราอุตส่าห์ชี้กุฏิอยู่โน่น เตรียมตัวจะไปแล้วล่ะ ระวังไว้นะ ถ้าวันไหนเขาหมั่นไส้จะมายิงหัวก็พอดีได้ตัวเลย ของเรานี่หวังดีไง แต่หารู้ไม่ว่าพระเหนื่อยขนาดไหน
              สมัยก่อนท่านวิสิทธิ์ ท่านเป็นรุ่นน้องหลายพรรษา สมัยก่อนคนจะไปตอมอยู่ที่วัดท่าซุง เราก็ไล่ให้ไปหาหลวงพ่อเขาก็ไม่ไป ก็ด่าส่งไล่เป็นหมูเป็นหมาไปเลยอย่างนั้น ไปวัดท่าซุงไม่ไปหาหลวงพ่อแล้วจะไปทำอะไร ไปแปะแต่กุฏิของเรา พอเราไล่หนัก ๆ เข้า ไอ้น้องก็ทนไม่ไหว เขาถามว่าหลวงพี่ครับ ๆ หลวงพี่ไล่แขกทำไมครับ ผมกลัวคนจะไม่รู้จัก บอกกับเขาไปว่า นี่คุณ ถ้าหากว่าคุณรู้จักคนสักปีละ ๑๐ คน ๑๐ พรรษา ผ่านไป ๑๐๐ คนผลัดกันมาคุณก็ไม่ต้องหลับต้องนอนแล้ว ป่านนี้เขารู้หรือยังไม่รู้ว่าที่เราพูดหมายถึงอะไร ลำพังให้มานั่งอย่างนี้ตั้งแต่เช้ายันเย็นพวกเราเอาไหม อย่างไม่มี ๆ ก็วันละ ๑๔ ชั่วโมง ประมาณ ประมาณ ๗ โมงเช้า ถึง ๓ ทุ่มทุกวัน แล้วก็มีหลายรายปลื้มใจมากที่ได้มาถวายเป็นการส่วนตัว ก็แหกขี้ตามาเช้ากว่านั้นอีก ตกลงแทนที่จะเป็น ๑๔ ชั่วโมง ก็จะเป็น ๑๕-๑๖ ชั่วโมง ไม่ได้ดูความเหมาะสม ของเราถ้ายังไหวก็ทำไปเรื่อย ถ้าวันไหนรู้สึกว่าไม่ไหวก็จำกัดเวลากันบ้าง
              ท่านสมปองเขายุมาหลายทีแล้ว บอกว่าพวกไม่รู้ภาษาก็อย่าไปเลี้ยงมันสิครับ บอกว่าเอาเถอะอย่างน้อย ๆ นึกว่าตักน้ำรดหัวตอมันไม่งอกก็ให้มันเปียกบ้างก็ยังดี เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปนี่มันจะส่งผลในภายภาคหน้าทั้งนั้น เราหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีลงไป ไม่ต้องหวังว่ามันจะงอกหรือไม่งอกหรอก รู้ว่าได้ทำหน้าที่นั้นสมบูรณ์ก็พอแล้ว ส่วนตัวเขาจะไปทำให้เกิดดอกเกิดผลอย่างไรมันอยู่ที่เขา ไม่ใช่เรา มีหลายต่อหลายคน เขาทนไม่ได้เห็นว่าเราจะตายเร็ว ออกความเห็นกันใหญ่ บอกไปตรง ๆ ว่ายังไหวก็ทำ ไม่ไหวเมื่อไรจะนอนเอง รู้ไหมว่าทำไมยอมเหนื่อย ที่ยอมเหนื่อยเพราะว่าถ้าเราเลือกงาน เลือกที่จะเหนื่อย เราจะรู้ว่ารับมันไหวหรือไม่ไหว แต่ถ้าเราปล่อยให้มันมาเองนี่บางทีเดี้ยงไปเลย
              เพราะฉะนั้นเรื่องวาระบุญวาระกรรมอะไรที่มันจะเข้ามาสนอง หรือว่ามันเป็นงานใหญ่ที่รออยู่ ถ้าเราเลือกที่จะกระโดดใส่มัน เรารู้อยู่แล้วว่าเราทำไหวไม่ไหว แต่ถ้าเราให้มันมาเอง ฉะนั้นทุกคนถ้ามีโอกาสก็ให้ใช้วิธีนี้ เพราะว่าการป้องกันตัวที่ดีที่สุดคือการบุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นลุยไปเถอะ เราจะเลือกได้ แต่ถ้าให้มาเองนี่เลือกไม่ได้ บางทีไม่รู้ว่ารับไหวหรือไม่ไหว เคยลองมาหลายทีแล้ว ลองปล่อยให้มันซา ๆ ดูหน่อย โอ้โห! มันมานี่อ่วมเลย แต่ถ้าเราเป็นประเภทเดินหน้าทำต่อเนื่องไปเรื่อย มันจะไม่ขาด แล้วมันก็จะทำให้เรื่องหนักกว่าที่เราต้องการมันไม่โผล่มาหรอก
              สมัยเป็นทหารมีหลักสูตรโหด ๆ อยู่หลายหลักสูตรด้วยกัน อย่างพวกแรงเยอร์จู่โจม ลองเรนท์ ลาดตระเวนไกล ซิล ซิลนี่มาจากทะเล อากาศ แลนด์(Sea Air Land) พื้นดิน หมายความว่า บก น้ำ อากาศ ต้องไปได้หมด จะมีหลักสูตรโหดประเภทที่เรียกว่า ต่อเนื่อง ๗๒ ชั่วโมง ต่อเนื่อง ๔๘ ชั่วโมง อะไรอย่างนี้ บางทีเดินเห็นอยู่ว่ามันโค้ง สมองก็สั่งให้มันโค้ง แต่ตีนมันไม่โค้ง มันจะพาตกโค้งไปเลย นั่ง ๆ อยู่นี่พอถึงเวลาพักประจำชั่วโมง นั่งลงก็หลับเลย กว่าจะรู้ตัวเพื่อนเดินไปยันไหนแล้วก็ไม่รู้ ครูฝึกเขาบอกว่าเอ็งไม่ต้องนอนมากนักหรอก เวลานอนยังอีกเยอะตอนอยู่ในโลง เพราะฉะนั้นก็ใช้วิธีนี้แหละ ยังมีหน้าที่ก็ทำไป อยู่ในโลงเมื่อไหร่มันก็ได้นอนเอง